- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษา |
ครั้นพระรามเลิกพลโยธา | อสุราก็รีบเข้าธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ กราว
๏ เดินทางมาตามทิวทุ่ง | หว่างวุ้งแนวเนินคีรีศรี |
อกใจไม่เป็นสมประดี | อสุรีคำนึงถึงลูกรัก ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ โอ้ทศคีรีวันคีรีธร | ฤทธิรอนปราบได้ทั้งไตรจักร |
ควรหรือมาตายด้วยรามลักษมณ์ | ดั่งใช่วงศ์ยักษ์เลิศไกร |
แต่เจ้ากำเนิดเกิดมา | จะได้เลี้ยงรักษาก็หาไม่ |
องค์พระสหายร่วมใจ | ขอไปไว้สืบพงศ์พันธุ์ |
มีจิตคิดความกตัญญู | มาสู้เสียชีวาอาสัญ |
นิจจาเอ๋ยองค์ท้าวอัศกรรณ | จะนับวันคอยลูกทุกเวลา |
ร่ำพลางอาดูรพูนเทวษ | ชลเนตรอาบพักตร์ยักษา |
ให้แค้นขัดอัดอั้นตันอุรา | จนเข้าในลงกาเวียงชัย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ แลเห็นโรงพิธีการ | แหลกลาญไม่สมประดีได้ |
ยิ่งมีความตระหนกตกใจ | ก็รีบไปปราสาทรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงห้องแก้วไสยาสน์ | เห็นมณโฑอัครราชมเหสี |
ลดองค์ลงใกล้นางเทวี | แล้วมีพจนารถบัญชา |
ดูก่อนโฉมเฉลาเยาวลักษณ์ | ดวงจักษุยอดเสน่หา |
ตัวเจ้าสิตั้งจรรยา | ว่าจะส่งนํ้าทิพย์ให้เนื่องไป |
สงครามครั้งนี้เรารอนราญ | หมายการจะเอาชนะได้ |
ด้วยหมู่ปีศาจออกชิงชัย | ลิงไพรแตกยับทุกที |
เคี่ยวขับสัประยุทธ์กันหนักหนา | ด้วยกำลังศักดาภูตผี |
จนสิ้นนํ้าทิพย์ของเทวี | จึ่งเสียทีแก่หมู่ปัจจามิตร |
ทั้งฝูงปีศาจก็สูญหาย | รี้พลล้มตายอกนิษฐ์ |
เมื่อสงครามยังตั้งประชิด | ติดพันตอบตีชิงชัย |
เหตุใดองค์อัครชายา | ไม่ส่งทิพย์ธาราออกไปให้ |
รื้อโรงพิธีเสียว่าไร | น้อยใจเป็นพ้นพันทวี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางมณโฑมารศรี |
ได้ฟังพระราชวาที | เทวีตะลึงทั้งกายา |
ก้มเกล้ากราบลงกับบาท | พระสามีธิราชนาถา |
จึ่งทูลสนองพระบัญชา | เป็นไฉนมาว่าดั่งนี้ |
พระองค์สิเลิกพลมาร | หมู่โยธาหาญยักษี |
กับการุณราชอสุรี | กลับเข้าธานีว่ามีชัย |
พาข้าออกจากพิธีกรรม์ | พร้อมสนมกำนัลน้อยใหญ่ |
มายังห้องแก้วแววไว | ที่ในแท่นทิพย์ไสยา |
บอกว่าพิเภกอสุรี | หนีได้ซอกซอนอยู่กลางป่า |
พระองค์กลับยกโยธา | ออกไปตามหากุมภัณฑ์ |
เป็นไฉนมาว่าดั่งนี้ได้ | น้อยใจปิ้มชีพอาสัญ |
ไม่ทันจะช้าข้ามวัน | กำนัลก็รู้ทุกนารี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยี่สิบกรยักษี |
ได้ฟังตะลึงทั้งอินทรีย์ | ดั่งหนึ่งชีวีจะวายปราณ |
ชะรอยมณโฑนี้หลงเล่ห์ | โว้เว้กับไอ้เดียรัจฉาน |
อันซึ่งกระบี่หนุมาน | วานนี้กูคิดประหลาดใจ |
เมื่อทัพต่อทัพเข้ารับรบ | จะพบเห็นหน้ามันก็หาไม่ |
ทั้งวานรร้องเย้ยไยไพ | กริ่งใจอยู่แล้วแต่กลางวัน |
ครั้นจะถามการุณราช | ใครรู้จะประมาทเย้ยหยัน |
อดสูแก่หมู่กุมภัณฑ์ | จะต้องการอันใดที่ไหนมี |
คิดแล้วจึ่งกล่าวสุนทร | ดูก่อนผู้มิ่งมารศรี |
เจ้าอย่ากังขาราคี | ตัวพี่มิได้เข้ามา |
หนุมานมันแกล้งแปลงกาย | เพทุบายมิให้กังขา |
ฝ่ายเจ้าไม่ทันสงกา | จึ่งเสียวิทยาพิธีกรรม์ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางมณโฑสาวสวรรค์ |
ได้ฟังดั่งใครมาฟาดฟัน | กัลยาเพียงสิ้นชีวี |
คิดความอัปยศอดสู | ไม่แลดูพักตร์ท้าวยักษี |
กอดบาทภัสดาเข้าโศกี | สลบไปในที่ไสยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษา |
เห็นนางแสนโศกโศกา | กัลยาแน่นิ่งไม่ติงกาย |
มีความเสน่หาอาวรณ์ | ทุกข์ร้อนตกใจใจหาย |
สำคัญสัญญาว่าเมียตาย | วุ่นวายไม่เป็นสมประดี |
ยอกรช้อนเกศนงลักษณ์ | ขึ้นวางเหนือตักยักษี |
พิศพักตร์อัครราชเทวี | อสุรีครวญคร่ำรำพัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
โอ้
๏ โอ้ว่ามณโฑเจ้าพี่เอ๋ย | ทรามเชยผู้มิ่งเมียขวัญ |
เคยร่วมสุขร่วมทุกข์มาด้วยกัน | ร่วมชีพชีวันร่วมใจ |
ถึงเจ้าเสียกลเสียตัว | จะตรีชาว่าชั่วก็หาไม่ |
ควรหรือมาม้วยบรรลัย | หนีพี่ไปได้ดั่งนี้ |
ร่ำพลางกอดองค์อัคเรศ | ชลเนตรนองเนตรยักษี |
แสนทุกข์แสนเทวษแสนทวี | โศกีเพียงสิ้นชีวา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
๏ ครั้นค่อยระงับดับโศก | ซึ่งวิโยคเศร้าโทมนัสสา |
จึ่งเอาสุคนธ์วารีมา | ลูบไล้กายาอรไท ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | มณโฑเยาวยอดพิสมัย |
ครั้นต้องรสสุคนธ์เย็นใจ | ทรามวัยคืนได้สมประดี |
ความอายความกลัวเป็นพ้นนัก | ลดลงจากตักท้าวยักษี |
สองกรข้อนทรวงเข้าโศกี | เสียทีเกิดมาให้ป่วยการ |
เสียแรงเป็นชาวไกรลาส | เสียรู้แก่ชาติเดียรัจฉาน |
เสียตัวชั่วช้าอัประมาณ | เสียทั้งการกิจพิธีกรรม์ |
เสียเกียรติพระจอมมงกุฎเกศ | เสียเดชสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
พระองค์อย่าไว้ชีวัน | ทรงธรรม์ฆ่าเสียให้มรณา |
จึ่งจะสิ้นความอายขายบาท | พระพงศ์พรหมธิราชนาถา |
ทูลพลางสะอื้นโศกา | ดั่งว่าจะม้วยชีวี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวสิบพักตร์ยักษี |
ฟังนางรำพันโศกี | อสุรีสะท้อนถอนใจ |
รับขวัญแล้วกล่าวสุนทร | ดูก่อนเยาวยอดพิสมัย |
เจ้าอย่าเร่าร้อนฤทัย | พี่ไม่ถือโทษกัลยา |
ใช่ว่านุชน้องไม่ครองสัจ | วิบัติในความเสน่หา |
ทั้งนี้เป็นกรรมเวรา | แก้วตาอย่าสะเทินเขินใจ |
ถึงเจ้าเสียกิจพิธีการ | ใช่จะรอนราญมันไม่ได้ |
อันมนุษย์กับวานรไพร | อย่าสงสัยว่าจะรอดชีวี |
ว่าพลางอิบแอบแนบชิด | จุมพิตด้วยความเกษมศรี |
ชวนองค์อัครราชเทวี | เข้าที่สิริไสยา |
สองกษัตริย์ร่วมอาสน์ร่วมเขนย | ร่วมภิรมย์ชมเชยเสน่หา |
ด้วยความยินดีปรีดา | อสุราก็หลับสนิทไป ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ กล่อม
๏ ครั้นถึงปัจจุสมัยไก่ขัน | สุริยันเยี่ยมยอดเนินไศล |
สระสรงทรงเครื่องอำไพ | ภูวไนยออกพระโรงรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ร่าย
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | ภายใต้เศวตฉัตรเฉลิมศรี |
ท่ามกลางอสูรเสนี | จึ่งมีพระราชโองการ |
เหวยเหวยดูรามโหทร | จงเตรียมนิกรทวยหาญ |
กูจะยกพหลพลมาร | ไปผลาญมนุษย์กับลิงไพร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มโหทรเสนาผู้ใหญ่ |
รับสั่งพระองค์ทรงภพไตร | บังคมไหว้แล้วรีบออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ปฐม
ยานี
๏ เกณฑ์ทัพเป็นเบญจเสนี | ให้เพชรราวีเป็นกองหน้า |
คุมพลร้อยโกฏิอสุรา | ล้วนขี่อาชาเผ่นทะยาน |
เกียกกายให้เพชราวุธ | ผู้มีฤทธิรุทรกล้าหาญ |
คุมพลร้อยโกฏิหมู่มาร | พื้นขี่คชสารซับมัน |
กองหลวงพันโกฏิอสุรี | ล้วนขี่คชสีห์ตัวขยัน |
ยุกกระบัตรรณสิทธิ์กุมภัณฑ์ | พลนั้นขี่แรดร้ายแรง |
กองหลังตั้งให้รณศักดิ์ | คุมพหลพลยักษ์เข้มแข็ง |
ขี่เสือสิงโตโคแดง | ร้อยโกฏิเหี้ยมแหงทั้งสองกอง |
ล้วนใส่เกราะนวมสวมหมวก | ทุกพวกตั้งกระบวนเป็นแถวท่อง |
กวัดแกว่งอาวุธลำพอง | เล่นประลองฤทธิ์เริงเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยี่สิบกรยักษา |
ครั้นเสร็จซึ่งจัดโยธา | มาเข้าที่สรงสาคร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ทรงสุคนธารสรวยริน | หอมตลบอบกลิ่นเกสร |
สอดใส่สนับเพลาเชิงงอน | อุทุมพรภูษาท้องพัน |
ชายไหวปลายสะบัดชายแครง | ฉลององค์เครือแย่งกระหนกคั่น |
เกราะแก้วสุรกานต์สังวาลวัลย์ | ทับทรวงกุดั่นชมพูนุท |
ตาบทิศเฟื่องห้อยพลอยเพชร | ทองกรมังกรเกล็ดประดับบุษย์ |
พาหุรัดธำมรงค์เรือนครุฑ | สิบเศียรทรงมงกุฎกรรเจียกจร |
ห้อยห่วงกุณฑลดอกไม้ทัด | ประดับด้วยเนาวรัตน์ประภัสสร |
จับอาวุธครบยี่สิบกร | บทจรมาขึ้นพิชัยรถ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ บาทสกุณี
โทน
๏ รถเอยรถทรง | ดุมแก้วกำกงอลงกต |
เรือนแปรกแอกอ่อนงอนชด | ชั้นลดช่อตั้งบัลลังก์ลอย |
รายรูปคนธรรม์คันธัพ | ทวยรับบุษบกกระหนกห้อย |
หน้าบันชั้นเหมประดับพลอย | ห้ายอดสุกย้อยด้วยโกเมน |
เทียมพญาสีหราชสองพัน | โลทันแกว่งหอกกลอกเขน |
เครื่องสูงบังแสงสุริเยนทร์ | เกณฑ์แห่แตรสังข์ฆ้องชัย |
เสียงปี่เสียงกลองก้องกึก | เสียงพลโห่ฮึกแผ่นดินไหว |
ผงคลีมืดคลุ้มอโณทัย | เร่งพวกพลไกรยาตรา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงให้หยุดจตุรงค์ | ตั้งลงตามแถวแนวป่า |
โดยกระบวนพยุห์ที่ยกมา | ในมหาชัยภูมิสวัสดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วเรืองศรี |
ไสยาสน์ในราษราตรี | เหนือที่แท่นทิพย์อลงกรณ์ |
ดาวเดือนเลื่อนลับโพยมหน | สุริยนส่องแสงประภัสสร |
นางชะนีโหยไห้ในดงดอน | สกุณีบินร่อนหากัน |
การะเวกเร่าร้องถวายเสียง | สำเนียงไก่แก้วขานขัน |
แมลงภู่เชยซาบบุษบัน | พากลิ่นคันธรสรวยริน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ สระสรงทรงเครื่องเนาวรัตน์ | พระหัตถ์นั้นจับธนูศิลป์ |
ยุรยาตรนาดกรายดั่งหงส์บิน | ออกหมู่พานรินทร์โยธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์อาสน์ | แสนเสนามาตย์พร้อมหน้า |
พอได้ยินเสียงโห่โกลา | สนั่นมาถึงที่พลับพลาชัย |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | ถามโหราจารย์ผู้ใหญ่ |
อันซึ่งสำเนียงเกรียงไกร | คือใครยกออกมาราวี |
จะเป็นสุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์ | ของท้าวทศกัณฐ์ยักษี |
หรือตัวพญาอสุรี | เรานี้สงสัยในวิญญาณ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษา |
ได้ฟังพระราชบัญชา | อสุราก็จับยามไป |
ทั้งอัศกาลแลตรีเนตร | สังเกตตามที่คัมภีร์ไสย |
ก็รู้จะแจ้งไม่แคลงใจ | บังคมไหว้สนองพระโองการ |
อันทัพซึ่งยกออกมานี้ | ใช่วงศ์อสุรีลูกหลาน |
คือท้าวทศเศียรขุนมาร | ยกพวกพลหาญมาราญรอน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
ได้ฟังโหราพยากรณ์ | ภูธรสั่งน้องพาลี |
จงเตรียมพหลโยธา | เสนานิกรกระบี่ศรี |
เราจะยกออกไปราวี | ต่อตีด้วยท้าวทศกัณฐ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุครีพฤทธิแรงแข็งขัน |
รับสั่งพระองค์ทรงสุบรรณ | ถวายบังคมคัลแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ปฐม
ยานี
๏ เกณฑ์ทหารทั้งสองพระนคร | เลือกล้วนฤทธิรอนแกล้วกล้า |
สิบหมู่เพียบพื้นพระสุธา | เริงร่าขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน |
แต่ละตนล้วนมีศักดาเดช | อาจปล้นเทเวศในสวรรค์ |
บ้างประกวดอวดซึ่งกำลังกัน | ต่างขันจะหักปัจจามิตร |
ใส่เสื้อต่างต่างทุกตัว | หัวนั้นล้วนโพกผ้าตะบิด |
อาจช้อนชูดวงพระอาทิตย์ | ปลิดเอาดาวเดือนได้ดั่งใจ |
ล้วนถือสาตราอาวุธ | สำแดงฤทธิรุทรแผ่นดินไหว |
ตั้งเป็นกระบวนทัพชัย | แน่นไปทั้งหน้าพลับพลา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์นาถา |
กับองค์พระศรีอนุชา | มาเข้าที่สรงวาริน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ สองกษัตริย์ชำระสระสนาน | สุคนธ์ธารเกสรขจรกลิ่น |
สนับเพลาเครือวงเป็นหงส์บิน | รายพลอยโกมินพรายพรรณ |
ภูษาต่างสีเชิงยก | ฉลุทองช่องกระจกกระหนกคั่น |
ฉลององค์พื้นม่วงดวงสุวรรณ | รัดอกกุดั่นอลงกรณ์ |
ทับทรวงประดับมุกดาหาร | ตาบทิศสังวาลประภัสสร |
พาหุรัดนพรัตน์อรชร | ทองกรรูปวาสุกรีกราย |
ทรงมหาธำมรงค์เรือนเก็จ | มงกุฎเพชรรุ้งร่วงฉานฉาย |
กรรเจียกจรกุณฑลทับทิมพราย | งามคล้ายเทเวศทั้งสององค์ |
ต่างขัดพระขรรค์แล้วจับศร | กรายกรย่างเยื้องดำเนินหงส์ |
พร้อมหมู่ทหารชาญณรงค์ | เสด็จมาทรงรถสุพรรณพราย ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ บาทสกุณี
โทน
๏ เวเอยเวไชยันต์ | ประดับแก้วเก้าชั้นจำรัสฉาย |
ดุมวงกงจักรจำหลักลาย | ธงชายปลายงอนวิไลวรรณ |
แท่นท้ายรายรูปเทพบุตร | นาคครุฑกินรีเคียงคั่น |
เสาแก้วกาบบังกระจังบัน | กระหนกชั้นช่อห้อยอลงการ |
เทียมด้วยสินธพเทเวศ | สำแดงเดชเริงร้องลำพองหาญ |
มาตุลีขี่ขับเผ่นทะยาน | ฝีเท้าเร็วปานดั่งลมพัด |
พระลักษมณ์นั่งหน้าประนมกร | เครื่องสูงจามรกรรชิงฉัตร |
โยธาเบียดเสียดเยียดยัด | ขนัดกลองฆ้องขานประสานกัน |
วานรโห่เร้าเอาฤกษ์ | เอิกเกริกโกลาสุธาลั่น |
ผงคลีมืดคลุ้มชอุ่มควัน | ขับพวกพลขันธ์รีบไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ รุกร้น
๏ ครั้นถึงซึ่งที่สนามยุทธ์ | จึ่งให้หยุดโยธาทัพใหญ่ |
ตั้งลงที่ริมชายไพร | มั่นไว้ดูกำลังอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศพักตร์ยักษี |
เห็นพระรามทรงรถมณี | ยกพลกระบี่ออกมา |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | สั่งเสนามารทัพหน้า |
จงขับพวกพลโยธา | เข้าไล่เข่นฆ่าวานร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งเพชราวีชาญสมร |
รับสั่งองค์ท้าวยี่สิบกร | ก็ต้อนทหารเข้าชิงชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่พลมารน้อยใหญ่ |
ต่างตนสำแดงฤทธิไกร | เข้าไล่หักโหมโจมตี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ปีกซ้ายปีกขวากระหนาบกัน | กองกลางทะลวงฟันกระบี่ศรี |
หนุนแน่นแล่นรุกคลุกคลี | อสุรีไม่คิดชีวา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพลกระบี่ทัพหน้า |
แยกกองออกรับเป็นปีกกา | แล้วตีประดาเข้าไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เป็นหมู่หมู่เหล่าเหล่าจับกัน | พัลวันต่างหนีต่างไล่ |
มือตบตีนถีบว่องไว | พลมารมิได้ทานฤทธิ์ |
ล้มตายย่อยยับลงกับกร | เกลื่อนกลาดซับซ้อนอกนิษฐ์ |
แตกพ่ายกระจายไปทุกทิศ | วานรไล่ติดตามตี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | สี่นายทหารยักษี |
เห็นพลแตกยับไม่สมประดี | กระบี่ไล่รุกบุกมา |
ต่างตนกริ้วโกรธกระทืบบาท | ผาดเสียงสิงหนาทดั่งฟ้าผ่า |
กวัดแกว่งตระบองเป็นโกลา | ออกรับหน้าตีกระบี่ไพร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ หวดซ้ายป่ายขวากุลาหล | วานรไม่ทนกำลังได้ |
วิ่งแยกแตกย่นลงไป | ด้วยฤทธิไกรกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนิลเอกนิลขัน |
สุรเสนสุรการชาญฉกรรจ์ | เห็นสี่ยักษ์นั้นตีกระบี่มา |
โกรธาขบเขี้ยวเคี้ยวกราม | คำรามเขม้นเข่นฆ่า |
ชักตรีกวัดแกว่งเป็นโกลา | ทะยานมาไล่สี่อสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ สุรเสนศักดาวรารุทร | จับเพชราวุธยักษี |
สุรการผู้เรืองฤทธี | จับเพชรราวีขุนมาร |
นิลเอกนั้นจับรณศักดิ์ | โหมหักเอาด้วยกำลังหาญ |
นิลขันโลดโผนโจนทะยาน | เข้ารอนราญรณสิทธิ์อสุรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | สี่นายทหารยักษา |
รับกรรอนราญไปมา | โถมจับวานรทั้งสี่ตน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ แปดนายรบชิดไม่ถอยหนี | ยักษ์ตีลิงฟันกันสับสน |
ต่างหาญต่อกล้าอดทน | ต่างตนไม่งดลดกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ทหารพระนารายณ์รังสรรค์ |
ปัดกรรอนรบกุมภัณฑ์ | ขบฟันโลดโผนโจนตี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ สี่นายฉวยจับสี่ยักษ์ | หักเอาด้วยฤทธิ์กระบี่ศรี |
ฟาดลงกับพื้นปถพี | อสุรีก็สิ้นชีวา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด โอด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยี่สิบกรยักษา |
ยืนรถอยู่กลางโยธา | เห็นสี่เสนาบรรลัย |
สิบปากเคี้ยวกรามคำรามรน | สุธาดลกัมปนาทหวาดไหว |
จับศรพาดสายแล้วแผลงไป | ด้วยฤทธิไกรกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ สำเนียงเสียงดั่งพระเมรุทรุด | พระสมุทรบาดาลเลื่อนลั่น |
วานรตายยับทับกัน | ด้วยศักดาอันราวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอวตารผู้ชาญชัยศรี |
เห็นศรทศกัณฐ์อสุรี | ต้องพลกระบี่มรณา |
จึ่งจับพรหมาสตร์ขึ้นพาดสาย | พระเนตรหมายเขม้นเข่นฆ่า |
น้าวหน่วงด้วยกำลังฤทธา | ผ่านฟ้าก็ผาดแผลงไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ต้องรถที่ทศกัณฐ์ทรง | หักลงไม่ทานกำลังได้ |
ราชสีห์สองพันก็บรรลัย | ทั้งพวกพลไกรก็วายปราณ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพณาสูรใจหาญ |
ตกจากรถแก้วสุรกานต์ | พญามารกริ้วโกรธพิโรธนัก |
สิบเก้าหัตถ์กวัดแกว่งสาตรา | กรหนึ่งเงื้อง่าพระแสงจักร |
โลดโผนโจนด้วยกำลังยักษ์ | ฉวยหักงอนเวไชยันต์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์รังสรรค์ |
เห็นทศเศียรกุมภัณฑ์ | บุกบันเข้ามาราวี |
จึ่งหวดด้วยคันศรทรง | ต้ององค์พญายักษี |
หันเหเซไปด้วยฤทธี | พระจักรีโจมจับอสุรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เท้าซ้ายเหยียบเข่ายืนหยัด | พระหัตถ์น้าวเศียรยักษา |
กลับกลอกหันเวียนไปมา | ผ่านฟ้าตีต้องกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
หลบหลีกรับรองป้องกัน | ขบฟันเข้าไล่ราญรอน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ โจนขึ้นเหยียบเข่าด้วยฤทธิรุทร | มือยุดชิงฉวยคันศร |
กวัดแกว่งอาวุธสิบเก้ากร | ฟันฟอนป้องกันไปมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | องค์พระจักรกฤษณ์ฤทธิ์กล้า |
ถาโถมโจมถีบด้วยบาทา | ถูกอกอสุราซวนไป |
แล้วชักพระแสงพรหมาสตร์ | อันมีอำนาจแผ่นดินไหว |
พาดสายน้าวหน่วงว่องไว | ภูวไนยผาดแผลงด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ศรชัยไปไล่ราญรอน | ตัดกรทศพักตร์ยักษี |
ขาดกระเด็นออกจากอินทรีย์ | ทั้งยี่สิบหัตถ์ขุนมาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวสิบพักตร์ใจหาญ |
กรขาดเจ็บเพียงบรรลัยลาญ | พญามารค่อยดำรงกายา |
เดชะอำนาจที่ถอดจิต | เป็นฤทธิ์คุ้มกายยักษา |
กรนั้นกลับติดคืนมา | อสุราจับศรแผลงไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เป็นพญาภุชฌงศ์นาคราช | เกลื่อนกลาดแผ่นดินไม่นับได้ |
เลิกพังพานพ่นพิษเป็นเปลวไฟ | วานรบรรลัยลงด้วยฤทธิ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระหริรักษ์จักรกฤษณ์ |
เห็นนาคาเลื้อยไล่มาทุกทิศ | ด้วยอำนาจศรสิทธิ์ทศกัณฐ์ |
อันหมู่วานรโยธี | ต้องพิษนาคีอาสัญ |
จึ่งจับพรหมาสตร์ยืนยัน | พาดสายแล้วลั่นด้วยศักดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เป็นพญาครุฑาถาโถม | ผ่านโพยมไปกลางเวหา |
วางวู่จู่จับนาคา | กินเป็นภักษาด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ แพละ
๏ ครั้นแล้วพรหมาสตร์สิทธิศักดิ์ | ไปต้องทศพักตร์ยักษี |
ตัวขาดออกจากอินทรีย์ | สิบเศียรอสุรีก็ปลิวไป |
อันหมู่วานรที่ตายนั้น | ก็กลับคืนชีวันขึ้นมาได้ |
ลำพองคะนองฤทธิไกร | โห่สนั่นหวั่นไหวเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพณาสูรยักษา |
เศียรขาดออกจากกายา | อสุราไม่ม้วยชีวี |
เพราะเหตุด้วยกายไม่มีจิต | กลับติดกับตัวยักษี |
พิโรธโกรธกริ้วพันทวี | อสุรีขึ้นศรยืนยัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วรังสรรค์ |
ทอดพระเนตรเห็นท้าวทศกัณฐ์ | กุมภัณฑ์น้าวศรจะแผลงมา |
จึ่งชักพรหมาสตร์พระแสงทรง | พระภุชพงศ์พาดสายเงื้อง่า |
หมายล้างชีวิตอสุรา | ผ่านฟ้าก็ผาดแผลงไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ต้องสายธนูขุนมาร | ขาดลงไม่ทานกำลังได้ |
ถูกเจ้าลงกากรุงไกร | ทะลุปรุไปทั้งอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
เจ็บปวดเป็นพ้นพันทวี | อสุรีร่ายเวทวิทยา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ ครั้นถ้วนคำรบจบมนต์ | ลูบลงทั่วตนยักษา |
แผลนั้นก็หายดั่งจินดา | ด้วยอานุภาพอันเกรียงไกร |
จึ่งคิดว่าสายธนูทรง | คันนี้มั่นคงไม่หวาดไหว |
กูทำสงครามล้วนมีชัย | แต่ชันษาได้พันปี |
จนอายุษม์ถึงสามโกฏิปลาย | สิ่งใดไม่ระคายศรศรี |
เมื่อสายศิลป์มาขาดเสียดั่งนี้ | มิรู้ที่จะต่อฤทธา |
ทั้งกำลังพลังก็หิวโหย | อิดโรยบอบช้ำลงหนักหนา |
อันหมู่ทหารที่ยกมา | ก็ตายกลาดดาษดาเปลืองไป |
จำเป็นตัวกูจะเลิกทัพ | พรุ่งนี้จะกลับออกมาใหม่ |
คิดแล้วก็เลิกพลไกร | คืนเข้าพิชัยธานี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระสฤษดิรักษ์เรืองศรี |
เห็นทศกัณฐ์อสุรี | เลิกโยธีกลับเข้าพารา |
พอพระสุริยาอัสดง | เลี้ยวลงลับเหลี่ยมภูผา |
พระจึ่งให้กลับโยธา | คืนไปพลับพลาสถาวร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพณาสูรชาญสมร |
ครั้นถึงลงกาพระนคร | บทจรขึ้นปราสาทรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ช้า
๏ ลดองค์ลงเหนือที่ไสยาสน์ | กรก่ายนลาฏยักษี |
แสนทุกข์แสนเทวษแสนทวี | อสุรีทอดถอนวิญญาณ์ |
โอ้อนิจจาตัวกู | ดูอัปลักษณ์เป็นหนักหนา |
ตั้งแต่มณโฑต้องหัวมา | ศาสตราอาคมก็เสื่อมไป |
แต่สงครามมาด้วยไพรี | จะเป็นเหมือนครั้งนี้ก็หาไม่ |
อกเอ๋ยจะทำประการใด | จะได้ใครมาช่วยราญรอน |
เสียแรงเป็นวงศ์พรหเมศ | อันเรืองเดชห้าวหาญชาญสมร |
มาแพ้มนุษย์กับวานร | อายฝูงนิกรเทวา |
คิดคิดก็แสนสุดคิด | เจ็บจิตดั่งต้องฟ้าผ่า |
แต่กลิ้งกลับสับสนไปมา | จนนิทราเคลิ้มหลับในราตรี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ ตระ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์เรืองศรี |
ครั้นคํ่าย่ำแสงพระรวี | ก็เสด็จเข้าที่บรรทมใน |
เสนาะสำเนียงฆ้องกลอง | ประโคมยามกึกก้องเสียงใส |
วานรนั่งยามตามไฟ | สว่างไปรอบสุวรรณพลับพลา |
พระพายชายพัดมาอ่อนอ่อน | ภูธรเป็นบรมสุขา |
นํ้าค้างพรอยพรมลงมา | ผ่านฟ้าหลับไปในราตรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ กล่อม
ร่าย
๏ จนเพลาล่วงปัจฉิมยาม | แสงทองอร่ามจำรัสศรี |
แซ่เสียงไก่แก้วสกุณี | เร่าร้องอึงมี่โบยบิน |
เฟื่องฟุ้งสุคนธบุปผา | ลมชวยรวยมาตลบกลิ่น |
ดั่งสุคนธาทิพย์ในเมืองอินทร์ | พระทรงศิลป์สำราญพระทัยนัก ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ร่าย
๏ จึ่งเสด็จเข้าที่โสรจสรง | ทรงเครื่องคู่องค์พญาจักร |
งามสิริวิลาสวิไลลักษณ์ | พระหริรักษ์ออกสุวรรณพลับพลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ พร้อมหมู่เสนาพานรินทร์ | ขีดขินชมพูถ้วนหน้า |
จึ่งมีพระราชบัญชา | ถามพญาพิเภกกุมภัณฑ์ |
วานนี้ทศเศียรขุนมาร | ยกพวกพลทหารทัพขัน |
ออกมาหักโหมโรมรัน | ตัวมันนั้นต้องศรชัย |
อินทรีย์ทะลุปรุโปร่ง | ทั่วองค์ไม่นับแผลได้ |
เศียรขาดกรขาดกระเด็นไป | กลับติดเข้าไม่มรณา |
เรานี้ฉงนสนเท่ห์นัก | แต่สงครามฆ่ายักษ์เสียหนักหนา |
ไม่เห็นเหมือนองค์เจ้าลงกา | เหตุใดมาเป็นดั่งนี้ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษี |
ได้ฟังพระราชวาที | ชุลีกรสนองพระโองการ |
อันทศเศียรกุมภัณฑ์ | ไม่ม้วยชีวันสังขาร |
ด้วยพระโคบุตรทรงญาณ | อาจารย์ขององค์อสุรา |
ตั้งซึ่งพิธีกระลากิจ | ถอดจิตจากกายยักษา |
ออกมาใส่กล่องรัตนา | แล้วเอาศีลาประกับไว้ |
ดั่งแท่งท่อนแก้วแพรวพรรณ | จะเห็นร่องรอยนั้นก็หาไม่ |
องค์พระสิทธานั้นพาไป | รักษาไว้ในกุฎี |
ขอให้ทหารผู้มีฤทธิ์ | ไปลวงเอาดวงจิตยักษี |
มาได้จากองค์พระมุนี | จึ่งจะผลาญอสุรีวายปราณ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระจักรกฤษณ์ฤทธิลํ้าสุริย์ฉาน |
ได้ฟังพิเภกโหราจารย์ | ผ่านฟ้าจึงตรัสถามไป |
ท้าวพญาวานรทั้งซ้ายขวา | ผู้ใดจะอาสาเราได้ |
ไปยังโคบุตรวุฒิไกร | ลวงเอาดวงใจอสุรี |
แต่พระองค์ตรัสถามถึงสามหน | เสนาแลพลกระบี่ศรี |
ต่างตนนิ่งน้อมอัญชุลี | มิอาจที่จะรับพระบัญชา |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
เห็นทหารทั้งสองนครา | ก้มหน้าไม่ทูลประการใด |
แต่นิ่งให้ถามถึงสามครั้ง | หวังจะดูศักดาอัชฌาสัย |
ว่าทหารตนใดจะอาจใจ | ไปลวงพระมหามุนี |
ครั้นไม่มีผู้จะอาสา | ก็สมเจตนากระบี่ศรี |
น้อมเกล้ารับราชวาที | ชุลีกรสนองพระโองการ |
ข้าบาทวายุบุตรวุฒิไกร | ตั้งใจมาเป็นทหาร |
จะขออาสาบทมาลย์ | ลวงเอาวิญญาณกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์รังสรรค์ |
ฟังลูกพระพายเทวัญ | ทรงธรรม์แสนโสมนัสนัก |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | ท่านผู้ปรีชาญแหลมหลัก |
ซึ่งมีนํ้าใจจงรัก | จักรับอาสาเราไป |
จะเอาท้าวพญาวานร | นิกรโยธาเป็นไฉน |
จงจัดสรรกันตามชอบใจ | สุดแต่ให้ได้ราชการ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจหาญ |
ได้ฟังสมเด็จพระอวตาร | กราบกับบทมาลย์แล้วทูลไป |
จะขอแต่องคตผู้น้อง | จะได้ช่วยตรึกตรองแก้ไข |
ด้วยเคยร่วมจิตร่วมใจ | ภูวไนยจงโปรดปรานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วเรืองศรี |
ฟังวายุบุตรก็ยินดี | จึ่งมีพระราชบัญชา |
ซึ่งท่านจะเอาองคตไป | ก็ตามแต่ใจปรารถนา |
สิ่งใดผ่อนผันด้วยปัญญา | พี่น้องปรึกษาหารือกัน |
ตรัสแล้วพระราชทานพร | วานรจงไปเกษมสันต์ |
ให้ได้ดวงใจกุมภัณฑ์ | อย่ามีอันตรายราคี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานองคตกระบี่ศรี |
รับพรสมเด็จพระจักรี | ถวายอัญชุลีแล้วเหาะไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นมาเกือบใกล้พระอาศรม | ลูกลมผู้มีอัชฌาสัย |
จึ่งว่าแก่องคตอันร่วมใจ | ซึ่งพระภูวไนยใช้มา |
ให้เอาดวงใจขุนมาร | การนี้เห็นยากหนักหนา |
จำจะคิดลวงพระสิทธา | ให้พาไปถวายทศกัณฐ์ |
จะทำเป็นข้าใช้ให้สนิท | จึ่งจะได้ดวงจิตไอ้โมหันธ์ |
เกลือกว่าพระองค์ทรงสุบรรณ | ไม่ทันรู้จะแคลงใต้ธุลี |
พี่จะกลับไปเฝ้าพระภูวไนย | ทูลความลับไว้ให้ถ้วนถี่ |
เจ้าจงอยู่ท่าในที่นี้ | สั่งแล้วขุนกระบี่ก็กลับมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งถวายอภิวาทน์ | ยกพระบาทขึ้นทูลเกศา |
ทำชำเลืองดูหมู่เสนา | แล้วอ้าโอษฐ์ไม่ว่าประการใด ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้มีอัชฌาสัย |
เห็นอาการหนุมานปรีชาไว | ก็แจ้งพระทัยในที |
จึ่งเงี่ยพระกรรณลงสดับ | ความลับของขุนกระบี่ศรี |
มิให้ท้าวพญาเสนี | แจ้งที่ความคิดวานร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
ค่อยกระซิบทูลองค์พระสี่กร | ภูธรจงทรงพระเมตตา |
อันการครั้งนี้เห็นยากนัก | จักได้ดวงใจยักษา |
จะอุบายถ่ายเทด้วยมารยา | แม้นใครมาว่าประการใด |
จงไว้แต่ในพระทัยก่อน | ภูธรอย่าคิดสงสัย |
กว่าข้าจะกลับมาเฝ้าพระทรงชัย | กำหนดไว้ในเจ็ดราตรี |
ทูลแล้วประณตบทบงสุ์ | ลาองค์พระนารายณ์เรืองศรี |
เหาะขึ้นอากาศด้วยฤทธี | ขุนกระบี่ก็รีบระเห็จมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ ถึงที่องคตน้องชาย | ลูกพระพายลงจากเวหา |
แล้วมีสุนทรวาจา | ซึ่งเราจะพากันเหาะไป |
ให้ถึงอาศรมพระอาจารย์ | พี่นี้เห็นการหาควรไม่ |
จะว่าเราดูหมิ่นแก่ท่านไท | เธอรังเกียจใจจะเสียที |
ว่าแล้วหนุมานผู้เรืองยศ | ก็พาองคตกระบี่ศรี |
เดินดัดลัดป่าพนาลี | ไปที่อาศรมศาลา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรมัสการ | องค์พระอาจารย์ฌานกล้า |
เข้ากอดเอาบาทพระสิทธา | วานรแสร้งทำโศกี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | พระโคบุตรมหาฤๅษี |
สงสัยเป็นพ้นพันทวี | ด้วยสองกระบี่มาร่ำไร |
จึ่งถามว่าเหวยวานร | ถิ่นฐานนามกรเป็นไฉน |
มีความทุกข์ร้อนสิ่งใด | เหตุไรจึ่งมาโศกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
แสร้งทำเป็นเช็ดนํ้าตา | แล้วตอบพระมหามุนี |
ข้าชื่อหนุมานชาญเดช | ลูกพระพายเทเวศเรืองศรี |
เป็นหลานพญาพาลี | อยู่บุรีขีดขินโอฬาร |
น้าข้าทั้งสองผิดกัน | พระรามอาธรรม์มาสังหาร |
พาลีสิ้นชีพวายปราณ | ให้สุครีพขึ้นผ่านธานี |
ตัวข้าจึ่งพาองคต | โอรสพาลีลอบหนี |
กับรี้พลด้นอยู่พนาลี | พญาศรีสุครีพไปจับมา |
ถวายแก่องค์พระราม | ให้ทำสงครามด้วยยักษา |
ไหนหนักหักได้ดั่งบัญชา | แต่ผู้เดียวมาทุกครั้งไป |
เคี่ยวฆ่าอสุราเสียนับพัน | จะรางวัลบำเหน็จก็หาไม่ |
มีแต่จะฆ่าฟันให้บรรลัย | น้อยใจเป็นพ้นพันทวี |
ได้ยินข่าวว่าท้าวทศกัณฐ์ | เธอนั้นเป็นโยมพระฤๅษี |
มีความเมตตาปรานี | แก่หมู่มนตรีโยธา |
ข้านี้ให้มีใจรัก | ภักดีต่อท้าวยักษา |
พี่น้องจึ่งพากันหนีมา | หวังจะเป็นข้าพญามาร |
ขอพระองค์จงได้โปรดเกล้า | พาเข้าถวายเป็นทหาร |
จะอาสาไปทำราชการ | ผลาญมนุษย์ให้ม้วยชีวี ฯ |
ฯ ๑๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระโคบุตรมหาฤๅษี |
ได้ฟังวานรพาที | จึ่งมีวาจาไปทันใด |
ซึ่งเอ็งว่าผิดกับพระราม | กูจะเชื่อฟังความก็ไม่ได้ |
อันจะให้พาเข้าไป | ถวายแก่ท้าวไทอสุรี |
เกลือกว่าผิดพลั้งไปข้างหน้า | พญายักษ์จะโทษกูฤๅษี |
พี่น้องทั้งสองสิภักดี | หนีมาจะพึ่งเจ้าลงกา |
จงเข้าไปถวายตัวเอง | อย่าเกรงว่าจะมีโทษา |
กูจะได้สวดมนต์ภาวนา | ให้เป็นผาสุกสำราญ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจหาญ |
ได้ฟังวาจาพระอาจารย์ | ว่าขานมิได้อาลัย |
แสร้งทำมารยาพิรากล | กอดบาทยุคลแล้วร้องไห้ |
ดั่งจะสิ้นชีวิตจิตใจ | ร่ำไรวิงวอนพระสิทธา |
อันจะเข้าไปถวายตัว | วานรคิดกลัวท้าวยักษา |
ด้วยครั้งพระรามใช้มา | สืบข่าวสีดาเทวี |
ได้หักซึ่งสวนอุทยาน | ฆ่าสหัสกุมารยักษี |
แล้วเผาลงกาธานี | ความผิดนี้ใหญ่หลวงนัก |
แต่เหลือบเห็นก็จะทรงพระโกรธ | ทำโทษด้วยอาญาจักร |
ไหนจะทันทูลพญายักษ์ | พระนักสิทธ์จงได้ปรานี |
นิมนต์ไปปกเกศด้วย | ช่วยขอซึ่งโทษกระบี่ศรี |
อย่าให้ข้าม้วยชีวี | ว่าพลางโศกีกับบาทา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ โอด