- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกทั้งหลาย |
แลเห็นท้าวสัตลุงตาย | ตรีเมฆนั้นหายไปกับตา |
ให้ประหลาดหลากจิตคิดฉงน | ด้วยเล่ห์กลอุบายยักษา |
จึ่งมีพระราชบัญชา | ตรัสถามพญาพิเภกไป |
อันไอ้ตรีเมฆกุมภัณฑ์ | ตัวมันนั้นหายไปไหน |
คิดคิดก็อัศจรรย์ใจ | เหตุใดจึ่งเป็นดั่งนี้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษี |
ได้ฟังบรรหารพระจักรี | อสุรีจับยามสามตา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ แจ้งแล้วน้อมเศียรบังคมทูล | นเรนทร์สูรปิ่นภพนาถา |
อันซึ่งตรีเมฆอสุรา | อหังการ์ยกออกมาราญรอน |
จนสิ้นจตุรงคโยธี | บัดนี้มันกลัวพระแสงศร |
หนีองค์สมเด็จพระสี่กร | ไปซ่อนอยู่เมืองบาดาล |
ขอให้คำแหงวายุบุตร | อันมีฤทธิรุทรกล้าหาญ |
ตามลงไปฆ่าให้วายปราณ | ตัดเศียรขุนมารขึ้นมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์นาถา |
ได้ฟังพิเภกโหรา | ผ่านฟ้ามีพจน์วาที |
ดูก่อนคำแหงวายุบุตร | ท่านผู้มีฤทธิรุทรเรืองศรี |
จงตามไปมล้างชีวี | ตรีเมฆอสุรีในบาดาล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ลูกพระพายผู้ปรีชาหาญ |
รับสั่งสมเด็จพระอวตาร | ชุลีลาแล้วคลานออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ขุนกระบี่สำแดงแผลงฤทธิ์ | เสียงสนั่นครรชิตทุกทิศา |
กวัดแกว่งตรีเพชรอันศักดา | ก็แทรกพื้นพระสุธาลงไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงพิภพบาดาล | แสนสนุกโอฬารกว้างใหญ่ |
ดั่งหนึ่งเมืองฟ้าสุราลัย | ก็เข้าไปในพระโรงรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ แลเห็นพญานาคราช | สถิตบัลลังก์อาสน์มณีศรี |
ท่ามกลางมาตยานาคี | ขุนกระบี่จึ่งมีวาจา |
ดูกรพญาภุชงค์ | ท่านผู้ทรงฤทธิ์พิษกล้า |
อันอ้ายตรีเมฆอสุรา | ยกพลโยธามาชิงชัย |
บัดนี้แพ้ฤทธิ์พระสี่กร | หนีศรลงมาแล้วอยู่ไหน |
เราคือทหารพระภูวไนย | ได้นามชื่อว่าหนุมาน |
ตรัสใช้มาตามกุมภัณฑ์ | ผลาญมันให้สิ้นสังขาร |
ตัวท่านเป็นเจ้าในบาดาล | อย่าคบพวกพาลทรลักษณ์ |
จะพลอยพาโคตรวงศ์ตาย | ด้วยศรพระนารายณ์ทรงจักร |
จงบอกที่อยู่ขุนยักษ์ | อย่าหนักหน่วงไว้ให้ช้าที ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญากาลนาคเรืองศรี |
แจ้งว่าทหารพระจักรี | มาตามตรีเมฆอสุรา |
ครั้นจะบอกออกโดยจริงไป | ก็กลัวเป็นเวรในภายหน้า |
แม้นจะปฏิเสธว่าไม่มา | ก็เกรงเบื้องบาทาพระจักรี |
จำกูจะกล่าวเป็นท่ามกลาง | ไม่บอกไม่พรางกระบี่ศรี |
คิดแล้วจึ่งตอบวาที | อสุรีไม่อยู่ในเมืองเรา |
จะไปแห่งใดนั้นไม่เห็น | ซ่อนเร้นกายาประสาเขา |
ทั่วทั้งไพชยนต์จงค้นเอา | เราไม่เข้าชอบด้วยพวกพาล ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจหาญ |
ได้ฟังพญานาคพจมาน | ว่าขานเคลือบแคลงแฝงกัน |
จึ่งว่าท่านเป็นกษัตรา | สุริย์วงศ์นาคารังสรรค์ |
ควรหรือไม่อยู่ในทางธรรม์ | แบ่งปันมารยาพาที |
คบเอาอาธรรม์ไว้เป็นมิตร | คิดอ่านป้องกันให้หลบหนี |
มิได้เกรงศักดิ์พระจักรี | จะสังหารชีวีให้บรรลัย |
ว่าพลางก็เอาหางมัด | ตรึงรัดเข้าไว้มิให้ไหว |
จงเร่งบอกความตามจริงไป | หาไม่ไม่รอดชีวา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญานาคผู้มียศถา |
เจ็บปวดรวดร้าวทั้งกายา | ดั่งว่าจะม้วยชีวี |
สุดทนจึ่งร้องขอโทษ | อย่าโกรธเราเลยกระบี่ศรี |
อันตัวตรีเมฆอสุรี | ลงมาที่นี่แล้วกลับไป |
บัดนี้ยักษีเข้าซ่อนกาย | ในเมล็ดทรายที่ท้องสมุทรใหญ่ |
ยังเนินหาดแก้วแววไว | แทบใกล้จักรวาลบรรพตา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารกล้า |
ได้แจ้งแห่งคำนาคา | บอกมาโดยสัจทุกสิ่งไป |
มีความชื่นชมโสมนัส | ก็คลายหางวางมัดออกให้ |
ผาดแผลงสำแดงฤทธิไกร | ขึ้นมาจากใต้บาดาล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เหาะรีบไปโดยอากาศ | ดั่งพญาครุฑราชตัวหาญ |
ถึงที่หาดแก้วสุรกานต์ | ยังเนินจักรวาลคีรี |
พินิจพิศดูในสมุทร | ด้วยปรีชาวัยวุฒิกระบี่ศรี |
เห็นพรายน้ำผุดขึ้นหลายที | เหมือนคำนาคีที่บอกมา |
ตรีเมฆอยู่นี่มั่นคง | กูจะลงไปจับยักษา |
คิดแล้วร่ายเวทอันศักดา | นิมิตกายาวานร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ ตระ
๏ ใหญ่เท่าบรมพรหมาน | สูงเพียงจักรวาลสิงขร |
ก็ยื่นหัตถ์ลงในสาคร | กรกระหวัดจะจับอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ตรีเมฆสิทธิศักดิ์ยักษี |
ครั้นเมล็ดทรายไหวถึงอินทรีย์ | มีความตระหนกตกใจ |
รู้ว่าไพรีมาติดตาม | ความกลัวไม่อาจอยู่ได้ |
ก็ออกจากเมล็ดทรายด้วยว่องไว | ผุดขึ้นจากในคงคา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ แลเห็นคำแหงหนุมาน | สูงตระหง่านเงื้อมงํ้าเวหา |
กริ้วโกรธแกว่งกระบองโผนมา | เข้าต่อฤทธาด้วยวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | คำแหงวายุบุตรชาญสมร |
เห็นยักษาถาโถมมาราญรอน | กรชักตรีเพชรออกจากกาย |
กวัดแกว่งสำแดงศักดา | รัศมีดั่งฟ้าฟาดสาย |
ยืนยันเหนือหลังหาดทราย | ลูกพระพายโรมรันประจัญตี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ตรีเมฆสิทธิศักดิ์ยักษี |
ต่อกรรอนราญราวี | อสุรีไล่รุกบุกบัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ หวดซ้ายป่ายขวาอุตลุด | ด้วยกำลังฤทธิรุทรแข็งขัน |
ต้องกายหนุมานชาญฉกรรจ์ | เหหันซวนเซเปรไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | คำแหงวายุบุตรทหารใหญ่ |
โกรธาตาแดงดั่งไฟ | ยั้งตัวอยู่ได้ก็โผนมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ โจนขึ้นเหยียบเข่าน้าวเศียร | กลับกลอกหันเวียนเปลี่ยนท่า |
แทงด้วยตรีเพชรอันศักดา | ชิงได้คทาอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ลูกพญาตรีเศียรยักษี |
สิ้นสุดอาวุธจะต่อตี | โกรธดั่งอัคคีบรรลัยกาล |
กระทืบบาทผาดเสียงดั่งฟ้าผ่า | อสุราสำแดงกำลังหาญ |
วิ่งโดดโลดโผนโจนทะยาน | ขุนมารก็ถอนเอาต้นไม้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บ่าแบกเท้าถีบมือกระชาก | เง่ารากไม่ทนกำลังได้ |
กวัดแกว่งสำแดงฤทธิไกร | เข้าไล่โจมตีวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
รับรองป้องกันประจัญกร | ราญรอนสัประยุทธ์อสุรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ชิงได้ต้นไม้ขุนมาร | โถมทะยานถีบซ้ายป่ายขวา |
ตรีเมฆไม่ทานฤทธา | ล้มผวาลงกับเนินทราย |
โจนขึ้นเหยียบอกแล้วจิกเกศ | สำแดงเดชแกว่งตรีฉานฉาย |
ตัดเศียรขาดกระเด็นออกจากกาย | กุมภัณฑ์ก็วายชีวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด โอด
๏ เสร็จซึ่งสังหารอสุรินทร์ | ขุนกระบินทร์หิ้วเศียรยักษี |
เหาะระเห็จเตร็ดฟ้าด้วยฤทธี | ตรงมาที่เฝ้าพระจักรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงประณตบทบงสุ์ | องค์พระนารายณ์นาถา |
ถวายเศียรตรีเมฆอสุรา | แล้วทูลกิจจาทุกประการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
ทอดพระเนตรเห็นเศียรขุนมาร | ผ่านฟ้าชื่นชมด้วยสมคิด |
ผิวพักตร์ผ่องเพียงดวงจันทร์ | ดั่งได้ฉ้อชั้นดุสิต |
จึ่งตรัสแก่ลูกพระอาทิตย์ | พิเภกปโรหิตอสุรา |
ทั้งสิบแปดมงกุฎฤทธิรอน | เสนาวานรพร้อมหน้า |
อันวายุบุตรผู้ศักดา | ฤทธาเลิศลบแดนไตร |
แม้จะหาทิพย์สมบัติ | ดวงแก้วจักรพรรดิพอหาได้ |
อันจะหาทหารที่คู่ใจ | หาไม่ได้เหมือนหนุมาน |
ทั้งสติปัญญาก็สามารถ | ฤทธิรงค์องอาจกล้าหาญ |
ใช้ไหนก็ได้ราชการ | จะประมาณความชอบพันทวี |
ตรัสแล้วเสด็จขึ้นรถอินทร์ | พานรินทร์โห่ฮึกอึงมี่ |
ให้เลิกพหลโยธี | คืนเข้ายังที่พลับพลา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายสารัณทูตยักษา |
เห็นท้าวสัตลุงอสุรา | ตรีเมฆมรณาก็ตกใจ |
ความกลัวตัวสั่นขวัญบิน | ดั่งจะแทรกแผ่นดินลงไปได้ |
พากันดั้นดัดลัดไพร | ตรงไปลงกาธานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรบังคมทูล | ท้าวราพณาสูรยักษี |
ว่าพระสหายร่วมชีวี | กับองค์ตรีเมฆนัดดา |
สองกษัตริย์ออกไปต่อยุทธ์ | สัประยุทธ์เคี่ยวเข็ญเข่นฆ่า |
จนถึงสิ้นชีพชีวา | ทั้งพลโยธาพลากร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท่านท้าวทศกัณฐ์ชาญสมร |
แจ้งว่าพระสหายฤทธิรอน | ผู้ผ่านนครจักรวาล |
ทั้งราชนัดดาสุริย์วงศ์ | สององค์สิ้นชีพสังขาร |
ให้ร้อนอกดั่งตกในเพลิงกาล | พญามารสลดระทดใจ |
หน้าซีดผาดเผือดลงทันที | อสุรีทอดถอนใจใหญ่ |
ความรักความเสียดายเป็นพ้นไป | อาลัยถึงสองกษัตรา |
แสนโศกดั่งหนึ่งจะล้มลง | อุตส่าห์ฝ่าฝืนองค์ยักษา |
เสด็จจากอาสน์แก้วอลงการ์ | เข้ามาปราสาทรูจี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งค่อยนั่งลง | ใกล้องค์มณโฑมเหสี |
แล้วกล่าวสุนทรวาที | เจ้าพี่ผู้ร่วมชีวัน |
องค์พระสหายกับนัดดา | ยกพวกโยธาพลขันธ์ |
ออกไปหักโหมโรมรัน | รบกันกับหมู่ปัจจามิตร |
เสียทั้งม้ารถคชสาร | พลมารตายยับอกนิษฐ์ |
สององค์สุดสิ้นชีวิต | ด้วยฤทธิ์มนุษย์ลิงไพร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางมณโฑผู้ยอดพิสมัย |
ฟังพระบัญชาก็ตกใจ | อาลัยถึงสองกษัตรา |
ชลนัยน์ไหลนองคลองเนตร | แสนเทวษเศร้าโทมนัสสา |
ซบพักตร์ลงกับบาทา | กัลยาสนองพระวาที |
พระองค์ผู้วงศ์พรหเมศ | ดั่งฉัตรแก้วกั้นเกศของยักษี |
เป็นปิ่นปักหลักโลกธาตรี | ประชาชีได้พึ่งบทมาลย์ |
อันซึ่งการเกิดกลียุค | ไม่มีสิ่งสุขเกษมศานต์ |
เหตุด้วยสีดายุพาพาล | จึ่งได้รอนราญกันต่อมา |
ขอพระองค์ผู้มีปรีชาฤทธิ์ | คิดเป็นไมตรีเสียดีกว่า |
ก็จะเย็นเกล้าอสุรา | ทั่วทั้งลงกาพระนคร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพณาสูรชาญสมร |
ได้ฟังอัครราชบังอร | ว่าวอนรำพันพาที |
ดั่งหนึ่งศรแสลงที่มีพิษ | มาเสียบทรวงดวงจิตของยักษี |
ความโกรธเป็นพ้นพันทวี | อสุรีขัดแค้นแน่นใจ |
สิบปากมีราชบัญชา | อนิจจาควรหรือช่างว่าได้ |
จะให้กูผู้มีฤทธิไกร | งอนง้อพวกไอ้ปัจจามิตร |
เป็นที่อัปยศอดสู | แก่หมู่เทวานักสิทธ์ |
จะสำรวลสรวลเล่นเป็นนิจ | ชั่วพระอาทิตย์พระจันทร์ |
ตรัสแล้วเสด็จยุรยาตร | จากอาสน์พรรณรายฉายฉัน |
ไม่ดูหมู่สนมกำนัล | ก็เข้าห้องสุวรรณอันรูจี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เอนองค์ลงเหนือบรรจถรณ์ | ยอกรก่ายพักตร์ยักษี |
นิ่งนึกตรึกไปด้วยไพรี | อันสงครามครั้งนี้อาจนัก |
มนุษย์ชำนาญในการศร | โยธาวานรก็มือหนัก |
อันในสุริย์วงศ์พงศ์ยักษ์ | ให้ยกออกหักครั้งใด |
แตกตายพ่ายแพ้มาหลายหน | ไม่ทนฝีมือมันได้ |
จนตัวกูยกออกไป | ชิงชัยก็เสียทีมา |
สิ้นหมู่ม้ารถคชสาร | จตุรงค์ทวยหาญซ้ายขวา |
ตายยับนับสมุทรคณนา | ข้าศึกยิ่งกล้ากำเริบฤทธิ์ |
จำกูจะตั้งอาหุดี | พิธีอุโมงค์กาลากิจ |
ให้คงทนสาตราปัจจามิตร | จึ่งจะคิดไปแก้แค้นมัน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ตริแล้วสระสรงทรงเครื่อง | อร่ามเรืองพรรณรายฉายฉัน |
พอรุ่งแสงสีรวีวรรณ | กุมภัณฑ์ออกพระโรงรัตนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งนั่งเหนืออาสน์ | พร้อมเสนามาตย์ซ้ายขวา |
แล้วมีพระราชบัญชา | สั่งเปาวนาสูรอสุรี |
จงขุดอุโมงค์ลงใต้ดิน | แทบนิลกาลาคีรีศรี |
ให้โอฬารสะอ้านสะอาดดี | พร้อมเครื่องบัตรพลีกาลาไฟ |
แล้วจึ่งเอาแผ่นศิลา | สำหรับปิดมหาอุโมงค์ใหญ่ |
กูจะตั้งพิธีอดใจ | ชุบกายาให้มีฤทธิ์ |
แม้นครบเจ็ดคืนเจ็ดวัน | กายนั้นจะเป็นกายสิทธิ์ |
ถึงอาวุธสามภพจบทิศ | จะมล้างชีวิตไม่วายปราณ |
แล้วจะเอานํ้าทิพมนต์ | มาแต่งรี้พลทวยหาญ |
เราจึ่งจะยกออกรอนราญ | ผลาญหมู่อริราชไพรี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งเปาวนาสูรยักษี |
รับสั่งพระองค์ทรงธรณี | ถวายอัญชุลีแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เกณฑ์หมู่พหลพลมาร | ถือตะกร้าสิ่วขวานพร้อมหน้า |
ทั้งชะแลงจอบเสียมมีดพร้า | เสร็จแล้วก็พากันรีบไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงซึ่งเนินสีขริน | อันชื่อนิลกาลาเขาใหญ่ |
จึ่งสั่งรี้พลสกลไกร | ให้ขุดอุโมงค์อันโอฬาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพวกโยธาทวยหาญ |
ต่างคนต่างเข้าจับการ | ขุดขนอลหม่านพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เสร็จแล้วก็ตั้งบัลลังก์รัตน์ | ภายใต้เศวตฉัตรฉายฉัน |
ดาดเพดานห้อยพู่พวงสุวรรณ | แขวนคั่นอัจกลับสลับมา |
มีทั้งประทีปแก้วทอง | สองข้างผนังซ้ายขวา |
สุจหนี่ปูลาดสะอาดตา | ตั้งเครื่องบูชาบัดพลี |
ดอกไม้เจ็ดสีสิ่งละพัน | ใส่พานสุวรรณต่างสี |
ทั้งหม้อทองหม้อแก้วรูจี | วารีเต็มตั้งไว้ชั้นใน |
แล้วสั่งอสุรกุมภัณฑ์ | ให้ช่วยกันยกแผ่นศิลาใหญ่ |
มาวางใกล้ปากอุโมงค์ไว | ตามในพระราชบัญชา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยี่สิบกรยักษา |
ครั้นเสร็จอุโมงค์อลงการ์ | เสด็จมาที่สรงสาคร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โทน
๏ สนานกายด้วยสายกระแสสินธุ์ | หอมตลบอบกลิ่นเกสร |
ทรงสุคนธาทิพย์กำจร | อุทุมพรพื้นขาวเครือวัลย์ |
บงเฉียงโขมพัตถ์ภูษา | งามสง่าดั่งพรหมรังสรรค์ |
สอดสายธุรำพรายพรรณ | ทรงประคำสุวรรณรูจี |
เจิมจุณมุ่นชฎาห่อเกศ | เอาเพศเป็นเทพฤๅษี |
รัตนโกปินำเกี้ยวโมลี | เสร็จแล้วอสุรีมาขึ้นรถ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ให้เลิกโยธาพลากร | สารถีขับจรดั่งลมกรด |
หมายนิลกาลาบรรพต | เลี้ยวลดไปตามมรคา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงมีราชบรรหาร | สั่งเสนามารยักษา |
กูจะตั้งกิจวิทยา | อยู่ในมหาอุโมงค์นี้ |
เอ็งเอาแผ่นผาปิดประตู | อย่าให้ใครรู้จักที่ |
เกลี่ยทรายปรายกลบให้จงดี | แล้วพาหมู่อสุรีกลับไป |
กำหนดเจ็ดวันจงมา | เปิดปากมหาอุโมงค์ใหญ่ |
กูจะยกออกไปชิงชัย | สังหารพวกภัยให้วายปราณ |
สั่งเสร็จเสด็จยุรยาตร | จากอาสน์รถแก้วมุกดาหาร |
งามดั่งบรมพรหมาน | ลงสถานอุโมงค์พิธี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งเปาวนาสูรยักษี |
รับสั่งพระองค์ทรงธรณี | อสุรีเรียกเร่งพลไกร |
ให้ยกแผ่นผาอันไพศาล | ปิดปากทวารอุโมงค์ใหญ่ |
เอาทรายเรี่ยเกลี่ยกลบลงไว้ | นายไพร่ก็พากันกลับมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษา |
ยืนอยู่แทบอุโมงค์ทวารา | ก็อ่านคาถาพญามนต์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ เดชะพระเวทขุนยักษ์ | ศิลาหนักลั่นเลื่อนลงสามหน |
ตรึงแน่นกับแผ่นสุธาดล | ดั่งหนึ่งสายยนต์มาผูกไว้ |
ถึงมนุษย์ครุฑาสุรารักษ์ | จะยกผลักเท่าไรก็ไม่ไหว |
เสร็จแล้วจึ่งตรงเข้าไป | ยังในมณฑลพิธีกรรม์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | ภายใต้เศวตฉัตรฉายฉัน |
ยอกรเหนือเกล้าอภิวันท์ | กุมภัณฑ์เข้ากองกูณฑ์กาลา |
แล้วนั่งสมาธิสำรวมจิต | คิดคุณพรหเมศนาถา |
หลับเนตรร่ายเวทวิทยา | อสุราแน่นิ่งไม่ติงกาย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกทั้งหลาย |
บรรทมเหนือแท่นแก้วแพรวพราย | จนพระสุริย์ฉายเรืองรอง |
สกุณาตื่นตาโบยบิน | โกกิลส่งเสียงสำเนียงก้อง |
ฝูงแมลงผึ้งภุมรีทอง | ร่อนร้องเชยซาบสุมามาลย์ |
พระพายชายพัดมาอ่อนอ่อน | พากลิ่นเกสรหอมหวาน |
เสียงชะนีโหยไห้ในดงดาน | พระอวตารตื่นจากนิทรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ช้า
๏ จึงชำระสระสรงทรงเครื่อง | อร่ามเรืองดั่งเทพเลขา |
เสด็จยุรยาตรคลาดคลา | ออกสุวรรณพลับพลารูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ช้า
๏ พร้อมด้วยสุครีพหนุมาน | องคตหลานท้าวโกสีย์ |
ทั้งสิบแปดมงกุฎเสนี | น้อมเกล้าดุษฎีประนมกร |
ดั่งหนึ่งดาราในอากาศ | เดียรดาษจำรัสประภัสสร |
แวดล้อมซึ่งดวงศศิธร | อันเขจรอยู่กลางเมฆา |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | แก่โหราจารย์ยักษา |
วันนี้เหตุใดทัพลงกา | จึ่งไม่ยกออกมาชิงชัย |
ให้ศึกว่างอยู่ประหลาดนัก | ทศพักตร์นั้นคิดเป็นไฉน |
หรือจะทำกลประการใด | สงสัยเป็นพ้นพันทวี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกสุริย์วงศ์ยักษี |
ได้ฟังบรรหารพระจักรี | อสุรีจับยามสามตา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ กำหนดโดยในไตรเพท | ตามซึ่งสังเกตของยักษา |
ก็รู้แจ้งไม่แคลงวิญญาณ์ | น้อมเกล้าวันทาแล้วทูลไป |
อันซึ่งศึกว่างอยู่วันนี้ | เพราะยักษีเสียสองทัพใหญ่ |
สัตลุงตรีเมฆนั้นบรรลัย | ไม่มีใครจะออกมาราญรอน |
ครั้นตัวจะยกออกมาเอง | ก็เกรงเดชพระองค์ทรงศร |
บัดนี้ท้าวยี่สิบกร | ไปซ่อนทำกิจวิทยา |
ในอุโมงค์เชิงนิลสีขเรศ | ท่ามกลางนิเวศน์ยักษา |
ปากช่องนั้นปิดด้วยศีลา | แม้นว่าครบเจ็ดราตรี |
กายาจะกลับเป็นเพชร | สำเร็จปรารถนายักษี |
อันนิ้วพญาอสุรี | แม้นชี้ผู้ใดจะวายปราณ |
ถึงจะแต่งพลก็ได้ด้วย | ใครฆ่าไม่ม้วยสังขาร |
ขอให้สุครีพผู้ชัยชาญ | นิลนนท์หนุมานฤทธิไกร |
ไปยังลงกาธานี | ทำลายพิธีเสียให้ได้ |
สงครามจะไม่ลำบากใจ | แก่หมู่ไพร่พลโยธา ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์นาถา |
ได้ฟังพิเภกอสุรา | ผ่านฟ้ามีราชโองการ |
ตรัสสั่งลูกพระสุริยน | วายุบุตรนิลนนท์ใจหาญ |
สามนายผู้ปรีชาชาญ | ตัวท่านจงพากันรีบไป |
ยังกรุงลงกาธานี | มล้างกิจพิธีอุโมงค์ใหญ่ |
ของไอ้ทศกัณฐ์จังไร | อย่าให้สำเร็จดั่งจินดา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สามกระบี่ผู้มียศถา |
รับสั่งถวายบังคมลา | ออกจากพลับพลาพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ต่างตนสำแดงแผลงฤทธิ์ | ทศทิศสะเทือนเลื่อนลั่น |
อากาศมืดคลุ้มชอุ่มควัน | พากันเหาะไปโดยอัมพร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ กราวนอก
๏ ดั้นหมอกออกกลีบเมฆา | หมายนิลกาลาสิงขร |
สามนายผู้มีฤทธิรอน | ก็ร่อนลงยังยอดคีรี |
แลไปในพื้นสุธาดล | เห็นพวกพลหมู่ยักษี |
เที่ยวพ่านไปทั้งธานี | กระบี่จึ่งปรึกษากัน |
ซึ่งเราจะมล้างพิธีการ | ทศเศียรขุนมารโมหันธ์ |
แต่ในเพลากลางวัน | พวกมันจะเห็นกายา |
จะไม่สำเร็จราชกิจ | ของพระจักรกฤษณ์นาถา |
จำจะร่ายเวทกำบังตา | พวกพลอสุราในธานี |
ว่าแล้วจึ่งสามวานร | ยอกรเหนือเกล้าเกศี |
หลับเนตรสำรวมอินทรีย์ | ขุนกระบี่ร่ายเวทกำบังกาย ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ ตระ
๏ เดชะพระเวทอันเชี่ยวชาญ | บันดาลกายาแลเงาหาย |
ลงจากบรรพตทั้งสามนาย | เที่ยวตร่ายดูแผ่นศิลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ มิใคร่จะพบตำบล | ก็พากันเวียนวนค้นหา |
แลไปที่เชิงบรรพตา | ก็เห็นแผ่นผาเป็นสำคัญ |
ชะรอยว่าปากอุโมงค์ | อยู่ตรงที่นี้เป็นแม่นมั่น |
สามนายก็เข้าช่วยกัน | ยกศิลานั้นทันที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ จะทำอย่างไรก็ไม่เคลื่อน | ไหวเขยื้อนขึ้นได้จากที่ |
แต่ปลํ้าปลุกขลุกขลุ่ยเป็นโกลี | จนสิ้นแรงอินทรีย์แลความคิด |
ลูกพระสุริยาจึ่งว่าไป | ศิลานี้เป็นไฉนเห็นผิด |
ชะรอยทศกัณฐ์บันดาลฤทธิ์ | ปิดไว้ด้วยเวทมนตรา |
วายุบุตรจงไปแจ้งความ | ถามพญาพิเภกยักษา |
ได้เนื้อความแล้วจงรีบมา | เราสองจะท่าอยู่ที่นี้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
รับคำน้าชายด้วยยินดี | ชุลีกรแล้วรีบเหาะไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เลื่อนลอยมาโดยอากาศ | ดั่งพญาครุฑราชตัวใหญ่ |
ครั้นถึงสุวรรณพลับพลาชัย | ก็ลงในพ่างพื้นพสุธา |
จึ่งไปคำรพอภิวันท์ | พิเภกกุมภัณฑ์ยักษา |
แถลงแจ้งความแต่ต้นมา | พระน้าจะคิดกระไรดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษี |
ได้ฟังหนุมานพาที | อสุรีจึ่งตอบคำไป |
อันศิลาปิดปากอุโมงค์นั้น | ถึงนักสิทธ์เทวัญไม่ยกได้ |
ด้วยเจ้าลงกากรุงไกร | ร่ายเวทผูกไว้ตรึงตรา |
จงเอานํ้าล้างเท้าสตรี | มารดลงในที่แผ่นผา |
ก็จะเสื่อมฤทธิ์วิทยา | นัดดาจงเร่งไปคิดกัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ลูกพระพายเทวารังสรรค์ |
ได้ฟังพิเภกกุมภัณฑ์ | ยอกรอภิวันท์แล้วกลับไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ มาถึงเชิงนิลกาลา | แทบปากมหาอุโมงค์ใหญ่ |
พอสิ้นแสงสุริโยอโณทัย | แขไขส่องสว่างกระจ่างฟ้า |
จึ่งแจ้งแก่สุครีพน้าชาย | โดยดั่งอุบายพิเภกว่า |
อันตัวข้านี้จะกราบลา | ไปหาเบญกายอสุรี |
ขอน้ำล้างเท้าอัคเรศ | มาแก้พระเวทยักษี |
ว่าแล้วนบนิ้วอัญชุลี | ขุนกระบี่ก็เหาะไปด้วยฤทธิ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงนิเวศน์วังสถาน | แสนสนุกโอฬารดั่งดุสิต |
แอบอยู่ซ่อนหมู่ปัจจามิตร | แล้วอ่านวิษณุเวทอันศักดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ ทั้งตัวแลเงาก็สูญหาย | ลูกพระพายแสนโสมนัสสา |
ขึ้นบนปราสาทอสุรา | เที่ยวหาเบญกายเทวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ค้นทุกแห่งห้องปราสาท | ทั่วราชนิเวศน์ยักษี |
พบนางนั่งกรองสุมาลี | มีความยินดีเป็นพ้นนัก |
จึ่งคลายพระเวทกำบังตา | สำแดงกายาให้ประจักษ์ |
นั่งลงแอบองค์นงลักษณ์ | เชยพักตร์รับขวัญนงคราญ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | เบญกายเยาวยอดสงสาร |
ครั้นเห็นคำแหงหนุมาน | ยินดีปานได้ฟากฟ้า |
ลดองค์ถอยลงจากอาสน์ | นบนิ้วกราบบาททั้งซ้ายขวา |
ความรักความแค้นแน่นอุรา | กัลยาค้อนให้แล้วพาที |
คิดไฉนจึ่งเข้ามาหาน้อง | ถึงที่ในห้องปราสาทศรี |
อันเป็นนิเวศน์อสุรี | ไม่กลัวชีวีจะวายปราณ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | วายุบุตรผู้ปรีชาหาญ |
ส้วมสอดกอดองค์นงคราญ | แล้วตอบพจมานด้วยสุนทร |
ว่าไยฉะนี้นะนงลักษณ์ | ใช่พี่ไม่รักดวงสมร |
จนใจด้วยองค์พระสี่กร | ใช้ให้ราญรอนไพรี |
ยังไม่เสร็จณรงค์สงคราม | โฉมงามจึ่งร้างห่างพี่ |
บัดนี้รับสั่งพระจักรี | ให้มาล้างพิธีทศกัณฐ์ |
จนใจด้วยแผ่นศิลา | ปิดปากมหาอุโมงค์มั่น |
จะขอนํ้าล้างเท้าของเจ้านั้น | ไปแก้เวทมันให้เสื่อมคลาย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางเบญกายโฉมฉาย |
ได้ฟังวาจาลูกพระพาย | บรรยายเห็นจริงทุกสิ่งไป |
จึ่งยื่นหัตถ์ไปหยิบขันทอง | ล้างเท้าแล้วรองส่งให้ |
พิศพักตร์ภัสดาก็อาลัย | อรไทนบนิ้วอัญชุลี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
ได้น้ำล้างเท้านางเทวี | จึ่งมีสุนทรวาจา |
เจ้าค่อยอยู่เถิดดวงสมร | อย่าอาวรณ์เศร้าโทมนัสสา |
อันตัวพี่นี้จะขอลา | ว่าแล้วก็เหาะกลับไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ข้ามพระนิเวศน์อสุรี | ถึงที่ปากมหาอุโมงค์ใหญ่ |
ก็เอานํ้าล้างเท้าอรไท | รดลงในหน้าศิลา |
สุครีพกับนิลนนท์นั้น | ก็ชวนกันเข้ายกแผ่นผา |
อันปิดอุโมงค์ทวารา | ด้วยกำลังกายาพานรินทร์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ อันซึ่งพระเวทขุนมาร | ก็บันดาลเสื่อมคลายหายสิ้น |
ศิลาหลุดขึ้นจากดิน | ขุนกระบินทร์ก็โยนไปด้วยฤทธิ์ |
จึ่งเห็นทศพักตร์ยักษี | บูชาพิธีกาลากิจ |
อยู่เหนือแท่นแก้วชวลิต | สำรวมจิตจำเริญภาวนา |
สามนายชื่นชมโสมนัส | ตบหัตถ์สำรวลสรวลร่า |
กวัดแกว่งอาวุธอันศักดา | ก็พากันเดินตรงลงไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ องอาจดั่งสามไกรสร | อันเห็นกุญชรในป่าใหญ่ |
ลูกพระอาทิตย์ฤทธิไกร | เข้าใกล้โถมถีบอสุรี |
นิลนนท์ก็ตบด้วยเท้าซ้าย | ลูกพระพายจิกเศียรยักษี |
ลากลงจากแท่นมณี | กลุ้มกันทุบตีเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศพักตร์ยักษา |
ตกใจก็ลืมนัยนา | แลมาเห็นสามวานร |
เข้ากลุ้มรุมรอบทั้งกาย | ฉุดลากวุ่นวายตีต้อน |
อดใจมิได้ต่อกร | ราญรอนสัประยุทธ์ชิงชัย |
ตั้งอยู่ในที่อุเบกขา | จะโกรธาสักหน่อยก็หาไม่ |
เดชะพระเวทอันเกรียงไกร | มิได้เจ็บชํ้าอินทรีย์ |
จะทำเท่าไรก็นิ่งขึง | ดั่งหนึ่งใช่ตัวยักษี |
อดกลั้นถือมั่นในขันตี | จะให้เสร็จพิธีดั่งจินดา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ลูกพระอาทิตย์ฤทธิ์กล้า |
เห็นทศกัณฐ์ไม่โกรธา | หลับตานิ่งขึงตะบึงไป |
ทรหดอดกลั้นคงทน | จะระคายเส้นขนก็หาไม่ |
แต่ประหารราญรอนจนอ่อนใจ | จึ่งว่าไปแก่ศรีหนุมาน |
เราทำอสุราก็น่าโกรธ | ไม่พิโรธออกต่อกำลังหาญ |
คิดไฉนจะได้ราชการ | ของพระอวตารในครั้งนี้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ลูกพระพายเทวัญเรืองศรี |
ได้ฟังจึ่งตอบวาที | ข้านี้คิดเห็นโดยปัญญา |
อันโลกีย์เป็นที่แหนหวง | ดั่งบ่วงผูกพันทั่วหล้า |
อันวิสัยไตรโลกธรรมดา | เสน่หาโทโสใกล้กัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุครีพลูกพระสุริย์ฉัน |
ได้ฟังหลานรักร่วมชีวัน | ตบมือสรวลสันต์แล้วตอบไป |
อันความคิดสิ่งนี้ดีนัก | แหลมหลักไม่มีที่เปรียบได้ |
ตัวเจ้าผู้มีฤทธิไกร | จงเข้าไปในวังอสุรี |
สะกดพามณโฑนงลักษณ์ | อันเป็นเมียรักของยักษี |
มายังอุโมงค์พิธี | ทำให้สามีมันโกรธา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
รับคำลูกพระสุริยา | ชุลีลาแล้วรีบเหาะไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงพระนิเวศน์วังสถาน | หนุมานผู้มีอัชฌาสัย |
ลงจากอากาศด้วยว่องไว | ยังในพ่างพื้นปถพี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ยืนอยู่ที่ท้องสนามจันทร์ | ยอกรอภิวันท์เหนือเกศี |
ก็ร่ายพระเวทอันฤทธี | ขุนกระบี่กำบังนิทรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่อสูรยักษา |
ซึ่งนั่งยามตามไฟตรวจตรา | ครั้นต้องวิทยาพานรินทร์ |
ให้ง่วงงุนซุนไปไม่สมประดี | โยธีทั้งนั้นก็หลับสิ้น |
ล้มกลาดดาษพื้นแผ่นดิน | อสุรินทร์บ่นเพ้อละเมอไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
เห็นหมู่พหลพลไกร | หลับใหลไม่รู้อินทรีย์ |
ขุนกระบี่ก็เดินเข้ามา | ขึ้นมหาปราสาทยักษี |
แอบกายร่ายเวทอันฤทธี | สะกดฝูงนารีพระกำนัล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถ้วนคำรบเจ็ดท่า | พสุธาสะเทือนเลื่อนลั่น |
มืดพยับอับสิ้นแสงจันทร์ | ทวารนั้นก็เปิดออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | มณโฑเยาวยอดพิสมัย |
อยู่ในมหาปราสาทชัย | กับฝูงนางในบริวาร |
อำไพดั่งดวงศศิธร | ดารากรแวดล้อมฉายฉาน |
ครั้นต้องพระเวทหนุมาน | ก็บันดาลให้เคลิ้มสมประดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ อันหมู่พระสนมทั้งนั้น | ก็ล้มหลับทับกันอยู่กับที่ |
ทั้งองค์อัครราชเทวี | ไม่มีผู้ใดจะตื่นตา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
ครั้นเสร็จสะกดนิทรา | เข้าในมหาปราสาทชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เห็นหมู่อนงค์กำนัล | นอนหลับทับกันไม่นับได้ |
ละเมอเพ้อบ่นวุ่นไป | ไม่เป็นสติสมประดี |
แต่นางมณโฑบังอร | นอนอยู่บนแท่นมณีศรี |
ก็อุ้มองค์อัครราชเทวี | ได้แล้วขุนกระบี่ก็เหาะมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งวางนางลง | เคียงองค์ทศพักตร์ยักษา |
แก้เวทให้ฟื้นกายา | แล้วมีวาจาประกาศไป |
เหวยเหวยดูก่อนทศพักตร์ | เมียรักของเอ็งหรือมิใช่ |
ว่าพลางเย้าหยอกอรไท | คว้าไขว่ฉุดคร่าทั้งสามนาย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางมณโฑโฉมฉาย |
ตกใจปิ้มชีพชีวาวาย | ทั้งเจ็บทั้งอายแสนทวี |
ร้องตรีดหวีดขึ้นทันใด | ทรามวัยกอดองค์ยักษี |
จงช่วยเมียด้วยพระภูมี | สามกระบี่ไปพาเอาข้ามา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษา |
ลืมเนตรเห็นองค์วนิดา | วานรฉุดคร่าวุ่นไป |
ความแค้นสุดที่จะอดกลั้น | ตัวสั่นกริ้วโกรธดั่งเพลิงไหม้ |
ฉวยหักเอาคันฉัตรชัย | เข้าไล่สังหารราญรอน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ พิราพรอน
๏ บัดนั้น | ทั้งสามทหารชาญสมร |
รับรองป้องกันประจัญกร | วานรเยาะเย้ยอสุรี |
สุครีพชี้หน้าแล้วหัวร่อ | หลอกล้อให้ไล่แล้วแกล้งหนี |
วายุบุตรนิลนนท์ผู้ฤทธี | สองกระบี่คว้าไขว่กัลยา |
แล้วร้องว่าเหวยขุนมาร | เป็นไรไม่อ่านคาถา |
นิ่งนั่งตั้งใจภาวนา | โกรธาว้าวุ่นด้วยอันใด |
ส่วนเมียของเอ็งนั้นเอ็งรัก | ไปลักเมียเขาสิทำได้ |
หากว่าพระตรีภูวไนย | ให้กูมาล้างพิธี |
หาไม่จะฆ่าให้อาสัญ | ไม่ไว้ชีวันยักษี |
เกรงล่วงบรรหารพระจักรี | ว่าแล้วสามกระบี่ก็เหาะมา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงสุวรรณพลับพลาชัย | พออุทัยส่องสว่างพระเวหา |
สามนายลงจากเมฆา | พากันมาเฝ้าพระภูธร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ต่างตนน้อมเกล้าบังคมบาท | พระตรีภูวนาถทรงศร |
ลูกพระอาทิตย์ฤทธิรอน | ชุลีกรแล้วกราบทูลไป |
อันซึ่งข้าบาททั้งสามนี้ | ไปล้างพิธีอุโมงค์ใหญ่ |
ของทศกัณฐ์ชาญชัย | ก็ได้สำเร็จดังบัญชา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์นาถา |
ได้ฟังลูกพระสุริยา | ผ่านฟ้าแสนโสมนัสนัก |
จึ่งตรัสสรรเสริญสามกระบี่ | มิเสียทีปรีชาแหลมหลัก |
ควรที่เป็นวงศ์สุรารักษ์ | ดั่งแก้วจักรพรรดิอันศักดา |
ใช้ไหนก็ได้ดั่งใจนึก | เป็นเขี้ยวศึกอาจองแกล้วกล้า |
ความชอบนั้นพ้นคณนา | หาทั้งใต้ฟ้าไม่เทียมทัน |
ตรัสแล้วเสด็จยุรยาตร | จากอาสน์พรรณรายฉายฉัน |
กรายกรย่างเยื้องจรจรัล | เข้าสุวรรณพลับพลารูจี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ