- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
๏ เมื่อนั้น | พระมหาดาบสพรตกล้า |
มิได้รู้กลมารยา | เห็นกระบี่โศกาก็งวยไป |
สำคัญสัญญาว่าจริง | จะรู้เล่ห์ลมลิงก็หาไม่ |
ให้คิดเมตตาอาลัย | แม้นมิพาไปบัดเดี๋ยวนี้ |
ด้วยสองวานรมันหนีมา | จะอาสาพญายักษี |
อันเจ้าลงกาธานี | อสุรีก็สิ้นพงศ์พันธุ์ |
ต้องรณรงค์องค์เดียว | ขับเคี่ยวปิ้มม้วยอาสัญ |
ไอ้นี่ก็ตัวสำคัญ | จะได้ช่วยกันชิงชัย |
ฝ่ายกูผู้เป็นอาจารย์เล่า | มิเอาภารธุระก็ไม่ได้ |
แม้นแจ้งไปถึงจะน้อยใจ | ดั่งไม่รู้คุณพญามาร |
จึ่งว่าดูราวานร | มาร้องไห้อ้อนวอนบอกขาน |
กูเห็นจริงแล้วทุกประการ | อย่ารำคาญจะพาไปบัดนี้ |
ว่าพลางนุ่งผ้าคากรอง | ครองสไบสำหรับฤๅษี |
ฉวยได้ไม้เท้าพัชนี | ออกจากกุฎีแล้วรีบมา ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานหาญกล้า |
จึ่งทำเป็นกลมารยา | วิ่งไปขวางหน้าพระนักพรต |
มือขวายุดไม้เท้าง่าม | มือซ้ายฉุดย่ามพระดาบส |
ฝ่ายลูกพาลีมียศ | คร่าเอารัดประคตลากไว้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมหาโคบุตรอาจารย์ใหญ่ |
เห็นวานรยุดคร่าวุ่นไป | หลากใจจึ่งกล่าววาที |
ตัวเอ็งทั้งสองสิทุกข์ร้อน | มาร้องไห้อ้อนวอนกูฤๅษี |
ให้พาไปถวายอสุรี | กูนี้มีความเมตตา |
เหตุใดจึ่งทำให้ช้าการ | อลหม่านแย่งยุดฉุดคร่า |
หรือเอ็งหวาดหวั่นวิญญาณ์ | กลัวท้าวยักษาจะฆ่าตี |
กูสิจะพาเข้าไปเฝ้า | หรือไม่เชื่อเรากระบี่ศรี |
แต่โทษหนักหนายิ่งกว่านี้ | ยังขอชีวีไม่บรรลัย |
อันกูกับท้าวทศกัณฐ์ | สารพันจะว่ากล่าวได้ |
เอ็งจักทุกข์ร้อนด้วยอันใด | มาจะรีบไปอย่าให้ช้า ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
ได้ฟังจึ่งตอบวาจา | ตัวข้าพึ่งบาทพระมุนี |
ใช่ว่าจะเกรงโทษทัณฑ์ | ของท้าวทศกัณฐ์ยักษี |
แต่ความข้อหนึ่งนั้นมี | ข้านี้วิตกเป็นพ้นไป |
ด้วยพิเภกกราบทูลพระราม | ท่ามกลางวานรน้อยใหญ่ |
ว่าพญายักษ์ถอดดวงใจ | ฝากไว้แก่องค์พระสิทธา |
จริงหรือเหมือนคำกุมภัณฑ์ | ข้าคิดอัศจรรย์หนักหนา |
ด้วยไม่เคยเห็นแต่ก่อนมา | จึ่งถามพระมหามุนี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระโคบุตรฤๅษี |
ได้ฟังวานรพาที | มีความสะดุ้งหวั่นใจ |
ดูดู๋พิเภกยักษา | อนิจจาควรหรือเป็นได้ |
จะแกล้งฆ่าพี่ให้บรรลัย | หมายสมบัติในเมืองมาร |
ถึงมาตรจะพรางก็ไม่มิด | ดั่งมือปิดพญาคชสาร |
วานรรู้ก่อนมาช้านาน | จำจะบอกขานตามสัจจา |
ตริแล้วจึ่งตอบคำไป | อันดวงใจของท้าวยักษา |
เอามาฝากกูไว้แต่ไรมา | จริงเหมือนวาจาอสุรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
ทำตกใจใส่กลพาที | เอะกระไรกระนี้มีเป็นการ |
พระรามทำศึกกับทศกัณฐ์ | หมายมั่นปองปลงจงผลาญ |
อันซึ่งชีวิตพญามาร | หรือพระอาจารย์มิได้คิด |
จึ่งเอาดวงใจท้าวยักษี | ไว้ในกุฎีกระจิหริด |
เกลือกจะใช้เสนีมีฤทธิ์ | มาลักเอาดวงจิตนั้นไป |
ดั่งหนึ่งพระมหานักธรรม์ | แกล้งฆ่าทศกัณฐ์เสียได้ |
พระองค์ก็ทรงปรีชาไว | เป็นไฉนไม่คิดข้อนี้ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระโคบุตรมหาฤๅษี |
ได้ฟังหนุมานพาที | พระมุนีเห็นจริงทุกประการ |
จึ่งว่าดูก่อนลิงน้อย | ซึ่งถ้อยคำเอ็งว่าขาน |
รอบคอบแหลมหลักปรีชาชาญ | ควรเป็นลูกหลานเจ้าลงกา |
ว่าแล้วจึ่งองค์พระนักสิทธ์ | ผู้ทรงฤทธิ์ญาณฌานกล้า |
ก็พาวานรทั้งสองรา | กลับมาอรัญกุฎี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งตรงเข้าไป | หยิบเอาดวงใจยักษี |
ถือไว้แล้วกล่าววาที | นี่คือชีวิตทศกัณฐ์ |
อยู่ในศีลาประกับ | แกล้งปรับให้ชิดสนิทมั่น |
ทำพิธีเจ็ดเดือนเจ็ดวัน | จิตนั้นจึ่งออกจากกายา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
จึ่งว่าอันกรุงลงกา | เป็นมหานคเรศธานี |
ไฉนไม่ไว้ในเมืองเล่า | จึ่งเอามาฝากพระฤๅษี |
อันอยู่กลางป่าพนาลี | เหตุนี้จะเป็นประการใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระโคบุตรอาจารย์ใหญ่ |
ได้ฟังจึ่งแจ้งความไป | อันซึ่งดวงใจพญามาร |
กับตัวจะไว้ให้ใกล้กัน | ในเจ็ดชั้นปราสาทราชฐาน |
จะคืนเข้ายังที่วิญญาณ | ด้วยว่าชำนาญในกายา |
อุปมาดั่งลูกนกน้อย | อันคอยซึ่งแม่ปักษา |
ครั้นแลเห็นตัวมารดา | ก็จะวิ่งเข้าหาด้วยยินดี |
เพราะเหตุฉะนี้แลวานร | ท้าวยี่สิบกรยักษี |
จึ่งไม่เอาไว้ในบุรี | กลัวที่จะคืนเข้าไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
ฟังพระโคบุตรวุฒิไกร | ทั้งเห็นดวงใจกุมภัณฑ์ |
มีความชื่นชมโสมนัส | ดั่งได้สมบัติในสวรรค์ |
ซึ่งกูอาสาพระทรงธรรม์ | การนั้นจะเสร็จดั่งจินดา |
ไม่พักลำบากยากใจ | ที่จะได้ดวงจิตยักษา |
อันพระมหาสิทธา | หลงด้วยวาจาของกูนี้ |
คิดพลางประณตบทบงสุ์ | แล้วว่าแก่องค์พระฤๅษี |
นิมนต์รีบเข้ายังธานี | ถวายข้านี้แก่ท่านไท ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระโคบุตรอาจารย์ใหญ่ |
ได้ฟังไม่สงสัยใจ | ก็รีบไปตามแนวมรคา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
ครั้นใกล้ทวารลงกา | ทำตกใจฉุดผ้าคร่าไว้ |
เอะอะไรกระนี้พระนักธรรม์ | พูดกันเมื่อกี้ช่างลืมได้ |
จะพาเอาดวงจิตเข้าไป | ให้ใกล้พญาอสุรี |
แม้นคืนเข้ากายดั่งเก่า | จะทำกระไรเล่าพระฤๅษี |
ถ้าพระรามแผลงศรต้องอินทรีย์ | น่าที่จะสิ้นชีวา |
จงส่งดวงใจให้องคต | งดอยู่นอกเมืองจะดีกว่า |
ต่อเมื่อพระมหาสิทธา | ออกมาจึ่งค่อยเอาไป |
จงพาแต่ข้าผู้พี่ชาย | เข้าถวายวันนี้ให้ได้ |
แต่พอค่อยสร่างสว่างใจ | พ้นภัยพระรามจักรี |
อันซึ่งองคตอนุชา | ไว้ข้าจะถวายกระบี่ศรี |
แก่องค์พญาอสุรี | พระมุนีจงได้โปรดปราน ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระโคบุตรผู้ปรีชาหาญ |
ได้ฟังคำแหงหนุมาน | ว่าขานเห็นจริงไม่สงกา |
จึ่งส่งดวงจิตทศพักตร์ | มอบให้องคตรักษา |
แล้วพาหนุมานรีบมา | เข้าในทวาราเวียงชัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่อสุรีน้อยใหญ่ |
ครั้นเห็นหนุมานก็ตกใจ | ไม่เป็นสติสมประดี |
ความกลัวปิ้มสิ้นชีวัน | ตัวสั่นหน้าซีดคือผี |
อุปมาดั่งฝูงมฤคี | เห็นสีหราชผาดมา |
บ้างก็อุ้มลูกจูงหลาน | อลหม่านทั้งเมืองยักษา |
ลางตนก็แบกภริยา | บ้างอุ้มพ่อตาวิ่งไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ร้องอึงคะนึงกุลาหล | จะเหลียวหลังสักตนก็หาไม่ |
จนเหนื่อยหอบอ้าปากหายใจ | ด้วยเห็นฤทธิไกรมาหลายที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
จึ่งบอกแก่องค์พระมุนี | บัดนี้อสุรีในลงกา |
เห็นข้าเข้ามาก็ตกใจ | วิ่งแยกแตกไปทุกทิศา |
อันองคตอยู่นอกทวารา | เกลือกว่ามันพบมิเป็นการ |
ด้วยได้ทำผิดไว้แต่หลัง | เมื่อครั้งพระรามให้สื่อสาร |
ได้หยาบช้าแก่องค์พญามาร | แล้วฆ่าทหารทั้งสี่ตาย |
ข้าจะลาไปสั่งองคต | ให้รู้กำหนดกฎหมาย |
แม้นยักษาใครมาทักทาย | ให้เบี่ยงบ่ายว่าโยมพระมุนี |
เข้ามาหวังจะถวายตัว | อสุราจะกลัวท้าวยักษี |
แม้นว่าไม่บอกจะเสียที | พระมุนีจงได้เมตตา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระดาบสพรตกล้า |
ได้ฟังหนุมานเจรจา | แสนโสมนัสสายิ่งนัก |
จึ่งว่าเอ็งนี้มีปรีชาญ | ว่าขานสิ่งใดก็แหลมหลัก |
ควรเจ้าลงกาพญายักษ์ | จะให้ยศถาศักดิ์สืบไป |
แม้นว่าได้ใช้ขุนกระบี่ | เห็นทีพระองค์จะรักใคร่ |
ว่าแล้วจึ่งขับทันใด | จงเร่งไปบอกแก่องคต ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานฤทธิไกรดั่งไฟกรด |
จึ่งคิดว่าองค์พระนักพรต | ปรากฏสักว่าเป็นอาจารย์ |
โง่เง่าไม่รู้เท่ากู | ดูไปไม่เป็นแก่นสาร |
คิดแล้วถวายมัสการ | ทำวิ่งลนลานออกไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงซึ่งลูกพาลี | ขุนกระบี่ผู้มีอัชฌาสัย |
จึ่งร่ายพระเวทสำรวมใจ | นิมิตศีลาใหม่ด้วยศักดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ เสร็จแล้วก็ส่งให้องคต | ว่าดวงใจทศพักตร์ยักษา |
เจ้าจงเอาไปด้วยฤทธา | ฝังไว้ยังท่าสมุทรไท |
แล้วกลับมาคอยพระนักสิทธ์ | เอาศีลานิมิตนี้เปลี่ยนให้ |
น้องรักจงรีบกลับไป | รักษาดวงใจไว้ให้ดี |
ถ้าเห็นเราเหาะขึ้นสามโยชน์ | อ้าโอษฐ์เป็นเดือนจำรัสศรี |
จงรีบเอาดวงใจอสุรี | ไปส่งให้พี่อย่านาน |
ว่าแล้วยอกรบังคม | นบนิ้วประนมอธิษฐาน |
ถึงพระพายบิดาชัยชาญ | ขอประทานจงได้เมตตา |
งดอยู่อย่าเพ่อพัดก่อน | กว่าวานรจะเสร็จอาสา |
ว่าแล้วก็กลับคืนมา | ยังองค์พระมหานักธรรม์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | องคตฤทธิแรงแข็งขัน |
จึ่งเอาดวงใจทศกัณฐ์ | เหาะระเห็จด้นดั้นเมฆไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ฝังไว้ริมเนินพระสมุทร | สุดเขาอัญชันทิศใต้ |
เสร็จแล้วกลับมาด้วยว่องไว | ตั้งใจคอยท่าพระมุนี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพระโคบุตรฤๅษี |
ครั้นเห็นหนุมานก็ยินดี | จึงพากระบี่รีบมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษา |
เสด็จออกพระโรงรัตนา | พญายักษ์ปรึกษาราชการ |
ด้วยหมู่เสนาพฤฒามาตย์ | อำมาตย์ปุโรหิตมหาศาล |
เหลือบเห็นพระโคบุตรอาจารย์ | พาหนุมานมาก็ตกใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ยี่สิบหัตถ์คว้าสรรพอาวุธ | อุตลุดไม่นั่งอยู่ได้ |
ลุกจากแท่นแก้วแววไว | แล้วร้องถามไปด้วยโกรธา |
พามันมาไยพระมุนี | ไอ้นี่หยาบคายหนักหนา |
ครั้งหนึ่งมันเผาลงกา | ฆ่ายักษาตายมากนัก |
เมื่อทำพิธีในอุโมงค์ | ก็ลงไปทำลายหาญหัก |
แล้วฉุดคร่ามณโฑนงลักษณ์ | องอาจฮึกฮักไม่เกรงใคร |
อันหมู่อสูรกุมภัณฑ์ | ตายเพราะมือมันไม่นับได้ |
เจ็บจิตเป็นสุดคิดไป | จะฆ่าให้บรรลัยบัดนี้ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระโคบุตรมหาฤๅษี |
เห็นทศกัณฐ์โกรธดั่งอัคคี | ยิ้มแล้วจึ่งมีวาจา |
พระองค์อย่าเพ่อโกรธก่อน | อันวานรหนุมานทหารกล้า |
ผิดกับพระลักษมณ์พระรามา | ร้องไห้มาหากูอาจารย์ |
จะขอเป็นข้าพญายักษ์ | กว่าจักสิ้นชีพสังขาร |
จะอาสาออกไปรอนราญ | ผลาญหมู่อริราชไพรี |
แจ้งความแต่ต้นจนปลาย | ถวายแก่พญายักษี |
อันตัวของกูนี้เห็นดี | จึ่งพากระบี่เข้ามา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศพักตร์ยักษา |
ฟังพระมุนีก็ปรีดา | ดั่งว่าได้อมฤตรส |
นั่งลงยอกรอภิวาท | อาราธนาพระดาบส |
ให้สถิตเหนืออาสน์อันเรืองยศ | แล้วมีพจนารถถามไป |
ดูก่อนคำแหงหนุมาน | ตัวท่านสิเป็นทหารใหญ่ |
ผิดกับพระรามด้วยอันใด | จงว่าแต่จริงไปบัดนี้ |
ถึงมาตรเขาไม่เลี้ยงตัว | อย่ากลัวกูจะเลี้ยงกระบี่ศรี |
มิให้อายวานรโยธี | จงภักดีต่อเราสืบไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรผู้มีอัชฌาสัย |
ฟังทศกัณฐ์ถามก็ดีใจ | ทำร้องไห้ฟูมฟายน้ำตา |
จึ่งว่าอันองค์พระราม | ความจริงนั้นคุณก็หนักหนา |
ครั้นจะยกโทษมาพรรณนา | ไม่ควรที่ข้าจะพาที |
แต่ความแค้นแสนสุดจะอดทน | จำจะทูลยุบลบทศรี |
ข้าทำสงครามมาทั้งนี้ | จงรักภักดีเป็นพ้นไป |
ถึงราชการที่ไหนหนัก | แต่ผู้เดียวก็หักเสียได้ |
พระองค์ผู้ทรงภพไตร | ย่อมแจ้งอยู่ใต้พระบาทา |
บำเหน็จรางวัลก็ไม่มี | ลางทีก็ทำโทษา |
น้อยใจเป็นพ้นพรรณนา | จึ่งหนีมาพึ่งบทมาลย์ |
แกล้งทูลบรรยายเป็นหลายข้อ | ล้วนประดิษฐ์ติดต่อให้วิตถาร |
แม้นพระองค์เลี้ยงข้าโปรดปราน | เห็นวานรทหารจะหนีมา |
จะเหลือแต่พระรามพระลักษมณ์ | กับพิเภกสิทธิศักดิ์ยักษา |
ทั้งสามจะกินแต่น้ำตา | ข้าจะดูหน้าในครั้งนี้ ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยี่สิบกรยักษี |
ฟังวายุบุตรพาที | ยินดีดั่งได้โสฬส |
ด้วยสิ้นทหารชาญณรงค์ | สุริย์วงศ์มิตรสหายก็ตายหมด |
สงครามติดพันไม่เงือดงด | ระทดใจดั่งว่ายทะเลวน |
ครั้นพบพ่วงแพขอนไม้ | พอจะอาศัยก็เสือกสน |
ทั้งเห็นวานรมีฤทธิรน | ทรหดอดทนแต่ต้นมา |
ยิ้มแล้วจึ่งกล่าววาที | เมื่อกระบี่มาทำอาสา |
หักสวนเผาเมืองลงกา | ฝ่ายเราก็ว่าจะเลี้ยงไว้ |
ตัวท่านไม่อยู่จะสู้ตาย | กลับไปหานายจงได้ |
ยังปูนบำเหน็จสิ่งใด | ที่ในความชอบของวานร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
ได้ฟังท้าวยี่สิบกร | ทำถอนใจแล้วตอบบัญชา |
ซึ่งข้ารักใคร่พระรามนั้น | สำคัญว่าจะได้ยศถา |
ผู้เดียวไม่คิดชีวา | ด้วยว่าเธอนั้นยังเอ็นดู |
ซึ่งพระองค์จะเลี้ยงข้านี้ | จึ่งไม่ยินดีจะยอมอยู่ |
บัดนี้พิเภกเป็นศัตรู | ยุยงภูธรทุกวันไป |
พระรามฟังความแต่ข้างเดียว | จะเหลียวหลังยั้งหยุดก็หาไม่ |
เท็จจริงผิดชอบประการใด | มิได้ไถ่ถามให้เที่ยงธรรม์ |
ความแค้นเป็นแสนสาหส | สุดคิดสุดอดจะทนกลั้น |
ครั้งข้ามาเผาเมืองนั้น | ได้รางวัลแต่ผ้าอาบนํ้า |
ไม่มีสิ่งอื่นแต่ผืนเดียว | ทั้งนุ่งทั้งเกี้ยวอยู่เช้าคํ่า |
แสนเวทนาทารกรรม | ชํ้าใจเป็นพ้นพรรณนา |
อันสงครามเพียงนี้ไม่ยากนัก | ข้าจักขอรับอาสา |
ไปจับพระลักษมณ์พระรามมา | ถวายเบื้องบาทาพระภูมี ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพณาสูรยักษี |
ได้ฟังวานรพาที | ยินดีเห็นจริงทุกสิ่งไป |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | แก่เสนามารน้อยใหญ่ |
ทั้งกวีโหราปรีชาไว | อันอยู่ในที่เฝ้าพร้อมกัน |
บัดนี้หนุมานชาญณรงค์ | หนีองค์พระรามรังสรรค์ |
ตั้งใจมาพึ่งเรานั้น | โดยธรรม์สุจริตดั่งวาจา |
หรือจะเป็นกลอุบาย | ทั้งหลายจงเร่งปรึกษา |
จะเลี้ยงไว้ในกรุงลงกา | อสุราจะเห็นประการใด ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ปโรหิตเสนาน้อยใหญ่ |
ได้ฟังบัญชาภูวไนย | บังคมไหว้แล้วปรึกษากัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เห็นพร้อมน้อมเศียรกราบทูล | นเรนทร์สูรธิราชรังสรรค์ |
ซึ่งขุนกระบี่หนีมานั้น | หมายมั่นจะพึ่งบาทา |
ว่าผิดกับพระลักษมณ์พระราม | ซักไซ้ไถ่ถามก็หนักหนา |
ถ้อยคำยั่งยืนแต่ต้นมา | เห็นไม่มารยาพาที |
ทั้งหน้าตาอาการก็ทุกข์ร้อน | จึ่งซุกซอนมาหาพระฤๅษี |
วิงวอนว่ากล่าวด้วยภักดี | ข้านี้ไม่แคลงแหนงใจ |
ด้วยกระบี่หนีร้อนมาพึ่งเย็น | เห็นพอจะเลี้ยงไว้ได้ |
พระองค์ผู้ปิ่นภพไตร | จงทรงวินิจฉัยด้วยปรีชา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศเศียรยักษา |
ฟังหมู่อำมาตย์ทูลมา | อสุราชื่นชมด้วยสมคิด |
ดั่งหนึ่งได้ทิพย์สมบัติ | ในรัตนพิมานดุสิต |
จึ่งเรียกหนุมานเข้ามาชิด | พิศพักตร์แล้วกล่าววาที |
พ่อจะเลี้ยงเจ้าเป็นโอรส | ให้ปรากฏยศศักดิ์เฉลิมศรี |
เหมือนองค์อินทรชิตอสุรี | มิให้ราคีสิ่งใด |
แล้วว่าแก่องค์พระอาจารย์ | ซึ่งพาหนุมานเข้ามาให้ |
พระคุณล้ำลบภพไตร | ใหญ่หลวงเป็นพ้นพรรณนา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระโคบุตรผู้ทรงสิกขา |
ได้ฟังจึ่งมีวาจา | ดูก่อนพญาอสุรี |
ซึ่งพระองค์ไม่ทำโทษกรณ์ | ภูธรจะเลี้ยงกระบี่ศรี |
ตัวกูมีความยินดี | ที่จะได้ช่วยสงครามไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ ครั้นแล้วจึ่งสั่งหนุมาน | กิจการจงเอาใจใส่ |
ต่างเนตรต่างกรรณภูวไนย | อย่าให้เคืองใต้บาทา |
ว่าพลางอำนวยอวยพร | จงถาวรบรมสุขา |
เสร็จแล้วลาองค์อสุรา | ลงมาจากปราสาทรูจี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | องคตหลานท้าวโกสีย์ |
แต่นั่งคอยพระมหามุนี | อยู่ที่ประตูเวียงชัย |
ครั้นแลเห็นองค์พระดาบส | ยอกรประณตประนมไหว้ |
จึ่งเอาศีลานิมิตไว้ | ส่งให้แก่องค์พระสิทธา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระโคบุตรอาจารย์ฌานกล้า |
มิได้รู้กลมารยา | รับเอาศีลาที่วานร |
จึ่งว่าดูราองคต | จงงดท่าหนุมานที่นี่ก่อน |
ว่าแล้วมาจากพระนคร | บทจรไปยังกุฎี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | ลูกพญาพาลีเรืองศรี |
ครั้นเสร็จซึ่งส่งพระมุนี | ขุนกระบี่ก็เหาะระเห็จไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ มาถึงเชิงเขาอัญชัน | อันอยู่ริมเนินสมุทรใหญ่ |
รักษาดวงจิตที่ฝังไว้ | ตั้งใจคอยดูหนุมาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ใจหาญ |
เสด็จจากแท่นรัตน์ชัชวาล | เข้าปราสาทสุรกานต์รูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงนั่งร่วมอาสน์ | แทบใกล้อัครราชมเหสี |
แล้วมีมธุรสวาที | เจ้าพี่จะเล่าให้ฟัง |
อันซึ่งสงครามรามลักษมณ์ | ไม่หนักใจเหมือนแต่หลัง |
ด้วยหนุมานผู้มีกำลัง | บัดนี้หนีซังเข้ามา |
บอกว่าผิดกันกับพระราม | มีความแค้นเคืองหนักหนา |
แต่ได้เห็นก็เป็นเมตตา | ดั่งว่าอินทรชิตลูกเรา |
พี่นี้มีความโสมนัส | ถึงได้แก้วจักรพรรดิก็ไม่เท่า |
เห็นกำลังไพรีจะบางเบา | ด้วยเขี้ยวศึกมาเข้าข้างนี้ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางมณโฑมเหสี |
ได้ฟังพระราชสามี | ชุลีกรสนองพระบัญชา |
อันซึ่งคำแหงหนุมาน | พระรามรักปานพระเนตรขวา |
ว่าความแค้นมีจึ่งหนีมา | จะอยู่อาสาพระทรงฤทธิ์ |
ขึ้นชื่อว่าชาติไพรี | จะพาทีซื่อตรงนั้นเห็นผิด |
ซึ่งจะคบศัตรูเป็นมิตร | ดั่งเอาอสรพิษมาเลี้ยงไว้ |
ข้าน้อยเห็นไม่มีประโยชน์ | นานไปจะทำโทษให้ |
พระองค์ผู้ทรงภพไตร | อย่าไว้พระทัยแก่ไพรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศพักตร์ยักษี |
ได้ฟังอัครราชเทวี | พาทีเปรียบเทียบทัดทาน |
สิบปากสำรวลสรวลสันต์ | กุมภัณฑ์ตบหัตถ์ฉัดฉาน |
แล้วมีพระราชโองการ | เยาวมาลย์อย่ารังเกียจใจ |
พี่ซักไซ้ไถ่ถามก็หนักหนา | จนปรึกษาเสนาน้อยใหญ่ |
ทั้งพระโคบุตรวุฒิไกร | ที่ไหนจะโง่ไปกว่าลิง |
ดั่งหนึ่งจะแจ้งนํ้าใจคน | สารพันด้นรู้ไปทุกสิ่ง |
เธอมีจิตจงรักเราจริง | ถ้ากริ่งอยู่แล้วไม่พามา |
ซึ่งวานรจะทำโทษให้ | ดวงใจอย่าคิดกังขา |
ว่าแล้วยูรยาตรคลาดคลา | ออกมายังท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงนั่งเหนือบัลลังก์รัตน์ | ภายใต้เศวตฉัตรฉายฉัน |
พร้อมหมู่เสนากุมภัณฑ์ | อภิวันท์เกลื่อนกลาดดาษไป |
จึ่งมีพระราชบัญชา | สั่งเปาวนาสูรผู้ใหญ่ |
จงบอกเจ้าพนักงานนอกใน | กูจะให้สมโภชหนุมาน |
จัดทั้งเครื่องต้นเครื่องทรง | มงกุฎกุณฑลมุกดาหาร |
ตาบประดับทับทรวงสังวาล | ธำมรงค์สุรกานต์รูจี |
แล้วมีบัญชาพจนารถ | แก่โหราราชครูทั้งสี่ |
จงหาศุภฤกษ์นาที | ให้ดีโดยยามเวลา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ขุนโหรทั้งสี่ยักษา |
ก้มเกล้ารับราชบัญชา | ก็ดูตามตำราคัมภีร์ |
ชำระฤกษ์กะหนกกะบัญชร | ทั้งจันทร์จรตามจักรราศี |
สอบใส่มหานาที | คูณหารโดยที่เทียบกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เสร็จแล้วจึ่งบังคมทูล | นเรนทร์สูรธิราชรังสรรค์ |
พรุ่งนี้รุ่งสีรวีวรรณ | พระจันทร์สถิตในมังกร |
ได้ฤกษ์สองโมงหกบาท | เทวราชประชุมสโมสร |
จะจำเริญสิริสถาวร | ภูธรจะชนะไพรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งเปาวนาสูรยักษี |
ก้มเกล้ารับราชวาที | ถวายอัญชุลีแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งหมายบอกไปทุกพนักงาน | ทั้งทหารพลเรือนซ้ายขวา |
ตามมีพระราชบัญชา | ข้างหน้าข้างในพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | จึ่งเจ้าพนักงานคนขยัน |
แจ้งหมายกะเกณฑ์เป็นควัน | จัดสรรอุตลุดวุ่นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ชาววังก็จัดปราสาท | ปูลาดพรมที่น้อยใหญ่ |
ผูกม่านกั้นฉากข้างใน | อำไพพิจิตรอลงการ์ |
ฝ่ายนางวิเสทอสุรี | ก็ตั้งบายศรีซ้ายขวา |
เทียนทองติดแว่นรัตนา | เสด็จตามบัญชากุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ครั้นรุ่งแสงสีรวีวรรณ | ทรงธรรม์ออกท้องพระโรงชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งมีพระราชวาที | สั่งศรีหนุมานทหารใหญ่ |
ให้ชำระสระสนานสำราญใจ | ในที่สิริอลงการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น[1] | วายุบุตรวุฒิไกรใจหาญ |
รับสั่งทศเศียรขุนมาร | ไปชำระสระสนานอินทรีย์ |
สนับเพลาภูษาเชิงยก | เครือกระหนกเป็นรูปราชสีห์ |
สังวาลทับทรวงรูจี | มงกุฎแก้วมณีชัชวาล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ใจหาญ |
จูงกรคำแหงหนุมาน | ขึ้นแท่นสุรกานต์อลงการ์ |
ท่ามกลางเสนาพฤฒามาตย์ | กวีราชสุริย์วงศ์ยักษา |
พร้อมทั้งกำนัลกัลยา | ในมหาปราสาทพรายพรรณ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
สระบุหร่ง
๏ ได้เอยได้ฤกษ์ | โหราให้เบิกบายศรีขวัญ |
จึ่งลั่นฆ้องชัยเป็นสำคัญ | กาหลสนั่นดนตรี |
ฝ่ายนางบำเรอก็ครวญขับ | รำมะนาโทนทับอึงมี่ |
ปโรหิตเอาเทียนจุดอัคคี | ติดที่แว่นแก้วรจนา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เวียนเอยเวียนเทียน | ให้เวียนแต่ซ้ายมาขวา |
ส่งรับลำดับกันมา | ขานโห่โกลาสนั่นไป |
ครั้นถ้วนคำรบเจ็ดรอบ | ตามระบอบพิธีคัมภีร์ไสย |
ปโรหิตจึ่งดับเทียนชัย | โบกควันไปให้วานร |
แล้วเอาจุณเจิมเฉลิมพักตร์ | พญายักษ์ชื่นชมสโมสร |
ราชครูเสนาพลากร | ก็อวยพรให้ศรีหนุมาน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพณาสูรใจหาญ |
ครั้นเสร็จมงคลพิธีการ | พญามารจึ่งมีบัญชา |
พ่อไร้โอรสยศยง | จะสืบสุริย์วงศ์ไปภายหน้า |
ได้เจ้ามาไว้ดั่งดวงตา | บิดาจะเลี้ยงเป็นบุญธรรม์ |
สิ่งใดมิให้อนาทร | จงถาวรเป็นสุขเกษมสันต์ |
จะได้พึ่งเจ้าผู้ชาญฉกรรจ์ | โรมรันอริราชไพรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | คำแหงวายุบุตรกระบี่ศรี |
ได้ฟังทศพักตร์พาที | แสร้งทำยินดีปรีดา |
แกล้งก้มกรานหมอบยอบตัว | ดั่งคำรพเกรงกลัวหนักหนา |
อยู่แต่ไกลองค์ออกมา | วานรไม่ไหว้กุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
จึ่งสั่งหนุมานชาญฉกรรจ์ | เจ้าผู้บุตรบุญธรรม์ของบิดร |
จงไปอยู่ปราสาทสูรกานต์ | ให้สำราญเป็นสุขสโมสร |
กับฝูงสุรางคนิกร | อันทรงลักษณ์อรชรจำเริญใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วายุบุตรผู้มีอัชฌาสัย |
รับสั่งพญามารชาญชัย | ก็ไปยังปราสาทรัตนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งขึ้นบัลลังก์อาสน์ | สำหรับราชสุริย์วงศ์ยักษา |
โอฬารด้วยแก้วอลงการ์ | ดั่งมหาวิมานรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ชมตลาด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนางกำนัลสาวศรี |
สำหรับปราสาทรัตน์มณี | แจ้งว่ากระบี่หนุมาน |
มาอยู่ยังทิพย์ไพชยนต์ | ต่างตนมีจิตเกษมศานต์ |
ก็แต่งทั่วนางพนักงาน | จัดแจงเครื่องอานวุ่นไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ ตรวจเตรียมพร้อมเสร็จทุกกำนัล | สารพันครบสิ่งหาขาดไม่ |
ก็พากันย่างเยื้องคลาไคล | ขึ้นไปบำเรอวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงต่างตนน้อมเกล้า | เฟี้ยมเฝ้าขุนกระบี่ชาญสมร |
ในห้องปราสาทอลงกรณ์ | ทำจริตกรีดงอนในที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
พัดชา
๏ ลางนางก็อยู่งานพัด | โบกปัดให้องค์กระบี่ศรี |
ฝ่ายนางพนักงานดนตรี | ก็ขับร้องเรื่อยรี่ประสานกัน |
รำมะนาท้าทับสลับเสียง | สำเนียงดั่งหนึ่งเพลงสวรรค์ |
หวนโหยทุ้มเอกโอดพัน | แจ้วเจื้อยสนั่นจับใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ มโหรี
๏ เมื่อนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
เห็นฝูงอนงค์กำนัลใน | ทรงโฉมวิไลจำเริญตา |
ทั้งฟังสุรเสียงสำเนียงขับ | จับจิตเป็นที่เสน่หา |
มีความประดิพัทธ์ปรีดา | ในหมู่กัลยายุพาพาล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
โอ้โลม
๏ ลดลงจากที่บัลลังก์รัตน์ | ด้วยความกำหนัดในสงสาร |
สัพยอกหยอกเย้าเยาวมาลย์ | เชยโฉมนงคราญทุกนารี |
เพลิดเพลินไปในรสรัก | ด้วยฝูงเยาวลักษณ์สาวศรี |
แสนสุขแสนเกษมเปรมปรีดิ์ | ในที่สิริไสยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ กล่อม
๏ ครั้นเวลาล่วงปัจจุสมัย | อโณทัยเยี่ยมยอดภูผา |
ชำระสระสรงคงคา | ประดับเครื่องรจนาพรายพรรณ |
เสร็จแล้วลงจากปราสาท | อันโอภาสพรรณรายฉายฉัน |
ขึ้นเฝ้าองค์ท้าวทศกัณฐ์ | ฝูงนางกำนัลก็ตามไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงพระโรงรูจี | พร้อมหมู่เสนีน้อยใหญ่ |
นั่งหน้ามาตยาเสนาใน | เฝ้าองค์ท่านไทเจ้าลงกา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยี่สิบกรยักษา |
ครั้นเห็นหนุมานขึ้นมา | มีความปรีดาเป็นพ้นคิด |
สิบพักตร์ผ่องเพียงดวงจันทร์ | กุมภัณฑ์บัญชาประกาศิต |
เจ้าผู้ทรงศักดาวราฤทธิ์ | ดั่งดวงชีวิตของบิดร |
ยังค่อยเป็นสุขเกษมสวัสดิ์ | ที่ในห้องรัตน์ประภัสสร |
ด้วยฝูงอนงค์บังอร | ขับฟ้อนบำเรอประการใด |
อันฝูงนักสนมกำนัล | ทั้งนั้นยังไม่รู้อัชฌาสัย |
ที่จะประกอบให้ชอบใจ | สิ่งไรจงค่อยอัชฌา |
ซึ่งเจ้ามิได้อัญชุลี | ข้อนี้สงสัยเป็นหนักหนา |
ผิดประเวณีบูราณมา | อันนับว่าพ่อลูกกัน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โอรสพระพายรังสรรค์ |
ได้ฟังพญากุมภัณฑ์ | จึ่งบิดผันแก้ไขด้วยปรีชา |
อันคุณพระองค์ทรงเดช | ก็เหมือนบิตุเรศนาถา |
ซึ่งได้เกิดเกล้าลูกมา | นั้นยิ่งแผ่นฟ้าสุธาธาร |
ที่ข้ามิได้บังคมนั้น | เป็นมหันตโทษไพศาล |
จะทูลให้แจ้งบทมาลย์ | เมื่อไปเป็นทหารจักรี |
มิได้ไหว้พระพายบิดาก่อน | ก็ไม่ประนมกรบทศรี |
ต่ออยู่มาหลายราตรี | ได้อัญชุลีพระบิดา |
ข้าจึ่งบังคมพระราม | เป็นความจริงมิได้มุสา |
แม้นว่าพระพายพัดมา | ข้าได้วันทาแล้วเมื่อใด |
จึ่งจะนบนิ้วขึ้นประนม | น้อมเศียรบังคมพระองค์ได้ |
พระบิดาอย่าแหนงแคลงใจ | จงให้อภัยแก่ลูกนี้ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
ได้ฟังหนุมานพาที | อสุรีไม่แจ้งกลลิง |
จึ่งว่าดูก่อนลูกแก้ว | เจ้าว่าชอบแล้วทุกสิ่ง |
ประจักษ์ทักแท้แก่ใจจริง | คุณใครจะยิ่งกว่าบิดา |
ครั้งนี้อันตัวของเจ้า | จะเป็นปิ่นเกล้ายักษา |
ลูกรักผู้มีปรีชา | จงตรึกตราที่จะล้างไพรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
ได้ฟังทศพักตร์พาที | ขุนกระบี่ทูลตอบให้ชอบใจ |
อันศึกมนุษย์ทั้งสองคน | จะพ้นมือข้าก็หาไม่ |
บัดนี้ขึ้นมาจะลาไป | แม้นได้ท่วงทีของลูกยา |
จะจับพระรามพระลักษมณ์ | กับพิเภกอัปลักษณ์ยักษา |
มาถวายสมเด็จพระบิดา | มิให้เคืองบาทาเท่าธุลี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพณาสูรยักษี |
ได้ฟังหนุมานพาที | มิความยินดีเป็นพ้นนัก |
ดั่งได้สมบัติพัสถาน | อันโอฬารเลิศลํ้าในไตรจักร |
สำรวลสรวลยิ้มทั้งสิบพักตร์ | พญายักษ์จึ่งสั่งมโหทร |
จงเตรียมจตุรงคโยธา | อันแกล้วกล้าห้าวหาญชาญสมร |
เหมือนทัพอินทรชิตฤทธิรอน | ออกไปต่อกรด้วยไพรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มโหทรเสนายักษี |
รับสั่งพระองค์ทรงธรณี | ถวายอัญชุลีแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ปฐม
ยานี
๏ เกณฑ์มารเป็นหมู่จตุรงค์ | เลือกล้วนอาจองแกล้วกล้า |
พลเท้าห่มเกราะอลงการ์ | ถือปืนคาบศิลาหยัดยัน |
พลม้าล้วนถือทวนแทง | ขี่ขับเรี่ยวแรงแข็งขัน |
พลช้างผูกช้างซับมัน | พื้นชาติฉันทันต์งางอน |
มารหมอถือของ้าวง่า | แต่ละตัวแกล้วกล้าดั่งไกรสร |
พลรถก็เทียมอัสดร | มือถือโตมรทะยานยุทธ์ |
ตั้งตามตาริ้วราบเรียบ | ดั่งระเบียบหมู่คลื่นในสมุทร |
กวัดแกว่งสาตราวราวุธ | อุตลุดเพียบพื้นปถพี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศพักตร์ยักษี |
ครั้นเสร็จซึ่งจัดโยธี | จึ่งมีพระราชบัญชา |
กำชับสั่งนายจตุรงค์ | จงเร่งระวังรักษา |
แม้นลูกรักกูเป็นเหตุมา | จะฆ่าให้สิ้นทั้งทัพชัย |
ตรัสแล้วประทานพระแสงศร | อำนวยอวยพรประสาทให้ |
ซึ่งจะไปปราบพวกภัย | ดวงใจจงศรีสวัสดี |
อันหมู่กระบินทร์อรินทร์ราช | จงวินาศแพ้พ่ายกระจายหนี |
ให้จับมนุษย์ได้ในวันนี้ | ลูกรักพ่อศรีเมืองมาร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | คำแหงวายุบุตรใจหาญ |
รับศรกับพรพญามาร | แล้วมาสนานอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ พนักงานก็ไขท่อทอง | เป็นละอองต้องกายกระบี่ศรี |
ลูบไล้สุคนธมาลี | สนับเพลารูจีเชิงงอน |
ภูษาพื้นทองท้องยก | ก้านกระหนกรูปราชไกรสร |
ชายแครงชายไหวอลงกรณ์ | ฉลององค์อรชรฉลุลาย |
ตาบทิศทับทรวงดวงประพาฬ | สังวาลมรกตสามสาย |
พาหุรัดทองกรมังกรกลาย | ธำมรงค์เพชรรายเรือนสุบรรณ |
ทรงมงกุฎแก้วปัทมราช | กุณฑลนพมาศฉายฉัน |
จับศรย่างเยื้องจรจัล | จากปราสาทสุวรรณมาขึ้นรถ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ รถเอยรถศึก | สามงอนพันลึกอลงกต |
ธินั่งท้าวทศเศียรทรงยศ | ชั้นลดบุษบกบัลลังก์ทอง |
เทียมด้วยไกรสรสีหราช | พันคู่ร้ายกาจเผ่นผยอง |
สารถีขับแล่นลำพอง | เครื่องสูงธงทองสลับกัน |
แตรงอนแตรฝรั่งประสานเสียง | สำเนียงฆ้องกลองบันลือลั่น |
ทวยหาญโห่ก้องพนาวัน | รีบเร่งพลขันธ์ดำเนินไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นถึงซึ่งที่สนามยุทธ์ | วายุบุตรผู้มีอัชฌาสัย |
จึ่งให้หยุดโยธาพลไกร | ตั้งไว้ใกล้เชิงคีรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ