- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดเสน่หา |
ชลนัยน์ไหลอาบพักตรา | อุราเร่งร้อนดั่งอัคคี |
จึ่งกราบประณตบทบงสุ์ | ลาองค์พระมหาฤๅษี |
ออกจากอารัญกุฎี | ขุนกระบี่ก็ตามเสด็จไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
น้อมเกล้ากราบทูลอรไท | ซึ่งจะเสด็จไปด้วยบาทา |
ทางไกลยากที่จะดำเนิน | เชิญเสด็จเหนือฝ่ามือข้า |
จะเหาะด้วยกำลังฤทธา | พริบตาก็จะถึงบุรี |
ว่าแล้วยอกรขึ้นเหนือเกศ | ไหว้คุณบิตุเรศเรืองศรี |
ตั้งจิตสำรวมอินทรีย์ | ขุนกระบี่ร่ายเวทชัยชาญ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ ตระ
๏ เดชะพระมนต์อันเพริศพราย | รูปกายสูงใหญ่ไพศาล |
ยืนเยี่ยมเทียมเขาหิมพานต์ | สองมือปานแผ่นพระสุธา |
ครั้นแล้วช้อนองค์นงลักษณ์ | ดั่งท้าวทศพักตร์ยักษา |
เชิญองค์สมเด็จพระอุมา | พาเหาะไปถวายพระศุลี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงอยุธยาพระนคร | วานรเชิญองค์พระลักษมี |
ลงยังพ่างพื้นปถพี | แทบที่พระเมรุพรายพรรณ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางสีดาสาวสวรรค์ |
แสนโศกโศกาจาบัลย์ | จรจรัลเข้าพระเมรุรจนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพระญาติวงศ์ซ้ายขวา |
ทั้งฝูงสาวสวรรค์กัลยา | จ่าชานักเทศขันที |
อีกทั้งนางท้าวเถ้าแก่ | แลเห็นองค์พระมเหสี |
มาถึงพระเมรุรูจี | เทวีเดินโศกาลัย |
พิศดูรูปทรงนงลักษณ์ | ซูบผอมผิวพักตร์หม่นไหม้ |
สงสารรํ่ารักนางอรไท | อื้ออึงคะนึงไปเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดาเสน่หา |
เห็นสุริย์วงศ์สาวสวรรค์โศกา | คิดว่ารํ่ารักพระนารายณ์ |
นางยิ่งแสนเทวษแสนโศก | แสนวิโยคอาลัยใจหาย |
ดั่งเศียรขาดออกจากกาย | โฉมฉายก็รีบเข้าไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงกราบลงตรงโกศแก้ว | แล้วทรงกันแสงรํ่าไห้ |
อนิจจาพระตรีภูวไนย | เคยได้ปกเกล้าเมียมา |
สิ่งใดมิให้ระคายเคือง | จนจากเมืองออกไปอยู่ป่า |
แสนลำบากยากไร้เวทนา | แด่ภูษาจะรองนอนก็ไม่มี |
เสวยผลพฤกษาเป็นอาหาร | ทรมานโดยเพศฤๅษี |
จนไอ้ทศกัณฐ์อสุรี | มันลักเมียนี้พาไป |
ก็ติดตามข้ามสมุทรมาโรมรัน | กุมภัณฑ์ตายยับไม่นับได้ |
พาข้าคืนมายังเวียงชัย | เสวยสุขอยู่ในสวรรยา |
เพราะอี่เจ้ากรรมมาตามเบียน | ให้เขียนรูปทศพักตร์ยักษา |
จึ่งพลัดพรากจากเบื้องบาทา | พระตามไปวอนว่าโดยดี |
เป็นเหตุทั้งนี้เพราะตัวน้อง | มิได้คืนมาครองบทศรี |
พระจึ่งโศกศัลย์พันทวี | จนถึงที่สวรรคาลัย |
โอ้ว่าเกิดมาไม่มีสุข | ได้แต่ทุกข์ทนหม่นไหม้ |
ถึงอยู่ก็ยิ่งจะทุกข์ใจ | จะตายตามภูวไนยไปเมืองฟ้า |
รํ่าพลางกลิ้งเกลือกเสือกลง | ท่ามกลางสุริย์วงศ์ซ้ายขวา |
ข้อนทรวงเข้าทรงโศกา | ปิ้มว่าจะสิ้นสมประดี ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
แฝงม่านสุวรรณรูจี | เห็นพระมเหสีมารํ่าไร |
รำพันความยากมาแต่หลัง | ด้วยกำลังสุจริตพิสมัย |
ซบพักตร์ลงแน่นิ่งไป | ตกใจก็รีบออกมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ลดองค์ลงใกล้อัคเรศ | ชลนัยน์นองเนตรซ้ายขวา |
ยอกรช้อนเกศกัลยา | มาวางเหนือตักทันที |
พินิจพิศเพ่งเล็งพักตร์ | องค์อัครราชมเหสี |
สำคัญว่าสิ้นชีวี | ภูมีสลดระทดใจ |
แสนรักแสนเสียดายเป็นสุดคิด | พระทรงฤทธิ์แสนโศกกันแสงไห้ |
ด้วยความเสน่หาอาลัย | มิได้ระวังเยาวมาลย์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาผู้ยอดสงสาร |
ฟื้นองค์เหลียวเห็นพระอวตาร | นงคราญคิดแค้นแสนทวี |
จึ่งสะบัดปัดกรพระจักรา | กัลยาก็ลุกแล่นหนี |
ไฉนพระมาทำดั่งนี้ | เห็นดีแล้วหรือภูวไนย |
ไม่คิดอับอายแก่ไพร่พล | เสนาสามนต์น้อยใหญ่ |
นักสิทธ์วิทยาสุราลัย | ทั้งแดนไตรจะล่วงนินทา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระหริรักษ์นาถา |
ให้ร่านร้อนฤทัยดั่งไฟฟ้า | ก็รีบมาติดตามนางเทวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ แล้วมีวาจาอันสุนทร | ดูก่อนเยาวยอดสุดาพี่ |
อันธรรมดาโลกประเวณี | ย่อมมีอยู่สิ้นทั้งแดนไตร |
เจ้าก็ร่วมอวตารด้วยพี่มา | ใครจะอาจนินทาว่าได้ |
เหตุนี้เพราะน้องตัดไป | จนใจพี่แล้วนงคราญ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ว่าพลางพระเสด็จรีบรัด | สะพัดไล่เยาวยอดสงสาร |
เวียนรอบพระเมรุอลงการ | งามดั่งมัฆวานสุชาดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดเสน่หา |
หนีพลางเห็นห่างพระจักรา | กัลยาจึ่งตอบคำไป |
เออไฉนฉะนี้พระสี่กร | ช่างคิดผันผ่อนแก้ไข |
วันเมื่อให้ล้างชีวาลัย | แต่จะทูลความไปก็ไม่ทัน |
เดชะด้วยสัจสุจริต | ชีวิตจึ่งไม่อาสัญ |
ข้ากับพระองค์ทรงสุบรรณ | ก็ขาดกันแต่วันนั้นมา |
ว่าพลางเยื้องกรายชายหนี | งามดั่งมณีเมขลา |
เลี้ยวล่อรามสูรอสุรา | หลบหลีกไปมาในอัมพร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
ได้ฟังองค์อัครบังอร | ภูธรรำพึงคะนึงคิด |
อันจะปลอบโยนกัลยา | ก็ไม่ฟังวาจาประกาศิต |
ตัดไปดั่งใจปัจจามิตร | สุดฤทธิ์จะว่าโดยดี |
ตริแล้วเรียกสามวรนุช | กับวายุบุตรกระบี่ศรี |
จงช่วยสกัดไว้บัดนี้ | อย่าให้เทวีหนีไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ศัพท์ไทย
๏ ว่าเอยว่าแล้ว | พระจักรแก้วเลี้ยวลัดสะพัดไล่ |
โอ้เจ้าดวงใจ | หนีไยกัลยา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
รื้อ
๏ เจ้าเอยเจ้าพี่ | มารศรีผู้ยอดเสน่หา |
หยุดก่อนแก้วตา | อย่าเพ่อจรจรัล |
แม้นไม่ปรานี | พี่จักอาสัญ |
ว่าพลางเวียนวัน | คว้าไขว่เยาวมาลย์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
รื้อ
๏ พระเอยพระทรงฤทธิ์ | ถึงชีวิตจะม้วยสังขาร |
ไม่ฟังโองการ | ผ่านฟ้าสืบไป |
ความอายพ้นรู้ | หยุดอยู่ไม่ได้ |
ว่าพลางชายไป | ให้ไกลภูมี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
รื้อ
๏ ดวงเอยดวงสมร | ฟังคำพี่ก่อนนางโฉมศรี |
ความรักเทวี | ดั่งดวงชีวัน |
ว่าพลางภูวไนย | ไล่นางสาวสวรรค์ |
กระชิดติดพัน | เวียนวันไปมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายสามพระองค์กนิษฐา |
กับพญาอนุชิตผู้ศักดา | เห็นกัลยาหนีพระจักรี |
ต่างช่วยสกัดกั้นกาง | โฉมนางสีดามารศรี |
บ้างเข้าขวางหน้าเทวี | มิให้ไปพ้นพระทรงธรรม์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางสีดาสาวสวรรค์ |
เห็นสามพระอนุชาวิลาวัณย์ | กับหนุมานอันศักดา |
ช่วยกันกั้นกางขวางไว้ | อรไทขัดแค้นเป็นหนักหนา |
มิรู้ที่จะหนีพระผ่านฟ้า | อุราเร่าร้อนดั่งเพลิงกาล |
จึ่งยอพระกรขึ้นเหนือเกศ | เยาวเรศออกโอษฐ์อธิษฐาน |
เดชะสัจมั่นในสันดาน | ขอพระสุธาธารอันเที่ยงธรรม์ |
ให้ช่องข้าไปยังเมืองนาค | พ้นจากพระนารายณ์รังสรรค์ |
พอสิ้นคำกัลยาวิลาวัณย์ | แผ่นดินนั้นให้ช่องทันที ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
เลี้ยวลัดสกัดเทวี | ในที่พระเมรุอำไพ |
ครั้นใกล้นงลักษณ์อัคเรศ | พระทรงเดชฉวยปลายพระหัตถ์ได้ |
นางสะบัดด้วยกำลังว่องไว | แล้วชำแรกลงไปพระสุธา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ พระยิ่งสลดระทดจิต | ดั่งเพลิงพิษเผาผิวยังสา |
ไม่เป็นสติวิญญาณ์ | ผ่านฟ้าตะลึงทั้งอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางสีดามารศรี |
ครั้นถึงพิภพนาคี | ก็เข้าไปในที่พระนคร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าววิรุณนาคาชาญสมร |
ออกหมู่มาตยาพลากร | อยู่ที่บัญชรรจนา |
เห็นนางมนุษย์ทรามวัย | ทรงโฉมวิไลดั่งเลขา |
สงสัยก็เสด็จลงมา | ด้วยฝูงกัลยานาคี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งกล่าวสุนทร | ดูก่อนเยาวลักษณ์เฉลิมศรี |
ตัวเจ้าเลิศลํ้านารี | มีนามกรชื่อใด |
เป็นหน่อกษัตริย์สุริย์วงศ์ | ดำรงนคเรศกรุงไหน |
มีกิจประสงค์สิ่งใด | จึ่งมาในบาดาลพระนคร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์อัครชายาดวงสมร |
ได้ฟังจึ่งบอกด้วยสุนทร | นามกรเราชื่อว่าสีดา |
คือองค์สมเด็จพระลักษมี | มเหสีพระนารายณ์นาถา |
อวตารมาผลาญอสุรา | ทรงนามพระรามาเรืองชัย |
แล้วเล่าความแต่ต้นจนปลาย | บรรยายจะเว้นก็หาไม่ |
เรานี้ขัดสนจนใจ | จึ่งลงมาอาศัยในบาดาล ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าววิรุณผู้ปรีชาหาญ |
แจ้งว่ามเหสีพระอวตาร | อันเป็นประธานธาตรี |
ตระหนกตกใจเกรงพระเดช | น้อมเกศกราบเบื้องบทศรี |
แล้วทูลว่าความสัตย์พระแม่นี้ | ยิ่งกว่าสตรีทั้งแดนไตร |
ควรเป็นมารดาสุราฤทธิ์ | เลี้ยงโลกทั่วทิศน้อยใหญ่ |
ข้าขอสนองบาทอรไท | ให้อยู่เป็นสุขสำราญ |
ทูลแล้วเชิญองค์อัครราช | ไปยังปราสาทมุกดาหาร |
พญาวิรุณกับบริวาร | ก็ตามองค์นงคราญเสด็จจร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งมีบัญชา | สั่งนางรัตนาดวงสมร |
จงจัดห้องแก้วบวร | ทั้งฝูงนิกรกำนัล |
พร้อมด้วยไอศูรย์ศฤงคาร | โอฬารล้วนทิพย์รังสรรค์ |
ถวายองค์อัคเรศวิไลวรรณ | โดยมหันตยศเทวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางรัตนามารศรี |
รับสั่งพญาวาสุกรี | ถวายอัญชุลีแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ เจรจา
๏ จัดเสร็จก็นำไปถวาย | มเหสีพระนารายณ์นาถา |
โดยดั่งพระราชบัญชา | องค์พญาวิรุณชัยชาญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดสงสาร |
อยู่ยังพิภพบาดาล | ในปราสาทสุรกานต์รูจี |
เป็นสุขสำราญวิญญาณ์ | ด้วยฝูงนาคาสาวศรี |
บำเรอโบกปัดพัดวี | ไม่มีราคีเท่ายองใย |
สรงเสวยโภชนาสารพัน | ดั่งเครื่องทิพย์เทวัญก็ว่าได้ |
คะนึงสองโอรสร่วมใจ | ฤทัยเร่าร้อนอาวรณ์นัก ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพระหริวงศ์ทรงจักร |
ครั้นนางสีดายุพาพักตร์ | นงลักษณ์หนีไปยังบาดาล |
ให้เร่าร้อนพระทัยดั่งไฟพิษ | สั่งพญาอนุชิตยอดทหาร |
เร่งลงไปตามนงคราญ | ให้แจ้งการว่าอยู่แห่งใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาอนุชิตทหารใหญ่ |
รับสั่งพระตรีภูวไนย | แล้วแทรกแผ่นดินไปด้วยฤทธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงพิภพบาดาล | อันโอฬารดังดาวดึงสา |
จึ่งร่ายพระเวทอันศักดา | กำบังกายาวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ บัดเดี๋ยวกายเงานั้นสูญหาย | จึ่งลูกพระพายชาญสมร |
ก็เข้าไปในพระนคร | บทจรเที่ยวหาอรไท ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ค้นทั่วทั้งเมืองนาคา | จะพบองค์กัลยาก็หาไม่ |
ให้คิดฉงนสนเท่ห์ใจ | ก็ตรงเข้าไปนิเวศน์วัง |
ขึ้นบนปราสาทแก้วรูจี | ก็เห็นมเหสีพระทรงสังข์ |
เสด็จอยู่เหนือทิพย์บัลลังก์ | พร้อมพรั่งด้วยอนงค์นาคา |
ให้คิดกลัวองค์นงลักษณ์ | เพียงจักสิ้นชีพสังขาร์ |
แข็งใจคลายเวทกำบังตา | บังคมก้มหน้าอยู่แต่ไกล ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดพิสมัย |
เสด็จอยู่กลางหมู่อนงค์ใน | อรไทเหลือบเห็นหนุมาน |
ให้ขัดแค้นแน่นทรวงดวงจิต | ดั่งเพลิงพิษร้อนเร่าเผาผลาญ |
จึ่งมีวาจาด่าประจาน | เหวยไอ้เดียรัจฉานใจฉกรรจ์ |
มึงแกล้งแต่งกลไปโศกา | ว่าพระจักราอาสัญ |
มิรู้เจ้าข้ากับน้องนั้น | ร่วมคิดด้วยกันไม่อายคน |
เห็นกูผู้เดียวเป็นหญิง | ต่างวิ่งไล่จับสับสน |
หากว่าแผ่นพื้นสุธาดล | ให้ช่องจึ่งพ้นมือมา |
มึงนี้ไม่มีความสัตย์ | สารพัดโกหกมุสา |
กูไม่ทันพิจารณา | พาซื่อสำคัญว่าจริง |
อันความคิดของมึงพอหยั่งรู้ | จะซ้ำลวงกูอีกสักสิ่ง |
ก้มหน้าอยู่ไยไอ้ลิง | อย่านิ่งจงเร่งว่าไป |
อันตัวของเอ็งลงมา | เคืองตากูดูมิใคร่ได้ |
เหวยไอ้แสนร้ายจังไร | ไสคอมึงไปเสียบัดนี้ ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาอนุชิตกระบี่ศรี |
ได้ฟังน้อมเศียรอัญชุลี | ทูลสนองเสาวนีย์ด้วยสุนทร |
ตัวข้าซึ่งรองบทมาลย์ | แต่พระอวตารทรงศร |
กริ้วโกรธพิโรธบังอร | ก็ร้อนใจดั่งอยู่ในเพลิงกัลป์ |
บรรดากรุงกษัตริย์แจ้งเหตุ | แสนทุกข์แสนเทวษโศกศัลย์ |
พอได้นัยสมเด็จพระทรงธรรม์ | พร้อมกันมีความปรีดา |
จึ่งคิดทำการสนองคุณ | ที่การุญโปรดเกล้าเกศา |
หวังจะให้ตรีโลกโลกา | เป็นบรมผาสุกสืบไป |
ซึ่งได้เคืองบาทยุคล | จะทำด้วยทรชนนั้นหาไม่ |
พระแม่เจ้าจงให้อภัย | แก่ข้าผู้ใจภักดี |
บัดนี้สมเด็จพระภุชพงศ์ | อาวรณ์ถึงองค์นางโฉมศรี |
อาดูรพูนเทวษพันทวี | จึ่งใช้ข้านี้ลงมา |
ฟังข่าวราวเรื่องเบื้องบาท | องค์อัครราชเสน่หา |
อยู่ดีแล้วจะบังคมลา | ไปแจ้งกิจจาภูวไนย |
ทูลแล้วนบนิ้วประนมกร | วานรน้อมเศียรบังคมไหว้ |
ออกจากปราสาทนางอรไท | ไปยังพญานาคี ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งนั่งร่วมอาสน์ | ท้าววิรุณนาคราชเรืองศรี |
แล้วกล่าวสุนทรวาที | ดูก่อนภูมีเจ้าบาดาล |
อันองค์สีดายุพาพักตร์ | คือพระลักษมียอดสงสาร |
มเหสีสมเด็จพระอวตาร | ผู้เป็นประธานในแดนไตร |
บัดนี้ลงมาพึ่งอยู่ | สำนักท่านผู้เป็นใหญ่ |
จงช่วยบำรุงรักษาไว้ | อย่าให้อันตรายราคี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าววิรุณนาคาเรืองศรี |
ฟังลูกพระพายผู้ฤทธี | ยินดีก็ตอบพจมาน |
ดูก่อนคำแหงวายุบุตร | ท่านผู้วัยวุฒิกล้าหาญ |
จงกลับไปทูลพระอวตาร | แจ้งการว่าเราบังคมมา |
ยังใต้เบื้องบาทบงกช | พระทรงยศหลักโลกนาถา |
อันองค์อัครราชชายา | เสด็จมาพิภพนาคี |
เราคำรพนบนอบบังอร | ดั่งมารดาเกิดเกล้าเกศี |
ปรนนิบัติจงรักด้วยภักดี | มิให้เคืองธุลีเท่ายองใย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
ฟังพญานาคีสั่งไป | มีใจชื่นชมโสมนัส |
จึ่งว่าท่านผู้ฤทธิรอน | จงอยู่ถาวรจำเริญสวัสดิ์ |
เราจะลาไปทูลบทรัตน์ | องค์พระจักรรัตน์ผู้ศักดา |
ว่าแล้วลงจากปราสาท | รัตนาทิพมาศเลขา |
ชำแรกแทรกพื้นพสุธา | ขึ้นมานคเรศด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งคลานเข้าไปเฝ้า | น้อมเกล้าประณตบทศรี |
กราบทูลสมเด็จพระจักรี | ว่าองค์เทวีวิไลวรรณ |
ลงไปพิภพบาดาล | อันโอฬารดั่งดาวดึงส์สวรรค์ |
ฝ่ายท้าววิรุณนาคนั้น | อภิวันท์เบื้องบาทกัลยา |
ให้อยู่ปราสาททิพรัตน์ | กับอนงค์ทรงสวัสดิ์ซ้ายขวา |
กราบทูลความพญานาคา | โดยดั่งสั่งมาทุกประการ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
ได้ฟังคำแหงหนุมาน | ผ่านฟ้าเศร้าสร้อยพระทัยนัก |
มิรู้ที่จะทำประการใด | แสนโศกอาลัยเพียงอกหัก |
ให้อาวรณ์ร้อนรุ่มด้วยความรัก | ปิ้มจักสิ้นสมประฤดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ พอพระสุริยาอัสดง | ลดลงลับเหลี่ยมคีรีศรี |
จึ่งเสด็จย่างเยื้องจรลี | เข้าห้องมณีพรายพรรณ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เอนองค์ลงเหนือบรรจถรณ์ | ยอกรก่ายพักตร์โศกศัลย์ |
ชลเนตรคลอเนตรพระทรงธรรม์ | รำพันถึงองค์กัลยา |
โอ้ว่าสีดาของพี่เอ๋ย | ทรามเชยผู้ยอดเสน่หา |
ไม่คิดถึงความยากด้วยกันมา | ควรหรือแก้วตามาตัดไป |
ปางก่อนถึงมาตรจากเจ้า | ก็หาแสนทุกข์เท่าครั้งนี้ไม่ |
อกเอ๋ยจะทำประการใด | จึ่งจะได้องค์อัครเทวี |
คืนมาร่วมอาสน์ร่วมห้อง | ร่วมภิรมย์สมสองกับพี่ |
จะมีแต่โหยหาทุกนาที | แสนทวีด้วยเทวษไม่เว้นวาย |
ตั้งแต่นี้ไปจะแลลับ | ดั่งเดือนดับสิ้นแสงจำรัสฉาย |
ถึงอยู่ไปก็ไม่มีสบาย | แม้นตายเสียดีกว่าอยู่เป็นคน |
จะปราบยุคให้สุขแก่โลกา | หรือมาได้เวทนาทุกขุมขน |
จากเมียดั่งหนึ่งเสียชนม์ | พระภุชพลรํ่าพลางก็โศกี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ แต่ผุดลุกผุดนั่งไม่นอนหลับ | กลิ้งกลับสับสนบนแท่นที่ |
จนแสงทองส่องฟ้าธาตรี | ภูมีถวิลจินดา |
ตัวกูครั้งนี้เป็นไฉน | วิปริตผิดใจหนักหนา |
จำจะหาพิเภกอสุรา | มาชำระชันษาพยากรณ์ |
คิดแล้วลงจากบัลลังก์รัตน์ | พระหัตถ์นั้นจับพระแสงศร |
เสด็จย่างเยื้องบทจร | กรายกรออกมาหน้าพระลาน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ผูกสารกับศรแล้วบัญชา | ให้ไปลงการาชฐาน |
น้าวหน่วงด้วยกำลังชัยชาญ | ผ่านฟ้าก็ผาดแผลงไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ สำเนียงดั่งเสียงสุนีบาต | โลกธาตุเลื่อนลั่นหวั่นไหว |
ตรงไปลงกากรุงไกร | ตกในมณฑปรัตนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศคิริวงศ์ยักษา |
เสด็จออกหมู่มุขมาตยา | เห็นศรศักดาพระทรงฤทธิ์ |
ลอยมาถึงที่มณฑป | ก็นอบนบด้วยใจสุจริต |
แล้วเหลือบแลเล็งเพ่งพิศ | เห็นสารผูกติดศรชัย |
จึ่งคิดถวิลจินดา | ชะรอยว่ามีเหตุเป็นไฉน |
แก้ลูกธนูทูลเศียรไว้ | แล้วคลี่อ่านไปทันที ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ในลักษณะราชโองการ | องค์พระอวตารเรืองศรี |
ให้ขุ่นเคืองพระทัยพันทวี | ดั่งคีรีทุ่มทับอุรา |
จึ่งทรงพระราชสารสวัสดิ์ | ตรัสใช้ศรสิทธิ์มาหา |
ท้าวทศคิริวงศ์ผู้ปรีชา | ไปยังอยุธยาพระนคร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นอ่านเสร็จสิ้นราชสาร | พญามารชื่นชมสโมสร |
จึ่งสั่งนัดดาด้วยสุนทร | ดูก่อนเจ้าผู้ร่วมใจ |
จงอยู่รักษาธานี | อย่าให้มีเหตุการณ์ขึ้นได้ |
ตาจะไปเฝ้าพระภูวไนย | ยังพิชัยกรุงศรีอยุธยา |
สั่งแล้วสระสรงทรงเครื่อง | อร่ามเรืองดั่งเทพเลขา |
พาพวกพหลโยธา | เหาะทะยานผ่านฟ้าไปด้วยฤทธิ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงอยุธยาพระนคร | อันถาวรโอฬารดั่งดุสิต |
ขึ้นยังพระโรงชวลิต | เฝ้าพระจักรกฤษณ์ธิบดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ น้อมเศียรยอกรอภิวาทน์ | แทบบาทพระนารายณ์เรืองศรี |
แล้วบังคมคัลอัญชุลี | ทั้งสามภูมีอนุชา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกนาถา |
เสด็จในท่ามกลางเสนา | ผ่านฟ้าเหลือบแลแปรไป |
เห็นพญาพิเภกอสุรี | ผู้มีปัญญาอัชฌาสัย |
แสนโสมนัสฤทัย | ภูวไนยมีราชโองการ |
ดูก่อนท้าวทศคิริวงศ์ | พงศ์พรหมธิราชมหาศาล |
เราไม่สบายวิญญาณ | จึ่งให้หาท่านมาบัดนี้ |
อันกรุงพระนครลงกา | สุริย์วงศ์พงศายักษี |
ทั้งหมู่ไพร่ฟ้าประชาชี | อยู่ดีอยู่หรือประการใด ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังโองการภูวไนย | บังคมไหว้สนองพระบัญชา |
อันพระวงศ์พงศาประชากร | ก็ถาวรบรมสุขา |
เพราะพระเดชปกเกศอสุรา | ดั่งมหาฉัตรแก้วรูจี |
ทูลพลางทอดทัศนาการ | เห็นพระกุมารสองศรี |
ทรงลักษณ์วิไลทั้งอินทรีย์ | รัศมีดวงพักตร์ละกลกัน |
ดั่งโอรสองค์อมรินทรา | หยาดฟ้าลงมาจากสวรรค์ |
เพ่งพิศให้คิดอัศจรรย์ | บังคมคัลแล้วทูลถามไป |
อันพระกุมารทั้งสององค์ | หน่อในสุริย์วงศ์หรือไฉน |
งามดั่งเทวาสุราลัย | ข้าบาทสงสัยพันทวี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์เรืองศรี |
ตรัสบอกพญาอสุรี | สองกุมารนี้บุตรนางสีดา |
ผู้พี่ชื่อว่าพระมงกุฎ | ศรสิทธิ์ฤทธิรุทรแกล้วกล้า |
นี่ชื่อเจ้าลบอนุชา | มีอานุภาพเหมือนกัน |
อันองค์สีดานงลักษณ์ | เขียนรูปทศพักตร์โมหันธ์ |
ตัวเราโกรธาให้ฆ่าฟัน | กัลยามิได้บรรลัย |
พระแจ้งแต่ต้นจนปลาย | บรรยายจะเว้นก็หาไม่ |
ทุกวันเร่าร้อนอาวรณ์ใจ | ดั่งนอนอยู่ในอัคคี |
ท่านจงชำระชันษา | ดูตามชาตาราศี |
พิเคราะห์ขับไล่ในคัมภีร์ | ให้รู้ร้ายดีเหตุการณ์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกผู้ปรีชาหาญ |
รับสั่งสมเด็จพระอวตาร | แล้วจับกระดานมาทันใด |
ตั้งซึ่งชันษาพระหริวงศ์ | ควรเคราะห์จรลงสอบใส่ |
เอาเก้าหารชนมานแล้วนับไป | เศษตกในภูมิพยากรณ์ |
เห็นแจ้งแล้วกราบบังคมทูล | นเรนทร์สูรสุริย์วงศ์ทรงศร |
อันพระชันษาภูธร | ราหูนั้นจรมาทับลัคน์ |
ฆาฏอินทพาทบาทจันทร์ | ทั้งอัฐเคราะห์นั้นก็ฆาฏหนัก |
แม้นอยู่ในเมืองจะร้ายนัก | เพียงจักปลงชีพชีวา |
ถึงเกณฑ์จำเป็นจะพลัดพราก | จากพระนครไปเดินป่า |
ปราบหมู่อสุรพาลา | สิบสองเดือนชันษาจะสิ้นร้าย |
ซึ่งเกิดเหตุให้เคืองเบื้องบาท | เพราะปีศาจมาลวงนางโฉมฉาย |
ชื่ออี่อาดุลสุรกาย | เป็นเชื้อสายทศกัณฐ์อสุรี |
อันองค์พระอัครชายา | จะกลับมารองบาทบทศรี |
เพราะท่านผู้เป็นธิบดี | ภูมีจะสุขสถาวร ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
ได้ฟังโหราพยากรณ์ | ภูธรค่อยสบายวิญญาณ์ |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | ท่านว่านี้ควรหนักหนา |
ตามจะทำตามอสุรา | เราจะไปเดินป่าพนาลี |
อันตัวของท่านจงกลับไป | ยังพิชัยลงกาบุรีศรี |
บำรุงไพร่ฟ้าประชาชี | โดยประเวณีบุราณ |
ตรัสแล้วก็เปลื้องสังวาลมาศ | โอภาสด้วยดวงมุกดาหาร |
ออกจากพระองค์แล้วประทาน | ให้แก่ขุนมารโหรา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศคิริวงศ์ยักษา |
ก้มเกล้ากราบลงกับบาทา | รับมหาสังวาลด้วยยินดี |
แล้วถวายบังคมบาท | พระนารายณ์ธิราชเรืองศรี |
กับสามพระอนุชาผู้ฤทธี | ทั้งโอรสพระตรีภูวไนย |
แล้วออกจากท้องพระโรงคัล | พาพวกพลขันธ์น้อยใหญ่ |
เหาะระเห็จเตร็จฟ้าด้วยว่องไว | ตรงไปทวีปกรุงมาร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
ครั้นพญาพิเภกโหราจารย์ | คืนไปสถานลงกา |
พระวิตกรำพึงคะนึงนึก | ตรึกถึงทำนายยักษา |
อันซึ่งคำฆาฏอสุรา | แม่นดั่งตาทิพย์เทวัญ |
ตัวกูอยู่เมืองไม่สบาย | ด้วยพระเคราะห์นั้นร้ายกวดขัน |
จำจะไปเดินอารัญ | ให้บรรเทาโทษราคี |
คิดแล้วจึ่งมีมธุรส | สั่งพระพรตพระสัตรุดเรืองศรี |
กับสองโอรสร่วมชีวี | ทั้งสี่จงอยู่พระนคร |
เรากับเจ้าลักษมณ์อนุชา | ทั้งพญาอนุชิตชาญสมร |
จะไปเดินป่าพนาดร | ตามในพยากรณ์ว่าไว้ |
ครบสิบสองเดือนจะกลับมา | แก้วตาอย่าเทวษโหยไห้ |
ช่วยกันบำรุงกรุงไกร | ให้ไพร่ฟ้าผาสุกเปรมปรีดิ์ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สี่กษัตริย์สุริย์วงศ์เรืองศรี |
น้อมเศียรสนองพระวาที | ภูมีจงทรงพระเมตตา |
ข้าคิดจะใคร่ไปรองบาท | องค์พระภูวนาถนาถา |
บัดนี้จะให้อยู่พารา | สุดปัญญาที่จะขัดพจมาน |
จะขอสนองคุณพระทรงฤทธิ์ | จนชีวิตสุดสิ้นสังขาร |
มิให้เกิดเหตุเภทพาล | กว่าผ่านฟ้าจะคืนพระนคร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วทรงศร |
ได้ฟังปรีดาสถาวร | พระภูธรรับขวัญพระลูกรัก |
อุ้มแอบสารพางค์ข้างละองค์ | จุมพิตวางลงเหนือตัก |
จำเป็นจากสองเยาวลักษณ์ | ดวงจักษุพ่ออยู่จงดี |
เจ้าอย่ากังวลแต่การเล่น | เช้าเย็นเฝ้าบาทบทศรี |
ทั้งสามสมเด็จพระอัยกี | จะได้มีศรีสวัสดิ์สืบไป |
อันซึ่งราชกิจอย่าเกียจคร้าน | การงานบ้านเมืองเอาใจใส่ |
ให้สองพระอาช่วงใช้ | ต่างกรต่างใจต่างตา |
ตรัสแล้วชวนสามพระนุชนาถ | กับสองโอรสราชเสน่หา |
ทั้งพญาอนุชิตผู้ศักดา | เสด็จมาเฝ้าองค์พระชนนี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งประณตบทบงสุ์ | องค์พระมารดาทั้งสามศรี |
ทูลว่าอันตัวของลูกนี้ | ไม่มีความสุขสักคืนวัน |
ให้หาพิเภกมาทำนาย | ทายว่าเคราะห์ร้ายกวดขัน |
ต้องฆาฏอินทพาทบาทจันทร์ | จึ่งจากกันกับนางสีดา |
ถ้าอยู่ในเมืองจะเกิดเข็ญ | จำเป็นให้ออกไปเดินป่า |
ครบสิบสองเดือนแล้วกลับมา | จึ่งจะพ้นโทษาราคี |
ลูกกับเจ้าลักษมณ์วรนุช | วายุบุตรผู้ชาญชัยศรี |
ขอลาสมเด็จพระชนนี | เที่ยวไปในที่อารัญ |
พระองค์จงอยู่สถาวร | อย่าทุกข์ร้อนวิโยคโศกศัลย์ |
พรุ่งนี้รุ่งสีรวิวรรณ | จะบังคมคัลลาไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระชนนีผู้ยอดพิสมัย |
ได้ฟังเร่าร้อนฤทัย | ตะลึงไปทั้งสามกัลยา |
ดั่งใครมาตัดเอาพระเศียร | ด้วยพระขรรค์วิเชียรคมกล้า |
ชลเนตรคลั่งคลอนัยนา | แล้วว่าดูก่อนพระราม |
เจ้าแม่เป็นมงกุฎกรุง | บำรุงแผ่นภพทั้งสาม |
ประกอบด้วยโหราพฤฒาพราหมณ์ | หรือจะมาทำตามอสุรี |
เคราะห์ร้ายสิจะไปเดินดง | ให้ลำบากองค์ไม่พอที่ |
พ่ออย่าออกจากธานี | จงทำตามพิธีโหรา |
ให้ประชุมเชิญพระดาบส | อันมีพรตกรรมแกล้วกล้า |
สะเดาะเคราะห์โดยวิทยา | ก็จะสิ้นโทษาถาวร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรแก้วสุริย์วงศ์ทรงศร |
ฟังสามสมเด็จพระมารดร | ชุลีกรแล้วทูลสนองไป |
อันในชันษาลูกรัก | ร้ายนักไม่อยู่เมืองได้ |
จำให้พลัดพรากเวียงชัย | ออกไปเดินป่าพนาลี |
อันซึ่งพิเภกทำนาย | ไม่คลาดคลายจากคำยักษี |
ดั่งแว่นแก้วส่องโลกธาตรี | ไม่มีใครเปรียบอสุรา |
ประการหนึ่งฝ่ายบูรพ์ทิศนั้น | เห็นจะมีอาธรรม์ยักษา |
อันเป็นเสี้ยนเสียบโลกา | พงศ์พวกหยาบช้าสาธารณ์ |
จะได้ไปปราบให้ราบรื่น | ทั่วพื้นพิภพไพศาล |
ตามประกาศิตพระทรงญาณ | ซึ่งให้อวตารมาครั้งนี้ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระมารดาทั้งสามศรี |
ได้ฟังดั่งจะสิ้นสมประดี | เทวีส้วมกอดเข้ารํ่าไร |
โอ้พระจักรแก้วของแม่เอ๋ย | เวรสิ่งใดเลยมาซัดให้ |
ครั้งก่อนก็ต้องเดินไพร | ได้ยากเป็นพ้นคณนา |
จนสีดาตกไปเมืองมาร | พ่อติดตามสังหารยักษา |
สองเจ้าปิ้มม้วยชีวา | จึ่งได้คืนมาธานี |
ถึงเพียงนั้นแล้วยังมิหนำ | อนิจจาซ้ำพลัดมเหสี |
แม่รํ่าโศกศัลย์พันทวี | ไม่มีความสุขทุกนิรันดร์ |
หากว่าได้ชมแต่หลานน้อย | จึ่งค่อยบรรเทาโศกศัลย์ |
ครั้งนี้สองเจ้าดวงชีวัน | จะพากันซํ้าจากไปเดินไพร |
ไหนเลยแม่จะมีความสุข | จะแสนทุกข์แสนเทวษละห้อยไห้ |
ตรัสพลางโศกาอาลัย | อรไทเพียงสิ้นชีวี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ ครั้นค่อยคลายความอาวรณ์ | ต่างอวยพระพรชัยศรี |
พ่อไปเป็นสุขสวัสดี | ครบปีแล้วเร่งกลับมา |
เจ้าลักษมณ์กับศรีหนุมาน | ล้วนปรีชาชาญแกล้วกล้า |
ทั้งสามจงระวังกายา | ที่ในแนวป่าพนาลัย |
อันศัตรูหมู่พวกปัจจามิตร | อย่าต้านต่อฤทธิ์ของเจ้าได้ |
อานุภาพปราบทั่วภพไตร | ดั่งพรแม่ให้บัดนี้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองกษัตริย์สุริย์วงศ์เรืองศรี |
กับพญาอนุชิตผู้ฤทธี | อัญชุลีรับพรด้วยปรีดา |
ต่างน้อมเศียรเกล้าลาบาท | สามพระอัครราชนาถา |
พากันลีลาศยาตรา | มายังปราสาทอลงการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งสองสุริย์วงศ์ | ผู้ทรงพระปรีชาหาญ |
ก็เปลื้องเครื่องประดับโอฬาร | เสด็จเข้าที่สนานวาริน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ปทุมแก้วโปรยปรายดั่งสายฝน | ลูบไล้เสาวคนธ์ขจรกลิ่น |
สนับเพลาเครือครุฑกระหยับบิน | เชิงรูปกินรินกรายกร |
พระเชษฐาภูษาพื้นตอง | ลายทองรูปราชไกรสร |
พระอนุชาพื้นม่วงอรชร | ลอยลายมังกรสุวรรณวาม |
ต่างทรงชายไหวชายแครง | ประดับด้วยเพชรแดงดวงอร่าม |
ฉลององค์ทรงประพาสงอนงาม | สังเวียนวามไปด้วยทับทิมพราย |
ตาบทิศทับทรวงมุกดาหาร | สังวาลแก้วสุรกานต์สามสาย |
พาหุรัดทองกรมังกรกลาย | ธำมรงค์เพชรรายพรายตา |
ทรงมหามงกุฎนพรัตน์ | ดอกไม้ทัดจรแก้วซ้ายขวา |
ต่างจับศรสิทธิ์อันศักดา | ขัดพระขรรค์รัตนาโมลี |
งามดั่งบรมพรหเมศ | อันประเวศจากฟ้าทั้งสองศรี |
ชวนวายุบุตรผู้ฤทธี | จรลีออกจากเวียงชัย ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ ข้ามทุ่งมุ่งไม้ไพรระหง | ดัดดงผ่านเถินเนินไศล |
มาได้กึ่งเดือนล่วงไป | ทางไกลพันโยชน์คณนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ สุดแดนถึงแม่น้ำหนึ่ง | กว้างใหญ่ลึกซึ้งหนักหนา |
ฟากฝั่งแลลิ่วสุดตา | ชื่อมหาสาครนที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาอนุชิตเรืองศรี |
เชิญเสด็จสองกษัตริย์ธิบดี | ขึ้นบ่าขุนกระบี่แล้วเหาะไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงฟากฝั่งสาคร | วานรผู้มีอัชฌาสัย |
จึ่งวางสองสมเด็จภูวไนย | ลงไว้เหนือแผ่นสุธาธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
ครั้นลงจากบ่าหนุมาน | ผ่านฟ้าสำราญวิญญาณ์ |
จึ่งพาพระลักษมณ์นุชนาถ | ยุรยาตรดำเนินเดินป่า |
ชี้ชมรุกขชาติดาษดา | สองข้างมรคาเรียงราย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ไม้รังดอกร่วงเสาวรส | ใบสดบังแสงสุริย์ฉาย |
กระแบกบานก้านเบียดร่มสบาย | นางกรายกิ่งกรายเมื่อต้องลม |
นิจจาเอ๋ยแม้นนุชวรนาฏ | ไม่นิราศแรมร้างภิรมย์สม |
จะดิ้นโดยมาด้วยในไพรพนม | วอนชมเก็บช่อผกากาญจน์ |
เห็นประดู่ลำดวนยมโดย | ลมโชยกลิ่นชื่นหอมหวาน |
เหมือนกลิ่นวนิดายุพาพาล | ผ่านฟ้าแสนโศกกระสันทรวง |
สาวหยุดนางแย้มกาหลง | พะยอมประยงค์โรยร่วง |
เกดแก้วพิกุลเป็นพุ่มพวง | ดอกดวงหล่นดาษกลาดดิน |
เห็นดอกรักเหมือนเจ้ารักไม่ร้างพี่ | ครั้งนี้หรือมาหน่ายเสียได้สิ้น |
ไปอยู่พระนครนาคินทร์ | ไม่ถวิลกังวลถึงลูกยา |
โอ้ไฉนใครหนอจะแจ้งเหตุ | ว่าพี่ร้างนคเรศมาอยู่ป่า |
แสนคะนึงถึงนางทุกเวลา | ครวญพลางผ่านฟ้าก็จรลี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เดินมาได้สามเดือนกึ่ง | ก็ลุถึงดงแดนยักษี |
จึ่งชวนพระอนุชาจรลี | กับขุนกระบี่หนุมาน |
แวะเข้าหยุดพักอาศัย | ใต้ร่มพระไทรไพศาล |
พระพายชายพัดรำเพยพาน | สุริย์ฉานบ่ายคล้อยเวลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ