- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
ช้า
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงกุมภกาศยักษา |
อยู่ในพิชัยลงกา | นางสำมนักขาเป็นชนนี |
อันองค์พระราชบิดร | นามกรชิวหายักษี |
อายุนั้นได้สิบเก้าปี | อสุรีรำพึงคะนึงคิด |
จะใคร่ได้เทพศาสตรา | อันศักดาปราบได้ถึงดุสิต |
กูจะตั้งตบะบำรุงฤทธิ์ | ด้วยพิธีมหาพัทกัลป์ |
คิดแล้วชำระสระสรง | ทรงเครื่องพรรณรายฉายฉัน |
ออกจากที่อยู่กุมภัณฑ์ | จรจรัลขึ้นเฝ้าพระบิดา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นถึงจึ่งกราบกับบาท | พระชนนีบิตุราชนาถา |
ทูลว่าอันตัวของลูกยา | ไม่มีสาตราสิ่งใด |
แม้นเกิดข้าศึกปัจจามิตร | จะรบรอต่อฤทธิ์เขาไม่ได้ |
จะขอลาข้ามมหาสมุทรไป | ตั้งใจทำกิจพิธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | บิตุเรศมารดาทั้งสองศรี |
ได้ฟังโอรสร่วมชีวี | มีความยินดีปรีดา |
กอดจูบลูบพักตร์แล้วอวยชัย | เจ้าไปจงสมปรารถนา |
ให้เลื่องชื่อลือฤทธิ์เดชา | ใต้ฟ้าอย่ามีใครต่อกร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | กุมภกาศขุนมารชาญสมร |
ก้มเกล้าคำนับรับพร | สำแดงฤทธิรอนแล้วเหาะไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงฟากฝั่งโคทา | เป็นที่หิมวาป่าไผ่ |
ร่มรกปรกชัฏสงัดใจ | ใกล้แนวมรรคาพนาลี |
จึ่งเห็นแผ่นผาศิลาพราย | เขียวลายดั่งเนรคันถี |
อยู่กลางหว่างไผ่ก็ยินดี | อสุรีชำระกายา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ทรงผ้าโขมพัสตร์ขาวสะอาด | ระบายลาดพาดเหนืออังสา |
จุณเจิมเฉลิมพักตรา | มุ่นชฎาห่อเกล้าเป็นโยคี |
ประดับองค์บงเฉียงสายธุหร่ำ | สวมใส่ประคำมณีศรี |
มือถือธูปเทียนมาลี | อสุรีก็เดินเข้าไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ นั่งพับแพนงเชิงตามตำรา | หลับตาอ่านเวทโดยไสย |
ผ่อนลมเข้าออกหายใจ | มิได้ไหวกายกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ เดชะพระมนต์อันชัยชาญ | พสุธาสะท้านสะเทือนลั่น |
กึกก้องทั้งท้องพนาวัน | สนั่นถึงชั้นพรหมมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ สาธุการ
ยานี
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายบรมพรหมเมศนาถา |
สถิตเหนือทิพอาสน์โอฬาร์ | ที่ในมหาวิมานทอง |
ได้ยินโลกากุลาหล | เป็นพิกลเอิกเกริกกึกก้อง |
สำเนียงดังเสียงฟ้าคะนอง | ก็ส่องทิพเนตรลงไป |
จึ่งเห็นกุมภกาศอสุรี | มาตั้งพิธีที่ป่าไผ่ |
จะขอเทพอาวุธชิงชัย | จำกูจะให้ดั่งจินดา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ คิดแล้วจึ่งจับพระขรรค์ | อันมีอานุภาพแกล้วกล้า |
ปราบได้ทั้งไตรโลกา | ก็ทิ้งลงมาให้ขุนมาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ รัว
๏ เมื่อนั้น | กุมภกาศฤทธิไกรใจหาญ |
เห็นพระขรรค์แก้วสุรกานต์ | บันดาลตกตรงพักตรา |
ให้คิดทิฏฐิมานะนัก | ขุนยักษ์โกรธกริ้วนิ่วหน้า |
เหม่เหม่ดูดู๋พรหมมา | หยาบช้าไม่เกรงกุมภัณฑ์ |
ตัวกูเป็นหลานทศพักตร์ | พญายักษ์ปราบได้ทั้งสรวงสวรรค์ |
ไม่ควรจะทิ้งมาให้กัน | จะเอาพระขรรค์ไปไยมี |
แม้นมิถึงมือกูไม่รับ | จะเคี่ยวขับอ่านเวทอยู่ที่นิ่ |
คิดแล้วสำรวมอินทรีย์ | อสุรีหลับเนตรภาวนา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ ตระ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์กนิษฐา |
ภักดีปรนนิบัติพระพี่ยา | กับนางสีดาดวงจันทร์ |
ดั่งองค์บิตุเรศชนนี | ไม่มีรังเกียจเดียดฉันท์ |
เที่ยวหาผลไม้เผือกมัน | เป็นนิจทุกวันเวลา |
ครั้นรุ่งก็จับขอคาน | กระเช้าสานแสรกใส่บ่า |
เสด็จออกจากบรรณศาลา | ไปตามมรรคาพนาลัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
๏ เที่ยวเก็บผลไม้ในไพรชัฏ | เลาะลัดเลี้ยวมาถึงป่าไผ่ |
แลเห็นพระขรรค์แก้วแววไว | วางอยู่ที่ในพนาลี |
ให้ฉงนสนเท่ห์วิญญาณ์ | ของใครมาทิ้งไว้ที่นี่ |
หรือนักสิทธ์วิทยาราวี | ต่อตีชิงนารีผลกัน |
ที่น้อยศักดาวราฤทธิ์ | จึ่งสิ้นชีวิตอาสัญ |
คิดแล้ววางกระเช้าเผือกมัน | หยิบพระขรรค์กวัดแกว่งไปมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายกุมภกาศยักษา |
ครั้นแสงวามวาบปลาบตา | อสุราลืมเนตรแลไป |
คิดว่าบรมพรหมาน | ลงมาประทานอาวุธให้ |
พิศดูก็เห็นเป็นชีไพร | แกว่งพระขรรค์ชัยดั่งไฟกัลป์ |
มีความพิโรธโกรธนัก | ขุนยักษ์ผุดลุกขึ้นตัวสั่น |
กระทืบบาทแกว่งกระบองขบฟัน | กุมภัณฑ์ถาโถมโจมตี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
เหลือบแลไปเห็นอสุรี | ทะยานเข้าราวีถึงองค์ |
กวัดแกว่งพระขรรค์อันศักดา | งามสง่าดั่งท้าวครรไลหงส์ |
ผาดแผลงสำแดงฤทธิรงค์ | ตรงเข้าโจมจับกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เท้าขวาก็เหยียบเข่าซ้าย | เขม้นหมายจะฆ่าให้อาสัญ |
กลอกกลับจับกันพัลวัน | ต่างแทงต่างฟันประจัญตี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | กุมภกาศสิทธิศักดิ์ยักษี |
รบชิดไม่คิดชีวี | ได้ทีวิ่งผลุนหมุนมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ โลดโผนโจนจับพระลักษมณ์ | โหมหักเอาด้วยกำลังกล้า |
กวัดแกว่งกระบองเป็นโกลา | ตีซ้ายป่ายขวาไม่งดกร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
สัประยุทธ์ต้านทานราญรอน | ตะลุมบอนเข่นฆ่าราวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เท้าซ้ายนั้นเหยียบบ่าขวา | มือคว้าชิงกระบองยักษี |
เคล่าคล่องว่องไวในที | แกว่งพระขรรค์อันมีฤทธิไกร |
หวดด้วยกำลังสามารถ | ต้องกุมภกาศไม่ทนได้ |
เศียรนั้นก็ขาดกระเด็นไป | ล้มในพ่างพื้นพสุธา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด โอด
๏ ครั้นเสร็จซึ่งมล้างขุนมาร | น้องพระอวตารนาถา |
เก็บได้ผลไม้นานา | รีบมาอรัญกุฎี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงประณตบทบงสุ์ | ทูลองค์พระเชษฐาเรืองศรี |
ข้าน้อยไปพบอสุรี | อยู่ที่ในป่าเวฬุวัน |
ได้ต่อสัประยุทธ์รอนราญ | ขุนมารสิ้นชีพอาสัญ |
ทูลความตามได้สำคัญ | แล้วถวายพระขรรค์ฤทธิรอน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
รับพระขรรค์แก้วอลงกรณ์ | ภูธรพิศดูก็ยินดี |
ลูบหลังแล้วมีประกาศิต | พ่อร่วมชีวิตของพี่ |
ซึ่งเจ้าไปมล้างอสุรี | มีชัยแล้วได้พระขรรค์มา |
พี่เห็นเป็นเทพอาวุธ | ใช่ของมนุษย์ในใต้หล้า |
อานุภาพปราบได้ทั้งโลกา | แก้วตาเอาไว้สำหรับกร |
ตรัสแล้วก็ส่งพระขรรค์ให้ | อวยชัยด้วยความสโมสร |
ศัตรูหมู่พาลจะราญรอน | อย่าต่อกรเจ้าได้ทั้งธาตรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
ประนมกรรับพรพระจักรี | ทั้งพระขรรค์โมลีเทวัญ |
มีความชื่นชมโสมนัส | ดั่งได้สมบติสรวงสวรรค์ |
แล้วถวายผลไม้เผือกมัน | เปรี้ยวหวานสารพันที่ได้มา |
ทั้งน้ำผึ้งรวงกระจับสด | อันโอชารสของป่า |
เสร็จแล้วถวายบังคมลา | มายังที่อยู่ภูมี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | พระอวตารทรงสวัสดิ์รัศมี |
แต่มาอยู่โคทาวารี | เป็นที่วิเวกสงัดใจ |
จำเริญภาวนารักษาจิต | กองกูณฑ์กระลากิจโดยไสย |
เป็นนิจนิรันดร์ทุกวันไป | ภูวไนยสำราญวิญญาณ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ สาธุการ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายท้าวทศเศียรยักษา |
เสวยแสนสมบัติโอฬาร์ | ในทวีปลงกาธานี |
กับนางมณโฑนงลักษณ์ | เป็นอัคเรศมเหสี |
อันฝูงอนงค์นารี | มีประมาณได้หมื่นหกพัน |
ล้วนแต่ทรงโฉมประโลมจิต | พิศพักตร์เพียงอัปสรสวรรค์ |
อรชรอ้อนแอ้นวิไลวรรณ | เป็นเวรเกณฑ์กันประจำงาน |
ขับกล่อมฟ้อนรำบำเรอราช | พิณพาทย์จำเรียงเสียงหวาน |
แสนสุขดั่งองค์มัฆวาน | อันสถิตวิมานอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ คิดจะใคร่ไปเที่ยวประพาสไพร | ชมพรรณมิ่งไม้ในสิงขร |
จึ่งเสด็จย่างเยื้องบทจร | กรายกรออกท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | ภายใต้เศวตฉัตรฉายฉัน |
พร้อมหมู่อสุรกุมภัณฑ์ | ก้มเกล้าอภิวันท์ดาษดา |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | แก่ชิวหามารยักษา |
เราจะไปเล่นอรัญวา | โดยช้าสักเจ็ดราตรี |
ตัวเจ้าผู้มีฤทธิไกร | ต่างตาต่างใจของพี่ |
จงอยู่รักษาธานี | อย่าให้มีอันตรายภัยพาล |
ตรัสแล้วจึ่งสั่งเสนา | ให้เตรียมโยธาทวยหาญ |
อีกทั้งรถทรงอลงการ | ทั่วทั้งพนักงานนอกใน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มโหทรเสนาผู้ใหญ่ |
รับสั่งแล้วคลานออกไป | จากพระโรงชัยอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ปฐม
ยานี
๏ จัดเป็นพวงเพชรพยุหบาตร | โดยเสด็จประพาสมาแต่ก่อน |
หมู่หนึ่งเสื้อม่วงอรชร | กรกุมคาบศิลายืนยัน |
หมู่หนึ่งล้วนเหล่าเสื้อแดง | ถือหอกกวัดแกว่งดั่งจักรผัน |
หมู่หนึ่งใส่เสื้อสีจันทร์ | มือถือเกาทัณฑ์ลูกยา |
หมู่หนึ่งล้วนใส่เสื้อดำ | ถือง้าวกรายรำเงื้อง่า |
ม้าแซงช้างกันชนะงา | ค่ายคํ้าพังคาอลวน |
พร้อมทั้งรถทรงรถประเทียบ | ร่ายเรียบตามแนวแถวถนน |
เยียดยัดอัดแออึงอล | ต่างตนคอยเสด็จอสุรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
ไสยาสน์ในราษราตรี | กับมณโฑสิริกัลยา |
ครั้นพระอุทัยเรืองรอง | แสงทองจำรัสเวหา |
จึ่งชวนเมียรักร่วมชีวา | เสด็จมาสระสรงวาริน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ให้ไขท่อแก้วปทุมมาลย์ | สุคนธาหอมหวานตระการกลิ่น |
สอดสนับเพลาเชิงนาคินทร์ | ภูษาทรงเข้าบิณฑ์พื้นแดง |
นางทรงภูษิตพื้นทอง | สไบกรองรองตาดเครือแย่ง |
พญามารทรงสอดชายแครง | ทับทรวงลายแทงสังวาลวัลย์ |
นางทรงพาหุรัดจำรัสพลอย | สะอิ้งสร้อยตาบทับประดับถัน |
ท้าวทรงทองกรมังกรพัน | ตาบทิศกุดั่นอำไพ |
ต่างทรงธำมรงค์เพชรแพร้ว | มงกุฎแก้วกุณฑลดอกไม้ไหว |
ลงจากมหาปราสาทชัย | เสด็จไปด้วยฝูงนารี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
๏ งามดั่งบรมพรหมา | เลื่อนลอยจากฟ้าราศี |
ครั้นถึงเกยแก้วรูจี | อสุรีขึ้นรถพรรณราย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โทน
๏ รถเอยราชรถทรง | ดุมกงดวงแก้วมณีฉาย |
แอกงอนอ่อนงามสุพรรณพราย | บัลลังก์กรายล้วนรูปเทวัญ |
เทียบรถเทียมราชไกรสร | เผ่นโจนโผนจรดั่งจักรผัน |
ขุนรถขับรีบยืนยัน | ครบสรรพ์เครื่องสูงรูจี |
ปี่ฆ้องเป่าขานประสานกลอง | เสนาะกรรณสนั่นก้องอึงมี่ |
เสียงสะท้านแซ่สะเทือนปัถพี | ผงคลีพัดคลุ้มเมฆา |
รถประเทียบเปรียบประทับขับตาม | ระบัดงอนระเบียบงามงามสง่า |
หมู่ทหารมารโห่เป็นโกลา | กรีธาพลเข้าพนาลัย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ จึ่งชวนองค์อัครเทวี | กับอนงค์นารีน้อยใหญ่ |
ลงจากรถแก้วแววไว | เสด็จไปตามแนวมรรคา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ชมดง
๏ ลดเลี้ยวเที่ยวชมทิชากร | บินร่อนจับพรรณพฤกษา |
สร้อยทองจับต้นคนทา | สาลิกาจับแก้วพลอดกัน |
กระลิงจับกิ่งกาหลง | ฝูงหงส์จับไม้กะทั่งทัน |
ดอกบัวจับกิ่งสัตบรรณ | เขาขันบนต้นตะเคียนทอง |
นางนวลจับต้นอินทนิล | นกกระทาจับกระถินขันก้อง |
เค้าโมงจับโมกเมียงมอง | แก้วจับเกดร้องริมทาง |
แขกเต้าจับแต้วบนเขาสูง | ยูงจับยางว่อนฟ้อนหาง |
นกกวักจับกิ่งหูกวาง | นกลางจับเลียบเรียงราย |
การเวกบินว่อนมาจับหว้า | นกคล้าร่อนเคล้าจับขลาย |
พระพานางยุรยาตรนาดกราย | เดินชายเที่ยวชมสำราญใจ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นชายบ่ายแสงสุริย์ฉาน | จึงให้หยุดพลหาญน้อยใหญ่ |
ตั้งที่ประทับพลับพลาชัย | แรมอยู่กลางไพรพนาลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายองค์ชิวหายักษี |
ครั้นท้าวทศเศียรอสุรี | ออกจากธานีลงกา |
จึ่งเกณฑ์พหลพลมาร | แบ่งการปันด้านรักษา |
ป้อมค่ายหอรบทวารา | ทุกช่องเสมานางจรัล |
สารวัดตรวจตราทุกหน้าที่ | มีทั้งกองหนุนกองขัน |
นั่งยามตามไฟผลัดกัน | กำชับตีรันวุ่นไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ อันตัวพญาอสุรา | จะนอนสักเวลาก็หาไม่ |
เกรงจะมีเหตุเภทภัย | เที่ยวไปรอบราชธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศพักตร์ยักษี |
ประพาสไพรได้เจ็ดราตรี | อสุรีเป็นสุขสำราญ |
จึ่งสั่งมโหทรเสนา | จงเตรียมโยธาทวยหาญ |
ให้พร้อมไว้ในราตรีกาล | เราจะคืนราชฐานวังจันทน์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มโหทรเสนาคนขยัน |
รับสั่งพญากุมภัณฑ์ | ถวายบังคมคัลแล้วออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ปฐม
๏ ให้เตรียมรถรัตน์อัสดร | โยธาพลากรน้อยใหญ่ |
ดั้งกันแซงนอกแซงใน | พร้อมไว้คอยเสด็จอสุรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษา |
บรรทมในสุวรรณพลับพลา | กับมณโฑโสภาเทวี |
ฝ่ายฝูงสุรางค์พระกำนัล | ผลัดกันบำเรอดีดสี |
ประสานเสียงเพียงทิพดนตรี | เรื่อยรี่โอดพันบรรเลงลาน |
โหยหวนครวญขับพร้อมเพราะ | เสนาะรสสำเนียงเสียงหวาน |
ฟังเล่นเป็นสุขสำราญ | พญามารบรรทมหลับไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ กล่อม
ร่าย
๏ ครั้นดาวเดือนเลื่อนลับอัมพร | ทินกรเยี่ยมยอดเนินไศล |
เสียงวิหคนกร้องก้องไพร | ไก่แก้วเกริ่นขันสนั่นดง |
ก็ฟื้นตื่นจากไสยาสน์ | ชวนโฉมอัครราชนวลหง |
ชำระสระสนานสำราญองค์ | ทรงเครื่องเรืองอร่ามรูจี |
เสร็จแล้วขึ้นรถสุรกานต์ | กับมณโฑเยาวมาลย์มเหสี |
ให้เลิกพหลมนตรี | คืนเข้าบุรีลงกา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ แลเห็นฝูงสัตว์จัตุบาท | สิงหราชโคกระทิงมหิงสา |
แรดช้างกวางทรายพยัคฆา | เที่ยวอยู่ชายป่าพนาวัน |
จึ่งหยุดพิชัยราชรถ | สั่งทศโยธาพลขันธ์ |
ให้แยกเป็นปีกกาดากัน | สกัดกั้นล้อมจับมฤคี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่ทหารยักษี |
รับสั่งแล้วไล่ด้วยยินดี | โห่เร้าอึงมี่เป็นโกลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บ้างแทงบ้างจับสับสน | อลวนวุ่นวายไปในป่า |
กินเล่นเต้นรำเฮฮา | จวนเวลาสิ้นแสงทินกร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายองค์ชิวหาชาญสมร |
ตั้งแต่รักษาพระนคร | อดนอนเที่ยวตรวจกระเวนไป |
ถ้วนทั้งเจ็ดวันเจ็ดคืน | จะได้หลับสักตื่นก็หาไม่ |
ให้เงื่องงุนอิดโรยอ่อนใจ | คิดจะใคร่ระงับอินทรีย์ |
เกรงว่าจะมีศัตรู | จู่เข้ามาปล้นบุรีศรี |
ครั้นคํ่ายํ่าแสงพระรวี | อสุรีนิมิตกายา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ ตระ
๏ ใหญ่เท่าบรมพรหมาน | สุงตระหง่านเงื้อมงํ้าเวหา |
แลบมลิ้นปิดกรุงลงกา | อสุราก็หลับสนิทไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ อันหมู่พหลพลยักษ์ | ใครจักตรวจตราก็หาไม่ |
นั่งกรนนอนกรนสบายใจ | หลับไหลละเมอไม่สมประดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
หยุดไล่มฤคาจนราตรี | อสุรีเป็นสุขสำราญ |
จึ่งให้กลับราชรถทรง | เลิกหมู่จัตุรงค์ทวยหาญ |
ออกจากป่าระหงดงดาน | คืนเข้าราชฐานลงกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ รีบรถรีบทศโยธี | ข้ามคีรีหว่างทุ่งวุ้งป่า |
พอยํ่าฆ้องสองยามเวลา | ก็เข้ามาถึงเวียงชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เห็นเป็นมืดมนอนธการ | จะสำคัญบ้านเมืองก็ไม่ได้ |
ให้คิดฉงนสนเท่ห์ใจ | เหตุใดมาเป็นดั่งนี้ |
หรือมีไพรีมาบีฑา | สังหารชิวหายักษี |
ทำฤทธิ์ปิดราชธานี | จะต่อตีด้วยกูผู้ชัยชาญ |
คิดแล้วจึ่งมีพจนารถ | เหวยหมู่อำมาตย์ทวยหาญ |
จงเข้าไปดูเหตุการณ์ | ในราชฐานธานี |
เรียกหมู่ชาวป้อมล้อมวัง | ทั้งองค์ชิวหายักษี |
ซึ่งอยู่รักษาบุรี | ร้ายดีให้แจ้งกิจจา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หมู่มารทหารซ้ายขวา |
รับสั่งแล้วถวายบังคมลา | อสุราก็พากันเข้าไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ต่างคนต่างร้องตะโกนเรียก | เสียงเพรียกแผ่นพื้นแผ่นดินไหว |
อื้ออึงไปรอบเวียงชัย | ใครจะขานออกมาก็ไม่มี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพนาสูรยักษี |
พิโรธโกรธกริ้วเป็นโกลี | อสุรีผุดลุกขึ้นยืนยัน |
สิบปากขบเขี้ยวเคี้ยวกราม | แผดร้องคำรามดั่งฟ้าลั่น |
ตาแดงดั่งแสงเพลิงกัลป์ | ยี่สิบกรกุมสรรพสาตรา |
ให้เร่งรถเร่งทศทวยหาญ | แกว่งจักรสุรกานต์เงื้อง่า |
แสงดั่งฟ้าแลบแปลบปลาบตา | อสุราขว้างไปด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ โชติช่วงสว่างทั้งแดนดิน | ถูกมลิ้นชิวหายักษี |
ขาดกระเด็นไปจากอินทรีย์ | ก็สุดสิ้นชีวีทันใด ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่ทหารน้อยใหญ่ |
ซึ่งประจำป้อมค่ายทวารชัย | กองกระเวนนอกในพร้อมกัน |
บรรดาหญิงชายในพารา | เห็นชิวหาม้วยอาสัญ |
ตกใจเพียงสิ้นชีวัน | หน้าซีดตัวสั่นไม่สมประดี |
ต่างตนอุ้มลูกจูงหลาน | บ้างวิ่งบ้างคลานอึงมี่ |
คิดว่าข้าศึกมาราวี | วิ่งหนีไปทั้งพารา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษา |
ได้ยินเสียงอื้ออึงเป็นโกลา | ก็แลเห็นลงกากรุงมาร |
มีความชื่นชมโสมนัส | สำรวลตบหัตถ์ฉัดฉาน |
จึ่งมีพจนารถโองการ | ให้ทหารทำลายทวารา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พวกพลโยธีกองหน้า |
ครั้นได้รับสั่งเจ้าลงกา | อสุราวิ่งวุ่นเข้าไป |
บ้างกระทุ้งบ้างฟันอลหม่าน | ทวารเหล็กหักลงไม่ทนได้ |
ชายหญิงซึ่งอยู่ในเวียงชัย | ตกใจวิ่งร้องไม่สมประดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศพักตร์ยักษี |
ให้ขับรถแก้วมณี | เข้าในบุรีลงกา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงซึ่งหน้าพระลาน | เห็นชิวหามารยักษา |
ต้องจักรสุดสิ้นชีวา | อสุราตระหนกตกใจ |
พิศพักตร์อนุชาแล้วอาวรณ์ | แสนทุกข์ทอดถอนใจใหญ่ |
จนถึงเกยแก้วแววไว | ตะลึงไปมิได้พาที |
จึ่งเสด็จลงจากรถทรง | กับองค์มณโฑมเหสี |
ขึ้นปราสาทรัตน์มณี | เข้าที่สิริไสยา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายนวลนางสำมนักขา |
แจ้งว่าองค์พระภัสดา | ต้องจักราวุธของพี่ชาย |
สิ้นชาติสิ้นชีพชีวัน | ตกใจตัวสั่นขวัญหาย |
ลุกขึ้นตีอกวุ่นวาย | สยายผมวิ่งมาทันที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งเข้ากอดบาท | พระสามีธิราชยักษี |
จิตใจไม่เป็นสมประดี | โศกีสะอื้นร่ำไร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
โอ้
๏ โอ้ว่าปิ่นเกล้าของเมียเอ๋ย | กรรมสิ่งใดเลยมาซัดให้ |
เสียแรงตรำตรากลำบากใจ | เที่ยวไปตรวจตราพลากร |
รอบราชนิเวศน์เขตขัณฑ์ | เจ็ดคืนเจ็ดวันไม่หยุดหย่อน |
ยามสรงไม่สรงสาคร | ยามนอนไม่นอนสักเวลา |
สุจริตภักดีต่อพี่นัก | รักษาบ้านเมืองไว้ท่า |
หวังว่าจะฝากกายา | อนิจจาควรหรือไม่ปรานี |
แม้นว่าผัวข้าทำผิด | ถึงจะผลาญชีวิตควรที่ |
ร่ำพลางพิศพักตร์พระสามี | โศกีเพียงสิ้นชีวัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
๏ ครั้นฟื้นค่อยคืนวิญญาณ | นางมารกริ้วโกรธตัวสั่น |
สองตาดั่งหนึ่งเพลิงกัลป์ | หุนหันไปปราสาทเจ้าลงกา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงยืนร้องไปแต่ไกล | เหตุใดบรมเชษฐา |
พาเมียไปเล่นอรัญวา | ให้ผัวข้าอยู่เฝ้าธานี |
กลางคืนกลางวันแต่เที่ยวตรวจ | ทุกหมวดโยธายักษี |
ไม่เป็นกินเป็นนอนสักนาที | มิให้มีเหตุเภทภัย |
พระองค์กลับมาไม่ไถ่ถาม | กริ้วโกรธวู่วามดั่งเพลิงไหม้ |
ผลาญชีพชีวันบรรลัย | ความผิดสิ่งใดให้ว่ามา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษา |
ครั้นเห็นน้องท้าวโกรธา | โศกายืนร้องมาแต่ไกล |
ความรักความเสียดายน้องเขย | เงยหน้าขึ้นแล้วก็ร้องไห้ |
ลุกจากแท่นแก้วแววไว | เสด็จไปรับองค์นงคราญ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งจูงพระกร | บทจรขึ้นแท่นมุกดาหาร |
รับขวัญแล้วมีโองการ | เจ้าร่วมวิญญาณอย่าโกรธา |
อันผัวขององค์อรไท | ซึ่งบรรลัยสิ้นชีพสังขาร์ |
พี่รักดั่งดวงนัยนา | โทษาสิ่งใดก็ไม่มี |
ทั้งนี้ผลกรรมมาจำผลาญ | บันดาลดลใจยักษี |
รักษาเมืองหรือทำเช่นนี้ | คิดว่าไพรีมาชิงชัย |
แต่ร้องเรียกวุ่นวายเป็นหลายหน | ใครจะขานสักคนก็หาไม่ |
สำคัญว่าเสียกรุงไกร | ขัดใจจึ่งขว้างจักรมา |
หวังว่าจะล้างปัจจามิตร | ให้สิ้นชีวิตสังขาร์ |
มิรู้เป็นองค์อนุชา | ว่าพลางโศการ่ำไร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โอด
๏ สร่างโศกจึ่งปลอบด้วยสุนทร | เจ้าอย่าอาวรณ์ละห้อยไห้ |
กรรมแล้วก็จำจะบรรลัย | อย่าน้อยใจพี่เลยเทวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสำมนักขายักษี |
ได้ฟังมัธุรสวาที | ค่อยคลายวายที่โศกา |
น้อมเศียรอภิวาทน์บาทบงสุ์ | องค์พระบรมเชษฐา |
แล้วเสด็จลีลาศยาตรา | กลับมาที่อยู่นงลักษณ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพนาสูรสิทธิศักดิ์ |
คิดถึงชิวหาน้องรัก | ซึ่งภักดีต่อองค์พญามาร |
แต่ผุดลุกผุดนั่งไม่นิทรา | จนสุริยาเรื่อแรงแสงฉาน |
เสด็จจากห้องรัตน์ชัชวาล | ออกพระโรงสุรกานต์พรายพรรณ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งมีพระราชวาที | สั่งมหาเสนีคนขยัน |
จงเร่งไปกะเกณฑ์กัน | ตั้งเมรุสุวรรณรจนา |
ให้พร้อมด้วยเครื่องประดับครบ | จะปลงศพอสุรีชิวหา |
ตามอย่างสุริย์วงศ์กษัตรา | อย่าช้าให้เสร็จในวันนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งเปาวนาสูรยักษี |
รับสั่งพระองค์ทรงธรณี | ถวายอัญชุลีแล้วออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งกะเกณฑ์กันให้ระดม | ทุกหมู่หมวดกรมน้อยใหญ่ |
ตั้งเป็นพระเมรุอำไพ | ก็เสร็จโดยในพระบัญชา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ แล้วเชิญศพชิวหากุมภัณฑ์ | ขึ้นสุวรรณพิชัยรัถา |
ไปยังพระเมรุโอฬาร์ | เข้ามหาบุษบกรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ กลองโยน
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยี่สิบกรยักษี |
กับสำมนักขาเทวี | เสด็จไปยังที่เชิงตะกอน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ต่างตนขมาลาโทษ | จุดเพลิงเริงโรจน์ประภัสสร |
โดยศรีสวัสดิ์สถาวร | เสร็จแล้วบทจรกลับมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
จับช้าปี่
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายนวลนางสำมนักขา |
ตั้งแต่เป็นม่ายภัสดา | กัลยารัญจวนป่วนใจ |
จะใคร่หาคู่สู่สม | มาภิรมย์ชมชิดพิสมัย |
สระสรงทรงเครื่องอำไพ | ขึ้นไปเฝ้าองค์อสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงนบนิ้วอภิวาทน์ | แทบบาททศเศียรผู้พี่ |
ทูลว่าอันตัวน้องนี้ | ไม่มีความสุขสักเวลา |
ลูกรักจากอกแล้วมิหนำ | ผัวซ้ำสิ้นชีพสังขาร์ |
อันกุมภกาศอสุรา | นั้นข้ามมหาสมุทรไป |
ตั้งจำเริญฤทธิ์พิธีการ | ช้านานหากลับมาไม่ |
ข้านี้หนักอกหนักใจ | จะลาไปเที่ยวหาในอารัญ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ได้ฟังน้องท้าวรำพัน | จึ่งบัญชาตอบวาที |
ซึ่งเจ้าจะข้ามสมุทรไป | ก็ตามแต่นํ้าใจนางโฉมศรี |
แต่อย่าอยู่ช้าหลายราตรี | เทวีจงเร่งกลับมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึ่งนวลนางสำมนักขา |
ฟังราชวาทีก็ปรีดา | ดั่งได้ฟากฟ้าสุราลัย |
กราบลงกับบาทพระยายักษ์ | ดวงพักตร์ผ่องเพียงแขไข |
แย้มสรวลสำรวลสำราญใจ | กลับไปห้องแก้วแพรวพราย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
ชมตลาด
๏ จึ่งสระสรงทรงสุคนธ์หอมหวน | ผัดพักตร์นวลละอองส่องฉาย |
แล้วทรงโขมพัสตร์ฉลุลาย | กระหนกกลายรูปกินรีรำ |
ทรงสไบตาดทองกรองริม | สอดสีทับทิมงามขำ |
สะอิ้งแก้วแกมบุษราคัม | ประจำยามเนาวรัตน์จำรัสพลอย |
ทองกรตาบทับประดับถัน | สังวาลวัลย์แสงระยับดั่งหิ่งห้อย |
ทรงมงกุฎแก้วกระหนกลอย | กรรเจียกเพชรพร้อยพรายตา |
แต่งองค์เอี่ยมโฉมประโลมจิต | งอนจริตให้เหมือนเมขลา |
เยื้องกรายสอดส่ายนัยนา | กัลยาออกจากเวียงชัย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ ฉุยฉาย
๏ เที่ยวเตรนกระเวนหาคู่ | ดูใครจะต้องตาก็หาไม่ |
ยิ่งกำหนัดกลัดกลุ้มคลุ้มใจ | ก็เหาะข้ามสมุทรไปด้วยฤทธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงฟากฝั่งสาคร | บทจรตามแถวแนวป่า |
เที่ยวเสาะแสวงทุกแห่งมา | จนถึงโคทาวารี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ชุบ
ช้าปี่
๏ เมื่อนั้น | พระจักรแก้วทรงสวัสดิ์รัศมี |
ตั้งพรตกองกูณฑ์พิธี | โดยเพศโยคีชีไพร |
เนาในศาลาทิพาวาส | ซึ่งโกสีย์ประสาทสรรค์ให้ |
ปราศจากทุกข์โศกโรคภัย | ตั้งใจภาวนารักษาฌาน |
กับพระลักษมณ์นางสีดาโฉมยง | สามองค์เป็นสุขเกษมศานต์ |
ไม่มีศัตรูหมู่มาร | จะมาแผ้วพานถึงกุฎี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ครั้นเวลาจวนแจ้งแสงทอง | ปักษาเพรียกพร้องอึงมี่ |
เคยชำระสระสรงวารี | ก็เสด็จจรลีลงมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายนวลนางสำมนักขา |
แลไปเห็นพระจักรา | รูปทรงโสภาอำไพ |
พินิจพิศทั่วทั้งองค์ | มีความพิศวงสงสัย |
จะว่าพระอิศวรเรืองชัย | ก็ไม่มีสังวาลนาคี |
จะว่าพระนารายณ์ฤทธิรอน | ก็ไม่เห็นพระกรเป็นสี่ |
จะว่าท้าวธาดาธิบดี | เหตุใดไม่มีเป็นสี่พักตร์ |
แม้นจะว่าท้าวหัสนัยน์ | ไยจึ่งไม่ทรงวิเชียรจักร |
จะว่าพระสุริยาวรารักษ์ | ก็ชักรถอยู่ในเมฆา |
ครั้นจะว่าองค์พระจันทร | ก็ผิดที่จะจรจากเวหา |
ชะรอยจักรพรรดิกษัตรา | มละสมบัติมาเป็นโยคี |
ยิ่งพิศยิ่งพิศวาสกลุ้ม | รสรักรึงรุมดั่งเพลิงจี่ |
อกใจไม่เป็นสมประดี | อสุรีคลั่งเคลิ้มวิญญาณ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เพลง
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
ครั้นเสร็จโสรจสรงชลธาร | ผ่านฟ้ากลับมายังกุฎี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | นางสำมนักขายักษี |
เห็นเสด็จขึ้นจากนัที | จรลีไปบรรณศาลา |
ชะแง้แลตามจนลับเนตร | แสนเทวษเศร้าสร้อยละห้อยหา |
เดินกรายชายดูไม่เห็นมา | อสุราสะท้อนถอนใจ |
คอยจนสิ้นสีรวีวรรณ | แสงจันทร์ส่องแจ้งจำรัสไข |
พอเห็นถ้ำแก้วอำไพ | ก็เข้าไปอาศัยนิทรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
ช้า
๏ เอนองค์ลงกับสิงขร | ยอกรก่ายพักตร์ถวิลหา |
คะนึงโฉมพระทรงฤทธิ์ให้ติดตา | กามาเดือดดิ้นพันทวี |
จะทำไฉนนะอกเอ๋ย | จึ่งจะได้ชมเชยพระโฉมศรี |
ยังจะรู้หรือว่าน้องนี้ | หวังฝากชีวีชีวาลัย |
ครวญพลางแว่วเสียงนกร้อง | เอะพระเรียกน้องหรือไฉน |
ลุกขึ้นเหลียวแลแปรไป | คว้าไขว่ไม่พบภูธร |
ทรุดลงกอดมือตะลึงคิด | ราคร้อนรุมจิตดั่งพิษศร |
แต่เวียนลุกเวียนนั่งเวียนนอน | ทอดถอนฤทัยไปมา |
โอ้พระทรามรักของน้องเอ๋ย | ไฉนเลยไม่เสด็จมาหา |
ให้ข้าทนทุกขเวทนา | แต่ผู้เดียวโศกาอาลัย |
ตั้งแต่เวลาปฐมยาม | จะมืความผาสุกก็หาไม่ |
แต่นอนนั่งคลั่งคลุ้มกลุ้มใจ | จนอุทัยส่องฟ้าธาตรี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ กล่อม
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
กองกูณห์กาลาอาหุดี | สำรวมอินทรีย์ภาวนา |
จนดาวเดือนเลื่อนลับอัมพร | ทินกรเยี่ยมยอดภูผา |
จึ่งเสด็จจากบรรณศาลา | ลงมายังท่าชลธาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | นางสำมนักขายอดสงสาร |
แอบอยู่ปากถํ้าสุรกานต์ | เห็นพระอวตารเสด็จมา |
มีความโสมนัสชื่นชม | วันนี้จะสมปรารถนา |
คิดแล้วร่ายเวทวิทยา | อสุรานิมิตอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
ชมตลาด
๏ งามทรงงามองค์อรชร | งามดั่งอัปสรในราศี |
งามคมงามขำงามที | งามเนตรไม่มีราคิน |
งามถันดั่งดวงบุษบง | งามขนงวงวาดดั่งคันศิลป์ |
งามเอวอ่อนดั่งกินริน | งามสิ้นสารพางค์กายา |
เสร็จแล้วกรายกรลีลาศ | นวยนาดออกจากคูหา |
หยุดอยู่ที่ริมมรรคา | คอยท่าเสด็จบทจร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ ฉุยฉาย
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
ครั้นเสร็จสระสรงสาคร | ภูธรเสด็จขึ้นมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | จึ่งนวลนางสำมนักขา |
แอบอยู่ที่ริมมรรคา | เห็นพระยอดฟ้ายาใจ |
มีความประดิพัทธ์กำหนัดจิต | จะใคร่เชยชิดพิสมัย |
ย่างเยื้องชำเลืองเนตรคลาไคล | เข้าไปน้อมเกล้าอัญชุลี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ชุบ
๏ เมื่อนั้น | พระภุชพงศ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
ทอดพระเนตรไปเห็นนารี | รูปทรงส่งศรีวิไลวรรณ |
จิ้มลิ้มพริ้มเพราแน่งน้อย | แช่มช้อยดั่งอัปสรสวรรค์ |
พักตร์ละอองผ่องเพียงดั่งดวงจันทร์ | ทรงธรรม์ฉงนสนเท่ห์ใจ |
อันในหิมวาป่าเปลี่ยว | หญิงเดียวไม่อาจมาได้ |
หรือนางนาคาสุราลัย | ยักขินีผีไพรมารยา |
หากแสร้งแปลงกายอุบายกล | จะประจญพรตกูกระมังหนา |
ยิงพิศยิ่งคิดสงกา | ผ่านฟ้าจึ่งกล่าววาที |
เจ้านี้นามกรชื่อใด | บ้านเมืองอยู่ไหนนะโฉมศรี |
มาไยแต่ผู้เดียวนี้ | ในที่อรัญกันดาร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสำมนักขายอดสงสาร |
ฟังเสียงฟังรสพจมาน | ปานอมฤตฟ้ายาใจ |
ซาบซ่านทุกขุมโลมา | ชายตาค้อนคมประนมไหว้ |
ข้าชื่อสำมนักขาทรามวัย | เป็นน้องท่านไททศกัณฐ์ |
ได้ผ่านลงการาชฐาน | สนุกปานแดนดาวดึงส์สวรรค์ |
อันตัวของข้านี้ร่วมครรภ์ | กุมภัณฑ์ถนอมดั่งดวงตา |
บัดนี้จะให้มีคู่ | สมสู่ด้วยวงศ์ยักษา |
น้องไม่จงใจเจตนา | จึ่งหนีออกมาพนาลี |
บุญนำมาพบพระทรงฤทธิ์ | สมคิดข้าบาทบทศรี |
จะขออยู่ปรนนิบัติในกุฎี | ไปกว่าชีวีจะวายปราณ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
ได้ฟังวาจานางมาร | ผ่านฟ้าจึ่งตรัสตอบไป |
ดูกรน้องท้าวทศพักตร์ | สุริย์วงศ์พงศ์ยักษ์สูงใหญ่ |
ว่าไยฉะนี้อรไท | ผิดเพศวิสัยอย่าเจรจา |
ตัวเราทรงพรตเป็นฤๅษี | อย่างนี้มิได้ปรารถนา |
จงเร่งกลับไปพารา | ให้เป็นผาสุกสถาวร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | นางสำมนักขาดวงสมร |
ได้ฟังบัญชาพระภูธร | ทำทีค้อนคมแล้วตอบไป |
อนิจจาควรหรือพระทรงลักษณ์ | มาสลัดตัดรักน้องได้ |
จงเมตตาข้าบ้างอย่าสูญใจ | ถึงผิดเพศวิสัยเป็นไรมี |
อันการภิรมย์สมสู่ | นางกินนรก็อยู่กับฤๅษี |
ฝ่ายข้าก็เป็นสตรี | จงรักภักดีพระทรงฤทธิ์ |
จะขออยู่เป็นโยมภูวนาถ | สนองบาทด้วยใจสุจริต |
ร่วมทุกข์ร่วมร้อนร่วมชีวิต | ไม่คิดกลับไปพารา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระหริรักษ์จักรแก้วนาถา |
ได้ฟังจึ่งตอบวาจา | ว่าไยฉะนี้ไม่มีอาย |
นี่เนื้อแพศยาทรลักษณ์ | อัปลักษณ์กว่าหญิงทั้งหลาย |
มายักเย้าเซ้าซี้กระแหย่งชาย | อีแสนร้ายมารยาอาธรรม์ |
เร่งเร็วมึงเร่งกลับไป | หาไม่จะม้วยอาสัญ |
ตรัสแล้วเสด็จจรจรัล | ไปยังอารัญกุฎี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | นางสำมนักขายักษี |
ฟังพระด่าว่าพาที | ดั่งวารีทิพมาเจือใจ |
ยิ่งแสนสวาทกลุ้มรุมรัก | จะถือคำหนักก็หาไม่ |
ชะแง้แลตามเสด็จไป | ฤทัยด่าวดิ้นพันทวี |
ให้มืดมนสุดทนการสวาท | ดั่งใจจะขาดลงกับที่ |
สติไม่เป็นสมประดี | ก็รีบจรลีตามมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงศาลาพนาเวศ | สอดส่ายนัยน์เนตรชะแง้หา |
จึ่งเห็นองค์อัครชายา | ทรงโฉมโสภาวิไลลักษณ์ |
อรชรอ้อนแอ้นทั้งอินทรีย์ | งามลํ้านารีในไตรจักร |
มีสิริวิลาสประหลาดนัก | ผิวพักตร์ผ่องเพียงจันทร |
สตรีเหมือนกันยังพิศวง | ตะลึงหลงด้วยความสโมสร |
นี่หรือพระยอดฟ้ามิอาวรณ์ | ตัดรอนกูเสียไม่อาลัย |
จำเป็นจะมล้างชีวัน | ชิงเอาผัวมันให้จงได้ |
คิดแล้วสำแดงฤทธิไกร | กลับไปเป็นรูปอสุรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ ตระ
๏ ขบเขี้ยวเคี้ยวฟันสนั่นก้อง | สองตาดั่งเพลิงจำรัสศรี |
เข้าในอรัญกุฎี | ไล่หยิกข่วนตีนางนงคราญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดสงสาร |
ตกใจวิ่งหนีนางมาร | ปิ้มปานชีวันจะบรรลัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ หน้าซีดตัวสั่นขวัญหาย | วุ่นวายหาสมประดีไม่ |
ร้องตรีดหวีดหวาดอึงไป | ภูวไนยจงช่วยชีวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
เห็นยักษาไล่นางเทวี | ภูมีกริ้วโกรธโกรธา |
ฉวยคว้าได้คันธนูศร | พระสี่กรกวัดแกว่งเงื้อง่า |
ไล่ตีไล่รันอสุรา | หวดซ้ายป่ายขวาพัลวัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์รังสรรค์ |
อยู่ในศาลาอารัญ | ได้ยินเสียงสนั่นเป็นโกลา |
แลเห็นยักษีไล่พี่นาง | พระเชษฐากั้นกางขวางหน้า |
พระองค์กริ้วโกรธโกรธา | ออกมาไล่จับอสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | นางสำมนักขายักษี |
เหลือบไปเห็นองค์พระจักรี | มีโฉมเลิศลักษณ์อำไพ |
นวลละอองดั่งทองนพมาศ | เสียวสวาทพูนเพิ่มพิสมัย |
งวยงงหลงแลตะลึงไป | อรไทลืมองค์พระรามา |
พิศพระหริวงศ์ทรงจักร | ก็ลืมแลพระลักษมณ์กนิษฐา |
ทั้งสองแม้นได้ภิรมยา | จะบำรุงเสน่หาให้เหมือนกัน |
ครั้นเห็นสีดางามกว่าตัว | ก็เกาหัวกริ้วโกรธมือสั่น |
โผนทะยานไล่รุกบุกบัน | จะฆ่าชีวันนางเทวี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | สองพระองค์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
กริ้วโกรธพิโรธคืออัคคี | เข้าไล่ราวีอสุรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ พระลักษมณ์กวัดแกว่งพระแสงขรรค์ | ออกกั้นสกัดขวางหน้า |
องค์พระหริรักษ์ศักดา | เงื้อง่ามหาธนูทรง ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ฝ่ายสำมนักขายิ่งบ้าใจ | ไล่ตีสีดานวลหง |
องค์พระจักรกฤษณ์ฤทธิรงค์ | หวดลงต้องกายอสุรี |
พระลักษมณ์ผาดโผนโจนมา | ถีบต้องอสุรายักษี |
หันเหเซไปทันที | ล้มลงเหนือที่สุธาธาร |
แล้วโจนขึ้นเหยียบอกไว้ | แกว่งพระขรรค์ชัยฉายฉาน |
จึ่งมีสีหนาทบัญชาการ | ว่าเหวยอีมารอัปรีย์ |
มึงนี้สาธารณ์ทรลักษณ์ | ชั่วช้าอัปลักษณ์บัดสี |
เหตุใดมาทำเช่นนี้ | ไม่กลัวชีวีจะมรณา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ครั้นว่าจะฆ่าให้มึงตาย | โลกจะยินร้ายไปภายหน้า |
กูนี้จะไว้ชีวา | แต่จะทำให้สานํ้าใจ |
ว่าพลางตัดกรรอนบาท | ทั้งจมูกหูขาดเลือดไหล |
แล้วไล่ตีซ้ำกระหน่ำไป | จนไกลอรัญกุฎี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด