- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
๏ เมื่อนั้น | พระทรงภพลบโลกทุกสถาน |
ประทับอยู่ริมฝั่งชลธาร | กับพวกทหารโยธา |
แต่เช้าไปจนสายัณห์ | สุริย์ฉันบ่ายคล้อยเวหา |
จึ่งมีพระราชบัญชา | ถามพญาพิเภกอสุรี |
ซึ่งเราจะยกทวยหาญ | เข้าไปรอนราญยักษี |
จะตั้งมั่นตำบลใดดี | จึ่งจะเป็นที่สถาวร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | น้องท้าวทศกัณฐ์ชาญสมร |
ได้ฟังพจนารถภูธร | ชุลีกรสนองพระบัญชา |
อันเขามรกตคีรี | เป็นที่ประชุมยักษา |
ไม่ใกล้ไกลกับกรุงลงกา | ภูมิฐานน้ำท่าสำราญ |
ประกอบด้วยมิ่งไม้มีผล | ควรจะพักพลทวยหาญ |
ต้องด้วยครุฑนามโอฬาร | หมู่มารจะแพ้ฤทธา |
แต่กุมภาสูรฤทธิรณ | คุมพลร้อยโกฏิอยู่รักษา |
ขอให้ทหารอันศักดา | ไปผลาญชีวากุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์องค์นารายณ์รังสรรค์ |
ได้ฟังน้องท้าวทศกัณฐ์ | จึ่งบัญชาสั่งหนุมาน |
ตัวท่านผู้มีฤทธิรอน | จงคุมนิกรทวยหาญ |
ไปตีหมู่อสูรสาธารณ์ | ผลาญเสียให้ม้วยชีวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ลูกพระพายผู้ชาญชัยศรี |
รับสั่งพระองค์ทรงธรณี | ถวายอัญชุลีแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ประถม
๏ จึ่งจัดโยธาพลากร | เลือกเหล่าวานรซ้ายขวา |
แต่ตัวดีที่มีศักดา | เสร็จแล้วก็พาทัพไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ รุกร้น
๏ ถึงเขามรกตก็พิศดู | เห็นหมู่อสุรีไม่นับได้ |
อยู่ทั้งชั้นนอกชั้นใน | รอบไปตามเชิงคีรี |
จึ่งสั่งโยธาวานร | เร่งเข้าราญรอนยักษี |
ฆ่าเสียให้สิ้นชีวี | ด้วยกำลังฤทธีชัยชาญ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งหมู่กระบี่ทวยหาญ |
ได้ฟังวาจาหนุมาน | ก็โผนทะยานเข้าชิงชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ต่างผลุนหมุนกลุ้มตะลุมบอน | จะรอรั้งยั้งกรก็หาไม่ |
ถีบกัดฟัดฟาดวุ่นไป | ด้วยกำลังฤทธิไกรราวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่อสุรศักดิ์ยักษี |
ครั้นวานรเข้าโถมโจมตี | อสุรีรบรันประจัญบาน |
ยิงแย้งแทงฟันอยู่สับสน | ต่างตนสำแดงกำลังหาญ |
โห่สนั่นครั่นครื้นสุธาธาร | พลมารเนื่องหนุนหมุนมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | โยธาวานรแกล้วกล้า |
รับรองป้องกันอสุรา | ตีซ้ายป่ายขวาอลวน |
เป็นหมู่หมู่เหล่าเหล่าเข้าจับกัน | อุตลุดพัลวันสับสน |
ยักษีล้มตายวายชนม์ | บ้างแตกย่นพลัดพรายกระจายไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | จึ่งกุมภาสูรนายใหญ่ |
เห็นพลแตกยับทั้งทัพชัย | กริ้วโกรธคือไฟบรรลัยกัลป์ |
กระทืบบาทผาดเสียงเป็นโกลา | อสุราแกว่งหอกดั่งจักรผัน |
เข่นเขี้ยวเคี้ยวกรามขบฟัน | เข้าไล่โรมรันวานร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ถาโถมโจมแทงอุตลุด | ไม่ยั้งหยุดว่องไวดั่งไกรสร |
กระบี่ตายยับลงกับกร | ด้วยฤทธิรอนอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
ครั้นเห็นยักษาราวี | วานรหนีย่นร่นมา |
กริ้วโกรธพิโรธคือไฟกัลป์ | มือคันเขม้นเข่นฆ่า |
ฉวยชักตรีเพชรอันศักดา | ออกยืนขวางหน้าพลไว้ |
กวัดแกว่งสำแดงกำลังหาญ | สุธาธารกัมปนาทหวาดไหว |
โลดโผนโจนจ้วงทะลวงไป | เข้าไล่โจมจับอสุรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เท้าซ้ายนั้นเหยียบบ่าขวา | มือคว้าชิงหอกยักษี |
กลอกกลับจับกันเป็นโกลี | ถ้อยทีหักโหมโรมรัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | จึ่งกุมภาสูรแข็งขัน |
รับรองป้องปัดพัลวัน | หันกลับจับกันอลวน |
ต่างกล้าต่างหาญทะยานยุทธ์ | ฟันแทงอุตลุดสับสน |
ถ้อยทีถ้อยมีฤทธิรณ | ต่างตนไม่งดลดกร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
หลีกหลบรบรุกราญรอน | วานรเหยียบบ่ากุมภัณฑ์ |
มือหนึ่งจับจิกเกศา | กลับกลอกไปมาดั่งจักรผัน |
หันเวียนเปลี่ยนท่าโรมรัน | รับรองป้องกันในที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | จึ่งกุมภาสูรยักษี |
ต้านต่อรอฤทธิ์ราวี | อสุรีเหยียบเข่าหนุมาน |
มือซ้ายจับคอวานร | กรขวาเงื้อหอกจะสังหาร |
ต่างแกล้วต่อกล้าเข้ารอนราญ | ประจัญบานไม่คิดชีวา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
โผนทะยานด้วยกำลังศักดา | ถีบถูกอุราอสุรี |
หันเหเซไปไม่ตั้งตรง | ล้มลงแทบเชิงคีรีศรี |
ฟาดด้วยตรีเพชรอันฤทธี | สุดสิ้นชีวีวายปราณ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เสร็จแล้วตัดเศียรขุนยักษ์ | สำแดงสิทธิศักดิ์กำลังหาญ |
เผ่นขึ้นยังพื้นคัคนานต์ | เหาะทะยานไปยังพลับพลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงกราบบาทพระนารายณ์ | แล้วถวายเศียรเกล้ายักษา |
ทูลความแต่ต้นจนปลายมา | ท่ามกลางเสนาวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภูวนาถทรงศร |
ได้ฟังกระบี่ฤทธิรอน | ภูธรชื่นชมด้วยสมคิด |
ทอดพระเนตรดูเศียรอสุรี | แล้วมีบัญชาประกาศิต |
อันศรีหนุมานนี้ชาญฤทธิ์ | ใช้ได้ดั่งจิตจินดา |
ตรัสแล้วสระสรงทรงเครื่อง | อร่ามเรืองดั่งเทพเลขา |
ชวนองค์พระลักษมณ์อนุชา | เสด็จขึ้นรัถาอลงการ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ให้เลิกพหลโยธี | ทุกหมู่เสนีทวยหาญ |
วานรไชยามพวาน | โบกธงหน้าฉานนำพล |
กลองชัยกลองชนะโครมครึก | โยธาโห่ฮึกกุลาหล |
แตรงอนแตรฝรั่งอึงอล | ดั่งแผ่นดินดลจะโทรมทรุด |
อันหมู่จังเกียงทั้งหลาย | กับตัวนายสิบแปดมงกุฎ |
ต่างตนสำแดงฤทธิรุทร | ดำดินแล้วผุดขึ้นมา |
บ้างลงเดินหลังชลธาร | บ้างเหาะทะยานโดยเวหา |
บ้างไปในกลีบเมฆา | บ้างโจนลงมาแต่อัมพร |
บ้างทำอึดใจหายตน | บ้างด้นไปในสิงขร |
บ้างเดินบนยอดยุคุนธร | วานรลำพองคะนองฤทธิ์ |
พสุธาอากาศหวาดไหว | เสียงสนั่นลั่นไปถึงดุสิต |
มืดมนอนธการไปทุกทิศ | พระทรงฤทธิ์รีบเร่งพลมา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ รุกร้น
๏ บัดนั้น | น้องท้าวทศพักตร์ยักษา |
กับหนุมานผู้ศักดา | นำเสด็จยาตราพระจักรี |
ครั้นถึงเขาแก้วมรกต | น้อมเกล้าประณตบทศรี |
ทูลองค์พระผู้ทรงธรณี | ที่นี้ชัยภูมิสถาวร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วทรงศร |
ได้ฟังน้องท้าวยี่สิบกร | ภูธรให้หยุดโยธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จึ่งมีพระราชบัญชา | สั่งพญาสุครีพกระบี่ศรี |
เราจะตั้งมั่นในที่นี้ | เป็นมหาบุรีอุประการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุครีพผู้ปรีชาหาญ |
รับสั่งสมเด็จพระอวตาร | ประณตบทมาลย์แล้วออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เกณฑ์หมู่โยธาพลากร | ทุกหมวดวานรน้อยใหญ่ |
ให้ตั้งกองทัพพลับพลาชัย | แทบใกล้มรกตคีรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นายกองทั้งสองบุรีศรี |
จึ่งกะเกณฑ์กันทันที | ตามมีบาญชีโยธา |
หน้าที่ของใครก็วางฉาก | ขึงเชือกปักฉลากพร้อมหน้า |
ปราบดินขนไม้เป็นโกลา | ถุ้งเถียงด่าว่าเร่งกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ยานี
๏ ตั้งเป็นปราการรายรอบ | คูขอบเขื่อนเพชรเขื่อนขัณฑ์ |
ป้อมค่ายหอรบนางจรัล | สลับกันเป็นแถวแนวไป |
ซุ้มทวารบานบังมั่นคง | เชิงเทินปักธงทิวไสว |
แล้วตั้งสุวรรณพลับพลาชัย | สี่มุขอำไพตระหง่านงาม |
ท้องพระโรงนั้นตั้งบัลลังก์อาสน์ | ลับแลแกลมาศเรืองอร่าม |
ชาลาเกยแก้วแวววาม | ท้องสนามที่ประลองโยธา |
ทิมดาบชาววังตำรวจเรียง | ศาลาลูกขุนเคียงซ้ายขวา |
ถนนดาดลาดด้วยศิลา | เสร็จตามบัญชาภูวไนย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาสุครีพทหารใหญ่ |
ครั้นแล้วเกณฑ์พลสกลไกร | ให้เป็นเสือป่าแมวมอง |
กองร้อยคอยเหตุกองขัน | ผลัดกันตระเวนจุกช่อง |
นั่งยามตามไฟประจำซอง | ทุกกองทุกหมวดตรวจตรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์นาถา |
ครั้นเสร็จซึ่งตั้งพลับพลา | ในมหาชัยภูมิสถาวร |
จึ่งชวนพระลักษมณ์นุชนาถ | เราจะไปประพาสสิงขร |
ตรัสพลางย่างเยื้องบทจร | ท้าวพญาวานรก็ตามไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ชมดง
๏ สองกษัตริย์เที่ยวชมพนมมาศ | ศิลาลาดตามแนวเนินไศล |
เป็นวุ้งเวิ้งเชิงชั้นจำเริญใจ | อำไพแลเลื่อมรูจี |
ยอดแซมแกมกันเป็นหลั่นลด | เขียวดั่งมรกตสดสี |
เป็นเปลวปล่องตามช่องคีรี | มีท่อชลธีไหลริน |
รุกขชาติเดียรดาษอยู่เรียงราย | ขยายแย้มเกสรขจรกลิ่น |
บ้างทรงผลสุกห่ามทรามกิน | หล่นกลาดดาษดินเกลื่อนไป |
มีหมู่คณานกวิหคหงส์ | บินร่อนเวียนวงลงอาศัย |
บ้างส่งเสียงน่าฟังวังเวงใจ | เหมือนจะถวายชัยพระสี่กร |
ให้สบายคลายถวิลถึงสายสวาท | ภูวนาถชื่นชมสโมสร |
พักตร์ผ่องดั่งดวงจันทร | บทจรตามเชิงบรรพตา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ครั้นเสร็จซึ่งชมสีขเรศ | พระปิ่นเกศไตรภพนาถา |
กับองค์พระลักษมณ์อนุชา | เสด็จมายังท่าวารี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
สระบุหร่ง
๏ ชำระสระสนานสำราญกาย | ในกระแสสายนทีศรี |
นํ้าใสดั่งแสงแก้วมณี | แลเห็นถึงที่ท้องธาร |
เป็นฟองฟุ้งพุ่งพุดุดั้น | ไหลลั่นโครมครึกฉ่าฉาน |
ศีลาลายพรายแพร้วชัชวาล | กรวดแก้วสุรกานต์อำไพ |
มีกอโกสุมเกสร | อรชรชูก้านบานไสว |
แมลงภู่วู่ว่อนเวียนไว | ซอกไซ้ซาบรสเรณู |
มัจฉาดาษเดียรเวียนว่าย | ตามกันคล้ายคล้ายเป็นหมู่หมู่ |
เล็มไคลผุดพ่นสินธู | ลอยแอบแนบคู่เคียงกัน |
พระยกหัตถ์ตรัสชี้ให้น้องชม | สำราญรื่นภิรมย์เกษมสันต์ |
แสนสนุกดั่งสระนันทวัน | ที่ในช่อชั้นดุสิตา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ครั้นเสร็จซึ่งสรงวารี | องค์พระจักรีนาถา |
กรายกรลีลาศยาตรา | เสด็จมายังพลับพลาชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | เสนาวานรน้อยใหญ่ |
ทั้งสิบแปดมงกุฎวุฒิไกร | ก็พากันลงไปในวารี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ร่าย
๏ นํ้าใสไหลหลั่งถั่งมา | เย็นซาบกายากระบี่ศรี |
แหวกว่ายตามสายชลธี | หยอกกันอึงมี่ทั้งท้องธาร |
บ้างเก็บกระจับฝักบัว | ขุดหัวรากเง่าเป็นอาหาร |
ชิงชักหักดวงปทุมมาลย์ | โผนทะยานขึ้นไม้ริมสาคร |
โดดจากกิ่งใหญ่ไต่กิ่งน้อย | โหนห้อยเย้าหยอกหลอกหลอน |
ลางลิงโจนน้ำดำซอน | ถอนสาหร่ายสายติ่งทิ้งกัน |
บ้างเอากรวดทรายปรายซัด | ตบหัตถ์สำรวลสรวลสันต์ |
รวบรัดฟัดกอดพัลวัน | เสียงสนั่นเฮฮาวุ่นไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ครั้นเสร็จซึ่งเล่นชลธาร | สุครีพหนุมานทหารใหญ่ |
ทั้งพวกพหลพลไกร | ก็กลับไปกองทัพพลับพลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายสารัณทูตยักษา |
เห็นภานุราชอสุรา | กับกุมภาสูรวายปราณ |
ตกใจตัวสั่นขวัญหาย | ดั่งจะวายชีวิตสังขาร |
ก็เผ่นขึ้นยังหลังอาชาชาญ | ทะยานเข้าลงกาเวียงชัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งคลานเข้าไปเฝ้า | น้อมเกล้าบังคมประนมไหว้ |
ทูลว่าภานุราชฤทธิไกร | ออกไปนิมิตพนาวัน |
มีวานรหนึ่งเผือกผู้ | ล่วงรู้มาล้างให้อาสัญ |
ข้าศึกฮึกหาญชาญฉกรรจ์ | บุกบันไล่ลามตามตี |
ทั้งกุมภาสูรก็วายปราณ | หมู่มารแตกพ่ายกระจายหนี |
อันเหล่าอริราชไพรี | นั้นมีกำลังอหังการ์ |
บัดนี้ยกพวกพลขันธ์ | มาตั้งมั่นมรกตภูผา |
มากล้นพ้นที่จะคณนา | เพียบพื้นมหาสุธาธาร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ใจหาญ |
ได้ฟังสารัณแจ้งการ | ขุนมารนิ่งนึกตรึกตรา |
กูใช้ทหารไปทำกล | วายชนม์เสียเชิงแก่ลิงป่า |
เพราะไอ้พิเภกอสุรา | มันบอกกิจจาแก่พวกภัย |
จึ่งทำฮึกฮักไม่เกรงกัน | ยกมาตั้งมั่นลงได้ |
ยิ่งคิดยิ่งแค้นแน่นใจ | ฤทัยเร่าร้อนดั่งอัคคี |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | สั่งเสนามารยักษี |
จงเร่งกะเกณฑ์โยธี | รักษาหน้าที่ให้พร้อมกัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มโหทรมารคนขยัน |
รับสั่งพญากุมภัณฑ์ | ถวายบังคมคัลแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ประถม
ยานี
๏ จึ่งเกณฑ์ทหารชาญณรงค์ | เลือกล้วนอาจองแกล้วกล้า |
มือกุมเครื่องยุทธสาตรา | รักษาหน้าที่กำแพง |
ห้าเส้นไว้พวกกองขัน | กองหนุนตัวขยันเข้มแข็ง |
ล้วนถือดาบศิลารางแดง | เรี่ยวแรงยั่งยืนในการยุทธ์ |
ช่องป้อมหอรบทวารา | เอาปืนใหญ่จังกาคอยจุด |
ทั้งมณฑกนกสับคาบชุด | อาวุธรายรอบเสมาเมือง |
นั่งยามตามไฟกวดขัน | สารวัดผลัดกันตรวจเนื่อง |
ตีฆ้องร้องเตือนเนืองเนือง | กองไฟรอบเรืองทั้งพารา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกนาถา |
ครั้นคํ่ายํ่าแสงสนธยา | จันทราหมดเมฆไม่ราคิน |
เอนองค์ลงสู่ไสยาสน์ | งามวิลาศเหมือนเมื่อบรรทมสินธุ์ |
ตริการที่จะผลาญไพริน | อันดูหมิ่นเบื้องบาทภูวไนย |
หวนคะนึงถึงองค์อัคเรศ | ทรงเดชทอดถอนใจใหญ่ |
จนปัจฉิมยามล่วงไป | มิได้สนิทนิทรา |
ย่างเข้าตีสิบเอ็ดเจ็ดบาท | ภานุมาศจวนแจ้งพระเวหา |
พระพายรำเพยพัดพา | กลิ่นมาลาฟุ้งขจายจร |
สกุณีรํ่าร้องถวายเสียง | สำเนียงสนั่นสิงขร |
แมลงผึ้งภู่หมู่ภมร | บินว่อนเชยซาบสุมามาลย์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย
๏ จึ่งสระสรงทรงเครื่องเทวราช | โอภาสด้วยดวงมุกดาหาร |
จับพระขรรค์แก้วสุรกานต์ | ผ่านฟ้าออกหมู่โยธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | งามทัดเทียมท้าวโกสีย์ |
อันสถิตทิพอาสน์รูจี | ในที่มหาพิมานชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ พร้อมพิเภกสุครีพหนุมาน | องคตชมพูพานทหารใหญ่ |
ทั้งชามพูวราชฤทธิไกร | ไชยามเกสรทมาลา |
นิลนนท์นิลราชนิลขัน | ทั้งนิลปานันพร้อมหน้า |
นิลเอกขุนนิลผู้ศักดา | ปิงคลาวิสันตราวี |
โชติมุกขวิมลมาลุนท์ | เกยูรมายูรกระบี่ศรี |
ศรรามวาหุโรมฤทธี | ทั้งสัตพลีโคมุท |
สุรเสนสุรกานต์ทวิพัท | มหัทวิกันไวยบุตร |
มากันจวิกชาญยุทธ์ | สิบแปดมงกุฎตัวนาย |
ล้วนมีฝีมือชื่อเสียง | เตียวเพชรจังเกียงมากหลาย |
หมอบเฝ้าสองเหล่าเรียบราย | ข้างซ้ายชมพูนครา |
พื้นพงศ์พญาพานรินทร์ | ฝ่ายนครขีดขินอยู่เบื้องขวา |
จึ่งมีพระราชบัญชา | ปรึกษาณรงค์สงคราม |
ดูกรท้าวพญาพานรินทร์ | ทั้งชมพูขีดขินชาญสนาม |
แต่เราอุตส่าห์พยายาม | จองถนนข้ามได้ถึงลงกา |
บัดนี้จะยกพลไกร | เข้าลุยไล่สังหารยักษา |
ให้สิ้นวงศ์พงศ์พันธุ์พาลา | หรือว่าจะทำไฉนดี ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาสุครีพกระบี่ศรี |
พร้อมทหารทั้งสองบุรี | น้อมเศียรชุลีแล้วทูลไป |
ซึ่งจะเข้าจู่โจมโหมหัก | กรุงยักษ์หรือจะทนมือได้ |
สำหรับก็จะยับทั้งเวียงชัย | โดยราชฤทัยจินดา |
แต่ว่าไม่เป็นเกียรติยศ | ปรากฏทั่วโลกไปภายหน้า |
เหมือนหนึ่งใช่ศึกกษัตรา | ดั่งโจรป่าปลอมปล้นเวียงชัย |
ขอให้แต่งทูตผู้ฉลาด | องอาจเจรจาอัชฌาสัย |
ถือสารพระองค์ทรงฤทธิไกร | เข้าไปถึงท้าวทศกัณฐ์ |
ว่าขานโดยธรรม์ประเวณี | อย่าเพ่อต่อตีหํ้าหั่น |
เกลือกว่าพญากุมภัณฑ์ | จะสิ้นโมหันธ์ฉันทา |
รู้สึกโทษตัวที่ทำผิด | รักซึ่งชีวิตสังขาร์ |
จะเชิญองค์อัครชายา | มาถวายใต้เบื้องบทมาลย์ |
จะปรากฏพระยศภูวไนย | ไปชั่วกัลปาวสาน |
แม้นมันดึงดันอหังการ | จึ่งยกทวยหาญเข้าโจมตี ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระอวตารทรงสวัสดิ์รัศมี |
ฟังคำปรึกษาเสนี | ต้องที่ขนบบุราณการ |
จึ่งมีบัญชาประกาศิต | แก่ลูกพระอาทิตย์ใจหาญ |
จะเห็นใครซึ่งมีปรีชาชาญ | ถือสารเข้าไปเจรจา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุครีพผู้มียศถา |
ชุลีกรสนองพระบัญชา | ซึ่งจะถือสาราพระจักรี |
เห็นแต่กระบี่องคต | โอรสพาลีเรืองศรี |
ประกอบทั้งกำลังฤทธี | ไม่เกรงอสุรีทศพักตร์ |
ทั้งสติปัญญาก็สามารถ | ถ้อยคำองอาจแหลมหลัก |
มาตรถึงทศกัณฐ์ขุนยักษ์ | มันจักดันดึงขึงไป |
โกฏิแสนแม้นเข้ามาราญรอน | เห็นพอวานรจะสู้ได้ |
ไม่ขายเบื้องบาทภูวไนย | ขอให้จำทูลโองการ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระทรงภพลบโลกทุกสถาน |
ได้ฟังสุครีพผู้ปรีชาญ | ผ่านฟ้าชื่นชมด้วยสมคิด |
จึงตรัสเรียกลูกพญาพาลี | เข้ามาแล้วมีประกาศิต |
ท่านผู้วงศาสุราฤทธิ์ | ทศทิศย่อมเกรงเดชา |
จงเป็นราชทูตทูลสาร | ไปว่าขานแก่ท้าวยักษา |
ฟังดูอสูรพาลา | ฝ่ายมันจะว่าประการใด |
ตรัสแล้วสั่งสัตพลี | ผู้มีปัญญาอัชฌาสัย |
จงแต่งสารแจ้งการแต่เดิมไป | ส่งให้องคตพานร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งสัตพลีชาญสมร |
ก้มเกล้ารับสั่งพระสี่กร | ก็แต่งเป็นอักษรสารา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ ครั้นเสร็จโดยราชบรรหาร | ก็ลงลานนพมาศเลขา |
ใส่ในกล่องแก้วแววฟ้า | ส่งให้ลูกพญาพาลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | องคตสุริย์วงศ์โกสีย์ |
น้อมเศียรรับสารแล้วยินดี | ชุลีกรลาองค์พระทรงธรรม์ |
ออกมาจากหน้าพลับพลา | พ้นหมู่โยธาพลขันธ์ |
เหาะขึ้นสูงกึ่งสัตภัณฑ์ | ด้นดั้นไปโดยอัมพร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงลงกานคเรศ | สำแดงเดชดั่งพญาไกรสร |
ลงยังพ่างพื้นดินดอน | บทจรไปทวารเวียงชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | หมู่มารนายประตูน้อยใหญ่ |
เห็นกระบี่ผู้มีฤทธิไกร | ตกใจก็ปิดทวารา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ รัว
๏ บัดนั้น | ลูกพญาพาลีใจกล้า |
จึ่งร้องประกาศด้วยวาจา | ว่าเหวยดูรากุมภัณฑ์ |
ตัวกูเป็นทูตจำทูลสาร | องค์พระอวตารรังสรรค์ |
มาถึงไทท้าวทศกัณฐ์ | โดยยุติธรรม์ประเวณี |
เอ็งจงเร่งเปิดทวารชัย | กูจะไปเจรจาด้วยยักษี |
ว่าพลางร่ายเวทอันฤทธี | นิมิตอินทรีย์ด้วยศักดา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ ตระ
๏ กายนั้นใหญ่เท่าพรหมาน | สูงตระหง่านเงื้อมงํ้าเวหา |
สองมือบังดวงพระสุริยา | ลงกามืดคลุ้มชอุ่มควัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
เสด็จเหนือแท่นแก้วแพรวพรรณ | ท่ามกลางกุมภัณฑ์เสนี |
เห็นมืดมัวทั่วทั้งอัมพร | ทินกรบดบังแสงสี |
ดั่งหนึ่งจะยํ่าราตรี | อสุรีฉงนสนเท่ห์ใจ |
จึ่งมีราชโองการ | สั่งเสนามารผู้ใหญ่ |
ตัวเอ็งจงรีบออกไป | ดูเหตุมาให้ประจักษ์ตา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งเปาวนาสูรยักษา |
รับสั่งถวายบังคมลา | ก็ออกมายังหน้าพระลาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งหยุดยืนอยู่ | พิศดูทั่วทศทิศาล |
ได้ยินสำเนียงดั่งลมกาฬ | ฝ่ายข้างทวารหรดี |
ไม่แจ้งเหตุผลประการใด | ยิ่งอัศจรรย์ใจยักษี |
ไฉนหนอมาเป็นดั่งนี้ | อสุรีก็รีบตรงมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงแลเห็นวานร | สำแดงฤทธิรอนแกล้วกล้า |
กายนั้นสูงเงื้อมเมฆา | จึ่งมีวาจาถามไป |
เหวยเหวยดูราพานรินทร์ | ถิ่นฐานบ้านเมืองอยู่ไหน |
นามกรของเอ็งชื่อใด | เหตุไรมาทำดั่งนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หลานท้าวหัสนัยน์เรืองศรี |
ได้ฟังจึ่งตอบวาที | ตัวกูนี้ชื่อว่าองคต |
เป็นทูตสมเด็จพระอวตาร | ฤทธิไกรชัยชาญดั่งจักรกรด |
จำทูลราชสารพระทรงยศ | มาถึงทศพักตร์อสุรี |
หมู่มารมันปิดประตูไว้ | ไม่ให้ไปแจ้งสารศรี |
เอ็งจงเร่งเปิดออกโดยดี | กูนี้จะด่วนเข้าไป |
ว่าขานแก่องค์พญายักษ์ | หวังจักระงับศึกใหญ่ |
มิให้ลำบากยากใจ | แก่หมู่ไพร่พลโยธา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายเปาวนาสูรยักษา |
ได้ฟังจึ่งตอบวาจา | ท่านเป็นทูตาก็แจ้งใจ |
จงหยุดอยู่นอกพระนคร | จะด่วนเข้ามาก่อนยังไม่ได้ |
ตัวของเรานี้จะกลับไป | ทูลไทปิ่นเกล้ากุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ ว่าแล้วกำชับทวยหาญ | จงรักษาทวารไว้ให้มั่น |
สั่งเสร็จก็รีบจรจรัล | มาพระโรงคัลรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรกราบทูล | ท้าวราพณาสูรยักษี |
ว่าองคตลูกพญาพาลี | กระบี่ศรีถือสารพระรามา |
มันแกล้งสำแดงแผลงฤทธิ์ | บังพระอาทิตย์ในเวหา |
บัดนี้อยู่นอกทวารา | ถ้อยคำหยาบช้าอหังการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ใจหาญ |
แจ้งว่าองคตชัยชาญ | เป็นทูตถือสารมาเจรจา |
ให้คิดตะลึงไปทั้งกาย | ไอ้นี่หยาบคายหนักหนา |
แม้นว่าจะให้มันเข้ามา | น่าที่จะได้เคืองใจ |
ทั้งอัปยศอดสู | แก่หมู่เสนีน้อยใหญ่ |
จำจะเอาดีต่อไว้ | อย่าให้เคืองขัดใจมัน |
คิดแล้วตรัสสั่งฝูงอนงค์ | จงไปบอกมณโฑสาวสวรรค์ |
ว่าองคตโอรสของนางนั้น | ตัวมันถือสารพระรามา |
บัดนี้อยู่นอกพระทวาร | ฝ่ายด้านหรดีทิศา |
ให้นางแต่งเครื่องโภชนา | ต้อนรับลูกยาจงดี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นวลนางกำนัลสาวศรี |
รับสั่งพญาอสุรี | ถวายอัญชุลีแล้วรีบไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงปราสาทเยาวมาลย์ | กราบกรานนบนิ้วบังคมไหว้ |
ทูลว่าพระปิ่นราชัย | ให้ข้ามาแจ้งนางเทวี |
บัดนี้สมเด็จพระโอรส | ทรงนามองคตกระบี่ศรี |
มาอยู่ยังนอกบุรี | ให้เทวีแต่งเครื่องไปประทาน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | นางมณโฑเยาวยอดสงสาร |
แจ้งว่าองคตชัยชาญ | ถือสารเข้ามาก็ตกใจ |
นิ่งขึงตะลึงรำพึงคิด | ร้อนจิตดั่งหนึ่งเพลิงไหม้ |
วันนี้น่าที่ภูวไนย | จะได้เคืองใต้ธุลี |
ตริแล้วจึ่งมีพจมาน | สั่งนางพนักงานสาวศรี |
จงแต่งเครื่องเสวยอย่างดี | กูนี้จะให้พระลูกยา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนางวิเสทซ้ายขวา |
รับสั่งแล้วอัญชุลีลา | มาจากปราสาทเยาวมาลย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ชุบ
๏ พนักงานของใครก็เร่งรัด | จัดทั้งของคาวของหวาน |
ก็ได้เสร็จสิ้นทุกประการ | ใส่พานแล้วยกเข้าไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | นางมณโฑเยาวยอดพิสมัย |
จึ่งจัดฝูงนางอนงค์ใน | ทรงโฉมอำไพวิไลวรรณ |
แน่งน้อยเสาวภาคย์พึงชม | งามคมเพียงอัปสรสวรรค์ |
ผิวพักตร์ผ่องแผ้วดั่งดวงจันทร์ | สารพันพริ้มพร้อมทั้งอินทรีย์ |
ให้ยกเครื่องต้นกระยาหาร | ไปประทานองคตกระบี่ศรี |
จงบอกว่าของทั้งนี้ | เราผู้ชนนีให้มา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝูงอนงค์ทรงลักษณ์เสน่หา |
รับพระเสาวนีย์ชุลีลา | กัลยายกเครื่องเสวยไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นออกมานอกประตูเมือง | ชำเลืองตามทิศน้อยใหญ่ |
แลเห็นองคตยศไกร | นั่งลงกราบไหว้ทุกนารี |
ต่างทำชม้ายชายเนตร | สังเกตกิริยากระบี่ศรี |
ทูลว่าสมเด็จพระชนนี | ให้ข้านี้เชิญเครื่องออกมา |
ถวายพระองค์ผู้ทรงฤทธิ์ | ด้วยจิตแสนโสมนัสสา |
เชิญเสวยเอมโอชโภชนา | ให้เป็นผาสุกสำราญ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องคตผู้ปรีชาหาญ |
ฟังนางอสุรีแจ้งการ | จึ่งกล่าวพจมานตอบไป |
ตัวเราจำทูลสารา | มาเจรจาความเมืองเป็นข้อใหญ่ |
อันรูปรสกลิ่นเสียงนี้ไซร้ | กูไม่มีความยินดี |
ตั้งใจจะเอาราชการ | องค์พระอวตารเรืองศรี |
เอ็งจงไปทูลพระชนนี | ว่ากูนี้ถวายบังคมมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งนางสาวใช้ถ้วนหน้า |
ได้ฟังลูกเจ้ากล่าววาจา | กัลยาก็ทูลสนองไป |
อันซึ่งพระองค์มาสื่อสาร | จะระงับดับการศึกใหญ่ |
ฝ่ายพระชนนีก็ดีใจ | จึ่งใช้ข้ามาเฝ้าทรงฤทธิ์ |
แม้นว่าพระองค์ไม่เสวย | ไหนเลยข้าบาทจะพ้นผิด |
ว่าพลางทางถดเข้าให้ชิด | ใส่จริตชายเนตรเป็นที ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | องคตหลานท้าวโกสีย์ |
ได้ฟังคำนางอสุรี | เย้ายี้พิไรเจรจา |
กริ้วโกรธพิโรธดั่งเพลิงกัลป์ | ฉวยชักพระขรรค์ออกเงื้อง่า |
กระทืบบาทผาดเสียงเป็นโกลา | เหม่อี่มารยาพิราใน |
ไม่กลัวชีวิตจะวอดวาย | มาอุบายเซ้าซี้ฉะนี้ได้ |
ว่าพลางโลดโผนโจนไป | เลี้ยวไล่หมู่นางอสุรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝูงนางกำนัลสาวศรี |
ตกใจไม่เป็นสมประดี | วิ่งหนีหลบหลีกพัลวัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เครื่องอานพานทองก็ตกกลาด | ร้องตรีดหวีดหวาดตัวสั่น |
บ้างล้มปะทะปะกัน | สารพันกระจัดพลัดพราย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่อสุราทั้งหลาย |
ปิดประตูลงกลอนวุ่นวาย | ไพร่นายช่วยกันเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ เมื่อนั้น | องคตยศไกรใจกล้า |
จึ่งร้องว่าเหวยอสุรา | ไปแจ้งกิจจาพญามาร |
เจ้ามึงบัญชาว่ากล่าว | เรื่องราวเป็นไฉนไม่บอกขาน |
ให้กูอยู่ท่าช้านาน | ไม่เปิดทวารด้วยอันใด |
ประตูเมืองมึงแต่เพียงนี้ | ไหนจะทนฤทธีกูได้ |
จะเอาแต่เท้าซ้ายป่ายไป | ก็จะพังลงไม่พริบตา |
ว่าแล้วก็ทำสิงหนาท | สำแดงอำนาจแกล้วกล้า |
โลดโผนโจนถีบด้วยบาทา | ทวาราหักล้มระทมไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ เสียงสนั่นครั่นครื้นทั้งเมืองมาร | พสุธาสะท้านสะเทือนไหว |
ขุนกระบี่กวัดแกว่งพระขรรค์ชัย | ไล่นายประตูเป็นโกลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่อสูรยักษี |
ความกลัวตัวสั่นไม่สมประดี | วิ่งหนีวุ่นไปทั้งเมืองมาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | องคตฤทธิไกรใจหาญ |
ทำอำนาจอาจองดังพระกาล | ทะยานเข้ายังท้องพระโรงชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ยืนอยู่กลางหมู่เสนายักษ์ | จะเกรงท้าวทศพักตร์ก็หาไม่ |
จึ่งม้วนหางต่างอาสน์อำไพ | นั่งให้สูงเทียมอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เสร็จแล้วจึ่งกล่าววาจา | ดูกรพญายักษี |
ตัวเราเป็นทูตพระจักรี | ผู้โมลีโลกสถาวร |
คือองค์พระนารายณ์อวตาร | จะล้างหมู่มารด้วยแสงศร |
บัดนี้ยกพวกพลากร | ข้ามฝั่งสาครสมุทรมา |
ตั้งอยู่ยังเขามรกต | พระทรงยศปรานียักษา |
จึ่งให้เราถือสารา | เข้ามาเจรจาโดยธรรม์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ฟังลูกพาลีชาญฉกรรจ์ | กุมภัณฑ์ขัดแค้นแน่นใจ |
จึ่งร้องว่าเหวยทูตา | คิดว่าใครมาแต่ไหน |
มิรู้องคตยศไกร | เหตุใดจึ่งทำอหังการ |
เอ็งเป็นแต่ชาติวานร | จำทูลอักษรราชสาร |
ไยจึ่งหยาบช้าสาธารณ์ | ฮึกหาญมิได้บังคมคัล |
กูผู้สุริย์วงศ์พรหเมศ | ลือเดชทั่วภพสรวงสวรรค์ |
ถึงมนุษย์ครุฑนาคเทวัญ | ทั้งนั้นก็ย่อมชุลีกร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องคตใจหาญชาญสมร |
เห็นขุนมารอ้างอวดฤทธิรอน | วานรจึ่งตอบคำไป |
ดูก่อนทศพักตร์ยักษี | เอ็งอย่าพาทีหยาบใหญ่ |
กูเป็นทูตพระตรีภูวไนย | จะไหว้อสุราอย่าพึงคิด |
จงน้อมเศียรเกล้าลงฟังสาร | โองการพระบรมจักรกฤษณ์ |
ว่าแล้วกระบี่ผู้มีฤทธิ์ | ก็อ่านลิขิตด้วยปรีชา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ช้า
๏ ราชสารสมเด็จพระหริวงศ์ | ผู้ทรงครุฑราชปักษา |
เอาพญาอนันตนาคา | มาเป็นบัลลังก์อลงกรณ์ |
สถิตยังเกษียรชลธาร | แทบเชิงจักรวาลสิงขร |
ฤๅษีเทวาวิชาธร | สโมสรแซ่ซ้องบังคมคัล |
ประชุมเชิญเสด็จไวกูณฐ์ | ยังประยูรจักรพรรดิรังสรรค์ |
มาล้างอสุราอาธรรม์ | ที่มันเป็นเสี้ยนแผ่นดิน |
ทรงนามสมเด็จพระราเมศ | มงกุฎเกศไตรภพจบสิ้น |
หน่อท้าวทศรถภูมินทร์ | เป็นปิ่นทวารวดี |
อันนางสีดายุพาพักตร์ | คือองค์นงลักษณ์พระลักษมี |
ท้าวทศเศียรอสุรี | ไปลักเทวีมาไว้ |
จึ่งยกแสนยาพลากร | ข้ามมหาสาครสมุทรใหญ่ |
ตามมาจะผลาญชีวาลัย | แล้วมีพระทัยกรุณา |
จึ่งแต่งราชทูตถือสาร | หวังประทานชีวิตยักษา |
จงเชิญนางทูนเศียรอสุรา | ไปถวายบาทาพระจักรี ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยี่สิบกรยักษี |
ฟังสารดาลโกรธดั่งอัคคี | อสุรีขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน |
เหม่ไอ้องคตทรลักษณ์ | อัปลักษณ์มืดมัวโมหันธ์ |
เขาฆ่าพ่อม้วยชีวัน | กลับว่าสัจธรรม์มาให้ใช้ |
มณโฑก็เป็นชนนี | เอ็งนี้ใช่กูจะเสียได้ |
สีดานั้นแม่มึงเมื่อไร | คือใครไปลักเอานางมา |
ครั้งก่อนก็มีวานรน้อย | กล่าวถ้อยฮึกฮักหนักหนา |
บอกว่าเป็นทูตถือสารา | สมญามันชื่อหนุมาน |
อินทรชิตแผลงศรนาคบาศ | มัดมาจะพิฆาตให้สังขาร |
หากคิดว่าทูตจะเสียการ | จึ่งให้ประจานแล้วปล่อยไป |
กูเห็นจะตายเสียกลางทาง | เอ็งยังจะรู้บ้างหรือหาไม่ |
มันนี้เผ่าพงศ์วงศ์ใคร | ไอ้ลิงจังไรพนาวัน ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หลานท้าวหัสนัยน์รังสรรค์ |
จึ่งตอบวาจากุมภัณฑ์ | ว่าเหวยทศกัณฐ์ใจพาล |
อันซึ่งคำแหงวายุบุตร | ฤทธิรุทรดั่งองค์พระสุริย์ฉาน |
ลูกมึงทั้งพันก็วายปราณ | หมู่มารตายกลาดปัถพี |
แกล้งให้อินทรชิตจับมา | ด้วยจะเผาพารายักษี |
ยังช่างด้านหน้าพาที | ไม่มีความอายอดสูใจ |
เหมือนเมื่อมึงยกไกรลาส | พระอิศวรประสาทพรให้ |
ไม่คิดเจียมตัวกลัวภัย | หยาบใหญ่ขอองค์พระอุมา |
แล้วต้องเชิญองค์พระแม่เจ้า | ทูนเหนือเศียรเกล้ายักษา |
คืนไปถวายพระอิศรา | ทั้งโลกาก็แจ้งอยู่ด้วยกัน |
ครั้งนี้ไปลักอัคเรศ | พระราเมศสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
พิเภกทานทัดด้วยสัจธรรม์ | ก็ดึงดันขับน้องไม่ไยดี |
มีแต่ทำชั่วทุจริต | ไม่คิดรักตัวยักษี |
เร่งเชิญนางไปถวายพระจักรี | อสุรีจะรอดชีวา ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษา |
ได้ฟังยิ่งกริ้วโกรธา | จึ่งมีวาจาตอบไป |
อันนางสีดาคนนี้ | ลูกผัวจะมีก็หาไม่ |
กูไปเที่ยวป่าพนาลัย | พบเข้าร้องไห้ตามมา |
สงสารจึ่งพามาด้วย | หาไม่จะม้วยสังขาร์ |
ที่จะส่งองค์นางกัลยา | มึงอย่าพักว่าให้ป่วยการ |
กูก็ทรงศักดาวราฤทธิ์ | ทศทิศเลื่องชื่อลือหาญ |
ทำไมกับมนุษย์สาธารณ์ | กับไอ้เดียรัจฉานทรลักษณ์ |
เอ็งอย่าสรรเสริญให้เกินหน้า | ใช่ว่าตัวกูไม่รู้จัก |
พี่น้องสองคนนี้จนนัก | อัปลักษณ์เที่ยวอยู่พนาวัน |
คบได้แต่ไอ้เหล่าลิง | เย่อหยิ่งเจรจาโมหันธ์ |
สู่รู้จะสู้กุมภัณฑ์ | อวดกล้าสำคัญว่าตัวดี |
อันโยธีซึ่งมีฝีหัตถ์ | จัดได้แต่เอ็งกระบี่ศรี |
กับไอ้หนุมานอัปรีย์ | สองตัวเท่านี้หรือว่าไร |
พวกวานรินทร์กบินทร์ป่า | มีมามากน้อยเป็นไฉน |
พาแต่เหล่าลิงมาชิงชัย | จะบรรลัยด้วยมือกุมกัณฑ์ ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ