- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
๏ เมื่อนั้น | บรรลัยกัลป์ฤทธิแรงแข็งขัน |
เห็นวานรไพรใจฉกรรจ์ | กายนั้นใหญ่หลวงมหิมา |
ขาวผ่องบริสุทธิ์ทั้งอินทรีย์ | ท่วงทีองอาจแกล้วกล้า |
มีกุณฑลขนเพชรรจนา | เขี้ยวแก้วมาลาอลงการ |
กริ้วโกรธขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน | กุมภัณฑ์ตอบไปด้วยคำหาญ |
เหม่เหม่ดูดูไอ้สาธารณ์ | เชื้อชาติเดียรัจฉานทรลักษณ์ |
กูคิดว่าเป็นมหิงสา | เมตตาช่วยยกขึ้นจากปลัก |
กลับทำโกหกเยื้องยัก | เป็นลิงไพรฮึกฮักมาราญรอน |
สาอะไรแก่มึงไอ้หน้าขน | จะทานทนศักดาไกรสร |
บัดเดี๋ยวก็จะยับลงกับกร | ด้วยฤทธิรอนกูบัดนี้ |
ว่าแล้วชักศรขึ้นพาดสาย | มุ่งหมายจะล้างกระบี่ศรี |
น้าวหน่วงด้วยกำลังฤทธี | อสุรีก็ผาดแผลงไป ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ ศรชัยนั้นทำอำนาจ | เกลื่อนกลาดไม่นับเล่มได้ |
ให้เสียงสำเนียงเกรียงไกร | ล้อมไล่รอบตัววานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
เผ่นโผนโจนคว้าทั้งสองกร | ฉวยรวบเอาศรอสุรา |
ได้แล้วก็หักโยนเล่น | โลดเต้นร้องเย้ยยักษา |
เหตุใดไม่แผลงซ้ำมา | นิ่งอยู่ให้ช้าด้วยอันใด |
ว่าแล้วผาดแผลงสำแดงฤทธิ์ | ทศทิศกัมปนาทหวาดไหว |
กวัดแกว่งตรีเพชรดั่งเปลวไฟ | เข้าไล่โจมจับอสุรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ฉวยเข้าแห่งใดก็ลุ่ยหลุด | ไม่รู้ที่จะยุดยักษี |
ลื่นเลือกไปทั้งอินทรีย์ | ขุนกระบี่ยิ่งกริ้วโกรธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | บรรลัยกัลป์สิทธิศักดิ์ยักษา |
รับรองป้องปัดไปมา | อสุราโจมจับวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ กลับกลอกโรมรันประจัญรบ | หลีกหลบด้วยกำลังชาญสมร |
หวดด้วยมหาคทาธร | ต้องกายวานรหลายที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
มิได้เจ็บช้ำอินทรีย์ | ขุนกระบี่ถวิลจินดา |
ตัวกูผู้เป็นทหาร | องค์พระอวตารนาถา |
แต่สังหารหมู่อสุรา | มรณาเกลื่อนกลาดดาษไป |
ก็ไม่เหมือนไอ้บรรลัยกัลป์ | ฤทธิ์มันนั้นมีเป็นไฉน |
แต่จู่โจมโถมจับทีใด | ก็ลื่นเลือกดั่งไคลในชลธาร |
พิเภกว่ามันตั้งกลากิจ | ปลุกฤทธิ์ชุบตัวด้วยน้ำว่าน |
ก็ไม่ได้ถามให้แจ้งการ | ซึ่งจะสังหารอสุรี |
ตัวกูจะรีบลอบไป | เนินไศลมรกตคีรีศรี |
ถามพระทิศไพมุนี | เห็นทีจะแจ้งกิจจา |
คิดแล้วยอกรขึ้นบังคม | พระอิศวรบรมนาถา |
สะกดใจร่ายเวทวิทยา | อันมหาวิเศษเลิศไกร ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ บัดเดี๋ยวก็เป็นวานร | สำแดงฤทธิรอนแผ่นดินไหว |
ให้อยู่สัประยุทธ์ชิงชัย | ตัวนั้นเหาะไปทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงศาลาอาศรม | ประนมกรกราบบาทพระฤๅษี |
แจ้งว่าสมเด็จพระจักรี | ให้ข้านี้มาล้างอสุรา |
ชื่อบรรลัยกัลป์สิทธิศักดิ์ | โอรสทศพักตร์ยักษา |
ตัวมันนั้นอาบว่านยา | ข้าจับก็ลื่นหลุดไป |
ทำไฉนฉะนี้พระอาจารย์ | จึ่งจะผลาญชีวิตมันเสียได้ |
พระองค์ผู้ทรงปรีชาไว | ขออภัยจงโปรดปรานี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระทิศไพมหาฤๅษี |
ได้ฟังวานรพาที | พระมุนีจะแจ้งด้วยปรีชา |
จึ่งยื่นกรไปหยิบเอาฝุ่นทราย | มาเรี่ยรายปรายลงที่ตรงหน้า |
แล้วจึ่งแกล้งกล่าววาจา | ว่าเหวยวานรผู้มีฤทธิ์ |
ซึ่งเอ็งจะล้างกุมภัณฑ์ | จะให้บอกนั้นไม่ชอบกิจ |
ด้วยตัวกูผู้เป็นบรรพชิต | ตั้งจิตแต่ที่จำเริญฌาน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจหาญ |
แจ้งในอุบายพระอาจารย์ | ก็ก้มเกล้ามัสการแล้วเหาะมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงซึ่งที่รณรงค์ | ก็ลงจากอากาศเวหา |
จึ่งคลายพระเวทอันศักดา | รูปมายานั้นก็หายไป |
ขุนกระบี่จึ่งกำเอาฝุ่นทราย | ซัดให้ต้องกายแล้วรุกไล่ |
ถาโถมโจมจับว่องไว | ชิงชัยโรมรันประจัญตี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึ่งบรรลัยกัลป์ยักษี |
ครั้นวานรโปรยปรายทรายธุลี | ติดต้องอินทรีย์วุ่นไป |
อันนํ้าว่านซ่านซาบอาบมา | จะลื่นเลือกกายาก็หาไม่ |
ขุนมารตระหนกตกใจ | ดั่งใครมาเด็ดเอาชีวัน |
แล้วกลับคิดอายเสียดายพักตร์ | ขุนยักษ์กริ้วโกรธหุนหัน |
ตัวกูก็ชายชาญฉกรรจ์ | จะเกรงมือมันก็ใช่ที |
ถึงมาตรถ้าตายจะไว้ยศ | ให้ปรากฏฟากฟ้าราศี |
คิดแล้วแกว่งตระบองอันฤทธี | อสุรีโจมจับวานร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ต่างตีต่างแทงกันสับสน | ต่างตนห้าวหาญชาญสมร |
ถ้อยทีไม่ลดงดกร | ราญรอนกลับกลอกไปมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
รับรองป้องปัดอสุรา | โถมเข้าเข่นฆ่าราวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เท้าหนึ่งเหยียบเข่าทะยานยุทธ์ | มือชิงคทาวุธยักษี |
กลอกกลับจับกันในที | ขุนกระบี่แทงถูกกุมภัณฑ์ |
ล้มลงกับพื้นสุธาธาร | โผนทะยานเหยียบอกไว้มั่น |
กวัดแกว่งตรีเพชรฟอนฟัน | ก็สุดสิ้นชีวันด้วยฤทธา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๏ แล้วตัดเศียรเกล้าขุนมาร | ด้วยตรีสุรกานต์คมกล้า |
เหาะทะยานผ่านขึ้นยังเมฆา | กลับมาที่ประทับโยธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงน้อมเกล้าบังคมทูล | นเรนทร์สูรธิราชเรืองศรี |
ถวายเศียรบรรลัยกัลป์อสุรี | ในที่ท่ามกลางวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรแก้วสุริย์วงศ์ทรงศร |
เห็นเศียรลูกท้าวยี่สิบกร | ภูธรชื่นชมด้วยสมคิด |
ดั่งได้สมบัติเทวัญ | ในฉ้อชั้นวิมานดุสิต |
ผิวพักตร์ผุดผ่องพึงพิศ | พระทรงฤทธิ์ตรัสชมหนุมาน |
มิเสียแรงเป็นลูกพระพาย | แยบคายปรีชากล้าหาญ |
ใช้ไหนก็ได้ราชการ | ความชอบของท่านนี้มากนัก |
ถึงจะให้สมบัติทั้งแผ่นดิน | เป็นปิ่นไพร่ฟ้าอาณาจักร |
ก็ไม่เท่าบำเหน็จที่จงรัก | สงครามฆ่ายักษ์แต่ต้นมา |
ตรัสแล้วชวนองค์อัครราช | นุชนาฏผู้ยอดเสน่หา |
ลงจากที่ประทับพลับพลา | มาขึ้นบุษบกอำไพ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ให้เลิกโยธาพลากร | ยักษาวานรน้อยใหญ่ |
โห่ฮึกรีบเร่งกันไป | เข้าในพนมพนาลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โทน
๏ พระชี้ให้องค์วนิดา | ทัศนาหมู่วิหคปักษี |
กระลุมพูจู่จับสารภี | โนรีจับรังเรียงราย |
นกแก้วจับเกดจำนรรจา | นกคล้าบินเคล้ามาจับขลาย |
กระสาจับกิ่งยางทราย | นกหว้าจับหวายเป็นคู่เคียง |
นกยางจับเยื้องบนยอดยูง | หมู่หงส์พาฝูงมาจับเหียง |
เค้าโมงจับโมกมองเมียง | นกเอี้ยงจับกิ่งอินทนิล |
ดุเหว่าบินว่อนมาจับหว้า | กระทาจับยอดกระถิน |
นกออกจับร้องบนต้นอินทร์ | นกขมิ้นบินจับมูกมัน |
ไก่ฟ้าถาจับแคฝอย | นกเขาจับข่อยคูขัน |
สาลิกาจับแก้วพลอดกัน | จากพรากผันจับลำพู |
นกยูงจับยางฟ้อนหาง | นกลางจับเลียบเลียบอยู่ |
พระองค์ชี้ชวนให้นางดู | แล้วเร่งหมู่พยุหบาตรยาตรา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงคันธมาศสิงขร | หอมกลิ่นเกสรบุปผา |
จึ่งตรัสบอกอัคเรศวนิดา | พี่ตามเจ้ามาถึงที่นี้ |
หัสนัยน์ใช้องค์เวสสุกรรม | นำเอาเครื่องทรงมาให้พี่ |
จึ่งได้ลาเพศจากโยคี | แรมอยู่ที่นี่หลายวัน |
พญาสุครีพฤทธิรอน | ถวายหมู่วานรพลขันธ์ |
ได้ทั้งโยธาชมพูนั้น | บรรจบกันทั้งสองนครา |
นับถึงเจ็ดสิบเจ็ดสมุทร | ล้วนมีฤทธิรุทรแกล้วกล้า |
จึ่งได้ยกไปตามวนิดา | ล้างโคตรอสุรายี่สิบกร |
ตรัสพลางเร่งพลพยุหบาตร | ผ่านเขาคันธมาศสิงขร |
รอนแรมมาในพนาดร | ใกล้นครขีดขินธานี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนิลพัทกระบี่ศรี |
แจ้งว่าสมเด็จพระจักรี | ผลาญหมู่อสุรีแล้วกลับมา |
ถึงด่านนัคเรศขีดขิน | ขุนกระบินทร์แสนโสมนัสสา |
จึ่งพาวานรโยธา | ออกมารับเสด็จพระสี่กร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรบังคม | ด้วยใจชื่นชมสโมสร |
ไหว้ทั้งพระลักษมณ์ฤทธิรอน | กับสีดาบังอรเทวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
เห็นนิลพัทมาก็ยินดี | ภูมีรีบเร่งพลไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุครีพผู้มีอัชฌาสัย |
น้อมเศียรกราบทูลภูวไนย | พระองค์จงได้เมตตา |
ขอเชิญเสด็จไปขีดขิน | พักพลพานรินทร์ยักษา |
ให้หายเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า | จึงค่อยยาตราพลากร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วทรงศร |
ได้ฟังสุครีพฤทธิรอน | ภูธรให้เคลื่อนโยธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงนิเวศน์วังสถาน | อันโอฬารด้วยแก้วจำรัสศรี |
จึ่งให้หยุดพหลโยธี | อยู่ยังที่ท้องสนามจันทน์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางดาราสาวสวรรค์ |
แจ้งว่าพระองค์ทรงสุบรรณ | ยกพวกพลขันธ์กลับมา |
ประทับอยู่หน้าพระลาน | เยาวมาลย์แสนโสมนัสสา |
จึ่งพาฝูงอนงค์กัลยา | ออกมารับเสด็จพระจักรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งคลานเข้าไป | ยังพิชัยรถมณีศรี |
น้อมเศียรถวายอัญชุลี | เทวีเหลือบเล็งเพ่งพิศ |
เห็นพระหริวงศ์ทรงเดช | งามลํ้าเทเวศในดุสิต |
พระพักตร์ผุดผ่องชวลิต | ดั่งรูปทองวิจิตรจำเริญใจ |
อันโฉมยงองค์อัครชายา | งามยิงนางฟ้าไม่เปรียบได้ |
แน่งน้อยเสาวภาคย์อำไพ | พักตร์เพียงแขไขไม่ราคิน |
งามทรงงามองค์งามวิลาศ | กิริยามารยาทก็งามสิ้น |
ดั่งลอยฟ้าลงมาแดนดิน | ควรเป็นปิ่นเกล้าสตรี |
สมศักดิ์สมสนองรองบาท | พระนารายณ์ธิราชเรืองศรี |
ดั่งทองรองรับแก้วมณี | เป็นที่สามโลกภิรมยา |
แล้วพินิจพิศโฉมพระลักษมณ์ | ดวงพักตร์เพียงเทพเลขา |
ผิวเหลืองเรืองรองดั่งทองทา | วิไลเลิศลักขณาทั้งสามองค์ |
ยิ่งพิศยิ่งเพลินจำเริญเนตร | เยาวเรศเคลิ้มใจใหลหลง |
ทั้งฝูงกำนัลนางอนงค์ | พิศวงงงงวยไปด้วยกัน ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วรังสรรค์ |
เห็นนางดาราวิลาวัณย์ | มาบังคมคัลด้วยยินดี |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | ดูก่อนเยาวมาลย์เฉลิมศรี |
ตัวท่านกับสนมนารี | ค่อยมีสุขหรือประการใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางดาราเยาวยอดพิสมัย |
ได้ฟังโองการพระภูวไนย | บังคมไหว้สนองพระบัญชา |
อันตัวข้าเบื้องบทมาลย์ | อยู่สุขสำราญถ้วนหน้า |
ด้วยเดชสมเด็จพระจักรา | ปกเกล้าเกศาทุกนารี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภูวนาถเรืองศรี |
ครั้นเสร็จสนทนาพาที | กับดาราเทวีวิไลลักษณ์ |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | สั่งลูกพระกาลสิทธิศักดิ์ |
ตัวท่านผู้จำเริญพักตร์ | จงรักษาขีดขินกรุงไกร |
กว่าพญาสุครีพจะกลับมา | อย่าให้มีอันตรายได้ |
แล้วจึ่งค่อยกลับคืนไป | อยู่ยังเวียงชัยของวานร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นิลพัทใจหาญชาญสมร |
ได้ฟังบัญชาพระภูธร | ยอกรสนองพจมาน |
ซึ่งจะให้ข้าพานรินทร์ | รักษาขีดขินราชฐาน |
ทั้งนี้ตามแต่พระโองการ | ผ่านเกล้าจะทรงพระเมตตา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุครีพฤทธิไกรใจกล้า |
น้อมเศียรกราบลงกับบาทา | ทูลสามกษัตราธิบดี |
ขอเชิญเสด็จลีลาศ | ไปประพาสมิ่งไม้ในสวนศรี |
ขององค์พญาพาลี | เป็นที่แสนสุขสถาวร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วทรงศร |
ได้ฟังลูกพระทินกร | ภูธรยินดีปรีดา |
จึ่งให้เคลื่อนนิกรโยธี | แสนสุรเสนีซ้ายขวา |
สุครีพนำเสด็จยาตรา | ไปสวนมาลาพานรินทร์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งให้หยุดโยธี | แสนสุรเสนีทั้งสิ้น |
ประทับกับเกยแก้วโกมิน | พระทรงศิลป์ชวนองค์บังอร |
กับพระอนุชาสุริย์วงศ์ | ลงจากบุษบกประภัสสร |
สามกษัตริย์ยุรยาตรนาดกร | บทจรเข้าสวนมาลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เที่ยวชมแถวชั้นรุกขชาติ | ดอกเกลื่อนดกกลาดหนั้นหนา |
กาหลงกุหลาบกระดังงา | การะเกดกรรณิการ์ลำดวน |
นมยวงนางแย้มจำปา | พันจาพุดจีบหอมหวน |
มะลิลามาลุลีนางนวล | บางเหล่าบานล้วนสุมามาลย์ |
ช้องนางช้างน้าวสาวหยุด | ช่อตะแบกชาตบุษย์ชูก้าน |
พิกุลพวกแก้วเป็นแถวบาน | พุดตานพันแต้วจำปี |
บุนนาคบานน้อมค้อมผกา | รักลารายล้อมสลับสี |
ม่วงสนหมู่โศกสารภี | ลิ้นจี่ลำเจียกจิกจันทน์ |
พุมเรียงเพียงร้อยไปห้อยไว้ | ลำไยรังยมนมสวรรค์ |
ปริงรุ่นปรางเรียงเคียงกัน | อัญชันแอบช่อชะบาบาน |
ทรงเด็ดซึ่งดอกมหาหงส์ | ให้ยุพยงผู้ยอดสงสาร |
สามกษัตริย์สุขเกษมในอุทยาน | ชมสำราญชื่นสำเริงบันเทิงใจ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ จึ่งชวนพระลักษมณ์อนุชา | กับสีดาเยาวยอดพิสมัย |
เสด็จขึ้นพระตำหนักอำไพ | ในสวนอุทยานพาลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่อสุรศักดิ์ยักษี |
ท้าวพญาวานรโยธี | ต่างตนยินดีปรีดา |
สัพยอกหยอกกันอลวน | บ้างเที่ยวไปเก็บผลพฤกษา |
ยักษ์ลิงชิงกันเป็นโกลา | สำรวลสรวลร่าทั้งทัพชัย |
บ้างเล่นปิดตาหาซ่อน | วานรวิ่งหนียักษ์ไล่ |
ตบหัตถ์ผัดล่อวุ่นไป | ไพร่นายเป็นสุขสำราญ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรกฤษณ์ลือฤทธิ์ทุกทิศาน |
ครั้นคํ่ายํ่าสนธยากาล | ก็ชวนองค์เยาวมาลย์นางสีดา |
เข้าที่สิริไสยาสน์ | ร่วมอาสน์ภิรมย์หรรษา |
อิงแอบแนบชิดนิทรา | ผ่านฟ้าก็เคลิ้มหลับไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นล่วงปัจฉิมราตรี | สกุณีเพรียกพร้องเสียงใส |
ดุเหว่าร้องเร่งสุริโยทัย | เสนาะเสียงไก่แก้วโกกิล |
พระพายชายพัดอ่อนอ่อน | รำเพยพาเกสรขจรกลิ่น |
ฝูงแมลงภู่ภุมริน | บินเคล้าเอาซาบสุมามาลย์ |
ชาวประโคมก็ประโคมฆ้องกลอง | ปี่เสนาะเพราะก้องเฉื่อยฉาน |
ตื่นจากแท่นแก้วอลงการ | ผ่านฟ้าปลุกองค์อรไท ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ชำระสระสรงทรงเครื่อง | อร่ามเรืองพักตร์ผ่องดั่งแขไข |
ชวนองค์วนิดายาใจ | ไปขึ้นบุษบกอันรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ให้เลิกโยธาวานรินทร์ | ออกจากขีดขินบุรีศรี |
เข้าในพนมพนาลี | ไปโดยวิถีกันดาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ มาได้สิบห้าโยชน์กึ่ง | ถึงป่ารังใหญ่ไพศาล |
ตรัสบอกนางสีดายุพาพาล | แรกพี่จากสถานกุฎี |
มากับเจ้าลักษมณ์อนุชา | พบพญาสดายุที่นี่ |
เจ็บชํ้าลำบากทั้งอินทรีย์ | แจ้งข่าวเทวีทุกสิ่งอัน |
แล้วให้ธำมรงค์อลงการ์ | สกุณาก็ม้วยอาสัญ |
พี่ปลงศพเสร็จในวันนั้น | ก็พากันติดตามเจ้าไป |
ตรัสแล้วเร่งพวกพลากร | ยักษาวานรน้อยใหญ่ |
ข้ามละหานธารท่าพนาลัย | รอนแรมมาในหิมวา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงโคธาวารี | จึ่งให้หยุดโยธีซ้ายขวา |
อยู่ยังบริเวณศาลา | แล้วชวนสีดายุพาพาล |
กับพระอนุชาสุริย์วงศ์ | ลงจากบุษบกมุกดาหาร |
เสด็จไปสระสรงชลธาร | นางกษัตริย์นงคราญก็ตามไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ สามองค์ย่างเยื้องยุรยาตร | งามวิลาศไม่มีที่เปรียบได้ |
เสด็จลงโสรจสรงชลาลัย | ในมหาโคธาวารี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โทน
๏ ชมหมู่โกมุทอุบลมาศ | ฝักดอกออกดาษนทีศรี |
แดงขาวม่วงขาบเขียวขจี | พร้อมมีห้าหมู่ปทุมาลย์ |
บ้างตูมตั้งรายเต็มดั่งแกล้งแต้ม | บ้างผุดแกมแนมชูกอก้าน |
บ้างยื่นยอดคลี่แย้มผกากาญจน์ | บ้างระบัดกลีบบานอรชร |
พระพายชายพัดรำเพยต้อง | ละอองโรยโปรยร่วงเกสร |
กลิ่นเฟื่องหอมฟุ้งขจายจร | ภมรไซ้คลึงซาบเรณูนวล |
พระเลือกเด็ดล้วนดอกอันเบิกบาน | ให้เยาวมาลย์ยอดมิ่งทรามสงวน |
แสนสำราญชื่นเรียงเคียงสำรวล | แล้วชี้หัตถ์ตรัสชวนให้ชมปลา |
เพียนทองว่ายท่องในท้องธาร | แมงภู่พาฝูงพานเข้าแฝงหญ้า |
กริมกรายว่ายกรูเป็นหมู่มา | สร้อยซ่าลอยเลียบเข้าเล็มไคล |
หน้าคนว่ายแข่งตะแคงตัว | ปลาบู่แอบบัวอยู่ไหวไหว |
นางชมเชยชมสำราญใจ | ภูวไนยโสมนัสยินดี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ ครั้นเสร็จชำระสระสรง | สามกษัตริย์สุริย์วงศ์เรืองศรี |
ก็เสด็จขึ้นจากนัที | มาที่บุษบกอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกสุครีพชาญสมร |
หนุมานนิลนนท์ฤทธิรอน | โยธาวานรกุมภัณฑ์ |
ครั้นพระหริวงศ์ทรงสังข์ | เสด็จยังบุษบกฉายฉัน |
ท้าวพญาไพร่พลทั้งนั้น | ก็ชวนกันลงเล่นคงคา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บ้างว่ายบ้างดำสับสน | วานรเล่นปนกับยักษา |
สัพยอกหยอกกันไปมา | บันเทิงเริงร่าในนัที |
อสุราเก็บฝักบัวกิน | หมู่กระบินทร์ฉวยชิงวิ่งหนี |
ยักษาเอาก้านบัวตี | หยอกกันมี่อึงคะนึงไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ ครั้นเสร็จซึ่งเล่นสาคร | อสุราวานรน้อยใหญ่ |
ต่างตนต่างแสนสำราญใจ | นายไพร่ก็พากันขึ้นมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วนาถา |
ประทับร้อนผ่อนพักโยธา | อยู่ที่ริมท่าวารี |
แสนสุขแสนเกษมสำราญ | กับเยาวมาลย์ยอดมิ่งมเหสี |
ทั้งหมู่พหลโยธี | หายที่ล้าเลื่อยเหนื่อยกาย |
พระพายชายพัดอ่อนอ่อน | ระงับร้อนซึ่งแสงสุริย์ฉาย |
จึ่งเลิกโยธาไพร่นาย | บ่ายหน้าไปตามมรคา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เข้าในพนมพนาวาส | ชมสัตว์จตุบาทกลาดป่า |
ไกรสรกาสรกิเลนลา | เลียงผาเผ่นผาร่าเริง |
กวางเมียงหมายคู่คู่แฝง | โคแดงโคถึกถึกเถลิง |
โตเต้นเต้นคะนองลองเชิง | กระทิงเที่ยวเที่ยวเตริงพนาลี |
เสือโคร่งตามฟานฟานร้อง | ละมั่งมองเลี้ยวหลบหลบหนี |
คชสารสารนำกิริณี | คชศรีศรีเศวตชมกัน |
ทรายทองเที่ยวเล็มเล็มระบัด | นรสิงห์สิงหนัดผกผัน |
กระต่ายเต้นเต้นโลดพัลวัน | กระเห็นเห็นกันแล้ววิ่งมา |
หมีบ่นพึมพึมกระหึมเสียง | ระมาดเมียงเมียงกินหนามหนา |
กระจงแอบแอบริมมรคา | ชะนีโหยโหยหาคู่นอน |
ชมพลางพลางชี้ฝูงสัตว์ | ตรัสบอกวนิดาดวงสมร |
แล้วรีบหมู่โยธาพลากร | บทจรตามทางพนาลี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ ล่วงพ้นอาศรมพระสระภังค์ | ทั้งพระภารัทวาชฤๅษี |
ข้ามฝั่งสะโตงนัที | ภูมีเร่งรีบพลไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นใกล้อาศรมศาลา | พระวสิษฐ์มหาอาจารย์ใหญ่ |
จึ่งให้หยุดพหลสกลไกร | ไว้ที่ชายป่าเนินทราย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายคณะดาบสทั้งหลาย |
เห็นยักษ์มารเที่ยวพ่านวุ่นวาย | ไม่รู้ว่าพระนารายณ์กลับมา |
ต่างองค์ตกใจเป็นพ้นคิด | ด้วยเคยกลัวฤทธิ์ยักษา |
สติไม่เป็นวิญญาณ์ | ตัวสั่นหน้าตาลนลาน |
บ้างฉวยได้นํ้าเต้าลูกประคำ | มือคลำคว้าหาบริขาร |
ลางองค์ได้พัดใบตาล | โจนทะยานลงจากกุฎี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ วิ่งพะปะกันล้มลุก | บุกเข้าป่าชัฏลัดหนี |
บ้างแอบชะง่อนคีรี | เรียกหากันมี่อึงไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระวสิษฐ์สวามิตรอาจารย์ใหญ่ |
เห็นคณะฤๅษีชีไพร | ตกใจวิ่งวุ่นเป็นโกลา |
เหมือนครั้งเมื่อกากนามาร | โยคีแตกพ่านเข้าป่า |
ให้ฉงนสนเท่ห์ในวิญญาณ์ | ก็รีบออกมาจากกุฎี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ หยุดยืนเหลือบเล็งเพ่งพิศ | เห็นพระจักรกฤษณ์เรืองศรี |
กับพระลักษมณ์นางสีดาเทวี | อยู่ที่กลางพวกพลากร |
จึ่งเรียกซึ่งหมู่สานุศิษย์ | ด้วยจิตชื่นชมสโมสร |
ว่าองค์พระรามฤทธิรอน | ภูธรเสด็จกลับมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์องค์นารายณ์นาถา |
จึ่งชวนอัคเรศสีดา | กับพระอนุชาร่วมชีวี |
เสด็จลงจากบุษบกแก้ว | อันเพริศแพร้วจำรัสรัศมี |
กรายกรย่างเยื้องจรลี | ไปยังกุฎีพระนักพรต ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ต่างองค์น้อมเศียรอภิวาท | แทบบาทพระมหาดาบส |
ทั้งสามงามศักดิ์งามยศ | นั่งเป็นหลั่นลดกันมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองพระอาจารย์ฌานกล้า |
เห็นสามพระราชนัดดา | แสนโสมนัสสาพันทวี |
จึ่งกล่าววาจาอันสุนทร | ดูก่อนพระรามเรืองศรี |
เจ้ารับสัจมาสิบสี่ปี | ทรงเพศโยคีไปเดินไพร |
บำเพ็ญภาวนามาช้านาน | ประมาณจิตกายเป็นไฉน |
ลาพรตมานี้ด้วยอันใด | สงสัยเป็นพ้นคณนา |
อันหมู่โยธาพลากร | วานรอสุรศักดิ์ยักษา |
นับสมุทรแลสุดสายตา | ได้มาแต่ไหนดั่งนี้ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วเรืองศรี |
จึ่งแถลงแจ้งความพระมุนี | เดิมทีหลานพากันไป |
จากสัตกูฏสิงขร | ถึงโคธาสาครกว้างใหญ่ |
ก็หยุดอยู่สร้างพรตอดใจ | ในที่แทบใกล้คงคา |
วันหนึ่งจึ่งน้องทศพักตร์ | นางยักษ์ชื่อสำมนักขา |
แปลงรูปด้วยฤทธิ์อสุรา | เป็นมนุษย์โสภานารี |
มาเฝ้าเย้ายวนกวนสวาท | ให้สังวาสร่วมรักด้วยยักษี |
ฝ่ายข้ามิได้ไยดี | มันหยิกตีสีดายุพาพาล |
องค์พระอนุชากริ้วโกรธ | ทำโทษไม่ล้างสังขาร |
ตัดตีนสินมืออีมาร | แล้วปล่อยประจานให้สาใจ |
ตรีเศียรทูษณ์ขรพี่มัน | ยกพวกพลขันธ์พยุห์ใหญ่ |
หลานผลาญเสียสิ้นไม่เหลือไป | แล้วไอ้มารีศเป็นกวางมา |
นางสีดาเห็นเป็นพิศวาส | ให้ข้าบาทตามไปที่ในป่า |
ทศพักตร์จึ่งลักกัลยา | ไปไว้ลงกาธานี |
ตัวหลานสองคนทนเทวษ | เที่ยวตามอัคเรศโฉมศรี |
พบสุครีพน้องพญาพาลี | จึ่งได้รี้พลพานร |
ทั้งชมพูขีดขินบุรินทร์ราช | ล้วนองอาจแกล้วหาญชาญสมร |
ลาพรตยกพวกพลากร | ตามไปราญรอนทศกัณฐ์ |
ฆ่าเสียตายสิ้นทั้งโคตรมิตร | ด้วยศรสิทธิ์พระองค์ประสาทสรรค์ |
เสร็จศึกอสุรกุมภัณฑ์ | จึ่งยกพลขันธ์มาเวียงชัย ฯ |
ฯ ๒๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระมหาอาจารย์ใหญ่ |
ทั้งคณะโยคีชีไพร | ได้ฟังบัญชาพระสี่กร |
ว่าฆ่าอสุราสิ้นวงศ์ | ต่างองค์ชื่นชมสโมสร |
แย้มยิ้มพริ้มพักตร์สถาวร | แล้วกล่าวสุนทรวาจา |
ครั้งนี้สามโลกจะสิ้นทุกข์ | เป็นสุขทั่วไปในแหล่งหล้า |
ด้วยพระองค์ผู้ทรงศักดา | มาช่วยดับเข็ญให้เย็นใจ |
จงจำเริญชันษาเกียรติยศ | กำหนดชั่วกัลปาอสงไขย |
ครอบครองสวรรยาราไชย | อันตรายสิ่งใดอย่าแผ้วพาน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงกุขันพรานไพรใจหาญ |
มีจิตคิดถึงพระอวตาร | ปานดั่งบิตุเรศธิบดี |
เพื่อนจึ่งกำหนดใบไม้หล่น | ได้สิบสี่หนไม่คลาดที่ |
สำคัญว่าครบสิบสี่ปี | องค์พระจักรีจะกลับมา |
กูจะไปคอยท่ายังวาริน | รับพระทรงศิลป์นาถา |
คิดแล้วก็แต่งกายา | จับธนูพาดบ่าแล้วรีบไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงซึ่งที่ประชุมพล | ปีนขึ้นบนต้นไม้ใหญ่ |
ก็เป่าหลอดเรียกพรานไพร | ตามซึ่งได้สัญญากัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เป่าหลอด
๏ บัดนั้น | บริวารพรานป่าพนาสัณฑ์ |
ได้ยินเสียงหลอดสำคัญ | ก็พากันมาต้นมรคา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | กุขันนายใหญ่ใจกล้า |
ครั้นพลมาพร้อมก็ปรีดา | จึ่งรีบไปยังท่าสาชล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เห็นรอยเท้าช้างเท้าม้า | รอยพลโยธาสับสน |
บรรดาพฤกษาในอารญ | หักโค่นเกลื่อนกลาดดาษไป |
แต่พินิจพิศเพ่งอยู่เป็นครู่ | ดูดูแล้วคิดสงสัย |
ใครหนอมาแต่ตำบลใด | หลากใจเป็นพ้นคณนา |
กูจะไปฟังดูยังอาศรม | พระบรมอาจารย์ฌานกล้า |
ก็จะแจ้งไม่แคลงวิญญาณ์ | คิดแล้วตรงมายังกุฎี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เหลือบแลเห็นหมู่วานร | กับพลนิกรยักษี |
เกลื่อนกลาดดาษป่าพนาลี | ทั้งรถมณีอำไพ |
ให้คิดฉงนสนเท่ห์นัก | ยักษาวานรมาแต่ไหน |
จะถามพระดาบสให้แจ้งใจ | ก็ตรงเข้าไปยังศาลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งพลวานรกับยักษา |
เห็นพรานไพรอื้ออึงคะนึงมา | ล้วนถือปืนยาลูกพิษ |
เดินตรงเข้าไปยังอาศรม | แห่งพระบรมนักสิทธ์ |
เกรงว่าจะเป็นปัจจามิตร | คิดแล้ววิ่งกรูกันออกไป |
หยุดยืนขวางทางร้องว่า | ไอ้ชาวป่านี้มาแต่ไหน |
จึ่งทำอาจองทะนงใจ | จะเข้าไปไยในกุฎี |
อันองค์สมเด็จพระจักรา | สนทนาอยู่ด้วยพระฤๅษี |
จงเร่งไปเสียบัดนี้ | หาไม่ชีวีจะมรณา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์นาถา |
ได้ยินอื้ออึงคะนึงมา | ผ่านฟ้าเหลือบเล็งเพ่งพิศ |
เห็นนายกุขันนำพล | เกลื่อนกล่นกันมาอกนิษฐ์ |
ชื่นชมด้วยสมพระทัยคิด | ทรงฤทธิ์ก็ตรัสเรียกไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กุขันผู้มีอัชฌาสัย |
ครั้นแลเห็นองค์พระทรงชัย | ดีใจก็วิ่งมาทันที |
กอดเบื้องพระบาทแล้วกราบทูล | นเรนทร์สูรปิ่นภพเรืองศรี |
ข้าจากบทเรศสิบสี่ปี | ไม่มีความสุขสักเวลา |
วันนี้ได้พบพระทรงสวัสดิ์ | ความแสนโสมนัสหนักหนา |
ทูลแล้วบังคมนางสีดา | กับพระลักษมณ์อนุชาวิลาวัณย์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์รังสรรค์ |
ได้ฟังนายพรานรำพัน | ทรงธรรม์มีราชโองการ |
ตัวเราสร้างพรตอดใจ | ยังหิมวาลัยไพศาล |
แล้วต้องไปรบยักษ์มาร | แสนยากปิ้มปานจะมรณา |
ฝ่ายท่านอยู่หลังยังแจ้งเหตุ | พระชนนีเกิดเกศเกศา |
กับสองพระศรีอนุชา | ค่อยผาสุกหรือประการใด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กุขันผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังบัญชาภูวไนย | บังคมไหว้สนองพระวาที |
อันพระชนนีธิราช | กับพระนุชนาถทั้งสองศรี |
อยู่หลังตั้งแต่โศกี | ไม่มีความสุขทุกเวลา |
อันหมู่เสนาประชากร | แสนโศกทุกข์ร้อนถ้วนหน้า |
ด้วยองค์สมเด็จพระจักรา | อยู่ทุกทิวาราตรีกาล ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรกฤษณ์ฤทธิ์ล้ำพระสุริย์ฉาน |
ได้ฟังกุขันนายพราน | บอกเล่าข่าวสารทุกสิ่งไป |
ให้คะนึงถึงคุณพระชนนี | เพียงจะกลั้นโศกีมิใคร่ได้ |
ชลเนตรคลอเนตรภูวไนย | ระงับไว้แล้วมีวาจา |
ดูก่อนคำแหงวายุบุตร | ผู้มีฤทธิรุทรแกล้วกล้า |
ท่านกับกุขันอันปรีชา | จงพากันรีบเข้าไปธานี |
ทูลข่าวให้ทราบเบื้องบาท | พระมารดาธิราชเฉลิมศรี |
กับสองน้องรักร่วมชีวี | อย่าให้โศกีร่ำไร |
บัดนี้เรากับอนุชา | นางสีดาผู้ยอดพิสมัย |
กลับมาจากที่เดินไพร | ถึงศาลาลัยพระอาจารย์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจหาญ |
กับทั้งกุขันนายพราน | รับรสพจมานด้วยปรีดา |
ต่างตนน้อมเศียรอภิวาทน์ | แทบบาทพระนารายณ์นาถา |
ออกจากอาศรมศาลา | รีบไปอยุธยาธานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงพระพรตพระสัตรุดเรืองศรี |
ครั้นครบกำหนดสิบสี่ปี | ไม่เห็นพระจักรีสี่กร |
เสด็จกลับคืนเข้ามา | ให้เร่าร้อนอุราดั่งต้องศร |
ต่างแสนโศกาอาวรณ์ | ภูธรแต่ปรับทุกข์กัน |
บัดนี้ก็ครบกำหนดแล้ว | องค์พระจักรแก้วรังสรรค์ |
กับพระลักษมณ์นางสีดาวิลาวัณย์ | ไม่คืนเขตขัณฑ์ดั่งสัญญา |
ตัวเราจะเข้ากองไฟ | สิ้นชีวาลัยเสียดีกว่า |
อย่าให้ไตรโลกล่วงนินทา | ว่าเสียซึ่งสัจปัฏิญาณ |
คิดแล้วก็พากันยุรยาตร | ลงจากปราสาทฉายฉาน |
เสด็จด้วยสนมบริวาร | มาสถานนิเวศน์พระชนนี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงประณตบทบงสุ์ | องค์พระมารดาทั้งสามศรี |
ทูลว่าอันตัวของลูกนี้ | ได้ให้สัจพระพี่สี่กร |
เมื่อไปเชิญเสด็จเข้านิเวศน์ | ยังเขตเขาสัตกูฏสิงขร |
เป็นคำมั่นโดยธรรม์สถาวร | ฝูงเทพนิกรก็แจ้งใจ |
บัดนี้ก็ครบสิบสี่ปี | พระจักรีจะมาก็หาไม่ |
ลูกรักจักลาเข้ากองไฟ | ให้บรรลัยไปตามสัญญา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สามพระชนนีเสน่หา |
ได้ฟังดั่งจะม้วยชีวา | ต่างทรงโศการำพัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ โอ้เจ้าดวงเนตรของแม่เอ๋ย | ไฉนเลยจะม้วยอาสัญ |
อันความสัจซึ่งปัฏิญาณกัน | วันนั้นต่อหน้าชนนี |
พระพี่เจ้าไปเดินหิมเวศ | ทรงเพศจรรยาเป็นฤๅษี |
ถ้าครบคำรบสิบสี่ปี | จะกลับมาบุรีดั่งสัญญา |
นี่สิวานรมาแจ้งความ | ว่าไปสงครามด้วยยักษา |
ถึงทวีปนครลงกา | แกวตาก็แจ้งประจักษ์ใจ |
อันการณรงค์โรมรัน | จะกำหนดคืนวันนั้นไม่ได้ |
ถ้าเจ้าทั้งสองบรรลัย | ที่ไหนแม่จะคงชีวี |
ฝ่ายพระรามพระลักษมณ์กลับมา | จะสิ้นชีวาทั้งสองศรี |
จงงดฟังสักสามราตรี | ดีร้ายจะมีข่าวมา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตพระสัตรุดนาถา |
ฟังสามสมเด็จพระมารดา | ชลนาคลอเนตรแล้วทูลไป |
ซึ่งตรัสมาทั้งนี้ก็ควรนัก | แต่สุดที่ลูกรักจะงดได้ |
สู้ตายไม่เสียดายชีวาลัย | มิให้เสียสัจวาที |
ถ้าเชษฐามาถึงพระนคร | พระมารดรได้โปรดเกศี |
จงแจ้งให้ทราบบาทธุลี | ว่าลูกนี้ถวายบังคมลา |
ทั้งสามสมเด็จพระแม่เจ้า | จงโปรดเกล้าประทานโทษา |
ซึ่งได้ผิดพลั้งแต่หลังมา | อย่ามีเวราสืบไป |
ขอฝากสุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์ | ฝูงสนมกำนัลน้อยใหญ่ |
เมตตาช่วยเลี้ยงบำรุงไว้ | ให้ได้ความสุขสวัสดี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระมารดาทั้งสามศรี |
ได้ฟังลูกรักพาที | ดั่งหนึ่งชีวีจะมรณา |
ต่างองค์ต่างข้อนทรวงร่ำ | ครวญคร่ำเศร้าโทมนัสสา |
ต่างกอดลูกรักทั้งสองรา | โศกาสลบลงพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตพระสัตรุดรังสรรค์ |
เห็นสามพระมารดาวิลาวัณย์ | ทรงกันแสงโศกนิ่งไป |
ตกใจสิ้นสมประฤๅดี | จะดำรงอินทรีย์ก็ไม่ได้ |
ต่างองค์ซบพักตร์ลงร่ำไร | สลบไปกับบาทพระมารดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝูงสนมกรมในซ้ายขวา |
ทั้งนางท้าวเถ้าแก่จ่าชา | เห็นห้ากษัตราวิลาวัณย์ |
กันแสงแน่นิ่งไม่ติงกาย | ตกใจวุ่นวายตัวสั่น |
ก็ร้องไห้เซ็งแซ่ขึ้นพร้อมกัน | เสียงสนั่นอื้ออึงคะนึงไป |
อุประมาดั่งหนึ่งลมกาล | รำเพยพานพัดป่ารังใหญ่ |
อลหม่านทั้งข้างหน้าข้างใน | ไม่เป็นตำบลสนธยา |
ลางนางก็เข้านวดฟั้น | ประคองคั้นพระบาทซ้ายขวา |
บ้างเชิญเครื่องพระสุคนธ์มา | ชโลมห้ากษัตราทันที ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระมารดาทั้งสามศรี |
กับพระพรตพระสัตรุดธิบดี | ต้องสุคนธ์วารีเย็นใจ |
ทั้งแว่วเสียงสำเนียงนางกำนัล | ก็พากันฟื้นองค์ขึ้นมาได้ |
ส้วมสอดกอดสองโอรสไว้ | สะอื้นไห้แล้วกล่าววาจา |
อันตัวของเจ้าทั้งสี่ | เทเวศฤๅษีพร้อมหน้า |
ประชุมเชิญให้ไวกูณฐ์มา | หวังปราบอสุราสาธารณ์ |
ในกาลสมัยไตรดายุค | ให้โลกเป็นสุขเกษมศานต์ |
ไฉนจะม้วยชนมาน | ไตรดาลจะพึ่งผู้ใด |
อันองค์สมเด็จพระเชษฐา | จะไม่กลับมาอย่าสงสัย |
เจ้าอย่าเร่าร้อนฤๅทัย | ดวงใจจงฟังแม่พาที ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ