- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
คำอธิบาย
รามเกียรติ์ เป็นวรรณคดีที่มีความผูกพันอยู่กับวิถีชีวิตไทยแต่โบราณกาล ปรากฏเป็นชื่อบ้านนามเมือง มงคลนาม หรือมีอิทธิพลสอดแทรกอยู่ในวรรณคดีและตำนานต่างๆ เช่น ในหลักศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชด้านที่ ๓ ได้กล่าวถึง สถานที่ชื่อถ้ำพระราม แม้แต่ธรรมเนียมนิยมในการขนานพระนามของพระมหากษัตริย์ว่า พระรามาธิบดี พระราเมศวร พระนารายณ์ การตั้งชื่อบ้านนามเมือง เช่น อยุธยา บึงพระราม ก็ล้วนได้รับอิทธิพลจากรามเกียรติ์ทั้งสิ้น
การเผยแพร่วัฒนธรรมของอินเดียสู่แดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
รามเกียรติ์ มิใช่วรรณกรรมท้องถิ่นดั้งเดิมของไทย หรือของดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากแต่มีที่มาจาก “รามายณะ” ของอินเดีย ซึ่งจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ดินแดนแถบนี้ได้มีการติดต่อกับชาวอินเดีย ราวพุทธศตวรรษที่ ๗ – ๘ เนื่องจากดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสินค้าที่ชาวอินเดียต้องการ คือ เครื่องเทศ ยางไม้หอม และไม้หอม เป็นต้น การติดต่อค้าขายนี้มีผลพวงที่ตามมา คือการติดต่อเผยแพร่ทางอารยธรรม มีทั้งที่ชาวอินเดียเป็นผู้นำมาเผยแพร่โดยตรง รับผ่านจากประเทศข้างเคียง และจากการที่คนในดินแดนนี้เดินทางไปศึกษาในอินเดีย และรับเอาอารยธรรม ความรู้ และตำราต่างๆ มาเผยแพร่
รามายณะ เริ่มเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อใดไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด แต่เข้าใจว่าพ่อค้าชาวอินเดียคงเป็นผู้นำมาเผยแพร่ในไทย แต่แรกคงมาในรูปแบบของการถ่ายทอดทางมุขปาฐะ คือเป็นการเล่า “นิทานเรื่องพระราม” และต่อมาจึงได้จดจารลงเป็นวรรณกรรมของไทย ซึ่งการจดจารนี้มิใช่เป็นการคัดลอก แต่เป็นการประพันธ์ขึ้นใหม่ตามฉันทลักษณ์ร้องกรองไทย และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบเนื้อเรื่องของรามเกียรติ์กับรามายณะแล้ว พบว่ารามเกียรติ์ของไทยมีรายละเอียดเนื้อหาไม่ตรงกับรามายณะฉบับหนึ่งฉบับใดโดยเฉพาะ แต่มีความพ้องกับรามายณะของอินเดียหลายฉบับ และมีบางส่วนพ้องกับรามายณะของประเทศเพื่อนบ้าน เข้าใจได้ว่ารามเกียรติ์ของไทยคงมิได้ถ่ายทอดจากรามายณะฉบับใดโดยตรง หากแต่ประมวลเอาเนื้อเรื่องจากสำนวนต่างๆ โดยคัดเลือกในส่วนที่เหมาะสมกับวัฒนธรรม อุปนิสัยและวิสัยทัศน์ของคนไทย
รามายณะเผยแพร่เข้าสู่ประเทศไทยมีทั้งที่มาจากอินเดียโดยตรง หรือผ่านชาติเพื่อนบ้าน เช่น ชวา มลายู โดยมีการเผยแพร่เข้ามาเป็นระยะๆ มิได้มาในครั้งเดียว ทั้งในรูปแบบของวรรณกรรมมุขปาฐะและวรรณกรรมลายลักษณ์ จึงทำให้เนื้อเรื่องผิดเพี้ยนไปบ้าง โดยสรุปรามเกียรติ์ของไทยมีแหล่งที่มาดังนี้
แหล่งที่มาของรามเกียรติ์
๑. นิทานเรื่องพระราม เป็นนิทานพื้นบ้านที่ชาวอินเดียจำได้ติดปากติดใจ มีความเก่าแก่ก่อนรามายณะของวาลมิกิ
๒. รามายณะของวาลมิกิ เนื้อเรื่องส่วนใหญ่ของรามเกียรติ์รับจากรามายณะฉบับนี้ แต่ได้มีการดัดแปลง ตัดทอน และนำเนื้อเรื่องของรามายณะฉบับอื่นมาเพิ่มเติมด้วย เช่น
- ตอนอภิเษกพระรามกับนางสีดา ในฉบับนี้ พระลักษมณ์ได้อภิเษกกับนางอุรมิลาน้องนางสีดา พระภรต (ไทย : พรต) พระสัตรุดอภิเษกกับนางมาณฑวีและนางศรุตกีรติ หลานท้าวชนกตามลำดับ ซึ่งในรามเกียรติ์ของไทยไม่มี แต่กลับมีการเพิ่มรายละเอียดปลีกย่อยจากฉบับทมิฬเข้าไป เพื่อเพิ่ม “รส” ให้วรรณกรรม คือ ให้พระรามได้สบตากับนางสีดาตอนยกศร
- ในรามเกียรติ์ของไทย นางสวาหะถูกนางกาลอัจนาสาปให้ “ยืนตีนเดียวเหนี่ยวกินลม” เพราะโกรธที่ไปบอกความจริงกับพระฤๅษีโคดม แต่ในฉบับของวาลมิกินี้ นางกาลอัจนาเป็นผู้ถูกฤๅษีโคดมสาป เป็นต้น
๓. รามายณะของอินเดียตอนใต้ ได้แก่ รามายณะของทมิฬและรามายณะของเบงคลี จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่าชาวอินเดียส่วนใหญ่ที่ติดต่อกับชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นชาวอินเดียตอนใต้ ดังนั้น รามเกียรติ์ของไทยจึงรับเอาอิทธิพลมาจากรามายณะของอินเดียตอนใต้ไว้ด้วย เนื้อเรื่องในรามเกียรติ์ของไทยที่ต่างจากฉบับของวาลมิกิ ส่วนใหญ่พบว่าตรงกับฉบับของทมิฬและเบงคลีนี้ เนื้อเรื่องในรามเกียรติ์ที่พ้องกับฉบับนี้ แต่ไม่พบในฉบับวาลมิกิ เช่น
- เทพบริวารของพระนารายณ์อวตารมาเกิดเป็นพระพรต พระสัตรุด และพระลักษมณ์
- เรื่องของนางมณีเมขลาและรามสูร
- พระรามกับนางสีดาสบตากันตอนยกศร
- พระมงกุฎและพระลบลองศร
- พระรามรบกับพระมงกุฎ
ฯลฯ
จะเห็นได้ว่าเนื้อเรื่องส่วนที่เพิ่มเติมมานี้ ไทยเรารับเอามาเพื่อช่วยชูรสรามเกียรติ์ให้สนุกสนานขึ้น
๔. หนุมานนาฏกะ เนื้อเรื่องรามเกียรติ์ที่ตรงกับหนุมานนาฏกะแต่ไม่มีในฉบับวาลมิกิ เช่น
- ตอนหนุมานถวายแหวน แต่ในรามเกียรติ์ฉบับของไทยเพิ่มตอนหนุมานลองฤทธิ์กับฤๅษี
- ตอนนางลอย
- ตอนจองถนน แต่ในรามเกียรติ์ฉบับของไทยเพิ่มเนื้อเรื่องให้หนุมานวิวาทกับนิลพัท และเพิ่มตอนหนุมานกับนางสุวรรณมัจฉา
- ตอนหอกโมกขศักดิ์
- ตอนศรพรหมาสตร์ มีตอนอินทรชิตแปลง และหนุมานหักคอช้างเอราวัณ (ไม่มีในฉบับวาลมิกิ)
- ตอนมณโฑหุงน้ำทิพย์
- ตอนหนุมานถวายตัวกับทศกัณฐ์
๕. หิกะยัตศรีราม ของมลายู เช่น ตอนนางสีดาทิ้งแหวนลงในปากนกจตายุ (ไทย : สดายุ) เพื่อแสดงว่ามหาราชาราวณะ (ไทย : ทศกัณฐ์) ลักนางมา
๖. วิษณะปุราณะ ไทยรับมาในเรื่องเกี่ยวกับการกำเนิดตัวละคร
๗. รามายณะสันสกฤต ฉบับองคนิกาย เนื้อเรื่องที่พ้องกับของไทยคือ ตอนพระมงกุฎพระลบ
๘. ส่วนที่ไทยแต่งเติม โดยเพิ่มเติม คติชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีแบบไทยๆ ซึ่งไม่พบในฉบับอื่น เช่น
- การฆ่าหนุมานด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ใส่ครกตำ ให้ช้างแทงและฟันแทงด้วยอาวุธ เป็นต้น
- การปูนบำเหน็จทหารด้วยการให้นางกำนัล ทรัพย์ศฤงคาร ผ้าชุบสรง ในรามายณะมีเพียงการชมเชยเท่านั้น
- หนุมานดับไฟที่หางด้วยน้ำบ่อน้อยหรือน้ำลาย แต่รามายณะดับด้วยน้ำในมหาสมุทร
- ให้พระอินทร์ลงมาช่วยพระรามแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ถึง ๕ ครั้ง
- ทศกัณฐ์ถอดดวงใจ และกล่องดวงใจของทศกัณฐ์
ฯลฯ
วรรณกรรมรามเกียรติ์ยุคก่อนฉบับพระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ ๑
วรรณกรรมเรื่องรามเกียรติ์ที่แต่งขึ้นก่อนพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ไม่รวมวรรณกรรมท้องถิ่น ได้แก่
๑. นิราศสีดา หรือราชาพิลาปคำฉันท์
๒. บทละครเรื่องรามเกียรติ์ สมัยอยุธยา ตอนพระรามประชุมพล - องคตสื่อสาร
๓. คำพากย์เรื่องรามเกียรติ์ สมัยอยุธยา ตอนนางสำมนักขายอโฉมนางสีดา – กุมภกรรณล้ม
๔. รามเกียรติ์คำฉันท์ สมัยอยุธยา จำนวน ๔ เล่มสมุดไทย
๕. โคลงทศรถสอนพระราม พระราชนิพนธ์ ใน สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
๖. โคลงพาลีสอนน้อง พระราชนิพนธ์ ใน สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
๗. บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ ใน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มี ๔ ตอน คือ ตอนหนุมานเกี้ยวนางวานริน ตอนท้าวมาลีวราชว่าความ ตอนทศกัณฐ์ตั้งพิธีทรายกรด และตอนพระมงกุฎ
เมื่อพิจารณาดูวรรณกรรม “รามเกียรติ์” สมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ที่หลงเหลืออยู่ จะเห็นได้ว่าจะหาฉบับที่สมบูรณ์ครบถ้อยกระบวนความมิได้ เพราะชำรุดเสียหายจากภัยสงครามเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำนุบำรุงวรรณกรรมของชาติไว้ให้เป็นสมบัติของอนุชนรุ่นหลังสืบไป และเพื่อเป็นสิ่งแสดงความเจริญของบ้านเมือง ดังความใน “ตำนานละครอิเหนา” พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า
“การมหรสพต่างๆ ซึ่งเสื่อมทรามแต่ครั้งเสียกรุงเก่ามากลับมีบริบูรณ์ขึ้น เมื่อในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ เพราะพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพยายามก่อกู้การทั้งปวงโดยมีพระราชประสงค์จะให้กรุงเทพมหานคร รุ่งเรืองเหมือนเมื่อครั้งบ้านเมืองดีอยู่แต่ก่อน แม้เครื่องมหรสพเป็นต้นว่าโขนหุ่นของหลวงก็โปรดให้หัดขึ้นทั้งฝ่ายวังหลวงและวังหน้า แต่ละครผู้หญิงนั้นมีแต่ในพระราชวังหลวงแห่งเดียวตามแบบกรุงเก่า บทละครในที่ขาดหายไปแต่ก่อน ก็โปรดให้ขอแรงพระราชวงศานุวงศ์ และข้าราชการที่เป็นกวีสันทัดทางบทกลอน ช่วยกันแต่งถวาย ทรงตรวจแก้ไข แล้วตราเป็นบทพระราชนิพนธ์ไว้เป็นต้นฉบับสำหรับพระนครครบทุกเรื่อง มีเรื่องรามเกียรติ์ ๑๑๖ เล่มสมุดไทย เรื่องอุนรุท ๑๘ เล่มสมุดไทย เรื่องดาหลัง ๓๒ เล่มสมุดไทย เรื่องอิเหนา ๓๒ เล่มสมุดไทย”
บทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์นี้ ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น เมื่อวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๑๕๙ (พ.ศ. ๒๓๔๐) โดยทรงแสดงพระราชปณิธานไว้ในบทร่ายเกริ่นนำเรื่อง ดังนี้
“เกิดเกื้อเพื่อสมภารบพิตร กระวีวิธหลายหลาก รู้มลากหลายฉันท์ นิพันธ์โคลงกาพย์กลอน ภูธรดำริดำรัส จัดจองทำนองทำนุก ไตรดายุคนิทาน ตำนานเนื่องเรื่องรามเกียรติ์ เบียนบรปักษ์ยักษ์พินาศ ด้วยพระราชโวหาร ปานสุมาลัยเรียบร้อยสร้อยโสภิต พิกสิตสาโรช โอษฐสุคนธ์วิมลหื่นหอม ถนอมถนิมประดับโสต ประโยชน์ฉลองเฉลิม เจิมจุฑาทิพย์ประสาท ประกาศยศเอกอ้าง องค์บพิตรพระเจ้าช้าง เผือกผู้ครองเมือง ฯ”
และในโครงกระทู้ จบบริบูรณ์ ท้ายเรื่อง ดังนี้
จบ เรื่องราเมศล้าง | อสุรพงษ์ |
บ พิตรธรรมิกทรง | แต่งไว้ |
ริ ร่ำพร่ำประสงค์ | สมโภช พระนา |
บูรณ์ บำเรอรมย์ให้ | อ่านร้องรำเกษม ฯ |
เหตุที่ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องนี้ กล่าวโดยสรุปก็คือ
เพื่อเฉลิมพระเกียรติของพระองค์เอง ตามประเพณีนิยมที่ถือเอาความเจริญทางวัฒนธรรมเป็นเครื่องวัดความมั่นคงของแผ่นดินในขณะนั้น
เพื่อเป็นการรวบรวมวรรณคดีอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติไว้มิให้สูญสิ้นไป โดยเฉพาะบทละครเรื่องรามเกียรติ์ ฉบับพระราชนิพนธ์นี้ นับเป็นฉบับที่สมบูรณ์ที่สุด เนื้อเรื่องเริ่มตั้งแต่หิรันตยักษ์ม้วนแผ่นดิน จนถึงอภิเษกพระรามและนางสีดา และสองกุมารปราบคนธรรพ์ บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขถือเป็นจบกระบวนความ ดังนั้น เมื่อมีการศึกษาค้นคว้ารามเกียรติ์ฉบับอื่นๆ จึงมักจะศึกษาเปรียบเทียบกับฉบับนี้ด้วย
เพื่อให้อ่านร้องรำเกษม แต่การที่จะทั้งอ่าน ร้อง และรำ ให้เกษมเสมอกันนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะเหตุที่วัตถุประสงค์และลีลาการประพันธ์ของกลอนอ่านและกลอนบทละครนั้นต่างกัน กลอนอ่านนั้นผู้แต่งจะใช้พรรณนาโวหาร มีบทชมโฉมกระบวนต่างๆ ชมการทรงเครื่องของตัวละคร รายละเอียดยืดยาวได้ไม่จำกัดและจะแสดงความสามารถทางกวีโวหาร เล่นสัมผัสนอกสัมผัสในอย่างแพรวพราวโดยมุ่งหวังที่จะให้ผู้อ่านเห็นภาพพจน์จากตัวอักษร และเสพอรรถรสความไพเราะในน้ำเสียงของบทกลอนเป็นสำคัญ ในขณะที่กลอนบทละครนั้นจะเสพความงามได้เมื่อนำมาแสดง เพราะกวีมุ่งแต่งขึ้นเพื่อใช้ในการแสดงละครรำ คำที่ใช้จึงต้องคำนึงว่าเป็นคำที่สามารถประดิษฐ์ออกเป็นท่ารำได้มากกว่าจะคำนึงถึงความไพเราะ ลีลาการประพันธ์จะต้องกระชับ เพราะต้องคำนึงถึงเวลาที่ใช้ในการแสดงด้วย ดังจะเห็นได้จากความแตกต่างออกไปในบทละครรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ ใน รัชกาลที่ ๒ ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเพื่อการแสดงละครในโดยเฉพาะ บางบทบางตอน แม้ขณะที่ทรงพระราชนิพนธ์จะเห็นว่าไพเราะงดงามดีแล้ว แต่หากตอนแสดงกลับขัดเขินไม่งดงาม ก็จะทรงแก้ไขเพื่อให้เหมาะแก่ท่ารำ
อนึ่งในการตรวจสอบชำระครั้งนี้ ได้ตรวจสอบชำระใหม่กับต้นฉบับหนังสือสมุดไทย เนื่องจากฉบับที่พิมพ์เผยแพร่มาแต่เดิมนั้นบางบทบางตอนมีการแก้ไขดัดแปลงในชั้นหลัง บางแห่งมีการเพิ่มเติมหรือแก้ไขถ้อยคำสำนวน บางแห่งมีการตัดทอนออก ทั้งนี้มีการปรับสัมผัสให้รับกัน ดังนั้น เพื่อความถูกต้องสมบูรณ์จึงได้ตรวจสอบชำระใหม่ทั้งหมด บางแห่งที่ลักลั่นหรือมีข้อแก้ไขมากจะทำเชิงอรรถอธิบายไว้ทุกแห่ง โดยมีหลักเกณฑ์ในการแก้ไขโดยสังเขปดังนี้
๑. แก้ไขคำตามหนังสือสมุดไทยเพื่อให้คงความหมายเดิมหรือให้ถูกความหมาย เช่นคำว่า มาลาช ท้องพัน เป็นต้น ดังนี้
- คำว่ามาลาช ใช้ตามหนังสือสมุดไทยซึ่งใช้ตรงกันทุกฉบับ เข้าใจว่าดัดคำมาจากมาลาลาช ซึ่งหมายถึงข้าวตอกดอกไม้ ส่วนในการพิมพ์ก่อนหน้านี้ใช้คำว่า มาลาลาศ ซึ่งทำให้ความหมายผิดไป
- คำว่าท้องพัน ในคำผ้าท้องพัน “ท้อง” เป็นคำศัพท์ช่างศิลปไทยในด้านการทอผ้า หรือพูดถึงผ้าทอต่างๆ ท้องหมายถึงพื้นผ้า คำว่า “พัน” หมายถึง พรรณ หรือ วรรณะ ดังนั้น คำว่าสีผ้าท้องพัน จึงหมายถึงผ้าสีพื้นนั่นเอง ส่วนในการพิมพ์ก่อนหน้านี้ใช้คำว่า ผ้าทองพรรณ ซึ่งทำให้ความหมายผิดไป
๒. แก้ไขคำตามหนังสือสมุดไทย เพื่อรักษาสำนวนพระราชโวหารเดิม เช่นคำว่า จังไร นัที รัถา เป็นต้น
๓. แก้ไขคำตามหนังสือสมุดไทย เพื่อแสดงถึงการใช้ภาษาไทยในอดีต เช่นคำว่า
พญา ซึ่งมีความหมายถึงเจ้าเมืองหรือผู้ยิ่งใหญ่ ไม่ใช้ว่าพระยา ซึ่งหมายถึงฐานันดรศักดิ์ระดับหนึ่ง
ไอ้ ใช้ตามหนังสือสมุดไทยซึ่งใช้ตรงกันทั้ง ๑๓๗ เล่ม ไม่ใช้ว่าอ้าย
สังวาลย์วัลย์ หมายถึง สายสังวาล ไม่ใช้ว่าสังวาลวรรณ
๔. แก้ไขความ ซึ่งถูกแก้ไขดัดแปลงในชั้นหลัง ให้ถูกต้องตามบทพระราชนิพนธ์ ซึ่งได้ลงเชิงอรรถบอกไว้ทุกแห่งด้วย
๕. แก้ไขการใช้คำ เมื่อนั้น บัดนั้น ตามหนังสือสมุดไทยซึ่งใช้ตรงกันทุกฉบับ ซึ่งในปัจจุบันเข้าใจกันว่า เมื่อนั้นใช้กับตัวละครระดับพระมหากษัตราธิราชหรือเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ระดับสูง เช่น พระราม พระลักษมณ์ นางสีดา ทศกัณฐ์ และบัดนั้นใช้กับตัวละครทั่วไป เช่น องคต หนุมาน พิเภก เป็นต้น เสมอไป ในบทพระราชนิพนธ์นั้นการใช้คำ เมื่อนั้น บัดนั้น สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานะและศักดิ์ศรีของตัวละคร ซึ่งรวมไปถึงสถานที่อันกำหนดบทบาทของตัวละครด้วย กล่าวคือ ตัวละครสามารถมีศักดิ์ศรียิ่งใหญ่ในอาณาจักรของตัวเองได้ ตัวอย่างเช่น
๕.๑ หนุมาน เป็นตัวละครที่ใช้คำกลอน “บัดนั้น” แต่เมื่อทศกัณฐ์รับหนุมานเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว คำกลอนที่กล่าวถึงหนุมมานจะใช้ “เมื่อนั้น” แต่ขณะที่กลับมาเฝ้าพระรามก็กลับใช้ “บัดนั้น” อีก และจะใช้ “เมื่อนั้น” อีกเมื่อได้เป็นพระยาไวยวงศา แต่เมื่อกราบถวายบังคมคืนตำแหน่งขอเป็นเพียงหนุมานตามเดิมก็จะกลับใช้ “บัดนั้น” ตามเดิม
๕.๒ พิเภก เป็นตัวละครที่ใช้คำกลอน “บัดนั้น” ตั้งแต่เดิมที่อยู่กรุงลงกาจนมาเป็นข้าของพระราม แต่เมื่อทศกัณฐ์สิ้นชีวิต คำกลอนที่จะกล่าวถึงพิเภกจะใช้ “เมื่อนั้น” โดยอัตโนมัติ แต่เมื่อกลับมาเข้าเฝ้าพระรามจะเปลี่ยนไปใช้ “บัดนั้น” อีก ครั้นเดินทางกลับมากรุงลงกาก็จะใช้คำ “เมื่อนั้น” แต่เมื่อพระรามเสด็จยังกรุงลงกา ซึ่งเป็นสถานที่ที่พิเภกจะมีศักดิ์และสิทธิเหนือดินแดน พิเภกก็ยังคงใช้ “เมื่อนั้น” ได้