- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
พิโรธโกรธกริ้วดั่งเพลิงกัลป์ | ทรงธรรม์มีพระบัญชาการ |
เหม่เหม่ไอ้ลูกกระจ้อยร่อย | น้อยหรืออาจองทะนงหาญ |
เร่งเร็วเสนีปรีชาชาญ | ผูกมัดทรมานให้สาใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ สั่งแล้วให้เลิกรี้พล | พวกพหลจัตุรงค์น้อยใหญ่ |
รีบมาโดยมรคาลัย | คืนไปยังกรุงอยุธยา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งประทับกับเกยมาศ | เสด็จลงจากราชรัถา |
ยุรยาตรนาดกรลีลา | มายังที่ท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งน้อมเศียรเกล้าบังคมทูล | นเรนทร์สูรปิ่นภพรังสรรค์ |
อันกุมารพี่น้องทั้งสองนั้น | ตัวมันแกล้วกล้าราวี |
รณรงค์ทรงศรมาสังหาร | ต้องข้าบทมาลย์ทั้งสองศรี |
ล้มลงกับพื้นปถพี | ปิ้มว่าชีวีจะมรณา |
หากด้วยพระเดชปกเกศไป | จึ่งมีชัยไม่ม้วยสังขาร์ |
บัดนี้จับได้แต่พี่มา | น้องหนีเข้าป่าพนาดร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์ทรงศร |
ฟังพระอนุชาฤทธิรอน | ภูธรกริ้วโกรธดั่งเพลิงกาล |
ผุดลุกขึ้นจากบัลลังก์อาสน์ | กระทืบบาทมีราชบรรหาร |
เหวยเหวยเสนาปรีชาชาญ | ไอ้เด็กสาธารณ์นี้อาจใจ |
อหังการ์กล้าหาญคะนองฤทธิ์ | จะไว้ชีวิตนั้นไม่ได้ |
จะเป็นเสี้ยนแผ่นดินไป | จงทำให้สาใจมัน |
จำเครื่องพันธนาห้าประการ | ประจานให้รอบเขตขัณฑ์ |
เอาขึ้นขาหยั่งไว้สามวัน | จงบั่นเศียรให้ม้วยชีวี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งมหาเสนาทั้งสี่ |
รับราชโองการพระจักรี | ไปสั่งตามมีพระบัญชา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ เจรจา
๏ บัดนั้น | องครักษ์จักรนารายณ์ซ้ายขวา |
ต่างตนเอาเครื่องพันธนา | มาจำกุมาราทันใด |
เกณฑ์ให้รักษากวดขัน | กำชับกวดกันทั้งนายไพร่ |
แล้วพาเอาตัวตระเวนไป | โดยในอาชญาพระจักรี |
นายฉม่องตีฆ้องประจาน | ทั่วสถานแถวราชวิถี |
รอบพิชัยอยุธยาธานี | เสียงมี่อื้ออึงเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | หญิงชายชาวเมืองถ้วนหน้า |
ได้ยินเสียงตีฆ้องตระเวนมา | ก็พากันตามดูวุ่นไป |
เห็นกุมารทรงลักษณ์วิไลวรรณ | ดั่งพระจันทร์อับศรีหม่นไหม้ |
ราหูจู่จับคั้นไว้ | ไม่สว่างเมฆาด้วยราคี |
ดูเนตรคมขำดั่งตาทราย | แสนเสียดายรูปทรงส่งศรี |
โอษฐ์พริ้มดั่งจะยิ้มพาที | ไม่พอที่มาต้องทรมาน |
จะเป็นหน่อกษัตริย์กรุงใด | ศรสิทธิ์ฤทธิไกรจึ่งห้าวหาญ |
งามละม้ายคล้ายองค์พระอวตาร | จะวายปราณเสียเปล่าน่าเอ็นดู |
ต่างคิดเมตตาปรานี | จะมีสิ่งของให้ก็กลัวอยู่ |
แต่วิ่งตามไปพรั่งพรู | ไม่รู้ที่จะทำประการใด |
ความรักความเสียดายพระกุมาร | สงสารไม่กลั้นนํ้าตาได้ |
บ้างซบหน้าซ่อนโศกาลัย | สะอื้นไห้ทั่วทั้งธานี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนายเพชฌฆาตทั้งสี่ |
ครั้นตระเวนไปรอบบุรี | มาถึงซึ่งที่ตะแลงแกง |
จึ่งเอาขึ้นขาหยั่งประจานไว้ | ที่ในหนทางสี่แพร่ง |
นายไพร่ล้วนถือดาบแดง | ตามตำแหน่งรักษาทุกคืนวัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
โอ้
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ต้องประจานเวทนาสากรรจ์ | โศกาจาบัลย์สลดใจ |
โอ้อนิจจาตัวกู | เสียแรงรู้ศรศิลป์แผ่นดินไหว |
ควรหรือรณรงค์ไม่มีชัย | มาได้ทนทุกข์เวทนา |
ป่านนี้พระอัยกาเจ้า | พระมารดาเกิดเกล้าจะคอยหา |
แม้นรู้ว่าเขาจับเอาลูกมา | จะโศกาไม่เป็นสมประดี |
โอ้ว่าครั้งนี้จะปลดปลง | ไหนเลยพระองค์จะเห็นผี |
ใครจักปรนนิบัติพระชนนี | ที่ในอารัญกันดาร |
เสียแรงเลี้ยงลูกจนจำเริญวัย | หวังใจจะให้เป็นแก่นสาร |
พระคุณลึกล้นพ้นประมาณ | ใหญ่ยิ่งจักรวาลดินฟ้า |
มิได้อยู่รองฉลองบาท | จะมาสิ้นชีวาตม์สังขาร์ |
ถึงตายแต่ได้บังคมลา | ลูกยาไม่เสียดายชีวาลัย |
เมื่อมาพระแม่ก็ได้ห้าม | จะหยุดยั้งฟังความก็หาไม่ |
จึ่งได้มาต้องโพยภัย | อยู่ในเงื้อมมือพวกพาล |
นิจจาเอยเจ้าลบผู้ทรงลักษณ์ | น้องรักพี่ยอดสงสาร |
จะหนีได้หรือม้วยชนมาน | ไม่แจ้งเหตุการณ์ประจักษ์ตา |
เดชะบุญให้รอดชีวี | อยู่เพื่อนชนนีที่ในป่า |
รํ่าพลางทางซบพักตรา | โศกาสะอื้นอาลัย ฯ |
ฯ ๑๘ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายฝูงเทเวศน้อยใหญ่ |
พระเสื้อเมืองทรงเมืองฤทธิไกร | บรรดาได้รักษาธานี |
เห็นพระหริวงศ์ทรงยศ | ไม่รู้ว่าโอรสเฉลิมศรี |
จับมาจะฆ่าร้าตี | ในที่ท่ามกลางนครา |
ต่างองค์ต่างตระหนกตกใจ | บอกกันวุ่นไปทั่วหน้า |
ออกจากวิมานรัตนา | พากันมายังพระกุมาร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ โคมเวียน
๏ ครั้นถึงจึ่งองค์พระเสื้อเมือง | ผู้เรืองฤทธิ์ปรีชากล้าหาญ |
เอาฉัตรทิพมาศสุรกานต์ | เข้ากั้นแสงฉานพระสุริยง |
พระทรงเมืองคลายเครื่องพันธนา | แล้วเอาน้ำทิพย์มาโสรจสรง |
บ้างชโลมสุคนธ์ธารทรง | โบกปัดพัดองค์ให้เย็นใจ |
บ้างถวายเครื่องทิพย์กระยาหาร | ขับกล่อมเสียงหวานบำเรอให้ |
อันพระมงกุฎวุฒิไกร | ค่อยคลายใจด้วยเดชเทวา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายองค์พระลบขนิษฐา |
แอบอยู่ยังริมมรคา | ให้หวาดหวั่นวิญญาณ์เป็นพ้นคิด |
เห็นกองทัพเข้าจับพระพี่ไป | ร้อนใจดั่งต้องศรสิทธิ์ |
ครั้นว่าจะชิงปัจจามิตร | สุดฤทธิ์ที่จะเข้าโรมรัน |
แลจนลับคลองนัยน์เนตร | แสนทุกข์เทวษโศกศัลย์ |
พอบ่ายชายแสงสุริยัน | ก็รีบจรจรัลออกมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงซึ่งที่รณรงค์ | จึ่งเห็นศรทรงพระเชษฐา |
ตกอยู่กับพื้นพระสุธา | ก็หยิบมาทูนเศียรรํ่าไร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โอ้
๏ โอ้อนิจจาพระพี่ | ป่านนี้พระองค์จะเป็นไฉน |
ไม่รู้ว่าเขาจะทำประการใด | จนใจที่จะแจ้งเหตุการณ์ |
ครั้นจะตามไปบัดนี้เล่า | ก็สุดที่น้องจะเข้าหักหาญ |
เสียแรงเกิดมาเป็นชายชาญ | ดั่งสาธารณ์ไม่มีฤทธา |
ควรหรือทำการรณรงค์ | มาพ่ายแพ้เสียองค์พระเชษฐา |
อัปยศทั้งสามโลกา | โอ้ว่าจะคิดไฉนดี |
ชะรอยชาติก่อนได้พรากสัตว์ | เวรากำจัดให้พลัดพี่ |
เคยเล่นสุขเกษมเปรมปรีดิ์ | แต่นาทีหนึ่งไม่คลาดกัน |
ควรหรือมีหมู่ปัจจามิตร | พาลผิดด้วยใจโมหันธ์ |
ปล่อยม้ามาในอารัญ | จะแกล้งล้างชีวันเราสองรา |
เวลาก็เย็นลงรอนรอน | พระมารดรจะละห้อยคอยหา |
อกเอ๋ยเป็นน่าเวทนา | จะกินแค่น้ำตาเป็นนิจไป |
สุดสิ้นความคิดแล้วครั้งนี้ | น้องจะคงชีวีนั้นหาไม่ |
รํ่าพลางทางทรงโศกาลัย | ด้วยใจเสน่หาอาวรณ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
ร่าย
๏ ค่อยได้สมประดีก็ตรึกตรา | จะไปทูลมารดาให้แจ้งก่อน |
คิดแล้วจับศิลป์ฤทธิรอน | เร่งรีบบทจรมากุฎี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งถวายอภิวาทน์ | กราบบาทพระมหาฤๅษี |
ทั้งองค์สมเด็จพระชนนี | แล้วโศกีมิได้จำนรรจา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | พระวัชมฤคฌานกล้า |
ทั้งโฉมนวลนางสีดา | เห็นพระลบโศกาก็ตกใจ |
รับขวัญแล้วถามไปทันที | มีเหตุสิ่งไรจึ่งร้องไห้ |
พี่เจ้านั้นไปแห่งใด | จึ่งมิได้กลับมาด้วยกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลบสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
สะอื้นพลางทางทูลรำพัน | วันนี้ลูกไปพนาลี |
พบม้าตัวหนึ่งอยู่กลางป่า | ข้ากับเชษฐาก็จับขี่ |
เห็นสารที่คอพาชี | ว่าเป็นที่นั่งพระสี่กร |
บัดเดี๋ยวกระบี่เผือกผู้ | จู่จับลูกหวดด้วยคันศร |
แล้วแปลงเป็นลิงพนาดร | สาระวอนทำกลมารยา |
ซ้ำจับลูกตีด้วยคันศิลป์ | ล้มดิ้นเข้ามัดแล้วสักหน้า |
ปล่อยไปมันนำทัพมา | มีสองกษัตราเป็นจอมพล |
รณรงค์เข้าจับพระพี่ได้ | เป็นตายไม่แจ้งเหตุผล |
ศรนี้ตกอยู่ในอารญ | จนใจจึ่งมาทูลพระชนนีฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดามารศรี |
ได้ฟังดั่งจะสิ้นสมประดี | เทวีค่อนทรวงเข้ารํ่าไร |
โอ้ว่าลูกรักของแม่เอย | กรรมสิ่งใดเลยมาซัดให้ |
จึ่งบันดาลดลจิตไปเล่นไพร | แม่ห้ามเท่าไรไม่ฟังความ |
เป็นเหตุทั้งนี้เพราะลองศร | ขจรทั่วแผ่นภพทั้งสาม |
ชะรอยพระภุชพงศ์ทรงนาม | คิดว่าสงครามจะเกิดมี |
จึ่งให้พระพรตพระสัตรุด | กับวายุบุตรกระบี่ศรี |
เที่ยวปราบจะให้ราบทั้งธาตรี | มิให้มีศัตรูหมู่พาล |
ตัวเจ้ายังเยาว์เบาความ | ทำตามน้ำใจทะนงหาญ |
ว่าทรงฤทธิไกรชัยชาญ | ออกรอนราญจึ่งแพ้ศักดา |
โอ้พ่อเพื่อนยากของแม่เอ๋ย | ทรามเชยยอดสุดเสน่หา |
แม่ประคองอุ้มท้องสัญจรมา | พระอัยกาปรานีเลี้ยงไว้ |
ครั้นเจ้าคลอดมาเป็นชาย | ค่อยคลายทุกข์ทนหม่นไหม้ |
เช้าเย็นชมเชยสบายใจ | เหมือนนกปกไข่ที่ในรัง |
นิจจาเอ๋ยแม่ลูกอยู่หลัดหลัด | เจ้ามาพลัดจากอกไม่ทันสั่ง |
รํ่าพลางสิ้นเสียงสิ้นกำลัง | นิ่งไปดั่งจะม้วยชีวี ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | พระวัชมฤคฤๅษี |
เห็นนางแสนโศกโศกี | สลบลงกับที่ก็ตกใจ |
ลุกขึ้นอุตลุดวุ่นวาย | จะนวดฟั้นคั้นกายก็ไม่ได้ |
เสกน้ำพึมพำพรํ่าไป | แล้วประพรมให้กัลยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดาเสน่หา |
ครั้นฟั้นคืนสมประดีมา | กราบกับบาทาพระมุนี |
ขอองค์พระอัยกาเจ้า | จงได้โปรดเกล้าเกศี |
แม้นลูกข้าสิ้นชีวี | ที่ไหนจะได้รองบทมาลย์ |
ตัวข้านี้จะวิ่งเข้ากองไฟ | ให้บรรลัยชีวังสังขาร |
พระองค์ผู้ทรงตบะฌาน | จงช่วยหลานให้รอดคืนมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระอาจารย์ฌานกล้า |
ฟังนางกันแสงเจรจา | อาลัยเป็นพ้นพันทวี |
จึ่งตั้งสมาธิสำรวมจิต | ตามกิจลัทธิฤๅษี |
รู้แจ้งโดยญาณวิธี | ล้วนถี่เสร็จสิ้นทุกประการ |
จึ่งว่าอันองค์พระมงกุฎ | ไม่สิ้นสุดชีวังสังขาร |
แต่เคราะห์ร้ายจำต้องทรมาน | ไม่นานก็จะได้คืนมา |
หลานเอ๋ยจงดับความวิโยค | อย่าแสนโศกเลยฟังตาว่า |
ภายหลังจะเกษมเปรมปรา | ยิ่งกว่ากษัตริย์ทั้งนั้น ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดาสาวสวรรค์ |
ได้ฟังพระมหานักธรรม์ | กัลยาครวญครํ่ารํ่าไร |
โอ้เจ้าดวงเนตรของมารดร | จะทุกข์ร้อนลำบากเป็นไฉน |
พระอัยกาว่าไม่บรรลัย | แม่นี้หนักใจเป็นพ้นนัก |
อันความทนเทวษเพทนา | ดั่งกายาจะขาดด้วยคมจักร |
ถึงกระไรพอได้เห็นพักตร์ | ลูกรักผู้ร่วมชีวัน |
แม้นว่าเขาฆ่าเจ้าบรรลัย | แม่จะตายตามไปสู่สวรรค์ |
รํ่าพลางโศกาจาบัลย์ | กัลยาไม่เป็นสมประดี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระลบสุริย์วงศ์เรืองศรี |
เห็นมารดาทรงโศกแสนทวี | ยอกรชุลีแล้วทูลไป |
ซึ่งพระองค์จะทรงแต่กันแสง | จะแจ้งเหตุร้ายดีก็หาไม่ |
ตัวลูกชาติชายอาชาไนย | จะลาไปตามองค์พระพี่ยา |
ขอเอาชีวิตสนองคุณ | ซึ่งการุญได้เลี้ยงรักษา |
พบแล้วจะพากันมา | พระมารดาค่อยอยู่จงดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดามารศรี |
ฟังโอรสาพาที | เทวีส้วมกอดด้วยความรัก |
ชลนัยน์ไหลนองคลองเนตร | แสนเทวษพ่างเพียงอกหัก |
รับขวัญลูบหลังลูบพักตร์ | นงลักษณ์จึ่งมีวาจา |
ซึ่งเจ้าจะไปตามพี่ | ว่านี้ก็ชอบหนักหนา |
แต่เจ้ายังเยาวยุพา | จะลีลาผู้เดียวเปลี่ยวใจ |
แม่นี้ได้เห็นแต่หน้าเจ้า | ค่อยบรรเทาทุกข์ทนหม่นไหม้ |
หรือจะมาซ้ำจากอกไป | ใครจะเป็นเพื่อนไร้ในกันดาร |
แม้นเขาซ้ำจับไปได้ด้วย | ชีวิตแม่จะม้วยสังขาร |
ว่าพลางข้อนทรวงเยาวมาลย์ | กันแสงปานสิ้นชีวา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | พระลบสุริย์วงศ์กนิษฐา |
ได้ฟังกอดบาทพระมารดา | โศกาทูลวอนรำพันไป |
ซึ่งพระองค์เมตตาปรานี | ทรงพระคุณพ้นที่จะเปรียบได้ |
อันเกิดมาทั้งสามภพไตร | ก็ย่อมบรรลัยไปเหมือนกัน |
แม้นไม่ถึงพรหมลิขิต | ชีวิตไม่ม้วยอาสัญ |
แสนศัตรูหมู่พาลจะฆ่าฟัน | ที่จะทำได้นั้นอย่าสงกา |
ตัวลูกก็ชาติเชื้อชาย | สู้ตายจะไปตามพระเชษฐา |
แม้นมิพบก็ไม่กลับมา | จะเสาะหากว่าจะสิ้นชีวี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดามารศรี |
ฟังลูกรักรํ่าพาที | เทวีรับขวัญแล้วตรัสไป |
ซึ่งเจ้าจะไปตามพี่ชาย | ระวังอันตรายจงได้ |
ว่าแล้วถอดแหวนอำไพ | ส่งให้พลางแจ้งกิจจา |
อันพระธำมรงค์วงนี้ | ฤทธีปราบได้ทุกทิศา |
ถึงจะต้องจองจำตรึงตรา | เครื่องพันธนาสักร้อยชั้น |
อยู่ในตรุขังวังล้อม | กำแพงเหล็กจะห้อมกางกั้น |
มิอาจสามารถจะป้องกัน | สารพันจะลุ่ยหลุดไป |
แม้นพบจงส่งให้พี่ | ก็จะรอดชีวีมาได้ |
ว่าแล้วสีดาทรามวัย | อีกทั้งท่านไทอัยกา |
ต่างองค์อวยชัยให้พระลบ | เจ้าไปจงพบเชษฐา |
บรรดาศัตรูหมู่พาลา | ให้พ่ายแพ้เดชาทั้งธาตรี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลบทรงสวัสดิ์รัศมี |
รับแหวนรับพรด้วยยินดี | ชุลีลาแล้วจับศิลป์ชัย |
กับศรทรงขององค์พระเชษฐา | เหลียวดูมารดานํ้าตาไหล |
สะอื้นพลางลีลาคลาไคล | ไปตามมรคาพนาวัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
ทยอย
๏ เดินพลางกำสรดระทดองค์ | ถึงเชษฐาสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
เคยมาประพาสในอารัญ | เก็บพรรณพฤกษามาลี |
ชมหมู่จตุบททวิบาท | เกลื่อนกลาดตามเชิงคีรีศรี |
แต่ยังเยาว์คุมเท่าบัดนี้ | เป็นที่ผาสุกแต่ก่อนมา |
รํ่าพลางแว่วเสียงนกร้อง | เอะพี่เรียกน้องกระมังหนา |
พิศวงหลงยืนทัศนา | ใช่เสียงเชษฐาแล้วเดินไป |
เห็นทรายทองย่องผ่านชายดง | คล้ายว่าองค์พี่ยามาใกล้ |
รีบสาวบาทาคลาไคล | เข้าใกล้เห็นเป็นมฤคี |
ยิ่งสลดระทดพระทัยนัก | ปิ้มจักล้มลงกับที่ |
สติไม่เป็นสมประดี | โศกีรำพันไปมา |
นิจจาเอยป่านนี้พระพี่เจ้า | ผ่านเกล้าจะสิ้นสังขาร์ |
หรือว่ายังมีชีวา | น้องกินน้ำตาด้วยอาวรณ์ |
ครวญพลางลัดพงดงดาน | เลียบห้วยเหวธารสิงขร |
ข้ามละหานผ่านท่าชโลทร | รีบจรตามมรคาลัย ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ โอด
๏ ครั้นมาถึงที่รณรงค์ | ซึ่งเขาจับองค์พระพี่ได้ |
ให้คิดสลดระทดใจ | ทรุดลงรํ่าไรโศกี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๏ แล้วจึ่งตามรอยพลากร | บทจรออกจากพนาศรี |
รีบรัดดัดดั้นจรลี | ไปยังบุรีอยุธยา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งเห็นฝูงคน | สัญจรเกลื่อนกล่นหนักหนา |
ก็คิดถวิลจินดา | ถ้ากูจะเข้าในเวียงชัย |
เกลือกว่าฝูงชาวนคเรศ | รู้เหตุจะจับตัวได้ |
จะพากันสิ้นชีพชีวาลัย | คือใครจะนับว่าดี |
จะได้ความอัปยศอดอาย | หญิงชายที่ในบุรีศรี |
ฝ่ายองค์สมเด็จพระชนนี | จะโศกีสุดสิ้นชีวา |
อย่าเลยจะแอบแฝงอยู่ | ฟังดูซึ่งข่าวพระเชษฐา |
ประชาชนเดินหนไปมา | จะเจรจาว่าขานประการใด |
คิดแล้วก็เข้าหยุดพัก | สำนักใต้ร่มพระไทรใหญ่ |
ใกล้ทวารนิเวศน์เวียงชัย | บังคมไหว้ฝูงเทพเทวัญ |
ขอท้าวจตุโลกบาล | อีกองค์มัฆวานรังสรรค์ |
ทั้งอารักษ์รักษาธานีนั้น | บรรดาซึ่งเรืองฤทธี |
โปรดเกศจงกรุณาด้วย | ช่วยให้ได้พบกับพระพี่ |
ตัวข้าจะอยู่ในที่นี้ | อย่าให้มีใครเห็นกายา ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายฝูงประชาชนถ้วนหน้า |
ซึ่งเดินเข้าออกไปมา | ตามทางทวาราเวียงชัย |
บรรดาได้เห็นพระมงกุฎ | ให้มีความแสนสุดพิสมัย |
เดินพูดกันอื้ออึงไป | ทั่วทั้งเข็ญใจแลผู้ดี |
อนิจจาเป็นน่าสงสาร | ด้วยกุมารซึ่งจับม้าขี่ |
รุ่งเช้าเขาจะล้างชีวี | ไม่พอที่จะม้วยมรณา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายองค์พระลบกนิษฐา |
ครั้นได้ยินชาวพารา | เดินพูดกันมาก็ตกใจ |
แสนทุกข์สุดทุกข์สุดคิด | ร้อนจิตพ่างเพียงเพลิงไหม้ |
อกเอ๋ยจะทำประการใด | จะช่วยพี่ได้ในครั้งนี้ |
ผู้เดียวจะเข้าต่อยุทธ์ | สัประยุทธ์ในกลางบุรีศรี |
สุดกำลังน้องรักจะต่อตี | รํ่าพลางโศกีไปมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
ยานี
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงองค์เจ้าตรัยตรึงศา |
เสด็จเหนือทิพอาสน์อลงการ์ | ในมหาไพชยนต์พิมาน |
ให้บันดาลร้อนรนสกนธ์กาย | ดั่งพิษเพลิงพรายมาเผาผลาญ |
จึ่งเล็งดูทั่วพื้นสุธาธาร | หวังแจ้งเหตุการณ์ซึ่งเกิดมี |
เห็นองค์พระลบวรนุช | มาตามพระมงกุฎผู้พี่ |
ไม่รู้ที่จะเข้าไปธานี | โศกีอยู่นอกพระนคร |
ครั้งนี้องค์พระหริรักษ์ | จักพบโอรสชาญสมร |
จำจะช่วยกุมารฤทธิรอน | ให้พ้นโทษกรณ์ที่ผูกพัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ คิดแล้วมีเทวบัญชา | สั่งนางรำพาสาวสวรรค์ |
บัดนี้พระองค์ทรงสุบรรณ | ไม่รู้จักกันกับโอรส |
จับมาจองจำทำประจาน | ทรมานเวทนาสาหส |
น้องพระมงกุฎผู้ทรงยศ | บทจรตามมาถึงเวียงชัย |
แสนโศกโศกาจาบัลย์ | จะเข้าไปหากันก็ไม่ได้ |
ตัวเจ้าผู้ปรีชาไว | จงลงไปช่วยบัดนี้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางเทพรำพาโฉมศรี |
รับเทวบัญชาด้วยยินดี | จรลีออกทิพย์วิมาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ เลื่อนลอยมากลางอากาศ | หมายมาดอยุธยาราชฐาน |
ครั้นถึงพ่างพื้นสุธาธาร | นงคราญจำแลงแปลงกาย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ เหมือนนางมนุษย์แน่งน้อย | แช่มช้อยพริ้งเพริศเฉิดฉาย |
กระเดียดหม้อน้ำนาดกราย | บ่ายพักตร์มาตามมรคา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ชุบ
๏ ครั้นใกล้ทวารนคเรศ | ชำเลืองเนตรเหลือบแลซ้ายขวา |
เห็นองค์พระลบกุมารา | โศกาอยู่ใต้ร่มไทร |
จึ่งถามว่าดูก่อนกุมาร | เจ้านี้เหตุการณ์เป็นไฉน |
จึ่งมาโศกาอาลัย | สงสัยเป็นพ้นพันทวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลบทรงสวัสดิ์รัศมี |
ได้ฟังจึ่งตอบวาที | ข้านี้อยู่นอกพระนคร |
ได้ยินข่าวเล่าลืออื้ออึง | ว่ามีกุมารผู้หนึ่งชาญสมร |
ขี่ม้าร่วมอาสน์พระภูธร | จะราญรอนให้สิ้นชีวา |
เขามาดูข้าพลอยมาดูบ้าง | รูปร่างเป็นไฉนจึ่งแกล้วกล้า |
เขาเข้าไปได้ในพารา | น้องมาไม่ทันก็โศกี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางเทพรำพาโฉมศรี |
ได้ฟังจึ่งตอบวาที | อันกุมารที่ต้องโทษทัณฑ์ |
ประจานไว้ในกลางพารา | พรุ่งนี้จะฆ่าให้อาสัญ |
นรลักษณ์พักตราวิลาวัณย์ | รูปทรงเหมือนกันกับเจ้านี้ |
จะไปดูไยมิใช่การ | แม้นว่ากุมารนั้นหลบหนี |
เขาจะจับเอาไปฆ่าตี | ไม่พอที่จะม้วยบรรลัย |
จงกลับคืนไปเสียดีกว่า | เมตตาจึ่งช่วยบอกให้ |
เรานี้จะมาตักน้ำไป | หวังว่าจะให้แก่กุมาร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลบผู้ปรีชาหาญ |
ได้ฟังวาจานงคราญ | ดั่งได้วิมานโสฬส |
อันซึ่งทุกข์ทนสกนธ์กาย | ก็บรรเทาเคลื่อนคลายหายหมด |
จึ่งกล่าวสุนทรมธุรส | ตอบพจนาอรไท |
ซึ่งพี่ห้ามน้องด้วยการุญ | อันคุณนั้นหาที่เปรียบไม่ |
ตัวข้าจะลากลับไป | แต่อย่าให้เสียทีที่น้องมา |
จะขอตักนํ้าให้พี่นาง | จะเป็นบุญบ้างไปภายหน้า |
มีคุณแล้วอย่าสูญศรัทธา | จงส่งหม้อชลามาบัดนี้ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางเทพรำพาโฉมศรี |
ยิ้มแล้วจึ่งตอบวาที | เจ้านี้ว่าชอบข้าขอบใจ |
จะให้ทานคนโทษอันลำบาก | ยากที่ผู้ใดจะทำได้ |
ว่าแล้วส่งหม้อชลาลัย | จงเร่งไปตักน้ำมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลบสุริย์วงศ์ขนิษฐา |
รับกระออมจากกรกัลยา | ก็รีบไปยังท่าชลธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งตักวารี | ในกระแสนที่อันเชี่ยวฉาน |
แล้วถอดแหวนแก้วสุรกานต์ | ชัชวาลเรืองฤทธิ์ดั่งเพลิงกัลป์ |
ใส่ลงในหม้อชลาลัย | อันเย็นใสดั่งทิพย์สุธาสวรรค์ |
แล้วไหว้ฝูงเทพเทวัญ | รำพันตั้งสัจวาที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เดชะที่ข้าซื่อตรง | ต่อองค์เชษฐาเรืองศรี |
ขอให้ธำมรงค์รูจี | สวมนิ้วดรรชนีพระพี่ยา |
จงพ้นโพยภัยที่จองจำ | เทเวศช่วยนำให้พบข้า |
เสร็จแล้วแบกกระออมคงคา | ขึ้นมายังที่พระทวาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เดียว
๏ ครั้นถึงก็ส่งหม้อนํ้าให้ | แล้วว่าไปด้วยคำอ่อนหวาน |
พี่เจ้าจงไปให้ทาน | แก่กุมารนักโทษบัดนี้ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางเทพอัปสรโฉมศรี |
รับได้กระออมวารี | ก็จรลีเข้าไปในพารา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงจึ่งกล่าวปราศรัย | แก่เพชฌฆาตผู้ใหญ่ซึ่งรักษา |
อันกุมารนักโทษพันธนา | ต้องแสงสุริยาร้อนรน |
ข้าเห็นเป็นเวทนานัก | หอบพักแรงโรยโหยหน |
ขอให้ทานน้ำเมื่อยามจน | จะได้เป็นกุศลสืบไป |
ท่านจงเมตตาการุญ | ส่วนบุญนั้นข้าจะแบ่งให้ |
ว่าพลางยิ้มแย้มแกมกลใน | ช้อยใช้ชายตาเป็นที ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนายเพชฌฆาตทั้งสี่ |
ไม่แจ้งว่านางเทพนารี | ต่างตนยินดีปรีดา |
ยิ้มพลางทางกล่าวเกี้ยวพาน | อ่อนหวานด้วยใจเสน่หา |
อันเด็กน้อยซึ่งต้องพันธนา | ญาติวงศ์พงศาเจ้าหรือไร |
จึ่งตักเอาน้ำเข้ามาส่ง | พี่คิดพิศวงสงสัย |
ซึ่งแบ่งบุญให้ก็ขอบใจ | แต่ไม่เหมือนเจ้าปรานี |
ว่าพลางก็ทางสัพยอก | เย้าหยอกสำรวลอึงมี่ |
แม้นเจ้าจะทำไมตรี | ถ้อยทีจะผ่อนหากัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางเทพธิดาสาวสวรรค์ |
ทำชะม้ายชายเนตรเมียงมัน | ผันพักตร์ตอบไปด้วยมารยา |
ไฉนมาเจรจาดั่งนี้ | บัดสีแก่ใจหนักหนา |
ข้าใช่พี่น้องญาติกา | จะเอาบุญจึ่งมาให้ทาน |
ว่าพลางทางทำยิ้มพราย | ด้วยแยบคายถ้อยคำอ่อนหวาน |
อย่าว่าเล่นเช่นนี้ให้เนิ่นนาน | จะเสียการกุศลของน้องไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เพชฌฆาตผู้คุมน้อยใหญ่ |
ต่างตนต่างกริ่มพระหยิ่มใจ | ตอบไปด้วยความปรีดา |
ถ้อยคำกิริยาเจ้าน่าชม | พี่ปรารมภ์ก็ไม่สมปรารถนา |
จะทำบุญมิให้สูญศรัทธา | แต่อย่าลืมคำที่พาที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางเทพรำพาโฉมศรี |
ได้ฟังแสร้งทำเป็นยินดี | แล้วรีบจรลีเข้าไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงจึ่งมีวาจา | เจ้าทนทุกข์เวทนาเป็นไฉน |
พี่นี้สงสารด้วยอาลัย | จึ่งตักนํ้ามาให้เป็นทาน |
ว่าแล้วส่งหม้อวาริน | กินเถิดไม่ม้วยสังขาร |
อันเครื่องเขาพันธนาการ | จะบันดาลลุ่ยหลุดจากอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎทรงสวัสดิ์รัศมี |
ไม่รู้ว่าเป็นเทพนารี | ยินดีรับกระออมมาจากนาง |
ลูบพักตร์แล้วเสวยเข้าไป | ที่เร่าร้อนภายในก็สระสร่าง |
รินรดทั่วทั้งสารพางค์ | พ่างเพี้ยงอมฤตในเมืองฟ้า ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ อันพระธำมรงค์รูจี | ก็สวมนิ้วดรรชนีเบื้องขวา |
ด้วยเดชแหวนแก้วพระจักรา | เครื่องพันธนาก็หลุดไป |
ทั้งฤทธิ์นางเทพอนงค์ | ใครจะแลเห็นองค์ก็หาไม่ |
มีความผาสุกสำราญใจ | จึ่งตรึกไปด้วยปรีชาชาญ |
ก็แจ้งว่าสมเด็จพระแม่เจ้า | ผู้เกิดเกล้าชุบชีพสังขาร |
เอาพระธำมรงค์อลงการ | ให้พระลบกุมารตามมา |
แล้วกล่าวสุนทรวาที | น้องขอบคุณพี่หนักหนา |
มาช่วยจึ่งรอดชีวา | หาไม่จะม้วยบรรลัย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางฟ้าผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังจึ่งตอบคำไป | จะอยู่ช้าไม่ได้นะน้องรัก |
จะพาไปให้พ้นโทษทัณฑ์ | พระผู้ผ่านไอศวรรย์อาณาจักร |
ว่าแล้วจึ่งองค์นงลักษณ์ | ก็นำหน่อหริรักษ์จรลี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เดินพลางทางกล่าวสุนทร | ดูก่อนพระมงกุฎเรืองศรี |
ไปเถิดตรงมือพี่ชี้ | แล้วเทวีก็เหาะขึ้นเมืองฟ้า ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎวุฒิไกรใจกล้า |
ได้ฟังนางนั้นจำนรรจา | บัดเดี๋ยวกัลยาก็หายไป |
แต่พินิจพิศเพ่งเล็งดู | เป็นครู่แล้วคิดขึ้นได้ |
ชะรอยนางฟ้าสุราลัย | มาช่วยให้รอดชีวี |
มีความชื่นชมโสมนัส | เพียงได้สมบัติโกสีย์ |
ยุรยาตรนาดกรจรลี | ไปตามวิถีรัถยา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เดินพลางทางดูพระลบ | ไม่พบก็โทมนัสสา |
โอ้ว่าน้องแก้วแววตา | ตามมาแล้วอยู่แห่งใด |
ตัวพี่จึ่งไม่เห็นเจ้า | ให้ร้อนเร่าฤทัยดั่งเพลิงไหม้ |
สุดคิดที่จะไถ่ถามใคร | ดูไปจนออกนอกทวาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลบผู้ใจกล้าหาญ |
แอบอยู่ด้วยปรีชาชาญ | คอยฟังเหตุการณ์พี่ยา |
ตั้งพักตร์สอดส่ายนัยน์เนตร | พอเห็นเยาวเรศเชษฐา |
ดำเนินออกจากพารา | ก็วิ่งมากอดบาทรํ่าไร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
โอ้ร่าย
๏ โอ้ว่าพระพี่ผู้เพื่อนยาก | วิบากสิ่งใดมาซัดให้ |
น้องคิดว่าสิ้นชีวาลัย | ด้วยมือพวกภัยราวี |
มีแต่โศกาอาวรณ์ | ทุกข์ร้อนถึงเบื้องบทศรี |
ตัวข้าเหมือนคนไม่ดี | เสียทีเป็นชายเกิดมา |
พี่น้องสองคนรณรงค์ | ควรหรือหนีองค์พระเชษฐา |
ดั่งหนึ่งไม่มีฤทธา | โทษานี้ใหญ่หลวงนัก |
หากบุญพระองค์ผู้ทรงฤทธิ์ | จึ่งไม่เสียชีวิตแก่ปรปักษ์ |
จงให้อภัยแก่น้องรัก | รํ่าพลางซบพักตร์ลงโศกี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎทรงสวัสดิ์รัศมี |
สวมสอดกอดน้องเข้าทันที | เจ้าพี่อย่าทรงโศกา |
อันซึ่งความทุกข์แลสุขนั้น | ย่อมมีด้วยกันถ้วนหน้า |
ตัวเราพี่น้องสองรา | ยังเยาว์ยุพาอยู่นัก |
ไม่เคยไม่ชำนาญในการยุทธ์ | ชิงชัยสัประยุทธ์หาญหัก |
จึ่งเสียทีแก่เขานะน้องรัก | ดวงจักษุพี่ไม่ถือใจ |
ถึงต้องทรมานปิ้มปางตาย | จะเสียดายชีวาก็หาไม่ |
ปรารมภ์แต่เจ้าจะบรรลัย | ไม่มีใครเป็นเพื่อนพระชนนี |
เมื่อพระมารดาแจ้งเหตุ | ทุกข์เทวษเป็นไฉนนะเจ้าพี่ |
ใครบอกมรคาพนาลี | จึ่งตามมาถึงที่พารา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลบสุริย์วงศ์กนิษฐา |
ได้ฟังสมเด็จพระพี่ยา | ยิ่งแสนโศกาจาบัลย์ |
ชลนัยน์ตกต้องหลังพระบาท | พระเชษฐาธิราชรังสรรค์ |
เหมือนนํ้าฟ้าตกจากอากาศนั้น | ต้องกลีบบุษบันอำไพ |
แสนสลดระทดพระทัยนัก | ซบพักตร์ทอดถอนใจใหญ่ |
สะอื้นพลางพลางเล่าความไป | เมื่อเขาจับได้พี่ยา |
น้องนี้ไปทูลพระแม่เจ้า | โศกเศร้าปิ้มสิ้นสังขาร์ |
ฟื้นขึ้นข้าจึ่งวอนลา | พระมารดาโปรดให้ธำมรงค์ |
ก็รีบรัดดัดดั้นอรัญเวศ | ผู้เดียวทุเรศป่าระหง |
ครั้นถึงที่รบชายดง | ก็เดินตรงตามรอยโยธี |
เดชะด้วยบุญพระเชษฐา | จึ่งมาถึงทวาราบุรีศรี |
เห็นนางหนึ่งกระเดียดหม้อวารี | มายังที่ท่าชลธาร |
ข้าจึ่งไปตักน้ำให้ | เอาแหวนใส่ตั้งสัจอธิษฐาน |
เล่าถี่แจ้งถ้วนทุกประการ | แล้วส่งศรชัยชาญให้พี่ยา ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎวุฒิไกรใจกล้า |
รับศรจากกรอนุชา | แล้วมีวาจาตอบไป |
อันซึ่งอนงค์ทรงลักษณ์ | ที่ตักวารีมาให้ |
คือว่านางฟ้าสุราลัย | มีใจเมตตาปรานี |
ฝ่ายพระมารดาก่อเกล้า | ให้เอาแหวนมาประทานพี่ |
ทั้งเจ้าก็จงรักภักดี | มีคุณพ้นที่จะพรรณนา |
ตัวพี่จึ่งรอดชีวิต | แต่เจ็บจิตด้วยเขาทำโทษา |
ครั้นเราจะไปเฝ้าพระมารดา | เห็นว่าเขาจะยกตามไป |
จะคอยอยู่ที่กลางพนาวัน | แก้แค้นแทนกันให้จงได้ |
ฆ่าเสียให้สิ้นทั้งทัพชัย | ด้วยฤทธิไกรศรทรง |
ว่าแล้วก็ชวนพระนุชนาถ | ลีลาศดั่งพญาราชหงส์ |
กรายกรตามกันทั้งสององค์ | ตรงไปโดยทางบทจร ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงกาลวาตพนาเวศ | ทั้งสองเยาวเรศชาญสมร |
ก็หยุดอยู่ริมชายพนาดร | คอยจะราญรอนไพรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนายเพชฌฆาตทั้งสี่ |
ราชมัลนครบาลพัสดี | มิได้เห็นองค์กุมารา |
ทั้งนางตักนํ้ามาให้นั้น | หายไปด้วยกันพร้อมหน้า |
ต่างคนตกใจเป็นโกลา | แยกย้ายเที่ยวหาวุ่นไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ทุกอกตรอกถนนตึกกว้าน | โรงร้านบ้านเรือนน้อยใหญ่ |
อารามพราหมณ์ชีนอกใน | สุมทุมพุ่มไม้ก็ไล่ค้น |
โรงช้างโรงม้าโรงรถ | เที่ยวไปหาหมดทุกแห่งหน |
บ้างไถ่ถามไพร่ฟ้าประชาชน | อลหม่านทั่วทั้งธานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ นอกเมืองในเมืองก็หาจบ | ไม่พบพระกุมารเรืองศรี |
บ้างปรับทุกข์กันว่าเรานี้ | น่าที่ไม่พ้นมรณา |
จำจะไปแจ้งเหตุการณ์ | แก่ท่านเสนีซ้ายขวา |
ว่าแล้วก็พากันเข้ามา | ยังที่ศาลาลูกขุนใน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงยอกรอภิวาทน์ | แทบบาทเสนาผู้ใหญ่ |
แจ้งความแต่ต้นจนปลายไป | ขอท่านจงได้ปรานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | จึ่งมหาเสนาทั้งสี่ |
ได้ฟังตกใจไม่สมประดี | ก็ไปยังที่พระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรบังคมบาท | พระตรีภูวนาถรังสรรค์ |
ทูลว่ากุมารชาญฉกรรจ์ | ที่ต้องโทษทัณฑ์พันธนา |
มีหญิงหนึ่งตักนํ้ามาให้ | หายไปด้วยกันต่อหน้า |
เที่ยวค้นจนทั่วทั้งพารา | หาไม่ประสบพบพาน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรกฤษณ์ฤทธิ์ลํ้าสุริย์ฉาน |
ได้ฟังเสนีปรีชาชาญ | ผ่านฟ้ากริ้วโกรธดั่งเพลิงกัลป์ |
กระทืบบาทผาดแผดสุรเสียง | สำเนียงดั่งหนึ่งฟ้าลั่น |
เหม่ไอ้เพชฌฆาตราชมัล | โทษนั้นถึงสิ้นชีวาลัย |
จงจำมันไว้ให้ตรึงตรา | ที่ในเคหาตรุใหญ่ |
แล้วเร่งเกณฑ์พลสกลไกร | กูจะตามไปโรมรัน |
จับไอ้ลูกน้อยอหังการ | ที่มันฮึกหาญโมหันธ์ |
เข้ามาสังหารชีวัน | ด้วยกันกับไอ้เหล่านี้ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งมหาเสนาทั้งสี่ |
ก้มเกล้ารับสั่งพระจักรี | ถวายอัญชุลีแล้วออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ สั่งขุนตำรวจซ้ายขวา | บรรดาซึ่งเป็นนายใหญ่ |
ให้เอาเพชฌฆาตจำไว้ | ตามในบัญชาพระทรงธรรม์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
ยานี
๏ แล้วเกณฑ์พยุหจตุรงค์ | เลือกล้วนอาจองแข็งขัน |
ขุนช้างขี่ช้างดั้งกัน | ถือขอหยัดยันกรายกร |
ขุนม้าผูกม้าอาชาชาติ | ที่มีอำนาจดั่งไกรสร |
ผู้ขี่มือถือโตมร | ขับจรรวดเร็วดั่งลมพัด |
ขุนรถเทียมรถเรือนสุวรรณ | กรกุมเกาทัณฑ์ยืนหยัด |
สองข้างนั้นมีหอกซัด | สันทัดเคล่าคล่องทำนองยุทธ์ |
ขุนพลจัดพลนิกาย | ไพร่นายแน่นนันต์นับสมุทร |
ล้วนถือเครื่องสรรพอาวุธ | อุตลุดเพียบพื้นปถพี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกเรืองศรี |
กับสามอนุชาร่วมชีวี | เสด็จไปเข้าที่สรงชล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ สี่กษัตริย์สระสนานสำราญกาย | สุหร่ายโรยโปรยปรายดั่งสายฝน |
ทรงสุคนธารสเสาวคนธ์ | ธารกลิ่นโกมลในเมืองอินทร์ |
ต่างสอดสนับเพลารายพลอย | ดวงลอยลายเครือสุวรรณสิ้น |
ภูษาพื้นทองทรงข้าวบิณฑ์ | ช่อเชิงนาคินทร์ต่างกัน |
ชายไหวชายแครงเครือมาศ | ฉลององค์ทรงประพาสสังเวียนคั่น |
ตาบทิศทับทรวงสังวาลวัลย์ | ล้วนแก้วกุดั่นอลงการ |
พาหุรัดทองกรมังกรกลาย | ทับทิมพรายรายบุษย์มุกดาหาร |
ธำมรงค์เพชรรัตน์ชัชวาล | มงกุฎแก้วสุรกานต์กรรเจียกจร |
ห้อยพวงมาลัยดอกไม้ทัด | ต่างขัดพระขรรค์แล้วจับศร |
งามองค์งามทรงงามอาภรณ์ | กรายกรตามกันไปขึ้นรถ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ รถเอยสี่รถทรง | ดุมกงประดับแก้วมรกต |
เรือนแอกแปรกอ่อนงอนชด | พื้นลดภาพล้อมบัลลังก์ลอย |
สี่มุขเสามาศมังกรหก | แก้วกระหนาบกาบกระหนกช่อห้อย |
ห้ายอดเหมระยับสลับพลอย | สุกย้อยสูงเยี่ยมทิฆัมพร |
เทียมสินธพสี่กำลังกล้า | เชื้อพยศชาติพญาไกรสร |
สารถีสำทับกระหยับกร | เผ่นโจนโผนจรดั่งลมกาล |
เครื่องสูงครบสิ่งกรรชิงแก้ว | ชั้นแถวฉัตรทองธงฉาน |
ขนัดพลแน่นพื้นสุธาธาร | ปี่ฆ้องเป่าขานประสานกัน |
กาหลกองแห่หน้าหลัง | กลองดังกลางดงครื้นครั่น |
ผงคลีพัดกลุ้มชอุ่มควัน | ต้อนกันตามเกณฑ์กระบวนจร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด