- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงนางมณโฑสาวสวรรค์ |
แต่เสวยข้าวทิพย์พิธีกรรม์ | ก็ทรงครรภ์จำเริญพระอุทร |
องค์เจ้าลงกาพญายักษ์ | จัดอนงค์ทรงลักษณ์ดั่งอัปสร |
บำรุงรักษาบังอร | ถาวรเป็นสุขทุกวันมา |
พอถ้วนกำหนดทศมาส | ลมกัมมัชวาตพัดกล้า |
ให้เจ็บปวดครรภ์กัลยา | ดั่งว่าจะสิ้นสมประดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นวลนางกำนัลสาวศรี |
เห็นนางประชวรพระนาภี | มีความตระหนกตกใจ |
บ้างเข้าฝืนท้องประคองหลัง | นั่งล้อมแปรผันพระครรภ์ให้ |
บ้างเรียกหมอวุ่นทั้งวังใน | บ้างวิ่งไปเฝ้าองค์เจ้าลงกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงนบนิ้วขึ้นเหนือเกศ | ทูลว่าอัคเรศเสน่หา |
ให้ประชวรพระครรภ์กัลยา | ดั่งว่าจะสิ้นสุดปราณ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศพักตร์ผู้ปรีชาหาญ |
ได้ฟังเร่าร้อนดั่งเพลิงกาฬ | พญามารก็รีบเสด็จไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งมีบัญชา | แก่แพทยาท้าวนางน้อยใหญ่ |
ช่วยกันผันแปรอรไท | อย่าให้อันตรายราคี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | นวลนางมณโฑมารศรี |
ครั้นได้ศุภฤกษ์ยามดี | เทวีประสูติพระลูกรัก ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ มโหรี
๏ เป็นบุตรีศรีศุภลักษณ์เลิศ | งามประเสริฐดั่งนางในไตรจักร |
ผิวพรรณนวลละอองผ่องพักตร์ | ผิดสุริย์วงศ์ยักษ์ในลงกา |
นางนั้นร้องขึ้นว่าผลาญราพณ์ | สามคาบปรากฏถ้วนหน้า |
แต่องค์บิตุเรศมารดา | ไม่ได้ยินวาจานางนงลักษณ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ทรงจักร |
เห็นโฉมธิดายุพาพักตร์ | ความรักพูนเพิ่มพันทวี |
จึ่งมีพระบัญชาการ | สั่งนางพนักงานสาวศรี |
จงไปหาพิเภกอสุรี | กับโหราธิบดีขึ้นมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนางกำนัลซ้ายขวา |
รับสั่งถวายบังคมลา | ก็พากันรีบลงไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ชุบ
๏ ครั้นถึงปราสาทกุมภัณฑ์ | กำนัลนบนิ้วประนมไหว้ |
ทูลว่าพระทรงภพไตร | ให้ข้ามาเชิญบทมาลย์ |
กับหมู่โหราขึ้นไปเฝ้า | พระปิ่นเกล้าลงการาชฐาน |
ด้วยองค์มณโฑนงคราญ | เยาวมาลย์ประสูติพระธิดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พิเภกสุริย์วงศ์ยักษา |
ได้แจ้งแห่งราชบัญชา | ก็พาโหราขึ้นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งประณตบทมาลย์ | พร้อมพฤฒาจารย์น้อยใหญ่ |
ในที่มหาปราสาทชัย | คอยองค์ภูวไนยบัญชา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศพักตร์ยักษา |
ครั้นเห็นพิเภกขึ้นมา | จึ่งมีวาจาอันสุนทร |
หลานเจ้าประสูติเป็นสตรี | ทรงศรีเพียงเทพอัปสร |
จงดูชะตาบังอร | จะเกิดสถาวรประการใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พิเภกผู้มีอัชฌาสัย |
ก้มเกล้ารับสั่งภูวไนย | ฉวยได้ดินสอกับกระดาน |
จึ่งตั้งซึ่งจุลศักราช | มาสเกณฑ์กำหนดคูณหาร |
บวกลบลงเป็นอวมาน | ตามฐานขับไล่ในคัมภีร์ |
ได้อุจจาวิลาสราชโชค | โยคเกณฑ์อุตม์เอกราศี |
ลัคนามาเมษสวัสดี | ฤกษ์พานาทีประเสริฐนัก |
งามพร้อมผิวพรรณรูปทรง | สมควรคู่องค์บรมจักร |
จึงสอยใส่ชะตาพญายักษ์ | ลัคน์จันทร์เป็นกาลกิณี |
แล้วสอบด้วยชะตาลงกา | เสาร์ทับลัคนาในราศี |
จึ่งทูลว่าพระราชบุตรี | จะก่อการกุลีในเมืองมาร |
อันจะเลี้ยงไว้เห็นไม่ได้ | ดั่งหนึ่งกองไฟเผาผลาญ |
ลงกาจะเป็นภัสม์ธุลีการ | โลหิตเปรียบปานวาริน |
แม้นอาลัยในราชธิดา | สุริย์วงศ์พรหมาจะสูญสิ้น |
ทิ้งเสียให้พ้นราคิน | ในกระแสสินธุ์สาคร ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | นวลนางมณโฑดวงสมร |
ฟังพระอนุชาพยากรณ์ | บังอรดั่งหนึ่งจะม้วยมิด |
จึ่งว่าพิเภกนี้อาธรรม์ | เสกสรรใส่ลูกกระจิริด |
สาธารณ์แกล้งผลาญชีวิต | นี่เนื้อมีจิตฉันทา |
โอ้ว่าลูกรักของแม่เอ๋ย | กระไรเลยบุญน้อยหนักหนา |
ครั้งนี้แลองค์พระเจ้าอา | เห็นรักนัดดาเป็นพ้นไป |
แม้นลูกเป็นกาลกิณี | ตัวแม่จะดีมาแต่ไหน |
จงฆ่าเสียด้วยกันให้บรรลัย | จะต้องการอะไรแก่เมียรัก |
จะเลี้ยงไว้ที่ในลงกา | จะพาท่านให้เสียยศศักดิ์ |
ว่าพลางค่อนทรวงเข้าฮักฮัก | นงลักษณ์เพียงจะสิ้นสมประดี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศพักตร์ยักษี |
เห็นนางมณโฑเทวี | แสนโศกโศกีร่ำไร |
จึ่งกล่าวเล้าโลมด้วยสุนทร | ดวงสมรว่านี้หาควรไม่ |
พิเภกรักหลานปานดวงใจ | จะแสร้งทายใส่ไคล้ก็ผิดที |
แม้นเจ้าสงสัยอนุชา | โหราก็พร้อมอยู่ที่นี่ |
จงสอบดูให้รู้ว่าร้ายดี | จนสิ้นที่กินแหนงแคลงใจ |
ตรัสแล้วจึ่งมีบัญชา | แก่โหราจารย์น้อยใหญ่ |
ลูกเราร้ายดีประการใด | อย่าเกรงใจให้ว่าแต่จริงมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ปุโรหิตโหราพร้อมหน้า |
รับสั่งแล้วพิจารณา | ดูในชันษานางเทวี |
เอาปูมปฏิทินออกเทียบ | เปรียบไล่ใส่สอบถ้วนถี่ |
ก็แจ้งว่าเป็นกาลกิณี | แก่บุรีแลองค์พระบิดร |
จึ่งพร้อมกันสนองพระบัญชา | ว่าชะตาพระธิดาดวงสมร |
เป็นศัตรูแก่องค์พระภูธร | ดั่งราหูจู่จรจับจันทร์ |
จะเลี้ยงไว้ก็ไม่เป็นประโยชน์ | นางจะให้โทษแม่นมั่น |
จะสิ้นสูญสุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์ | เหมือนกันกับคำพระอนุชา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษา |
ได้แจ้งแห่งคำโหรา | จึ่งผันพักตรามาพาที |
ดูกรเจ้าผู้เยาวลักษณ์ | ดวงใจดวงจักษุพี่ |
อันองค์พระราชบุตรี | ใช่ว่าพี่นี้ไม่อาลัย |
เมื่อเกิดมาจะมาล้างชีวิตเรา | จะหลงรักเลี้ยงเขากระไรได้ |
เจ้าอย่าแสนโศกร่ำไร | หักใจเสียเถิดนะนงคราญ |
แล้วสั่งพิเภกอสุรี | ตัวเจ้าผู้ปรีชาหาญ |
ลูกเราทรลักษณ์สาธารณ์ | ตามแต่ควรการบุราณมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พิเภกสุริย์วงศ์ยักษา |
จึ่งเอาผอบรัตนา | เข้ามาจะใส่พระบุตรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โอ้
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางมณโฑมารศรี |
แลเห็นผอบก็โศกี | เทวีตีอกเข้ารำพัน |
โอ้ว่าลูกน้อยของมารดา | แม่อุตส่าห์อุ้มท้องประคองขวัญ |
นอนนั่งตั้งแต่ถนอมครรภ์ | มิให้อันตรายสิ่งใด |
อนิจจาเกิดมาเอาชาติ | จะคลาดจากเวราก็หาไม่ |
โอ้ว่าลูกน้อยกลอยใจ | เจ้าจะไปเป็นเหยื่อแก่ฝูงปลา |
ถึงกระไรแต่พอได้อาบนํ้า | ป้อนข้าวสักคำก็ไม่ว่า |
ร่ำพลางทางแสนโศกา | กัลยาแน่นิ่งไม่สมประดี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | พญาพิเภกยักษี |
เห็นโฉมอัครราชเทวี | โศกีเพียงสิ้นชีวาลัย |
จึ่งเข้าช้อนองค์พระหลานขวัญ | ใส่ผอบสุวรรณแล้วส่งให้ |
แก่เสนีผู้ปรีชาไว | เร่งไปทิ้งเสียยังคงคา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งสุกสารยักษา |
รับผอบจากพระอนุชา | อสุราเหาะไปด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงท่ามกลางสาคร | นามกรวัลวานทีศรี |
ก็ทิ้งลงในวนวารี | ตามมีบัญชาพญายักษ์ |
ด้วยบุญสมเด็จพระอัคเรศ | เกิดเป็นปทุมเมศเท่ากงจักร |
รับผอบโฉมยงนางนงลักษณ์ | ขุนยักษ์ไม่เห็นก็กลับมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายนางมณีเมขลา |
กับหมู่เทพบุตรเทวา | ซึ่งได้รักษาสมุทรไท |
เห็นกุมภัณฑ์มันพาพระลักษมี | มาทิ้งในวารีกว้างใหญ่ |
ต่างต่างตระหนกตกใจ | รีบไปช่วยองค์นงคราญ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งเข้านั่งล้อม | ขับกล่อมเยาวยอดสงสาร |
ด้วยทิพย์ดุริยางค์บรรเลงลาน | โอดพันเสียงหวานจับใจ |
บ้างโปรยบุปผามาลาศ | เกลื่อนกลาดในท้องทะเลใหญ่ |
ทั้งหมู่มัจฉาชาติดาษไป | ดั่งดาวล้อมแขไขในวารี |
เดชะเทวาพยาบาล | ทั้งบุญญาธิการพระลักษมี |
ถึงเนรัญชรนที | เร็วรี่ฝืนสายสมุทรมา |
ดั่งพระพายพาสุวรรณนาเวศ | ถึงเวบูญสีขเรศภูผา |
ผอบทองเหมือนมีวิญญาณ์ | หยุดอยู่ที่ท่าพระมุนี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ โล้
ร่าย
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงพระชนกฤๅษี |
เคยลงไปสรงวารี | ในท่านทีไม่เว้นวัน |
ครั้นถึงเวลาจึ่งเรียกโยม | อันชื่อนายโสมคนขยัน |
ให้ถือผ้าชุบอาบพระนักธรรม์ | ก็พากันลงไปยังคงคา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ มาถึงซึ่งท่าชลธาร | องค์พระอาจารย์ฌานกล้า |
แลเห็นผอบรจนา | งามดั่งดาราไม่ราคิน |
วางอยู่ในดวงปทุมทอง | แสงส่องจับพื้นกระแสสินธุ์ |
ก็โถมลงไปยังวาริน | เร็วดั่งครุฑบินในเมฆา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ ฉวยได้ผอบสุวรรณ | พระนักธรรม์ชูไว้ในหัตถา |
ก็ว่ายฝืนคืนกลับเข้ามา | ยังท่ามหาวารี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ถึงฝั่งจึ่งเปิดผอบมาศ | เห็นอนงค์น้อยนาฏเฉลิมศรี |
มีความโสมนัสยินดี | ดั่งได้มณีจักรพรรดิ |
เด็กนี้ใช่ชาติต่ำพงศ์ | จะเป็นหน่อสุริย์วงศ์กรุงกษัตริย์ |
ชะรอยว่าธานีบูรีรัตน์ | เกิดความวิบัติกุลีกาล |
จึ่งใส่ผอบทิพมาศ | ทิ้งเสียอนาถน่าสงสาร |
กูก็ไร้ธิดาแลกุมาร | บุญมาพบพานเข้าวันนี้ |
จะเลี้ยงเป็นธิดาบุญธรรม์ | สืบวงศ์ไอศวรรย์เฉลิมศรี |
คิดแล้วจึ่งองค์พระมุนี | ออกวาทีตั้งสัจจา |
เดชะวาสนาเยาวมาลย์ | จะเป็นแก่นสารไปภายหน้า |
ให้นิ้วชี้เรามีศักดา | เกิดเป็นธาราประโยธร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ ตระ
๏ บัดเดี๋ยวนิ้วเป็นน้ำนม | มีความชื่นชมสโมสร |
ก็ให้องค์อัครราชบังอร | ดูดกรต่างถันธารา |
แล้วจึ่งให้นายโสมนั้น | แบกผอบสุวรรณไปหน้า |
ก็ประคองอุ้มองค์พระธิดา | กลับมายังที่ตำหนักไพร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งให้ผูกอู่ | ข้างริมประสูทิศใต้ |
วางลงให้นอนแล้วแกว่งไกว | ใช้นายโสมช้ากุมารี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | นายโสมโยมพระฤๅษี |
ได้เป็นพี่เลี้ยงพระบุตรี | มีความรักใคร่พ้นไป |
อาบน้ำป้อนข้าวบังอร | จะให้อนาทรก็หาไม่ |
ถึงยามจะนอนก็แกว่งไกว | ขลุกขลุ่ยอยู่ในศาลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระดาบสผู้ทรงสิกขา |
แต่ได้นางมาเป็นธิดา | เลี้ยงดูทุกทิวาราตรี |
จึ่งคิดว่ากูเป็นกษัตริย์ | ละสมบัติออกบวชเป็นฤๅษี |
หวังจะใคร่ได้ฌานโลกีย์ | บัดนี้ก็ยังไม่สมคิด |
ครั้นจะกลับคืนเข้าราชฐาน | ก็เสียดายการตบะกิจ |
จะเพียรไปในเพศบรรพชิต | ก็ติดด้วยธุระพระธิดา |
อย่าเลยจะเอาไปฝังไว้ | ฝากฝูงเทพไทที่ในป่า |
จะได้บำเพ็ญภาวนา | รักษาซึ่งกิจพิธี |
คิดแล้วจึ่งเรียกนายโสม | เป็นโยมซึ่งเลี้ยงโฉมศรี |
ให้ยกนางใส่ผอบรูจี | พระมุนีจับจอบแล้วรีบไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ มาถึงชายป่าแนวทุ่ง | เป็นหว่างวุ้งมีต้นไทรใหญ่ |
ให้วางผอบสุวรรณไว้ | ยังใต้ร่มรุกขฉายา |
ที่นี้แลมีเทเวศร์ | ทรงศักดาเดชแกล้วกล้า |
จะฝากพระราชธิดา | ให้ช่วยรักษาเยาวมาลย์ |
จึ่งสั่งนายโสมให้ขุดหลุม | ใต้พุ่มพระไทรไพศาล |
ทุบปราบราบรื่นรองกระดาน | ภูมิฐานลึกกว้างเสมอกัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายว่านายโสมคนขยัน |
รับจอบมาจากพระนักธรรม์ | ถกเขมรฟันดินวุ่นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ รัว
๏ สี่ศอกสี่เหลี่ยมราบรื่น | ปราบพื้นมิให้ลุ่มดอนได้ |
เหื่อย้อยอ้าปากหายใจ | ก็เสร็จโดยในกำหนดมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระมหาดาบสพรตกล้า |
ครั้นหลุมสำเร็จดั่งจินดา | จึ่งตั้งสัตยาวาที |
แม้นนางจะได้ร่วมเศวตฉัตร | กับองค์จักรพรรดิเฉลิมศรี |
จรรโลงโลกาประชาชี | ธาตรีเป็นสุขสถาวร |
จงบันดาลดวงทิพย์ปทุมมาศ | อันโอภาสด้วยกลิ่นเกสร |
ผุดขึ้นมาในดินดอน | รับผอบบังอรด้วยบุญญา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ ตระ
๏ เดชะความสัตย์พระมุนี | ทั้งบุญพระลักษมีเสน่หา |
ก็เกิดเป็นบัวทองโสภา | ขึ้นมากลางหลุมดั่งใจ |
เบิกบานเกสรขจรรส | พระดาบสหยิบเอาผอบใส่ |
แล้วสั่งศิษย์ผู้ร่วมฤทัย | จงกลบเกลี่ยดินให้เสมอดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นายโสมโยมพระฤๅษี |
จึ่งจับจอบกลบเกลื่อนปัถพี | ราบดีดั่งคำพระสิทธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ปลูกต้นไม้ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | องค์พระดาบสพรตกล้า |
ครั้นเสร็จฝังองค์พระธิดา | ก็พากันกลับมาตำหนักไพร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายฝูงเทวาน้อยใหญ่ |
ซึ่งสิงสู่อยู่รุกข์พระไทร | เทพไทเจ้าป่าพนาลี |
ได้ฟังพระมหาอาจารย์ | อธิษฐานฝังองค์พระลักษมี |
มีความเมตตาปรานี | บอกกันอึงมี่เป็นโกลา |
ต่างพาฝูงเทพนิกร | ทั้งนางอัปสรพร้อมหน้า |
ออกจากวิมานรัตนา | มายังที่ฝังเยาวมาลย์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ โคมเวียน
๏ ครั้นถึงนั่งล้อมถนอมเลี้ยง | ขับกล่อมจำเรียงเสียงหวาน |
พิทักษ์รักษาพยาบาล | มิให้มีเภทพาลภยันต์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายท้าวทศรถรังสรรค์ |
พิศวาสโอรสทั้งสี่นั้น | ดั่งดวงชีวันดวงใจ |
เชยชมเป็นสุขทุกเวลา | จะมีโรคาก็หาไม่ |
จนพระกุมารจำเริญวัย | ชันษานั้นได้สิบสองปี |
คิดจะให้พระโอรสราช | รู้ศิลปศาสตร์ศรศรี |
จะได้ปราบพวกพาลไพรี | ให้ธาตรีเป็นสุขสถาวร |
จึ่งประทานกระสุนให้ทุกองค์ | พ่อจงหัดยิงเล่นต่างศร |
ให้แม่นยำชำนาญชาญกร | บิดรจะให้เรียนศิลป์ชัย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพี่น้องผู้มีอัชฌาสัย |
รับพระแสงกระสุนด้วยดีใจ | บังคมไหว้ออกจากพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ไปหน้าพระลานทั้งสี่องค์ | ทรงกระสุนเล่นเกษมสันต์ |
บ้างยิงพนันขนมกัน | ใครแพ้เยาะหยันทุกที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด เจรจา
๏ บัดนั้น | สาวใช้นางไกยเกษี |
อันชื่อว่าค่อมกุจจี | สำหรับเก็บมาลีอัตรา |
ครั้นถึงเวลาก็แต่งตัว | หวีหัวคัดปีกผัดหน้า |
ใส่จริตกรีดกรายกิริยา | เดินมาจะไปสวนมาลี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลงตะนาว
๏ ครั้นถึงซึ่งหน้าพระลาน | เห็นพระกุมารทั้งสี่ |
ทรงกระสุนพนันกันทุกที | ผู้คนอึงมี่กลาดไป |
เป็นที่เพลิดเพลินวิญญาณ์ | จะไปสวนมาลาก็หาไม่ |
หยุดอยู่ดูเล่นสำราญใจ | นั่งยิ้มละไมยิงฟัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระรามสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
เล่นอยู่ที่ท้องสนามจันทน์ | ทรงธรรม์ก็ทอดพระเนตรไป |
เห็นนางค่อมนุ่งผ้าตานี | ห่มสีทับทิมหงอนไก่ |
ลอยหน้าเท้าแขนยิ้มละไม | จึ่งตรัสไปแก่สามอนุชา |
พี่จะยิงอี่ค่อมหลังกุ้ง | ให้โก่งนั้นดุ้งไปข้างหน้า |
น้องรักจงทอดทัศนา | ว่าแล้วก็ยิงทันที ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ด้วยเดชานุภาพพระนารายณ์ | ต้องแม่นเหมือนหมายไม่คลาดที่ |
โก่งนั้นดุ้งไปข้างนาภี | พระจักรีก็ยิงซ้ำไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ โก่งนั้นก็กลับคืนมา | นางค่อมหารู้ตัวไม่ |
แม่นยำรวดเร็วว่องไว | ยิงได้ดังใจทุกสิ่งอัน |
พระพี่น้องชื่นชมโสมนัส | ตบพระหัตถ์สำรวลสรวลสันต์ |
มหาดเล็กเด็กชาทั้งนั้น | ต่างเย้ยเยาะหยันเฮฮา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ กราวรำ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนางกุจจีทาสา |
ความอายเป็นพ้นพรรณนา | มือฟายนํ้าตาโศกี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๏ ถึงมาตรกูเป็นค่อมเค้า | ก็ข้าเก่านางไกยเกษี |
พระรามมาทำดั่งนี้ | ชีวีมิตายจะเห็นกัน |
ยิ่งคิดยิ่งแค้นแน่นใจ | น้ำตาหลั่งไหลตัวสั่น |
ลุกจากที่ท้องสนามจันทน์ | ก็เดินงกงันเข้ามา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ชุบ
๏ เมื่อนั้น | ทั้งสี่พระโอรสา |
ทรงกระสุนยิงหัดมาอัตรา | หมายตาหมายกรได้ชำนาญ |
รอบรู้วิชาทุกตำรับ | ขี่ขับช้างม้ากล้าหาญ |
จำเริญวัยใหญ่วัฒนาการ | ชนมานนั้นได้สิบสี่ปี |
ราชกิจต่างพระเนตรพระกรรณ | ทรงธรรม์บิตุเรศเรืองศรี |
ถึงเวลาก็พากันจรลี | ทั้งสี่ขึ้นเฝ้าพระบิดา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถนาถา |
เห็นสี่สมเด็จพระลูกยา | เสน่หาดั่งดวงชีวัน |
จึ่งมีมธุรสพจนารถ | สุดสวาทของพ่อเฉลิมขวัญ |
เจ้าจะสืบสุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์ | เป็นจรรโลงโลกธาตรี |
จงไปอยู่ด้วยพระอาจารย์ | เรียนวิชาการศรศรี |
ทั้งไตรเพทไสยเวทฤทธี | ตามประเวณีหน่อกษัตรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทั้งสี่พระโอรสา |
ได้ฟังสมเด็จพระบิดา | กราบกับบาทาแล้วทูลไป |
ซึ่งพระองค์ทรงพระการุญ | พระคุณนั้นหาที่สุดไม่ |
ลูกรักจำนงจงใจ | จะใคร่ให้เรืองฤทธี |
ว่าแล้วถวายบังคมลา | พระบิตุเรศมารดาทั้งสี่ |
ออกจากอยุธยาธานี | จรลีเข้าในพนาวัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ชมดง
๏ เดินพลางทางชมรุกขชาติ | งอกงามเกลื่อนกลาดหลายหลั่น |
โศกไทรสนสักชิงชัน | มูกมันประดู่หูกวาง |
กระสังรังรักเต็งแต้ว | เกล็ดแก้วกันเตราไตรตร่าง |
ตะเคียนแคข่อยขานาง | ขวิดขวาดปริงปรางประยงค์ |
กระถินอินจันจำปา | ลำดวนกระดังงามหาหงส์ |
สารภีนมสวรรค์คันทรง | กาหลงเลนเตเพกา |
พิกุลบุนนาคตูมตาด | เหียงหาดพลับพลวงหวายหว้า |
นมยวงนางแย้มโยทะกา | พะวาพะยอมเฟืองไฟ |
ช้องนางช้างน้าวสาวหยุด | ชาตบุษย์ขจรหงอนไก่ |
สี่กษัตริย์ชมเพลินจำเริญใจ | จนไปถึงอาศรมพระนักพรต ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองพระมหาดาบส |
เหลือบเห็นหน่อท้าวทศรถ | จึ่งมีพจนารถถามไป |
เป็นไฉนเจ้ามาแต่สี่องค์ | รี้พลจัตุรงค์ก็หาไม่ |
เกิดเหตุเภทพาลประการใด | ตานี้สงสัยพันทวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึ่งพระกุมารทั้งสี่ |
ได้ฟังพระมหามุนี | ชุลีกรแล้วแจ้งกิจจา |
บัดนี้สมเด็จพระบิตุรงค์ | พระองค์โปรดเกล้าเกศา |
ให้ข้านี้พี่น้องออกมา | อยู่ใต้บาทาพระอาจารย์ |
เรียนศิลปศาสตร์ไตรเพท | ทั้งพระเวทวิทยาให้กล้าหาญ |
สำหรับอัครราชกุมาร | พระทรงญาณจงได้ปรานี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระวสิษฐ์สวามิตรฤๅษี |
ได้ฟังชื่นชมยินดี | จึ่งมีวาจาตอบไป |
ซึ่งจะมาอยู่ด้วยตา | สารพัดวิชาจะบอกให้ |
จงตั้งความเพียรมั่นไว้ | ก็จะได้สำเร็จดั่งใจคิด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระรามบรมจักรกฤษณ์ |
กับสามอนุชาร่วมชีวิต | อยู่ด้วยนักสิทธ์ในกุฎี |
เช้าคํ่าอุตส่าห์นวดฟั้น | คั้นหัตถ์บาทาพระฤๅษี |
ปูอาสน์กวาดแผ้วผงคลี | ทั้งสี่ปรนนิบัติเป็นอัตรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองพระดาบสพรตกล้า |
จึ่งบอกไตรเพทวิทยา | แก่สี่นัดดาทุกวัน |
แล้วเหลาไม้ไผ่เป็นคันศร | ให้พระสี่กรรังสรรค์ |
กับสามอนุชาคนละคัน | ลูกนั้นสามเล่มประกับไป |
เจ้าจงหัดยิงทั้งสี่หลาน | ให้แม่นยำชำนาญจงได้ |
แล้วแนะลัทธิศิลป์ชัย | โดยนัยไสยเวทฤทธี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สี่กษัตริย์สุริย์วงศ์เรืองศรี |
รับศรจากกรพระมุนี | อัญชลีแล้วพากันออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ มาถึงที่สุดจงกรม | พื้นปราบราบร่มรังใหญ่ |
จึ่งปักดอกประยงค์เรียงไว้ | ไกลได้ถึงสามสิบวา |
ต่างองค์ต่างขึ้นธนูศร | หมายกรจะยิงบุปผา |
ก็พาดสายลั่นไปดั่งจินดา | เสียงก้องท้องฟ้าพนาลี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ ลูกศรไปต้องดอกประยงค์ | ย่อยยับแหลกลงกับที่ |
ต่างแผลงต่างต้องทุกที | ก็ตบหัตถ์สรวลมี่สำราญใจ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองพระมหาอาจารย์ใหญ่ |
เห็นหน่อท้าวทศรถภูวไนย | เรียนศิลป์ศรได้ชำนาญ |
รู้จบไตรเพทเวทมนตร์ | ฤทธิรณปรีชากล้าหาญ |
ครั้งนี้อสูรหมู่มาร | จะสิ้นปราณด้วยกรพระจักรา |
ตรีโลกจะเย็นด้วยพระเดช | ดั่งฉัตรแก้วกั้นเกศเกศา |
แต่ซึ่งจะปราบพาลา | ศิลป์ศรศักดายังไม่มี |
จำจะกองกูณฑ์กาลากิจ | โดยวิษณุเวทเรืองศรี |
ให้ศรเกิดในกลางอัคคี | จึ่งจะเรืองฤทธีเกรียงไกร |
คิดแล้วจึ่งสองพระอาจารย์ | ประกอบการจะชุบศรให้ |
กำหนดศุภฤกษ์ยามชัย | ต่างองค์ออกไปจากกุฎี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงซึ่งที่อัพโพกาศ | เป็นอาสน์สำหรับพระฤๅษี |
จึ่งตั้งกาลากิจพิธี | สำรวมอินทรีย์ภาวนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ สาธุการ
๏ ด้วยอำนาจเวทอันเชี่ยวชาญ | สุธาธารกำเริบทุกทิศา |
ลั่นคึกกึกก้องโกลา | เพลิงแรงแสงกล้าดั่งไฟกัลป์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพระอิศวรรังสรรค์ |
เสด็จเหนืออาสน์พรายพรรณ | ในสุวรรณตรีมุขพิมาน |
พร้อมฝูงสุรางค์อัปสร | จับระบำรำฟ้อนขับขาน |
ไม่แสนเกษมสำราญ | ให้บันดาลเร่าร้อนฤทัย |
จึ่งเล็งทิพเนตรลงมา | เห็นสองพระมหาอาจารย์ใหญ่ |
กองกูณฑ์พิธีกระลาไฟ | จะชุบศิลป์ให้พระนารายณ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ควรกูจะประสาทศรสิทธิ์ | ให้สัมฤทธิ์อาวุธทั้งหลาย |
คิดแล้วเข้าที่สงัดกาย | ร่ายเวทสำรวมจิตใจ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ บัดเดี๋ยวเกิดเป็นลูกศร | สิบสองเล่มฤทธิรอนจำเพาะให้ |
กับทั้งศรสิทธิ์ฤทธิไกร | ก็โยนไปในกองอัคคี |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองพระมหาฤๅษี |
เห็นศรพิชัยโมลี | เกิดขึ้นที่กลางกาลา |
พร้อมสิบสองเล่มเรืองฤทธิ์ | มีจิตแสนโสมนัสสา |
ก็หยิบออกมาพิจารณา | เห็นจารึกอักษรเป็นสำคัญ |
มีนามสามราชวรนุช | กับพระทรงครุฑรังสรรค์ |
ศรนี้ฤทธีต่างกัน | สำหรับปราบอาธรรม์พาลา |
แล้วส่งให้สี่พระกุมาร | ว่าศรพระทรงญาณนาถา |
จารึกประสาทลงมา | อานุภาพเลิศลํ้าธาตรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์เทวัญทั้งสี่ |
รับศรจากกรพระมุนี | ยินดีดั่งได้โสฬส |
กราบลงแล้วกล่าววาจา | อันคุณพระมหาดาบส |
ใหญ่ยิ่งพระเมรุบรรพต | จะกำหนดก็พ้นประมาณใจ |
ทั้งไตรโลกาเอามาเทียบ | จะเปรียบหนักเสมอก็ไม่ได้ |
จะขอสนองคุณพระองค์ไป | กว่าชีวาลัยจะมรณา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองพระดาบสพรตกล้า |
ได้ฟังพระราชนัดดา | แสนโสมนัสสาพันทวี |
ต่างองค์อำนวยอวยชัย | จงเรืองฤทธิไกรทั้งสี่ |
อันศัตรูหมู่ราชไพรี | อย่ามีผู้รอต่อกร |
ซึ่งเจ้าเรียนไตรเพทวิทยา | ก็สมปรารถนาทั้งศิลป์ศร |
องค์พระชนนีบิดร | ภูธรจะคอยทุกคืนวัน |
ตานี้จะเข้าไปส่ง | ยังพระบิตุรงค์รังสรรค์ |
ว่าแล้วทั้งสองพระนักธรรม์ | ก็พากันออกจากกุฎี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงซึ่งราชนิเวศน์ | องค์พระเยาวเรศทั้งสี่ |
ก็เชิญพระมหาโยคี | ขึ้นปราสาทมณีอลงการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระจอมอยุธยาราชฐาน |
เห็นสองพระมหาอาจารย์ | กับสี่กุมารก็ยินดี |
จึ่งบัญชาเชิญพระนักธรรม์ | ขึ้นแท่นสุวรรณจำรัสศรี |
มัสการบูชาด้วยมาลี | แล้วมีพจนารถถามไป |
อันสี่พระราชนัดดา | ร่ำเรียนวิชาเป็นไฉน |
ทั้งการธนูศิลป์ชัย | สำเร็จหรือไม่พระนักพรต ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองพระมหาดาบส |
ได้ฟังองค์ท้าวทศรถ | จึ่งมีพจนารถตอบไป |
อันสี่พระราชกุมาร | วิชาการสารพัดเรียนได้ |
รวดเร็วเคล่าคล่องว่องไว | ไม่มีใครเปรียบทั้งโลกา |
แล้วรูปกองกูณฑ์พิธี | ร้อนถึงพระศุลีนาถา |
ประสาทศรให้ลงมา | ฤทธานุภาพต่างกัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถรังสรรค์ |
ฟังสองพระมหานักธรรม์ | ดั่งได้ช่อชั้นดุษฎี |
สวมสอดกอดองค์พระลูกรัก | ดวงจักษุพ่อทั้งสี่ |
จงลองศรสิทธิฤทธี | ในที่ท่ามกลางเสนา |
ตามประเวณีราชสุริย์วงศ์ | อันทรงสุรภาพแกล้วกล้า |
พระเกียรติจะได้เลื่องลือชา | ประจักษ์ตาแก่หมู่พลากร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทั้งสี่พระองค์ทรงศร |
น้อมเศียรรับสั่งพระบิดร | พาอันบทจรออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | พระรามสุริย์วงศ์นาถา |
ขึ้นศรแผลงไปด้วยฤทธา | สะเทือนทั่วมหาบรรพต ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ ฟ้าแลบไม่ทันสิ้นแสง | ศรสามเล่มแผลงไปได้หมด |
พรหมาสตร์ไปชั้นโสฬส | เร็วดั่งจักรกรดสุรกานต์ |
อันอัคนิวาตฤทธิรอน | เป็นดวงทินกรฉายฉาน |
พลายวาตไปเขาจักรวาล | ลงสู่บาดาลแล้วกลับมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึ่งองค์พระพรตกนิษฐา |
บังคมสมเด็จพระบิดา | ขึ้นศรเงื้อง่าแล้วแผลงไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ เล่มหนึ่งไปปัญจนที | เล่มหนึ่งไปสี่ทวีปใหญ่ |
เล่มหนึ่งไปหิมวาลัย | ศรชัยคืนมาพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์รุ่งฟ้านราสรรค์ |
พระกรน้าวศรยืนยัน | แผลงสนั่นครั่นครื้นพสุธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ เล่มหนึ่งไปอัคนิรุทร | เล่มหนึ่งเป็นอาวุธแสนห่า |
เล่มหนึ่งไปพิภพอสุรา | กลับมาทักษิณพระนคร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระสัตรุดชาญสมร |
ชักศรพาดสายกรายกร | สำแดงฤทธิรอนแล้วแผลงไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ เล่มหนึ่งเป็นพายุพัดมา | เล่มหนึ่งเป็นห่าฝนใหญ่ |
เล่มหนึ่งนั้นเป็นเปลวไฟ | แล้วศรชัยกลายกลับเป็นมาลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝูงเทพเทวาทุกราศี |
คนธรรพ์ครุฑาวาสุกรี | กษัตราธิบดีทั้งแดนไตร |
ได้ยินเสียงกึกก้องกัมปนาท | พสุธาอากาศหวาดไหว |
บดบังทั้งแสงอโณทัย | ตกใจทั่วแคว้นแดนดิน |
แต่หมู่เทวัญนั้นแจ้งเหตุ | ว่าพระพงศ์เทเวศร์ประลองศิลป์ |
ก็เริงรื่นชื่นชมถึงพรหมินทร์ | ทีนี้อสุรินทร์จะวายปราณ |
บ้างโปรยทิพย์บุปผามาลาศ | สุคนธาเกลื่อนกลาดหอมหวาน |
เยี่ยมแกลแซ่ซ้องสาธุการ | ทั่วทุกวิมานเมืองฟ้า ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ สาธุการ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถนาถา |
กับสามอัครชายา | พระวงศาสนมกำนัล |
อีกแสนเสนาพฤตามาตย์ | ประชาราษฎร์โยธาพลขันธ์ |
เห็นสี่กุมาราวิลาวัณย์ | ลองศิลป์สนั่นทั้งธาตรี |
ต่างคนต่างแสนโสมนัส | อวยสวัสดิ์อวยพรอึงมี่ |
ให้สืบสุริย์วงศ์ทรงธรณี | จะได้เป็นที่พึ่งแก่โลกา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | สองพระดาบสพรตกล้า |
เห็นสี่สมเด็จพระนัดดา | ลองศิลป์สาตราได้ดั่งใจ |
มีความชื่นชมยินดี | เหมือนโกสีย์เอาแก้วมายื่นให้ |
ยิ้มพลางอำนวยอวยชัย | จงเรืองฤทธิไกรดั่งเพลิงกัลป์ |
แล้วกล่าวสุนทรวาจา | ลาท้าวทศรถรังสรรค์ |
ลงจากปราสาทสุวรรณ | ตรงไปอารัญกุฎี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ช้า
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงท้าวไกยเกษเรืองศรี |
แจ้งเหตุว่าพระบุตรี | ซึ่งอยู่บุรีอยุธยา |
มีโอรสราชกุมาร | ศิลป์ศรชำนาญแกล้วกล้า |
จึ่งคิดถวิลจินดา | ตัวกูก็ชราภาพนัก |
จะไปขอนัดดามาไว้ | ให้ช่วยรักษาอาณาจักร |
เกลือกมีศัตรูหมู่ยักษ์ | หลานรักจะได้รอนราญ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ คิดแล้วจึ่งสั่งเสนี | ผู้มีปรีชาให้แต่งสาร |
ขอองค์พระราชกุมาร | หลานกูมาไว้ในพารา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีผู้มียศถา |
ก้มเกล้ารับราชบัญชา | ก็ออกมาจากท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งให้อาลักษณ์เขียนสาร | ลงในลานทองฉายฉัน |
ใส่ในกล่องแก้วแพร้วพรรณ | ให้เสนาคนขยันถือไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สามนายผู้มีอัชฌาสัย |
รับสารออกจากเวียงชัย | รีบไปตามทางพนาวัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงอยุธยาราชฐาน | อันโอฬารดั่งดาวดึงส์สวรรค์ |
เข้าหาเสนาสุมันตัน | บรรยายตามเรื่องสารา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุมันตันผู้มียศถา |
ได้แจ้งแห่งคำเสนา | พากันมาพระโรงรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงน้อมเกล้าบังคมทูล | นเรนทร์สูรปิ่นภพเรืองศรี |
ว่าท้าวไกยเกษธิบดี | ภูมีให้ราชสารมา |
ทูลพลางทางเปิดกล่องแก้ว | แล้วจบเหนือเกล้าเกศา |
เชิญแผ่นสุวรรณสารา | ออกมาถวายพระทรงธรรม์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ช้า
๏ ราชสารองค์ท้าวไกยเกษ | ผู้ผ่านนคเรศมไหศวรรย์ |
ซึ่งร่วมแผ่นนพคุณเดียวกัน | กับเขตขัณฑ์อยุธยาธานี |
จำเริญสถาพรอักษรสวัสดิ์ | ถึงพระจอมจักรพรรดิเรืองศรี |
ผู้ปิ่นโลกาธาตรี | ในทวารวดีเวียงชัย |
ด้วยกรุงไกยเกษพารา | โอรสนัดดานั้นหาไม่ |
จะขอซึ่งองค์พระพรตไป | ไว้สืบสุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์ |
เสนีไพร่ฟ้าอาณาเขต | จะได้พึ่งพระเดชหลานขวัญ |
ดั่งฉัตรแก้วบังแสงสุริยัน | เป็นมหาจรรโลงพระนคร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถชาญสมร |
ฟังสารสวัสดิ์สถาวร | ภูธรชื่นชมยินดี |
จึ่งมีพจนารถตรัสไป | ว่าพระอัยกาเรืองศรี |
จะขอหลานไปไว้ในธานี | เรานี้ก็จะให้ดั่งจินดา |
ตรัสแล้วเสด็จจากอาสน์ | งามวิลาสดั่งเทพเลขา |
กรายกรนวยนาดยาตรา | เข้ามหาปราสาทพรายพรรณ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | พร้อมกษัตริย์สุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ทั้งฝูงพระสนมกำนัล | เฟี้ยมเฝ้าทรงธรรม์กลาดไป |
จึ่งตรัสบอกนางไกยเกษี | เจ้าพี่ผู้ยอดพิสมัย |
พระบิตุรงค์ขององค์อรไท | ภูวไนยให้มีสารมา |
ขอโอรสเจ้าเยาวเรศ | ไปไว้ต่างเนตรซ้ายขวา |
มิให้ก็จะเคืองวิญญาณ์ | พระผู้ผ่านฟ้าธาตรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนวลนางไกยเกษี |
ได้ฟังบัญชาพระสามี | ยอกรชุลีแล้วทูลไป |
อันพระบิตุรงค์ทรงยศ | โอรสนัดดาก็หาไม่ |
ซึ่งจะให้ลูกรักดั่งดวงใจ | ไปอยู่ด้วยองค์พระอัยกา |
ทั้งนี้สุดแต่พระทรงเดช | จะเมตตาโปรดเกศเกศา |
ตัวข้าผู้รองบาทา | ไม่ขัดบัญชาพระภูมี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถเรืองศรี |
ได้ฟังอัครราชเทวี | ดั่งวารีทิพย์มาเจือใจ |
จึ่งบัญชาตรัสแก่พระพรต | ผู้โอรสร่วมจิตพิสมัย |
บัดนี้ตาเจ้าจะขอไป | ให้สืบสุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์ |
ควรที่จะสนองรองบาท | พระอัยกาธิราชรังสรรค์ |
เป็นตาเป็นใจพระทรงธรรม์ | ในเขตขัณฑ์ไกยเกษพระนคร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์ทรงศร |
ได้ฟังสมเด็จพระบิดร | ชุลีกรสนองพระวาที |
ซึ่งพระองค์จะโปรดให้ไป | ลูกมิใคร่ไกลบาทบทศรี |
จะจากสามสมเด็จพระชนนี | ทั้งพระจักรีพี่ยา |
กับองค์พระลักษมณ์พระสัตรุด | ผู้เป็นวรนุชเสน่หา |
พระบิตุรงค์จงทรงพระเมตตา | สุดปัญญาที่จะจากกัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ