- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
๏ เมื่อนั้น | ท้าวชนกจักรวรรดินาถา |
ครอบครองไอศูรย์สวรรยา | เป็นมหาจรรโลงเลิศไกร |
ประกอบด้วยสนมศฤงคาร | เสนาทวยหาญน้อยใหญ่ |
ไพร่ฟ้าประชาชนสำราญใจ | ศัตรูหมู่ภัยไม่ราวี |
จึ่งดำริถวิลในวิญญาณ์ | ด้วยพระธิดาโฉมศรี |
ชันษาก็ได้สิบหกปี | ควรที่มีคู่ภิรมย์รัก |
จำจะตั้งพิธียกศิลป์ | บอกกษัตริย์ให้สิ้นทั้งไตรจักร |
ใครยกได้จะให้นงลักษณ์ | เป็นอัครชายายาใจ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ คิดแล้วพอดวงทินกร | เยี่ยมยอดยุคุนธรเขาใหญ่ |
ก็สระสรงทรงเครื่องอำไพ | ภูวไนยออกท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | ภายใต้เศวตฉัตรฉายฉัน |
เสนาเกลื่อนกลาดอภิวันท์ | ดั่งดาวล้อมจันทร์ในเมฆา |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | แก่โหราจารย์ซ้ายขวา |
กูจะอภิเษกพระธิดา | ให้กษัตริย์มายกศิลป์ชัย |
วันใดจะเป็นศุภผล | ซึ่งจะทำมงคลพิธีใหญ่ |
จงพินิจพิเคราะห์ดูไป | อย่าให้อันตรายราคี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ขุนโหรผู้เฒ่าทั้งสี่ |
รับสั่งพระองค์ทรงธรณี | ก็ดูโดยคัมภีร์อันชำนาญ |
ตั้งซึ่งสมผุสพระจันทร์ | ลบบวกคูณกันตามฐาน |
ได้อุดมฤกษ์ศุภวาร | กราบกับบทมาลย์แล้วทูลไป |
วันพฤหัสเดือนสี่ขึ้นสี่คํ่า | อมฤตโชคฤกษ์ใหญ่ |
ควรจะตั้งพิธียกศิลป์ชัย | ภูวไนยจะได้เขยรัก |
สุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์เทเวศร์ | เรืองเดชเลิศลํ้าพญาจักร |
ไตรโลกจะได้พึ่งพัก | เป็นหลักโลกาธาตรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวชนกจักรวรรดิเรืองศรี |
ได้ฟังดั่งทิพวารี | จึ่งมีพจนารถบัญชา |
เสนาจงตั้งมณฑปมาศ | ให้โอภาสยอดเยี่ยมเวหา |
แล้วเชิญธนูพระอิศรา | มาวางไว้หน้าพระลานชัย |
อันเหล่าคณะพระนักสิทธ์ | ซึ่งสถิตอยู่ในป่าใหญ่ |
นิมนต์มาอ่านเวทสำรวมใจ | ที่ในโรงราชพิธี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาผู้ใหญ่ทั้งสี่ |
รับสั่งถวายอัญชุลี | ก็ออกมาจากที่พระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๏ จึ่งตั้งมณฑปสุวรรณรัตน์ | สี่เหลี่ยมจำรัสฉายฉัน |
สี่มุขช่อฟ้าหน้าบัน | เพียงเวไชยันต์พิมานลอย |
พื้นอาสน์ลาดพรมสุจหนี่ | พวงมณีอัจกลับประดับห้อย |
เพดานดาราระย้าย้อย | แท่นธนูรายพลอยเนาวรัตน์ |
ฉัตรจรงธงชายหลายหลั่น | ราชวัติแก้วกั้นตามขนัด |
ใหญ่กว้างกลางกรุงจักรพรรดิ | ก็จัดสำเร็จดั่งบัญชา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
ร่าย
๏ แล้วจึ่งสั่งขุนธรรมการ | ไปนิมนต์พระอาจารย์ที่ในป่า |
ให้สิ้นคณะพระสิทธา | เข้ามายังราชธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งขุนธรรมการทั้งสี่ |
รับคำเสนาธิบดี | ยอกรชุลีแล้วรีบไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งประณตบทบงสุ์ | องค์พระดาบสผู้ใหญ่ |
แจ้งว่าพระทรงภพไตร | ภูวไนยจะตั้งพิธีการ |
ยกมหาโมลีธนูศิลป์ | ของพระปิ่นไกรลาสราชฐาน |
ให้นิมนต์พระองค์กับบริวาร | ไปเป็นประธานในพิธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพระมหาฤๅษี |
ได้ฟังมีความยินดี | บอกคณะโยคีวุ่นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ ต่างองค์ครองเครื่องนักพรต | ถือกลดจับตาลิปัตรใหญ่ |
ออกจากอาศรมศาลาลัย | บ่ายหน้าเข้าในพารา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงโรงราชพิธีการ | พระอาจารย์ผู้ทรงสิกขา |
ก็นั่งสำรวมกายา | เหนืออาสน์รัตนารูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงกษัตริย์สุริย์วงศ์เรืองศรี |
ทั่วทุกนัคราธานี | ล้วนมีเสาวภาคย์ศักดา |
แจ้งว่าท้าวชนกจักรวรรดิ | ปิ่นกษัตริย์สุริย์วงศ์นาถา |
ไปสร้างพรตอดใจภาวนา | ได้พระธิดาวิลาวัณย์ |
ในดวงกุสุมปทุมทอง | นวลละอองเพียงอัปสรสวรรค์ |
บัดนี้ลาพรตพรหมจรรย์ | มาครอบครองเขตขัณฑ์ธานี |
จะแต่งพระธิดาโฉมตรู | ให้มีคู่ภิรมย์สมศรี |
แม้นใครทรงกำลังฤทธี | ยกมหาโมลีศิลป์ชัย |
ขึ้นได้ก็จะให้เยาวมาลย์ | บัดนี้ตั้งการพิธีใหญ่ |
ต่างองค์ใคร่ได้อรไท | ก็ยกไปทุกกรุงกษัตรา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ มาถึงให้หยุดจัตุรงค์ | ตั้งลงโดยซ้ายฝ่ายขวา |
แต่ล้วนกองทัพพลับพลา | ดาษดารอบราชธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระวสิษฐ์สวามิตรฤๅษี |
จึ่งบอกพระลักษมณ์พระจักรี | บัดนี้ท้าวชนกภูวไนย |
มีพระบุตรีศรีสวัสดิ์ | ให้ประชุมกษัตริย์น้อยใหญ่ |
จะยกมหาธนูชัย | ที่ในกรุงมิถิลา |
ศรนี้ของพระจอมไกรลาส | ครั้งพิฆาตตรีบุรัมยักษา |
ทรงอานุภาพมหิมา | ชื่อมหาธนูโมลี |
ถ้าว่าผู้ใดยกได้ | ท้าวจะให้องค์นางโฉมศรี |
บรรดากษัตริย์ทั้งธาตรี | บัดนี้มาอยู่พร้อมกัน |
สองเจ้าเป็นวงศ์เทเวศร์ | ทรงเดชดั่งองค์พระสุริย์ฉัน |
เขาจะแข่งฤทธิ์เอารางวัล | หลานขวัญมาไปกับตา |
ว่าแล้วทรงสไบคากรอง | ครองเครื่องสำหรับชีป่า |
พาสองสุริย์วงศ์กุมารา | ออกจากศาลารีบไป ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เชิด
๏ ข้ามธารผ่านทุ่งวุ้งเขา | ตามลำเนามรรคาป่าใหญ่ |
ถึงมิถิลากรุงไกร | ก็ตรงเข้าในทวารา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์องค์นารายณ์นาถา |
พิศดูนัคเรศมิถิลา | สนุกดั่งเมืองฟ้าดุษฎี |
ตึกกว้านร้านเรียบแถวถนน | ประชาชนหญิงชายอึงมี่ |
โรงรถคชาพาชี | มีสนามประลองคชไกร |
อันแถวธงทิวริ้วฉัตร | ดั่งจะดัดคันค้อมน้อมไสว |
เหมือนจะเชิญเสด็จให้รีบไป | พระองค์จะได้นางสีดา |
ยิ่งพิศก็ยิ่งพิศวง | งวยงงพระทัยกังขา |
เดินพลางพลางทอดทัศนา | เห็นปราสาทดั่งมหาเวไชยันต์ |
ห้ายอดล้วนแก้วแกมทอง | หน้าบันลำยองฉายฉัน |
สี่ทิศมีรูปสุบรรณ | ยืนยันเหยียบยุดนาคา |
พระชมแกลแก้วสุวรรณรัตน์ | งามจำรัสดั่งเทพเลขา |
พระเนตรสบเนตรนางสีดา | เสน่หารุมรึงตรึงใจ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดพิสมัย |
แอบมองตามช่องบัญชรชัย | นัยน์เนตรสบเนตรพระสี่กร |
ความรักกลัดกลุ้มรุมสวาท | ด้วยเคยรองบาทแต่ชาติก่อน |
แสนสุดเสน่หาอาวรณ์ | บังอรเพียงสิ้นสมประดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระรามทรงสวัสดิ์รัศมี |
แสนพิศวาสนางเทวี | ดั่งหนึ่งอัคคีมาจ่อใจ |
แต่หยุดเพ่งพิศเป็นครู่ | หาทันรู้พระองค์ก็หาไม่ |
ต่อพระลักษมณ์นั้นทูลเตือนไป | จึ่งได้สติคืนมา |
เดินพลางทางเหลือบดูบัญชร | อาวรณ์ด้วยความเสน่หา |
ขืนใจไปตามพระสิทธา | จนมาถึงโรงพิธี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางสีดามารศรี |
พิศวงในองค์พระจักรี | เทวีมิได้วางตา |
แต่ชม้ายชายดูจนลับเนตร | ยิ่งอาดูรพูนเทวษโหยหา |
ไม่เห็นดำเนินกลับมา | กัลยาสลดระทดใจ |
ครั้นจะสืบถามใครให้รู้ | ก็อดสูไม่ออกปากได้ |
แสนคะนึงถึงองค์ภูวไนย | อาลัยเป็นพ้นพันทวี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายองค์หัสนัยน์เรืองศรี |
แจ้งว่าท้าวชนกธิบดี | จะให้พระลักษมีโสภา |
มีคู่สู่สมภิรมย์รัก | โดยศักดิ์สุริย์วงศ์นาถา |
ตั้งพิธีเสี่ยงศรพระอิศรา | จะเลือกหาภัสดาอันเรืองยศ |
บัดนี้พระนารายณ์จะยกศิลป์ | กษัตริย์ทั้งสิ้นก็มาหมด |
หมายใจจะได้นางไปร่วมรส | ประชุมในชนบทมิถิลา |
จำกูจะไปเป็นประธาน | ห้ามการที่จะเกิดเข่นฆ่า |
คิดแล้วพาหมู่เทวา | เหาะมาด้วยกำลังฤทธี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ โคมเวียน
๏ ครั้นถึงจึ่งขึ้นมณฑปแก้ว | อันเพริศแพร้วจำรัสรัศมี |
สถิตเหนือแท่นรัตนมณี | ตามที่อัครราชเทวัญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวชนกจักรวรรดิรังสรรค์ |
ครั้นนักสิทธ์เทวามาพร้อมกัน | ทรงธรรม์สระสรงคงคา |
ทรงเครื่องประดับสำหรับองค์ | อลงกตด้วยทิพย์ภูษา |
พร้อมหมู่แสนสุรเสนา | เสด็จมาโรงราชพิธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งนั่งเหนืออาสน์ | ยอกรอภิวาทน์โกสีย์ |
ทั้งคณะพระมหาโยคี | ภูมีทอดทัศนาไป |
เห็นกรุงกษัตริย์ทุกพารา | เกลื่อนกล่นกันมาไม่นับได้ |
ล้วนแต่งองค์ทรงเครื่องอำไพ | ดั่งเทวาที่ในโสฬส |
เหลือบเห็นพระลักษมณ์พระราม | งามกว่ากษัตริย์ทั้งปวงหมด |
นั่งอยู่เบื้องหลังพระนักพรต | ทรงยศจึ่งตรัสถามไป |
อันสานุศิษย์พระอาจารย์ | ถิ่นฐานบ้านเมืองอยู่ไหน |
สุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์ผู้ใด | นามกรชื่อไรพระมุนี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองพระมหาฤๅษี |
จึ่งบอกท้าวชนกธิบดี | รูปนี้อยู่แดนอยุธยา |
อันสองเยาวราชกุมาร | หลานท้าวอัชบาลนาถา |
องค์นี้ทรงนามพระรามา | อนุชานั้นชื่อว่าเจ้าลักษมณ์ |
หน่อท้าวทศรถสุริย์วงศ์ | ดำรงอยุธยาอาณาจักร |
บัญชาให้สองลูกรัก | มาสำนักเล่าเรียนศิลป์ชัย |
แจ้งว่าพระองค์ตั้งพิธี | ยกศิลป์ครั้งนี้เป็นการใหญ่ |
จึ่งพามาดูเล่นสำราญใจ | ด้วยไม่พบเห็นแต่ก่อนมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวชนกจักรวรรดินาถา |
ได้ฟังพระมหาสิทธา | ผ่านฟ้าตะลึงทั้งอินทรีย์ |
นิ่งนึกตรึกไปเป็นครู่ | แล้วพิศดูพี่น้องสองศรี |
งามดั่งดวงแก้วมณี | รัศมีพรรณรายคล้ายกัน |
อันเชษฐาซึ่งชื่อว่าราเมศ | งามดั่งเทเวศร์ในสรวงสวรรค์ |
แม้นคู่กับสีดาวิลาวัณย์ | ดั่งพระจันทร์เคียงดวงสุริยา |
ไม่รู้ว่าพระวงศ์เทวราช | ภูวนาถมีโอรสา |
หาไม่จะให้พระธิดา | เป็นบาทบริจาพระกุมาร |
บัดนี้กษัตริย์ก็พร้อมพักตร์ | ต่างต่างจักแข่งกำแหงหาญ |
มิรู้ที่จะคิดบิดการ | เสียดายองค์นงคราญวิไลวรรณ |
คิดแล้วจึงกล่าวสุนทร | ดูกรพระรามรังสรรค์ |
อันพระบิตุเรศของเจ้านั้น | ทรงธรรม์ค่อยอยู่สวัสดี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์องค์นารายณ์เรืองศรี |
ได้ฟังพระราชวาที | ชุลีกรสนองพระโองการ |
อันพระบิตุรงค์ทรงเดช | ครอบครองนคเรศเกษมศานต์ |
ทั้งไพร่ฟ้าผาสุกสำราญ | อันตรายภัยพาลไม่บีฑา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวชนกจักรวรรดินาถา |
ได้ฟังสุรเสียงพระรามา | ดั่งอมฤตฟ้ายาใจ |
ปรีชาว่าขานแหลมหลัก | ทั่วทั้งไตรจักรไม่เปรียบได้ |
ยิ่งแสนเสน่หาอาลัย | ภูวไนยตั้งสัจจาวาที |
เดชะข้าครองทศพิธ | ทั้งทรมานจิตเป็นฤๅษี |
ด้วยไร้โอรสแลบุตรี | ได้เทวีมาเลี้ยงเป็นธิดา |
บัดนี้จะให้สืบสุริย์วงศ์ | ดำรงพิภพไปภายหน้า |
แม้กษัตริย์กรุงใดบรรดามา | วาสนาควรคู่ด้วยลูกรัก |
จงยกธนูโมลี | คันนี้ขึ้นได้อย่าให้หนัก |
ครั้นเสร็จเสี่ยงคู่นงลักษณ์ | ทรงศักดิ์ให้ลั่นฆ้องชัย ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ สาธุการ
๏ เมื่อนั้น | บรรดากรุงกษัตริย์น้อยใหญ่ |
ล้วนมีกำลังฤทธิไกร | หมายใจจะชิงพระธิดา |
ครั้นได้ยินฆ้องสำคัญตี | ก็ลุกขึ้นทันทีพร้อมหน้า |
เบียดเสียดเยียดยัดเข้ามา | ฉุดคร่าวัดเหวี่ยงเถียงกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด เจรจา
๏ เมื่อนั้น | หัสนัยน์เจ้าตรัยตรึงศ์สวรรค์ |
เห็นกษัตริย์สุริย์วงศ์ทั้งนั้น | ดึงดันถุ้งเถียงกันวุ่นไป |
จึ่งมีเทวราชสุนทร | ดูกรท้าวพญาน้อยใหญ่ |
อันซึ่งจะยกศิลป์ชัย | ขององค์เจ้าไตรโลกา |
มิใช่จะได้โดยง่าย | อย่าวุ่นวายจงฟังเราว่า |
ต่อผู้ใดใครมีฤทธา | วาสนาคู่ควรเยาวมาลย์ |
จึ่งจะยกขึ้นได้ไม่หนัก | ใช่จะหักเอาด้วยกำลังหาญ |
ตัวเรามาอยู่เป็นประธาน | อย่าลนลานจงผลัดกันมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายกรุงกษัตริย์ถ้วนหน้า |
ได้ฟังเทวราชบัญชา | ก็ปรีดาภิรมย์ประนมกร |
นั่งเรียงเคียงกันเป็นอันดับ | ตาจับอยู่ที่ธนูศร |
ก็ทำโดยเทวสุนทร | ต่างองค์ผลัดผ่อนกันเข้าไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ กรุงกษัตริย์เข้ายกทุกธานี | แต่จะไหวจากที่ก็หาไม่ |
สิ้นฤทธิ์สิ้นกำลังสิ้นอาลัย | อ่อนใจหน้าซีดสลดลง |
แล้วคิดเสียดายสีดานัก | ผ่องพักตร์แน่งน้อยนวลหง |
ทอดถอนใจใหญ่อยู่ทุกองค์ | ดั่งจะไม่ดำรงกายา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวชนกจักรวรรดินาถา |
เห็นกษัตริย์ยกศิลป์ไม่เคลื่อนคลา | ผ่านฟ้าเกษมเปรมปรีดิ์ |
จึ่งมีพระราชโองการ | ดูกรกุมารทั้งสองศรี |
ผู้วงศ์จักรพรรดิธิบดี | บัดนี้สิ้นกษัตริย์ทุกพารา |
เชิญเจ้าเข้ายกศรทรง | ขององค์พระอิศวรนาถา |
อย่าให้เสียทีที่ได้มา | ดั้นดัดลัดป่าพนาวัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระรามสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
รับสั่งแล้วถวายบังคมคัล | จึ่งผันพักตร์มากล่าววาที |
ดูกรองค์พระอนุชา | แก้วตาผู้ร่วมชีวิตพี่ |
จงลองยกธนูโมลี | ดูทีจะหนักสักเพียงใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ผู้มีอัชฌาสัย |
บังคมก้มเกล้าแล้วออกไป | ตามในพระราชบัญชา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งยื่นพระกร | จับศรพระศุลีนาถา |
แต่เขยื้อนก็แจ้งในวิญญาณ์ | กลับมาเฝ้าองค์พระจักรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระรามทรงสวัสดิ์รัศมี |
เห็นพระลักษมณ์กลับมาอัญชุลี | รู้ทีอนุชาวิลาวัณย์ |
มีความชื่นชมโสมนัส | ดั่งได้สมบัติสรวงสวรรค์ |
ก็เสด็จย่างเยื้องจรจรัล | จากอาสน์สุวรรณอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งยื่นพระหัตถ์ขวา | อันมีจักรลักขณาประภัสสร |
งามดังงวงเทวกุญชร | พระสี่กรจับคันศิลป์ชัย |
อันมหาธนูสิทธิศักดิ์ | จะหนักพระหัตถ์ก็หาไม่ |
ยกขึ้นได้คล่องว่องไว | ภูวไนยกวัดแกว่งสำแดงฤทธิ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ หน่วงน้าวดีดสายประลองศิลป์ | ฟ้าดินหวั่นไหวถึงดุสิต |
เบื้องใต้ตลอดอโณทิศ | เสียงสนั่นครรชิตอึงอล |
เป็นพายุพัดก้องกัมปนาท | อากาศมืดฟ้ามัวฝน |
โพยมพยับอับแสงสุริยน | แล้วสว่างทั่วสกลโลกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หัสนัยน์เจ้าตรัยตรึงศา |
เห็นพระหริรักษ์จักรา | ยกมหาธนูว่องไว |
ก็เป่าวิชัยยุทธ์มหาสังข์ | เสียงดังสนั่นหวั่นไหว |
โหรเฒ่าก็ลั่นฆ้องชัย | โดยในมงคลสวัสดี |
ชาวประโคมก็ประโคมฆ้องกลอง | กาหลกึกก้องอึงมี่ |
เสนาไพร่ฟ้าประชาชี | ยินดีอำนวยอวยพร |
จงเป็นจรรโลงโลเกศ | กับองค์อัคเรศดวงสมร |
เฉลิมศรีสุริย์วงศ์สถาวร | ขจรยศชั่วกัลปาไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายกรุงกษัตริย์น้อยใหญ่ |
เห็นพระหริวงศ์ทรงชัย | ยกศิลป์ขึ้นได้ด้วยฤทธา |
ทั้งรักทั้งอายเสียดายนาง | ต่างต่างเศร้าโทมนัสสา |
จะชิงชัยก็เกรงศักดา | หน้าตาไม่เป็นสมประดี |
จึ่งลาท้าวชนกจักรวรรดิ | ทั้งองค์หัสนัยน์เรืองศรี |
ก็เลิกพหลโยธี | ออกจากบุรีแยกไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระจอมเมรุมาศเขาใหญ่ |
กับฝูงเทวาสุราลัย | ชีไพรนักสิทธ์วิทยา |
ต่างลาท้าวชนกจอมกษัตริย์ | กับพระจักรรัตน์นาถา |
บ้างเหาะบ้างเดินพสุธา | ตรงมาที่อยู่พร้อมกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายท้าวชนกรังสรรค์ |
เสด็จส่งนักสิทธ์เทวัญ | จึ่งบัญชาแก่สองพระมุนี |
พระองค์ผู้ทรงตบะญาณ | พาสองกุมารเรืองศรี |
ดั้นดัดลัดป่าพนาลี | ครั้งนี้เป็นบุญนำมา |
อันซึ่งพระรามสุริย์วงศ์ | กับองค์นางสีดาเสน่หา |
ควรคู่สู่สมภิรมยา | ใต้ฟ้าไม่มีใครเทียมทัน |
ข้าจะให้ราชสารศรี | ไปทวารวดีเขตขัณฑ์ |
เชิญองค์พระพงศ์เทวัญ | ให้ทรงธรรม์มาทำวิวาห์การ |
ตรัสแล้วจึ่งมีพจนารถ | ให้อาลักษณ์ผู้ฉลาดแต่งสาร |
กับเสนีที่ปรีชาชาญ | ไปยังสถานอยุธยา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | อาลักษณ์ผู้มียศถา |
รับสั่งพระองค์ทรงศักดา | ก็แต่งสาราทันที |
จารึกลงในแผ่นทอง | ใส่กล่องนพรัตน์จำรัสศรี |
เสร็จแล้วส่งให้เสนี | โดยมีบัญชาพระทรงธรรม์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งมหาเสนาคนขยัน |
รับเอากล่องแก้วแพร้วพรรณ | ก็พาพวกพลขันธ์รีบไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นมาถึงราชธานี | ทวารวดีกรุงใหญ่ |
ไปยังศาลาลูกขุนใน | ส่งสารนั้นให้แก่เสนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุมันตันผู้มียศถา |
รับสารพระผู้ผ่านมิถิลา | พากันขึ้นเฝ้าพระจักรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ น้อมเศียรประณตบทบาท | พระพงศ์เทวราชเรืองศรี |
ทูลว่าท้าวชนกธิบดี | ให้เสนีนำราชสารา |
มาถวายใต้เบื้องบาทบงสุ์ | พระผู้พงศ์จักรพรรดินาถา |
ทูลแล้วเปิดกล่องรัตนา | คลี่สาราออกอ่านถวายไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ช้า
๏ ราชสารพระผู้ผ่านนคเรศ | มงกุฎเกศมิถิลากรุงใหญ่ |
ทรงนามท้าวชนกฤทธิไกร | อวยชัยโดยราชไมตรี |
มายังพระองค์ทรงเดช | ปิ่นเกศอยุธยาบุรีศรี |
ดั่งฉัตรแก้วกั้นโมลี | เป็นที่พำนักทั้งโลกา |
ข้ามีบุตรีวิไลลักษณ์ | ผิวพักตร์เพียงเทพเลขา |
จึ่งประชุมกษัตริย์ทุกพารา | ให้ยกมหาธนูชัย |
ขององค์สมเด็จพระศุลี | บัดนี้พระรามยกได้ |
ต่อหน้าอินทราสุราลัย | ฤๅษีชีไพรพร้อมกัน |
ขอเชิญพระองค์เสด็จมา | ทำการวิวาห์เฉลิมขวัญ |
จะได้สืบสุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์ | ไว้เป็นจรรโลงธาตรี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถเรืองศรี |
แจ้งสารสำราญอินทรีย์ | ดั่งวารีทิพย์มาเจือใจ |
จึ่งมีพระราชบัญชา | ตรัสแก่ทูตาผู้ใหญ่ |
พระสิทธาพาลูกเราไป | ชิงชัยกากนาอสุรินทร์ |
สำเนียงเสียงสนั่นลั่นมา | ไม่รู้ว่าจะพาไปยกศิลป์ |
สองกรุงจะร่วมแผ่นดิน | ไปสิ้นกัลปาช้านาน |
ตรัสแล้วมีราชวาที | สั่งขุนพาชีใจหาญ |
จงไปหาสองราชกุมาร | ยังสถานไกยเกษบุรีมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายขุนมโนมัยใจกล้า |
รับสั่งถวายบังคมลา | ขึ้นอาชาได้ก็รีบจร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงไกยเกษกรุงไกร | มีใจชื่นชมสโมสร |
ก็ลงจากหลังอัสดร | บทจรเข้าพระโรงรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ น้อมเศียรทูลสนองพระกุมาร | โดยราชโองการถ้วนถี่ |
ว่าพระบิตุรงค์ทรงธรณี | ให้ข้านี้มาเชิญเสด็จไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองกุมารผู้มีอัชฌาสัย |
ได้แจ้งรับสั่งก็ดีใจ | พากันไปเฝ้าพระอัยกา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรบังคมบาท | ทูลไทธิราชนาถา |
หลานรักขอถวายบังคมลา | ไปยังอยุธยาพระนคร |
ด้วยพระองค์มงกุฎสุธาธาร | จะทำการวิวาห์พระทรงศร |
กับองค์สีดาบังอร | ที่ในนครมิถิลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวไกยเกษนาถา |
ได้ฟังพระราชนัดดา | ผ่านฟ้าจึ่งกล่าววาที |
เจ้าจงไปตามพระบรรหาร | ให้ทันการวิวาห์เฉลิมศรี |
แล้วทูลองค์พระทรงธรณี | ว่าตานี้อำนวยอวยพร |
มาถึงพระจอมจักรพรรดิ | กับพระจักรรัตน์ทรงศร |
ให้จำเริญสวัสดิ์สถาวร | จงขจรยศทั่วโลกา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองน้องนารายณ์นาถา |
ก้มเกล้าดุษฎีชุลีลา | กลับมายังที่ปราสาทชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งมีพจนารถ | ตรัสสั่งอำมาตย์ผู้ใหญ่ |
จงเตรียมพหลพลไกร | เราจะไปอยุธยาธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งมหาเสนาทั้งสี่ |
รับสั่งพระองค์ทรงฤทธี | ถวายอัญชุลีแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จัดเป็นกระบวนพยุหบาตร | เกลื่อนกลาดตามซ้ายฝ่ายขวา |
ตั้งไว้สองข้างมรคา | คอยองค์อนุชาพระสี่กร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระพรตพระสัตรุดชาญสมร |
สระสรงทรงเครื่องอาภรณ์ | บทจรมาขึ้นรถชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ให้เลิกจัตุรงค์พยุหบาตร | ฆ้องกลองกัมปนาทหวาดไหว |
ออกจากไกยเกษกรุงไกร | ตรงไปอยุธยาธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งขึ้นไปเฝ้า | พระปิ่นเกล้าบังเกิดเกศี |
ถวายบังคมคัลอัญชุลี | คอยฟังภูมีจะบัญชา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพงศ์จักรพรรดินาถา |
ครั้นสองโอรสเสด็จมา | จึ่งสั่งเสนาสุมันตัน |
จงเตรียมคชาม้ารถ | ทั้งทศโยธาแข็งขัน |
แต่งตัวประกวดอวดกัน | เลือกสรรนุ่งห่มโอฬาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุมันตันผู้ปรีชาหาญ |
ก้มเกล้ารับราชโองการ | คลานออกมาจากพระโรงชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๏ ให้องค์พระพรตเป็นทัพหน้า | โยธาเพียบพื้นแผ่นดินไหว |
อันพระสัตรุดวุฒิไกร | ให้เป็นทัพหลังป้องกัน |
ทัพหลวงทั้งสี่จัตุรงค์ | โยธาอาจองแข็งขัน |
นายช้างขี่ช้างซับมัน | กุมขอหยัดยันกรีดกราย |
ขุนม้าขี่ม้าดาวทอง | ถือทวนพู่กรองเฉิดฉาย |
ขุนรถขี่รถสุพรรณพราย | ถือเกาทัณฑ์หมายปัจจามิตร |
ขุนพลตรวจเตรียมพลไกร | บ้างถือปืนไฟกระบี่กริช |
เทียมทั้งรถทรงพระทรงฤทธิ์ | รถประเทียบชวลิตรูจี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถเรืองศรี |
ไสยาสน์ในราษราตรี | เหนือที่แท่นแก้วอลงกรณ์ |
พระตรึกไปโดยในราชสาร | จะทำการวิวาห์พระทรงศร |
จนดาวเดือนเลื่อนลับคิรินทร | แสงทองอ่อนอ่อนอำไพ |
สนั่นเสียงคชาพาชี | อึงมี่เพียงพื้นแผ่นดินไหว |
แตรสังข์พิณพาทย์ฆ้องชัย | พลไกรตื่นตาหากัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ก็เสด็จจากแท่นไสยาสน์ | งามวิลาสดั่งเทพในสวรรค์ |
ชวนห้ากษัตริย์วิลาวัณย์ | จรจรัลมาสรงชลธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ชำระสระสนานสำราญองค์ | ทรงสุคนธ์กลิ่นกลบหอมหวาน |
บิตุเรศเรืองเดชชัยชาญ | กับสองพระกุมารโอรส |
ทรงสนับเพลาพลอยทับทิมพราย | ภูษาล้วนลายเครือขด |
พระวรนาฏยอดอนงค์ทรงยศ | ทรงพื้นทองหมดทั้งสามองค์ |
บิตุเรศโอรสทรงชายแครง | ชายไหวลายแทงกระหนกหงส์ |
สามพระมเหสีสุริย์วงศ์ | ทรงสไบตาดทองกรองชาย |
ต่างทรงตาบทิศทับทรวง | สังวาลแก้วชิงดวงสามสาย |
สะอิ้งองค์กุดั่นสุพรรณพราย | ประดับถันเพชรรายอร่ามเรือง |
ทองกรพาหุรัดประดับบุษย์ | ธำมรงค์เรือนครุฑทรงเครื่อง |
มงกุฎแก้วนพรัตน์ค่าเมือง | กรรเจียกจรเพชรเหลืองอลงการ์ |
พระบิตุเรศทรงพระขรรค์ฤทธิรอน | พระโอรสจับศรงามสง่า |
หกกษัตริย์เสาวภาคย์เพียงเทวา | ตามกันเสด็จมาขึ้นรถ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เพลง
โทน
๏ รถเอยราชรถแก้ว | กงเลื่อมกำแล้วด้วยมรกต |
ทรงงามสามงอนอ่อนชด | แก้วบดกาบบังบัลลังก์ลอย |
สี่มุขแสงมาศจำรัสรัตน์ | บันสะบัดบุษบกกระหนกห้อย |
ม่านทิศมาศทาบกระหนาบพลอย | สามยอดสุกย้อยดั่งดวงจันทร์ |
เทียมสินธพสี่สีกุมุท | ขุนรถขับรุดดั่งจักรผัน |
เครื่องสูงครบสิ่งสลับกัน | ธงฉัตรถัดชั้นธงทอง |
เสียงฆ้องซ้องขานประสานสังข์ | กลองดังกลางดงกึกก้อง |
รถประเทียบเรียบท้ายรถทอง | ต่างกองตามกันเป็นหลั่นมา |
ช้างนำชั้นนอกเคียงแข่ง | เดินแซงโดยซ้ายฝ่ายขวา |
ขับรถเร่งรีบโยธา | ไปตามมรรคาพนาลัย ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ ข้ามธารผ่านเนินสิงขร | ประทับร้อนแรมมาในป่าใหญ่ |
จึ่งชวนสามสุดายาใจ | ชมพรรณนกไม้ในไพรวัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ กระเหว่าจับกิ่งกระวานร้อง | กระทุงทองจับไม้กะทั่งหัน |
กระลุมพูจู่จับแสลงพัน | เขาจับข่อยขันเคียงนาง |
สาลิกาบินจับกิ่งแก้ว | แซงแซวจับโศกไซ้หาง |
คณายูงพาฝูงมาจับยาง | นกลางจับเลียบเรียงรัน |
อีลุ้มจับโลดโบยบิน | กระทาจับไม้กระถินขัน |
โนรีจับรักพลอดกัน | เบญจวรรณจับหว้ารายเรียง |
กางเขนจับแคแล้วร่อนร้อง | ช่างทองจับกระทุ่มส่งเสียง |
โคกม้าจับโมกมองเมียง | นกเอี้ยงจับเอื้องเยื้องกราย |
กระตั้วจับกิ่งตะเคียนเต้น | นกกระเต็นจับตอต้นขลาย |
กุลาโห่จับเหียงเรียงราย | หว้าจับกอหวายแล้วบินไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ เดินทางตามหว่างพนาเวศ | เข้าเขตมิถิลากรุงใหญ่ |
จึ่งให้หยุดพลสกลไกร | โดยกระบวนพิชัยยาตรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ทั้งสามเสนีมียศถา |
ก้มเกล้าถวายบังคมลา | ก็รีบเข้ามาพระนคร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งประณตบทบงสุ์ | ทูลองค์ท้าวชนกชาญสมร |
ว่าข้านำสารพระภูธร | ไปยังนครอยุธยา |
พระองค์ผู้วงศ์เทเวศร์ | แจ้งเหตุแสนโสมนัสสา |
บัดนี้ยกพยุหโยธา | มาหยุดอยู่นอกพระบุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวชนกจักรวรรดิเรืองศรี |
ได้แจ้งแห่งคำเสนี | ภูมีชื่นชมด้วยสมคิด |
ผินพักตร์มาข้างพระอวตาร | แล้วมีโองการประกาศิต |
เจ้าทั้งสององค์ผู้ทรงฤทธิ์ | พระบิตุเรศเสด็จมา |
พ่อจงไปเฝ้าบทรัตน์ | พระจอมจักรพรรดินาถา |
กับองค์พระราชมารดา | เชิญเสด็จเข้ามายังธานี |
ตรัสแล้วจึ่งมีพจนารถ | สั่งเสนามาตย์ทั้งสี่ |
จงจัดพหลโยธี | โดยเสด็จสองศรีพระกุมาร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาทั้งสี่ใจหาญ |
ก้มเกล้ารับราชโองการ | ก็คลานออกมาทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจัดหมู่พลไกร | ใส่เสื้ออำไพต่างสี |
สองหมื่นพื้นรูปทรงดี | ถือปทุมมาลีเป็นคู่กัน |
ขุนม้าล้วนใส่เสื้อกรอง | โพกแสดขลิบทองฉายฉัน |
เจียระบาดคาดเอวทั้งห้าพ้น | มือนั้นถือหางยูงกราย |
มหาดเล็กล้วนลูกเสนา | นุ่งห่มโอ่อ่าเฉิดฉาย |
เตรียมทั้งรถแก้วแพรวพราย | ไพร่นายคอยเสด็จบทจร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระรามสุริย์วงศ์ทรงศร |
กับองค์พระลักษมณ์ฤทธิรอน | ชุลีกรท้าวชนกธิบดี |
แล้วจึ่งเสด็จยุรยาตร | งามดั่งเทวราชทั้งสองศรี |
กรายกรย่างเยื้องจรลี | มาขึ้นรถมณีพรายพรรณ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
๏ สารถีขี่ขับอัสดร | เคลื่อนพวกนิกรพลขันธ์ |
ปี่ฆ้องกลองแห่นี่นัน | เร่งกันไปตามมรคา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงให้หยุดรถทรง | สององค์ลงจากรัถา |
กรายกรนวยนาดยาตรา | เข้ามาเฝ้าองค์พระภูธร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ น้อมเศียรประณตบทบาท | พระบิตุรงค์ธิราชชาญสมร |
กับสามสมเด็จพระมารดร | ชุลีกรทูลความแต่ต้นมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถนาถา |
ฟังลูกรักแจ้งกิจจา | ปรีดาดั่งได้โสฬส |
จึ่งมีพระราชวาที | แก่หมู่เสนีทั้งหมด |
จงเตรียมโยธาม้ารถ | กำหนดให้พร้อมเพรียงกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งมหาเสนาคนขยัน |
รับสั่งพระองค์ทรงสุบรรณ | ถวายบังคมคัลแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งเตรียมกระบวนพยุหบาตร | เกลื่อนกลาดโดยซ้ายฝ่ายขวา |
เป็นถ้องแถวตามแนวมรคา | คอยท่าเสด็จจรจรัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถรังสรรค์ |
กับเจ็ดกษัตราวิลาวัณย์ | ครั้นสุริยันส่องฟ้าธาตรี |
ก็เข้าที่สระสรงทรงเครื่อง | อร่ามเรืองจำรัสรัศมี |
กรายกรย่างเยื้องจรลี | มาขึ้นรถมณีอลงการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
๏ เสด็จเหนือบัลลังก์รถทรง | งามสง่าดั่งองค์พระสุริย์ฉาน |
ให้เคลื่อนโยธีบริวาร | เข้ายังราชฐานมิถิลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | หญิงชายชาวเมืองถ้วนหน้า |
แก่เฒ่าสาวหนุ่มกลุ้มมา | แต่งตัวโอ่อ่าประกวดกัน |
เยียดยัดอัดอึงแถวถนน | เพียงธรณีดลจะหล่มลั่น |
เห็นกระบวนทวนธนูเกาทัณฑ์ | หลายหลั่นเรียบริ้วทิวธง |
เห็นโฉมพระลักษมณ์พระจักรกฤษณ์ | ต่างตะลึงเพ่งพิศพิศวง |
ถึงกองหลวงพวงเพชรจัตุรงค์ | เห็นพระองค์ทรงภพอยุธยา |
เสด็จเหนือที่นั่งบัลลังก์รถ | งามยศงามทรงงามสง่า |
ดั่งบรมพรหเมศศักดา | เสด็จมาสู่พื้นดินดอน |
พระพรตพระสัตรุดสุดท้าย | งามคล้ายกับองค์พระทรงศร |
ต่างตนนบนิ้วประนมกร | ถวายพรแซ่ซ้องทั้งบุรี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ชมตลาด
๏ เมื่อนั้น | พระพงศ์เทเวศร์เรืองศรี |
ขับรถเข้าราชธานี | ภูมีชมเมืองมิถิลา |
ดูพื้นเขื่อนเพชรกำแพงมาศ | ถนนลาดศีลาลายดั่งเลขา |
เชิงป้อมรายปืนจินดา | ทวาราหอรบอร่ามเรือง |
นางเรียงงามเรียบระเบียบรัตน์ | ธงชายคั่นฉัตรขนัดเนื่อง |
ปราสาทแลงามลอยเฉลิมเมือง | แสงประเทืองเรืองเทียมประทีปราย |
บุษบกหน้าบันสุบรรณพลิ้ว | เหนี่ยวหางนาคหิ้วเผ่นผาย |
พักตร์พรหมผ่องพริ้มดั่งยิ้มพราย | แก้วปลายยอดปลีกระจ่างฟ้า |
ท้องสนามแสนสนุกจนสุดเนตร | ประลองเดชหัสดินสำแดงกล้า |
ชมพลางทางเพลินจำเริญตา | จนประทับเกยชลาอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวชนกจักรวรรดิชาญสมร |
กับองค์อัครราชบังอร | บทจรรับเสด็จภูมี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งตรัสปราศรัยคำรพ | ขอเชิญพระจอมภพเรืองศรี |
ขึ้นยังปราสาทแก้วมณี | เป็นที่สำราญกายา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวทศรถนาถา |
ได้ฟังสุนทรวาจา | ดั่งอมฤตฟ้ายาใจ |
จึ่งเสด็จจากราชรถทอง | พักตร์ผ่องดั่งดวงแขไข |
ท้าวชนกก็นำตามเสด็จไป | เข้าในปราสาทแก้วแพรวพรรณ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์อาสน์ | งามดั่งเทวราชในสรวงสวรรค์ |
ท่ามกลางสุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์ | บังคมคัลเกลื่อนกลาดดาษดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวชนกจักรวรรดินาถา |
จึ่งมีสุนทรวาจา | ปราศรัยโดยราชไมตรี |
ครั้งนี้ทั้งสองพระนคร | จะถาวรเป็นสุขเกษมศรี |
ดั่งฉัตรแก้วกั้นโมลี | ข้านี้จะฝากชีวัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์เทเวศร์รังสรรค์ |
ฟังท้าวชนกรำพัน | พระทรงธรรม์จึ่งตอบสนองไป |
ตัวเราได้แจ้งสารสวัสดิ์ | โสมนัสไม่มีที่เปรียบได้ |
จึ่งยกรี้พลสกลไกร | รอนแรมมาในหิมวา |
หวังจะเป็นทองแผ่นเดียวกัน | ร่วมชีพชีวันไปวันหน้า |
กว่าจะม้วยดินสิ้นฟ้า | เป็นมหามงคลสวัสดี |
สองกษัตริย์สนทนาปราศรัย | จนอุทัยลับเหลี่ยมคีรีศรี |
ต่างองค์ต่างเสด็จจรลี | เข้าที่สิริศรีไสยา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ