- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงปักหลั่นยักษี |
ต้องสาปหัสนัยน์ธิบดี | อสุรีเฝ้าสระมาช้านาน |
ต่อสัตว์เข้ามาในที่นั้น | กุมภัณฑ์จับกินเป็นอาหาร |
ครั้นถึงมัชฌิมราตรีกาล | ขุนมารขึ้นจากชลาลัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ พิราบรอน
๏ เที่ยวตามบริเวณสระศรี | พบพลกระบี่น้อยใหญ่ |
นอนดาษพาดกันเกลื่อนไป | หลับไหลไม่ฟื้นกายา |
มีใจชื่นชมโสมนัส | ตบหัตถ์สำรวลสรวลร่า |
วันนี้ลาภใหญ่ของกูมา | จะกินเป็นภักษาให้สำราญ |
คิดแล้วกวัดแกว่งคทาวุธ | สำแดงฤทธิรุทรกำลังหาญ |
ค่อยย่องเข้าไปด้วยใจพาล | ยังสถานท่ามกลางโยธี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ จึ่งเห็นวานรสามตน | อยู่ในกลางพลกระบี่ศรี |
ผู้หนึ่งเขียวขำทั้งอินทรีย์ | ชะรอยไอ้นี่เป็นนายมา |
กูจะสังหารผลาญมัน | ให้สิ้นชีวันสังขาร์ |
คิดแล้วโจนถีบอุรา | องคตนัดดามัฆวาน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ลูกพญาพาลีใจหาญ |
ผวาตื่นจากพื้นสุธาธาร | ก็เห็นขุนมารบังอาจใจ |
กริ้วโกรธพิโรธดั่งไฟฟอน | สำแดงฤทธิรอนแผ่นดินไหว |
ฉวยชักพระขรรค์ด้วยว่องไว | เข้าไล่เข่นฆ่าอสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ปักหลั่นสิทธิศักดิ์ยักษี |
ถาโถมโจมจ้วงทะลวงตี | ด้วยกำลังอินทรีย์กุมภัณฑ์ |
ต่างถอยต่างไล่สับสน | ต่างตนฤทธิแรงแข็งขัน |
สองหาญต่อกล้าเข้าโรมรัน | ต่างตีต่างฟันไม่งดกร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | หลานท้าวมัฆวานชาญสมร |
กวัดแกว่งพระขรรค์ฤทธิรอน | วานรเหยียบเข่าอสุรี |
กลอกกลับจับกันสับสน | ต่างอดต่างทนไม่ถอยหนี |
ถีบถูกปักหลั่นหลายที | ยักษีซวนไปด้วยฤทธา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | จึ่งปักหลั่นยักษา |
สิ้นคิดสิ้นกำลังกายา | สิ้นศักดาเดชจะรอนราญ |
ความกลัวตัวสั่นขวัญหนี | ดั่งจะม้วยชีวีสังขาร |
ประนมกรแล้วกล่าวพจมาน | ท่านนี้มีนามชื่อไร |
พาพลล่วงเข้ามาในแดน | แว่นแคว้นของเราที่สระใหญ่ |
จะไปแห่งหนตำบลใด | สงสัยเป็นพ้นคณนา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ลูกพญาพาลีแกล้วกล้า |
ได้ฟังจึ่งตอบอสุรา | กูนี้ชื่อว่าองคต |
เป็นทหารสมเด็จพระจักรกฤษณ์ | ทรงกำลังฤทธิ์ดั่งจักรกรด |
บัดนี้พระองค์ทรงยศ | ยกทศโยธาวานร |
จะไปปราบอสูรหมู่มาร | ให้สิ้นพวกพาลด้วยแสงศร |
ให้กูสามนายฤทธิรอน | ไปยังนครลงกา |
คํ่าลงก็หยุดอาศัย | ไม่รู้ว่าแดนยักษา |
ตัวมึงชื่อไรอสุรา | อหังการ์มาลอบราวี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งปักหลั่นยักษี |
แจ้งว่าทหารพระจักรี | ยินดีก็บอกแก่วานร |
เดิมเราเป็นข้าเบื้องบาท | พระจอมเมรุมาศสิงขร |
ทำชู้สู่สมด้วยบังอร | มีนามเกสรมาลา |
พระองค์นั้นทรงพระโกรธ | ลงโทษสาปข้าเป็นยักษา |
ให้มาเฝ้าสระพันตา | ชื่อว่าปักหลั่นขุนยักษ์ |
เมื่อใดต่อพบทหาร | องค์พระอวตารทรงจักร |
ได้ลูบกายข้าผู้ทรลักษณ์ | จึ่งจะพ้นโทษหนักซึ่งสาปไว้ |
วันนี้สิ้นทุกข์เวทนา | ปรีดาหาที่จะเปรียบไม่ |
ซึ่งข้ามาทำให้เคืองใจ | ขออภัยจงได้ปรานี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | องคตหลานท้าวโกสีย์ |
แจ้งความตามเรื่องอสุรี | ขุนกระบี่มีจิตเมตตา |
จึ่งยืนกรไปลูบปฤษฎางค์ | ก็สระสร่างซึ่งโทษยักษา |
กายนั้นกลับเป็นเทวา | เหาะไปฟากฟ้าสถาวร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
ทั้งชมพูพานฤทธิรอน | กับหมู่วานรโยธี |
แว่วเสียงสนั่นครั่นครื้น | ก็ตื่นขึ้นพร้อมหน้ากระบี่ศรี |
บ้างคลานบ้างวิ่งเป็นโกลี | เรียกหากันมี่อึงไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ หนุมานจึ่งร้องตวาด | ประกาศหมู่โยธาน้อยใหญ่ |
เหตุผลต้นปลายประการใด | ตกใจอื้ออึงโกลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพลกระบี่ถ้วนหน้า |
ได้ยินหนุมานร้องมา | วานรก็สงบทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | หลานท้าวหัสนัยน์เรืองศรี |
เสร็จส่งปักหลั่นอสุรี | ก็กลับมายังที่พลไกร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงคำแหงหนุมาน | กับชมพูพานทหารใหญ่ |
จึ่งแจ้งเหตุผลแต่ต้นไป | ตามได้รณรงค์กุมภัณฑ์ |
บัดนี้ปักหลั่นอสุรี | สิ้นสาปโกสีย์รังสรรค์ |
ลูบกายกลับกลายเป็นเทวัญ | คืนไปยังสวรรค์ชั้นฟ้า ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สองนายผู้มียศถา |
ทั้งหมู่วานรโยธา | ฟังลูกพญาพาลี |
เห็นบุญเห็นฤทธิ์เห็นอำนาจ | พระนารายณ์ธิราชเรืองศรี |
แล้วชมองคตผู้ฤทธี | ท่านนี้ประเสริฐเลิศชาย |
ต่างตนต่างสนทนากัน | จนสุริยันจวนแจ้งแสงฉาย |
ก็ยกพวกพลนิกาย | บ่ายหน้าไปตามมรรคา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ รุกร้น
๏ นำพลผ่านทุ่งวุ้งเขา | ตามลำเนาทิวแถวแนวป่า |
หนทางห้าโยชน์คณนา | พอจวนเวลาสายัณห์ |
ก็ถึงเมืองหนึ่งอยู่กลางไพร | แสนสนุกดั่งตรัยตรึงศ์สวรรค์ |
ปราการหอรบเรียงรัน | คูคั่นเขื่อนซุ้มชอบกล |
มีทั้งมหาปราสาท | โอภาสแลลอยโพยมหน |
ไม่เห็นโยธีรี้พล | เข้าออกสับสนนอกใน |
สามนายแลเล็งเพ่งพิศ | ต่างตนต่างคิดสงสัย |
ให้หยุดพหลพลไกร | ลงไว้แล้วปรึกษากัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ลูกพระพายฤทธิแรงแข็งขัน |
จึ่งว่าแก่สองนายนั้น | เมืองนี้อัศจรรย์ใจนัก |
ตัวเราจะเข้าไปดู | ให้รู้เหตุการณ์เบาหนัก |
ฝ่ายท่านผู้จำเริญพักตร์ | รักษารี้พลให้จงดี |
สั่งแล้วก็เดินออกมา | จากหมู่โยธากระบี่ศรี |
บ่ายหน้าต่อราชธานี | จรลีเข้ายังเวียงชัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ ประถม
ชมตลาด
๏ พิศดูมรรคาศิลาลาด | รุกขชาติเรียบเรียงเคียงไสว |
ดอกผลหล่นกลาดดาษไป | ไม่เห็นผู้คนไปมา |
เดินพลางทางพิศคิดฉงน | หรือจะเป็นเล่ห์กลยักษา |
หรือที่ประพาสภิรมยา | องค์เจ้าโลกาธาตรี |
จึ่งแสนสนุกสำราญ | ดั่งสถานนคเรศโกสีย์ |
ชมพลางก็รีบจรลี | ขึ้นที่ปราสาทอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เห็นนางทรงลักษณ์วิไลวรรณ | ผิวพรรณเพียงเทพอัปสร |
พักตร์ผ่องดั่งดวงศศิธร | แน่งน้อยอรชรทั้งอินทรีย์ |
ขนงก่งค้อมดั่งวาด | โอษฐ์เอี่ยมดั่งชาดเฉลิมศรี |
นัยน์เนตรเพียงเนตรมฤคี | ปรางเปรียบมณีพรายพรรณ |
ลำศอดั่งคอราชหงส์ | เอวองค์ดั่งกินรีสวรรค์ |
สองกรดั่งงวงเอราวัณ | ดวงถันดั่งดวงปทุมทอง |
งามสรรพพร้อมสิ้นสรรพางค์ | งามนางในโลกไม่มีสอง |
งามพริ้มนิ่มเนื้อนวลละออง | ยิ่งพิศยิ่งต้องติดตา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ อย่าเลยจะเข้าไปไถ่ถาม | ให้สิ้นข้อความที่กังขา |
คิดแล้วขุนกระบี่ผู้ปรีชา | เดินเข้าไปหานางเทวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ชาตรี
๏ จึ่งกล่าววาจาอันสุนทร | ดูกรเยาวมาลย์เฉลิมศรี |
แน่งน้อยเสาวภาคย์ทั้งอินทรีย์ | เจ้านี้มีนามกรใด |
มาอยู่ผู้เดียวเอกา | ท่านเจ้าพารานั้นไปไหน |
สิ้นทั้งโยธาข้าไท | เหตุผลสิ่งใดเยาวมาลย์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางบุษมาลียอดสงสาร |
เห็นวานรมาถามเหตุการณ์ | นงคราญตระหนกตกใจ |
จึ่งคิดถวิลจินดา | ขุนกระบี่นี้มาแต่ไหน |
ตัวกูต้องสาปหัสนัยน์ | นานได้ถึงสามหมื่นปี |
ไม่เห็นผู้คนหญิงชาย | ใครจะมากล้ำกรายถึงนี่ |
ครั้นจะนิ่งเสียบัดนี้ | น่าที่ไม่แจ้งกิจจา |
คิดแล้วจึ่งเยื้อนตอบไป | เป็นไฉนกระบี่ใจกล้า |
อยู่ถิ่นฐานใดจึ่งขึ้นมา | ถึงมหาปราสาทอลงกรณ์ |
ล่วงถามนามเราไม่เกรงบาท | พระจอมเมรุมาศสิงขร |
เร่งไปเสียจากพระนคร | ไม่ควรวานรจะแจ้งการ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | วายุบุตรผู้ปรีชาหาญ |
ได้ฟังสุรเสียงเยาวมาลย์ | ปานอมฤตฟ้ายาใจ |
จึ่งมีสุนทรวาจา | แก้วตาผู้ยอดพิสมัย |
ไม่แจ้งความจึ่งถามอรไท | ควรหรือช่างไม่ปรานี |
ขุ่นหมองข้องขัดสิ่งใดเจ้า | ยุพเยาว์จึ่งมาขับพี่ |
สงสัยในคำซึ่งพาที | ออกนามโกสีย์ด้วยอันใด |
ว่าพลางก็เดินเข้าหา | อนิจจาหาควรจะพรางไม่ |
ขอเชิญเยาวยอดดวงใจ | บอกไปให้แจ้งเหตุการณ์ |
แม้นมีทุกข์ร้อนจะได้ช่วย | กว่าจะม้วยชีวังสังขาร |
พี่เป็นทหารพระอวตาร | บุญนำมาพานพบกัน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | นางบุษมาลีสาวสวรรค์ |
เห็นวานรพูดเลี้ยวเกี้ยวพัน | แล้วเดินกระชั้นเข้ามา |
ให้คิดขวยเขินสะเทินนัก | นงลักษณ์ผินผันหันหน้า |
ลุกหนีจากแท่นอลงการ์ | แล้วมีวาจาตอบไป |
ทำไมไล่รุกบุกบั่น | จะเกรงใจกันก็หาไม่ |
ช่างกล่าวสุนทรให้อ่อนใจ | ใส่ไคล้จะช่วยทุกข์เรา |
ชิชะทหารพระนารายณ์ | แยบคายดั่งใครไม่รู้เท่า |
ตัวข้ามิใช่ใจเบา | จะเชื่อคำเจ้าพาที |
ซึ่งว่าเป็นทหารพระทรงศร | นามกรชื่อไรกระบี่ศรี |
แม้นบอกก็จะบอกกันโดยดี | อย่ามาเซ้าซี้ให้ขัดใจ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย
๏ โฉมเอยโฉมเฉลา | ยุพเยาว์ผู้ยอดพิสมัย |
รักเจ้าเท่าดวงชีวาลัย | ใช่จะใส่ไคล้เจรจา |
ตัวพี่นี้ชื่อหนุมาน | เป็นทหารพระนารายณ์นาถา |
ทศพักตร์มันลักนางสีดา | ไปยังลงกาธานี |
โองการใช้ให้มาเยือนข่าว | เรื่องราวองค์พระมเหสี |
จึ่งพบเยาวยอดนารี | บุญเจ้ากับพี่ร่วมกัน |
ว่าพลางก็เดินเข้าไปใกล้ | คว้าไขว่ฉวยกรสาวสวรรค์ |
เชิญองค์วนิดาวิลาวัณย์ | ขวัญเมืองมานั่งกับพี่ชาย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางบุษมาลีโฉมฉาย |
สลัดปัดกรด้วยความอาย | ชายหนีแล้วตอบวาจา |
ดูดู๋ยิ่งว่ายิ่งลวนลาม | หยาบหยามไม่คิดเกรงหน้า |
นี่หรือหนุมานผู้ศักดา | ทหารพระจักราสี่กร |
เหตุใดไม่หาวเป็นดาวดวง | เดือนตะวันโชติช่วงประภัสสร |
ให้เห็นสำคัญของวานร | ลวงหลอนมุสาพาที |
แต่ซึ่งมาถามนามเรา | ข้อนั้นจะเล่ากระบี่ศรี |
ตัวข้าชื่อบุษมาลี | เมืองนี้ชื่อเมืองมายัน |
เดิมท้าวตาวันไปเฝ้า | องค์เจ้าตรัยตรึงศาสวรรค์ |
เห็นนางรำพาวิลาวัณย์ | ผูกพันพิศวาสอรไท |
ขึ้นเฝ้าครั้งไรก็วอนว่า | ตัวข้าสื่อชักนางให้ |
พระองค์ตามมล้างชีวาลัย | บันดาลให้ไพร่พลสาธารณ์ |
จึ่งซ้ำสาปข้าลงมาอยู่ | ผู้เดียวที่ในราชฐาน |
ทนทุกข์ทรมาช้านาน | ประมาณได้สามหมื่นปี |
ต่อพบทหารชาญณรงค์ | ขององค์พระนารายณ์เรืองศรี |
จึ่งจะพ้นโทษาราคี | ตามมีเทวราชบัญชา ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | คำแหงหนุมานหาญกล้า |
ยิ้มแล้วจึ่งตอบพจนา | อนิจจามิใคร่จะบอกกัน |
หาไม่ป่านนี้จะพ้นทุกข์ | เสวยสุขภิรมย์เกษมสันต์ |
จะช่วยวนิดาวิลาวัณย์ | แต่จะถึงใจกันด้วยอันใด |
ว่าพลางทางทำสัพยอก | เย้าหยอกจุมพิตพิสมัย |
เจ้าคอยดูเถิดอรไท | ว่าแล้วโผนไปด้วยฤทธา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ลอยอยู่ตรงช่องบัญชร | กลับเป็นแปดกรสี่หน้า |
อันเดือนดาวแลดวงสุริยา | ออกมาจากโอษฐ์ชัชวาล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ เมื่อนั้น | นางบุษมาลียอดสงสาร |
เห็นกระบี่แผลงฤทธิ์ชัยชาญ | เยาวมาลย์ตระหนกตกใจ |
สองกรปิดสองนัยนา | ก้มหน้ามิอาจจะดูได้ |
ร้องตรีดหวีดหวาดวุ่นไป | ไม่เป็นสติสมประดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
ครั้นเห็นนางบุษมาลี | ตกใจร้องมี่วุ่นวาย |
ยิ่งแสนพิศวาสจะขาดจิต | ก็กลับรูปนิมิตให้สูญหาย |
ลงมานั่งแนบแอบกาย | ยิ้มพรายรับขวัญกัลยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
โอ้โลม
๏ แล้วมีวาจาอันสุนทร | สายสมรเยาวยอดเสน่หา |
รักเจ้าเท่าดวงชีวา | แก้วตาของพี่อย่าตกใจ |
ว่าพลางอุ้มองค์นงลักษณ์ | ภิรมย์ชมพักตร์พิสมัย |
เชยแก้มแนมเนื้ออรไท | คว้าไขว่ต้องเต้าสุมามาลย์ |
ฝนสวรรค์ครั่นครื้นโพยมหน | โกมลบานรับสุริย์ฉาน |
กลิ่นตลบอบฟุ้งชลธาร | สองสำราญสุขเกษมเปรมปรีดิ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ กล่อม
๏ เมื่อนั้น | นางบุษมาลีโฉมศรี |
ครั้นได้ร่วมรสฤดี | กับขุนกระบี่ผู้ศักดา |
แสนสนิทพิสมัยใหลหลง | งวยงงด้วยความเสน่หา |
ลืมทุกข์ที่ทนเวทนา | ซึ่งอยู่เอกาในมายัน |
ลืมทิพสถานพิมานแมน | ลืมแสนสมบัติเมืองสวรรค์ |
ลืมอายลืมความรังเกียจกัน | เกษมสันต์อิงแอบวานร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
เชยชิดพิศวาสบังอร | แล้วกล่าวสุนทรวาที |
เจ้าผู้โฉมเฉลาเยาวเรศ | ดวงเนตรผู้มิ่งมารศรี |
บัดนี้สมเด็จพระจักรี | ใช้พี่ไปเฝ้านางสีดา |
ครั้นจะอยู่สู่สมภิรมย์รัก | ช้านักก็เกรงโทษา |
ตัวพี่นี้จักขอลา | แก้วตาอย่าได้อาวรณ์ |
ซึ่งจะไปลงกากรุงไกร | ยังใกล้หรือไกลดวงสมร |
ช่วยบอกหนทางให้พี่จร | บังอรจงได้ปรานี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางบุษมาลีโฉมศรี |
ได้ฟังหนุมานพาที | ดั่งหนึ่งชีวีจะบรรลัย |
น้อมเศียรกราบกับบทเรศ | ชลเนตรแถวถั่งหลั่งไหล |
ให้อัดอั้นตันอกตกใจ | ด้วยจะไกลพญาพานร |
สุดที่จะขัดทัดทาน | แสนทุกข์ทรมานดั่งต้องศร |
ขืนใจดับความอาวรณ์ | ยอกรชี้บอกมรรคา |
อันทางลงกากรุงไกร | ไปโดยหรดีทิศา |
แต่นี้เก้าโยชน์คณนา | จึ่งจะพบมหานที |
เชี่ยวฉานใหญ่หลวงลึกกว้าง | มีนางอัปสรโฉมศรี |
สำหรับรักษาวารี | จงถามเทวีต่อไป |
น้องนี้ก็สิ้นมลทินโทษ | ได้โปรดจงช่วยส่งให้ |
คืนยังฟากฟ้าสุราลัย | ตามคำหัสนัยน์บัญชา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ลูกพระพายผู้มียศถา |
จึ่งเข้าอุ้มองค์กัลยา | พิศดูพักตราก็อาลัย |
พิศเกศเนตรนมชมนาง | พิศปรางทางถอนใจใหญ่ |
จำเป็นก็โยนขึ้นไป | ยังในอากาศด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นเสร็จส่งนางไปเมืองอินทร์ | ขุนกบินทร์ชื่นชมเกษมศรี |
ลงจากปราสาทรูจี | ก็รีบจรลีออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ถึงที่องคตชมพูพาน | วานรทวยหาญซ้ายขวา |
นั่งลงท่ามกลางโยธา | แล้วแจ้งกิจจาทุกสิ่งอัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ สามนายสนทนากันไป | จนอุทัยเรื่อแรงแสงฉัน |
เลิกพลออกจากมายัน | จรจรัลไปตามมรรคา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ รุกร้น
๏ เร่งรีบโยธาพลากร | หยุดพักแรมรอนมาในป่า |
ล่วงทางเก้าโยชน์คณนา | ก็ถึงมหานที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ แลเห็นนางหนึ่งประไพพักตร์ | ทรงลักษณ์แน่งน้อยเฉลิมศรี |
นั่งอยู่ในกลางวารี | ขุนกระบี่ปรีดาสถาวร |
จึ่งกล่าวมธุรสวาจา | ดูกรวนิดาดวงสมร |
ไฉนมาอยู่ในสาคร | มีนามกรชื่อใด |
ทางจะไปลงกาธานี | มารศรียังรู้หรือหาไม่ |
เมตตาช่วยบอกให้แจ้งใจ | เราจะไปเฝ้าองค์นางสีดา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางเทพอัปสรเสน่หา |
ได้ฟังวานรถามมา | กัลยาจึ่งตอบวาที |
เรานี้เป็นข้าบาทบงสุ์ | องค์พระอิศวรเรืองศรี |
ชื่อว่าสุวรรณมาลี | เป็นที่ต่างใจภูธร |
ใช้ให้มาคอยทหาร | พระนารายณ์อวตารทรงศร |
จะไปเฝ้าสีดาบังอร | ให้บอกทางจรเมืองมาร |
ท่านจงพาพลโยธี | ข้ามมหาวารีไพศาล |
จะพบพระชฎิลอาจารย์ | จึ่งถามเหตุการณ์ต่อไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
ฟังนางอัปสรสุราลัย | มีใจชื่นชมยินดี |
จึ่งให้โยธาวานร | หยุดร้อนริมฝั่งวารีศรี |
พากันลงเล่นชลธี | เสียงมี่อื้ออึงโกลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ กราวจีน
๏ ครั้นแล้วขึ้นจากกระแสสินธุ์ | ขุนกบินทร์ยอกรเหนือเกศา |
ก็ร่ายพระเวทศักดา | นิมิตกายาพานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ ใหญ่เท่าบรมพรหมาน | สูงเพียงจักรพาลสิงขร |
หางนั้นพาดข้ามสาคร | ให้เป็นทางจรโยธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | พวกพลนิกรกระบี่ศรี |
เดินไปดั่งพื้นปัถพี | อึงมี่ข้ามฝั่งคงคา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
ครั้นเสร็จซึ่งข้ามโยธา | ก็รีบตามมรรคาพนาวัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เดินมาสิ้นห้าโยชน์ปลาย | พอชายบ่ายแสงสุริย์ฉัน |
ก็เห็นอาศรมพระนักธรรม์ | พากันไปยังกุฎี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งสามวานร | ยอกรเหนือเกล้าเกศี |
กราบลงแทบบาทพระมุนี | ด้วยใจยินดีปรีดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระชฎิลอาจารย์ฌานกล้า |
เห็นสามกระบี่เข้ามา | จึ่งมีวาจาถามไป |
ซึ่งท่านพาพวกโยธี | มานี้จะไปหนไหน |
ถิ่นฐานบ้านเมืองอยู่แห่งใด | คือใครใช้สอยวานร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
จึ่งตอบด้วยคำอันสุนทร | นามกรข้าชื่อหนุมาน |
นั่นชมพูพานองคต | คุมทศโยธาทวยหาญ |
เป็นข้าสมเด็จพระอวตาร | โองการตรัสใช้ให้มา |
เยือนข่าวองค์พระมเหสี | ยังบุรีทศพักตร์ยักษา |
อันทางจะไปลงกา | ตัวข้าไม่แจ้งประจักษ์ใจ |
จึ่งแวะมาหาพระอาจารย์ | ขอประทานจงช่วยบอกให้ |
ยังใกล้หรือไกลประการใด | พระองค์จงได้ปรานี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมหาชฎิลฤๅษี |
แจ้งว่าทหารพระจักรี | ยินดีดั่งได้โสฬส |
ปางนี้อสูรหมู่มาร | จะวายปราณสิ้นโคตรวงศ์หมด |
ด้วยเดชพระนารายณ์ทรงยศ | ทศทิศจะสุขสำราญใจ |
จึ่งว่าลงกานี้ไปยาก | แสนลำบากข้ามห้วยเหวไศล |
กำหนดแต่ที่นี้ไป | ได้สิบห้าโยชน์คณนา |
จะถึงซึ่งเขาหนึ่งนั้น | ชื่อเหมติรันภูผา |
อยู่ริมมหาคงคา | เป็นท่าข้ามไปเมืองมาร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งสามวานรนายทหาร |
ได้แจ้งแห่งคำพระอาจารย์ | มัสการแล้วมายังโยธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นรุ่งรางสร่างแสงทินกร | สามพญาพานรเรืองศรี |
ก็เลิกแสนสุรเสนี | ไปจากกุฎีพระนักพรต ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ร้อนแรมมาตามมรรคา | ได้สิบห้าโยชน์โดยกำหนด |
ถึงเหมติรันบรรพต | ปรากฏเงื้อมงํ้าอัมพร |
หนุมานจึ่งนำพลเดิน | ขึ้นไปบนเนินสิงขร |
พอสิ้นแสงรังสีรวีวร | วานรตามแสงกุณฑลมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ รุกร้น
๏ เดินไปจนถึงคีรี | ก็ถึงที่ปากถํ้าคูหา |
สามนายให้หยุดโยธา | ไม่รู้ว่าจะไปแห่งใด ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พวกพลวานรน้อยใหญ่ |
ต่างคิดฉงนสนเท่ห์ใจ | แลไปบนพื้นอัมพร |
เห็นดวงดาวเดือนเกลื่อนกลาด | รัศมีโอภาสประภัสสร |
ดั่งหนึ่งจะเอื้อมถึงกร | พระพายพัดอ่อนเรื่อยมา |
นํ้าค้างตกต้องอินทรีย์ | กระบี่เยือกเย็นถ้วนหน้า |
บ้างหักไม้สีไฟเป็นโกลา | กองผิงกายาวุ่นไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
จึ่งว่าแก่หลานหัสนัยน์ | ชมพูพานผู้ใจภักดี |
ปางนี้นารายณ์อวตาร | ลงมาสังหารยักษี |
ใช้เราไปเฝ้าพระเทวี | ยังที่ลงกาพระนคร |
ถึงยากลำบากก็จำไป | ให้พบอัคเรศดวงสมร |
ตั้งใจอาสาพระสี่กร | อย่าอาวรณ์แก่ชีพชีวา |
ถึงมาตรตัวตายจะไว้ยศ | ให้ปรากฏดั่งราชปักษา |
อันชื่อสดายุผู้ศักดา | สกุณาสู้เสียชีวัน |
จึ่งควรด้วยเราเป็นทหาร | องค์พระอวตารรังสรรค์ |
ความดีจะอยู่ชั่วกัลป์ | จนสิ้นสุริยันจันทรา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายสัมพาทีปักษา |
ซึ่งต้องสาปองค์พระสุริยา | อยู่ในคูหาคีรี |
ได้ยินเสียงพูดกันอึงอื้อ | ออกชื่อสดายุปักษี |
ว่าสุดสิ้นชีพชีวี | มีความตระหนกตกใจ |
ตัวกูจะไปถามดู | ให้รู้เท็จจริงเป็นไฉน |
คิดแล้วก็รีบออกไป | จากในถํ้าแก้วแพร้วพรรณ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เสียงเท้าที่เหยียบศีลา | สำเนียงดั่งฟ้าคะนองลั่น |
กึกก้องทั่วท้องอารัญ | เพียงบรรพตนั้นจะแหลกลาญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ บัดนั้น | วานรนายหมวดทหาร |
สิ้นทั้งไพร่พลบริวาร | ได้ยินเสียงสะท้านสะเทือนมา |
ตระหนกตกใจไม่มีขวัญ | ตัวสั่นเพียงสิ้นสังขาร์ |
วิ่งแยกแตกกันเป็นโกลา | ไม่รู้ว่าเหตุผลประการใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บ้างโลดบ้างโผนโจนคลาน | บ้างปีนทะยานขึ้นไม้ใหญ่ |
แอบชะง่อนหินผาวุ่นไป | ไม่เป็นอารมณ์สมประดี |
ยังแต่สามทหารชาญณรงค์ | อาจองยืนอยู่ไม่หลีกหนี |
ต่างแกว่งพระขรรค์แกว่งตรี | คอยทีต่อกรรอนราญ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาสัมพาทีใจหาญ |
ครั้นถึงปากถํ้าสุรกานต์ | ยืนทะยานเหลือบแลแปรไป |
พินิจพิศเพ่งซ้ายขวา | จะเห็นใครไปมาก็หาไม่ |
ให้คิดฉงนสนเท่ห์ใจ | เหตุใดมาเป็นดั่งนี้ |
พอแลเห็นสามวานร | ยืนอยู่ริมชะง่อนคีรีศรี |
แสนโสมนัสยินดี | จึ่งมีวาจาถามไป |
อันสดายุราชปักษา | เกิดเหตุภัยมาเป็นไฉน |
ท่านจึ่งว่าสิ้นชีวาลัย | คือใครองอาจรอนราญ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจหาญ |
ได้ฟังจึ่งตอบพจมาน | เดิมพระอวตารสี่กร |
สร้างพรตอยู่ยังโคทา | กับพระลักษมณ์นางสีดาดวงสมร |
โดยเพศชีป่าพนาดร | ถาวรจำเริญสวัสดี |
ทศพักตร์มันคิดอุบาย | ให้มารีศน้าชายยักษี |
นิมิตกายกลายเป็นมฤคี | ไปลวงเทวีนางสีดา |
สององค์เสด็จไปตามกวาง | มันลักนางไปโดยเวหา |
สดายุมาพบอสุรา | เข้าต่อฤทธากุมภัณฑ์ |
ทศพักตร์สุดสิ้นพวกพล | ปักษีอวดตนด้วยโมหันธ์ |
ขุนยักษ์กลัวสิ้นชีวัน | ถอดแหวนนางกัลยาณี |
ซึ่งเป็นเครื่องทรงพระนารายณ์ | ขว้างมาต้องกายปักษี |
ปีกหักตกลงปัถพี | ชีวียังไม่มรณา |
ต่อได้พบองค์พระทรงศิลป์ | ถวายแหวนแล้วสิ้นสังขาร์ |
บัดนี้ตรัสใช้ให้เรามา | สืบข่าวกัลยายังเมืองมาร ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | จึ่งสัมพาทีใจหาญ |
ฟังวายุบุตรแจ้งการ | ว่าน้องวายปราณก็โศกี |
โอ้ว่าสดายุเอ๋ย | เจ้าเคยเป็นเพื่อนยากพี่ |
เสียแรงซึ่งมีฤทธี | ต่อตีข้าศึกประมาทใจ |
ให้ไอ้อสุรโมหันธ์ | สังหารชีวันเสียได้ |
นิจจาเอ๋ยเจ้าดวงชีวาลัย | ควรหรือหนีไปเมืองฟ้า |
ตัวพี่จะอยู่ไม่ต้องการ | จะวายปราณตามไปดีกว่า |
รํ่าพลางทางแสนโศกา | สกุณาเพียงสิ้นชีวัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | หนุมานฤทธิแรงแข็งขัน |
เห็นปักษาโศกาจาบัลย์ | รำพันเพียงสิ้นสมประดี |
ให้คิดเมตตาอาวรณ์ | จึ่งว่าดูกรปักษี |
ธรรมดาเกิดมาในโลกีย์ | ไม่มีใครพ้นความตาย |
ถึงมาตรพระเมรุภูผา | เป็นหลักโลกาทั้งหลาย |
ก็ย่อมวินาศวอดวาย | อันตรายด้วยไฟบรรลัยกัลป์ |
แม้นท่านจะแสนโศกี | ไปกว่าชีวีจะอาสัญ |
ใช่ว่าสดายุนั้น | จะคืนชีวันเป็นมา |
จงระงับดับเสียซึ่งวิโยค | อย่าแสนโศกนักเลยนะปักษา |
เราสงสัยใคร่แจ้งกิจจา | สกุณามีนามกรใด |
จึ่งขนหลุดสิ้นทั้งอินทรีย์ | เหตุผลนั้นมีเป็นไฉน |
ให้คิดฉงนสนเท่ห์ใจ | ด้วยไม่เคยเห็นแต่ปางบรรพ์ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สัมพาทีฤทธิแรงแข็งขัน |
ฟังลูกพระพายเทวัญ | รำพันว่ากล่าวด้วยเมตตา |
ก็คืนได้สมประดีดับโศก | ซึ่งวิโยคเศร้าโทมนัสสา |
จึ่งกล่าวสุนทรวาจา | ตัวเราชื่อว่าสัมพาที |
ได้เป็นพี่ชายสายสวาท | กับสดายุราชปักษี |
อยู่ยอดเขาอัสกรรณคีรี | สกุณียังเยาว์ไม่รู้ความ |
วันหนึ่งเห็นดวงทินกร | เขจรส่องทวีปทั้งสาม |
แรกอุทัยไขแสงแดงงาม | ว่าลูกไม้สุกห่ามจะใคร่กิน |
วอนเราเราห้ามก็ไม่ฟัง | บินด้วยกำลังปักษิน |
จะจับจิกรถแก้วโกมิน | ทินกรกริ้วโกรธโกรธา |
เปล่งแสงแรงร้อนดั่งเพลิงกาล | เราทะยานไปป้องกนิษฐา |
ขนจึ่งลุ่ยหลุดทั้งกายา | พระอาทิตย์ก็ซ้ำสาปไว้ |
ให้อยู่ถํ้าเหมติรัน | ขนนั้นอย่างอกขึ้นได้ |
ต่อทหารพระนารายณ์เรืองชัย | คุมกระบี่ไพร่พลากร |
จะข้ามไปทวีปลงกา | ถวายแหวนสีดาดวงสมร |
มาหยุดสำนักแรมร้อน | ให้วานรโห่ขึ้นสามที |
ขนนั้นจึ่งกลับงอกงาม | แล้วแจ้งความบอกเมืองยักษี |
ตัวท่านจงได้ปรานี | เราจะชี้มรรคาให้ไป ฯ |
ฯ ๑๘ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
ได้ฟังปักษีก็ดีใจ | จึ่งปราศรัยด้วยรสวาจา |
เราเป็นทหารพระสี่กร | จะช่วยร้อนพญาปักษา |
ว่าแล้วก็เรียกโยธา | เสียงก้องโกลาทั้งคีรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นายหมวดนายกองกระบี่ศรี |
ทั้งพวกพหลโยธี | ได้ยินกระบี่หนุมาน |
ร้องเรียกอื้ออึงกุลาหล | ต่างตนต่างรับต่างขาน |
ก็ออกจากซอกห้วยเหวธาร | วิ่งวุ่นอลหม่านกลับมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงปากถํ้าคีรี | เห็นสัมพาทีปักษา |
ขนหลุดสิ้นทั้งกายา | วานรถามกันวุ่นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้มีอัชฌาสัย |
จึ่งบอกไพร่พลสกลไกร | ตามในเหตุผลสกุณี |
ตัวท่านทั้งหลายจงช่วยกัน | ทั้งพวกพลขันธ์กระบี่ศรี |
โห่ขึ้นให้ได้สามที | นกนี้จะพ้นเวทนา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | โยธาวานรถ้วนหน้า |
ได้ฟังยินดีปรีดา | ก็โห่สนั่นลั่นฟ้าสุธาธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาสัมพาทีใจหาญ |
ได้ยินเสียงพลพระอวตาร | โห่สะท้านสะเทือนพนาดร |
ขนนั้นงอกงามขึ้นมา | เต็มทั่วกายาดั่งก่อน |
สลับสีเลื่อมลายอรชร | สิ้นสาปทินกรก็ยินดี |
กระหยับหางกางปีกกวัดแกว่ง | หมายจะลองแรงปักษี |
ถีบถาราร่อนด้วยฤทธี | ยังที่พ่างพื้นโพยมบน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ เสียงปีกปานลมประลัยกัลป์ | สะเทือนเลื่อนลั่นกุลาหล |
เป็นพยับอับแสงสุริยน | แล้วกลับมายังพลวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ แผละ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
จึ่งกล่าววาจาอันสุนทร | ดูกรพญาสกุณี |
ตัวท่านสิ้นสาปสิ้นทุกข์ | จะมีแต่สิ่งสุขเกษมศรี |
ขนนั้นงอกงามทั้งอินทรีย์ | จงชี้หนทางลงกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาสัมพาทีปักษา |
ได้ฟังจึ่งกล่าววาจา | ดูกรพญาพานรินทร์ |
อันทวีปลงการาชฐาน | อยู่กลางชลธารกระแสสินธุ์ |
ต่อใครรู้เหาะรู้บิน | จึ่งไปถึงแดนดินอสุรี |
แลดูสุดสายนัยน์เนตร | สังเกตไม่ได้ในวิถี |
จงขึ้นบนหลังของเรานี้ | จะพาบินไปชี้เมืองมาร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจหาญ |
ทั้งกระบี่ศรีชมพูพาน | องคตผู้หลานอมรินทร์ |
ยินดีก็ชวนกันขึ้นนั่ง | บนหลังพญาปักษิน |
ดั่งพระกาลทรงนกแสกบิน | จะไปกินชีวิตอสุรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาสัมพาทีตัวกล้า |
ครั้นวานรขึ้นหลังก็ปรีดา | บาทาถีบยอดคีรี |
เขานั้นก็แตกแยกพัง | ด้วยกำลังฤทธิราชปักษี |
ครื้นครั่นสนั่นทั้งธาตรี | สกุณีบินขึ้นคัคนานต์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงเขาคันธสิงขร | ก็ราร่อนชี้บอกราชฐาน |
โน่นแน่ลงกากรุงมาร | เป็นประธานในกลางสมุทรไท |
ดั่งหนึ่งจอกน้อยลอยอยู่ | แลดูหาใครเห็นไม่ |
ท่ามกลางนิเวศน์เวียงชัย | มีเขาหนึ่งใหญ่มหิมา |
เป็นหลักลงกาทวีปอสุรินทร์ | ชื่อนิลกาลาภูผา |
ท่านจงสำคัญให้มั่นตา | นั่นคือลงกาธานี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรชัยศรี |
องคตลูกพญาพาลี | ทั้งขุนกระบี่ชมพูพาน |
ต่างพินิจพิศดูไม่พริบเนตร | สังเกตลงการาชฐาน |
เห็นแจ้งประจักษ์ทุกประการ | สามทหารสำคัญมั่นใจ |
จึ่งว่าดูกรสกุณา | อันกรุงลงกาเราจำได้ |
ตัวท่านผู้มีฤทธิไกร | จงกลับคืนไปคีรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สัมพาทีราชปักษี |
ได้ฟังชื่นชมยินดี | ก็พากระบี่กลับมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นใกล้เขาเหมติรัน | ก็สำคัญหมายปากคูหา |
ร่อนลงจากพื้นเมฆา | ท่ามกลางโยธาวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | จึ่งสามทหารชาญสมร |
ครั้นถึงที่ประชุมพลากร | บทจรจากหลังสกุณี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ วายุบุตรวุฒิไกรผู้ปรีชา | จึ่งว่าแก่สองกระบี่ศรี |
แต่เราสามนายเท่านี้ | ฤทธีพอข้ามสมุทรไท |
อันโยธาวานรทั้งนั้น | จะไปสิ้นด้วยกันก็ไม่ได้ |
ตัวเราผู้เดียวจะลอบไป | เฝ้าองค์อรไทถึงลงกา |
ชมพูพานกับหลานอมรินทร์ | สองกระบินทร์จงอยู่รักษา |
พวกพลวานรโยธา | ที่ปากคูหาสุรกานต์ |
ว่าพลางทางสั่งสกุณี | ท่านผู้ฤทธีกล้าหาญ |
ขอฝากองคตชมพูพาน | กับหมู่บริวารวานร |
สั่งแล้วจึ่งลูกพระพาย | เท้าซ้ายเหยียบยอดสิงขร |
สะเทือนดินฟ้าสาคร | เหาะขึ้นอัมพรด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด