- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงท้าวไกยเกษนาถา |
เสวยสมบัติสวรรยา | เป็นมหาจรรโลงเลิศไกร |
ในกรุงไกยเกษธานี | จตุรงค์โยธีไม่นับได้ |
ประดับด้วยนักสนมกรมใน | ทรงโฉมวิไลทุกนารี |
ท้าวมีพระราชธิดา | ชื่อว่านางไกยเกษี |
ชันษานั้นได้สิบห้าปี | ทรงกัลยาณีอรชร |
กรุงกษัตริย์สุริย์วงศ์มากล่าว | ท้าวไม่ประสาทสายสมร |
อันพระบิตุเรศมารดร | สงวนองค์บังอรดั่งดวงใจ |
ครอบครองไพร่ฟ้าประชาชน | จะมีความร้อนรนก็หาไม่ |
ทั่วทั้งแว่นแคว้นกรุงไกร | สิ่งใดมิได้ยายี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ครั้นค่ำย่ำสนธยากาล | สุริย์ฉานลับเหลี่ยมคีรีศรี |
จึ่งเสด็จย่างเยื้องจรลี | เข้าที่ไสยาสน์อลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ช้า
๏ ทรงพระสุบินนิมิตฝัน | อัศจรรย์เป็นเทพสังหรณ์ |
ว่าพระจันทร์ทรงกลดในอัมพร | ดวงดารากรดาษดา |
เข้าอยู่ในวงทรงกลด | หมดทั่วทั้งพื้นพระเวหา |
อันรัศมีพระจันทรา | สีกล้ากว่าแสงอโณทัย |
ส่องสว่างพ่างพื้นโพยมหน | เมฆหมอกจะปนก็หาไม่ |
ขับรถส่องสี่ทวีปไป | ภูวไนยตื่นขึ้นทันที ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ ครั้นพระสุริยาเรืองรอง | แสงทองจำรัสรัศมี |
ก็เสด็จย่างเยื้องจรลี | ออกมายังที่พระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งมีพระราชโองการ | แก่โหราจารย์คนขยัน |
คืนนี้เราฝันอัศจรรย์ | พระทรงธรรม์ตรัสเล่าแต่ต้นมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | โหรเฒ่าผู้มียศถา |
รับสั่งแล้วดูโดยตำรา | น้อมเศียรวันทาทูลไป |
พระสุบินนี้ล้วนจำเริญผล | จะอัปมงคลนั้นหาไม่ |
อันพระจันทร์ทรงกลดอำไพ | ได้แก่กษัตริย์อันเรืองยศ |
บรรดาท้าวพญาในชมพู | จะพึ่งอยู่ใต้เบื้องพระบาทหมด |
ดั่งดาราเรียงรันเป็นหลั่นลด | อยู่ในทรงกลดศศิธร |
ซึ่งแสงกล้ากว่าดวงอโณทัย | จะให้โลกเป็นสุขสโมสร |
ทั้งกลางคืนกลางวันนิรันดร | ปราบหมู่ดัสกรภัยพาล |
ซึ่งทรงรถส่องสี่ทวีปนั้น | จะทรงศักดาอันห้าวหาญ |
แผ่ทั่วชั้นฟ้าบาดาล | ไม่มีใครทานฤทธา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวไกยเกษนาถา |
ได้ฟังโหรทายทํานายมา | ผ่านฟ้าฉงนสนเท่ห์ใจ |
จึ่งมีพระราชวาที | ถามหมู่เสนีน้อยใหญ่ |
กรุงกษัตริย์สุริย์วงศ์องค์ใด | ในพื้นชมพูทวีปนี้ |
อันทรงเดชาวราฤทธิ์ | องค์อิสรภาพเรืองศรี |
เป็นเฉลิมโลกาธาตรี | มีอยู่บ้างหรือประการใด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ปโรหิตเสนาน้อยใหญ่ |
ได้ฟังบรรหารพระภูวไนย | ถวายบังคมไหว้พร้อมกัน |
ทูลว่าหน่อท้าวอโนมา | วงศ์พระจักรารังสรรค์ |
ชื่อว่าอัชบาลทรงธรรม์ | ได้ผ่านเขตขัณฑ์อยุธยา |
พระองค์นั้นทรงอานุภาพ | ปราบได้ทั่วทศทิศา |
มีพระขรรค์แก้วอันศักดา | ใช้ไปเข่นฆ่าไพรี |
ตัดเอาศีรษะอสุรพักตร์ | มาไว้รักษาสวนศรี |
บรรดากษัตริย์ทุกธานี | ถวายสุวรรณมาลีทุกปีไป |
ท้าวมีพระราชโอรส | ปรากฏฟากฟ้าดินไหว |
ทรงโฉมเลิศลักษณ์อำไพ | ให้ชื่อทศรถกุมารา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวไกยเกษนาถา |
ได้แจ้งแห่งคำเสนา | ผ่านฟ้ารําพึงคะนึงคิด |
แม้นกูจะนิ่งอยู่ฉันนี้ | นานไปจะมีความผิด |
จําจะผูกพันเอาเป็นมิตร | คิดแล้วเสด็จจรลี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงห้องแก้วไสยาสน์ | นั่งใกล้อัครราชมเหสี |
แจ้งข้อสุบินของภูมี | ตามที่โหรทายทํานายมา |
บัดนี้พี่คิดวิตกนัก | ด้วยลูกรักผู้ยอดเสน่หา |
จะยกให้แก่กรุงกษัตรา | วาสนาไม่คู่ควรกัน |
อันเจ้าทศรถกุมาร | หน่อท้าวอัชบาลรังสรรค์ |
ก็เป็นวงศ์พระทรงสุบรรณ | มีฤทธาอันเกรียงไกร |
นางไกยเกษีนงเยาว์ | ควรแล้วที่เราจะยกให้ |
เป็นคู่สู่สมภิรมย์ใน | เจ้าจะเห็นกระไรนางเทวี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางประไพมเหสี |
ได้ฟังพระราชสามี | ชุลีกรสนองพระบัญชา |
ซึ่งพระองค์จะยกลูกรัก | ให้เป็นอัคเรศเสน่หา |
แก่หน่อท้าวอัชบาลศักดา | ในศรีอยุธยาเวียงชัย |
ก็สมศักดิ์สุริย์วงศ์เสมอกัน | ดั่งสุริยันกับดวงแขไข |
จะงามเกียรติงามยศปรากฏไป | ทั้งในใต้ฟ้าธาตรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวไกยเกษเรืองศรี |
ปรึกษาอัครราชเทวี | ครั้นว่าเห็นดีพร้อมกัน |
มีความชื่นชมโสมนัส | ดั่งได้สมบัติในสวรรค์ |
เสด็จจากห้องแก้วแพร้วพรรณ | จรจรัลออกท้องพระโรงชัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งมีบัญชา | แก่มหาเสนาผู้ใหญ่ |
จงแต่งลักษณ์พระราชสารไป | ยังพิชัยกรุงศรีอยุธยา |
ถวายพระธิดาทรงลักษณ์ | แก่พระพงศ์หริรักษ์นาถา |
จัดทั้งโยธีแลทูตา | ไปด้วยกัลยายุพาพาล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาผู้ใหญ่ใจหาญ |
น้อมเศียรประณตบทมาลย์ | รับราชโองการแล้วออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งจัดทั้งสามทูตา | ล้วนมีปัญญาอัชฌาสัย |
เถ้าแก่ชะแม่ข้างใน | ข้าเฝ้าสาวใช้ครบครัน |
แล้วให้อาลักษณ์เขียนสาร | ลงในลานทองฉายฉัน |
เตรียมทั้งรถแก้วแกมสุวรรณ | พร้อมกันตามราชโองการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | นางประไพวดียอดสงสาร |
สวมกอดพระธิดายุพาพาล | เยาวมาลย์รับขวัญกัลยา |
แล้วมีวาจาอันสุนทร | ดวงสมรแม่ยอดเสน่หา |
เจ้าจะจากอกพระมารดา | ไปยังอยุธยาธานี |
เป็นข้าใต้เบื้องบาทบงสุ์ | พระผู้พงศ์หริรักษ์เรืองศรี |
จงเจียมองค์จงรักภักดี | ฝากชีพชีวีภูวไนย |
อุดส่าห์พยายามหาความชอบ | รอบคอบราชกิจเอาใจใส่ |
สิ่งชั่วอย่ากลั้วให้มีภัย | แม่จะได้เป็นศรีอยุธยา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางไกยเกษเสน่หา |
ได้ฟังโอวาทพระมารดา | ชลนาคลอเนตรไม่พาที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวไกยเกษเรืองศรี |
ครั้นรุ่งจึ่งสั่งพระบุตรี | ให้เข้าที่สรงสาคร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางไกยเกษดวงสมร |
น้อมเศียรรับสั่งพระบิดร | บทจรไปสรงวาริน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ชมตลาด
๏ เข้าที่ชำระสระสนาน | สุคนธารเกสรขจรกลิ่น |
ภูษาพื้นม่วงทรงข้าวบิณฑ์ | เชิงนั้นรูปกินรีรำ |
ทรงสไบตาดพื้นทอง | ซับในกรองสอดสีเขียวขำ |
สะอิ้งองค์ล้วนบุษราคัม | ประจำยามทับทรวงดวงลอย |
ตาบทิศมรกตสังวาลวัลย์ | ประดับถันบานพับสลับสร้อย |
ทองกรพาหุรัดจํารัสพลอย | ธํามรงค์เพชรพร้อยอร่ามเรือง |
มงกุฎกรรเจียกจรมณี | โอภาสจับสีฉวีเหลือง |
งามศรีเสาวภาคย์เฉลิมเมือง | ย่างเยื้องมาถวายอัญชุลี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระชนกมารดาทั้งสองศรี |
ให้อาลัยในองค์พระบุตรี | ดั่งหนึ่งชีวีจะจากไป |
ลูบหลังแล้วมีวาจา | แก้วตาผู้ยอดพิสมัย |
จงจำเริญสวัสดีอย่ามีภัย | ให้เป็นใหญ่แก่ฝูงกัลยา |
ตรัสแล้วสองกษัตริย์สุริย์วงศ์ | พาองค์พระธิดาเสน่หา |
ลงจากปราสาทแก้วแววฟ้า | ข้าสาวชาวแม่ก็ตามไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นมาถึงจึ่งให้ขึ้นทรงรถ | อลงกตดั่งดวงแขไข |
นางกุจจีค่อมผู้ร่วมใจ | ก็ขึ้นนั่งหมอบใช้นางเทวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โอ้
๏ เมื่อนั้น | โฉมนวลนางไกยเกษี |
บังคมลาพระชนกชนนี | มีความโศกาอาลัย |
ชลเนตรคลอคลองนองพักตร์ | เยาวลักษณ์เศร้าสร้อยละห้อยไห้ |
โอ้ว่าแต่นี้จะจำไกล | ที่ไหนจะได้เห็นพระบาทา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวไกยเกษนาถา |
ครั้นได้ศุภฤกษ์เวลา | ก็ให้เคลื่อนรถจรลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
โทน
๏ รถเอยรถทรง | งามองค์พระธิดาโฉมศรี |
งามสินธพชาติพาชี | งามสารถีขับรถ |
งามแปรกแอกอ่อนงอนระหง | งามดุมงามกงอลงกต |
งามรถพระกำนัลเป็นหลั่นลด | งามจัตุรงค์ทศโยธา |
งามเครื่องสูงไสวรายริ้ว | งามธงปลายปลิวนําหน้า |
งามเสียงฆ้องกลองโกลา | งามแถวมรคาพนาลี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
โอ้ร่าย
๏ เดินทางผ่านทุ่งวุ้งเขา | ตามลำเนาห้วยธารคีรีศรี |
คิดถึงพระชนกชนนี | เทวีเปล่าอกเปลี่ยวใจ |
เห็นยูงทองท่องหามารดา | เหมือนลูกจากมาในป่าใหญ่ |
เห็นนกกระเวนกระเวนไพร | อาลัยเหมือนเสียงกระเวนวัง |
สาลิกาจับเรียงเคียงพลอด | เหมือนพระแม่สวมกอดแล้วสอนสั่ง |
รังนานฟักฟองระวังรัง | เหมือนครั้งระวังลูกแต่เยาว์มา |
โอ้ว่าแต่นี้จะไกลบาท | พระบิตุราชชนนีนาถา |
ป่านนี้จะทรงพระโศกา | แสนเวทนาอาลัย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | สามทูตผู้มีอัชฌาสัย |
นําเสด็จพระธิดายาใจ | แรมรอนมาในพนาวัน |
ครั้นถึงปลายด่านอยุธยา | ให้หยุดโยธาพลขันธ์ |
ก็แจ้งแก่นายด่านชาญฉกรรจ์ | ตามเรื่องสารอันมีมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ขุนด่านผู้มียศถา |
ได้ฟังยินดีปรีดา | ขึ้นม้าแล้วขับเข้าธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงก็ลงจากสินธพ | คำรพเสนาทั้งสี่ |
แจ้งว่าไกยเกษบุรี | ให้มีทูตถือสารมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีธิบดีซ้ายขวา |
ฟังชาวด่านแจ้งกิจจา | ก็พากันเข้าสู่พระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งน้อมเศียรประณตบทบงสุ์ | ทูลพระหริวงศ์รังสรรค์ |
ว่าท้าวไกยเกษทรงธรรม์ | ให้ทูตนั้นนำพระบุตรี |
กับลักษณ์ราชสารา | มาถวายใต้เบื้องบทศรี |
บัดนี้ให้พักโยธี | อยู่ที่ปลายด่านพารา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวอัชบาลนาถา |
ได้ฟังมนตรีก็ปรีดา | ดั่งได้ฟากฟ้าสุราลัย |
จึ่งมีพระราชวาที | สั่งมหาเสนีผู้ใหญ่ |
จงจัดทั้งข้างหน้าข้างใน | ออกไปรับองค์เยาวมาลย์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีผู้ปรีชาหาญ |
ก้มเกล้ารับราชโองการ | คลานออกจากพระโรงรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ หมายบอกไปทั่วทุกกรม | สนมชาววังชาวที่ |
เถ้าแก่ชะแม่ขันที | ตรวจหากันมี่เป็นโกลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ พร้อมเสร็จสำเร็จซึ่งจัดการ | ถ้วนทุกพนักงานซ้ายขวา |
เสนีผู้มีปรีชา | ก็ยกจากพารารีบไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งหยุดพลากร | แทบท่าสาครกว้างใหญ่ |
แล้วบอกเสนาให้แจ้งใจ | โดยในรับสั่งพระภูมี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | เสนาไกยเกษบุรีศรี |
แจ้งว่าพระองค์ทรงธรณี | ให้มนตรีมารับพระธิดา |
จึ่งกำหนดกันเป็นหมู่หมวด | เตรียมตรวจตามกระบวนซ้ายขวา |
เสนีกรุงศรีอยุธยา | ก็นําหน้าเสด็จจรลี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ กลองโยน
๏ ครั้นถึงจึ่งประทับกับเกยแก้ว | อันเพริศแพร้วจำรัสรัศมี |
เถ้าแก่อยุธยาธานี | อัญชุลีเชิญเสด็จบังอร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางไกยเกษดวงสมร |
ลงจากรถทรงอลงกรณ์ | บทจรโดยทางข้างใน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ บัดนั้น | เสนาอยุธยากรุงใหญ่ |
ก็นำทูตไกยเกษเวียงชัย | เข้าไปพระโรงรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งประณตบทบาท | พระพงศ์เทวราชเรืองศรี |
ทูลเบิกทั้งสามเสนี | ชุลีกรแล้วอ่านสารา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ช้า
๏ ในลักษณ์ว่าท้าวไกยเกษ | ขอประณตบทเรศนาถา |
พระผู้พงศ์หริรักษ์อันศักดา | มงกุฎกรุงทวารวดี |
ด้วยพระเดชเฟื่องฟ้าปรากฏ | ว่ามีพระโอรสเฉลิมศรี |
ทรงอานุภาพล้ำธาตรี | ข้านี้ยินดียิ่งนัก |
ไม่มีสิ่งสนองบาทบงสุ์ | พระผู้หริวงศ์ทรงจักร |
จึ่งแต่งราชบุตรีเป็นที่รัก | อันทรงลักษณ์เลิศวิไลวรรณ |
มาถวายเป็นข้ารองบาท | พระโอรสธิราชรังสรรค์ |
ขอเอาพระเดชทรงธรรม์ | ปกเกศคุ้งวันมรณา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์พงศ์นารายณ์นาถา |
แจ้งสารแล้วมีบัญชา | ปราศรัยทูตาด้วยยินดี |
ซึ่งท้าวไกยเกษภูวนาถ | ยกราชธิดาโฉมศรี |
มาให้โอรสของเรานี้ | จะได้ร่วมชีวีกันสืบไป |
อันพระองค์ผู้ดำรงราชฐาน | มีสุขสำราญฤๅไฉน |
เสนาประชาชนทั้งเวียงชัย | ยังไพบูลย์พูนสุขสวัสดี |
อนึ่งซึ่งมาจากนิเวศน์ | ทางทุเรศกันดารพนาศรี |
อันไพร่พลพหลโยธี | สิ่งมีขัดสนประการใด ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ทูตาผู้มีอัชฌาสัย |
น้อมเศียรอภิวาทน์ทูลไป | ท้าวไทผู้ดำรงนครา |
เสวยสุขในมหาเศวตฉัตร | พูนสวัสดิ์พรั่งพร้อมพระวงศา |
เสนีชีพราหมณ์พฤฒา | ไพร่ฟ้าได้พึ่งใต้ธุลี |
ซึ่งข้าบาทมาทางทุเรศ | พระเดชไปปกเกศี |
โรคันอันตรายไม่ยายี | มีแต่เป็นสุขทุกเวลา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวอัชบาลนาถา |
ได้ฟังทั้งสามทูตา | ผ่านฟ้ามีความยินดีนัก |
จึ่งพระราชทานรางวัล | จัดสรรให้ตามบรรดาศักดิ์ |
เสร็จแล้วพระพงศ์หริรักษ์ | บ่ายพักตร์เข้ายังปราสาทชัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | ท้าวนางผู้มีอัชฌาสัย |
จึ่งเชิญพระธิดายาใจ | เข้าไปเฝ้าองค์พระภูมี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนวลนางไกยเกษี |
ยุรยาตรนาดกรจรลี | ฝูงอนงค์นารีก็ตามมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงจึ่งน้อมเศียรเกล้า | เฟี้ยมเฝ้าพระบรมนาถา |
สะเทินเขินใจนางกัลยา | ดั่งว่าจะสิ้นสมประดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎอยุธยากรุงศรี |
เห็นสุณิสานารี | มีศุภลักษณ์เลิศวิไลวรรณ |
งามพักตร์งามองค์งามอ่อน | อรชรดั่งอัปสรสวรรค์ |
งามกรงามเนตรงามกรรณ | งามจริตผิวพรรณดั่งทองทา |
ควรศักดิ์ควรสองจะครองยศ | ปรากฏพระเกียรติทุกทิศา |
ยิ่งพิศยิ่งคิดกรุณา | ผ่านฟ้าสำราญบานใจ |
แล้วประทานเครื่องทรงอลงกต | สำหรับยศพระธิดากรุงใหญ่ |
ให้อยู่ปราสาทแก้วแววไว | ทั้งข้าใช้นักเทศขันที ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนวลนางไกยเกษี |
รับเครื่องประทานด้วยยินดี | เทวีน้อมเศียรบังคมคัล |
แล้วคลานออกมาจากเฝ้า | พระปิ่นเกล้าจอมภพไอศวรรย์ |
ยุรยาตรนาดกรจรจรัล | ไปปราสาทสุวรรณอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
ช้า
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวอัชบาลชาญสมร |
ครั้นค่ำย่ำแสงรวีวร | ภูธรเข้าที่ไสยา |
ให้คิดสังเวชในร่างกาย | เหนื่อยหน่ายรูปรสเสน่หา |
ตัวกูก็แก่ชรา | ครองสมบัติมาหกหมื่นปี |
มีแต่ความตายนั้นเป็นต้น | ไม่พ้นมัจจุราชเรืองศรี |
อันสมบัติพัสถานทั้งนี้ | ใช่ที่จะติดตัวไป |
อันเจ้าทศรถลูกรัก | ทรงศักดาเดชแผ่นดินไหว |
จะให้ครอบครองเวียงชัย | สืบในสุริย์วงศ์เทวัญ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ คิดแล้วอ่าองค์ทรงเครื่อง | อร่ามเรืองพรรณรายฉายฉัน |
ก็เสด็จย่างเยื้องจรจรัล | ออกพระโรงคัลรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงขึ้นนั่งบัลลังก์รัตน์ | ตรัสสั่งขุนโหรทั้งสี่ |
จงเร่งหาฤกษ์วันดี | กูจะมอบบูรีพระโอรส |
ให้เป็นมงกุฎอยุธยา | ครองขัณฑเสมาชนบท |
สืบวงศ์เทวัญอันเรืองยศ | เสนาจงกําหนดเร่งการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ขุนโหรปรีชากล้าหาญ |
รับสั่งแล้วจับเอากระดาน | ตั้งเกณฑ์อวมาณคํานวณไป |
ก็เห็นพร้อมกันทั้งสี่ | นบนิ้วชุลีบังคมไหว้ |
ทูลว่าศุภฤกษ์ยามชัย | อีกเก้าวันจะได้ดีนัก |
ต้องในตระหนักบัญชร | ทั้งพระเคราะห์โคจรโดยจักร |
ราหูเป็นสิบเอ็ดแก่ลัคน์ | ถึงที่อัครราชเทวัญ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝ่ายมหาเสนาคนขยัน |
ก็หมายตามรับสั่งพระทรงธรรม์ | พร้อมกันทั้งข้างหน้าข้างใน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
ยานี
๏ ครั้นแล้วก็จัดปราสาท | ผูกม่านเครือมาศสองไข |
แต่งอาสน์ลาดพรมอำไพ | ห้อยพวงมาลัยรูจี |
เศวตฉัตรปักเหนือบัลลังก์ | แล้วลาดด้วยหนังราชสีห์ |
กลศสังข์ใส่ปัญจนที | วางไว้ตามที่อันดับมา |
แล้วตั้งเบญจาหน้าพระลาน | ห้าชั้นชัชวาลเวหา |
ฉัตรแก้วฉัตรทองโอฬาร์ | ท่อปทุมธาราครบครัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ เสร็จแล้วก็สั่งธรรมการ | ให้ไปหิมพานต์ไพรสัณฑ์ |
นิมนต์พระวสิษฐ์นักธรรม์ | พระสวามิตรนั้นเข้ามา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายขุนธรรมการใจกล้า |
ได้แจ้งแห่งคำเสนา | ก็รีบไปศาลาพระมุนี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงถวายนมัสการ | พระอาจารย์ทั้งสองฤาษี |
แจ้งว่าพระองค์ทรงธาตรี | จะตั้งการพิธีสยมพร |
อภิเษกสมเด็จพระลูกยา | กับสามวนิดาดวงสมร |
เป็นปิ่นโมลีพระนคร | ให้มาเชิญบทจรพระนักพรต ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระวสิษฐ์สวามิตรดาบส |
ได้ฟังดั่งอมฤตรส | ก็กําหนดบอกหมู่พระสิทธา |
ต่างทรงเปลือกไม้คากรอง | ครองเครื่องสำหรับชีป่า |
แล้วออกจากบรรณศาลา | พากันเข้าไปยังธานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งขึ้นบนปราสาท | สถิตอาสน์สำหรับพระฤๅษี |
ก็สวดไสยเวทพิธี | โดยในคัมภีร์พรหมาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ สาธุการ
๏ เมื่อนั้น | พระปิ่นอยุธยาราชฐาน |
ครั้นอรุณรุ่งราตรีกาล | สุริย์ฉานผ่องแผ้วธาตรี |
จึ่งสั่งให้องค์พระลูกรัก | กับสามเยาวลักษณ์เฉลิมศรี |
ไปชำระสระสรงอินทรีย์ | ในที่ห้องแก้วรจนา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สี่กษัตริย์สุริย์วงศ์นาถา |
รับสั่งสมเด็จพระบิดา | เสด็จมาที่สรงชลธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ พนักงานไขท่อปทุมทอง | โปรยปรายเป็นละอองหอมหวาน |
ทรงสุคนธ์ปรนปรุงสุมามาลย์ | ภูษิตเครือก้านต่างกัน |
พระทรงชายไหวประดับพลอย | สามอนงค์ทรงสร้อยประดับถัน |
พระกุมารทรงตาดสังวาลวัลย์ | สามนางนั้นทรงทองกร |
ต่างทรงธํามรงค์พาหุรัด | มงกุฎแก้วจำรัสประภัสสร |
บ้างทรงมาลัยกรรเจียกจร | ดอกไม้ทัดอรชรอลงการ์ |
งามพระกุมารเพียงเทวัญ | ลอยมาจากชั้นดึงสา |
งามสามองค์อัครชายา | ดั่งนางในฟากฟ้าดุษฏี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระชนกมารดาทั้งสองศรี |
พิศโอรสราชบุตรี | มีลักษณ์เสาวภาคย์ละกลกัน |
สองกษัตริย์ชื่นชมโสมนัส | ดังได้สมบติในสรวงสวรรค์ |
ก็นำพระลูกยาวิลาวัณย์ | จรจรัลจากปราสาทรูจี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงจึ่งเปลื้องเครื่องทรง | จากองค์กษัตริย์ทั้งสี่ |
ให้ทรงโขมพัสตร์เนื้อดี | แล้วภูมีจูงกรพระโอรส |
กับทั้งสาวศรีสุณิสา | ขึ้นสุวรรณเบญจาอลงกต |
องค์พระบิตุรงค์ทรงยศ | มีพจนารถโองการ |
ให้ไขสหัสธารา | สุคนธาทิพรสหอมหวาน |
จากฝักสุวรรณปทุมมาลย์ | ดั่งท่อธารทิพวารี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระวสิษฐ์ฤาษี |
ทั้งพระสวามิตรมุนี | โยคีชีพราหมณ์ก็ออกไป |
ต่างต่างถือสังข์ถือกลศ | รดสรงมุรธาภิเษกให้ |
บ้างอ่านพระเวทอวยชัย | ตามในไสยศาสตร์พร้อมกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ สาธุการ
๏ ครั้นเสร็จมุรธาภิเษกสรง | องค์ท้าวอัชบาลรังสรรค์ |
พาสี่กษัตริย์จรจรัล | ขึ้นปราสาทสุวรรณอลงการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ให้นั่งเหนือบัลลังก์รัตน์ | ภายใต้เศวตฉัตรฉายฉาน |
ทั้งสามอัคเรศเยาวมาลย์ | นั่งตามสถานอันดับมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายชาวพนักงานภูษา |
จึ่งถวายเครื่องทรงปราบดา | กับเบญจมหากกุธภัณฑ์ |
ชาวแสงถวายอัษฎาวุธ | แก่พระวงศ์จักรภุชรังสรรด์ |
ชีพ่อถวายใบเวฬุวัน | แล้วเป่าสังข์สนั่นธาตรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
สระบุหร่ง
๏ ได้เอยได้ฤกษ์ | โหราให้เบิกบายศรี |
จึ่งลั่นฆ้องชัยเข้าสามที | เสียงประโคมอึงมี่โกลา |
ปุโรหิตผู้เฒ่าก็จุดเทียน | ส่งแว่นเวียนซ้ายไปขวา |
รับกันเป็นอันดับมา | พระวงศาเสนากำนัล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ มโหรี
๏ ครั้นถึงเจ็ดรอบโดยศาสตร์ | พฤฒามาตย์ดับเทียนเฉลิมขวัญ |
ปโรหิตผู้เฒ่าก็โบกควัน | จุณจันทน์เจิมสี่กษัตรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ สาธุการ
๏ เมื่อนั้น | พระบิตุรงค์ธิราชนาถา |
จึ่งมอบไอศูรย์สวรรยา | เศวตฉัตรรัตนาโมลี |
ให้ชื่อท้าวทศรถสุริย์วงศ์ | สืบพงศ์พระนารายณ์เรืองศรี |
แล้วจึ่งอวยพรสวัสดี | อย่ามีโรคามาแผ้วพาน |
อันหมู่พาลาปัจจามิตร | ให้เกรงฤทธิ์ไปทั่วทิศาศาล |
เป็นที่พึ่งทั้งพื้นสุธาธาร | ชนมานยืนยาวได้แสนปี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระวสิษฐ์สวามิตรฤๅษี |
ครั้นเสร็จการราชพิธี | พระมุนีอำนวยอวยพร |
จงครองโภไคยไอศูรย์ | ให้สมบูรณ์พูนสุขสโมสร |
เสร็จแล้วพากันบทจร | ออกจากนครอยุธยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
ช้า
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวอัชบาลนาถา |
ครั้นมอบเศวตฉัตรแก้วแววฟ้า | แก่โอรสาธิบดี |
พระทรงบริจาคแก้วแหวน | แสนสุวรรณหิรัญเรืองศรี |
แก่หมู่ไพร่ฟ้าประชาชี | โดยประเวณีราชบุราณกาล |
ทรงศีลทรงสัตย์สุจริต | ครองธรรม์ทศพิธเป็นแก่นสาร |
ปราศจากริษยาสาธารณ์ | เป็นอุเบกขาญาณเที่ยงธรรม์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ ทรงฤทธิ์คิดจะไปเที่ยวประพาส | รุกขชาติที่ในสวนขวัญ |
แต่งองค์ทรงเครื่องวิไลวรรณ | จรจรัลออกท้องพระโรงชัย |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงสถิตเหนืออาสน์ | สั่งเสนามาตย์ผู้ใหญ่ |
จงเตรียมรถรัตนามัย | กูจะไปยังสวนมาลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีสู้มียศถา |
รับสั่งพระองค์ทรงศักดา | ออกมาจากที่พระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๏ เกณฑ์หมู่จัตุรงค์องอาจ | โดยกระบวนประพาสพนาสัณฑ์ |
กองหน้าอาชาชาญฉกรรจ์ | ห้าพันพื้นถือทวนธนู |
ถัดมาล้วนพวกคชไกร | สามพันจัดไว้เป็นคู่คู่ |
ถัดนั้นอาสามลายู | กับทหารสิบหมู่หมื่นปลาย |
ถัดมารัถาสองพัน | กรกุมเกาทัณฑ์เฉิดฉาย |
เตรียมทั้งรถแก้วแพร้วพราย | ไพร่นายคอยเสด็จบทจร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระผู้หริวงศ์ทรงศร |
ครั้นรุ่งแสงสีรวีวร | ก็กรายกรมาสรงชลธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ให้ไขปทุมวาริน | เป็นฝอยฟุ้งจรุงกลิ่นหอมหวาน |
ทรงสุคนธ์ปนปรุงสุมามาลย์ | สนั่บเพลาเครือก้านกระหนกกลาย |
ภูษาช่อเชิงเครือครุฑ | ดวงผุดทองประสานฉานฉาย |
ชายแครงจําหลักพลอยพราย | ชายไหวตาบทิศทับทรวง |
สังวาลทองกรมังกรพด | พาหุรัดมรกตรุ้งร่วง |
ธํามรงค์เก้ายอดชิงดวง | มงกุฎแก้วเพชรพวงกรรเจียกจร |
ทรงมหากุณฑลดอกไม้ทัด | กุมพระขรรค์เพชรรัตน์ประภัสสร |
งามดั่งองค์อัมรินทร | กรายกรมาขึ้นรถทรง ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ รถเอยรถมรกต | แอกงอนอ่อนชดงามระหง |
เครือขดบดแก้วประกํากง | ดุมวงกุดั่นบัลลังก์ลอย |
เก็จกาบภาพตั้งกระจังราย | เครือกระหนกนกกลายช่อห้อย |
ห้ายอดแวววับประดับพลอย | ช่อฟ้าสุกย้อยช้อยชด |
เทียมสินธพสีดั่งสีสังข์ | เร็วเพียงกำลังลมกรด |
เครื่องสูงเรียงรันเป็นหลั่นลด | สง่างามดั่งรถสุริยัน |
เสียงพลโห่ร้องก้องกึก | เสียงประโคมโครมครึกแผ่นดินลั่น |
สารถีโบกธงเป็นสำคัญ | รีบเร่งพลขันธ์ดำเนินคลา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงวันจรกพรานป่า |
วางบ่วงดักหมู่มฤคา | แทบท่าหนองน้ำชายไพร |
แล้วจึ่งเข้านั่งซุ่มอยู่ | คอยดูหมู่เนื้อในป่าใหญ่ |
เห็นฝูงมฤคีก็ดีใจ | ออกไล่สะพัดกั้นมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงเห็นทรายทอง | ติดบ่วงดิ้นร้องที่ชายป่า |
พรานไพรยินดีปรีดา | ก็เข้ามัดมฤคาคอนไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เตียว
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์ทรงภพสบสมัย |
เสด็จอยู่บนราชรถชัย | ภูวไนยแลเห็นนายพราน |
ได้ทรายทองมัดคอนมา | ฝ่านฟ้ามีจิตคิดสงสาร |
จึ่งมีพระราชโองการ | สั่งนายทหารให้หามา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายขุนตำรวจใจกล้า |
รับสั่งแล้วถวายบังคมลา | ไปยังพรานป่าพนาลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งแจงยุบลเหตุ | ว่าพงศ์เทเวศเรืองศรี |
บัญชาให้หาท่านนี้ | ไปยังที่เฝ้าพระทรงธรรม์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งนายพรานป่าพนาสัณฑ์ |
ได้ฟังดั่งจะม้วยชีวัน | ตัวสั่นวิ่งไปกับเสนี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ มาถึงซึ่งหน้ารถทรง | นั่งลงประณตบทศรี |
อกใจไม่เป็นสมประดี | คอยฟังภูมีบัญชา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระพงศ์จักรพรรดินาถา |
จึ่งมีสุนทรวาจา | ดูกรพรานป่าพนาลัย |
อันทรายทองของเอ็งนี้ | จะฆ่าชีวีเสียฤๅไฉน |
ฤๅจะนำไปทําประการใด | กูจะใคร่แจ้งกิจจา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งวันจรกพรานป่า |
ได้ฟังพระราชบัญชา | กราบกับบาทาแล้วทูลไป |
อันตัวข้าบาทชาติพราน | จะต้องการสัตว์เป็นนั้นหาไม่ |
ถึงบ้านจะประหารให้บรรลัย | หวังจะได้เนื้อเลี้ยงชีวัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวอัชบาลรังสรรค์ |
ได้ฟังพรานไพรใจฉกรรจ์ | พระทรงธรรม์สังเวชเป็นสุดคิด |
ด้วยความกรุณาเมตตาสัตว์ | จึ่งตรัสบัญชาประกาศิต |
ตัวกูคิดอยู่เป็นนิจ | จะให้ทานชีวิตจิตใจ |
บัดนี้สมดั่งความปรารถนา | กูจะเชือดมังสาของกูให้ |
แลกเนื้อทรายทองของเอ็งไว้ | จะให้มิให้จงว่ามา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งนายพรานไพรใจกล้า |
ได้ฟังพระราชบัญชา | วันทาแล้วทูลสนองไป |
ซึ่งพระองค์ตรัสมาทั้งนี้ | ยังจะคงวาทีฤๅไฉน |
ข้าบาทไม่ขัดภูวไนย | ด้วยเพศวิสัยไพรพราน |
ไม่เลือกเนื้อสัตว์เนื้อมนุษย์ | สุดแต่กินได้เป็นอาหาร |
ซึ่งจะให้มังสะเป็นทาน | ตามแต่ภูบาลจะเมตตา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพงศ์เทวราชนาถา |
ได้ฟังจึ่งมีบัญชา | ดูรานายพรานชาญฉกรรจ์ |
ตัวเราได้ออกวาที | เป็นที่ดำรงสัตย์มั่น |
มิได้อาลัยแก่ชีวัน | จะช่วยทรายอันจะบรรลัย |
ตรัสแล้วมีราชบัญชา | สั่งมหาเสนาผู้ใหญ่ |
จงเอาทรายทองของพรานไพร | มาชั่งดูให้ประจักษ์ตา |
จะหนักเท่าใดทั้งอินทรีย์ | จะเถือเนื้อกูนี้ให้พรานป่า |
เป็นทานแทนเนื้อมฤคา | โดยความสัจจาเราวาที ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งมหาเสนาทั้งสี่ |
รับสั่งแล้วยกมฤคี | ขึ้นชั่งตามมีพระบัญชา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เสร็จแล้วประณตบทบงสุ์ | ทูลองค์บรมนาถา |
ว่าหนักได้กึ่งภาคตรา | ทั้งมังสาอัฐิด้วยกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระพงศ์หริรักษ์รังสรรค์ |
จึ่งทรงแก้มัดผูกพัน | จากกายสุวรรณมฤคี |
แล้วหลั่งน้ำทักษิโณทก | ให้ตกเป็นพยานสักขี |
ท่านจงจำเริญสวัสดี | ตรัสแล้วภูมีก็ปล่อยไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นเสร็จจึ่งทรงพระแสงขรรค์ | ประกาศฝูงเทวัญน้อยใหญ่ |
เดชะข้าช่วยสัตว์ไว้ | จะเชือดเนื้อให้นายพราน |
แทนเนื้อกวางทองตัวนี้ | อันจะสิ้นชีวีสังขาร |
ด้วยเดชะบรมสมภาร | ซึ่งข้าทำทานภายใน |
ขออย่าให้มีเวทนา | เจ็บปวดกายาขึ้นมาได้ |
ตรัสแล้วพระจอมภพไตร | ก็เชือดไปทั่วทั้งกายา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ มิได้ลำบากพระอินทรีย์ | ภูมีให้เอาพระมังสา |
ชั่งขึ้นเท่าเนื้อมฤคา | ส่งให้พรานป่าแทนไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ ครั้นสิ้นมังสะในพระองค์ | มิอาจดำรงพระกายได้ |
ก็เสด็จสวรรคาลัย | ไปยังชั้นฟ้าดุษฎี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โทน
ช้า
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงพระอิศวรเรืองศรี |
อาสน์อ่อนร้อนดั่งอัคคี | พระศุลีเล็งทิพเนตรมา |
เห็นท้าวอัชบาลสุริย์วงศ์ | พงศ์พระหริรักษ์นาถา |
เชือดเนื้อแทนเนื้อมฤคา | จนถึงชีวาวายปราณ |
อยู่บนรถรัตน์มณี | พระศุลีมีจิตเกษมศานต์ |
แสนภิรมย์ชมโพธิสมภาร | ก็นำฝูงบริวารเหาะมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เหาะ
๏ ครั้นถึงรถทรงจอมภพ | จึ่งอุ้มศพบรมนาถา |
เหาะทะยานผ่านขึ้นบนเมฆา | ไปมหาไกรลาสคีรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวทศรถเรืองศรี |
ครั้นพระบิตุเรศทรงธรณี | ภูมีเสด็จสวรรคต |
ก็ครองกรุงบำรุงโลกา | ขอบขัณฑเสมาชนบท |
ทรงเดชฤทธิรอนขจรยศ | ปรากฏดั่งดวงสุริยัน |
ชีพราหมณ์ไพร่ฟ้าประชากร | สถาวรเป็นสุขเกษมสันต์ |
ด้วยพระองค์ดํารงทศธรรม์ | ดั่งฉัตรแก้วกั้นโมลี |
กรุงกษัตริย์ยอมแต่งดอกไม้มาศ | เงินทองโอภาสเฉลิมศรี |
มาถวายเบื้องบาทไม่ขาดปี | น้อมเกล้าดุษฎีชุลีกร |
ประดับด้วยพระสนมกํานัล | ผิวพรรณเพียงเทพอัปสร |
กล้องแกล้งแน่งน้อยอรชร | บำเรอภูธรไม่เว้นวัน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย
๏ พระองค์จึ่งดำริตริไป | จะใคร่ประพาสสวนขวัญ |
ก็เสด็จนาดกรจรจรัล | ออกพระโรงสุวรรณอำไพ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งมีพระราชบัญชา | สั่งมหาเสนาผู้ใหญ่ |
จงเตรียมรถแก้วแววไว | กูจะไปชมสวนอุทยาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุมันตันเสนาใจหาญ |
ก้มเกล้ารับราชโองการ | คลานออกมาจากพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๏ จัดเป็นกระบวนพยุหบาตร | เกณฑ์แห่เอี่ยมอาจขึงขัน |
ปลายเชือกใส่เสื้อสีจันทร์ | กรกุมเกาทัณฑ์ธงแดง |
ถัดนั้นธงทิวเขียวขาบ | เสื้อม่วงสอดดาบสะพายแล่ง |
ถัดมากรกุมทวนแทง | เสื้อเขียวเครือแย่งธงทอง |
เหล่าหนึ่งธงเหลืองกุมเสน่า | สอดใส่สนับเพลาเสื้อปล้อง |
เตรียมทั้งรถทรงรถรอง | ทุกกองคอยเสด็จจรลี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระพงศ์หริรักษ์เรืองศรี |
จึ่งชวนสามอัครราชเทวี | เข้าที่สระสรงคงคา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ให้ไขท่อแก้วปทุมมาลย์ | หอมหวานด้วยกลิ่นบุปผา |
ทรงสุคนธ์ธารกุสุมา | สนับเพลาภูษาชายแครง |
นางทรงภูษิตริ้วทอง | สไบกรองรองตาดเครือแย่ง |
พระทรงทับทรวงลายแทง | เฟื่องเพชรลูกแตงสังวาลวัลย์ |
นางทรงทองกรธํามรงค์ | สะอิ้งองค์สร้อยซับประดับถัน |
พระทรงทองกรมังกรพัน | ชฎาแก้วกุดั่นกรรเจียกจร |
นางทรงกุณฑลดอกไม้ทัด | มงกุฎรายนพรัตน์ประภัสสร |
สี่องค์ทรงงามอรชร | กรายกรมาขึ้นพิชัยรถ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เพลง
โทน
๏ รถเอยรถประพาส | ลอยผาดเลื่อมพื้นมรกต |
แอกงอนอ่อนงามช้อยชด | ชั้นลดช่อล้วนมณีนิล |
กงคร่ำกำเครื่องเครือแก้ว | ดุมแล้วด้วยลวดมุกดาสิ้น |
เครือยุดครุฑเหยียบนาคินทร์ | เทียมสินธพสี่ดั่งลมพัด |
ขุนรถขับรีบเยื้องกราย | ธงริ้วทิวรายปลายสะบัด |
ชุมสายฉายแสงสุวรรณรัตน์ | เศวตฉัตรแทรกชั้นจามร |
เสียงกลองซ้องกลบครื้นครั่น[1] | ไพรเสนาะเพราะสนั่นสิงขร |
ปี่เรื่อยเป่ารับแตรงอน | พลากรเรียบริ้วดำเนินคลา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงพระพงศ์เทเวศร์ | ชวนสามอัคเรศเสน่หา |
ลงจากรถแก้วแววฟ้า | ลีลาเข้าสวนอุทยาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ชมไพร
๏ พาสามมเหสีลีลาศ | ชี้ชมบุปผชาติชูก้าน |
การะเกดแก้วกรรณิการ์กาญจน์ | ชบาบานตะแบกอินทนิล |
ประยงค์ยมนมยวงนางแย้ม | พิกุลแกมพุดซ้อนซ่อนกลิ่น |
ลําดวนดอกดกดาษดิน | กระทุ่มแซมกระถินอินจัน |
โศกสนสาวหยุดโยทะกา | จําปาสุกรมนมสวรรค์ |
พุดตานแต้วตาดมะลิวัลย์ | พิกันเกดพุดจีบจําปี |
มะลิลากุหลาบกาหลง | มหาหงส์หางยูงสลับสี |
บุนนาคกระทึงสารภี | มะลุลีประดู่กระดังงา |
พระเด็ดดอกสัตบุษย์พุทธชาด | ให้สามองค์นุชนาถเสน่หา |
ลดเลี้ยวเที่ยวชมสุมาลา | ผ่านฟ้าเกษมเปรมปรีดิ์ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เพลงฉิ่ง