- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิยักษี |
เห็นนางมณโฑก็ยินดี | จึ่งมีพระราชบัญชา |
ดูก่อนมเหสีสหายรัก | ผู้ทรงลักษณ์เยาวยอดเสน่หา |
อันซึ่งพระนครลงกา | กับพิชัยพารามลิวัน |
สองกรุงบำรุงสัจไม่เคลื่อนคลาด | ดั่งแผ่นนพมาศฉายฉัน |
ร่วมสุขร่วมทุกข์ด้วยกัน | ร่วมชีพชีวันมาช้านาน |
ปัจจามิตรมาติดพระนคร | รบรุกราญรอนหักหาญ |
พระสหายไม่ใช้เสนามาร | ให้ไปแจ้งการด้วยอันใด |
จนสิ้นสุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์ | พากันตายยับไม่นับได้ |
หากองค์โอรสยศไกร | ลอบไปแจ้งเหตุจึ่งยกมา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางมณโฑผู้ยอดเสน่หา |
ได้ฟังพระราชบัญชา | โศกาสนองพระวาที |
เมื่อศึกมาติดพระนคร | แสนเทวษทุกข์ร้อนดั่งเพลิงจี่ |
ตั้งแต่รบร้าฆ่าตี | มิได้ว่างเว้นสักคืนวัน |
มิตรสหายญาติวงศ์ซึ่งทรงเดช | ทั่วทุกนคเรศเขตขัณฑ์ |
ไกลใกล้ก็ให้ไปหากัน | มาช่วยโรมรันปัจจามิตร |
โยธาแต่ละทัพนับสนุทร | ก็พ่ายแพ้มนุษย์ด้วยศรสิทธิ์ |
กรรมกั้นมิให้ทันคิด | ถึงพระองค์ทรงฤทธิ์ผู้ศักดา |
อันซึ่งไพนาสุริย์วงศ์ | เอกองค์โอรสเสน่หา |
ขอฝากไว้ใต้บาทา | ผ่านฟ้าจงได้ปรานี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิยักษี |
ฟังนางมณโฑเทวี | มีความแสนโสมนัสนัก |
ดั่งได้สมบัติพัสถาน | ศฤงคารบริวารทั้งไตรจักร |
พิศดูโอรสสหายรัก | พญายักษ์มีราชบัญชา |
บัดนี้ก็เสร็จการณรงค์ | อันไพนาสุริย์วงศ์เสน่หา |
จะให้ผ่านพิภพลงกา | สืบวงศ์พรหมาธิบดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ตรัสแล้วจึ่งมีประกาศิต | สั่งปโรหิตทั้งสี่ |
จงหาศุภฤกษ์นาที | ให้ต้องที่ชันษาพระกุมาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ขุนโหรผู้ปรีชาหาญ |
ก้มเกล้ารับราชโองการ | แล้วจับกระดานชนวนมา |
จึ่งตั้งสมผุสพระจันทร์ | คูณหารเดือนวันชันษา |
สอบใส่ในดวงพระชะตา | เสาร์มาเป็นสิบเอ็ดแก่ลัคน์ |
พระหัสเป็นศรีตกทวาร | จะได้ผ่านสวรรยาอาณาจักร |
เดือนหน้าราหูมาพัก | พับลัคน์ในราศิมิน |
อังคารถึงจันทร์จะต้องฆาฏ | พระเคราะห์ใหญ่วิปลาสร้ายสิ้น |
แม้นมาตรถึงองค์อมรินทร์ | เป็นปิ่นฝูงเทพเทวา |
ก็จะจุติไปจากสถาน | ไม่ตั้งอยู่นานในยศถา |
อันพญาพิเภกอสุรา | จะคืนผ่านลงกาสืบไป |
คิดแล้วกราบทูลทันที | รุ่งขึ้นพรุ่งนี้ฤกษ์ใหญ่ |
ต้องตามพระกุมารชาญชัย | ได้ทั้งชันษาชะตาเมือง |
ครอบครองโภไคยไอศูรย์ | จะเพิ่มพูนเกียรติยศลือเลื่อง |
สมบัติพัสถานจะรุ่งเรือง | ไพร่เมืองจะสุขสถาวร ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิชาญสมร |
ได้ฟังโหราพยากรณ์ | ภูธรชื่นชมยินดี |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | สั่งเสนามารทั้งสี่ |
จงแต่งราชการพิธี | ให้ต้องตามที่บูราณมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีผู้มียศถา |
ก้มเกล้ารับราชบัญชา | ถวายบังคมลาแล้วออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ชมตลาด
๏ จึ่งจัดปราสาทราชฐาน | กั้นฉากผูกม่านสองไข |
เพดานห้อยพวงมาลัย | พู่กลิ่นอำไพอรชร |
พื้นล่างลาดพรมสุจหนี่ | ทอดที่หนังราชไกรสร |
พระเต้าวารีสีทันดร | อลงกรณ์สังข์กลศรจนา |
แว่นทองแว่นแก้วแพร้วพรรณ | บายศรีเจ็ดชั้นซ้ายขวา |
ทั้งเครื่องกกุธภัณฑ์อลังการ์ | ปักมหาเศวตฉัตรโอฬาร |
ตั้งที่มูรธาภิเษกสรง | ตามวงศ์พรหเมศมหาศาล |
แต่งเสร็จทั่วทุกพนักงาน | โดยการพระราชพิธี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิยักษี |
ครั้นแสงทองส่องฟ้าธาตรี | ตื่นจากแท่นที่ไสยา |
จึ่งสั่งไพนาสุริย์วงศ์ | เอกองค์โอรสเสน่หา |
ชำระสระสรงคงคา | ให้ทันเวลาสถาวร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ไพนาสุริย์วงศ์ชาญสมร |
น้อมเศียรรับสั่งพระบิดร | บทจรเข้าที่สรงชล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โทน
๏ พนักงานไขท่อปทุมทอง | เป็นละอองโปรยปรายดั่งสายฝน |
ทรงสุคันธารสเสาวคนธ์ | ปรุงปนเรณูสุมามาลย์ |
สนับเพลาเชิงงอนช่องกระจก | ภูษิตแย่งยกกระหนกก้าน |
ชายแครงเครือหงส์อลงการ | ชายไหวชัชวาลด้วยพลอยราย |
ฉลององค์ริ้วตาดพื้นม่วง | ทับทรวงมรกตฉานฉาย |
ตาบทิศกุดั่นจำหลักลาย | สังวาลเพชรสามสายพาหุรัด |
ทองกรเป็นรูปภุชงค์ | ธำมรงค์เรือนเก็จกาบสะบัด |
ทรงมหามงกุฎดอกไม้ทัด | กุณฑลแก้วจำรัสกรรเจียกจร |
งามองค์งามศักดิ์งามศรี | ท่วงทีดั่งราชไกรสร |
ย่างเยื้องยุรยาตรนาดกร | บทจรมายังพระบิดา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิยักษา |
พิศดูนรลักษณ์พักตรา | ไพนาสุริย์วงศ์อสุรี |
งามศักดิ์งามศรีงามทรง | คล้ายองค์อินทรชิตผู้พี่ |
ควรดำรงทรงภพธานี | จะสืบศรีสุริย์วงศ์พรหมาน |
ตรัสพลางก็พาพระโอรส | บทจรจากแท่นมุกดาหาร |
ทั้งนางมณโฑนงคราญ | แสนสนมบริวารก็ตามมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงพระมหาปราสาท | กษัตริย์ราชสุริย์วงศ์พร้อมหน้า |
ให้ขึ้นนั่งบัลลังก์อลงการ์ | ใต้มหาเศวตฉัตรรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ปโรหิตผู้เฒ่าทั้งสี่ |
โหราพฤฒาพญารี | ชาวพ่อชีพราหมณาจารย์ |
จึ่งเอานํ้าสังข์นํ้ากลศ | รดพระมูรธาภิเษกสนาน |
แก่องค์พระราชกุมาร | แล้วโอมอ่านพระเวทขึ้นพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
สระบุหร่ง
๏ ได้เอยได้ฤกษ์ | โหราให้เบิกบายศรีขวัญ |
จึ่งลั่นฆ้องชัยเป็นสำคัญ | แตรสังข์เสียงสนั่นโกลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ปโรหิตผู้เฒ่าก็จุดเทียน | ติดแว่นส่งเวียนไปเบื้องขวา |
เสนีอำมาตย์มาตยา | พระวงศาส่งรับกันเนื่องไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ร่าย
๏ ครั้นถ้วนคำรบเจ็ดรอบ | โดยระบอบคัมภีร์พิธีไสย |
พระโหรผู้เฒ่าจึ่งดับไฟ | โบกควันตรงไปสามที |
แล้วเอาจุณเจิมเฉลิมพักตร์ | ให้จำเริญยศศักดิ์เรืองศรี |
อำนวยอวยพรสวัสดี | เสียงมี่อื้ออึงเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิยักษา |
จึ่งมอบสมบัติสวรรยา | เสนาไพร่ฟ้าประชากร |
ให้แก่ไพนาสุริย์วงศ์ | สืบพงศ์พรหมานชาญสมร |
ชื่อท้าวทศพินฤทธิรอน | โดยนามบิดรประกอบกัน |
แล้วให้โอวาทด้วยคำหวาน | เจ้าผู้จะผ่านไอศวรรย์ |
จงตั้งอยู่ในทางทศธรรม์ | อย่ามีโมหันธ์ฉันทา |
อันสุริย์วงศ์พงศาคณามิตร | ห่างสนิทปลูกเลี้ยงให้ถ้วนหน้า |
ข้าเฝ้าเหล่าหมู่มาตยา | โยธาทวยหาญชาญชัย |
ผู้ใดที่มีความชอบ | จงประกอบยศศักดิ์รางวัลให้ |
บำรุงไพร่พลสกลไกร | โดยในขนบบูราณกาล |
ว่าแล้วประทานศรทรง | ฤทธิรงค์ปราบได้ทุกสถาน |
ชื่อว่าบรรลัยจักรวาล | จงเอาไว้ผลาญไพรี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศพินสิทธิศักดิ์ยักษี |
คำนับรับศรด้วยยินดี | แล้วกราบทูลด้วยปรีชาไว |
ซึ่งพระองค์เมตตาการุญ | พระคุณนั้นหาที่สุดไม่ |
จะขอเอาพระเดชปกเกศไป | กว่าชีวาลัยจะวายปราณ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิใจหาญ |
เสร็จมอบไอศูรย์ศฤงคาร | พญามารเกษมเปรมปรีดิ์ |
จึ่งเสด็จย่างเยื้องยุรยาตร | จากบัลลังก์อาสน์มณีศรี |
พร้อมหมู่พหลมนตรี | ไปยังที่อยู่กุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
โอ้
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศคิริวงศ์รังสรรค์ |
ต้องจำลำบากมาหลายวัน | กันแสงศัลย์นิ่งนึกตรึกไป |
โอ้อนิจจาตัวกู | มาเลี้ยงลูกศัตรูก็เป็นได้ |
สำคัญว่าบุตรสุดสายใจ | รักใคร่ดั่งดวงนัยนา |
เสียแรงรู้ประเสริฐเลิศชาย | มาหลงตายด้วยความเสน่หา |
แจ้งไปถึงไหนจะนินทา | ทั้งไตรโลกาไม่ว่าดี |
ทำไฉนจะทราบบาทบงสุ์ | องค์พระหริรักษ์เรืองศรี |
จะได้เข่นฆ่าราวี | แก้แค้นไพรีให้ถึงใจ |
อกเอ๋ยจะได้ใครนำสาร | ไปแจ้งการข่าวทุกข์ของกูได้ |
รํ่าพลางโศกาอาลัย | ชลนัยน์นองพักตร์อสุรา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายอสุรผัดยักษา |
แต่กันแสงถึงองค์พระอัยกา | ดั่งว่าจะสิ้นชีวัน |
จึ่งคิดว่าไพนาสุริย์วงศ์ | ได้ครองลงกาเขตขัณฑ์ |
กับกูก็เล่นมาด้วยกัน | ตั้งแต่ชันษาจำเริญวัย |
จะขึ้นไปขอโทษพระอัยกา | ให้พ้นพันธนาในตรุใหญ่ |
คิดแล้วลงจากปราสาทชัย | ตรงไปพระโรงรูจี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ แลเห็นไพนาสุริย์วงศ์ | กับองค์จักรวรรดิยักษี |
ออกหมู่มาตยาเสนี | เสียงมี่บังคับราชการ |
อาจองเดินตรงเข้าไป | ด้วยใจสุรภาพแกล้วหาญ |
นั่งลงตรงพักตร์พญามาร | ไม่หมอบกรานไม่บังคมอสุรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวจักรวรรดิยักษา |
เห็นอสุรผัดขึ้นมา | จึ่งมีบัญชาถามไป |
ว่าไอ้เด็กน้อยนี้องอาจ | เชื้อชาตินามวงศ์พงศ์ไหน |
พักตราเป็นวานรไพร | เหตุใดกายเป็นอสุรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศพินสิทธิศักดิ์ยักษี |
ได้ฟังพระราชวาที | อัญชุลีสนองพระบัญชา |
ไอ้นี้ลูกนางเบญกาย | หลานชายพิเภกยักษา |
ชื่ออสุรผัดกุมารา | บิดานั้นเป็นวานร |
มีนามคำแหงหนุมาน | ยอดทหารพระรามทรงศร |
พักตร์นั้นเหมือนฝ่ายบิดร | กายกรเหมือนชนนีมัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิรังสรรค์ |
ได้ฟังขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน | แผดเสียงสนั่นเป็นโกลี |
เหม่เหม่ไอ้ลูกลิงไพร | มึงขึ้นมาไยที่นี่ |
กูจะสังหารเสียบัดนี้ | ก็จะม้วยชีวีไม่พริบตา |
หากเกรงตำหนิติฉิน | ว่าลูกเท่าปีกริ้นก็เข่นฆ่า |
ไสหัวลงไปอย่าอยู่ช้า | กูไม่ขอดูหน้าไอ้สาธารณ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อสุรผัดผู้ใจห้าวหาญ |
ได้ฟังจักรวรรดิขุนมาร | ดั่งตรีสุรกานต์มาแทงกรรณ |
พิศดูเป็นครู่ไม่พริบตา | กริ้วโกรธโกรธาตัวสั่น |
ฮึดฮัดกัดเขี้ยวเคี้ยวฟัน | มือคันจะใคร่เข้าราวี |
แล้วให้คิดกลัวเกรงภัย | จะถึงพระอัยกายักษี |
ทั้งพระมารดรอัยกี | อสุรีจะไม่ไว้ชีวา |
ให้อัดอั้นตันทรวงแสนเทวษ | ชลเนตรคลอเนตรซ้ายขวา |
ทั้งอายทั้งแค้นแน่นอุรา | ก็กลับมายังที่ปราสาทชัย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงกราบบาทพระอัยกี | ทั้งพระชนนีแล้วร้องไห้ |
สะอื้นพลางสะท้อนถอนใจ | ก็เล่าไปแต่ต้นจนปลาย |
อัปยศอดสูเป็นสุดคิด | เจ็บจิตครั้งนี้ไม่รู้หาย |
ตัวลูกก็ชาติอาชาชาย | แม้นตายไม่เสียดายแก่ชีวา |
ขอลาเบื้องบาทพระอัยกี | ทั้งพระชนนีนาถา |
ไปเที่ยวเสาะหาพระบิดา | มาฆ่ามันให้วายปราณ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองนางผู้ยอดสงสาร |
ฟังอสุรผัดกุมาร | โศกาแจ้งการรำพัน |
ต่างองค์มีความอาลัยนัก | กอดจูบลูบพักตร์แล้วรับขวัญ |
เจ้าผู้ร่วมชีพชีวัน | อย่าหุนหันคิดอ่านให้จงดี |
ใช่ว่าองค์ท้าวจักรวรรดิ | จะครอบครองสมบัติอยู่ที่นี่ |
ไม่ช้าก็จะเลิกโยธี | คืนไปธานีขุนมาร |
เจ้าจงไปหาบิตุเรศ | ให้นำเอาเหตุข่าวสาร |
ทูลองค์สมเด็จพระอวตาร | แจ้งการทุกข์ร้อนอัยกา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อสุรผัดผู้ใจแกล้วกล้า |
ฟังพระอัยกีมารดา | อสุราเงือดงดสะกดใจ |
แต่อาฆาตมาดหมายอยู่เป็นนิจ | จะเว้นว่างห่างคิดก็หาไม่ |
รักษาตัวมิให้มีภัย | อยู่ในปราสาทรูจี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิยักษี |
อยู่ในลงกาธานี | สิบห้าราตรีล่วงมา |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | สั่งเสนามารยักษา |
พรุ่งนี้จะกลับไปพารา | จงเตรียมโยธาพลากร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายสุพินสันชาญสมร |
รับสั่งพระองค์ทรงฤทธิรอน | ชุลีกรแล้วรีบออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บอกกันทั่วทุกหมู่หมวด | ตรวจเตรียมจตุรงค์พยุห์ใหญ่ |
ตั้งเป็นถ้องแถวลงไว้ | โดยกระบวนทัพชัยที่ยกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิยักษา |
ไสยาสน์เหนืออาสน์อันโอฬาร์ | ในมหาปราสาทพรายพรรณ |
จนล่วงปัจฉิมราตรี | ไก่แก้วตีปีกกระพือขัน |
ดุเหว่าเร้าเร่งพระสุริยัน | จันทราลับเหลี่ยมคิรินทร |
หมู่แมลงผึ้งภู่วู่ร้อง | แสงทองจำรัสประภัสสร |
เสียงประโคมดนตรีแตรงอน | ก็ตื่นจากบรรจถรณ์อลงการ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ จึ่งชำระสระสรงทรงเครื่อง | อร่ามเรืองด้วยดวงมุกดาหาร |
ชวนองค์ทศพินกุมาร | ออกพระโรงสุรกานต์พรายพรรณ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | ภายใต้เศวตฉัตรฉายฉัน |
พร้อมหมู่เสนากุมภัณฑ์ | บังคมคัลเกลื่อนกลาดดาษดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางมณโฑเสน่หา |
แจ้งว่าจักรวรรดิอสุรา | จะเลิกโยธากลับไป |
จึ่งชวนนางท้าวเถ้าแก่ | ชะแม่กำนัลน้อยใหญ่ |
ออกจากปราสาทอำไพ | เสด็จไปเฝ้าองค์อสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงประณตบทบงสุ์ | องค์ท้าวจักรวรรดิยักษี |
นั่งใกล้โอรสร่วมชีวี | คอยฟังวาทีอสุรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิยักษา |
เห็นนางมณโฑขึ้นมา | จึ่งมีบัญชาอันสุนทร |
เจ้าจงค่อยอยู่สำราญ | เราจะลาเยาวมาลย์ไปก่อน |
ทศพินซึ่งผ่านพระนคร | จะเลี้ยงนิกรประชาชี |
ยังอ่อนการในกิจกษัตรา | ชันษาก็พึ่งจำเริญศรี |
ตัวเจ้าก็เป็นชนนี | ทั้งมีปรีชาว่องไว |
จงช่วยบำรุงอย่าให้ผิด | จากธรรม์ทศพิธไปได้ |
จึ่งจะภิญโญยศเลิศไกร | สืบในสุริย์วงศ์พรหมาน |
แม้นมีอริราชไพรี | จงใช้เสนีไปแจ้งสาร |
จึ่งจะยกมาช่วยรอนราญ | ผลาญให้สิ้นชีพชีวัน |
สั่งเสร็จเสด็จยุรยาตร | จากอาสน์พรรณรายฉายฉัน |
กรายกรย่างเยื้องจรจรัล | มาทรงรถสุวรรณอำไพ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ ให้เคลื่อนจตุรงค์โยธี | แสนสุรเสนีน้อยใหญ่ |
ออกจากลงกากรุงไกร | ไปยังมลิวันพารา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อสุรผัดผู้ใจแกล้วกล้า |
ครั้นจักรวรรดิเลิกโยธา | ออกจากลงกาบุรี |
จึ่งน้อมเศียรเกล้าอภิวาทน์ | กราบลงแทบบาทบทศรี |
แห่งองค์สมเด็จพระชนนี | แล้วมีวาจาถามไป |
อันพระบิตุเรศของข้า | สุริย์วงศ์กษัตรากรุงไหน |
รูปทรงสรงสถานประการใด | ทรงนามชื่อไรพระมารดร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางเบญกายดวงสมร |
ส้วมสอดกอดลูกด้วยอาวรณ์ | บังอรพลางแจ้งกิจจา |
อันพ่อเจ้าผู้ปรีชาชาญ | เป็นหลานพญาไวยวงศา |
ผ่านกรุงขีดขินนครา | พงศ์พระสุริยาเลิศไกร |
โอรสพระพายฤทธิรอน | นามกรหนุมานทหารใหญ่ |
ผิวผ่องขนเพชรอำไพ | เขี้ยวแก้วมาลัยกุณฑล |
หาวเป็นเดือนดาวออกจากโอษฐ์ | ช่วงโชติจำรัสโพยมหน |
ลาพระจักรกฤษณ์ฤทธิรณ | ไปสร้างพรตบวชตนเป็นโยคี |
อยู่ยังเขาแก้วมณฑป | เจ้าไปก็จะพบฤๅษี |
บอกแล้วอวยพรสวัสดี | อย่ามีอันตรายภัยพาล ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อสุรผัดผู้ใจกล้าหาญ |
ได้ฟังจะแจ้งทุกประการ | สำคัญสัณฐานพระบิดร |
จึ่งน้อมเกล้าลาบาทพระอัยกี | ทั้งพระชนนีดวงสมร |
ออกจากปราสาทอลงกรณ์ | สำแดงฤทธิรอนเหาะไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ลอยลิ่วปลิวมาดั่งลมพาน | ถึงสถานมณฑปเขาใหญ่ |
ลงจากอากาศด้วยว่องไว | ก็เข้าไปยังที่กุฎี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ กราบลงแทบเบื้องบาทบงสุ์ | ถามองค์พระมหาฤๅษี |
ว่าหนุมานผู้ชาญฤทธี | บวชอยู่ที่ใดพระสิทธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระทิศไพอาจารย์ฌานกล้า |
ได้ฟังอสูรกุมารา | จึ่งมีวาจาตอบไป |
อันซึ่งคำแหงหนุมาน | บำเพ็ญฌานอยู่ยอดเขาใหญ่ |
ทรงศีลภาวนาบูชาไฟ | โดยเพศวิสัยโยคี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หลานพระพายเทวัญเรืองศรี |
ได้แจ้งแห่งคำพระบุนี | ชุลีแล้วเหาะไปด้วยฤทธิ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ มาถึงเห็นองค์พระนักธรรม์ | สร้างพรตพรหมจรรย์สำรวมจิต |
กองกูณฑ์ช่วงโชติชวลิต | สถิตหน้าบรรณศาลา |
ไม่รู้ว่าเป็นบิตุเรศ | ด้วยผิดสังเกตของยักษา |
กราบลงแล้วถามกิจจา | ว่าดาบสหนุมานอยู่แห่งใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฤๅษีวายุบุตรทหารใหญ่ |
สมาธิภาวนาบูชาไฟ | ได้ยินสำเนียงพาที |
ลืมเนตรขึ้นเห็นกุมารา | พักตรานั้นเป็นกระบี่ศรี |
กายกรเป็นรูปอสุรี | มีความฉงนสนเท่ห์นัก |
แต่พินิจพิศดูอาการ | ท่วงทีกล้าหาญแหลมหลัก |
ลูกใครน้อยน้อยน่ารัก | คิดแล้วจึ่งซักถามไป |
ดูก่อนอสูรกุมารา | วงศาบ้านเมืองอยู่ไหน |
มีนามกรชื่อไร | มาถามไยถึงศรีหนุมาน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อสุรผัดผู้ใจห้าวหาญ |
ได้ฟังพระมหาอาจารย์ | มัสการแล้วบอกไปทันที |
ข้านี้มีนามอสุรผัด | นัดดาพิเภกยักษี |
นางเบญกายเป็นชนนี | อยู่ในบุรีลงกา |
หนุมานนั้นเป็นบิดร | ทหารพระสี่กรนาถา |
มีความทุกข์ร้อนจึ่งเสาะมา | หวังว่าจะแจ้งเหตุการณ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วายุบุตรฤๅษีปรีชาหาญ |
ได้ฟังโอรสพจมาน | ยินดีปานได้สุราลัย |
จึ่งว่าอนิจจาลูกรัก | จะรู้จักบิดาก็หาไม่ |
เราคือหนุมานชาญชัย | ซึ่งได้เกิดเกล้าของเจ้ามา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึ่งอสุรผัดยักษา |
ได้ฟังกริ้วโกรธโกรธา | ชักตระบองเงื้อง่ายืนยัน |
ขบเขี้ยวเคี้ยวฟันกระทืบบาท | สิงขรไหวหวาดเลื่อนลั่น |
สองตาดั่งหนึ่งเพลิงกัลป์ | กุมภัณฑ์จึ่งร้องประกาศไป |
เหวยเหวยฤๅษีชีป่า | อหังการ์กล่าวคำหยาบใหญ่ |
มุสาว่าเล่นไม่เกรงใจ | กูจะฆ่าให้ม้วยชีวี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หนุมานซึ่งเป็นฤๅษี |
เห็นลูกไม่เชื่อวาที | กระบี่ถวิลจินดา |
มิเสียทีเกิดเป็นโอรส | ถือยศองอาจแกล้วกล้า |
เพราะฉงนสนเท่ห์ในวิญญาณ์ | ไม่เห็นว่ากูเป็นวานร |
ยิ้มแล้วจึ่งกล่าวคำหวาน | ดูก่อนกุมารชาญสมร |
อันนางเบญกายบังอร | มารดรเจ้าบอกประการใด |
ตัวพ่อทรงพรตเป็นฤๅษี | จะพาทีมุสานั้นหาไม่ |
เจ้าอย่ากริ้วโกรธวุ่นไป | ว่าเรามิใช่บิดา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อสุรผัดผู้ใจแกล้วกล้า |
ได้ฟังมธุรสวาจา | อสุราถอยหลังยั้งคิด |
อันองค์พระมหามุนี | จะพาทีหมิ่นกูก็เห็นผิด |
รักษาพรหมจรรย์อยู่เป็นนิจ | คิดแล้วก็เล่าความไป |
อันบิดาเราผู้เรืองเดช | จะเป็นเพศมนุษย์นั้นหาไม่ |
คือพญาพานรินทร์เกรียงไกร | ผิวผ่องอำไพทั้งอินทรีย์ |
แล้วมีมาลัยกุณฑล | ขนเพชรเขี้ยวแก้วจำรัสศรี |
แม้นอ้าโอษฐ์สำแดงฤทธี | พระรวีเดือนดาวออกมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | หนุมานดาบสพรตกล้า |
ฟังอสุรผัดแจ้งกิจจา | ตบมือสรวลร่าแล้วร้องไป |
คอยดูเถิดนะลูกรัก | จักเหมือนคำแม่หรือหาไม่ |
ว่าแล้วสำแดงฤทธิไกร | ถีบทะยานขึ้นไปยังอัมพร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เป็นกระบี่สี่พักตร์แปดหัตถ์ | เขี้ยวแก้วจำรัสประภัสสร |
กุณฑลมาลัยอลงกรณ์ | ขนเพชรอรชรรูจี |
ดาวเดือนดวงตะวันช่วงโชติ | ออกมาจากโอษฐ์กระบี่ศรี |
ส่องสว่างพ่างพื้นปัถพี | แล้วลงมายังที่บรรพตา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อสุรผัดชาญชัยใจกล้า |
เห็นพระบิตุรงค์ทรงฤทธา | เป็นมหามหัศอัศจรรย์ |
มีความชื่นชมโสมนัส | ดั่งได้สมบัติในสวรรค์ |
จึ่งก้มเกล้าคำรพอภิวันท์ | กอดบาทรำพันทูลไป |
พระองค์จงได้ปรานี | ลูกนี้โทษผิดเป็นข้อใหญ่ |
ซึ่งว่าได้ทำให้เคืองใจ | ขออภัยอย่ามีเวรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ แล้วเล่าเรื่องความไปตามเหตุ | ชลนัยน์คลอเนตรทั้งซ้ายขวา |
ว่าองค์สมเด็จพระอัยกา | กับไอ้ไพนาสุริย์วงศ์ |
พระทัยสำคัญว่าเป็นบุตร | สุดสวาทรักใคร่ลุ่มหลง |
มันกับพี่เลี้ยงนั้นไม่ตรง | หนีลงไปเมืองมลิวัน |
นำท้าวจักรวรรดิยักษา | ยกมาเป็นกระบวนทัพขัน |
กับพระอัยกาได้รบกัน | มันจับไปจำใส่ตรุไว้ |
ทนเวทนาลำบากนัก | ลูกจักเยี่ยมเยียนก็ไม่ได้ |
จักรวรรดิเข้าอยู่ยังเวียงชัย | ที่ในปราสาทสุรกานต์ |
จึ่งให้ไพนาสุริย์วงศ์ | ขึ้นครองลงการาชฐาน |
ชื่อท้าวทศพินขุนมาร | แล้วเลิกทวยหาญไปธานี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | คำแหงหนุมานฤๅษี |
ได้ฟังคั่งแค้นแสนทวี | ดั่งหนึ่งอัคคีมาจ่อใจ |
เข่นเขี้ยวเคี้ยวกรามคำรามรน | เหม่ไอ้ทรชนมันทำได้ |
ไม่เกรงกูผู้มีฤทธิไกร | จะฆ่าให้บรรลัยไปด้วยกัน |
ว่าพลางส้วมกอดลูกรัก | พิศพักตร์ภิรมย์ชมขวัญ |
แก้วตาพ่อร่วมชีวัน | อย่าได้กันแสงโศกา |
อันท้าวจักรวรรดิกับทศพิน | มันจะพากันสิ้นสังขาร์ |
ด้วยเดชสมเด็จพระจักรา | ผู้ปิ่นโลกาธาตรี |
ว่าแล้วมัสการลาพรต | จากเพศดาบสฤๅษี |
เปลื้องเครื่องสำหรับโยคี | วางไว้ในที่กุฎีไพร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ครั้นเสร็จสำแดงแผลงฤทธิ์ | ทศทิศกัมปนาทหวาดไหว |
พาองค์โอรสยศไกร | เหาะไปขีดขินด้วยฤทธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งประณตบทบงสุ์ | ทูลองค์พญาไวยวงศา |
ว่าบัดนี้อสุรผัดกุมารา | โอรสของข้ามาแจ้งการ |
ว่ากรุงลงกาธานี | มีราชไพรีมาหักหาญ |
อันท้าวทศคิริวงศ์พญามาร | อ้ายสาธารณ์มันจับจำไว้ |
แม้นทราบบาทบงสุ์พระทรงศร | เห็นจะได้ราญรอนเป็นศึกใหญ่ |
ข้าจึ่งลาพรตจากไพร | มาทูลให้ทราบธุลี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาไวยวงศาเรืองศรี |
ได้ฟังกริ้วโกรธดั่งอัคคี | จึ่งมีสีหนาทวาจา |
เหม่ไอ้ไพนาสุริย์วงศ์ | กับพี่เลี้ยงอาจองหนักหนา |
จะพากันบรรลัยไม่พริบตา | สิ้นทั้งลงกามลิวัน |
พรุ่งนี้เจ้าพาลูกชาย | ไปทูลพระนารายณ์รังสรรค์ |
น้ากับท้าวมหาชมพูนั้น | จะยกพวกพลขันธ์ตามไป |
ว่าแล้วอุ้มองค์อสุรผัด | เชยชมโสมนัสรักใคร่ |
จนเวลาสิ้นแสงอโณทัย | ก็หลับไปในราษราตรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพระภุชพงศ์เรืองศรี |
เฉลิมภพอยุธยาธานี | เป็นที่ผาสุกทุกเวลา |
ครั้นสิ้นแสงสีรวีวร | จันทรจำรัสพระเวหา |
ทรงกลดหมดเมฆเมฆา | ดารารายรอบเป็นขอบคัน |
พระพายชายกลิ่นสุมามาลย์ | อันแบ่งบานในสระสวนขวัญ |
จึ่งชวนองค์สีดาวิลาวัณย์ | จรจรัลเข้าที่บรรทมใน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ กล่อม
ช้า
๏ พระฟังสังคีตดีดสี | ดนตรีบำเรอเสียงใส |
ปัจฉิมยามบรรทมหลับไป | ภูวไนยจึ่งทรงพระสุบิน |
ว่าเมฆตั้งบังแสงสุริยน | มืดมนทั้งทิศทักษิณ |
มีเทเวศชูดวงมณีนิล | รัศมีดั่งทินกรพราย |
ครั้นเข้ามาใกล้ก็อภิวันท์ | เอาดวงแก้วนั้นชูถวาย |
แล้วสาวไส้พระองค์ให้เรี่ยราย | ออกจากพระกายยาวไป |
วงกระหวัดรัดรอบจักรวาล | จนถึงบาดาลต่ำใต้ |
ให้สะดุ้งตระหนกตกใจ | ภูวไนยตื่นจากนิทรา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ พระตรึกไปในข้อความฝัน | เห็นเป็นอัศจรรย์หนักหนา |
คิดฉงนสนเท่ห์ในวิญญาณ์ | ไม่รู้ว่าเหตุผลร้ายดี |
ครั้นพระสุริยาเรื่อรอง | แสงทองจำรัสรัศมี |
สระสรงทรงเครื่องรูจี | เสด็จออกยังที่พระโรงคัล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | ภายใต้เศวตฉัตรฉายฉัน |
เสนาข้าเฝ้าพร้อมกัน | อภิวันท์เกลื่อนกลาดดาษไป |
จึ่งตรัสแก้พระสุบินนิมิต | แก่ปโรหิตผู้ใหญ่ |
คืนนี้เราฝันประหลาดใจ | ก็เล่าไปแต่ต้นจนปลายมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ขุนโหรผู้มียศถา |
รับสั่งแล้วพิจารณา | ดูโดยตำราพยากรณ์ |
เห็นแจ้งประจักษ์ทั้งร้ายดี | อัญชุลีทูลองค์พระทรงศร |
ซึ่งฝันว่าเมฆตั้งในอัมพร | เป็นกลุ่มก้อนดั่งหนึ่งเปลวควัน |
มืดมัวข้างทิศทักษิณ | บังสิ้นรังสีสุริย์ฉัน |
จะเกิดการรณรงค์โรมรัน | จะเสียเมืองขอบขัณฑเสมา |
อันเทเวศถวายดวงมณี | จะมีชายหนึ่งแกล้วกล้า |
นำเอาโอรสกุมารา | มาถวายบาทาพระภูวไนย |
ข้อซึ่งสาวไส้พระองค์ | วงรอบขอบจักรวาลใหญ่ |
จะปรากฏพระยศเกรียงไกร | ขจรไปทั่วฟ้าบาดาล |
แล้วจะได้เมืองขึ้นในเบื้องบาท | ถวายสุวรรณมาศมุกดาหาร |
แต่ว่าจะต้องโรมราญ | พวกพาลจะแพ้ฤทธิรอน |
อันขอบเขตซึ่งเสียจะได้คืน | จะราบรื่นแสนสนุกกว่าแต่ก่อน |
มั่นคงดั่งข้าพยากรณ์ | จะรู้ข่าวแน่นอนในสามวัน ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์รังสรรค์ |
ฟังโหรทำนายพร้อมกัน | ทรงธรรม์นิ่งนึกตรึกไป |
บรรดาท้าวพญาวานร | ซึ่งครอบครองนครน้อยใหญ่ |
ล้วนเลื่องชื่อลือฤทธิ์เกรียงไกร | ผู้ใดไม่อาจยํ่ายี |
แต่พญาพิเภกอสุรา | ซึ่งผ่านลงกาบุรีศรี |
ฤทธานุภาพก็ไม่มี | รู้แต่คัมภีร์โหราจารย์ |
ศัตรูหมู่พวกไพริน | มันจึ่งดูหมิ่นฮึกหาญ |
ยิ่งคิดก็ยิ่งรำคาญ | ไม่ว่าราชการสิ่งใด ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพญาอนุชิตทหารใหญ่ |
ครั้นดาวเดือนเลื่อนเลี้ยวลับไป | อโณทัยส่องสว่างอัมพร |
ตื่นจากที่ศรีไสยาสน์ | ชวนโอรสราชชาญสมร |
บังคมสุครีพฤทธิรอน | เขจรเหาะไปอยุธยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งคลานเข้าไปเฝ้า | ต่างตนน้อมเกล้าเกศา |
กราบลงด้วยใจปรีดา | หมอบอยู่เบื้องหน้าพระอวตาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรกฤษณ์ฤทธิ์ลํ้าสุริย์ฉาน |
เห็นลูกพระพายชัยชาญ | พากุมารเขามาก็ยินดี |
จึ่งมีบัญชาประกาศิต | ถามพญาอนุชิตกระบี่ศรี |
ตัวท่านไปบวชเป็นโยคี | มีเหตุสิ่งไรจึ่งกลับมา |
อันกุมารน้อยนี้ประหลาดนัก | ดวงพักตร์เป็นวานรป่า |
ส่วนกายเป็นกายอสุรา | เชื้อวงศ์พงศาของผู้ใด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาอนุชิตทหารใหญ่ |
ได้ฟังบัญชาพระภูวไนย | บังคมไหว้สนองพระโองการ |
ซึ่งข้าลาบาทบงกช | ไปทรงพรตในที่รโหฐาน |
ไม่มีอันตรายภัยพาล | เป็นสุขสำราญทุกราตรี |
อันกุมารายุพาพักตร์ | ลูกรักข้าบาทบทศรี |
นางเบญกายเป็นชนนี | มีนามอสุรผัดกุมารา |
บัดนี้ลงกาพระนคร | เกิดณรงค์ราญรอนเข่นฆ่า |
ด้วยบุตรนางมณโฑกัลยา | ชื่อไพนาสุริย์วงศ์กุมาร |
กับวรณีสูรพี่เลี้ยงมัน | ลอบไปมลิวันราชฐาน |
พาท้าวจักรวรรดิใจพาล | ยกพวกทหารมาชิงชัย |
ท้าวทศคิริวงศ์ออกต่อตี | เสียทีมันจับตัวได้ |
พันธนาใส่ตรุตรากไว้ | จะให้สิ้นชีพชีวัน |
จึ่งตั้งไพนาสุริย์วงศ์ | ขึ้นดำรงลงกาเขตขัณฑ์ |
ชื่อว่าทศพินกุมภัณฑ์ | แล้วเลิกพลขันธ์ไปธานี ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์เรืองศรี |
ได้ฟังกริ้วโกรธดั่งอัคคี | จึ่งมีโองการตรัสไป |
ความนี้จริงเหมือนหนึ่งนิมิต | โหรทายจะผิดก็หาไม่ |
ดูดู๋เด็กน้อยเท่าแมงใย | อาจใจเข้ากองเพลิงกัลป์ |
ทั้งไอ้จักรวรรดิขุนยักษ์ | มันจักสิ้นชีพอาสัญ |
จึ่งมาหักโหมโรมรัญ | จับพิเภกเข้าพันธนาการ |
ตรัสพลางสรรเสริญอสุรผัด | นํ้าใจซื่อสัตย์กล้าหาญ |
มาบอกความตามเหตุในเมืองมาร | จึ่งแจ้งการว่าเกิดไพรี |
วายุบุตรจงเร่งรีบไป | ยังพิชัยขีดขินบุรีศรี |
ทั้งชมพูนคราธานี | ให้เกณฑ์โยธียกมา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารกล้า |
ก้มเกล้าสนองพระบัญชา | อันพญาสุครีพฤทธิรอน |
ตัวข้าได้พากุมาร | ไปแจ้งการทั้งปวงให้ฟังก่อน |
แต่รู้ก็ใช้วานร | ไปเกณฑ์นิกรทุกธานี |
พร้อมแล้วจะรีบยกมา | ตามข้าผู้รองบทศรี |
ยังกรุงทวาราวดี | เฝ้าเบื้องธุลีบทมาลย์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
ฟังลูกพระพายชัยชาญ | ผ่านฟ้ายินดีเป็นพ้นไป |
จึ่งมีพระราชบัญชา | สั่งมหาเสนาผู้ใหญ่ |
ตัวท่านผู้ปรีชาไว | จงไปไกยเกษธานี |
หาองค์พระพรตพระสัตรุด | นุชนาถของเราทั้งสองศรี |
กูจะให้ไปปราบไพรี | ยังราชธานีลงกา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีผู้มียศถา |
รับสั่งถวายบังคมลา | มาขึ้นอาชาแล้วรีบไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงไกยเกษราชฐาน | แสนสนุกโอฬารกว้างใหญ่ |
ลงจากมิ่งม้าอาชาไนย | ไปยังพระโรงรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จึ่งน้อมเกล้าประณตบทบงสุ์ | น้องพระหริวงศ์เรืองศรี |
ทูลความตามราชวาที | องค์พระจักรีใช้มา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์นาถา |
ทั้งพระสัตรุดอนุชา | แจ้งว่าลงกาพระนคร |
เกิดพวกอริราชภัยพาล | องค์พระอวตารทรงศร |
จะให้เป็นจอมพลากร | ไปสังหารราญรอนกุมภัณฑ์ |
มีความชื่นชมโสมนัส | ดั่งได้สมบัติในสวรรค์ |
มิเสียทีฝูงเทพเทวัญ | ประชุมกันเชิญไวกูณฐ์มา |
ช่วยองค์สมเด็จพระหริรักษ์ | ล้างเหล่าปรปักษ์ยักษา |
ถึงตายไม่เสียดายชีวา | จะรองเบื้องบาทาพระสี่กร |
คิดแล้วพากันยุรยาตร | จากอาสน์เนาวรัตน์ประภัสสร |
พร้อมฝูงอนงค์บังอร | บทจรโดยเสด็จจรลี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงประณตบทบงสุ์ | องค์พระอัยกาเรืองศรี |
ทูลว่าลงกาธานี | มีเสี้ยนไพรีมาโรมรัน |
องค์พระเชษฐาบัญชาการ | จะให้หลานเป็นจอมพลขันธ์ |
ขอลาบาทบงสุ์พระทรงธรรม์ | ไปล้างกุมภัณฑ์ในลงกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวไกยเกษนาถา |
ได้ฟังสองราชนัดดา | แสนโสมนัสสาเป็นพ้นนัก |
ครั้งนี้สองเจ้าจะไว้ยศ | ปรากฏเกิยรติไปทั้งไตรจักร |
คิดพลางส้วมกอดหลานรัก | จูบพักตร์อำนวยอวยชัย |
อันหมู่พาลาปัจจามิตร | อย่ารอต่อฤทธิ์เจ้าได้ |
จงมีอานุภาพปราบไป | ทั้งไตรโลกาธาตรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตพระสัตรุดเรืองศรี |
ก้มเกล้ารับพรด้วยยินดี | ถวายอัญชุลีแล้วกลับมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | อันโอภาสจำรัสพระเวหา |
แล้วมีพระราชบัญชา | ตรัสสั่งเสนาผู้ปรีชาญ |
จงเตรียมจตุรงค์พยุหบาตร | แสนเสนามาตย์ทวยหาญ |
กูจะไปเฝ้าองค์พระอวตาร | ผู้ผ่านโลกาธาตรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งมหาเสนาทั้งสี่ |
ก้มเกล้ารับสั่งด้วยยินดี | ถวายอัญชุลีแล้วออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ยานี
๏ เกณฑ์พลล้วนพวกอาจอง | เป็นกระบวนจตุรงค์พยุห์ใหญ่ |
พลเท้าพื้นถือปืนไฟ | ล้วนใส่เสื้อแดงยืนยัน |
พลช้างใส่เสื้ออัตลัด | ถือขอแกว่งกวัดดั่งจักรผัน |
พลม้าใส่เสื้อสีจันทน์ | ถือทวนสุวรรณกรีดกราย |
พลรถใส่เสื้อชมพู | กรกุมธนูประลองสาย |
เตรียมทั้งรถแก้วแพรวพราย | ตั้งรายตามราชรัถยา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตพระสัตรุดนาถา |
ครั้นรุ่งสางสว่างเวลา | เสด็จมาสระสรงชลธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โทน
๏ สนานกายสายสินธุ์สุหร่ายมาศ | สุคนธ์ธารบุปผชาติหอมหวาน |
สนับเพลาเครือแก้วอลงการ | ภูษาลายก้านสุพรรณพราย |
ชายแครงชายไหวปลายสะบัด | สังวาลวัลย์เนาวรัตน์สามสาย |
ตาบทิศทับทรวงจำหลักลาย | พาหุรัดนาคกลายทองกร |
ต่างทรงธำมรงค์เรือนเก็จ | มงกุฎพื้นพลอยเพชรประภัสสร |
ห้อยพวงมาลัยกรรเจียกจร | ดอกไม้ทัดอรชรอร่ามเรือง |
งามองค์งามทรงเครื่องประดับ | แวววับรัศมีฉวีเหลือง |
จับศรขัดพระขรรค์ค่าเมือง | ย่างเยื้องตามกันเสด็จมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงเกยแก้วแกมมาศ | อันโอภาสจับพื้นพระเวหา |
สองพระองค์ผู้ทรงศักดา | เสด็จขึ้นรถาสุพรรณพราย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ รถเอยรถแก้ว | วาวแววเนาวรัตน์จำรัสฉาย |
ดุมวงกงปรุฉลุลาย | งอนระหงทรงคล้ายเวไชยันต์ |
แท่นท้ายรายเทพนมกร | นาคครุฑกินนรเคียงคั่น |
เสาแก้วกาบบังกระจังบัน | ห้ายอดเก้าชั้นเป็นหลั่นลด |
เทียมอัศวราชสินธพ | ฝีเท้าเลิศลบดั่งลมกรด |
สารถีขี่ขับเคยพยศ | เร่งรถกวัดแกว่งทวนทอง |
ประดับเครื่องบังสูรย์มยุรฉัตร | โดยขนัดหน้าหลังเป็นทิวถ้อง |
ธงชายรายริ้วตามกอง | แตรสังข์พาทย์ฆ้องเภรี |
พลรถก็เร่งรัถา | พลม้าขับม้าอึงมี่ |
ขุนพลเร่งพลเป็นโกลี | โยธีขับแข่งกันรีบไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพญาวานรน้อยใหญ่ |
บรรดาซึ่งรั้งเวียงชัย | ได้แจ้งว่ากรุงลงกา |
องค์ท้าวจักรวรรดิขุนมาร | ยกพวกพลหาญมาเข่นฆ่า |
ต่างตนต่างเกณฑ์โยธา | ยกมาขีดขินพระบุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ