- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงองค์เจ้าตรัยตรึงศ์สวรรค์ |
เสด็จเหนือทิพอาสน์พรายพรรณ | ในลดาวัลย์สถาวร |
แจ้งว่าจะราชาภิเษกสวัสดิ์ | มอบเศวตฉัตรพระทรงศร |
เป็นปิ่นไพร่ฟ้าประชากร | ในพระนครอยุธยา |
สืบซึ่งสุริย์วงศ์เทเวศ | แทนพระบิตุเรศนาถา |
บัดนี้พร้อมกษัตริย์ทุกพารา | กวีราชมาตยาพราหมณ์ชี |
จำกูจะพาสุราฤทธิ์ | อันสถิตในจักรราศี |
ไปเป็นประธานพิธี | ในที่อุปภิเษกพระอวตาร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ คิดแล้วพระจอมเมรุมาศ | มีเทวราชบรรหาร |
เรียกหมู่เทเวศบริวาร | กับนงคราญอัปสรกัลยา |
ให้เชิญซึ่งเครื่องกกุธกัณฑ์ | กับทิพย์สุวรรณภูษา |
แล้วพากันเหาะลงมา | ยังอยุธยากรุงไกร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เสด็จเข้าโดยช่องบัญชร | กับเทพนิกรน้อยใหญ่ |
สถิตเหนืออาสน์อำไพ | ในมหาปราสาทรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระมารดาทั้งสามศรี |
ครั้นรุ่งรางสร่างแสงพระรวี | เห็นองค์ตรีเนตรเสด็จมา |
พร้อมด้วยฝูงเทพบริวาร | เยาวมาลย์แสนโสมนัสสา |
พักตร์ผ่องเพียงดวงจันทรา | กัลยามีราชเสาวนีย์ |
ดูก่อนพระรามลูกรัก | ดวงจักษุแม่เฉลิมศรี |
เจ้าจงไปสรงวารี | ชำระอินทรีย์ให้สำราญ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
รับสั่งพระชนนีนงคราญ | ผ่านฟ้าเสด็จไปสรงชล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โทน
๏ สนานกายสายสินธุ์สุหร่ายรัตน์ | เย็นหยัดโปรยฟุ้งเป็นฝอยฝน |
ลูบไล้สุคนธ์เสาวคนธ์ | ปรุงมาศโกมลในเมืองอินทร์ |
ทรงสอดสนับเพลารายพลอย | ดวงลอยเครือลายกระหนกสิ้น |
ภูษาเชิงทรงหงส์บิน | แย่งรูปกินรินกรายกร |
ชายแครงช่อเครือประดับแก้ว | ชายไหวพลอยแววประภัสสร |
ตาบทิศลายแทงอรชร | ทับทรวงบุษย์ซ้อนสังวาลวัลย์ |
รัดองค์ทรงเอี่ยมกุดั่นดวง | พาหุรัดเพชรร่วงทับทิมคั่น |
ทองกรขดแก้วเป็นนาคพัน | ธำมรงค์เรือนสุบรรณขยับบิน |
ทรงมหามงกุฎแก้วสลับ | กรรเจียกจรประดับมุกดาสิ้น |
ห้อยพวงดอกไม้มาศโกมิน | พระทรงศิลป์กรายกรมาเกยลา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
โทน
๏ จึ่งเสด็จขึ้นยังยานุมาศ | อันโอภาสจำรัสพระเวหา |
เกณฑ์แห่เกลื่อนกลาดดาษดา | พร้อมหน้าประนมบังคมคัล |
แตรงอนแตรฝรั่งประสานเสียง | สำเนียงกลองประโคมบันลือลั่น |
เกณฑ์แห่เดินเคียงเป็นคู่กัน | ตามตาริ้วกั้นวิถีจร |
เครื่องสูงชุมสายรายรัด | กรรภิรุมย์มยุรฉัตรประภัสสร |
มหาดเล็กถือพระแสงประนมกร | หน้าหลังภูธรเป็นแถวมา |
อันสุครีพองคตหนุมาน | พิเภกโหราจารย์ยักษา |
ทั้งสิบแปดมงกุฎผู้ศักดา | เคียงมหายานุมาศพระจักรี |
พื้นใส่เสื้อครุยขาวกรอง | พอกเกี้ยวล้วนทองจำรัสศรี |
เป็นหลั่นหลั่นตามกันจรลี | มาโดยที่ท้องสนามจันทน์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงขึ้นยังเกยมาศ | อันโอภาสพรรณรายฉายฉัน |
เสนาน้อมเกล้าบังคมคัล | แน่นนันต์เกลื่อนกลาดดาษดา |
จึ่งเปลื้องเครื่องประดับจากองค์ | ทรงเศวตพัสตร์ภูษา |
แล้วเสด็จลีลาศยาตรา | ขึ้นมหามณฑปโอฬาร |
พระบาทเหยียบใบขนุนลาด | เหนืออาสน์รองทรงสรงสนาน |
ผันพักตร์ทอดทัศนาการ | ไปสถานบูรพทิศสวัสดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ปโรหิตผู้เฒ่าทั้งสี่ |
ครั้นได้ศุภฤกษ์นาที | ก็ตีฆ้องชัยเป็นสำคัญ |
ฝ่ายองค์อมรินทร์ก็เป่าสังข์ | เสียงดังสะเทือนเลื่อนลั่น |
ชาวประโคมก็ประโคมขึ้นพร้อมกัน | สำเนียงสนั่นอึงอล |
พนักงานก็ไขท่อทอง | เป็นละอองโปรยปรายดั่งสายฝน |
กลิ่นฟุ้งตลบเสาวคนธ์ | ตกลงเบื้องบนพระจักรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระวสิษฐ์สวามิตรฤๅษี |
จึ่งรดซึ่งปัญจนที | แล้วชีพ่อพราหมณ์พฤฒา |
ก็ถวายนํ้าสังข์นํ้ากลศ | กำหนดอ่านเวทคาถา |
สะเดาะเคราะห์อวยชัยพระจักรา | เป็นมหามงคลสถาวร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
เสด็จสรงทรงเครื่องอลงกรณ์ | บทจรขึ้นปราสาทมณี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ลดองค์ลงเหนือภัทรบิฐ | อันวิจิตรลาดหนังราชสีห์ |
ภายใต้เศวตฉัตรรูจี | ท่ามกลางเสนีเทวัญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หัสนัยน์เจ้าตรัยตรึงศ์สวรรค์ |
จึ่งถวายเครื่องทิพย์กกุธภัณฑ์ | ภูษิตพื้นสุวรรณโอฬาร์ |
ฝ่ายว่าชาวแสงสรรพยุทธ์ | ถวายอัษฎาวุธคมกล้า |
สุมันตันมหาเสนา | ถวายพลโยธาพลากร |
ขุนคลังถวายสมบัติ | แก้วแหวนนพรัตน์ประภัสสร |
ขุนรถขุนคชอัสดร | ถวายรถกุญชรพาชี |
ท้าวฉลองพระโอษฐ์ผู้ปรีชา | ถวายฝูงกัลยาสาวศรี |
ถ้วนหมื่นหกพันนารี | ครบที่สิบสองกำนัลใน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ปโรหิตโหราผู้ใหญ่ |
ให้เบิกบายศรีแก้วแววไว | แล้วจุดเทียนชัยพรายพรรณ |
ติดแว่นมณีนพมาศ | รัศมีโอภาสฉายฉัน |
ส่งให้สุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์ | รับกันต่อเนื่องออกมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เวียนเอยเวียนเทียน | ให้เวียนแต่ซ้ายมาขวา |
โหรเฒ่าลั่นฆ้องสามครา | ประโคมกาหลดนตรี |
บ้างโปรยข้าวตอกดอกไม้ | ถวายชัยอื้ออึงคะนึงมี่ |
โห่ร้องกึกก้องโกลี | ฤๅษีก็สวดขึ้นพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถ้วนคำรบเจ็ดรอบ | โดยระบอบพิธีเฉลิมขวัญ |
ปโรหิตดับเทียนโบกควัน | ให้พระทรงสุบรรณผู้ศักดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายการมโหรสพถ้วนหน้า |
ต่างเล่นเต้นรำเป็นโกลา | สนั่นทั้งอยุธยาเวียงชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจอมเมรุมาศเขาใหญ่ |
จึ่งสั่งนางฟ้าสุราลัย | เทพไทให้จับระบำบัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | เทพบุตรกับนางอัปสรสวรรค์ |
รับสั่งพระปิ่นเทวัญ | บังคมคัลด้วยใจปรีดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
พระทอง
๏ ชวนกันจับระบำรำถวาย | เยื้องกรายร่ายรำทำท่า |
เป็นกระบวนหงส์บินลินลา | มาขวาทวนทบตลบไป |
แล้วตีวงเวียนเปลี่ยนหัตถ์ | พลัดเป็นผาลาเพียงไหล่ |
เคียงข้างนางฟ้าสุราลัย | คว้าไขว่เข้าชิดติดพัน |
นางสวรรค์สลัดปัดกร | คมค้อนงอนจริตบิดผัน |
เทเวศสกัดกางกั้น | แล้วหันห่างร่ายเรียงเคียงมา |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางเทพอัปสรเสน่หา |
รำล่อคลอเคล้าเทวา | ชำเลืองนัยนาเป็นที |
เห็นเทเวศเวียนขวาเข้ามาชิด | ก็เบี่ยงบิดเวียนซ้ายชายหนี |
แล้วกรายท่าเป็นม้าตีคลี | ท่าทีม่ายเมียงเคียงไป |
ครั้นเทพบุตรเข้ายุดหัตถ์ | ก็สลัดปัดกรมิให้ใกล้ |
ทำจริตมารยาพิราใน | ยั่วเย้าเทพไทเทวัญ |
อันหมู่เทเวศแลอัปสร | ขับฟ้อนด้วยใจเกษมสันต์ |
ถวายพระองค์ทรงสุบรรณ | เป็นมหันตมโหโอฬาร์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หญิงชายชาวเมืองถ้วนหน้า |
แตกกันมาดูเทวา | กับนางฟ้าจับระบำสำราญใจ |
อันโขนละครมอญรำ | งิ้วหุ่นมวยปลํ้าปรบไก่ |
หน้าโรงตะโล่งตะลุยไป | ผู้ใหญ่จะดูก็ไม่มี |
แต่เหล่าลูกเล็กเด็กน้อย | วิ่งเล่นทุบต่อยกันอึงมี่ |
บ้างทะเลาะวิวาทชกตี | พี่น้องพ่อแม่ไม่นำพา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หัสนัยน์เจ้าตรัยตรึงศา |
ทั้งหมู่นักสิทธ์เทวา | บรรดามาทำพิธีการ |
ครั้นเสร็จภิเษกพระหริวงศ์ | ต่างองค์ชื่นชมเกษมศานต์ |
ก็ลาสมเด็จพระอวตาร | ไปสถานที่อยู่ด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์องค์นารายณ์เรืองศรี |
ครอบครองไพร่ฟ้าประชาชี | ในทวารวดีภิรมยา |
ประกอบด้วยสมบัติพัสถาน | แสนสนมบริวารพร้อมหน้า |
เป็นสุขดั่งเมืองเทวา | ผ่านฟ้ารำลึกตรึกไป |
ด้วยองค์พระลักษมณ์ฤทธิรอน | ท้าวพญาวานรน้อยใหญ่ |
สุครีพหนุมานชาญชัย | พิเภกผู้ใจภักดี |
กับหมู่กระบี่โยธา | ซึ่งได้เคี่ยวฆ่ายักษี |
ความชอบนั้นพ้นพันทวี | จะมีบำเหน็จให้ควรการ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ พอถึงเวลาปัจจุสมัย | อโณทัยเรืองแรงแสงฉาน |
สระสรงทรงเครื่องชัชวาล | ผ่านฟ้าออกท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | ภายใต้เศวตฉัตรฉายฉัน |
สำราญราชฤทัยพระทรงธรรม์ | พักตร์ผ่องเพียงจันทร์ในเมฆา |
พร้อมหมู่เสนาพฤฒามาตย์ | ก้มเกล้าเดียรดาษทั้งซ้ายขวา |
จึ่งมีพระราชบัญชา | ดูราสุมันตันเสนี |
จงปรึกษาความชอบเหล่าทหาร | ซึ่งได้ผลาญอสูรยักษี |
เป็นลำดับเอกโทตรี | ใครจะมีบำเหน็จประการใด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุมันตันเสนาผู้ใหญ่ |
รับสั่งพระตรีภูวไนย | บังคมไหว้แล้วรีบออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงศาลาลูกขุน | ราชตระกูลเสนีพร้อมหน้า |
ให้เชิญบทในหอหลวงมา | หาสัตพลีปรีชาไว |
เอาจดหมายผู้มีความชอบ | ซึ่งตอบต่อหักหาญศึกใหญ่ |
จึ่งท้าวพญาเสนาใน | มหาดไทยกลาโหมมนตรี |
ปรึกษาว่าองค์พระลักษมณ์ | จงรักตามเสด็จบทศรี |
รณรงค์สังหารอสุรี | ภักดีไม่คิดชีวา |
จนต้องหอกกุมภกรรณนาคบาศ | พรหมาสตร์อินทรชิตยักษา |
หอกมูลพลัมอสุรา | ห้าครั้งทั้งหอกทศกัณฐ์ |
ควรที่ผ่านเมืองพญาขร | โรมคัลนครเขตขัณฑ์ |
ให้ทั้งเครื่องต้นกกุธภัณฑ์ | แสนสนมกำนัลศฤงคาร |
ฝ่ายพระพรตพระสัตรุดอนุชา | ซึ่งอยู่รักษาราชฐาน |
ป้องกันอริราชภัยพาล | ไม่มีเหตุการณ์ในบุรี |
ให้สององค์นั้นเป็นอุปราช | ฉลองบาทพระนารายณ์เรืองศรี |
แบ่งสมบัติพัสถานในธานี | ให้พระพี่น้องเสมอกัน |
วายุบุตรได้ลงไปบาดาล | ตามพระอวตารรังสรรค์ |
ผลาญไมยราพม้วยชีวัน | เชิญเสด็จทรงธรรม์กลับมา |
แล้วอาสาพระองค์ไปล่อลวง | เอาดวงใจทศพักตร์ยักษา |
มาถวายใต้เบื้องบาทา | จึ่งผลาญเจ้าลงกาบรรลัย |
ความชอบนอกนั้นก็หลายหน | พ้นที่จะนับประมาณได้ |
ทำการรวดเร็วดั่งพระทัย | ควรให้ผ่านกึ่งอยุธยา |
ชื่อว่าพญาอนุชิต | จักรกฤษณ์พิพัฒน์พงศา |
ให้มงกุฎอาภรณ์อลงการ์ | ปราสาทรัตนารูจี |
พร้อมทั้งสมบัติพัสถาน | ศฤงคารบริวารสาวศรี |
ห้าพันอนงค์นารี | ล้วนมีศุภลักษณ์เพริศพราย |
อันพญาสุครีพฤทธิรอน | ได้คุมพลวานรมาถวาย |
แล้วอาสาองค์พระนารายณ์ | ไปทำลายฉัตรทศกัณฐ์ |
ทั้งตัดกรทัพนาสูรยักษ์ | แก้พระหริรักษ์รังสรรค์ |
ออกจากวงมือกุมภัณฑ์ | ความชอบนั้นพ้นพันทวี |
ให้ชื่อพญาไวยวงศา | มหาสุรเดชเรืองศรี |
ผ่านพิชัยขีดขินธานี | กับดาราวดีนงคราญ |
ให้มหาสังวาลเครื่องต้น | มงกุฎแก้วกุณฑลมุกดาหาร |
ธำมรงค์ค่าเมืองอลงการ | พาหุรัดชัชวาลทองกร |
อันพิเภกผู้น้องทศพักตร์ | จงรักเบื้องบาทพระทรงศร |
เป็นโหราตาศึกแน่นอน | บอกกลราญรอนกุมภัณฑ์ |
ชื่อว่าท้าวทศคิริวงศ์ | พงศ์พรหมธิราชรังสรรค์ |
ให้มงกุฎสุรกานต์สังวาลวัลย์ | ครอบครองเขตขัณฑ์ลงกา |
อันองคตโอรสพาลี | ขุนกระบี่องอาจแกล้วกล้า |
ผู้เดียวถือสารพระจักรา | เข้าไปลงกากรุงมาร |
โต้ตอบกับท้าวทศพักตร์ | โกรธนักใช้สี่ทหารหาญ |
จับตัวจะฆ่าให้วายปราณ | กลับผลาญทั้งสี่เสนี |
แล้วไปเอาพานพรหเมศ | มารับเกศอินทรชิตยักษี |
ใช้ไหนก็ไม่เสียที | มีชัยแก่พวกไพริน |
ชื่อพญาอินทรนุภาพศักดา | ฝ่ายหน้าพระนครขีดขิน |
ให้มงกุฎกุณฑลมณีนิล | สังวาลแก้วโกมินชวลิต |
อันชมพูพานขุนกระบี่ | ก็ภักดีต่อองค์พระจักรกฤษณ์ |
ได้บอกสรรพยาอันมีฤทธิ์ | แก้ชีวิตพระลักษมณ์อนุชา |
นิลนนท์นั้นเป็นคชสาร | ให้หนุมานขี่ไปอาสา |
ล้างพิธีมณโฑกัลยา | ฆ่าวิรูปักษ์กันบรรลัย |
อันสุรเสนขุนกระบินทร์ | ล้างพวกไพรินไม่นับได้ |
กระบี่โคมุทวุฒิไกร | ฆ่าไวยกาสูรวายชนม์ |
นิลราชผู้ใจภักดี | ก็คุมพลกระบี่จองถนน |
ชามพูวราชเป็นหมีฤทธิรณ | ไปผจญพิธีอินทรชิต |
อันสัตพลีได้กฎหมาย | รายชื่อผู้ทำชอบผิด |
ไชยามพวานอันมีฤทธิ์ | ตั้งจิตซื่อตรงถือธงชัย |
ควรให้ศรีชมพูพาน | ไปรั้งปางตาลกรุงใหญ่ |
ให้ธำมรงค์มงกุฎมาลัย | สังวาลแก้วแววไวด้วยเพชรฑูรย์ |
อันกระบี่สุรเสนฤทธิรอน | ให้ไปรั้งนครสัทธาสูร |
ชามพูวราชนิลราชสองตระกูล | นิลนนท์ก็ประยูรเสนา |
ให้เป็นอุปราชทั้งสาม | ตามมีความชอบได้อาสา |
อันนิลราชผู้ศักดา | เป็นฝ่ายหน้าอัสดงค์ธานี |
นิลนนท์ผู้ใจองอาจ | เป็นอุปราชชมพูบุรีศรี |
อันชามพูวราชฤทธี | เป็นฝ่ายหน้าธานีปางตาล |
ให้สังวาลกุณฑลทับทรวง | ประดับด้วยดวงมุกดาหาร |
พร้อมทั้งศฤงคารบริวาร | ยวดยานม้ารถคชา |
อันไชยามโคมุททั้งสองศรี | เป็นมหาเสนีซ้ายขวา |
ในเมืองขีดขินนครา | สัตพลีปรีชาเป็นอาลักษณ์ |
บรรดาวานรพลไกร | ที่ได้อาสาพระทรงจักร |
สังหารผลาญหมู่อสุรยักษ์ | ให้ยศถาศักดิ์สมควร |
อีกทั้งเกี้ยวเพชรแลสิ่งของ | เครื่องนากเครื่องทองถี่ถ้วน |
เครื่องเงินเครื่องถมแพรม้วน | ผ้าลายกระบวนอย่างงาม |
เสร็จแล้วมหาเสนา | จึ่งปรึกษาหนุมานชาญสนาม |
ท่านผู้ชำนาญการสงคราม | ยังจะเห็นข้อความประการใด ฯ |
ฯ ๗๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
ฟังคำปรึกษาก็ตอบไป | ข้าติดใจด้วยพระลักษมณ์อนุชา |
ซื่อตรงจงรักภักดี | ต่อพระจักรีผู้เชษฐา |
ไม่คิดแก่ชีพชีวา | อุตส่าห์สู้ยากลำบากองค์ |
โดยเสด็จสมเด็จพระสี่กร | สัญจรไปในไพรระหง |
จนได้ทำการรณรงค์ | ล้างวงศ์อสุราสาธารณ์ |
สัประยุทธ์เคี่ยวเข็ญเข่นฆ่า | ปิ้มว่าจะม้วยสังขาร |
แสนเทวษแสนทุกข์ทรมาน | ช้านานถึงสิบสี่ปี |
เป็นไฉนจะให้พระนุชนาถ | ไกลบาทพระนารายณ์เรืองศรี |
ไปครองโรมคัลธานี | เป็นที่แว่นแคว้นแดนยักษ์ |
ถ้าว่าราชการบ้านเมือง | ขุ่นเคืองบาทบงสุ์พระทรงจักร |
จะลงโทษผู้ใดใหญ่หลวงนัก | เราจะผินพักตร์ไปพึ่งใคร |
เหมือนองค์พระอนุชาธิราช | แสนฉลาดรอบรู้อัชฌาสัย |
ควรให้พระลักษมณ์ภูวไนย | อยู่ใกล้เบื้องบาทพระจักรา |
ในกรุงทวาราวดี | เป็นที่อุปราชฝ่ายหน้า |
พระพรตพระสัตรุดผู้ศักดา | ซึ่งได้รักษาพระนคร |
ชอบให้ไปอยู่ไกยเกษ | บำรุงนคเรศเหมือนแต่ก่อน |
ต่างใจต่างตาต่างกร | ภูธรอัยกาสืบไป |
อันคำของข้าที่ทักท้วง | ท่านทั้งปวงจะเห็นเป็นไฉน |
ถ้าต้องที่ไม่มีผู้ติดใจ | จึ่งให้ทูลพระอนุชา |
แม้นว่าพระลักษมณ์สุริย์วงศ์ | ไม่เห็นลงในคำข้าปรึกษา |
ยกเสียอย่าทูลพระจักรา | ทูลแต่คำเสนาทั้งนั้น ฯ |
ฯ ๒๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาธิบดีคนขยัน |
ฟังลูกพระพายเทวัญ | ยกข้อแบ่งปันชอบที |
เรียงความลงในขุนเสมียน | เขียนตามถ้อยคำกระบี่ศรี |
เสร็จแล้วพากันจรลี | ไปยังที่เฝ้าพระลักษมณ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งประณตบทบงสุ์ | น้องพระหริวงศ์ทรงจักร |
ทูลความปรึกษาพร้อมพักตร์ | กับคำท้วงทักหนุมาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ผู้ปรีชาหาญ |
ได้ฟังถี่ถ้วนทุกประการ | จึ่งมีพจมานไปทันที |
อันบำเหน็จความชอบโยธา | ปรึกษาเรียงมาก็ต้องที่ |
แต่ซึ่งจะให้เรานี้ | ไปอยู่บุรีโรมคัล |
ถึงจะมีสมบัติพัสถาน | โอฬารดั่งดาวดึงส์สวรรค์ |
ประกอบด้วยสนมกำนัล | แสนหมื่นหกพันอนงค์ใน |
แม้นไกลเบื้องบาทพระจักรี | เรานี้หาเจตนาไม่ |
อันซึ่งหนุมานทัดทานไว้ | ดั่งได้อมฤตชโลมทา |
สุมันตันจะทูลที่ข้อเรา | เอาคำวายุบุตรปรึกษา |
จะขออยู่สนองรองบาทา | ไปกว่าจะสิ้นชีวัน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาสามนต์คนขยัน |
รับสั่งถวายบังคมคัล | ก็พากันไปพระโรงรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ต่างตนน้อมเศียรอภิวาท | พระตรีภูวนาถเรืองศรี |
ฝ่ายสุมันตันเสนี | ก็กราบทูลตามที่เรียงไป |
แต่สามสมเด็จพระวรนุช | วายุบุตรหาเห็นด้วยไม่ |
ทัดทานด้วยปรีชาไว | ก็ทูลไปเสร็จสิ้นทุกประการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกทุกสถาน |
ฟังสุมันตันปรีชาชาญ | ผ่านฟ้ามีราชบัญชา |
อันว่าน้องเราทั้งสาม | จงทำตามวายุบุตรปรึกษา |
กระบี่สุรการผู้ศักดา | องอาจแกล้วกล้าราวี |
ให้ไปผ่านเมืองพญาขร | โรมคัลนครยักษี |
ศรรามผู้ใจภักดี | ขุนกระบี่แกล้วหาญชาญฤทธิ์ |
ให้เป็นมหาอุปราช | สำหรับช่วยราชการกิจ |
โดยยุติธรรม์ทศพิธ | สุจริตสืบวงศ์กษัตรา |
ฝ่ายว่ากุขันพรานไพร | ได้ทำชอบไว้หนักหนา |
จงรักภักดีแต่เดิมมา | ชื่อพญากุขันธิบดินทร์ |
เป็นเจ้าบุรีรัมนคเรศ | พรานไพรทุกประเทศให้ขึ้นสิ้น |
อันหนุมานขุนกระบินทร์ | ก็ผลาญพวกไพรินมากนัก |
ตัวเราได้ปฏิญาณมา | จะให้ผ่านอยุธยาอาณาจักร |
บัดนี้ก็เสร็จสงครามยักษ์ | จะเป็นปิ่นปักประชากร |
เรากับพระลักษมณ์อนุชา | จะช่วยว่ากล่าวสั่งสอน |
บำรุงรักษาวานร | ให้ถาวรไปกว่าจะวายปราณ |
อันพญาพิเภกอสุรา | จะไปครองลงการาชฐาน |
การณรงค์ยงยุทธ์ไม่ชำนาญ | ฤทธิ์เดชของท่านก็ไม่มี |
ถึงเดือนเราจักใช้ศร | ไปเยี่ยมเยียนนครยักษี |
แม้นมีอริราชไพรี | จงเขียนสารแขวนที่ศรมา |
ตรัสแล้วก็ประทานรางวัล | เป็นอันดับกันตามยศถา |
จงไปครอบครองนครา | ให้เป็นผาสุกสถาวร ฯ |
ฯ ๒๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตพระสัตรุดชาญสมร |
ทั้งพิเภกสุครีพฤทธิรอน | องคตวานรชาญฉกรรจ์ |
ทั้งสิบแปดมงกุฎกระบี่ศรี | วานรโยธีแลกุขัน |
ก้มเกล้ารับราชรางวัล | พร้อมกันยินดีปรีดา |
ต่างตนประณตบทบงสุ์ | ลาองค์พระนารายณ์นาถา |
ยกพวกพหลโยธา | แยกกันยาตราไปธานี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาอนุชิตกระบี่ศรี |
ได้ผ่านกรุงทวารวดี | อยู่ปราสาทมณีอลงการ |
พร้อมด้วยอนงค์อันทรงโฉม | แน่งน้อยประโลมสงสาร |
ขับกล่อมบำเรออยู่งาน | รำเพยพานพัชนีวีกาย |
บ้างฟ้อนร่อนรำระบำบัน | ดีดสีโอดพันประสานสาย |
บ้างเฟี้ยมเฝ้าคมเคียงเรียงราย | ลูกพระพายแสนสุขสถาวร |
แสนบันเทิงเริงรื่นด้วยสมบัติ | แสนกำหนัดรสราคสโมสร |
เอนแอบแนบนิทร์สนิทนอน | เหนือแท่นบรรจถรณ์แล้วหลับไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ครั้นปัจฉิมยามเวลา | จันทราเลี้ยวลับเหลี่ยมไศล |
ดารากรอ่อนแสงอำไพ | ไก่แก้วตื่นตาหากัน |
ชาวประโคมก็ประโคมดนตรี | แตรสังข์อึงมี่เสียงสนั่น |
ดุเหว่าเร้าเร่งพระสุริยัน | แสงสุพรรณเรื่อเรืองอัมพร |
ขุนกระบี่ตื่นจากไสยาสน์ | เหนืออาสน์เนาวรัตน์ประภัสสร |
ก็ย่างเยื้องยุรยาตรนาดกร | บทจรไปสรงวาริน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เข้าที่ชำระสระสนาน | สุคนธ์ธารเกสรขจรกลิ่น |
สนับเพลารายพลอยโกมิน | ช่อเชิงนาคินทร์กระหนกพัน |
ภูษาโขมพัตถ์พื้นม่วง | ลอยดวงเกี่ยวกรองทองคั่น |
ชายแครงเครือรัดรูปสุบรรณ | ชายไหวกุดั่นจำหลักลาย |
ฉลององค์พื้นตาดพระกรน้อย | สอดสร้อยสังวาลสามสาย |
ตาบทิศทับทรวงทับทิมพราย | พาหุรัดนาคกลายทองกร |
ธำมรงค์มรกตเรือนเก็จ | มงกุฎเพชรจำรัสประภัสสร |
ห้อยพวงมาลัยกรรเจียกจร | กรายกรออกท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ขึ้นนั่งยังที่บัลลังก์รัตน์ | ภายใต้เศวตฉัตรฉายฉัน |
ให้เร่าร้อนฤทัยดั่งไฟกัลป์ | ตัวสั่นหน้าซีดลงทันที |
พ่างเพียงเศียรเกล้าจะทำลาย | เสโทซึมกายกระบี่ศรี |
เหลือบแลไปดูหมู่เสนี | ดั่งมีศรแสงมาแทงตา |
มิได้บัญชาประกาศิต | ราชกิจกษัตริย์นาถา |
นิ่งนึกตรึกถวิลจินดา | ก็แจ้งด้วยปรีชาอันว่องไว |
กูเป็นทหารมาร่วมอาสน์ | พระนารายณ์ธิราชหาควรไม่ |
จึ่งบังเกิดเหตุเภทภัย | ด้วยศักดิ์ศรีมิได้เสมอกัน |
มาตรแม้นจะนั่งอยู่ช้า | น่าที่ชีวาจะอาสัญ |
คิดแล้วย่างเยื้องจรจรัล | จากอาสน์สุวรรณอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงน้อมเกล้าบังคมทูล | นเรนทร์สูรสุริย์วงศ์ทรงศร |
ซึ่งพระองค์ให้ข้าวานร | ครอบครองพระนครอยุธยา |
ด้วยความเมตตาการุญ | พระคุณใหญ่หลวงหนักหนา |
ยิ่งกว่าแผ่นพื้นพระสุธา | หวังว่าจะให้เป็นสวัสดี |
อันอยุธยากรุงไกร | ไม่ควรแก่ข้าบทศรี |
บันดาลร่านร้อนทั้งอินทรีย์ | ดั่งเศียรเกล้านี้จะแตกตาย |
อันแสนสมบัติพัสถาน | ไอศูรย์ศฤงคารทั้งหลาย |
กับมหาเศวตฉัตรเพริศพราย | ขอถวายเบื้องบาทพระสี่กร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
ฟังพญาอนุชิตฤทธิรอน | ภูธรมีราชวาที |
ซึ่งท่านผ่านกรุงอยุธยา | ให้เร่าร้อนอุรากระบี่ศรี |
ไม่มีความสุขสวัสดี | ทั้งนี้วานรอย่าเสียใจ |
จะสร้างนคเรศราชฐาน | อันโอฬารแสนสนุกให้ใหม่ |
เราจะแผลงแสงศรจงตามไป | ตกลงที่ใดจึ่งกลับมา |
จะยกไปสร้างสรรค์นคเรศ | ให้แม้นเมืองเทเวศในดึงสา |
ตรัสแล้วจับศรศักดา | เสด็จออกยังหน้าพระลาน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ จึ่งชักพรหมาสตร์ขึ้นพาดสาย | เยื้องกรายสำแดงกำลังหาญ |
แผลงขึ้นพ่างพื้นคัคนานต์ | เสียงสะท้านสะเทือนธาตรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาอนุชิตเรืองศรี |
น้อมเศียรถวายอัญชุลี | ขุนกระบี่เหาะตามไปทันใด ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เห็นศรพรหมาสตร์ตรวยตรง | ตกลงเบื้องบนเขาใหญ่ |
เก้ายอดย่อยยับระยำไป | มิ่งไม้เป็นภัสม์ธุลีการ |
ราบรื่นจนพื้นพระสุธา | ข้างท่านทีไพศาล |
แสนสะอ้านสะอาดโอฬาร | เพียงสถานที่ประพาสพระศุลี |
มีความชื่นชมโสมนัส | ดั่งได้สมบัติโกสีย์ |
ก็ลงจากอากาศทันที | ยังที่พ่างพื้นพระสุธา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ จึ่งเอาหางกวาดไปทั่วทิศ | ด้วยกำลังฤทธิ์แกล้วกล้า |
ให้เป็นกำแพงพารา | เสร็จแล้วกลับมาด้วยว่องไว ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งคลานเข้าไปเฝ้า | น้อมเกล้าบังคมประนมไหว้ |
ทูลว่าข้าตามศรชัย | ไปในพ่างพื้นอัมพร |
พรหมาสตร์ตกเหนือสีขริน | เก้ายอดแตกสิ้นทั้งสิงขร |
ไม้ไล่หักยับด้วยฤทธิรอน | เป็นพื้นดินดอนไปทั้งนั้น |
สุธาธารสะอ้านขาวสะอาด | ข้ากวาดเป็นปราการกั้น |
ภูมิฐานกว้างใหญ่ก็คล้ายกัน | กับเขตขัณฑ์นครอยุธยา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสฤษดิรักษ์นาถา |
ฟังลูกพระพายผู้ศักดา | ผ่านฟ้าอัดอั้นตันใจ |
ตรัสว่าเราใช้แต่ไปดู | ให้รู้ว่าศรตกที่ไหน |
แจ้งแล้วจะยกพลไป | สร้างสรรค์เมืองให้วานร |
ตราบสิ้นพระจันทร์พระอาทิตย์ | เหตุใดควรคิดทำก่อน |
ไหนเลยจะเป็นสถาวร | เราจะบทจรก็เสียที ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระยาอนุชิตเรืองศรี |
ตกใจตะลึงทั้งอินทรีย์ | ดั่งหนึ่งชีวีจะบรรลัย |
เสียแรงกูผู้ปรีชาชาญ | จะพิจารณาการก็หาไม่ |
มาล่วงบรรหารพระภูวไนย | น้อยใจเป็นพ้นคณนา |
ยิ่งคิดยิ่งแค้นแน่นอก | เสโทไหลตกอาบหน้า |
ไม่รู้ที่จะสนองพระบัญชา | ก้มพักตรานิ่งไม่ติงกาย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระปิ่นภพลบโลกทั้งหลาย |
พิศดูกิริยาลูกพระพาย | ดั่งหนึ่งจะวายชีวี |
มีความเมตตาอาลัยนัก | ด้วยสุดรักแสนรักกระบี่ศรี |
จึ่งกล่าวสุนทรวาที | ท่านผู้มีชอบอย่าเสียใจ |
ตัวเราจะใช้เทเวศ | ไปสร้างนคเรศขึ้นให้ |
พร้อมด้วยสวรรยาราชัย | จงไปเป็นปิ่นนครา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงองค์เจ้าตรัยตรึงศา |
เสด็จเหนือทิพอาสน์อลงการ์ | ในมหาวิมานเวไชยันต์ |
พร้อมด้วยฝูงเทพนิกร | ทั้งนางอัปสรสาวสวรรค์ |
ดั่งดวงดาราล้อมจันทร์ | โดยมหันตยศมัฆวาน |
แจ้งว่าสมเด็จพระหริวงศ์ | ผู้พงศ์จักรพรรดิมหาศาล |
จะสร้างนคเรศอันโอฬาร | ให้ศรีหนุมานผู้ฤทธี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ จึ่งมีบัญชาประกาศิต | สั่งวิษณุกรรม์เรืองศรี |
ท่านจงไปเฝ้าพระจักรี | ยังมหาธานีอยุธยา |
แม้นพระองค์ประสงค์สิ่งใด | จงทำตามพระทัยปรารถนา |
ด้วยกำลังฤทธิ์ศักดา | ของท่านผู้ปรีชาชาญ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระวิษณุกรรมใจหาญ |
น้อมเศียรรับเทวโองการ | ก็พาเทพบริวารเหาะไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงอยุธยาธานี | เทเวศผู้มีอัชฌาสัย |
เข้ายังมหาปราสาทชัย | นั่งในท่ามกลางเสนา |
จึ่งแจ้งแก่องค์พระอวตาร | ว่าท้าวมัฆวานนาถา |
ให้ข้ากับหมู่เทวา | มาเฝ้าสมเด็จพระสี่กร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์ทรงศร |
ฟังพระวิษณุกรรม์ฤทธิรอน | ภูธรชื่นชมด้วยสมคิด |
พักตร์ผ่องดั่งดวงจันทรา | จึ่งมีบัญชาประกาศิต |
ตัวท่านจงพาสุราฤทธิ์ | ไปนิมิตนคเรศให้โอฬาร |
พร้อมด้วยไอศูรย์สมบัติ | ปราสาทรายรัตน์มุกดาหาร |
ให้แก่คำแหงหนุมาน | ในสถานที่นพคีรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระวิษณุกรรม์เรืองศรี |
รับสั่งสมเด็จพระจักรี | ก็พาขุนกระบี่ผู้ศักดา |
ออกจากมหาปราสาท | พร้อมหมู่เทวราชซ้ายขวา |
เหาะทะยานผ่านขึ้นยังเมฆา | ตรงมาด้วยฤทธิ์ว่องไว ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาอนุชิตทหารใหญ่ |
ครั้นถึงจึ่งพาสุราลัย | ลงในพ่างพื้นปถพี |
แล้วว่าแก่หมู่เทวัญ | กับวิษณุกรรม์เรืองศรี |
จงนิมิตซึ่งราชธานี | ในที่อันนี้ให้โอฬาร์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระวิษณุกรรม์ฤทธิ์กล้า |
กับหมู่เทเวศอันศักดา | ก็นิมิตพาราด้วยฤทธิรอน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ อันสามมหาปราสาท | สี่มุขหุ้มมาศประภัสสร |
ใบระกาบันแก้วอลงกรณ์ | ช่อฟ้าอรชรช้อยชด |
มุขเด็ดประดับมุกดาหาร | บุษบกกาบก้านอลงกต |
บัญชรเป็นชั้นหลั่นลด | บานเขียนเครือขดสุพรรณพราย |
ห้องสนมกำนัลคั่นเคียง | แท่นรัตน์อาสน์เรียงฉานฉาย |
ห้องพระโรงปรัศว์เรียบราย | ศีลาลายปรับลาดโอฬาร |
ทิมดาบคดวางคู่ดูงาม | ท้องสนามแลสนุกหน้าฉาน |
นางเรียงประกอบรอบปราการ | ที่นั่งเย็นอุทยานครบครัน |
มีสระโกสุมเกสร | ดอกชูอรชรหลายหลั่น |
สนุกดั่งนิวาสเทวัญ | ในฉ้อห้องชั้นดุษฎี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ครั้นเสร็จนิมิตนคเรศ | เวษณุกรรม์ผู้ชาญชัยศรี |
ก็พาหมู่เทเวศอันฤทธี | เหาะกลับไปที่วิมานฟ้า ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาอนุชิตฤทธิ์กล้า |
พินิจพิศเพ่งดูพารา | งามดั่งเมืองฟ้าสุราลัย |
มีความชื่นชมโสมนัส | ดั่งจักรพรรดิเอาแก้วมายื่นให้ |
เหาะขึ้นอากาศด้วยว่องไว | กลับไปอยุธยาพระนคร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรอภิวาท | พระตรีภูวนาถทรงศร |
ทูลว่าพระองค์ทรงฤทธิรอน | ให้หมู่นิกรเทวา |
ไปสร้างสรรค์มหานคเรศ | ขอบเขตกว้างใหญ่หนักหนา |
แสนสนุกจำเริญวิญญาณ์ | เสร็จโดยบัญชาพระทรงธรรม์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์รังสรรค์ |
ฟังลูกพระพายเทวัญ | จึ่งมีบรรหารอันสุนทร |
ท่านจงไปผ่านพารา | ให้สุขาภิรมย์สโมสร |
เราจะประสาทนามพระนคร | ให้ถาวรชื่อนพบุรี |
ตรัสแล้วจึ่งสั่งสุมันตัน | อันเป็นขุนพลเรืองศรี |
ให้แบ่งสมบัติบรรดามี | ที่ในธานีอยุธยา |
พร้อมทั้งม้ารถคชพล | เสนาสามนต์ซ้ายขวา |
กึ่งหนึ่งครบสิ่งโภคา | ให้แก่พญาอนุชิต ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุมันตันผู้ว่าราชกิจ |
น้อมเศียรศีโรโมลิศ | รับสั่งทรงฤทธิ์แล้วออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จึ่งสั่งบรรดาข้าเฝ้า | เหล่าทหารพลเรือนน้อยใหญ่ |
สิ้นทั้งข้างหน้าข้างใน | ให้เตรียมไว้ท่าหนุมาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพวกพลเรือนทหาร |
บรรดาเป็นเจ้าพนักงาน | จัดการอลหม่านทุกกรม |
ชาวแสงแวงวังคลังใน | ตำรวจใหญ่เกณฑ์หัดชาวสนม |
ทั้งหมู่ราชยานอภิรมย์ | ชาวที่ประทมกรมนา |
ข้างในก็จัดพระกำนัล | ขันทีนักเทศถ้วนหน้า |
นางโขลนเถ้าแก่จ่าชา | ทั้งอี่จำปาคนดี |
บ้างเดินครัวตามกันเป็นฝูงฝูง | อุ้มจูงลูกหลานอึงมี่ |
วัวควายเกวียนต่างตามมี | อูฐลาต้อนขี่ตามกัน |
พวกช้างก็จัดคชสาร | ผูกทั้งกูบอานเครื่องมั่น |
พวกม้าก็ผูกม้านับพัน | พวกรถจัดกันตามกอง |
อันหมู่พหลโยธา | ตั้งตามรถยาเป็นแถวท่อง |
แต่งตัวโพกผ้าขลิบทอง | พร้อมกันที่ท้องสนามใน ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ลูกพระพายผู้มีอัชฌาสัย |
แสนสุขเกษมศานต์สำราญใจ | ด้วยได้ประทานสวรรยา |
จึ่งน้อมเศียรบังคมลาบาท | พระตรีภูวนาถนาถา |
ทั้งองค์พระลักษมณ์อนุชา | ออกมาสระสนานวาริน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ สุหร่ายรัตน์โปรยปรายเป็นสายฝน | สุคนธารเกสรขจรกลิ่น |
สนับเพลาเชิงรูปสุบรรณบิน | ภูษาลายกินรีรำ |
ชายไหวชายแครงเครือขด | ทับทรวงมรกตเขียวขำ |
สังวาลวัลย์รายบุษราคัม | ประจำยามตาบทิศกุดั่นดวง |
พาหุรัดทองกรมังกรกราย | ธำมรงค์เพชรพรายรุ้งร่วง |
มงกุฎแก้วห้ายอดดอกไม้พวง | ห้อยห่วงมาลัยอลงกรณ์ |
จับพระแสงขรรค์ฤทธิรงค์ | อาจองดั่งพญาไกรสร |
ลงจากปราสาทแก้วบวร | บทจรไปเกยรัตนา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงขึ้นยังบัลลังก์รถ | ให้เลิกทศโยธีซ้ายขวา |
ออกจากนครอยุธยา | ไปตามมรคาพนาวัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ รถเอยรถทรง | กำกงจำหลักลายฉายฉัน |
แอกงอนแก้วกาบประกอบกัน | บัลลังก์ล้วนแล้วด้วยเงินงาม |
ครุฑสิงห์พริ้งพรายรายรัตน์ | เทพนมประนมหัตถ์อยู่ชั้นสาม |
บุษบกบันแววแก้ววาม | ห้ายอดแสงพลามอัมพร |
เทียมสี่สินธพอาชาชาติ | เผ่นผงกผกผงาดดั่งไกรสร |
สารถีถือหอกกรายกร | ขับจรเจียนลมรำพายพัด |
เครื่องสูงบังแสงสุริย์ฉาน | จามรมาศธงชายปลายสะบัด |
รถประเทียบเรียบรายชายพนัส | โยธาอึงอัดกันรีบไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ครอบครัวชายหญิงน้อยใหญ่ |
บ้างหาบหามตามทางพนาลัย | ลางคนให้เมียขี่มา |
บ้างเลื่อยล้านั่งนวดขาเข่า | บ้างได้ไม้เท้าจ้องหน้า |
บ้างทะเลาะถุ้งเถียงกันโกลา | บ้างเริงร่าสัพยอกหยอกกัน |
ลางคนลูกเมียพลัดไป | ร้องไห้เที่ยวหาตัวสั่น |
บ้างยืนหายใจยิงฟัน | แม่ยายมาทันก็ยินดี |
ลางหมู่หยุดนั่งหุงข้าว | กอดเข่าผิงไฟสูบบุหรี่ |
นายหมวดตรวจตราด่าตี | หลบหลีกแล่นหนีแน่นมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาอนุชิตฤทธิ์กล้า |
รอนแรมมาในอรัญวา | กับหมู่โยธารี้พล |
ข้ามธารผ่านทุ่งวุ้งเขา | โดยลำเนาแนวพฤกษ์ไพรสณฑ์ |
เกษมสุขมาทุกตำบล | จนถึงขอบเขตปราการ |
จึ่งให้ขับพิชัยรัถา | เข้าในทวาราราชฐาน |
ประทับกับเกยแก้วชัชวาล | แทบชานชาลาอำไพ |
จึ่งขึ้นยังมหาปราสาท | อันโอภาสเพียงวิมานแขไข |
ฝูงนางสนมกรมใน | ห้อมล้อมตามไปดั่งดารา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ประชาชนหญิงชายถ้วนหน้า |
ทั้งเศรษฐีชีพราหมณ์พฤฒา | ลูกค้าวาณิชกระฎุมพี |
ก็ตั้งบ้านร้านเรือนอลวน | เนื่องแน่นทุกตำบลไม่ว่างที่ |
มั่งคั่งไปทั้งธานี | ล้วนมีศักดิ์ศรีศฤงคาร |
อันโยธาข้าเฝ้าทั้งนั้น | แยกกันตั้งตามที่ฐาน |
บ้างอยู่ตึกอยู่เรือนฝากระดาน | โรงกว้านร้านเรือนระเบียบงาม ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พญาอนุชิตชาญสนาม |
สถิตปราสาทแก้วแวววาม | ทั้งสามเป็นสุขสวัสดี |
ตั้งอยู่ในธรรม์ทศพิธ | โดยกิจกษัตริย์เรืองศรี |
เจ็ดวันไปเฝ้าพระจักรี | ยังที่อยุธยาพระนคร |
ราตรีเข้าที่ไสยาสน์ | เหนืออาสน์เนาวรัตน์ประภัสสร |
สำราญจิตเอนองค์วานร | บนบรรจถรณ์ลาดภิรมยา |
งามแสงประทีปทองส่องสว่าง | งามสุรางค์นางสนมซ้ายขวา |
งามพวงพู่กลิ่นมาลา | สุคนธากลิ่นฟุ้งจรุงใจ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนางกำนัลน้อยใหญ่ |
เฟี้ยมเฝ้าเกลื่อนกลาดดาษไป | บ้างเข้าใช้อยู่งานพัดวี |
ลางนางบ้างเข้านวดฟั้น | ประคองคั้นบาทากระบี่ศรี |
ผลัดเปลี่ยนเวียนกันทุกนารี | ตามที่ตำแหน่งพนักงาน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
พระทอง
๏ ฝ่ายนางบำเรอก็ขับครวญ | โหยหวนจำเรียงเสียงหวาน |
กระจับปี่พิณเพลงบรรเลงลาน | ท้าทับขับขานประสานกัน |
ซอขลุ่ยฉิ่งกรับรับเรื่อย | ปี่เฉื่อยดั่งหนึ่งลำนำสวรรค์ |
แหบโหยคร่ำครวญโอดพัน | เสียงสนั่นเสนาะวิญญาณ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ฝ่ายนางระบำก็รำร่อน | ทอดกรกรีดกรายซ้ายขวา |
เวียนวงเป็นหงส์ลีลา | ชำเลืองนัยนาเป็นที |
รำเรียงเคียงล่อคลอเคล้า | ให้ยั่วเย้ายวนใจกระบี่ศรี |
แล้วร่ายรำทำท่าม้าตีคลี | เยื้องกรายจรลีประกวดกร |
ใส่จริตบิดพลิ้ววงเวียน | ย้ายท่าแปลงเปลี่ยนเป็นหงส์ร่อน |
บำเรอพญาวานร | ในที่บรรจถรณ์พรายพรรณ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาอนุชิตรังสรรค์ |
พิศดูหมู่นางระบำบัน | ผูกพันปฏิพัทธ์กำหนัดใน |
ทั้งฟังเสียงสำเนียงขับกล่อม | เพราะพร้อมเป็นที่พิสมัย |
มีความเพลิดเพลินจำเริญใจ | ก็หลับไปในราษราตรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ