- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๒
ร่าย
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงอสุรพรหมใจหาญ |
สถิตยังไพชยนต์สุรกานต์ | เนินเขาจักรวาลคีรี |
ปรารถนาจะใคร่เป็นใหญ่ | เเก่เทพไททุกราศี |
เเต่ทำเพียรเวียนเฝ้าพระศุลี | หลายปีประมาณนานมา |
ครั้นถึงเวลาก็อ่าองค์ | ทรงเครื่องจำรัสพระเวหา |
ออกจากวิมานรัตนา | ไปมหาไกรลาสคีรี ฯ |
ฯ ๖ คํา ฯ กราว
๏ ครั้นถึงจึงถวายอภิวาทน์ | เบื้องบาทพระอิศวรเรืองศรี |
ท่ามกลางเทวานาคี | อสุรีก็ทูลเจ้าโลกา |
ตัวข้านี้รองเบื้องบาท | พระตรีภูวนาถนาถา |
เป็นนิจนิรันดร์ทุกวันมา | ผ่านฟ้าไม่ประทานสิ่งใด |
บัดนี้จะขอคทาธร | กับพรอย่าให้ใครต่อได้ |
พระองค์ผู้ทรงภพไตร | ภูวไนยจงโปรดปรานี ฯ |
ฯ ๖ คํา ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พระสยมภูวญาณเรืองศรี |
ได้ฟังวาจาอสุรี | ภูมีก็ทรงพระเมตตา |
จึ่งประทานคทาเพชรเรืองฤทธิ์ | เเล้วประสิทธิพรให้เเก่ยักษา |
จงเป็นใหญ่ทั้งไตรโลกา | อย่าเเพ้ฤทธาผู้ใด ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | อสุรพรหมผู้มีอัชฌาสัย |
รับพรพระทรงภพไตร | ได้คทาเพชรเเล้วก็ลามา ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ
๏ ออกจากหิรัญไกรลาส | ทําอำนาจผาดเเผลงสำเเดงกล้า |
เหาะฟ้อนร่อนเล่นในเมฆา | ไปมหาวิมานรูจี ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | มาลีวัคคพรหมเรืองศรี |
เห็นพระอิศโรโมลี | ให้พรอสุรีอาธรรม์ |
ทั้งเทพศัสตราคทาธร | ฤทธิรอนปราบทั่วสรวงสวรรค์ |
ตกใจดั่งใครมาฟาดฟัน | ด้วยกุมภัณฑ์หยาบช้าสาธารณ์ |
ยิ่งจะอิ่มเอิบกําเริบจิต | ดั่งอสรพิษตัวหาญ |
จะเที่ยวไล่บุกรุกราน | อยู่ในมือมารทั้งธาตรี |
ครั้นจะนิ่งเสียดั่งไม่รู้ | เอ็นดูวงศ์นารายณ์เรืองศรี |
คิดเเล้วนบนิ้วดุษฎี | ทูลพระศุลีด้วยปรีชา |
ซึ่งพระองค์ประทานคทาธร | ทั้งพรประสิทธิ์ให้ยักษา |
ตัวเพื่อนเป็นคนหยาบช้า | จะเบียนโลกาให้ร้อนใจ |
ถึงว่าองค์ท้าวอัชบาล | ซึ่งผ่านอยุธยาไม่ต่อได้ |
พระองค์ผู้ทรงภพไตร | ภูวไนยจงได้ปรานี |
ขอเทพอาวุธไปประทาน | องค์ท้าวอัชบาลเรืองศรี |
ให้ชนะอสุระตนนี้ | ธาตรีจะได้พึ่งเดชา ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสยมภูวญาณนาถา |
ได้ฟังจึ่งตอบวาจา | ท่านว่านี้ชอบขอบใจ |
อนิจจาเอ๋ยวงศ์พระจักรกฤษณ์ | ต่อว่าจึ่งคิดขึ้นได้ |
เดิมเราให้อโนมาไป | อยู่ในทวีปชมพู |
บัดนี้ก็ถึงสวรรคต | โอรสขึ้นผ่านสมบติอยู่ |
ชื่อว่าอัชบาลก็พึ่งรู้ | ดูดู๋กูลืมไปช้านาน |
ตรัสเเล้วให้พรกับพระขรรค์ | ทั้งไตรโลกนั้นอย่าต่อต้าน |
จงชนะคทาเพชรชัยชาญ | ซึ่งเราประทานอสุรา |
ตัวท่านเร่งรีบเอาลงไป | ส่งให้อัชบาลนาถา |
ไว้ปราบศัตรูหมู่พาลา | ซึ่งจะเบียนโลกาธาตรี ฯ |
ฯ ๑๐ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | มาลีวัคคพรหมเรืองศรี |
รับพระขรรค์กับพรด้วยยินดี | ถวายอัญชุลีเเล้วเหาะไป ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงซึ่งศรีอยุธยา | มหานคเรศกรุงใหญ่ |
เลื่อนลอยอยู่ตรงบัญชรชัย | ร้องไปด้วยคําอันสุนทร |
ดูราอัชบาลสุริย์วงศ์ | ผู้พงศ์หริรักษ์ชาญสมร |
บัดนี้พระอิศวรฤทธิรอน | ภูธรตรัสใช้ให้เรามา ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวอัชบาลนาถา |
เสด็จเหนือเเท่นเเก้วเเววฟ้า | ได้ฟังวาจาพาที |
ออกนามพระสยมภูวนาถ | มงกุฎไกรลาสคีรีศรี |
ก็เยี่ยมบัญชรรัตนมณี | เห็นเทวัญผู้มีฤทธิไกร |
จึงกล่าวมธุรสพจนารถ | ว่าพระจอมไกรลาสเขาใหญ่ |
ดำรัสตรัสสั่งประการใด | ขอเชิญเทพไทลงมา ฯ |
ฯ ๖ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | มาลีวัคคพรหมนาถา |
ก็ลอยเลื่อนลงจากเมฆา | เข้ามายังท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งนั่งร่วมอาสน์ | อันโอภาสพรรณรายฉายฉัน |
ต่างองค์ก็มิได้อภิวันท์ | เคารพกันด้วยความสวัสดี ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวอัชบาลเรืองศรี |
ปราศรัยด้วยราชไมตรี | เเล้วมีบัญชาถามไป |
ซึ่งพระอิศราประกาศิต | กิจจานุกิจเป็นไฉน |
ตัวท่านนี้นามกรใด | จึ่งได้รับสั่งเทวบัญชา ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | พรหเมศผู้มียศถา |
จึงตอบมธุรสวาจา | ข้าชื่อมาลีพรหมาน |
ไปเฝ้าพระอิศวรบรมนาถ | ยังเขาไกรลาสราชฐาน |
พออสุรพรหมใจพาล | อหังการกราบทูลขอพร |
ให้ปราบได้ไปทั่วทั้งสิบทิศ | ปัจจามิตรเกรงเดชดั่งไกรสร |
กับทั้งคทาฤทธิรอน | ภูธรประทานเเก่ขุนยักษ์ |
เราทูลว่ามันหยาบช้า | จะเบียดเบียนเทวาในไตรจักร |
ถึงพระองค์ผู้พงศ์หริรักษ์ | อสุรพักตร์ก็จะทําย่ำยี |
จึ่งประทานพระขรรค์ฤทธิรอน | ให้ชนะคทาธรยักษี |
กับพระประสิทธิ์สวัสดี | ตรัสใช้เรานี้นำมา |
ว่าเเล้วก็ส่งพระขรรค์ให้ | ด้วยใจเเสนโสมนัสสา |
จงมีชัยเเก่อสุระพาลา | เหมือนเจ้าโลกาประทานพร ฯ |
ฯ ๑๒ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวอัชบาลชาญสมร |
รับพระขรรค์แก้วฤทธิรอน | กับทั้งพระพรด้วยยินดี |
จี่งบ่ายหน้ามายังไกรลาส | บังคมบาทอิศวรเรืองศรี |
แล้วกล่าวมธุรสวาที | คุณท่านครั้งนี้เป็นพ้นไป |
เราสองจะครองสุจริต | เป็นพันธมิตรพิสมัย |
ไปกว่าจะสิ้นชีวาลัย | สิ่งใดอย่าเเหนงเเคลงกัน ฯ |
ฯ ๖ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | มาลีวัคคพรหมรังสรรค์ |
รับสัตย์ปฏิญาณผูกพัน | เทวัญจึงกล่าวสุนทร |
ค่อยอยู่เถิดพระสหายรัก | ตัวเรานี้จักลาก่อน |
ว่าเเล้วเหาะขึ้นยังอมพร | เขจรไปวิมานรูจี ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายอสุรพักตร์ยักษี |
เเต่ได้คทาเพชรฤทธี | องค์พระศุลีประทานมา |
ยิ่งคิดโลภล้นพ้นนัก | หมายจักปราบทศทิศา |
ให้อยู่ในอำนาจอสุรา | ด้วยอานุภาพชัยชาญู |
คิดแล้วอ่าองค์ทรงเครื่อง | อร่ามเรืองด้วยเเก้วมุกดาหาร |
ออกจากยอดเขาจักรวาล | เหาะทะยานมาโดยเมฆา ฯ |
ฯ ๖ คํา ฯ กราว
๏ สำเเดงแกว่งกวัดคทาเพชร | ระเห็จหันผันแล่นในเวหา |
เเสงเป็นไฟพรายกระจายฟ้า | เเล้วมีวาจาประกาศไป |
ตัวกูผู้ชื่ออสุรพักตร์ | ศักดาไม่มีใครเปรียบได้ |
จะล้างตรีโลกให้บรรลัย | ด้วยฤทธิไกรบัดนี้ ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ
๏ ว่าเเล้วสำแดงเดชา | ไล่หมู่เทวาทุกราศี |
ทั้งคนธรรพ์คนธรรพนาคี | มุนีชีป่าวุ่นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ฝูงเทพเทวาน้อยใหญ่ |
ครุฑานาคีชีไพร | ตกใจประหวั่นขวัญบิน |
ด้วยกลัวศักดาคทาเพชร | ให้คิดคร้ามขามเข็ดไปสิ้น |
ทั่วทั้งเมืองเเมนเเดนดิน | เกรงเดชอสุรินทร์พาลา |
บ้างหนีไปนอกขอบเขต | เเสนเทวษข้ามห้วยเหวผา |
ลางหมู่ฤๅษีเทวา | เหาะไปอยุธยาธานี ฯ |
ฯ ๖ คํา ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงเเจ้งเหตุการณ์ | แก่ท้าวอัชบาลเรืองศรี |
ว่าอสุรพรหมมายํ่ายี | ไล่ตีฝูงเทพนิกร |
บัดนี้ยังทำสิงหนาท | อยู่เชิงเมรุมาศสิงขร |
ขอพระองค์ผู้ทรงฤทธิรอน | ช่วยดับร้อนให้เย็นโลกา ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ เจรจา
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ท้าวอัชบาลนาถา |
ฟังเทพนักสิทธ์วิทยา | จึงมีบัญชาตรัสไป |
ดูดู๋ไอ้อสูรอสุรพักตร์ | ฮึกฮักกำเริบหยาบใหญ่ |
จะสังหารผลาญูเสียให้บรรลัย | มิให้เป็นเสี้ยนธาตรี |
ว่าเเล้วจึงมีบัญชาหาร | สั่งนายรัถยานทั้งสี่ |
จงเตรียมรถเเก้วมณี | จะไปปราบอสุรีพาลา ฯ |
ฯ ๖ คํา ฯ
๏ บัดนั้น | ขุนรถผู้มียศถา |
รับสั่งพระองค์ทรงศักดา | ถวายบังคมลาเเล้วรีบจร ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ เสมอ
๏ จึงเเต่งพิชัยรถแก้ว | อันเพริศเเพร้วจํารัสประภัสสร |
เทียมด้วยสินธพอัสดร | สิบคู่ฤทธิรอนดั่งลมพัด |
ผูกเครื่องกุดั่นดาวราย | เฉิดฉายเยื้องย่างยืนหยัด |
ประทับกับเกยเนาวรัตน์ | คอยองค์จักรพรรดิจะยาตรา ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | องคท้าวอัชบาลนาถา |
เสด็จจากเเท่นเเก้วอลงการ์ | กรายกรมาสรงวาริน ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ เสมอ
โทน
๏ สุหร่ายมาศโปรยปรายดั่งสายฝน | ทรงสุคนธ์เกสรขจรกลิ่น |
สนับเพลารายพลอยโกมิน | ภูษารูปกินรีรํา |
ชายแครงแก้วประพาฬก้านขด | ชายไหวมรกตเขียวขํา |
ฉลององค์ทรงประพาสพื้นดำ | ประจำยามเครือเเย่งฉลุลาย |
ตาบทิศทับทรวงประดับบุษย์ | สังวาลชมพูนุทสามสาย |
พาหุรัดทองกรมังกรกลาย | ธํามรงค์เพชรพรายเรือนสุบรรณ |
ทรงมหามงกุฎดอกไม้ทัด | กรรเจียกจรเนาวรัตน์ฉายฉัน |
งามทรงดั่งองค์พระสุริยัน | จับพระขรรค์บทจรมาขึ้นรถ ฯ |
ฯ ๘ คํา ฯ เสมอ
โทน
๏ รถเอยรถทรง | ดุมวงล้วนเเล้วด้วยมรกต |
เเปรกงอนอ่อนงามช้อยชด | บัลลังก์ลดช่อตั้งกระจังราย |
ฉลุเเก้วเครือสุวรรณคั่นภาพ | บุษบกเก็จกาบบัวหงาย |
ห้ายอดสอดบันสุพรรณพราย | งามคล้ายวิมานพระสุริยน |
เทียมด้วยพลาหกตัวหาญ | เผ่นทะยานผ่านขึ้นโพยมหน |
สารถีขับเเข่งลมบน | เทเวศร์เป็นพลนําจร |
ประดับด้วยอภิรุมชุมสาย | ธงทิวริ้วรายปลายสลอน |
ปี่กลองฆ้องขานเเตรงอน | เร็วร่อนไปพระเมรุคีรี ฯ |
ฯ ๘ คํา ฯ เชิด
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายอสุรพักตร์ยักษี |
เเลเห็นรถเเก้วมณี | มีหมู่เทวัญล้อมมา |
ใครหนออาจองทะนงฤทธิ์ | ไม่คิดว่าจะสิ้นสังขาร์ |
อสุรีโกรธกริ้วดั่งไฟฟ้า | โถมเข้าขวางหน้ารถไว้ ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ คุกพาทย์
๏ เเล้วร้องประกาศด้วยวาที | เหวยเหวยใครนี้มาเเต่ไหน |
เชื้อชาตินามกรชื่อใด | อาจใจมาทำอหังการ์ |
ไม่เกรงกูผู้ชื่ออสุรพักตร์ | อันทรงสิทธิศักดิ์เเกล้วกล้า |
ทั่วทั้งสามโลกโลกา | ก็กลัวเดชาไม่ต่อฤทธิ์ |
ตัวเอ็งเป็นเเต่มนุษย์น้อย | เปรียบดั่งหิ่งห้อยกระจิริด |
หรือจะมาแข่งเเสงพระอาทิตย์ | ชีวิตจะม้วยไม่พริบตา ฯ |
ฯ ๖ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจอมภพลบโลกนาถา |
ได้ฟังถ้อยคำอสุรา | ผ่านฟ้าจึงร้องตอบไป |
เอ็งหรือชื่อว่าอสุรพักตร์ | ทะนงศักดิ์อหังการหยาบใหญ่ |
อย่าพักอ้างอวดฤทธิไกร | เราไม่เกรงเดชอสุรี |
ตัวมึงดังหนึ่งมฤคา | กูคือพญาราชสีห์ |
ทรงนามอัชบาลธิบดี | ผ่านบุรีอยุธยาสุธาธาร |
ฤๅษีเทวาสุราลัย | เชิญกูมาให้สังหาร |
เพราะมึงประพฤติใจพาล | ขุนมารจะม้วยชีวัน ฯ |
ฯ ๘ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | อสุรพักตร์ฤทธิเเรงเเข็งขัน |
ได้ฟังขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน | สองตานั้นเเดงดั่งไฟพราย |
กรเเกว่งคทาเพชรวับวาบ | เเสงปลาบดั่งฟ้าฟาดสาย |
โผนขึ้นรถเเก้วพรรณราย | ตีซ้ายป่ายขวาราวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวอัชบาลเรืองศรี |
กวัดเเกว่งพระขรรโมลี | งามทีดั่งองค์พระสี่กร |
ป้องปัดฟาดด้วยพระเเสงเพชร | ถูกคทาขาดเด็ดเป็นสองท่อน |
โรมรันประจัญฟันฟอน | อสุราม้วยมรณ์ด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ เชิด โอด
๏ เมื่อนั้น | ฝูงเทพเทวาทุกราศี |
เห็นวงศ์พระหริรักษ์จักรี | สังหารอสุรีวายปราณ |
มีความชื่นชมโสมนัส | สรวลเเซ่ตบพระหัตถ์ฉัดฉาน |
ทั้งเทพธิดายุพาพาล | เผยวิมานเยี่ยมพักตร์อภิวันท์ |
บ้างโปรยปรายทิพย์มาลาลาศ | เกลื่อนกลาดตกมาเเต่สวรรค์ |
แซ่ซ้องอวยพรนี่นัน | เสียงสนั่นไปทั่วโลกา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวอัชบาลนาถา |
ครั้นเสร็จสังหารอสุรา | ก็ตัดเศียรยักษาใส่ท้ายรถ |
ให้ขับสินธพขึ้นอัมพร | งามดั่งทินกรทรงกลด |
เหาะข้ามสัตภัณฑ์บรรพต | พระทรงยศตรงมาธานี ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ เชิด
๏ จึ่งเอาเศียรมารนั้นเสียบไว้ | เเล้วสาปให้เฝ้าสวนศรี |
ด้วยวาจาสิทธิ์พระภูมี | อสุรีก็เป็นตามบัญชา ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ เจรจา
๏ ครั้นสำเร็จเสร็จสาปเศียรมาร | พระผู้ผ่านพิภพนาถา |
เสด็จลงจากรถรัตนา | ขึ้นมหาปราสาทอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายมาลีวัคคพรหมชาญสมร |
ร่วมวงศ์จัตุรพักตร์ฤทธิรอน | เจ้านครลงกาสุธาธาร |
ตั้งเเต่ได้เป็นสหาย | เพื่อนตายร่วมชีพสังขาร |
กับองค์ท่านท้าวอัชบาล | ผู้ผ่านกรุงศรีอยุธยา |
ตั้งอยู่ในสัตย์สุจริต | มิได้คิดฉันทาโทสา |
จึ่งเสด็จไปเฝ้าพระอิศรา | ยังมหาไกรลาสบรรพต ฯ |
ฯ ๖ คํา ฯ เชิด
๏ มาถึงพร้อมหมู่เทวัญ | คนธรรพ์นาคาดาบส |
คลานเข้าไปใกล้พระทรงยศ | ยอกรประณตเเล้วทูลไป |
ข้าบาทจะถวายบังคมลา | ไปอยู่ยอดฟ้าเนินไศล |
จะขอวาจาสิทธิ์ฤทธิไกร | พระองค์จงได้ปรานี ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระสยมภูวนาถเรืองศรี |
ได้ฟังองค์ท้าวมาลี | ภูมีตริตรึกนึกไป |
พรหมนี้มีสัตย์สุจริต | ควรกูจะประสิทธิ์พรให้ |
คิดเเล้วองค์เจ้าภพไตร | ก็อวยชัยโดยเทพบัญชา |
ท่านประสงค์จงได้เหมือนใจนึก | ดั่งเหล็กเพชรจารึกเเผ่นผา |
เเล้วให้นามตามเทพสมญา | ชื่อมาลีวราชฤทธิรอน |
จงเป็นใหญ่เเก่ฝูงคนธรรพ์ | เทวากุมภัณฑ์ในสิงขร |
เสวยสุขอยู่ทุกนิรนดร | โดยพรเราประสิทธิ์ประสาทไป ฯ |
ฯ ๘ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมาลีผู้มีอัชฌาสัย |
ยอกรรับพรใส่เศียรไว้ | ด้วยใจโสมนัสยินดี |
แล้วถวายบังคมบรมบาท | พระอิศโรราชเรืองศรี |
เหาะขึ้นอากาศด้วยฤทธี | ตรงไปคีรียอดฟ้า ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ กลม
ช้า
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงสหมลิวันยักษา |
ซึ่งผ่านทวีปรังกา | หนีพระจักราไปบาดาล |
เป็นวงศ์บรมพรหเมศ | ทรงเดชศักดากล้าหาญ |
แจ้งว่าสหบดีปรีชาญ | มาสร้างราชฐานรังกา |
ให้แก่ธาดาฤทธิรงค์ | อันร่วมสุริย์วงศ์พงศา |
เสวยสมบัติสวรรยา | ทรงนามมหาจัตุรพักตร์ |
มีความชื่นชมโสมนัส | ดั่งได้สมบัติในไตรจักร |
อันธาดาองค์นี้ประเสริฐนัก | จะเป็นหลักพงศ์พรหมสืบไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ บัดนั้น | จึ่งเสนามารยักษา |
รับสั่งพญาอสุรา | ถวายบังคมลาแล้วรีบจร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
ยานี
๏ จึงจัดพยุหะทวยหาญ | เลือกล้วนชำนาญชาญสมร |
สี่หมู่พื้นมีฤทธิรอน | กรกุมเครื่องสรรพอาวุธ |
ตั้งเป็นกระบวนหน้าหลัง | คับคั่งอื้ออึงอุตลุด |
ล้วนกล้าหาญในการรณยุทธ์ | แหวกสมุทรก็ได้ดั่งใจ |
ถึงจะเหาะเหินเดินอากาศ | ก็องอาจรวดเร็วไปได้ |
ห้อมล้อมบุษบกรอบไป | เตรียมไว้คอยเสด็จอสุรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสหมลิวันยักษี |
เสด็จจากแท่นรัตน์มณี | มาเข้าที่สรงชลธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ชําระสระสนานสำราญองค์ | ทรงสุคนธาทิพย์หอมหวาน |
สอดใส่สนับเพลาอลงการ | ภูษาเครือก้านกระหนกพัน |
ชายไหวไหวพริ้งชายเเครง | ฉลององค์ลายเเย่งสังเวียนคั่น |
เกราะเเก้วรัดอกสังวาลวัลย์ | ตาบทิศกุดั่นทับทรวง |
พาหุรัดรูปวาสุกรีพด | ทองกรมรกตรุ้งร่วง |
ธํามรงค์พลอยเพชรชิงดวง | มงกุฎเเก้วห้อยห่วงกรรเจียกจร |
จับพระขรรค์คู่ทรงเทวราช | รัศมีโอภาสประภัสสร |
มาขึ้นบุษบกบวร | พร้อมหมู่นิกรพลไกร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ บาทสกุณี
โทน
๏ บุษเอยบุษบกเเก้ว | เลิศเเล้วนึกไหนก็ไปได้ |
ลอยเลื่อนเคลื่อนจากเวียงชัย | เร็วเรื่อยเลื่อยไปดั่งลมพัด |
ตรงมาสะดือมหาสมุทร | ผุดผันวันเวียนเฉวียนฉวัด |
ขึ้นจากทะเลหลวงล่วงลัด | เเสงตรัสดั่งแก้วสุรกานต์ |
พ้นยอดเยี่ยมฟ้าอากาศ | นพรัตน์โอภาสฉายฉาน |
ลอยลิ่วปลิวไปในคัคนานต์ | เเลล้ำวิมานอินทรา |
สำเนียงก้องกึกครึกครั่น | ไหวหวั่นทั่วทศทิศา |
โพยมพยับอับเเสงพระสุริยา | เร่งพลโยธารีบไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นถึงลงการาชฐาน | พญามารผู้มีอัชฌาสัย |
ก็ขับบุษบกแก้วเเววไว | ลงในหน้าพระลานรูจี ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ คุกพาทย์
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจัตุรพักตร์ยักษี |
เสด็จออกเเสนสุรเสนี | ยังที่มุขเด็จอําไพ |
เเลเห็นสหมลิวัน | อันเป็นพันธุมิตรพิสมัย |
โสมนัสตรัสเชิญเเต่ไกล | ลงไปรับเสด็จอสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ จูงกรขึ้นสู่พิมานมาศ | อันโอภาสจำรัสรัศมี |
ให้นั่งเหนือเเท่นทิพย์รูจี | สองกษัตริย์ยินดีปรีดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สหมลิวันยักษา |
สวมสอดกอดองค์เจ้าลงกา | ชลนาคลอเนตรเเล้วตรัสไป |
อันตัวของข้านี้ได้ยาก | เเสนลำบากปิ้มเลือดตาไหล |
ด้วยองค์พระนารายณ์เรืองชัย | มีใจโมหันธ์ฉันทา |
เห็นเราเป็นใหญ่ในธาตรี | มาราวีเคี่ยวเข็ญเข่นฆ่า |
จนใจจึ่งหนีจากรังกา | พากันไปอยู่ยังบาดาล |
แจ้งว่าองค์ท้าวสหบดี | มาสร้างธานีราชฐาน |
ให้ท่านผู้วงศ์พรหมาน | อยู่ผ่านสวรรยาราชัย |
ความเรายินดีปรีดา | เหมือนสิ้นชีวาเเล้วเกิดใหม่ |
จึ่งขึ้นมาหาเจ้าผู้ร่วมใจ | ด้วยช้านานมิได้เห็นกัน ฯ |
ฯ ๑๐ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจัตรุพักตร์รังสรรค์ |
ได้ฟังสหมลิวัน | บรรยายความยากเเต่หลังมา |
มิอาจจะกลั้นโศกได้ | ชลนัยน์คลอเนตรทั้งซ้ายขวา |
จึ่งมีมธุรสพจนา | อนิจจาเป็นได้ถึงเพียงนี้ |
อันพระองค์ผู้พงศ์พรหเมศ | เเสนเทวษเร่าร้อนดั่งเพลิงจี้ |
คิดถึงท่านทุกทิวาราตรี | จึ่งมาสร้างธานีลงกา |
หวังจะให้สืบสุริย์วงศ์ | ยืนยาวมั่นคงไปภายหน้า |
จึ่งให้เราครองพารา | ท่านมาจงอยู่ด้วยกัน |
บำรุงไพร่ฟ้าประชากร | ให้ถาวรเป็นสุขเกษมสันต์ |
จะได้พร้อมญาติวงศ์พงศ์พันธุ์ | ที่ในเขตขัณฑ์ลงกา ฯ |
ฯ ๑๐ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | สหมลิวันยักษา |
ได้ฟังดั่งอำมฤตฟ้า | อสุราสวมกอดเเล้วจูบพักตร์ |
มิเสียเเรงที่ร่วมพรหมพงศ์ | อารีรักวงศ์ประยูรศักดิ์ |
ขอบคุณของเจ้าพ้นนัก | เเต่เราจักลากลับไป |
อันบุษบกแก้วมณี | ของพระศุลีประทานให้ |
เรืองฤทธิ์ดั่งมีจิตใจ | จะไปไหนก็ได้ดั่งจินดา |
เว้นเเต่สตรีที่เป็นม่าย | สามีวอดวายสังขาร์ |
ขึ้นขี่มิได้เลื่อนลอยฟ้า | ด้วยว่าต้องสาปพระศุลี |
เจ้าจงเอาไว้ต่างพักตร์ | สําหรับเมืองยักษ์เฉลิมศรี |
ว่าเเล้วสองกษัตริย์ธิบดี | เสด็จไปที่พระลานรัตนา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจัตุรพักตร์นาถา |
เห็นบุษบกแก้วแววฟ้า | งามดั่งมหาเวไชยันต์ |
เครื่องประดับซับซ้อนล้วนแก้ว | รุ้งร่วงช่วงเเววฉายฉัน |
สลับเเสงเเข่งสีรวีวรรณ | สารพันพิศเพลินจําเริญใจ |
จึ่งมีมธุรสพจนารถ | ซึ่งพระบาทเอามาประทานให้ |
พระคุณล้ำลบภพไตร | ดั่งได้สมบัติในชั้นฟ้า ฯ |
ฯ ๖ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | สหมลิวันยักษา |
จึ่งมีสุนทรบัญชา | ค่อยอยู่เป็นผาสุกใจ |
จงทรงศักดาวราฤทธิ์ | ทุกทิศอย่ารอต่อได้ |
อันซึ่งตัวข้าจะลาไป | ยังกรุงพิชัยบาดาล |
สั่งแล้วก็เลิกโยธา | ออกจากลงการาชฐาน |
ชำเเรกเเทรกพื้นสุธาธาร | พญามารตรงไปยังธานีฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจตุรพักตร์ยักษี |
เสวยสบบัติหกหมื่นปี | ภูมีสวรรคาลัย |
องค์ลัสเตียนกุมาร | ได้ผ่านลงกาเป็นใหญ่ |
ในมหาเศวตฉัตรชัย | ไอศูรย์สมบูรณ์ดั่งเมืองฟ้า |
มีพระมเหสีห้าองค์ | ล้วนทรงศุภลักษณ์ดั่งเลขา |
องค์หนึ่งชื่อชาลีสุมณฑา | ถัดมาชื่อจิตรมาลี |
นางหนึ่งชื่อสุวรรณมาลัย | หนึ่งชื่อประไพโฉมศรี |
หนึ่งชื่อรัชดาเทวี | มีศุภลักษณ์เลิศเพริศเพรา |
ห้าองค์ทรงเบญจกัลยา | ดั่งเทเวศร์รจนาหล่อเหลา |
เเสนสวาทนาฏนุชนงเยาว์ | เทียมเท่าดวงเนตรดวงใจ |
พระครอบครองอสุราพลากร | ลือขจรฟากฟ้าดินไหว |
เกียรติยศปรากฏทั่วไป | ทั้งในไตรภพธาตรี ฯ |
ฯ ๑๒ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายท้าวมาลีวราชเรืองศรี |
สถิตยังยอดฟ้าคีรี | มีจิตคิดถึงจัตุรพักตร์ |
อันครองลงกามหานิเวศ | วงศ์บรมพรหเมศสูงศักดิ์ |
จึ่งสั่งคนธรรพ์นันทยักษ์ | เราจักไปกรุงลงกา ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ
๏ บัดนั้น | คนธรรพ์ฤทธิไกรใจกล้า |
ก้มเกล้ารับราชบัญชา | ถวายบังคมลาออกไป ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ เสมอ
ยานี
๏ เกณฑ์เป็นกระบวนพยุหบาตร | พลเเห่เกลื่อนกลาดไม่นับได้ |
กองหน้าล้วนถือธงชัย | ปลายปลิวไสวในอัมพร |
หมู่หนึ่งนั้นพื้นถือดาบดั้ง | ยืนสะพรั่งตามเนินสิงขร |
หมู่หนึ่งล้วนถือโตมร | กรายกรกลับกลอกไปมา |
หมู่หนึ่งถือพวงดอกไม้มาศ | ยืนเรียงเคียงราชรัถา |
กองหลังถือสรรพศัสตรา | เกลื่อนกลาดดาษดาพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๖ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมาลีวราชรังสรรค์ |
ครั้นรุ่งเเสงสีรวีวรรณ | ทรงธรรม์เข้าที่สรงชล ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ
โทน
๏ น้ำทิพย์ธารทิพย์บุปผา | เป็นละอองตกมาดั่งฝอยฝน |
ทรงสุคันธารสเสาวคนธ์ | ปรุงปนเกสรสุมามาลย์ |
สนับเพลาเครือแก้วเเวววาว | ภูษาขาวเชิงยกกระหนกก้าน |
ชายแครงเครือหงส์อลงการ | ชายไหวชัชวาลทับทิมพราย |
ฉลององค์ขาวกรองทองคั่น | สังวาลวัลย์มรกตสามสาย |
ตาบทิศทับทรวงจำหลักลาย | ทองกรมังกรกลายพาหุรัด |
ธํามรงค์เรือนเก็จเพชรเหลือง | มงกุฏแก้วเแก้วเรืองกาบสะบัด |
กรรเจียกจรกุณฑลดอกไม้ทัด | พระหัตถ์จับพระขรรค์ขึ้นรถ ฯ |
ฯ ๘ คํา ฯ
โทน
๏ รถเอ๋ยรถเเก้ว | พราวแพร้วเเพร้วพรายด้วยมรกต |
เเปรกอ่อนอ่อนสลวยชวยชด | บัลลังก์ลดลดชั้นพรรณราย |
ดุมเแก้วแก้วประกับประกํากง | เเอกงอนงอนระหงเฉิดฉาย |
ธงทองทองอร่ามสามชาย | ปักปลายปลายสะบัดชัชวาล |
ม้าเทียมเทียมเทพพลาหก | โผนผกผกผยองเริงร่าน |
เครื่องสูงสูงไสวโอฬาร | ฉัตรเเก้วเเก้วประพาฬจำรัสฟ้า |
พัดโบกโบกบังสุริย์ฉาย | ธงริ้วริ้วรายซ้ายขวา |
คลายเคลื่อนเคลื่อนเทพโยธา | เทวาเเห่แหนเเน่นไป ฯ |
ฯ ๘ คํา ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงลงการาชฐาน | พร้อมพวกพลหาญน้อยใหญ่ |
จึงให้เคลื่อนรถเแก้วเเววไว | ลงในหน้าพระลานรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ เมื่อนั้น | องคท้าวลัสเตียนยักษี |
เสด็จยังบัญชรแก้วมณี | เห็นท้าวมาลีบิตุลา |
เลื่อนลอยมาโดยอัมพร | งามดั่งทินกรในเวหา |
มีความยินดีปรีดา | ลงมารับองค์ภูวไนย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงประณตบทบงสุ์ | กราบลงเเล้วถอนใจใหญ่ |
ทูลเชิญเสด็จขึ้นไป | ยังปราสาทชัยพรายพรรณ ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ เสมอ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมาลีวราชรังสรรค์ |
สถิตเหนืออาสน์เเก้วเเกมสุวรรณ | จึ่งมีบัญชาถามไป |
อันองค์สมเด็จพระบิตุเรศ | ทรงเดชไปอยู่หนไหน |
ลุงคิดฉงนสนเท่ห์ใจ | แต่ไรไม่เป็นเหมือนวันนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวลัสเตียนยักษี |
ได้ฟังมธุรสวาที | ชุลีกรสนองพระบัญชา |
อันพระบิตุรงค์ทรงฤทธิ์ | สุดสิ้นชีวิตสังขาร์ |
ทูลพลางกอดบาทบิตุลา | ชลนานองพักตร์โศกี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมาลีวราชเรืองศรี |
ได้ฟังตะลึงทั้งอินทรีย์ | ภูมีสังเวชสลดใจ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ นิจจาเอ๋ยเกิดมาในสงสาร | ใครจะพ้นพระกาลนั้นหาไม่ |
ทั้งสามภพจบฟ้าสุราลัย | ก็จะสิ้นสูญไปเหมือนกัน |
ตั้งแต่วันนี้จะแลลับ | ดั่งเดือนดับสิ้นแสงรังสรรค์ |
ถึงตัวพี่ยังมีชีวัน | ก็จะบรรลัยตามอนุชา |
ตรัสพลางทางมีโอวาท | เจ้าผู้ร่วมราชวงศา[2] |
จงครอบครองสมบัติของบิดา | ให้เป็นผาสุกสถาวร |
บำรุงไพร่ฟ้าอาณาจักร | ลุงจะลาหลานรักไปก่อน |
ว่าแล้วเลิกเทพนิกร | ไปสิงขรยอดฟ้าคีรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ช้า
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงตรีบูรัมยักษี |
ครอบครองโสฬสธานี | มีอานุภาพเกรียงไกร |
ทั่วทั้งทศทิศเข็ดขาม | ครั่นคร้ามไม่ต่อฤทธิ์ได้ |
จึงคิดดำริตริไป | ด้วยใจอหังการ์ราวี |
ตัวกูก็มีฤทธิรุทร | กว่ามนุษย์เทวาฤๅษี |
สุบรรณคนธรรพ์นาคี | ตรีภพก็กลัวเดชา |
แต่องค์พระนารายณ์สี่กร | รุ่งเรืองฤทธีรอนแกล้วกล้า |
แม้นมาเบียดเบียนบีฑา | เห็นว่าจะสิ้นชีวาลัย |
อย่าเลยจะทำพิธี | ขอพรพระศุลีจงได้ |
ให้เรืองฤทธิ์กำลังเกรียงไกร | มีชัยแก่องค์พระจักรา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย
๏ คิดแล้วจึ่งมีบรรหาร | สั่งเสนามารซ้ายขวา |
กูจะไปตั้งกิจวิทยา | รักษาเมืองไว้ให้จงดี |
สั่งแล้วเสด็จยุรยาตร | เข้ายังปราสาทมณีศรี |
ชำระสระสรงวารี | สำราญอินทรีย์กุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ทรงภูษาเขียวเขียวขจิต | สไบเขียวชวลิตฉายฉัน |
ผูกชฎาสอดใส่สังวาลวัลย์ | จุณจันทน์เจิมพักตร์เป็นโยคี |
ถือประคำมรกตไข่ครุฑ | ดูดุจดั่งเทพฤๅษี |
จับธนูสิทธิ์ฤทธี | อสุรีเหาะไปในเมฆา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ มาถึงสารภูกระแสสินธุ์ | วารินไหลลั่นฉานฉ่า |
ริมฝังเลี่ยนลาดสะอาดตา | มีแท่นศีลาอลงการ |
อยู่ที่ภายใต้ร่มรัง | ใบบังมิดแสงสุริย์ฉาน |
สนุกดั่งนันทวันอุทยาน | ขุนมารก็ตรงเข้าไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ นั่งลงกองกูณฑ์กาลา | โดยในตำราคัมภีร์ไสย |
หลับเนตรอ่านเวทสำรวมใจ | จนได้เจ็ดปีเจ็ดวัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ เมื่อนั้น | พระอิศวรบรมรังสรรค์ |
เสด็จเหนืออาสน์แก้วแพร้วพรรณ | ในสวรรค์พิมานอลงกรณ์ |
พร้อมด้วยฝูงเทพอนงค์นาฏ | บำเรอบาทเป็นสุขสโมสร |
ดั่งดาวล้อมดวงศศิธร | ให้บันดาลร่านร้อนทั้งอินทรีย์ |
จึ่งเล็งทิพเนตรลงมาดู | ก็เห็นอสูรยักษี |
ตั้งกรรมทำกิจพิธี | ใกล้ที่สารภูชลธาร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ จึ่งเสด็จย่างเยื้องจากอาสน์ | อันโอภาสด้วยแก้วมุกดาหาร |
มาทรงอุศุภราชชัยชาญ | เหาะทะยานไปยังอสุรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งยืนอยู่ตรงพักตร์ | ตรีบูรัมสิทธิศักดิ์ยักษา |
แล้วมีเทวราชบัญชา | ว่าเหวยดูก่อนขุนมาร |
เหตุใดมาทรมานกาย | กองกูณฑ์เพลิงพรายฉายฉาน |
เป็นหลายปีมาช้านาน | จะต้องการสิ่งใดอสุรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ตรีบูรัมสิทธิศักดิ์ยักษา |
ได้ฟังจึ่งลืมนัยนา | เห็นเจ้าโลกาก็ยินดี |
น้อมเศียรลงถวายอภิวาทน์ | แทบบาทพระอิศวรเรืองศรี |
ทูลว่าข้าเพียรมาทั้งนี้ | จะขอพรให้มีฤทธิไกร |
ถึงพระหริรักษ์จักรกฤษณ์ | อย่าให้ล้างชีวิตข้าได้ |
พระองค์ผู้ทรงภพไตร | ภูวไนยจงได้โปรดปราน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจอมไกรลาศราชฐาน |
ได้ฟังวาจาขุนมาร | ผ่านฟ้ามีราชบัญชา |
อันพรศักดาวราฤทธิ์ | กูประสิทธิ์ให้แก่ยักษา |
แต่เอ็งครองยุติธรรมา | อย่ายํ่ายีโลกาให้เดือดร้อน |
สิ่งใดที่ชั่วอย่ากลั้วกรรม | จงจำซึ่งคำกูสอน |
จึงจะเป็นศรีสวัสดิ์สถาพร | ในโสฬสนครธานี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ตรีบูรัมสิทธิศักดิ์ยักษี |
ก้มเกล้ารับพรพระศุลี | อสุรีสนองพระบัญชา |
ซึ่งพระองค์ประทานโอวาท | ข้าบาทขอรับใส่เกศา |
จะครองทศธรรมกษัตรา | ไปจนกว่าชีวันจะบรรลัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระปิ่นไกรลาสเขาใหญ่ |
ครั้นประสาทโอวาทพรชัย | ให้ตรีบูรัมอสุรา |
แล้วขับพญาอุศุภราช | เผ่นผาดขึ้นยังพระเวหา |
ดั้นหมอกออกกลีบเมฆา | ตรงมาวิมานรูจี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ตรีบูรัมสิทธิศักดิ์ยักษี |
ครั้นสำเร็จเสร็จการพิธี | ก็คืนเข้าธานีโสฬส ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
ช้า
๏ เสด็จเหนือแท่นที่ทิพอาสน์ | พร้อมเสนามาตย์ทั้งปวงหมด |
กำเริบไปในอิสริยยศ | ล่วงพจนารถเจ้าโลกา |
หยาบคาบร้ายกาจไม่เกรงใคร | ทำตามอำเภอใจยักษา |
ทศทิศไม่ต่อฤทธา | กลัวเดชเดชากุมภัณฑ์ |
มีจิตมิจฉาทรลักษณ์ | จะร่วมรสรักนางสวรรค์ |
อันเป็นบริจาเทวัญ | ทุกชั้นทั่วทิพย์วิมาน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ คิดแล้วอ่าองค์ทรงเครื่อง | อร่ามเรืองด้วยดวงมุกดาหาร |
กรจับกระบองแก้วสุรกานต์ | กวัดแกว่งทะยานเหาะไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ถึงชั้นจาตุมหาราช | ทำอำนาจสะท้านสะเทือนไหว |
ไล่หมู่เทวาสุราลัย | ตกใจอื้ออึงทั้งเมืองฟ้า |
เชยชิดพิศวาสนางสวรรค์ | แล้วไปชั้นดาวดึงสา |
ล่วงขึ้นไปชั้นยามา | จนพิภพดุสิดาอันโอฬาร |
อีกชั้นนิมมานรดิศ | ทั้งปาระนิมิตไพศาล |
คว้าไขว่นางฟ้ายุพาพาล | ร้องหวีดวิ่งพล่านไม่สมประดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ ครั้นสำเร็จเสร็จสมดั่งจินดา | จึ่งองค์พญายักษี |
ผาดแผลงสำแดงฤทธี | เหาะมาบุรีด้วยว่องไว ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พระจอมเมรุมาศเขาใหญ่ |
ทั้งฝูงเทวาสุราลัย | ในหกห้องสวรรค์ชั้นฟ้า |
เห็นตรีบูรัมขุนยักษ์ | ทะนงศักดิ์หยาบคายไม่เกรงหน้า |
อับอายเดือดร้อนทุกเทวา | ก็พากันมาเฝ้าพระศุลี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เหาะ
๏ ต่างถวายอภิวาทน์บาทบงสุ์ | ทูลองค์พระอิศวรเรืองศรี |
บัดนี้ตรีบูรัมอสุรี | มันเที่ยวราวีอหังการ |
ถึงพิภพเมืองแมนแดนสวรรค์ | ฉ้อชั้นยามามหาสถาน |
ไล่รุกบุกบันทุกวิมาน | ได้ความรำคาญทั้งเมืองฟ้า ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ