- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
๏ เมื่อนั้น | พระพรตพระสัตรุดเรืองศรี |
ได้ฟังสมเด็จพระชนนี | โศกีพ่างเพียงจะวายปราณ |
ชลนัยน์คลอคลองนองเนตร | แสนเทวษแสนโศกด้วยสงสาร |
กราบลงแทบเบื้องบทมาลย์ | ผ่านฟ้าจึ่งทูลสนองไป |
อันพระองค์ตรัสห้ามด้วยความรัก | สุดคิดลูกรักจักอยู่ได้ |
ซึ่งพระรามเสด็จไปเดินไพร | ภูวไนยรับสัจพระบิดา |
อันตัวของลูกทั้งสอง | ก็ครองสัจสมเด็จพระเชษฐา |
ดั่งเหล็กเพชรลิขิตแผ่นศิลา | จะให้โลกนินทาก็ใช่ที |
สู้ตายจะไว้เกียรติยศ | ให้ปรากฏทั่วฟ้าราศี |
ทูลแล้วลาองค์พระชนนี | เสด็จมายังที่พระลานชัย ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งสั่งสุมันตัน | อันเป็นเสนาผู้ใหญ่ |
ว่าองค์พระตรีภูวไนย | ไม่คืนเวียงชัยดั่งสัญญา |
ตัวท่านจงปิดทวารวัง | แต่งกันไว้นั่งรักษา |
อย่าให้สามสมเด็จพระมารดา | ออกมายังพระลานรูจี |
แล้วจึ่งกองไฟด้วยไม้หอม | ให้ประชุมเปลวพร้อมจำรัสศรี |
ตัวเราพี่น้องทั้งสองนี้ | จะวิ่งเข้าอัคคีให้บรรลัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุมันตันเสนาผู้ใหญ่ |
ได้ฟังตระหนกตกใจ | ดั่งใครมาเด็ดเอาชีวา |
แสนทุกข์แสนโศกแสนเทวษ | ยอกรเหนือเกศเกศา |
กราบลงแทบเบื้องบาทา | โศกาทูลน้องพระจักรี |
ถ้าพระองค์สวรรคตแล้ว | ดั่งดวงแก้วสิ้นแสงรัศมี |
เสนาไพร่ฟ้าประชาชี | จะรู้ที่ผันพักตร์ไปพึ่งใคร |
อันองค์สมเด็จพระอวตาร | จะเสียสัจปัฏิญาณนั้นหาไม่ |
ข้าบาทสำคัญในใจ | ไม่ช้าภูวไนยจะกลับมา |
พระองค์จงงดอยู่ก่อน | อย่าเพ่อราญรอนสังขาร์ |
ฟังดูอีกสักเวลา | ผ่านฟ้าจงได้ปรานี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตพระสัตรุดเรืองศรี |
ได้ฟังสุมันตันพาที | จึ่งมีบัญชาตอบไป |
อันซึ่งท่านรักท่านห้าม | สุดความคิดเราจะงดได้ |
ข้อนี้จนจิตจนใจ | ด้วยปัฏิญาณไว้แต่ก่อนมา |
แม้นครองกายไว้ก็เสียสัจ | เหมือนรักสมบัติแลยศถา |
ไม่ซื่อตรงต่อองค์พระพี่ยา | โลกาจะทายอัประมาณ |
อันคำของเราไม่กลับคืน | ยั่งยืนดั่งงาคชสาร |
ท่านจงกองเพลิงให้ชัชวาล | ในหน้าพระลานอย่าหน่วงไว้ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุมันตันเสนาผู้ใหญ่ |
ได้ฟังอัดอั้นตันใจ | ไม่รู้ที่จะขัดพระวาที |
ความรักความเสียดายสุดคิด | ร้อนจิตดั่งหนึ่งเพลิงจี่ |
ถวายบังคมคัลอัญชุลี | โศกีพลางเดินออกมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงก็ให้กองกูณฑ์ | ด้วยจุณจันทน์เนื้อไม้กฤษณา |
ตามมีพระราชบัญชา | ทั้งสองกษัตราเลิศไกร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่เสนีน้อยใหญ่ |
ทั้งหญิงชายชาวเวียงชัย | ไพร่ฟ้าพาณิชพราหมณ์ชี |
แจ้งว่าทั้งสองสุริย์วงศ์ | ผู้พงศ์จักรพรรดิเรืองศรี |
จะวิ่งเข้ากองอัคคี | ให้สิ้นชีวีวายปราณ |
ต่างตนตกใจไม่มีขวัญ | พากันแสนโศกด้วยสงสาร |
ก็วิ่งมายังหน้าพระลาน | อลหม่านไปทั้งกรุงไกร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ แซ่เซ็งด้วยเสียงโศกา | ดั่งว่าเกิดกาลพายุใหญ่ |
ต่างตนกลิ้งเกลือกเสือกไป | ไม่เป็นสติสมประดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตพระสัตรุดเรืองศรี |
จี่งมีพจนารถวาที | สั่งหมู่มนตรีเสนา |
วันนี้ตัวเราจะลาตาย | ทั้งหลายจงอยู่เป็นสุขา |
ขอฝากสามราชมารดา | ทั้งหมู่ไพร่ฟ้าประชากร |
กว่าพระหริวงศ์ทรงสุบรรณ | จะมาแต่อรัญสิงขร |
สั่งแล้วย่างเยื้องบทจร | จูงกรกันจะเข้ากองไฟ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กุขันหนุมานทหารใหญ่ |
ครั้นมาถึงหน้าพระลานชัย | ได้ยินเสียงร้องไห้เป็นโกลา |
เห็นพระอนุชาทั้งสอง | จะเข้ากองเพลิงแรงแสงกล้า |
ตกใจเป็นพ้นคณนา | สองนายวิ่งมาทันที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ กุขันเข้ากอดพระสัตรุด | วายุบุตรกอดพระพรตเรืองศรี |
ยุดไว้ด้วยกำลังอินทรีย์ | ท่ามกลางเสนีพลากร |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตพระสัตรุดทรงศร |
กริ้วโกรธพิโรธดังไฟฟอน | ภูธรเหลือบแลแปรมา |
เห็นหนุมานชาญฉกรรจ์ | กับนายกุขันพรานป่า |
ทั้งสองเข้ายุดกายา | จึ่งมีบัญชาถามไป |
ดูก่อนวานรกับนายพราน | ท่านนี้คิดอ่านเป็นไฉน |
ตัวเราจะเข้ากองไฟ | จึ่งมายุดไว้ดั่งนี้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กุขันหนุมานกระบี่ศรี |
กราบลงด้วยใจภักดี | ชุลีกรสนองพระบัญชา |
ว่าองค์สมเด็จพระอวตาร | ไปสังหารทศพักตร์ยักษา |
เสร็จสิ้นสงครามในลงกา | ด้วยศักดาเดชภูวไนย |
บัดนี้สามกษัตริย์สุริย์วงศ์ | เลิกหมู่จตุรงค์น้อยใหญ่ |
อสุราวานรเกรียงไกร | รีบเร่งมาในพนาลี |
ถึงอาศรมบทพระวสิษฐ์ | กับพระสวามิตรฤๅษี |
พอครบกำหนดสิบสี่ปี | ตามที่ซึ่งได้สัญญา |
กลัวพระองค์จะเข้ากองไฟ | บรรลัยสิ้นชีพสังขาร์ |
แสนทุกข์เร่าร้อนในอุรา | จึ่งใช้ข้ามาทูลบทมาลย์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองกษัตริย์สุริยวงศ์มหาศาล |
แจ้งข่าวสมเด็จพระอวตาร | ยินดีปานได้โสฬส |
สิ้นความวิโยคโศกศัลย์ | พักตร์ผ่องเพียงจันทร์ทรงกลด |
จึ่งกล่าววาจามธุรส | ท่านผู้มียศสวัสดี |
เราสองครองสัจสุจริต | ต่อพระจักรกฤษณ์เรืองศรี |
หากว่าท่านมาทันที | จึ่งรอดชีวีสถาวร |
ตัวเราจะเข้าไปทูลความ | พระมารดาทั้งสามให้แจ้งก่อน |
ว่าแล้วย่างเยื้องบทจร | กรายกรเข้ายังวังใน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงเห็นสามพระชนนี | แสนทุกข์แสนทวีละห้อยไห้ |
กราบบาทแล้วทูลทันใด | พระองค์อย่าได้โศกา |
บัดนี้กุขันกับหนุมาน | มาแจ้งการว่าองค์พระเชษฐา |
ยกมาประทับโยธา | อยู่ยังอาศรมพระมุนี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระมารดาทั้งสามศรี |
แจ้งว่าพระลักษมณ์พระจักรี | กับเทวีสีดายุพาพาล |
กลับมาถึงอาศรมบท | พระนักพรตผู้ปรีชาหาญ |
สระสร่างสว่างร้อนวิญญาณ | ปานดั่งนํ้าทิพย์มาเจือใจ |
มีความแสนโสมนัสนัก | ผิวพักตร์ผ่องเพียงแขไข |
ส้วมสอดกอดสองโอรสไว้ | อรไทจึ่งกล่าววาจา |
วันนี้สิ้นทุกข์สิ้นร้อน | สิ้นอาวรณ์เศร้าโทมนัสสา |
แม่ลูกผู้ร่วมชีวา | จะพากันไปรับพระจักรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตพระสัตรุดเรืองศรี |
ก้มเกล้ารับราชเสาวนีย์ | ออกมายังที่พระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์อาสน์ | อันโอภาสพรรณรายฉายฉัน |
จึ่งสั่งเสนาสุมันตัน | จงจัดพลขันธ์โยธา |
ให้พร้อมรถรัตน์อัสดร | กุญชรดั้งกันซ้ายขวา |
เรากับสมเด็จพระมารดา | จะไปรับเชษฐาเข้ากรุงไกร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุมันตันเสนาผู้ใหญ่ |
ก้มเกล้ารับสั่งพระภูวไนย | บังคมไหว้ออกจากพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ยานี
๏ เกณฑ์เป็นกระบวนพยุหบาตร | นุ่งห่มโอ่อาจเลือกสรร |
กองหน้าใส่เสื้อเครือสุวรรณ | ถือปืนลำพันเรียงราย |
ถัดมาเหล่าล้วนทวนทอง | เสื้อแดงขลิบกรองเฉิดฉาย |
ถัดมาเสื้อโหมดแพร้วพราย | ถือหอกกรีดกรายกระหยับกร |
ขุนช้างขี่ช้างดั้งกัน | เลือกล้วนตัวขยันชาญสมร |
ขุนม้าขี่ม้าอัสดร | อลงกรณ์ด้วยเครื่องอันรูจี |
ขุนรถก็เทียบรถทรง | องค์พระพี่น้องทั้งสองศรี |
รถสามสมเด็จพระชนนี | รถประเทียบนารีกำนัล |
อันข้าหลวงเดิมทั้งสามกรม | ชื่นชมสำรวลสรวลสันต์ |
ไพร่นายอัดแอแจจัน | พร้อมกันคอยเสด็จยาตรา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝูงอาณาประชาชนถ้วนหน้า |
เศรษฐีชีพราหมณ์พฤฒา | พ่อค้าพานิชกฎุมพี |
แจ้งว่าพระรามพระลักษมณ์ | มาถึงสำนักพระฤๅษี |
พระพรตพระสัตรุดกับชนนี | จะยกโยธีพลากร |
ไปรับพระลักษมณ์พระหริวงศ์ | กับองค์สีดาดวงสมร |
บรรดาหญิงชายชาวนคร | สโมสรยินดีปรีดา |
บอกกันอื้ออึงคะนึงไป | บันเทิงใจสำรวลสรวลร่า |
วิ่งรุ่นอุตลุดเป็นโกลา | มาคอยตามเสด็จจรลี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระมารดาทั้งสามศรี |
กับสองโอรสร่วมชีวี | ฝูงอนงค์นารีกำนัลใน |
ต่างต่างยินดีปรีดา | จะได้นิทราก็หาไม่ |
สรวลระริกซิกซี้มี่ไป | จนอุทัยไขศรีเรืองรอง |
ดุเหว่าเร้าเร่งพระสุริยัน | ไก่แก้วขานขันสนั่นก้อง |
ชาวประโคมก็ประโคมฆ้องกลอง | สกุณีร่อนร้องไปมา |
ห้ากษัตริย์เสด็จยูรยาตร | งามวิลาสดั่งเทพเลขา |
ออกจากห้องแก้วอลงการ์ | มาเข้าที่สรงชลธาร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
โทน
๏ สุหร่ายแก้วโปรยปรายดั่งสายฝน | ทรงสุคนธาทิพย์หอมหวาน |
สามพระชนนีนงคราญ | ทรงภูษาก้านกระหนกพัน |
สไบกรองทองแล่งฉลุลอย | ตาบสร้อยเพชรประดับทับทิมคั่น |
สองโอรสาวิลาวัณย์ | ทรงสนับเพลาอันอลงกรณ์ |
ภูษิตพื้นม่วงเขียวขำ | กินนรรำเชิงรูปไกรสร |
ชายแครงชายไหวอรชร | ตาบทิศสร้อยอ่อนทับทรวง |
ต่างทรงสังวาลพาหุรัด | ทองกรจำรัสโชติช่วง |
ธำมรงค์สิบนิ้วชิงดวง | มงกุฎแก้วรุ้งร่วงกุณฑลพราย |
ห้อยพวงมาลัยดอกไม้มาศ | กรรเจียกจรโอภาสฉานฉาย |
เสด็จจากแท่นแก้วพรรณราย | ฝูงกำนัลทั้งหลายก็ตามมา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์กนิษฐา |
ครั้นถึงเกยแก้วอลงการ์ | ก็เชิญพระมารดาทั้งสามองค์ |
ขึ้นทรงมหาพิชัยรถ | อลงกตแวววามงามระหง |
พร้อมหมู่นางกษัตริย์สุริย์วงศ์ | รถอนงคกำนัลเรียงราย |
แล้วพระพี่น้องทั้งสองศรี | ขึ้นทรงรถมณีฉานฉาย |
ให้กุขันหนุมานสองนาย | นำพลนิกายดำเนินจร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
โทน
๏ รถเอยห้ารถทรง | อลงกตเนาวรัตน์ประภัสสร |
งามดุมงามกงงามงอน | งามแปรกแอกอ่อนช้อยชด |
งามบุษบกบันปราลี | มุขสี่งามแสงมรกต |
งามสินธพเทียมราชรถ | งามย่างเป็นพยศกรีดกราย |
งามนายสารถีขี่ขับ | งามประดับเครื่องสูงชุมสาย |
งามแถวธงริ้วทิวราย | งามพวกกลองตะพายประโคมครึก |
งามเสียงแตรงอนแตรฝรั่ง | งามฆ้องปี่ดังก้องกึก |
งามประเทียบเรียบกันพันลึก | งามพลโห่ฮึกอึงอล |
งามหมู่ช้างดั้งช้างกัน | งามม้าแซงกั้นกุลาหล |
งามชอุ่มคลุ้มแสงพระสุริยน | งามพลเร่งรีบกันไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เดินทางหว่างทุ่งวุ้งเขา | ข้ามลำเนาห้วยละหานธารใหญ่ |
ล่วงด่านผ่านมรคาลัย | มิได้พักพลโยธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นใกล้อาศรมพระมุนี | เห็นกระบี่กับหมู่ยักษา |
ยวดยานม้ารถคชา | ทั้งพวกพรานป่าพนาดร |
ตั้งอยู่ตามเหล่าตามกองกัน | แน่นนันต์แนวเนินสิงขร |
จึ่งให้หยุดโยธาพลากร | ชายดอนแทบท่าวารี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ แล้วเสด็จจากราชรัถา | เชิญพระมารดาทั้งสามศรี |
ลงจากรถแก้วมณี | ไปยังกุฎีพระนักธรรม์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์องค์นารายณ์รังสรรค์ |
กับพระลักษมณ์นางสีดาวิลาวัณย์ | ครั้นเห็นสามราชมารดา |
กับพระพรตพระสัตรุดสุริย์วงศ์ | ต่างองค์แสนโสมนัสสา |
ก็พากันเสด็จออกมา | รับห้ากษัตริย์ทันที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ต่างน้อมเศียรเกล้าบังคมบาท | พระชนนีธิราชทั้งสามศรี |
ยังที่พ่างพื้นปถพี | ข้างหน้ากุฎีพระอาจารย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางเกาสุริยายอดสงสาร |
ลดองค์ลงกอดพระอวตาร | เยาวมาลย์รับขวัญลูกรัก |
โฉมนางสมุทรนวลหง | อุ้มองค์สีดาขึ้นใส่ตัก |
นางไกยเกษียุพาพักตร์ | กอดองค์พระลักษมณ์ลูกยา |
ห้ากษัตริย์โอรสคำรพกัน | โดยอันดับน้องแลเชษฐา |
ต่างองค์ยินดีปรีดา | พักตราผ่องเพียงจันทร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ นางเกาสุริยาเทวี | ถามพระจักรีทรงศร |
ตัวเจ้ารับสัจพระบิดร | บทจรออกจากกรุงไกร |
ทั้งสามทรงเพศเป็นดาบส | สร้างพรตภาวนาในป่าใหญ่ |
เหตุผลต้นปลายประการใด | จึ่งข้ามไปถึงเกาะลงกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระรามสุริย์วงศ์นาถา |
น้อมเศียรสนองพระวาจา | ลูกนี้พากันบทจร |
ไปถึงโคธาชลาลัย | เข้าอาศัยอาศรมที่สิงขร |
รักษาพรตกรรม์นิรันดร | ถาวรโดยเพศโยคี |
ไอ้ทศกัณฐ์ขุนยักษ์ | มาลอบลักสีดาโฉมศรี |
จึ่งต้องลาพรตจากชี | ตามไปราวีอสุรา |
ได้ยากลำบากเป็นสุดคิด | ปิ้มชีวิตจะม้วยสังขาร์ |
ครั้งหนึ่งไมยราพเป่ายา | สะกดพาลูกไปถึงบาดาล |
หากวายุบุตรตามทัน | ฆ่ามันเสียด้วยกำลังหาญ |
ตัวลูกจึ่งไม่วายปราณ | ได้กลับมาทำการต่อตี |
ฝ่ายองค์พระลักษมณ์ออกยงยุทธ์ | ก็ต้องเทพอาวุธยักษี |
ถึงห้าครั้งแต่ม้วยชีวี | หากมีผู้แก้จึ่งรอดมา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระชนนีเสน่หา |
ได้ฟังสมเด็จพระลูกยา | พรรณนาทุกข์ยากลำบากใจ |
ให้คิดสงสารเป็นพ้นนัก | นงลักษณ์ไม่กลั้นโศกได้ |
ชลเนตรคลอเนตรอรไท | สะอื้นไห้ทั้งสามพระชนนี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ คลายโศกจึ่งตรัสแก่สีดา | แก้วตาของแม่เฉลิมศรี |
ตัวเจ้าจงรักภักดี | ต่อพระสามีสี่กร |
อุตส่าห์ตามไปปรนนิบัติ | ในป่าชัฏเนินแนวสิงขร |
จนตกไปลงกาพระนคร | ได้ความทุกข์ร้อนเวทนา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดเสน่หา |
กราบลงแทบเบื้องบาทา | กัลยาสนองพระวาที |
ลูกโดยเสด็จพระทรงจักร | พิราพขุนยักษ์นั้นลักหนี |
องค์พระหริรักษ์จักรี | ตามผลาญอสุรีบรรลัยลาญ |
แล้วไปอยู่ยังโคธา | มารีศอสุราใจหาญ |
แปลงเป็นกวางทองโอฬาร | ข้าวอนผ่านฟ้าให้ตามไป |
ภายหลังจึ่งท้าวทศพักตร์ | ลักลูกไปกรุงลงกาได้ |
ได้ความชอกชํ้าระกำใจ | ทุกข์เทวษไม่วายโศกี |
สุดคิดจึ่งผูกคอตาย | พอลูกพระพายเรืองศรี |
ไปทันแก้ลงทันที | กระบี่แจ้งข่าวพระจักรา |
ว่ายกโยธาวานร | ตามมาราญรอนยักษา |
จึ่งอุตส่าห์ครองกายา | หาไม่ชีวาจะบรรลัย |
บรรดาหญิงในไตรดาล | จะอัประมาณเหมือนข้านี้หาไม่ |
ทูลพลางสะท้อนถอนใจ | อรไทซบพักตร์ลงโศกี ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระมารดาทั้งสามศรี |
ฟังพระสุณิสาพาที | เล่าที่ทุกข์ยากแต่หลังมา |
ให้คิดสงสารเป็นพ้นนัก | นงลักษณ์ลูบหลังลูบหน้า |
รับขวัญแล้วกล่าววาจา | แก้วตาดั่งดวงฤทัย |
ทั้งนี้เป็นกรรมแต่ปางหลัง | ร้อยชั่งแม่อย่าละห้อยไห้ |
อันทองนพคุณอำไพ | ถึงตกไหนก็ไม่ราคี |
เจ้าก็เป็นมารดาสุราฤทธิ์ | จะช่วยพระจักรกฤษณ์เรืองศรี |
บำรุงโลกาธาตรี | ให้มีความสุขสำราญ |
จึ่งเผอิญดลใจทศพักตร์ | ด้วยโคตรยักษ์จะสิ้นสังขาร |
แต่นี้โลกาสุธาธาร | จะคลายร้อนรำคาญไม่มีภัย |
ด้วยเดชสมเด็จพระหริวงศ์ | ผู้ทรงศักดาแผ่นดินไหว |
ต้องโองการเจ้าภพไตร | ซึ่งเชิญให้ไวกูณฐ์มา |
แล้วตรัสแก่องค์พระลักษมณ์ | ลูกรักได้ยากหนักหนา |
จงรักภักดีต่อพี่ยา | สู้เสียชีวาอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตพระสัตรุดเรืองศรี |
น้อมเศียรถวายอัญชุลี | ทูลพระจักรีสี่กร |
แต่น้องไกลบาทคลาดมา | จากมหาสัตกูฏสิงขร |
นับวันคอยท่าพระภูธร | โศกาอาวรณ์ไม่เว้นวัน |
ครั้นครบคำรบสิบสี่ปี | ไม่เห็นพระจักรีรังสรรค์ |
กลับคืนนิเวศน์วังจันทน์ | เหมือนดั่งทรงธรรม์สัญญาไว้ |
น้องจะเข้ากองไฟให้ตาย | พอลูกพระพายทหารใหญ่ |
กับนายกุขันพรานไพร | เข้าไปยุดไว้ทันที |
หาไม่จะม้วยชีวาตม์ | ไหนจะได้รองบาทบทศรี |
ทีนี้สิ้นทุกข์สิ้นโศกี | ดั่งน้องนี้ได้ผ่านเมืองฟ้า ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกนาถา |
ได้ฟังทั้งสองอนุชา | จึ่งมีวาจาอันสุนทร |
อันตัวของพี่ที่จากไป | ก็ร้อนใจดั่งต้องแสงศร |
ด้วยคิดถึงสามพระมารดร | ทั้งอาวรณ์ถึงเจ้าไม่เว้นวัน |
เกลือกจะล่วงเกินปีที่สัญญา | สององค์อนุชาจะอาสัญ |
ครั้นสำเร็จล้างเหล่าอาธรรม์ | ก็พากันเร่งรีบมาธานี |
ทั้งนี้เป็นบุญของเราแล้ว | น้องแก้วผู้ดวงใจพี่ |
เจ้าก็ครองสัตยาวาที | พี่ก็บำรุงสัจพระบิดา |
จึ่งได้กลับมาเห็นหน้ากัน | ด้วยความสัจเรามั่นหนักหนา |
พระเกียรติจะอยู่ชั่วกัลปา | กว่าจะสิ้นฟ้าสุธาธาร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางไกยเกษียอดสงสาร |
จึ่งตรัสแก่องค์พระอวตาร | แม่รักเจ้าปานดวงใจ |
เหมือนหนึ่งบังเกิดในครรภ์ | จะฉันทาพ่อนั้นก็หาไม่ |
เหตุนี้ชะรอยเทพไท | แกล้งเข้าดลใจมารดา |
เผอิญขอสัจพระบิตุเรศ | ให้ดวงเนตรแม่ต้องไปเดินป่า |
จนพระองค์ปลงชีพชีวา | โทษาทั้งนี้ใหญ่นัก |
ถึงจะแล่ฟันหั่นรอน | ตัดเศียรตัดกรด้วยคมจักร |
ก็ตามแต่พระทัยของลูกรัก | จะก้มพักตร์รับโทษพระอวตาร |
ขอเชิญพ่อไปครองสมบัติ | ในเศวตฉัตรฉายฉาน |
บำรุงโลกาสุธาธาร | ให้สำราญจำเริญสวัสดี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์เรืองศรี |
ได้ฟังสมเด็จพระชนนี | น้อมเศียรชุลีแล้วทูลไป |
ซึ่งตัวลูกต้องเดินดง | จะน้อยใจพระองค์ก็หาไม่ |
เหตุด้วยเทวาสุราลัย | ประชุมเชิญให้ไวกูณฐ์มา |
บำรุงโลกาธาตรี | ล้างเหล่าอสุรีริษยา |
แม้นอยู่ครอบครองพารา | ไหนจะได้เข่นฆ่ากุมภัณฑ์ |
พระชนนีอย่าแหนงแคลงจิต | ลูกไม่คิดรังเกียจเดียดฉันท์ |
ทูลแล้วลาสองพระนักธรรม์ | แปดกษัตริย์พากันออกไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ถึงที่ประทับโยธี | พร้อมหมู่เสนีน้อยใหญ่ |
เสด็จเหนือบุษบกอำไพ | ภูวไนยจึ่งมีบัญชา |
สั่งพญาสุครีพสุมันตัน | กับพิเภกกุมภัณฑ์ยักษา |
พรุ่งนี้เราจะเข้าพารา | จงเตรียมโยธาพลากร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สามนายทหารชาญสมร |
รับสั่งพระองค์ทรงฤทธิรอน | ชุลีกรแล้วพากันออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ สุมันตันก็จัดโยธี | ตามที่กระบวนพยุห์ใหญ่ |
สรรพทั้งรัถาอาชาไนย | พร้อมพวกพลไกรอยุธยา |
ให้พระพรตพระสัตรุดสุริย์วงศ์ | เป็นจอมจตุรงค์เดินหน้า |
สุครีพผู้มีปรีชา | ก็จัดโยธาวานร |
ทั้งชมพูขีดขินนคเรศ | อันเรืองเดชดั่งพญาไกรสร |
เข้ากองหลวงโดยเสด็จจร | องค์พระสี่กรธิบดี |
พิเภกก็จัดพลยักษ์ | ให้องค์พระลักษมณ์เรืองศรี |
เป็นจอมอสุรโยธี | ตามมณีบุษบกอลงการ |
กองหลังนั้นนายกุขัน | คุมพรานชาญฉกรรจ์แกล้วหาญ |
เป็นหมู่หมวดเพียบพื้นสุธาธาร | อลหม่านเอิกเกริกเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | แปดกษัตริย์สุริย์วงศ์นาถา |
ครั้นรุ่งสางสร่างแสงพระสุริยา | เสด็จมาเข้าที่สรงชล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ต่างชำระสระสนานสำราญกาย | สุหร่ายแก้วโปรยปรายดั่งสายฝน |
ทรงสุคนธารสเสาวคนธ์ | ปรุงปนเรณูสุมามาลย์ |
ฝ่ายพระโอรสสี่องค์ | สอดทรงสนับเพลาเครือก้าน |
ภูษาต่างสีอลงการ | ชายไหวทองประสานชายแครง |
สามพระชนนีกับสีดา | ทรงพระภูษาเครือแย่ง |
สะอิ้งองค์เนาวรัตน์ลายแทง | สไบกรองทองแล่งลอยดวง |
ต่างทรงสร้อยสนสังวาลวัลย์ | ตาบทิศกุดั่นรุ้งร่วง |
ประดับถันบานพับทับทรวง | พาหุรัดโชติช่วงทองกร |
สอดใส่ธำมรงค์มงกุฎเพชร | กุณฑลเก็จจอนแก้วประภัสสร |
งามสง่างามทรงอรชร | กรายกรตามกันมาขึ้นรถ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บุษเอยบุษบกแก้ว | แสงพรายลายแพร้วอลงกต |
บัลลังก์ตั้งลอยชั้นลด | เครือขดทาบเคียงเรียงราย |
รถซึ่งพระน้องทรงทั้งสาม | แอกงอนอ่อนงามเฉิดฉาย |
ม้าเทียบเร็วทัดม้าพระพาย | ธงปลายงอนปลิวเป็นทิวงาม |
รถสามชนนีอนงค์นาฏ | แสงม่านเครือมาศเรืองอร่าม |
รถประเทียบเรียบทางป่าระนาม | เนื่องติดกันตามเสด็จจร |
เครื่องสูงบังแทรกชุมสาย | สลับลายเลื่อมรัตน์ประภัสสร |
ปี่ฆ้องกลองขานแตรงอน | เสียงสะเทือนสะท้อนพนมวัน |
ม้าแซงแข่งเสียดคชสาร | ทวยหาญขานโห่บันลือลั่น |
ผงคลีมืดคลุ้มชอุ่มควัน | ต่างกองตามกันรีบไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เดินทางตามหว่างพนาเวศ | ข่ามเขตห้วยธารผ่านไศล |
ก็ลุถึงอยุธยากรุงไกร | ล่วงเข้ายังในทวารา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ประชาชนหญิงชายถ้วนหน้า |
ทั้งเศรษฐีชีพราหมณ์พฤฒา | บรรดามาคอยเสด็จพระสี่กร |
เห็นรถพระพรตพระสัตรุด | พลเพียงสายสมุทรไม่หยุดหย่อน |
ล่วงเข้ามาในพระนคร | แล้วรถพระมารดรทั้งสามองค์ |
ถัดมาบุษบกพระนารายณ์ | กับโฉมฉายสีดานวลหง |
งามเพียงรถทินกรทรง | วานรจตุรงค์ล้อมมา |
ต่างตนน้อมเศียรอภิวาท | โปรยปรายมาลาชบุปผา |
อวยชัยให้พรพระจักรา | อื้ออึงโกลาทั้งธานี |
ครั้นมาถึงทัพพระลักษมณ์ | ล้วนเหล่าอสุรศักดิ์ยักษี |
ต่างตนตกใจไม่สมประดี | วิ่งหนีล้มลุกวุ่นไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์ทรงภพแผ่นดินไหว |
ครั้นถึงเกยแก้วแววไว | ประทับไว้แล้วสั่งเสนา |
อันหมู่วานรทวยหาญ | ให้อยู่อุทยานฝ่ายขวา |
สวนซ้ายนั้นพวกอสุรา | พรานป่าให้อยู่ในธานี |
จงแต่งโภชนาเมรัย | เป็ดไก่แกล้มกับปิ้งจี่ |
เลี้ยงดูหมู่พหลโยธี | พร้อมที่ท่ามกลางพระนคร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ สั่งแล้วเสด็จยุรยาตร | จากเกยนพมาศประภัสสร |
แปดกษัตริย์ย่างเยื้องบทจร | กรายกรขึ้นปราสาทรัตนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุมันตันผู้มียศถา |
ก็จัดที่พักพลโยธา | โดยราชบัญชาภูวไนย |
แล้วสั่งนายเวรให้หมายบอก | แก่นางวิเสทนอกน้อยใหญ่ |
ให้แต่งโภชนาเมรัย | มาเลี้ยงไพร่พลโยธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | นางท้าววิเสททั้งสี่ |
แจ้งหมายรับสั่งเสนี | จ่ายของอึงมี่เป็นโกลา |
บ้างหุงบ้างต้มคั่วเจียว | ถกเขมรเป็นเกลียวพร้อมหน้า |
ปิ้งจี่ทอดมันแลน้ำยา | ยำพล่าเมรัยชัยบาน |
ผลไม้เป็ดไก่แกล้มกับ | สำรับทั้งของคาวของหวาน |
จัดแจงแต่งใส่โตกพาน | แล้วให้พนักงานยกไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บ้างแบกบ้างหามตามกัน | จีนหามเหล้ากลั่นตุ่มใหญ่ |
ตั้งไว้ที่หน้าพระลานชัย | เกลื่อนไปล้วนของอันโอชา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หมู่กระบี่รี้พลยักษา |
ทั้งพวกพรานไพรบรรดามา | พร้อมหน้ากินเลี้ยงด้วยกัน |
พรานรินใส่จอกส่งให้ | ลิงกลั้นใจดื่มหัวสั่น |
แล้วเวียนไปให้กุมภัณฑ์ | บ้างลงนิ้วกันทำที |
พวกลิงยิ่งกินก็ยิ่งเมา | เย้าหยอกหลอกเหล่ายักษี |
ทั้งหมู่พรานป่าพนาลี | เต้นรำอึงมี่วุ่นไป |
ชิงแกล้มชิงกับกันสับสน | บ้างรากท้นไม่สมประดีได้ |
ฉวยผ้าคว้านางวิเสทไว้ | หลอกให้หัวร่อกันเฮฮา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สามพระชนนีเสน่หา |
ครั้นพระหริวงศ์กลับมา | สิ้นความโศกาอาวรณ์ |
ราตรีเข้าที่ไสยาสน์ | เรียงอาสน์ภิรมย์สโมสร |
คิดการอภิเษกพระสี่กร | จะให้ผ่านพระนครสืบไป |
สามองค์ตริตรึกปรึกษา | จนจันทราเลี้ยวลับเหลี่ยมไศล |
ดารากรอ่อนแสงอำไพ | อโณทัยไขศรีเรื่อรอง |
ไก่แก้วโกกิลส่งเสียง | สำเนียงประโคมยามกึกก้อง |
หมู่แมลงผึ้งภู่วู่ร้อง | เชยซาบละอองสุมามาลย์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ สามนางเสด็จยุรยาตร | จากห้องปราสาทมุกดาหาร |
งามดั่งมเหสีมัฆวาน | ออกพระโรงโอฬารข้างใน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ พร้อมหมู่สนมกำนัล | สุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์น้อยใหญ่ |
ชุลีกรเกลื่อนกลาดดาษไป | อรไทจึ่งมีเสาวนีย์ |
ตรัสสั่งพระพรตสุริย์วงศ์ | ว่าพระภุชพงศ์เรืองศรี |
กับพระลักษมณ์นางสีดาเทวี | มาถึงบุรีภิรมยา |
แม่จะมอบไอศูรย์เศวตฉัตร | สืบวงศ์จักรพรรดินาถา |
เจ้าจงประชุมเสนา | ให้โหราหาฤกษ์สถาวร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์ทรงศร |
ก้มเกล้ารับสั่งพระมารดร | บทจรออกพระโรงด้วยยินดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งมีบัญชา | สั่งขุนโหราทั้งสี่ |
ว่าสามสมเด็จพระชนนี | จะตั้งพิธีมงคลการ |
ราชาภิเษกพระหริรักษ์ | เป็นปิ่นปักจรรโลงราชฐาน |
ตัวท่านผู้ปรีชาชาญ | จงหาฤกษ์ศุภวารเวลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ขุนโหรผู้มียศถา |
ก้มเกล้ารับราชบัญชา | จับกระดานชนวนมาทันที |
ตั้งจุลศักราชสองสถาน | บวกลบคูณหารตามที่ |
ขับไล่ใส่สอบทุกคัมภีร์ | โดยศรีชันษาพยากรณ์ |
แล้วเอาชะตาเมืองเข้าเปรียบ | เทียบกับชะตาพระทรงศร |
ตั้งองค์อัฏฐเคราะห์โคจร | ถาวรสถิตเป็นมิตรกัน |
เห็นพร้อมแล้วกราบบาทบงสุ์ | ทูลองค์พระพรตรังสรรค์ |
ว่าขึ้นสามคํ่าวันจันทร์ | สิบหกชั้นฤกษ์สี่ดีนัก |
จะทำการราชาภิเษก | ถึงที่เอกองค์พญาจักร |
มีแต่จำเริญสิริลักษณ์ | เป็นหลักโลกาธาตรี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์เรืองศรี |
ได้ฟังโหราธิบดี | จึ่งมีพระราชบัญชา |
ตรัสสั่งหัวหมื่นตำรวจใน | จงไปหาพิเภกยักษา |
อันเป็นดวงเนตรพระจักรา | เข้ามายังท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งขุนตำรวจคนขยัน |
รับสั่งพระองค์วงศ์เทวัญ | ถวายอัญชุลีแล้วรีบไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงพิเภกขุนมาร | ก้มคลานเข้าไปประนมไหว้ |
แจ้งว่าพระพรตยศไกร | ให้หาท่านไปบัดเดี๋ยวนี้ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษี |
แจ้งรับสั่งน้องพระจักรี | อสุรีก็รีบเข้ามา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งประณตบทบงสุ์ | พระพรตสุริย์วงศ์กนิษฐา |
ในที่ท่ามกลางเสนา | คอยฟังบัญชาพระทรงธรรม์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตรุ่งฟ้านราสรรค์ |
เห็นพญาพิเภกกุมภัณฑ์ | จึ่งมีบัญชาตรัสไป |
บัดนี้สมเด็จพระชนนี | จะตั้งพิธีมงคลใหญ่ |
อภิเษกพระตรีภูวไนย | เสวยมไหสวรรยา |
โหราให้ฤกษ์กำหนดวัน | พร้อมกันทั้งซ้ายฝ่ายขวา |
ตัวท่านผู้มีปรีชา | จงพิจารณาดูให้ดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษี |
รับสั่งถวายอัญชุลี | ดูโดยคัมภีร์อันชำนาญ |
ก็แจ้งดั่งหนึ่งทิพเนตร | สังเกตไม่พักคูณหาร |
จึ่งกราบทูลน้องพระอวตาร | การนี้ไม่มีราคิน |
อันฤกษ์ซึ่งโหรถวายนั้น | สารพันจะดีพร้อมสิ้น |
ทั้งองค์สมเด็จอมรินทร์ | ผู้ปิ่นสรวงสวรรค์ชั้นฟ้า |
จะพาฝูงเทพนิกร | กับนางอัปสรถ้วนหน้า |
ลงมาอวยชัยพระจักรา | เป็นมหามงคลสวัสดี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์เรืองศรี |
ได้ฟังพิเภกอสุรี | ยินดีจึ่งสั่งสุมันตัน |
จงจัดพระมหาปราสาท | ให้โอภาสดั่งหนึ่งวิมานสวรรค์ |
เตรียมเครื่องพิธีครบครัน | ให้ทันศุภวารเวลา |
แล้วไปนิมนต์พระอาจารย์ | พระวสิษฐ์ทรงญาณฌานกล้า |
ทั้งพระสวามิตรสิทธา | กับคณะมหาโยคี |
สั่งเสร็จก็เสด็จยุรยาตร | จากบัลลังก์อาสน์มณีศรี |
ขึ้นเฝ้าสมเด็จพระชนนี | ยังที่ปราสาทข้างใน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุมันตันเสนาผู้ใหญ่ |
ก็ออกจากท้องพระโรงชัย | ตรงไปยังที่ศาลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ให้เขียนหมายบอกเจ้าพนักงาน | ทั้งทหารพลเรือนซ้ายขวา |
ตามมีพระราชบัญชา | น้องพระจักราธิบดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | เวียงวังคลังนาทั้งสี่ |
แจ้งหมายเกณฑ์กันเป็นโกลี | ไปทำตามที่พนักงาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ยานี
๏ กรมวังก็จัดปราสาท | ผูกม่านเครือมาศฉายฉาน |
ปูพรมสุจหนี่อลงการ | ห้อยพวงกุสุมามาลย์มาลี |
แล้วตั้งภัทรบิฐอุทุมพร | ลาดหนังไกรสรราชสีห์ |
ปักเศวตฉัตรรูจี | กลศสังข์ตั้งที่ทั้งแปดทิศ |
บายศรีแก้วกาญจน์นพมาศ | โอภาสด้วยมณีโลหิต |
แว่นวิเชียรเทียนทองชวลิต | ครบเครื่องพิธีปราบดา |
ตำรวจตั้งโรงมณฑปสรง | ห้ายอดสูงส่งพระเวหา |
ทั้งนํ้าในปัญจคงคา | เอามาเตรียมไว้ทุกประการ |
ภายใต้ไว้ท่อสุวรรณมาศ | สำหรับราชมุรธาภิเษกสนาน |
แต่งสรรพประดับโอฬาร | งามแม้นวิมานเทวัญ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายขุนธรรมการคนขยัน |
ออกจากพระนิเวศน์วังจันทน์ | พากันตรงไปยังกุฎี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงประณตบทบงสุ์ | สององค์พระมหาฤๅษี |
แจ้งว่าสามราชชนนี | จะทำพิธีมงคลการ |
อภิเษกสมเด็จพระจักรา | ให้ผ่านอยุธยาราชฐาน |
นิมนต์พระองค์ผู้ทรงญาณ | กับพวกบริวารเข้าไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระวสิษฐ์สวามิตรอาจารย์ใหญ่ |
ทั้งคณะโยคีชีไพร | มีใจยินดีปรีดา |
ต่างนุ่งเปลือกไม้คากรอง | ครองหนังเสือเหลืองเฉียงบ่า |
พากันออกจากศาลา | ตรงมายังราชธานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งขึ้นปราสาท | อันโอภาสจำรัสรัศมี |
นั่งอาสน์สำหรับโยคี | โดยที่อันดับเรียงกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ