- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
ช้า
๏ [1]เมื่อนั้น | พญาไมยราพยักษี |
ครอบครองไพร่ฟ้าประชาชี | ที่ในนคราบาดาล |
พร้อมด้วยจัตุรงค์โยธา | แสนสุรเสนาทวยหาญ |
ไม่มีอันตรายภัยพาล | สำราญดั่งเมืองเทวัญ |
ราตรีเข้าที่ไสยาสน์ | เหนือที่ทิพอาสน์ฉายฉัน |
ท่ามกลางสนมกำนัล | กุมภัณฑ์ก็เคลิ้มหลับไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงปัจฉิมราตรี | สกุณีเพรียกพร้องเสียงใส |
ฝันว่ายังมีเทพไท | ได้ดวงมณีจินดา |
รัศมีดั่งสีทินกร | ช้อนชูมาในหัตถา |
วางลงเหนือมืออสุรา | แสงสว่างโลกาธาตรี |
เทเวศนั้นเหาะไปสถาน | ยังวิมานฟากฟ้าราศี |
พญายักษ์ชมดวงมณี | จนตื่นจากที่บรรทมใน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ จึ่งชำระองค์ทรงเครื่อง | อร่ามเรืองดั่งดวงแขไข |
จับคทาธรแก้วแววไว | เสด็จไปออกท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | ภายใต้เศวตฉัตรฉายฉัน |
พร้อมหมู่โหรากุมภัณฑ์ | อภิวันท์เกลื่อนกลาดดาษดา |
จึงมีบัญชาประกาศิต | แก้ซึ่งนิมิตยักษา |
แก่หมู่กระวีโหรา | ตามฝันพญาอสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | หมู่โหราจารย์ยักษี |
พิเคราะห์สอบใส่ในคัมภีร์ | ถ้วนถี่เสร็จสิ้นทุกประการ |
ต่างตนน้อมเศียรบังคมคัล | พร้อมกันทำนายโดยโวหาร |
ซึ่งฝันว่าเทเวศชัยชาญ | ชูแก้วชัชวาลอำไพ |
มาวางลงเหนือพระหัตถ์ | แสงจำรัสดั่งดวงแขไข |
นิมิตนี้ประเสริฐเลิศไตร | ภูวไนยจะได้โอรส |
เป็นบุตรบุญธรรมสถาวร | ฤทธิรอนปรีชาปรากฏ |
จะขจรบาดาลสะท้านยศ | ทศทิศจะเกรงเดชา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พญาไมยราพยักษา |
ได้ฟังโหรทายทำนายมา | อสุราชื่นชมยินดี |
ซาบซ่านไปด้วยโสมนัส | ดั่งได้สมบัติโกสีย์ |
เทพไทดลใจอสุรี | ให้คิดที่จะเที่ยวประพาสไพร |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | สั่งเสนามารผู้ใหญ่ |
จงเตรียมพหลพลไกร | กูจะไปเที่ยวเล่นหิมวา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งอำมาตย์มารยักษา |
ก้มเกล้ารับราชบัญชา | ชุลีลาแล้วรีบออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ประถม
ยานี
๏ เกณฑ์เป็นเสนาพยุหบาตร | โดยกระบวนประพาสป่าใหญ่ |
กองหน้าล้วนถือปืนไฟ | สอดใส่เกราะเหล็กอลงกรณ์ |
ถัดมาโยธาหน้ากาก | เกราะนากกรกุมธนูศร |
หน้าขบเกราะเงินเป็นอาภรณ์ | กรกุมโตมรยืนยัน |
หน้าแสยะสอดใส่เกราะทอง | ถือหอกเมียงมองแข็งขัน |
เตรียมทั้งรถแก้วแพรวพรรณ | ประทับเกยสุวรรณรูจี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พญาไมยราพยักษี |
เสด็จจากแท่นแก้วมณี | ไปเข้าที่สรงวาริน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ชำระพระองค์สรงสนาน | สุคนธ์ธารหอมฟุ้งจรุงกลิ่น |
สนับเพลาเป็นรูปนาคินทร์ | ภูษาทรงธงข้าวบิณฑ์พื้นดำ |
ชายไหวชายแครงเครือทอง | ฉลององค์พื้นตองเขียวขำ |
รัดอกล้วนบุษราคัม | ประจำยามเคียงคั่นกุดั่นดวง |
สร้อยสนสังวาลลายแทง | ตาบทิศเพชรแดงรุ้งร่วง |
เฟื่องห้อยพลอยประดับทับทรวง | พาหุรัดแก้วดวงทองกร |
สอดใส่ธำมรงค์เนาวรัตน์ | มงกุฎแก้วจำรัสประภัสสร |
พระหัตถ์นั้นจับคทาธร | บทจรมาขึ้นราชรถ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ บาทสกุณี
โทน
๏ รถเอยราชรถทรง | แก้วสลับประกับกงอลงกต |
แอกช้อยชวยงอนอ่อนชด | ชั้นลดภาพล้อมบัลลังก์ลอย |
สี่มุขงามแม้นพิมานมาศ | เครือหงส์สิงหาสน์ช่อห้อย |
ดุมเพลาแสงพลามอร่ามพลอย | กาบช้อยแก้วช่วงอรชร |
เทียมสัตว์จัดสรรราชสีห์ | เกศาล้วนมีเกสร |
สารถีมือถือโตมร | ขับเผ่นอัมพรดั่งลมพัด |
เครี่องสูงบังแทรกชุมสาย | ธงฉานธงชายกรรชิงฉัตร |
กาหลพลแห่เยียดยัด | เป็นขนัดกลาดแน่นอึงอล |
เสียงกงรถลั่นสนั่นก้อง | ทหารเร้าโห่ร้องกุลาหล |
แหวกทางหว่างท้องสุธาดล | รีบพวกเร่งพลขึ้นมา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นถึงเนินทรายชายพนม | รื่นร่มด้วยพรรณพฤกษา |
ให้หยุดรถริมเชิงบรรพตา | อสุราลงเที่ยวประพาสไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ชมหมู่มิ่งไม้ในไพรวัน | งอกงามเรียงรันอยู่ไสว |
ผลิดอกออกผลปนใบ | ช่อช้อยแกว่งไกวอรชร |
ดิบห่ามทรามสุกดาษดา | เบิกบานผกาเกสร |
ลมพัดพากลิ่นขจายจร | ทิชากรบินจับจิกกิน |
บ้างรํ่าร้องชมกันเป็นหมู่หมู่ | น่าฟังน่าดูไม่รู้สิ้น |
ชมมาจนท่าวาริน | แนวกระแสสินธุ์หาดทราย |
ตรวดแก้วแวววับจับตา | รจนาดั่งสีมณีฉาย |
ที่ขาวขาวเพียงเพชรพราย | ที่เขียวเขียวลายดั่งไข่ครุฑ |
ที่แดงดั่งแสงปัทมราช | ที่เหลืองเลื่อมผาดดั่งนํ้าบุษย์ |
ลางสีคล้ายแสงชมพูนุท | ชมพลางเลียบสมุทรดำเนินมา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ พญาเดิน
ร่าย
๏ พระพายชายพัดพาคลื่น | โครมครื้นพัดฝั่งฉานฉ่า |
แลไปก็เห็นกุมารา | ดวงพักตร์กายาเป็นวานร |
หางนั้นเป็นหางมัจฉาชาติ | ขาวผ่องโอภาสประภัสสร |
อยู่ที่ริมฝั่งสาคร | ดั่งดวงศศิธรไม่ราคี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ หยุดยืนแลเล็งเพ่งพิศ | ยิ่งคิดหลากใจยักษี |
พินิจเป็นครู่ด้วยยินดี | อสุรีก็เดินเข้าไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งมีวาจา | กุมารานี้เดิมเป็นไฉน |
นามวงศ์พงศ์พันธุ์ประการใด | เหตุไรมาอยู่ที่กันดาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งหลานพระพายใจหาญ |
ได้ฟังอสุราบัญชาการ | กราบกับบทมาลย์ด้วยยินดี |
แล้วทูลว่าอันตัวข้า | ชื่อมัจฉานุกระบี่ศรี |
นางสุพรรณมัจฉานารี | เทวีเป็นพระมารดร |
มาคลอดข้าไว้ที่หาดทราย | ชายฝั่งริมเชิงสิงขร |
แล้วคืนไปยังสาคร | บังอรมิได้กลับมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาไมยราพยักษา |
ได้ฟังยินดีปรีดา | อสุราตริตรึกนึกไป |
น่าที่จะเหมือนหนึ่งความฝัน | มั่นคงโหรทายหาผิดไม่ |
ชะรอยเทเวศดลใจ | นำให้มาพบกุมารนี้ |
คิดแล้วกล่าวคำอันสุนทร | ดูกรลูกรักเฉลิมศรี |
พ่อก็ไร้โอรสแลบุตรี | ที่จะสืบวงศาในบาดาล |
จะเลี้ยงเจ้าดั่งบุตรในอุทร | ให้ถาวรเป็นสุขเกษมศานต์ |
ว่าพลางโอบอุ้มกุมาร | พาพลทหารกลับมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
๏ ขึ้นยังพิชัยรถทรง | พร้อมหมู่จัตุรงค์ซ้ายขวา |
ให้เลิกพหลโยธา | คืนมายังราชธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงซึ่งที่ด่านขัณฑ์ | ชั้นในใกล้เมืองยักษี |
จึ่งให้หยุดพหลโยธี | อสุรีดำริตริไป |
กุมารนี้เชื้อมัจฉาชาติ | เคยประพาสอยู่ท้องชเลใหญ่ |
กูจะพาไปไว้ในเวียงชัย | จะไม่สำราญวิญญาณ์ |
คิดแล้วมีราชวาที | ตรัสสั่งเสนียักษา |
ให้ขุดสระกว้างยาวหมื่นวา | โอฬาร์ด้วยพรรณปทุมมาลย์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาผู้ใหญ่ใจหาญ |
รับสั่งเจ้ากรุงบาดาล | กราบกับบทมาลย์แล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งวัดหน้าที่ปันกัน | ทั่วหมู่พลขันธ์ซ้ายขวา |
ได้ห้าสิบตนต่อวา | พอครบตามสารบาญชี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่โยธายักษี |
บ้างขุดบ้างขนเป็นโกลี | ด่าตีกันอึงคะนึงไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดเดี๋ยวเป็นสระมุจลินท์ | วารินสะอาดเย็นใส |
ปทุมมาศกลาดเกลื่อนดอกใบ | ก็เสร็จโดยในพระบัญชา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาไมยราพยักษา |
ชื่นชมด้วยสมจินดา | จึ่งสั่งมัจฉานุกุมาร |
ตัวเจ้าจงอยู่ในสระนี้ | เป็นที่ผาสุกเกษมศานต์ |
แม้นมีศัตรูหมู่พาล | จงผลาญให้ม้วยชีวาลัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มัจฉานุผู้มีอัชฌาสัย |
ชื่นชมด้วยสมดั่งใจ | บังคมไหว้แล้วสนองบัญชา |
ซึ่งพระองค์เมตตาการุญ | คุณดั่งบิตุเรศนาถา |
แม้นมีศัตรูหมู่พาลา | จะขออาสาต่อตี |
ทูลแล้วยอกรอภิวาทน์ | แทบบาทพญายักษี |
ลงไปในสระวารี | เป็นที่ผาสุกสำราญ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พญาไมยราพใจหาญ |
ครั้นมัจฉานุกุมาร | อยู่รักษาด่านชั้นใน |
เสร็จแล้วมีราชวาที | สั่งมหาเสนีผู้ใหญ่ |
ให้เลิกพหลพลไกร | รีบไปบุรีภิรมยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายสุครีพหนุมานทหารกล้า |
ครั้นเสร็จจองถนนด้วยศิลา | ก็ให้โยธาวานร |
เร่งรัดทุบปราบราบรื่น | พื้นนั้นเรี่ยรายด้วยทรายอ่อน |
ปักตรุยเส้นวาแน่นอน | แล้วพากันบทจรเข้ามา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงน้อมเกล้าบังคม | ทูลองค์บรมนาถา |
ข้าบาทไปจองมรคา | เสร็จดั่งบัญชาพระจักรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์เรืองศรี |
ฟังน้องพญาพาลี | ยินดีดั่งได้โสฬส |
แย้มยิ้มพริ้มพรายสบายใจ | พักตร์เพียงแขไขทรงกลด |
ซาบซ่านปานอมฤตรส | จึ่งมีพจนารถบัญชา |
แก่พญาพิเภกขุนมาร | ผู้ปรีชาชาญแกล้วกล้า |
ให้หาศุภฤกษ์เวลา | ซึ่งจะยกโยธาพลากร |
สุครีพจงจัดผู้ถือธง | ที่อาจองกล้าหาญชาญสมร |
นำหน้าโยธาวานร | ให้สถาวรสวัสดี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ไชยามพวานกระบี่ศรี |
ได้ฟังพระราชวาที | ยินดีด้วยสมดั่งจินดา |
จึ่งน้อมเศียรเกล้าบังคมทูล | นเรนทร์สูรปิ่นภพนาถา |
ข้านี้ได้พรเจ้าโลกา | ว่าถ้านารายณ์อวตาร |
จากเกษียรคงคามาปราบยุค | ให้โลกเป็นสุขเกษมศานต์ |
จะข้ามไปลงกากรุงมาร | ให้เป็นทหารถือธงชัย |
นำหมู่พยุหโยธา | ข่มนามอสุราทั้งนั้นได้ |
เป็นมหามงคลเลิศไกร | ปราบไปได้ทั่วธาตรี |
ถ้าพระองค์จะใคร่แจ้งเหตุ | จงถามอมรเมศฤๅษี |
เธออยู่ไกรลาสคีรี | เป็นที่จำเริญเมตตาฌาน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
ได้ฟังไชยามพวาน | ผ่านฟ้าชื่นชมด้วยสมคิด |
จึ่งสั่งวายุบุตรฤทธิรณ | จงไปนิมนต์พระนักสิทธ์ |
อมรเมศผู้ชาญชำนาญฤทธิ์ | ซึ่งสถิตไกรลาสให้ลงมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
ก้มเกล้ารับราชบัญชา | ชุลีลาแล้วรีบเหาะไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงศาลาอาศรม | ยอกรบังคมประนมไหว้ |
ว่าพระทรงสังข์รับสั่งใช้ | ให้ข้ามาเชิญพระมุนี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอมรเมศฤๅษี |
แจ้งว่าพระนารายณ์ฤทธี | ภูมีให้มานิมนต์ไป |
มีความชื่นชมโสมนัส | ฉวยได้ตาลิปัตรกับย่ามใหญ่ |
เหาะจากศาลาด้วยว่องไว | วายุบุตรวุฒิไกรก็ตามมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงขึ้นยังบัลลังก์อาสน์ | นั่งสมาธิสำรวมสิกขา |
ท่ามกลางวานรเสนา | คอยฟังบัญชาพระจักรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอวตารทรงสวัสดิ์รัศมี |
มัสการแล้วมีวาที | ข้านี้จะยกพลากร |
ไปปราบอสูรในเมืองมาร | จัดหมู่ทหารชาญสมร |
ไชยามพวานวานร | บอกว่าได้พรเจ้าโลกา |
ให้เพื่อนนั้นถือธงชัย | นำพวกพลไกรไปหน้า |
จริงหรือฉันใดพระสิทธา | ข้านี้สงสัยพันทวี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระอมรเมศฤๅษี |
ได้ฟังก็แจ้งแต่เดิมที | ว่าองค์เจ้าตรีโลกา |
ประสาทพรไชยามพวาน | ถ้านารายณ์อวตารให้อาสา |
ถือธงนำพยุหโยธา | จริงเหมือนวาจาพานร |
ด้วยนามเพื่อนนั้นข่มนามยักษ์ | ทั้งแหลมหลักกล้าหาญชาญสมร |
จะเป็นศรีสวัสดิ์สถาวร | แก่พระสี่กรผู้ทรงฤทธิ์ |
อันหมู่อสูรพาลา | จะพ่ายแพัศักดาไม่ต้านติด |
ปราบไปได้ทั่วทศทิศ | ปัจจามิตรจะราบทั้งธาตรี |
พระองค์จงทำตามบรรหาร | พระสยมภูวญาณเรืองศรี |
จะมีชัยแก่ราชไพรี | ทั่วไปทั้งตรีโลกา |
ว่าพลางอำนวยอวยพร | ให้ถาวรบรมสุขา |
แล้วลาออกจากพลับพลา | เหาะมากุฎีพระอาจารย์ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | พิเภกโหราปรีชาหาญ |
ชำระฤกษ์ยามอัศกาล | ได้ทั้งศุภวารเวลา |
แล้วจึ่งน้อมเศียรบังคมบาท | ทูลพระภูวนาถนาถา |
พรุ่งนี้ศุภฤกษ์ยาตรา | เป็นมหามงคลสวัสดี |
เทวาพร้อมกันประเวศ | ประชุมในเมษราศี |
ให้จำเริญราชฤทธี | ไพรีจะอัปราชัย |
ฤกษ์รุ่งมหาสิทธิโชค | โยคเกณฑ์จะได้ลาภใหญ่ |
เป็นศรีสวัสดิ์เลิศไกร | นัยว่าจะมาแต่อัมพร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระรามสุริย์วงศ์ทรงศร |
ได้ฟังพิเภกพยากรณ์ | ภูธรสุขเกษมเปรมปรีดิ์ |
จึ่งสั่งสุครีพผู้ศักดา | ให้จัดโยธากระบี่ศรี |
เข้ากองทั้งสองพระบุรี | แต่ในราตรีจงพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุครีพลูกพระสุริย์ฉัน |
รับสั่งพระองค์ทรงสุบรรณ | บังคมคัลแล้วรีบออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ประถม
ยานี
๏ จัดเป็นมังกรข้ามสมุทร | วายุบุตรเป็นเศียรไปหน้า |
ปากบนวาหุโรมฤทธา | ปากล่างปิงคลาวานร |
สองเขาสุรเสนสุรกานต์ | ศรีชมพูพานนั้นเป็นหงอน |
ตาซ้ายโคมุทฤทธิรอน | ตาขวาศรรามชาญฉกรรจ์ |
ตัวคือองคตหลานอินทร์ | เท้าขวากบินทร์นิลขัน |
เท้าซ้ายนั้นนิลปานัน | ลิ้นนั้นเกสรทมาลา |
เท้าหลังเบื้องซ้ายทวิพัท | มหัทวิกันเป็นเท้าขวา |
นิลนนท์เป็นหางถัดมา | กายานั้นจอมโยธี |
อันหมู่จังเกียงวานร | เป็นเล็บเขี้ยวมังกรสลับสี |
โยธาเป็นเกล็ดทั้งอินทรีย์ | ก็เสร็จตามมีพจมาน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
บรรทมในราตรีกาล | เหนือแท่นชัชวาลพรายพรรณ |
ครั้นปัจฉิมยามเวลา | สกุณาเพรียกพร้องขานขัน |
แมลงผึ้งภู่เวียนวัน | จักจั่นเสียงเจื้อยจับใจ |
ดาวเดือนเลื่อนลับโพยมหน | สุริยนจวนแจ้งปัจจุสมัย |
แสงทองรองเรื่ออำไพ | ภูวไนยตื่นจากไสยา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ จึ่งชำระพระโอษฐ์สรงพระพักตร์ | แล้วชวนพระลักษมณ์กนิษฐา |
เสด็จจากแท่นแก้วอลงการ์ | มาเข้าที่สรงสาคร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ สองกษัตริย์ชำระสระสนาน | สุคนธ์ธารธารทิพย์เกสร |
ต่างทรงสนับเพลาอลงกรณ์ | เชิงงอนงอนงามอร่ามพลอย |
พระหริวงศ์ทรงทิพย์ภูษา | เครือหงส์กาบผกาช่อห้อย |
พระลักษมณ์ทรงผ้าก้านกระหนกลอย | ชายไหวช่อช้อยชายแครง |
สอดใส่ฉลององค์ทรงประพาส | พื้นตาดฉลุเครือแย่ง |
ทับทรวงประดับเพชรแดง | ตาบทิศลายแทงสังวาลวัลย์ |
พาหุรัดทองกรมังกรพต | สลับด้วยมรกตมุกดาคั่น |
ธำมรงค์เพชรรายเรือนสุบรรณ | มงกุฎแก้วเทวัญสว่างวาม |
ห้อยพวงมาลัยดอกไม้มาศ | งามประหลาดลบโลกทั้งสาม |
ต่างกุมศรปราบสงคราม | ตามกันมาเกยรัตนา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ บาทสกุณี
๏ ลดองค์ลงนั่งตั้งพระเนตร | สังเกตไปทั่วทุกทิศา |
ซึ่งจะเป็นนิมิตยาตรา | บ่ายหน้าตามเกล็ดนาคี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ยานี
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงท้าวหัสนัยน์เรืองศรี |
สถิตเหนือทิพอาสน์รูจี | เป็นที่ผาสุกสถาวร |
ภายใต้ต้นปาริชาต | พร้อมหมู่เทวราชอัปสร |
เล็งเนตรลงมาในดินดอน | เห็นพระสี่กรอวตาร |
จะยกพหลพลไกร | ข้ามมหาสมุทรไทไพศาล |
ไปทวีปลงกากรุงมาร | สังหารอสูรพาลา |
ไม่มีสีวิกาญจน์ยานุมาศ | จะเสด็จด้วยบาทอนาถา |
จำจะให้เอารถรัตนา | ไปถวายผ่านฟ้าทรงจร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ คิดแล้วจึ่งสั่งมาตุลี | บัดนี้พระนารายณ์ทรงศร |
จะยกโยธาพลากร | ไปราญรอนอสุราอาธรรม์ |
ตัวท่านจงเอารถแก้ว | อันเพริศแพร้วพรรณรายฉายฉัน |
ไปถวายพระองค์ทรงสุบรรณ | ยังเนินเขาคันธกาลา |
แล้วจงอยู่เป็นสารถี | ขับพาชีชักรัถา |
ต่อเสร็จสงครามในลงกา | จึ่งมาจากองค์พระทรงชัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมาตุลีผู้มีอัชฌาสัย |
รับเทวบัญชาหัสนัยน์ | ก็ออกไปจากที่วิมาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งเทียมรถแก้วแววฟ้า | ด้วยสินธพเทวาตัวหาญ |
เสร็จแล้วก็ขับเหาะทะยาน | ผ่านมาด้วยฤทธิเทวัญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เทพบุตรอาชาร่าเริง | ลำพองลองเชิงเหียนหัน |
ยกหูชูหางหยัดยัน | แผดร้องสนั่นโลกา |
กึกก้องกัมปนาทหวาดไหว | ทั่วไปในทศทิศา |
ตลอดถึงโสฬสพรหมา | จนมหาพิภพบาดาล |
ก็เลื่อนลอยมาโดยอากาศ | โอภาสด้วยดวงมุกดาหาร |
รัศมีจำรัสชัชวาล | ลงตรงหน้าฉานพลับพลาชัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ พญาเดิน
๏ ครั้นถึงจึ่งประทับกับเกยแก้ว | แล้วจึ่งทูลแจ้งแถลงไข |
ว่าองค์พระจอมเมรุไกร | แจ้งว่าภูวไนยทรงธรรม์ |
จะข้ามไปเกาะลงกา | ล้างหมู่อสุราโมหันธ์ |
ให้เอารถแก้วแพร้วพรรณ | คู่เวไชยันต์รูจี |
มาถวายสมเด็จพระหริวงศ์ | ให้ทรงไปปราบยักษี |
ยังทวีปลงกาธานี | จะมีชัยแก่หมู่อสุรา |
แล้วให้ข้าอยู่ฉลองบาท | ขับพิชัยราชรัถา |
ปราบหมู่อสุรพาลา | ไปกว่าจะเสร็จสำเร็จการ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
แจ้งว่าองค์ท้าวมัฆวาน | ให้รถวิมานก็ยินดี |
จึ่งกล่าววาจาปราศรัย | ขอบใจหัสเนตรเรืองศรี |
ทรงพระเมตตาครานี้ | คุณนั้นไม่มีใครเทียมทัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ ตรัสแล้วจึ่งชวนพระนุชนาถ | เสด็จจากเกยมาศฉายฉัน |
งามดั่งสุริยากับพระจันทร์ | มาขึ้นรถเทวัญอลงการ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาพิเภกยักษา |
ครั้นได้ศุภฤกษ์เวลา | อสุราให้ลั่นฆ้องชัย |
ชาวประโคมก็ประโคมแตรสังข์ | ปี่กลองก้องดังหวั่นไหว |
อันหมู่พหลพลไกร | โห่สนั่นลั่นไปเป็นโกลา |
ไชยามพวานฤทธิรงค์ | ก็โบกธงนำพลไปหน้า |
ดำเนินพยุหโยธา | ตามเกล็ดนาคาสถาวร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิดฉาน
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
ครันทัพหน้ามาถึงฝั่งสาคร | ภูธรให้เคลื่อนพิชัยรถ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
โทน
๏ รถเอยรถแก้ว | เพริศแพร้วกำกงอลงกต |
แอกงอนอ่อนสลวยชวยชด | เครือขดช่อตั้งบัลลังก์ลอย |
รายรูปสิงห์อัดหยัดยัน | สุบรรณจับนาคหิ้วเศียรห้อย |
ดุมเพลาวาววับประดับพลอย | แปรกแก้วกาบช้อยสะบัดบัง |
เทียมด้วยสินธพเทพบุตร | ทั้งสี่บริสุทธิ์ดั่งสีสังข์ |
มาตุลีขับโผนด้วยกำลัง | รี่เรื่อยเร็วดั่งลมพัด |
เครื่องสูงมยุรฉัตรชุมสาย | ธงฉานธงชายปลายสะบัด |
กาหลพลแห่เยียดยัด | ขนัดฆ้องกลองประโคมโครมครึก |
โยธาโลดโผนโจนทะยาน | เริงร่าลำพองคะนองศึก |
เสียงสะเทือนเลื่อนลั่นพันลึก | คึกคึกรีบข้ามชลธี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ กลองโยน
ยานี
๏ เมื่อนั้น | เทวัญนางฟ้าทุกราศี |
เห็นพระหริรักษ์จักรี | ยกพวกกระบี่นิกร |
ข้ามไปล้างเหล่าอสุรา | ต่างองค์ปรีดาสโมสร |
บ้างเผยช่องสีหบัญชร | เยี่ยมพักตร์สลอนทุกวิมาน |
โปรยปรายบุปผาสุมามาศ | มณฑาทิพย์เกลื่อนกลาดหอมหวาน |
อวยชัยให้พรพระอวตาร | ตบหัตถ์ฉัดฉานทั้งเมืองฟ้า ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ สาธุการ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกนาถา |
เร่งรีบพยุหโยธา | ข้ามมหาคงคาวาริน |
งามดั่งองค์ท้าวเทวราช | มาเที่ยวประพาสกระแสสินธุ์ |
งามทั้งรถแก้วโกมิน | งามสิ้นทั้งหมู่โยธา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ข้ามสมุทร
จำปาทองเทศ
๏ มาถึงกึ่งทางกลางสมุทร | พระทรงครุฑชมหมู่มัจฉา |
เงือกงูราหูเหรา | โลมาผุดพ่นชลธาร |
พิมทองท่องท้องสาคร | มังกรเล่นน้ำกระฉอกฉาน |
สีเสียดเสียดว่ายกับปลาวาฬ | ช้างนํ้าทะยานหยอกกัน |
หน้าคนเวียนวนตามคู่ | ม้านํ้าชูเศียรเหียนหัน |
ฉลามตามคลื่นพัลวัน | นวลจันทร์จันทรเม็ดกระเบนบิน |
อินทรีว่ายรี่หนีฉนาก | พญานาคลอยเล่นกระแสสินธุ์ |
อันหมู่มัจฉาในวาริน | เหมือนจะยินดีช่วยอำนวยพร |
พระพายพัดเรื่อยเฉื่อยฉ่ำ | ต้องนํ้าเป็นระลอกกระฉอกฉ่อน |
พระอาทิตย์ขับรถบทจร | ไขแสงอ่อนอ่อนให้สำราญ |
ปักษิณบินร้องถวายเสียง | ดั่งจำเรียงดนตรีขับขาน |
สองกษัตริย์ชื่นชมเบิกบาน | รีบเร่งพลหาญข้ามไป ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงฟากฝั่งสมุทร | จึ่งให้หยุดโยธาน้อยใหญ่ |
ตั้งเป็นกระบวนทัพชัย | โดยในพยุหยาตรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝ่ายกองคอยเหตุยักษา |
เห็นทัพยกข้ามสมุทรมา | ก็รีบเข้าลงกาธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรอภิวาทน์ | แทบบาทพญายักษี |
ทูลว่าพระรามจักรี | ยกหมู่โยธีวานร |
เป็นกระบวนทัพนับสมุทร | ดูไม่สิ้นสุดหยุดหย่อน |
ข้ามมาถึงฝั่งสาคร | ประทับร้อนอยู่ริมคงคา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษา |
ได้ฟังคั่งแค้นในวิญญาณ์ | อสุรานิ่งนึกตรึกไป |
ชิชะสงครามครั้งนี้ | คิดล้างหลายทีแล้วไม่ได้ |
ล่วงลามข้ามฝั่งสมุทรไท | อาจใจจะมาต่อยุทธ์ |
ดีแล้วจะได้เห็นกัน | กูจะฆ่าพวกมันให้สิ้นสุด |
ด้วยกำลังปรีชาวรารุทร | มิให้ถึงอาวุธราวี |
คิดแล้วจึ่งมีพจนารถ | แก่ภานุราชยักษี |
บัดนี้อริราชไพรี | ยกพวกโยธีข้ามมา |
ท่านจงไปยังพนาวัน | นิมิตซึ่งพรรณพฤกษา |
ทรงผลเกลื่อนกลาดดาษดา | ภูมิฐานนํ้าท่าให้ชอบกล |
แล้วจึ่งประดาดินอยู่ | อย่าให้มันรู้เหตุผล |
แม้นว่าข้าศึกยกพล | มาตั้งบนที่นิมิตไว้ |
ตัวเอ็งจงควํ่าแผ่นดิน | อย่าให้ไพรินนั้นเหลือได้ |
ถ้าทำสำเร็จดั่งใจ | จะแบ่งเมืองให้เป็นรางวัล ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาภานุราชตัวขยัน |
รับสั่งพญากุมภัณฑ์ | บังคมคัลสนองพระวาที |
อันการเพียงนี้ไม่ยากนัก | พอจักรับใส่เกศี |
ฆ่าให้สิ้นพวกไพรี | ภูมีอย่าร้อนวิญญาณ์ |
ว่าแล้วน้อมเศียรอภิวาทน์ | แทบบาทพญายักษา |
ออกจากพระโรงรัตนา | อสุราก็รีบระเห็จไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ กราว
๏ เดินดัดลัดมาในไพรวัน | เห็นป่าหนึ่งนั้นกว้างใหญ่ |
เป็นต้นมรคาพนาลัย | ใกล้กับทัพชัยพระจักรี |
มีความชื่นชมโสมนัส | ยกหัตถ์ประนมเหนือเกศี |
ก็ร่ายพระเวทอันฤทธี | อสุรีนิมิตพนาดร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ บัดเดี๋ยวก็เป็นภูมิพื้น | ราบรื่นเรี่ยรายด้วยทรายอ่อน |
มิ่งไม้ทรงผลอรชร | บังแสงทินกรชอุ่มไป |
แสนสนุกเป็นที่ประพาส | ศิลาลาดห้วยธารนํ้าไหล |
ใสสะอาดสะอ้านสำราญใจ | เจือไปด้วยพิษอันบันดาล |
อันพรรณพฤกษาผลาผล | ใบต้นเบื่อเมาแต่กลิ่นหวาน |
พร้อมเสร็จสำเร็จทุกประการ | แล้วอ่านพระเวทวิทยา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ ตระ
๏ กายนั้นใหญ่กว่าพรหเมศ | สำแดงเดชแทรกแผ่นดินหนา |
สองเท้านั้นเหยียบยันศิลา | อันรองมหาปัถพี |
สองมือดันพื้นสุธาไว้ | ด้วยกำลังฤทธิไกรยักษี |
คอยดูหมู่ราชไพรี | ได้ทีจะควํ่าแผ่นดิน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์ทรงศิลป์ |
ครั้นเสร็จข้ามโยธาวานรินทร์ | พระปิ่นภพมีราชโองการ |
ดูกรประคนธรรพผู้ศักดา | อันมีปรีชากล้าหาญ |
จงไปดูที่อันโอฬาร | ชัยภูมิสถานสวัสดี |
จะได้ตั้งทัพพลับพลา | พักพลโยธากระบี่ศรี |
มั่นแล้วจะยกเข้าราวี | ต่อดีด้วยหมู่กุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งประคนธรรพคนขยัน |
รับสั่งพระองค์ทรงสุบรรณ | ถวายบังคมคัลแล้วรีบไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เที่ยวดูมาในพนาลี | ตามเชิงคีรีเขาใหญ่ |
ก็ถึงที่ขุนมารนิมิตไว้ | มิ่งไม้ทรงผลอรชร |
กว้างขวางราบรื่นรโหฐาน | มีธารธาราสิงขร |
เป็นที่ชัยภูมิสถาวร | ได้นามกรครุฑา |
ควรจะตั้งกองทัพใหญ่ | โดยตำรับพิชัยสงครามว่า |
ก็บากไม้หมายตรุยมรคา | แล้วรีบกลับมาทันที ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรอภิวาทน์ | ทูลบาทพระนารายณ์เรืองศรี |
ป่าหนึ่งสะอ้านสะอาดดี | เป็นที่สวัสดิมงคล |
พ่างพื้นราบรื่นจำเริญตา | พร้อมทั้งนํ้าท่าผลาผล |
ภูเขาต้นไม้ชอบกล | ควรจะพักพลพลากร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
ฟังประคนธรรพฤทธิรอน | ภูธรตรัสถามพิเภกไป |
ป่านี้เห็นเป็นสนุกนัก | พญายักษ์ยังรู้หรือไฉน |
มีนามนั้นเรียกประการใด | จะใกล้หรือไกลกับลงกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาพิเภกยักษา |
ได้ฟังพระราชบัญชา | อสุราสนองพระโองการ |
อันนอกมรกตคีรี | ไม่มีป่าสนุกรโหฐาน |
เห็นเจ้าลงกากรุงมาร | จะให้บันดาลไว้ด้วยฤทธิ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระหริรักษ์จักรกฤษณ์ |
ฟังโหราผู้รู้นิมิต | ทรงฤทธิ์ถวิลจินดา |
อันกลศึกนี้ลึกลํ้า | เห็นจะเป็นเหมือนคำพิเภกว่า |
จึ่งมีพระราชบัญชา | สั่งวายุบุตรฤทธิรอน |
ตัวท่านจงให้ประคนธรรพ | มันนำกลับไปดูก่อน |
พิเคราะห์ดีร้ายให้แน่นอน | จะได้ยกนิกรรีบไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
น้อมเศียรรับสั่งภูวไนย | แล้วให้ประคนธรรพพามา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ สองนายเดินเดาะเลาะทาง | ตามหว่างทิวแถวแนวป่า |
ถึงที่นิมิตอสุรา | ถิ่นฐานโอฬาร์ชอบกล |
ประกอบด้วยมิ่งไม้หลายพรรณ | เรียงรันผลิดอกออกผล |
ดิบห่ามสุกแซมแกมปน | งอมหล่นเกลื่อนกลาดดาษไป |
อันหมู่วิหคทั้งหลาย | จะกลํ้ากรายมากินก็หาไม่ |
พิเคราะห์ดูด้วยปรีชาไว | ก็แจ้งใจว่ากลอสุรี |
เหมือนคำพิเภกกราบทูล | นเรนทร์สูรปิ่นภพเรืองศรี |
ดีร้ายภายใต้ปัถพี | จะมีอสูรมารยา |
อย่าเลยจะลงไปดู | ให้รู้อุบายยักษา |
คิดแล้วสำแดงเดชา | แทรกพื้นพสุธาลงไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ จึ่งเหลือบแลเห็นอสุรี | นิมิตอินทรีย์โตใหญ่ |
สองกรช้อนชูแผ่นดินไว้ | ด้วยฤทธิไกรชาญฉกรรจ์ |
ขุนกระบี่ชักตรีออกจากกาย | มาดหมายจะฆ่าให้อาสัญ |
กระทืบบาทขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน | โถมเข้าโรมรันราวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ภานุราชสิทธิศักดิ์ยักษี |
กริ้วโกรธพิโรธดั่งอัคคี | อสุรีฉวยชักคทา |
แกว่งกวัดผัดผันอุตลุด | ด้วยกำลังฤทธิรุทรแกล้วกล้า |
ผาดโผนโจนจ้วงทะลวงมา | เข้าต่อศักดาวานร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
โรมรุกบุกบันประจัญกร | ฟันฟอนรบชิดติดพัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เท้าซ้ายเหยียบเข่าอสุรา | มือขวาแกว่งตรีฉายฉัน |
สัประยุทธ์กลอกกลับจับกัน | ต่างฟันต่างแทงต่างตี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ภานุราชสิทธิศักดิ์ยักษี |
เหวี่ยงผันหันไปด้วยฤทธี | อสุรีสลัดหนุมาน |
เท้าหนึ่งเหยียบเข่าวานร | แกว่งคทาธรจะสังหาร |
ต่างตนโรมรันประจัญบาน | รอนราญไม่ลดงดกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | หนุมานฤทธิแรงแข็งขัน |
โรมรุกคลุกคลีตีประจัญ | โถมแทงกุมภัณฑ์ด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ล้มลงกับพื้นดินดอน | กรซ้ายจิกเศียรยักษี |
เหยียบไว้ภายใต้ปัถพี | แล้วมีวาจาถามไป |
เหวยเหวยไอ้ชาติพาลา | ใครใช้มึงมาแต่ไหน |
มีนามกรชื่อไร | เหตุใดมาทำดั่งนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ภานุราชสิทธิศักดิ์ยักษี |
สุดฤทธิ์สุดคิดจะต่อตี | อสุรีก็แจ้งโดยสัจจา |
ข้าชื่อภานุราชขุนมาร | ทหารทศพักตร์ยักษา |
พระองค์ตรัสใช้ให้มา | นิมิตเป็นป่าพนาดร |
ประกอบด้วยนํ้าท่าผลาผล | ชอบกลเป็นที่สโมสร |
แม้นว่าพระรามเสด็จจร | มาตั้งนิกรโยธี |
ให้ข้าพลิกควํ่าสุธาธาร | สังหารพวกพลกระบี่ศรี |
ใหสิ้นทั้งทัพที่มานี้ | มิให้มีศึกสืบไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
ได้ฟังจะแจ้งไม่แคลงใจ | แกว่งตรีดั่งไฟประลัยกัลป์ |
เหม่เหม่ดูดู๋ไอ้สาธารณ์ | กูคือพระกาลรังสรรค์ |
ว่าพลางพิฆาตฟาดฟัน | กุมภัณฑ์สุดสิ้นชีวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๏ แล้วเอาตรีเพชรฤทธิรอน | ฟันฟอนตัดเศียรยักษี |
ขาดกระเด็นออกจากอินทรีย์ | ขุนกระบี่ก็หิ้วขึ้นมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ หยุดยืนอยู่แล้วก็พินิจ | ดูที่นิมิตของยักษา |
หายไปมิได้ประจักษ์ตา | ก็พาประคนธรรพกลับจร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งถวายอภิวาทน์ | ทูลพระภูวนาถทรงศร |
ตามได้สังหารราญรอน | วานรถวายเศียรกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์รังสรรค์ |
ได้ฟังกริ้วโกรธดั่งเพลิงกัลป์ | ทรงธรรม์จึ่งมีบัญชา |
เหวยเหวยดูก่อนประคนธรรพ | ตัวมึงอัปลักษณ์หนักหนา |
กูไว้ใจใช้ไปต่างตา | ใช่ว่าจะให้ต่อตี |
เพียงนี้ยังทำให้เสียการ | ไม่รู้เท่ากลมารยักษี |
จะพารี้พลโยธี | ไปม้วยชีวีทั้งทัพชัย |
โทษนี้ถึงสิ้นชีวัน | จะฆ่าฟันก็หาประโยชน์ไม่ |
แม้นอยู่จะม้วยบรรลัย | เร่งไปเสียเถิดไอ้พาลา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ประคนธรรพฤทธิแรงแข็งกล้า |
ได้ฟังพระราชบัญชา | ดั่งว่าต้องแสงศรพิษ |
กราบลงแล้วสนองพระวาที | อันตัวข้านี้โทษผิด |
ซึ่งเมตตาไม่ฆ่าชีวิต | คุณพระทรงฤทธิ์เป็นพ้นไป |
ทูลพลางถวายบังคมลา | น้ำตาแถวถั่งหลั่งไหล |
คลานออกมานอกทัพชัย | เหาะไปที่อยู่ดั่งก่อนกาล ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ