- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
ร่าย
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงฤทธิกันยักษา |
เป็นทหารขององค์เจ้าลงกา | ได้คุมโยธากุมภัณฑ์ |
โกฏิหนึ่งกระเวนอากาศ | องอาจฤทธิแรงแข็งขัน |
เคยเที่ยวไปเป็นนิรันดร์ | ป้องกันอริราชไพรี |
ครั้นรุ่งสางส่างแสงสุริย์ฉาน | ก็เรียกหมู่ทวยหาญยักษี |
ถีบทะยานผ่านฟ้าด้วยฤทธี | อสุรีระเห็จเตร็จมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ กราวนอก
๏ บัดนั้น | หนุมานฤทธิไกรใจกล้า |
เหลือบเห็นพวกพลอสุรา | เกลื่อนกลาดดาษมาในอัมพร |
จึ่งว่าแก่สุครีพน้าชาย | บัดนี้พระนารายณ์ทรงศร |
จะยกโยธาพลากร | ไปราญรอนอสูรในลงกา |
เราเป็นทหารมาพานพบ | จะรบดูฝีมือยักษา |
ฆ่าเสียให้สิ้นบรรดามา | สงครามภายหน้าจะเบาแรง |
ว่าแล้วจึ่งลูกพระพาย | ชักตรีจากกายออกกวัดแกว่ง |
ขบเขี้ยวเคี้ยวฟันตาแดง | แกล้งออกไปขวางหน้าไว้ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ จึ่งร้องว่าเหวยอสุรี | ล่วงเขตมานี้จะไปไหน |
ตัวมึงมีนามกรใด | จึ่งบังอาจใจอหังการ์ |
มากั้นกางขวางทางกูอยู่ | ไม่รู้ว่าจะม้วยสังขาร์ |
แม้นมึงรักชีพชีวา | จงเลิกโยธากุมภัณฑ์ |
หนีไปให้พ้นพระกาล | ผู้เดโชชาญแข็งขัน |
หาไม่ไม่รอดชีวัน | ด้วยศักดาอันเกรียงไกร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฤทธิกันผู้เป็นนายใหญ่ |
ได้ฟังกริ้วโกรธคือไฟ | จึ่งร้องตอบไปทันที |
กูเป็นทหารพญายักษ์ | ปิ่นปักลงกาบูรีศรี |
ชื่อฤทธิกันอสุรี | คุมโยธีเที่ยวกระเวนมา |
ตัวมึงมีนามกรใด | เจรจาหยาบใหญ่ให้เกินหน้า |
ผู้เดียวหรือจะต่อศักดา | อย่าสงกาว่าจะรอดชีวัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรฤทธิแรงแข็งขัน |
ได้ฟังจึ่งตอบกุมภัณฑ์ | เหวยไอ้ฤทธิกันอสุรี |
กูคือทหารพระนารายณ์ | เป็นลูกพระพายเรืองศรี |
หลานพญาสุครีพพาลี | มีนามชื่อว่าหนุมาน |
ตัวมึงดั่งงูไม่มีพิษ | หรือจะต่อฤทธิ์ครุฑตัวหาญ |
สิ้นทั้งพันโกฏิบริวาร | จะวายปราณไม่ทันพริบตา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฤทธิกันสิทธิศักดิ์ยักษา |
ได้ฟังยิ่งกริ้วโกรธา | อสุราขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน |
เหม่เหม่ดูดู๋อ้ายวานร | มาอวดฤทธิรอนว่าแข็งขัน |
ถึงโคตรเผ่าเหล่ากอมึงนั้น | กูจะหั่นเสียให้แหลกลาญ |
ว่าแล้วจึ่งร้องประกาศไป | เหวยพวกพลไกรใจหาญ |
จงจับไอ้ลิงสาธารณ์ | ผลาญเสียให้ม้วยชีวี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พลมารทหารยักษี |
ต่างตนสำแดงฤทธี | เข้าไล่โจมตีวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บ้างแทงบ้างฟันสับสน | ลางตนก็ยิงธนูศร |
โห่สนั่นครั่นครื้นอัมพร | ราญรอนรบชิดติดพัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | หนุมานฤทธิแรงแข็งขัน |
ผู้เดียวหักโหมบุกบัน | โจมประจัญกลางหมู่อสุรา |
เงื้อตรีกวัดแกว่งดั่งแสงไฟ | ไล่รุกคลุกคลียักษา |
อสุรีหนุนแน่นเข้ามา | ขุนกระบี่เคี่ยวฆ่าราวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | หมู่โยธามารยักษี |
เข้ากลุ้มรุมกันประจัญตี | ไม่คิดชีวีแต่สักตน |
ต่างพุ่งต่างซัดอาวุธ | แย้งยุทธ์โจมจับกันสับสน |
ที่ตายตกยังสุธาดล | ที่เป็นเข้าผจญด้วยวานร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
โรมรุกบุกบันประจัญกร | ราญรอนแทงฟันเป็นโกลา |
ปากกัดตีนถีบมือตบ | หลีกหลบเขม้นเข่นฆ่า |
พลมารพันโกฏิบรรดามา | ตายกลาดดาษป่าพนาลัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฤทธิกันผู้เป็นนายใหญ่ |
สิ้นพลกริ้วโกรธคือไฟ | สำแดงฤทธิไกรเข้าโจมตี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ กรขวากวัดแกว่งคทาวุธ | กรซ้ายยุดคอกระบี่ศรี |
หมายมาดจะพิฆาตชีวี | ต่างแทงต่างตีไม่งดกัน |
เสียงสนั่นครั่นครื้นอากาศ | พสุธากัมปนาทไหวหวั่น |
สองกล้าต่อหาญเข้าโรมรัน | ติดพันกลับกลอกไปมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
ถาโถมโจมจับด้วยฤทธา | โจนขึ้นเหยียบบ่าขุนมาร |
กรหนึ่งจับเศียรยัดยัน | ขบฟันเขม้นจะสังหาร |
กลอกกลับจับกันในคัคนานต์ | รอนราญไม่คิดชีวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฤทธิกันสิทธิศักดิ์ยักษี |
โลดโผนโจนจ้วงทะลวงตี | ได้ทีเหยียบเข่าหนุมาน |
มือซ้ายชิงตรีวานร | กรขวาเงื้อตระบองจะสังหาร |
กอดรัดฟัดกันประจัญบาน | ต้านทานรบชิดติดมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | หนุมานฤทธิแรงแข็งกล้า |
หักเอาด้วยกำลังศักดา | ถีบถูกอุรากุมภัณฑ์ |
โจมจับจิกเศียรขุนมาร | แกว่งตรีสุรกานต์ดั่งจักรผัน |
แทงต้องกายาฤทธิกัน | ก็สุดสิ้นชีวันด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด เชิด
๏ บัดนั้น | พญาสุครีพกระบี่ศรี |
เห็นหลานสังหารอสุรี | สิ้นชีพชีวีไม่เหลือไป |
ยินดีดั่งได้วิมานฟ้า | หนุมานเอามายื่นให้ |
ขุนกระบี่อำนวยอวยชัย | ใต้ฟ้าอย่ามีใครต่อกร |
ควรที่จะเป็นทหาร | องค์พระอวตารทรงศร |
ว่าแล้วสองราชพานร | ก็มาโดยอัมพรด้วยฤทธา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงเขาคันธมาทน์ | ก็ลงจากอากาศเวหา |
แลเห็นสุวรรณพลับพลา | รจนาด้วยแก้วแววไว |
อยู่ยังเชิงเขาลำเนาธาร | รโหฐานใต้ร่มรังใหญ่ |
น้าหลานก็พากันเข้าไป | ด้วยใจชื่นชมยินดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรบังคมบาท | พระอนุชาธิราชเรืองศรี |
ทูลว่ามาพบอสุรี | มีนามชื่อว่าฤทธิกัน |
เป็นทหารของท้าวทศพักตร์ | ขุนยักษ์ยกพวกพลขันธ์ |
เยียดยัดอัดแอแจจัน | มันนั้นมาทางเมฆา |
หนุมานผู้เดียวเข้าโจมตี | อสุรีสิ้นชีพสังขาร์ |
หมดทั้งพวกพลบรรดามา | ด้วยกำลังฤทธาวานร |
พระองค์จงได้โปรดเกล้า | พาข้าขึ้นเฝ้าพระทรงศร |
จะได้ขุมโยธาพลากร | คิดการราญรอนอสุรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
ได้ฟังชื่นชมยินดี | ดั่งวารีทิพมาเจือใจ |
จึ่งพาวานรสองทหาร | น้าหลานผู้มีอัชฌาสัย |
เสด็จย่างเยื้องคลาไคล | เข้าไปเฝ้าองค์พระหริรักษ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ยอกรน้อมเกล้าบังคมทูล | นเรนทร์สูรสุริย์วงศ์ทรงศักดิ์ |
บัดนี้สุครีพผู้ใจภักดิ์ | พาหลานรักหนุมานมา |
แล้วแจ้งความตามนัยวานร | ซึ่งเขจรมาโดยเวหา |
ได้ฆ่าฤทธิกันอสุรา | ทหารเจ้าลงกากรุงมาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระทรงภพลบโลกทุกสถาน |
ฟังพระอนุชาแจ้งการ | ผ่านฟ้าเกษมเปรมปรีดิ์ |
จึงมีบัญชาตรัสไป | เหตุใดสุครีพกระบี่ศรี |
ตัวท่านสัญญาเจ็ดราตรี | จะพาโยธีออกมา |
ยังคันธมาทน์บรรพต | เรากำหนดนับวันคอยท่า |
เป็นไฉนไม่เห็นโยธา | จึ่งมาแต่สองวานร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ลูกพระอาทิตย์ชาญสมร |
ได้ฟังบัญชาพระภูธร | ประนมกรเหนือเกล้าเมาลี |
ทูลว่าซึ่งเกินกำหนดการ | ผ่านฟ้าจงโปรดเกศี |
ด้วยพวกพหลโยธี | แตกหนีเข้าป่าพนาวัน |
ข้าบาทจะขอเกณฑ์ถวาย | ให้สิ้นไพร่นายพลขันธ์ |
แต่ซึ่งจะยกไปโรมรัน | ล้างเหล่ากุมภัณฑ์ถึงลงกา |
ข้อนี้ยังคิดเกรงอยู่ | ด้วยท้าวชมพูแกล้วกล้า |
เป็นสหายรักร่วมชีวา | กับองค์พญาพาลี |
แม้นรู้ว่าสิ้นชีวาตม์ | จะโกรธาข้าบาทกระบี่ศรี |
เห็นจะเป็นเสี้ยนไพรี | น่าที่จะกรีพลมา |
กวาดเอาครอบครัวในขีดขิน | สิ้นทั้งสุริย์วงศ์พงศา |
พระองค์จงทรงพระเมตตา | แก่ข้าผู้รองบทมาลย์ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
ได้ฟังสุครีพแจ้งการ | ผ่านฟ้ามีราชวาที |
อันท่านคิดนี้ก็รอบคอบ | เราเห็นชอบด้วยกระบี่ศรี |
จะเกรงอะไรแต่เท่านี้ | ขุนกระบี่จงถือสารไป |
หาท้าวมหาชมพูมา | จะบัญชามิให้ทำได้ |
ทั้งจะได้พหลพลไกร | เข้ากองทัพชัยไปรอนราญ |
ตรัสแล้วสั่งองค์พระลักษมณ์ | น้องรักจงเร่งแต่งสาร |
ให้แก่สุครีพหนุมาน | ไปสถานชมพูพระนคร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
รับสั่งสมเด็จพระสี่กร | ก็แต่งสารสุนทรด้วยปรีชา |
เสร็จดั่งพระราชบรรหาร | องค์พระอวตารนาถา |
ส่งให้สุครีพผู้ศักดา | น้าหลานจงพากันรีบไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สองกระบี่ผู้มีอัชฌาสัย |
รับสารพระตรีภูวไนย | ด้วยใจชื่นชมยินดี |
ต่างตนถวายอภิวาทน์ | แทบบาทพระนารายณ์เรืองศรี |
ถีบทะยานผ่านฟ้าด้วยฤทธี | ขุนกระบี่เร่งรีบเหาะมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงชมพูราชฐาน | สองทหารลงจากเวหา |
พากันยุรยาตรคลาดคลา | ไปยังศาลาลูกขุนใน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ นั่งลงแล้วกล่าวสุนทร | แก่เสนาวานรผู้ใหญ่ |
ว่าพญาพาลีรับสั่งใช้ | ให้เราถือสารสวัสดี |
มาถวายใต้เบื้องบทมาลย์ | พระผู้ผ่านชมพูบูรีศรี |
จำทูลพระราชไมตรี | โดยประเวณีบูราณมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีผู้มียศถา |
ก็พาสองราชทูตา | เข้ามายังท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงประณตบทบงสุ์ | องค์ท้าวชมพูรังสรรค์ |
ทูลว่าพระสหายร่วมชีวัน | อันผ่านขีดขินธานี |
ใช้ให้สุครีพหนุมาน | จำทูลพระราชสารศรี |
มาถวายเบื้องบาทพระภูมี | โดยทางไมตรีสถาวร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุครีพหนุมานชาญสมร |
เหาะสูงกว่าแท่นอลงกรณ์ | ก็อ่านลักษณ์อักษรให้ฟัง ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ช้า
๏ ราชสารพระบรมจักรกฤษณ์ | องค์อิศรภาพทรงสังข์ |
เอาภุชงค์เป็นอาสน์บัลลังก์ | ยังเกษียรสมุทรคงคา |
ฝูงทวยเทเวศร์อมรินทร์ | พรหมินทร์นักสิทธ์ทุกทิศา |
ประชุมเชิญให้ไวกูณฐ์มา | ในวงศ์มหาจักรพรรดิ |
ทรงนามพระรามราเมศ | โลเกศร่มเกล้าดั่งเงาฉัตร |
เสด็จยังคันธมาทน์คีรีรัตน์ | จะไปล้างอาสัตย์ในลงกา |
บัดนี้จะประชุมโยธี | จึ่งมีสารศรีให้หา |
องค์ท้าวชมพูเจ้าพารา | ไปเฝ้าบาทาพระภูธร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมหาชมพูชาญสมร |
ฟังความออกนามพระสี่กร | วานรพ่างเพียงจะวอดวาย |
ให้ระทวยไปทั้งอินทรีย์ | ดั่งต้องอสุนีฟาดสาย |
มิอาจดำรงทรงกาย | กลัวเดชพระนารายณ์สลบไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | เสนามาตยาน้อยใหญ่ |
เห็นพระผู้ปิ่นราชัย | นิ่งไปดั่งสิ้นชีวัน |
ต่างตนโศกาอาวรณ์ | ทุกข์ร้อนตกใจไม่มีขวัญ |
บ้างวิ่งปะทะปะกัน | พัลวันวุ่นวายเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ที่แพทย์ก็เข้านวดฟั้น | บ้างฝนจวงจันทน์กฤษณา |
บ้างเชิญเอาพระสุคนธ์มา | ชโลมทาไปทั่วอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมหาชมพูเรืองศรี |
ครั้นฟื้นคืนได้สมประดี | มีความฉงนสนเท่ห์ใจ |
จึ่งถามทูตาปรีชาหาญ | ตัวท่านนี้มาแต่กรุงไหน |
ได้จำทูลสารของผู้ใด | บอกไปให้แจ้งกิจจา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ลูกพระอาทิตย์ฤทธิ์กล้า |
ได้ฟังก็ร้องตอบมา | เราเป็นทูตาพระสี่กร |
โองการให้หาท่านไปเฝ้า | ยังเขาคันธมาทน์สิงขร |
อย่าช้าพญาพานร | เร่งรีบบทจรไปบัดนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมหาชมพูเรืองศรี |
แจ้งการว่าสารพระจักรี | ยิ่งมีความตระหนกตกใจ |
ให้เศียรพองสยองไปทั่วองค์ | ดั่งจะทรงกายาอยู่มิได้ |
จึ่งมีบัญชาถามไป | พระนารายณ์ซึ่งไวกูณฐ์มา |
ท่านเห็นสิ่งใดเป็นสำคัญ | จึ่งยกยอกันหนักหนา |
เรานี้สงสัยในวิญญาณ์ | ทูตาจงบอกให้แจ้งใจ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุครีพผู้มีอัชฌาสัย |
เห็นท้าวชมพูภูวไนย | ไม่เชื่อว่าพระองค์ทรงสุบรรณ |
จึ่งว่าดูราพญาจักร | อันพระหริรักษ์รังสรรค์ |
งามยิ่งฝูงเทพเทวัญ | ผิวพรรณนวลนิลทั้งอินทรีย์ |
ทรงศรสามเล่มเลิศลบ | ขจรจบฟากฟ้าราศี |
แม่นแท้คือองค์พระจักรี | อย่ามีซึ่งความสงกา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมหาชมพูนาถา |
ได้ฟังสรวลเย้ยแล้วร้องมา | เหตุใดมุสาพาที |
อันพระนารายณ์ฤทธิรอน | สี่กรขี่ครุฑยักษี |
ทรงสังข์จักรแก้วคทาตรี | ไม่มีศรศิลป์เป็นอาวุธ |
อันคำซึ่งว่านี้ผิดไป | ท่านนั้นอยู่ในเกษียรสมุทร |
สารนี้แอบว่าเห็นพิรุธ | ใช่พระจักรภุชสี่กร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ลูกพระอาทิตย์ชาญสมร |
ฟังท้าวชมพูภูธร | วานรจึ่งตอบวาจา |
องค์พระนารายณ์มาดับเข็ญ | ให้เย็นทั่วทศทิศา |
แม้นท่านมิไปดั่งบัญชา | น่าที่พระจะแผลงศรชัย |
มาผลาญให้สิ้นสุริย์วงศ์ | พงศ์พญาพานรน้อยใหญ่ |
ทั้งหมู่ไพร่พลสกลไกร | ก็จะพลอยบรรลัยแหลกลาญ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมหาชมพูใจหาญ |
ได้ฟังจึ่งตอบพจมาน | ท่านอย่ากล่าวการอหังการ์ |
นารายณ์ไวกูณฐ์เมื่อครั้งไร | ช่างเอาที่ไหนมาว่า |
อายุสเราก็นับกัปมา | ใครได้ยินเจรจาดั่งนี้ |
แม้นจริงเป็นองค์พระอวตาร | จะสังหารก็แต่ยักษี |
กูใช่พงศ์พันธุ์อสุรี | จะมาล้างชีวีนั้นผิดไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | พญาสุครีพทหารใหญ่ |
ได้ฟังคำท้าวเจ้าเวียงชัย | ขัดใจจึ่งตอบวาจา |
ท่านนี้เป็นคนหลงหนัก | ไม่รู้จักพระนารายณ์นาถา |
เมื่อพระองค์จะไวกูณฐ์มา | ฤๅษีเทวาพร้อมกัน |
ทูลพระอิศวรภูวนาถ | ให้เชิญบาทบรมรังสรรค์ |
มาผลาญอสุราอาธรรม์ | ที่มันหยาบช้าสาธารณ์ |
เหตุใดจึ่งว่าไม่แจ้ง | กล่าวแกล้งมุสาว่าขาน |
ปางเมื่อองค์พระอวตาร | ก็ลือสะท้านทั้งธาตรี |
แต่ออกพระนามยังสลบ | ซบพักตร์นิ่งอยู่กับที่ |
ควรหรือมิได้ภักดี | มานะพาทีไม่ต้องการ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมหาชมพูใจหาญ |
ได้ฟังขัดแค้นในวิญญาณ | เปรียบปานดั่งต้องปืนพิษ |
แม้นจะมิไปก็ใช่ที่ | กลัวว่าจะมีความผิด |
นั่งนิ่งตะลึงรำพึงคิด | แล้วประกาศิตด้วยมารยา |
แม้นว่านารายณ์อวตาร | มาล้างพวกพาลยักษา |
เราก็พลอยยินดีปรีดา | ควรอยู่ผ่านฟ้าพระจอมไตร |
จำเพาะตัวเราไปนอบนบ | จึ่งจะว่าคำรพก็หาไม่ |
สุดแล้วจงรักภักดีไป | ด้วยใจสุจริตก็เหมือนกัน |
ทูตาทั้งสองนายอย่ากินแหนง | จงไปแจ้งพระบรมรังสรรค์ |
ว่าเราสามิภักดิ์โดยธรรม์ | ถวายอัญชุลีพระสี่กร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ทั้งสองทูตาชาญสมร |
ได้ฟังพญาพานร | ยอกย้อนแกล้งกล่าวอภิปราย |
ต่างตนถวิลจินดา | ตรึกตราไปด้วยใจหมาย |
ท้าวนี้มารยามากมาย | เบี่ยงบ่ายบิดพลิ้วไม่ไป |
สุครีพจึ่งตอบด้วยปรีชาญ | ท่านอย่าพักว่าแก้ไข |
อันองค์พระตรีภูวไนย | ใช้ให้เราถือสารมา |
หาท้าวผู้เดียวไปเฝ้า | ยังเขาคันธมาทน์ภูผา |
จะไปรีบไปอย่าช้า | มิไปจงว่าให้แจ้งการ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมหาชมพูใจหาญ |
ได้ฟังสุครีพพจมาน | ว่าขานองอาจก็ขัดใจ |
พระพักตร์มึนตึงขึงอยู่ | จะดูหน้าทูตาก็หาไม่ |
ลุกจากแท่นแก้วแววไว | เข้าในปราสาทรูจี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | สุครีพหนุมานกระบี่ศรี |
เห็นท้าวชมพูไม่พาที | ลุกหนีจากท้องพระโรงคัล |
ทูตาน้าหลานทั้งสองตน | นั้นสุดจนที่จะผ่อนผัน |
พากันย่างเยื้องจรจรัล | จากพระโรงสุวรรณอำไพ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงทิมดาบชาววัง | จึ่งแวะเข้านั่งอาศัย |
สุครีพผู้ปรีชาไว | ว่าไปแก่ศรีหนุมาน |
อันท้าวชมพูธิบดี | พาทีปั้นปึ่งอวดหาญ |
ไม่ไปเฝ้าองค์พระอวตาร | ด้วยอหังการกำเริบฤทธิ์ |
สำคัญว่าตนสูงศักดิ์ | ทั้งไตรจักรอยู่ในอาญาสิทธิ์ |
มีแต่โมหันธ์มืดมิด | เบี่ยงบิดด้วยมานะใจ |
แต่วาจานั้นไม่ห้าวหาญ | จะสุนทรอ่อนหวานก็หาไม่ |
กล่าวคำเป็นท่ามกลางไว้ | จะไปมิไปไม่เจรจา |
ควรเราจะกลับไปเฝ้า | ทูลพระปิ่นเกล้านาถา |
ตามท้าวชมพูว่ามา | ให้ทราบบาทาพระจักรี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
ได้ฟังจึ่งตอบวาที | เรานี้มาถึงท้าวชมพู |
บอกกล่าวราวเรื่องก็แจ้งใจ | เมื่อเธอมิไปจะแข็งอยู่ |
เห็นท่าจะเป็นเสี้ยนศัตรู | ต่อองค์พระผู้อวตาร |
แม้นกลับไปทูลองค์พระสี่กร | จะโกรธาแผลงศรมาล้างผลาญ |
ชมพูนคราจะแหลกลาญ | เพราะเราน้าหลานไม่ตรึกตรา |
จะเสียพลยี่สิบสมุทร | ซึ่งจะได้ต่อยุทธ์ยักษา |
ทั้งจะเป็นกรรมเวรา | ภายหน้าติดตัวเราไป |
เสียทีเป็นทหารชาญฤทธิ์ | พระจักรกฤษณ์จะติโทษได้ |
ว่าใช้เรามาต่างใจ | เพียงนี้ยังให้เสียการ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุครีพผู้ปรีชาหาญ |
จึ่งกล่าวแก่ศรีหนุมาน | ซึ่งเจ้าว่าขานนี้ชอบนัก |
เราจะผ่อนผันฉันใด | จึ่งจะได้ราชการพระทรงศักดิ์ |
อย่าให้เสียทีที่ใจภักดิ์ | หลานรักคิดดูจงดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานกระบี่ศรี |
ได้ฟังจึ่งตอบวาที | ข้อนี้อย่าปรารมภ์ใจ |
อันท้าวชมพูชัยชาญ | ตัวหลานจะจับไปให้ได้ |
ถวายพระหริวงศ์ทรงชัย | ยังในคันธมาทน์ด้วยปรีชา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ลูกพระอาทิตย์ฤทธิ์กล้า |
สงสัยในคำนัดดา | จึ่งมีวาจาตอบไป |
ตัวเราน้าหลานมาสองตน | จะรบพลนับสมุทรกระไรได้ |
ธรรมดานํ้าน้อยก็แพ้ไฟ | ยากใจที่เราจะต่อยุทธ์ |
ท้าวมีศักดาเหมือนพาลี | ตรีโลกก็นับว่าบุรุษ |
อันจะต่อศักดาวรารุทร | น้าคิดเห็นสุดปัญญา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานแกล้วกล้า |
ยิ้มแล้วจึ่งกล่าววาจา | ข้อนี้พระน้าอย่าร้อนใจ |
อันพลในเมืองชมพู | ถึงมากก็สู้ใครได้ |
น่าที่จะอัปราชัย | ด้วยอุบายภายในเชี่ยวชาญ |
อันพระนครทั้งหลาย | ก็เหมือนกับกายสังขาร |
กษัตริย์คือจิตวิญญาณ | เป็นประธานแก่ร่างอินทรีย์ |
มือเบื้องซ้ายขวาคือสามนต์ | บาทาคือพลทั้งสี่ |
อาการพร้อมสามสิบสองมี | ดั่งนี้จึงเรียกว่ารูปกาย |
ฝ่ายฝูงอาณาประชาราษฎร์ | คือสาตราวุธทั้งหลาย |
ถึงผู้นั้นประเสริฐเลิศชาย | แม้นจิตจากกายก็บรรลัย |
อาวุธไม่มีผู้ถือ | ควรหรือจะวิ่งเข้ารบได้ |
อันท้าวชมพูฤทธิไกร | จะสะกดเอาไปด้วยมนตรา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ลูกพระอาทิตย์ฤทธิ์กล้า |
ได้ฟังจึ่งตอบวาจา | ความคิดนัดดานี้ดีนัก |
จะปรากฏยศเกียรติเกรียงไกร | ขจรทั่วทั้งในไตรจักร |
ว่าเราอาสาพระหริรักษ์ | เบาหนักไม่คิดแก่ชีวี |
ว่าแล้วสุครีพผู้ศักดา | ก็บอกแก่เสนาทั้งสี่ |
จักขออาศัยสักราตรี | รุ่งเช้าพรุ่งนี้จะลาไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีกระบี่ผู้ใหญ่ |
ได้ฟังไม่แหนงแคลงใจ | ก็รีบไปพระโรงรัตนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงประณตบทบงสุ์ | องค์ท้าวชมพูนาถา |
ทูลว่าทั้งสองทูตา | จะอาศัยนิทราสักราตรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมหาชมพูเรืองศรี |
ได้ฟังจึ่งสั่งเสนี | อันการครั้งนี้ประหลาดใจ |
ท่านเป็นผู้ใหญ่จงรักษา | ตรวจตราอย่าให้มีเหตุได้ |
ผลัดกันนั่งยามตามไฟ | อย่าหลับไหลระไวระวังมัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มหาเสนาคนขยัน |
รับสั่งถวายบังคมคัล | พากันออกมาทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งเกณฑ์โยธาทวยหาญ | ทั่วทุกพนักงานกระบี่ศรี |
ให้ตรวจตรานั่งยามตามอัคคี | โดยมีพระราชบัญชา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
เที่ยงคืนมัชฌิมเวลา | จันทราบ่ายคล้อยโพยมบน |
ครั้นสงัดสิ้นสรรพสำเนียง | เงียบเสียงฆ้องกลองกาหล |
แต่หมู่โยธีรี้พล | ต่างตนตรวจตราเป็นโกลี |
จึ่งว่าแก่ลูกพระสุริยา | พระน้าเจ้าคอยอยู่ที่นี่ |
ระวังพระองค์จงดี | หลานนี้จะลอบเข้าไป |
สะกดนิทราให้นอนหลับ | จับท้าวชมพูไปให้ได้ |
ว่าแล้วไหว้คุณเจ้าภพไตร | สำรวมใจร่ายวิทยามนต์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ ตระ
๏ ครั้นครบเจ็ดคาบโดยกำหนด | น้ำค้างย้อยหยดเป็นฝอยฝน |
เมฆหมอกมืดคลุ้มโพยมบน | ด้วยฤทธิรณมหึมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาวานรซ้ายขวา |
ทั้งหมู่รี้พลโยธา | ต้องละอองน้ำฟ้าซาบใจ |
ให้หนาวเยือกเย็นทุกเส้นขน | สุดที่จะทนทานได้ |
บ้างชักผ้าคลุมหัวไว้ | โงกงุนซุนไปไม่ลืมตา |
มะเมอเพ้อบ่นกรนฟู่ | หลับไหลคุดคู้ไม่เงยหน้า |
ผู้ใดมิได้ตรวจตรา | ต้องมนต์นิทราทั้งธานี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานกระบี่ศรี |
ครั้นเห็นพวกพลมนตรี | สิ้นสมประดีหลับไป |
ชื่นชมด้วยสมความคิด | แลดูทั่วทิศน้อยใหญ่ |
เหาะทะยานขึ้นยอดปราสาทชัย | ด้วยฤทธิไกรเชี่ยวชาญ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ได้ยินสำเนียงนางกำนัล | ขับครวญโอดพันเสียงหวาน |
ไหว้คุณพระสยมภูวญาณ | แล้วโอมอ่านพระเวทวิทยา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ เดชะด้วยมนต์อันมีฤทธิ์ | บันดาลมืดมิดทุกทิศา |
ผู้ใดมิได้ลืมตา | ด้วยกำลังศักดาวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมหาชมพูชาญสมร |
ทั้งนางระบำรำฟ้อน | บำเรอภูธรในราตรี |
อีกเหล่าสิบสองพระกำนัล | ผลัดกันนั่งยามอยู่ข้างที่ |
โงกงุนซุนไปทุกนารี | สงัดเสียงพาทีทั้งวังใน |
บ้างถือโทนทับกรับฉิ่ง | หลับกลิ้งไม่สมประดีได้ |
นอนกรนบ่นเพ้อมะเมอไป | ทั้งในห้องแก้วรัตนา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ กล่อม
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
ครั้นเสร็จสะกดนิทรา | ถอดยอดมหาปราสาทชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ทะลุพื้นเพดานดาวราย | แต่พอลอดกายลงไปได้ |
โลดโผนโจนทะยานว่องไว | เข้าในห้องแก้วรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ จึ่งเห็นท้าวมหาชมพู | บรรทมหลับอยู่บนที่ |
มีความชื่นชมยินดี | ขุนกระบี่ช้อนแท่นอลงการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ ได้ด้วยศักดาวรารุทร | ดั่งครุฑจับนาคตัวหาญ |
เหาะขึ้นสู่พื้นคัคนานต์ | ลูกพระสุริย์ฉานก็ตามมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ รวดเร็วเพียงลมพานพัด | รีบรัดไปในเวหา |
ลัดนิ้วมือเดียวไม่พริบตา | ถึงภูผาคันธมาทน์คีรี |
ลงจากพ่างพื้นอัมพร | ศศิธรจำรัสรัศมี |
ก็วางแท่นแก้วรูจี | ลงไว้ยังที่สุธาธาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | สุครีพฤทธิไกรใจหาญ |
ก็รีบเข้าไปเฝ้าพระอวตาร | ยังหน้าฉานสุวรรณพลับพลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงประณตบทบงสุ์ | ทูลองค์พระนารายณ์นาถา |
ข้าบาทถือราชสารา | ไปหาท้าวชมพูพานร |
ว่าขานแก่เจ้าเวียงชัย | ตามในโองการพระทรงศร |
ดื้อดึงมิได้ง้องอน | อ่อนน้อมต่อบาทพระจักรี |
หนุมานจึ่งคิดอุบายกล | ร่ายมนต์สะกดกระบี่ศรี |
พามาทั้งแท่นมณี | บัดนี้ยังสนิทนิทรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกนาถา |
ได้ฟังลูกพระสุริยา | ผ่านฟ้าชื่นชมด้วยสมคิด |
ดั่งได้ช่อชั้นวิมานมาศ | จึ่งกล่าวพจนารถประกาศิต |
อันท้าวชมพูสิมีฤทธิ์ | กำเริบนํ้าจิตไม่เกรงใคร |
นี่หากว่าท่านน้าหลาน | ทำการด้วยมีอัชฌาสัย |
จึ่งได้ไม่ยากลำบากใจ | อยู่ไหนจงพาเอาตัวมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ลูกพระอาทิตย์ฤทธิ์กล้า |
รับสั่งสมเด็จพระจักรา | บังคมลาแล้วออกมาทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งบอกหนุมาน | ว่าพระอวตารเรืองศรี |
ให้พาท้าวชมพูธิบดี | ไปยังที่หน้าพลับพลาชัย |
ว่าแล้วน้าหลานทั้งสองตน | ผู้ฤทธิรณแผ่นดินไหว |
ช่วยกันยกแท่นอำไพ | เข้าไปถวายพระสี่กร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
เห็นท้าวชมพูฤทธิรอน | นอนหลับไม่รู้สมประดี |
จึ่งเรียกหนุมานเข้ามาใกล้ | ภูวไนยตรัสชมกระบี่ศรี |
มิเสียแรงเป็นวงศ์พาลี | ฤทธีดั่งองค์พระสุริยัน |
แล้วลูบเศียรเกล้าตลอดหาง | ก็สร่างสาปพระอุมาสาวสวรรค์ |
ยิ่งมีเดชาชาญฉกรรจ์ | กำลังนั้นมากขึ้นพันทวี |
จึ่งให้วายุบุตรผู้ศักดา | แก้วิทยากระบี่ศรี |
จะดูท้าวชมพูธิบดี | ท่วงทีจะทำประการใด ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้มีอัชฌาสัย |
รับสั่งพระตรีภูวไนย | บังคมไหว้แล้วคลานออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงนบนิ้วอภิวาทน์ | พระสยมภูวนาถนาถา |
ก็ร่ายพระเวทแก้นิทรา | เป่าทั่วกายาวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมหาชมพูชาญสมร |
สร่างเวทอันเรืองฤทธิรอน | ภูธรลืมเนตรแลไป |
เห็นแต่ดาวเดือนเกลื่อนอากาศ | จะเห็นปราสาทก็หาไม่ |
ทั้งนางขับรำระบำใน | นั่งยามตามไฟก็ไม่มี |
ตกใจลุกจากบัลลังก์รัตน์ | เห็นพระจักรรัตน์เรืองศรี |
สี่หัตถ์ทรงสังข์คทาตรี | จักรแก้วมณีอลงกรณ์ |
รัศมีสีเขียวงามประหลาด | โอภาสแลเลื่อมประภัสสร |
ทรงโฉมเสาวภาคย์อรชร | วานรเพ่งพิศไม่วางตา |
ก็รู้แท้แน่ในพระทัยหมาย | ว่าองค์พระนารายณ์นาถา |
ความกลัวดั่งจะสิ้นชีวา | ซบหน้าสลบลงทันที ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์เรืองศรี |
เห็นท้าวชมพูธิบดี | กลัวเดชภูมีสลบลง |
จึ่งผินพระพักตร์มาแย้มยิ้ม | งามพริ้มดั่งท้าวครรไลหงส์ |
ตรัสสั่งพระลักษมณ์ฤทธิรงค์ | เจ้าผู้ร่วมวงศ์ร่วมชีวี |
จงเอาน้ำไปสรงศร | พรหมาสตร์ฤทธิรอนของพี่ |
รดพญาชมพูธิบดี | อย่าให้กระบี่มรณา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์กนิษฐา |
ก้มเกล้ารับสั่งด้วยปรีดา | ทำตามบัญชาพระสี่กร |
เสร็จแล้วถวายอภิวาทน์ | แทบบาทพระนารายณ์ทรงศร |
เสด็จย่างเยื้องบทจร | ไปยังวานรทันที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งรดเศียรให้ | ลูบไล้พักตรากระบี่ศรี |
ประพรมไปทั่วอินทรีย์ | จนสิ้นวารีสุคนธ์ธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวชมพูผู้ปรีชาหาญ |
ต้องนํ้าสรงศรพระอวตาร | ซาบซ่านเย็นทั่วกายา |
ก็ฟื้นคืนสมประดีได้ | มีใจแสนโสมนัสสา |
ลดลงจากแท่นรัตนา | กราบกับบาทาพระทรงฤทธิ์ |
ทูลว่าตัวข้าบทมาลย์ | ขัดพระโองการนั้นโทษผิด |
ใหญ่หลวงถึงสิ้นชีวิต | พระจักรกฤษณ์จงได้ปรานี |
ประทานอินทรีย์ชีวีไว้ | จะได้รองเบื้องบทศรี |
อันซึ่งชมพูธานี | กับหมู่โยธีวานร |
ทั้งโภไคยไอศูรย์สมบัติ | มหาเศวตฉัตรประภัสสร |
ขอถวายสมเด็จพระสี่กร | ให้ถาวรไปทั่วกัลปา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์นาถา |
ได้ฟังสุนทรวาจา | ท้าวมหาชมพูธิบดี |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | โองการตรัสตอบกระบี่ศรี |
ตัวเราอวตารปางนี้ | หวังเป็นที่พึ่งภพไตร |
โดยในโองการเจ้าโลกา | เราจะคุมโทษานั้นหาไม่ |
อันแสนสวรรยาราชัย | มิได้ปรารถนาของวานร |
จะเอาแต่พลทวยหาญ | ที่แกล้วกล้าชำนาญชาญสมร |
ทั้งชมพูขีดขินพระนคร | ไปราญรอนอสูรในลงกา |
ตัวท่านกับลูกพระอาทิตย์ | จึ่งคิดตรองตรึกปรึกษา |
กะเกณฑ์กำหนดโยธา | ทั้งสองพาราบรรจบกัน |
จะเป็นพลมากน้อยเท่าไร | ที่จะได้เข้ากองทัพขันธ์ |
ตรัสแล้วเสด็จจรจรัล | เข้าสุวรรณพลับพลารูจี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนางกำนัลสาวศรี |
ของท้าวชมพูธิบดี | ซึ่งต้องมนต์กระบี่หนุมาน |
ครั้นล่วงเข้าสิบนาฬิกา | สกุณาไก่แก้วขันขาน |
อาคมพระเวทเชี่ยวชาญ | ก็บันดาลระงับเสื่อมไป |
ต่างฟื้นตื่นจากที่นอน | จะเห็นแท่นบรรจถรณ์ก็หาไม่ |
พระองค์ผู้ทรงภพไตร | หายไปกับที่ไสยา |
เถ้าแก่ชะแม่พระกำนัล | ตกใจเรียกกันล้วนหน้า |
เสียงมี่อื้ออึงเป็นโกลา | ดั่งว่าไพชยนต์จะทำลาย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาวานรทั้งหลาย |
ได้ยินสำเนียงวุ่นวาย | ไพร่นายตื่นขึ้นพร้อมกัน |
แลดูทูตาก็ไม่เห็น | ให้เยือกเย็นตกใจตัวสั่น |
ข้างหน้าข้างในทั้งนั้น | เที่ยวหาทรงธรรม์วุ่นไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ ทุกตำแหน่งแห่งห้องก็ค้นจบ | จะพานพบพระองค์ก็หาไม่ |
ต่างแสนโศกาอาลัย | นางในก็รีบจรลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ชุบ
๏ ครั้นถึงปราสาทอลงกรณ์ | นางแก้วอุดรมเหสี |
น้อมเศียรนบนิ้วดุษฎี | โศกีทูลองค์นงคราญ |
ว่าพระผู้ทรงนคเรศ | มงกุฎเกศจอมภพราชฐาน |
หายไปในราตรีกาล | ทั้งแท่นประพาฬอลงการ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ