- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงปทูตทันตยักษี |
สถิตในถ้ำแก้วมณี | มีนามสุรกานต์บรรพต |
เรืองฤทธิ์สิทธิศักดิ์เข้มแข็ง | เรี่ยวแรงแกล้วกล้าสาหส |
เลื่องชื่อลือนามขามยศ | ฤทธาปรากฏเกรียงไกร |
แต่เที่ยวรอนราญราวี | วิทยานาคีไม่ต่อได้ |
บรรดาฤๅษีชีไพร | อยู่ในเงื้อมมือกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ ให้คิดโลภล้นพ้นประมาณ | อหังการกำเริบโมหันธ์ |
จะใคร่ได้สมบัติเทวัญ | ชมอัปสรสวรรค์สำราญใจ |
ตัวกูจะขึ้นไปรอนราญ | ฆ่าท้าวมัฆวานเสียให้ได้ |
คิดแล้วจับคทาศรชัย | เหาะไปด้วยกำลังฤทธา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นถึงพิภพสรวงสวรรค์ | ยังชั้นแดนดาวดึงสา |
แลเห็นหมู่เทพเทวา | กับฝูงนางฟ้าวิลาวัณย์ |
ยิ่งคิดคำนึงถึงรสรัก | ขุนยักษ์มืดมนโมหันธ์ |
กวัดแกว่งศรชัยดั่งไฟกัลป์ | ขบฟันเข้าไล่ราวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | เทพบุตรกับหมู่อัปสรศรี |
เห็นปทูตทันตอสุรี | สำแดงฤทธีไล่มา |
ให้ตระหนกตกใจไม่มีขวัญ | ดั่งชีวันจะม้วยสังขาร์ |
นางสวรรค์ร้องหวีดแล้วปิดตา | เทวาพาวิ่งเป็นสิงคลี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ปทูตทันตยักษี |
ไล่ประชิดติดตามราวี | จนไปถึงที่ลัดดาวัลย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | เทพบุตรกับหมู่นางสวรรค์ |
วิ่งหนีอสุรกุมภัณฑ์ | ตัวสั่นไม่เป็นสมประดี |
บ้างอุ้มจูงกันอลหม่าน | ล้มลุกคลุกคลานอึงมี่ |
บ้างวิ่งวนไปชนอสุรี | บางหนีไปเฝ้าพระอินทรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งประณตบทบาท | ทูลองค์เทวราชนาถา |
ว่าปทูตทันตอสุรา | ขึ้นมาหักโหมโรมราญ |
ทั่วทุกนิเวศน์วิมานมาศ | ก็กลัวอำนาจกำลังหาญ |
บัดนี้ยังทําอหังการ | ไล่มาถึงสถานลัดดาวัลย์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวหัสนัยน์รังสรรค์ |
แจ้งว่าอสุรกุมภัณฑ์ | ชาญฉกรรจ์องอาจหังการ์ |
แม้นจะใช้พระขรรค์ไปสังหาร | ขุนมารก็จะม้วยสังขาร์ |
ไม่ควรกูผู้ปิ่นเทวา | จะล้างอสุราสาธารณ์ |
จะให้ไปเชิญท้าวทศรถ | อันทรงยศศักดากล้าหาญ |
วงศ์พระสี่กรมารอนราญ | ให้ผ่านฟ้าปรากฏพระเกียรติไว้ |
คิดแล้วจึ่งสั่งมาตุลี | ผู้มีปัญญาอัชฌาสัย |
จงเอารถแก้วลงไป | เชิญไททศรถมาราวี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมาตุลีเรืองศรี |
รับสั่งแล้วถวายอัญชุลี | มาขึ้นรถมณีแล้วเหาะไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เลื่อนลอยมาในอากาศ | โอภาสดั่งดวงแขไข |
ก็ขับรถรัตนามัย | ลงในพ่างพื้นอุทยาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ ครั้นถึงจึ่งเห็นภูวนาถ | เสด็จชมรุกขชาติเกษมศานต์ |
แจ้งว่าองค์ท้าวมัฆวาน | ให้เชิญไปสังหารอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระภุชพงศ์วงศ์นารายณ์เรืองศรี |
ได้แจ้งแห่งคำมาตุลี | ดั่งวารีทิพย์มาเจือใจ |
จึงว่าแก่สามอัคเรศ | ดวงเนตรผู้ยอดพิสมัย |
เชิญเจ้าคืนเข้าเวียงชัย | พี่จะขึ้นไปปราบอสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึงโฉมนางไกยเกษี |
ได้ฟังบัญชาก็ยินดี | เทวีกราบลงกับบาทา |
ทูลว่าข้าน้อยขอรองบาท | ภูวนาถจงโปรดเกศา |
จะได้ชมเมืองสวรรค์ชั้นฟ้า | ให้เป็นผาสุกสถาวร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวทศรถชาญสมร |
ได้ฟังอัครราชบังอร | ภูธรอาลัยในพจมาน |
จึ่งตรัสแก่สองกัลยา | แก้วตาผู้ยอดสงสาร |
จงกลับเข้าพระนิเวศน์ให้สำราญ | พี่จะไปปราบมารอหังการ์ |
ว่าแล้วจูงกรเทวี | โฉมไกยเกษีเสน่หา |
เสด็จลีลาศยาตรา | ไปขึ้นรถเทวารูจี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ รถเอยรถอินทร์ | แสงแก้วโกมินสลับสี |
เทียมด้วยเทพบุตรพาชี | มาตุลีสารถีขับรถ |
มเหสีนั่งท้ายประนมกร | งามเพียงศศิธรทรงกลด |
ลอยข้ามสัตภัณฑ์บรรพต | ลดเลี้ยวตามกลีบเมฆา |
เสียงกงแก้วลั่นครั่นครื้น | ลูกครุฑตกตื่นทั้งเวหา |
เร่งรีบพลาหกเทวา | ถึงดาวดึงสาด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ปทูตทันตยักษี |
อยู่ในสวนแก้วมาลี | อสุรีเหลือบแลแปรมา |
เห็นมนุษย์นั้นขี่รถทรง | มีอนงค์นั่งท้ายรถา |
ประหลาดกว่าหมู่เทวา | อสุราก็ร้องถามไป |
เหวยใครผู้ใดองอาจ | เชื้อชาตินามกรเป็นไฉน |
อหังการผ่านมาไม่เกรงใจ | กูจะฆ่าให้ม้วยชีวี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพงศ์หริรักษ์เรืองศรี |
ได้ฟังจึ่งตอบวาที | เรานี้ชื่อท้าวทศรถ |
วงศ์พระหริรักษ์จักรา | ทรงศักดาเดชดั่งเพลิงกรด |
องค์ท้าวโกสีย์ผู้มียศ | ให้เอารถไปรับขึ้นมา |
สังหารผลาญเอ็งผู้ใจพาล | ซึ่งทำการทุจริตอิจฉา |
อย่าพักอ้างอวดอหังการ์ | ไม่ช้าจะเห็นฤทธิ์กัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ปทูตทันตแข็งขัน |
ได้ฟังกริ้วโกรธขบฟัน | กุมภัณฑ์ร้องตอบวาจา |
เอ็งฤาชื่อว่าทศรถ | อวดยศอวดฤทธิ์ว่าแกล้วกล้า |
จะสู้กูผู้มีศักดา | ไหนจะครั่นหัตถาอสุรี |
เมียเอ็งผิวเนื้อนวลละออง | พักตร์ผ่องเพียงอัปสรศรี |
จะเป็นเมียกูบัดเดี๋ยวนี้ | มึงอย่าพาทีอหังการ |
ว่าพลางกวัดแกว่งคทาวุธ | สำแดงฤทธิรุทรกำลังหาญ |
กระทืบบาทผาดโผนโจนทะยาน | ขึ้นรอนราญบนรถภูธร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระผู้หริวงศ์ทรงศร |
รับรองป้องกันประจัญกร | ภูธรเหยียบเข่าอสุรี |
กลอกกลับจับกันบนรถา | ต่างแกล้วต่างกล้าไม่ถอยหนี |
พระองค์ทรงฤทธิ์ราวี | ฟันต้องอสุรีกระเด็นไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ แล้วให้ขับราชรถา | เทพบุตรอาชาทะลวงไล่ |
พระหัตถ์กวัดแกว่งพระขรรค์ชัย | หมายใจจะล้างชีวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ปทูตทันตยักษี |
กริ้วโกรธพิโรธดั่งอัคคี | ขว้างตระบองมณีไปด้วยฤทธิ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ สำเนียงดั่งเสียงฟ้าฟาด | กัมปนาทหวาดไหวถึงดุสิต |
เกิดขึ้นเป็นเปลวเพลิงพิษ | ด้วยฤทธิไกรอสุรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวทศรถนาถา |
เห็นเพลิงแรงดั่งแสงสุริยา | ผ่านฟ้าก็ขว้างพระขรรค์ไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ สำเนียงดั่งหนึ่งลมกาฬ | บันดาลเป็นฝนห่าใหญ่ |
ตกลงมาดับเปลวไฟ | แล้วไล่ล้างคทากุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เสร็จแล้วก็กลับคืนมา | ดั่งว่าจักรแก้วรังสรรค์ |
เข้าในคลองหัตถ์ทรงธรรม์ | เหมือนมีชีวันอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ปทูตทันตยักษี |
เห็นคทาแหลกลงเป็นผงคลี | จับศรโมลีแผลงไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เปรี้ยงเปรี้ยงดั่งเสียงสุนีบาต | ต้องรถเพลาขาดไม่ทนได้ |
ศรยักษ์สำแดงฤทธิไกร | เวียนไวรอบองค์ภูมี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ เมื่อนั้น | จึ่งโฉมนางไกยเกษี |
เห็นเพลารถแก้วมณี | ต้องศรอสุรีหักไป |
จึ่งตั้งสัตย์เดชะข้าซื่อตรง | ต่อองค์ภัสดาหาหมิ่นไม่ |
จะเอากรแทนเพลารถชัย | อย่าให้อันตรายชีวา |
เสี่ยงแล้วยื่นหัตถ์สอดเข้า | ในดุมต่างเพลารถา |
ด้วยอานุภาพสัตยา | ดั่งมหากายสิทธิ์ฤทธี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์เทวัญเรืองศรี |
เห็นศรยักษามาราวี | ภูมีกลับขว้างพระขรรค์ไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ พระแสงล้างศรกุมภัณฑ์ | เป็นภัสม์ธุลีกัลป์ไม่ทนได้ |
ถูกปทูตทันตบรรลัย | กระเด็นไปถูกพื้นพสุธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด โอด
๏ ครั้นเสร็จสังหารอสุรี | ภูมีเหลือบแลซ้ายขวา |
เห็นพระมเหสีโสภา | เอาหัตถาสอดดุมรถชัย |
จึ่งตรัสถามองค์อัคเรศ | ดวงเนตรผู้ยอดพิสมัย |
รถเราเป็นเหตุประการใด | อรไทจึ่งทำดั่งนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนวลนางไกยเกษี |
จึ่งสนองพระราชวาที | อสุรีมันแผลงศรมา |
ต้องเพลารถหักกระเด็นไป | เกรงจักเสียชัยแก่ยักษา |
ตัวข้าจะถวายชีวา | เอาหัตถาสอดเข้าแทนไว้ |
พระองค์จึ่งได้สังหาร | ผลาญชีพขุนมารเสียได้ |
เป็นที่ปรากฏพระยศไป | ทั้งในฟากฟ้าดินดอน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระผู้หริวงศ์ทรงศรี |
ได้ฟังอัครราชบังอร | ภูธรรับขวัญนางกัลยา |
มิเสียแรงที่เจ้ารักพี่ | ร่วมชีวีชีวิตสังขาร์ |
คุณนั้นเป็นพ้นพรรณนา | แม้นว่าปรารถนาสิ่งใด |
บรรดาเป็นสมบัติของพี่ | เทวีประสงค์จะยกให้ |
ว่าแล้วจูงกรอรไท | เสด็จไปยังสวนลัดดา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
ยานี
๏ เมื่อนั้น | หัสนัยน์เจ้าตรัยตรึงศา |
กับทั้งฝูงเทพเทวา | นางสวรรค์กัลยาวิลาวัณย์ |
ครั้นแจ้งว่าวงศ์พระหริรักษ์ | สังหารยักษ์ร้ายอาสัญ |
ก็ซ้องสาธุการขึ้นพร้อมกัน | เสียงสนั่นครั่นครื้นโลกา |
บ้างถือบุปผามาลาศ | ออกจากวิมานมาศพร้อมหน้า |
ตามเสด็จองค์อมรินทรา | มายังจิตราลัดดาวัลย์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงจึ่งโปรยมาลาศ | เทวราชเป่าสังข์เสียงสนั่น |
ให้เทวาจับระบำบัน | กับนางสวรรค์กัลยาณี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
พระทอง
๏ เมื่อนั้น | เทวานางฟ้าทุกราศี |
รับสั่งท้าวสุชัมบดี | มีใจชื่นชมโสมนัส |
จึ่งจับระบำรำถวาย | นวยนาดวาดชายกรายหัตถ์ |
รํารอคลอเคียงเลี่ยงลัด | กรกระหวัดยิ้มพรายชายตา |
นางฟ้าตลบหนีไป | เทพบุตรเลี้ยวไล่สกัดหน้า |
นางสวรรค์เวียนซ้ายร่ายเรียงมา | เทวัญเวียนขวาเปลี่ยนไป |
นางสวรรค์รำช้านางนอน | ทอดกรเยื้องกรายส่ายไหล่ |
คลอเคล้าเป็นกระบวนให้ยวนใจ | เทพไทยินดีปรีดา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
เบ้าหลุด
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางอัปสรเสน่หา |
กรายกรฟ้อนรำชำเลืองตา | คอยทีเทวาสุราฤทธิ์ |
ครั้นเทวัญเข้าใกล้ก็ย้ายหนี | ทําทีร่ายเรียงเบี่ยงบิด |
เทพบุตรรําเคล้าเข้าชิด | ทอดสนิทคว้าไขว่ในที |
นางฟ้าสลัดปัดกร | ชม้ายชายค้อนแล้วถอยหนี |
เทวัญรําท่ามาลี | แล้วตีวงเวียนเปลี่ยนไป |
นางสวรรค์รําหงส์ลีลา | ชายหนีเทวามิให้ใกล้ |
ขับร้องอำนวยอวยชัย | สุขเกษมเปรมใจทั้งเมืองฟ้า ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เพลง
๏ เมื่อนั้น | หัสนัยน์เจ้าตรัยตรึงศา |
ครั้นเสร็จระบำก็ปรีดา | จึ่งมีบัญชาอันสุนทร |
มิเสียทีเป็นวงศ์พระจักรกฤษณ์ | เรืองฤทธิ์ห้าวหาญชาญสมร |
สังหารอาธรรม์ม้วยมรณ์ | ดับร้อนฝูงเทพเทวา |
จะปรากฏพระยศลือฤทธิ์ | ชั่วพระจันทร์พระอาทิตย์ส่องหล้า |
ให้จำเริญสวัสดิ์สวรรยา | ใต้ฟ้าอย่ามีใครต่อกร |
ตรัสแล้วสั่งองค์มาตุลี | จงเอารถมณีประภัสสร |
ไปส่งวงศ์นารายณ์ฤทธิรอน | ถวายภูธรไว้ในธานี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมาตุลีเรืองศรี |
รับสั่งท้าวสุชัมบดี | ถวายอัญชุลีแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งบันดาลฤทธิ์ | นิรมิตเพลาราชรัถา |
สอดใส่ดุมแก้วรจนา | เตรียมท่าเสด็จพระภูมี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวทศรถเรืองศรี |
จึ่งมีสุนทรวาที | แก่ท้าวตรีเนตรฤทธิรอน |
พระองค์จงอยู่เป็นสุขา | ตัวข้าจะลาไปก่อน |
ว่าแล้วน้อมเศียรชุลีกร | บทจรมาขึ้นรถชัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | พระมาตุลีผู้มีอัชฌาสัย |
จึ่งขับรถแก้วแววไว | ตรงไปอยุธยาธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ช้า
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงพระกไลโกฏฤๅษี |
เป็นบุตรอิสีสิงฆมุนี | มฤคีนั้นเป็นมารดา |
แต่บิดรยังไม่บรรลัย | ก็ได้ฌานโลกีย์แกล้วกล้า |
อยู่ยังสาลวันอรัญวา | แดนพาราโรมพัตตัน |
ได้พรพระสยมภูวญาณ | ตบะกิจการฌานกวดขัน |
สร้างพรตอดจิตเป็นนิรันดร์ | ฝนนั้นแล้งไปถึงสามปี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวโรมพัตตันเรืองศรี |
แต่ฝนไม่ตกในธานี | ภูมีเร่าร้อนวิญญาณ์ |
ทั้งหมู่เสนาประชาชน | ได้ความทุกข์ทนถ้วนหน้า |
ทุพภิกขันดรกัลป์บังเกิดมา | เวทนาอดอยากลำบากใจ |
จึ่งมีบรรหารสิงหนาท | แก่มหาอำมาตย์ผู้ใหญ่ |
เราจะบวงสรวงเทพไท | อันได้เป็นหลักพระบุรี |
ทั้งพระเสื้อเมืองทรงเมือง | จงแต่งเครื่องบูชาบายศรี |
เหล้าข้าวเป็ดไก่บัตรพลี | ขอฝนให้มีฤดูกาล ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาผู้ใหญ่ใจหาญ |
ก้มเกล้ารับรสพจมาน | คลานออกจากท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ให้ปลูกศาลลงกลางพระนคร | อลงกรณ์รายราชวัติกั้น |
ทั้งนางท้าวซึ่งผีสิงนั้น | ก็เตรียมกันคอยเสด็จภูมี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวโรมพัตเรืองศรี |
ครั้นรุ่งสางสว่างธาตรี | เข้าที่สระสรงคงคา |
แต่งองค์ทรงเครื่องอลงการ | พร้อมสนมนงคราญซ้ายขวา |
เสด็จจากปราสาทแก้วแววฟ้า | โยธาแห่แหนแน่นไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ กลองโยน
๏ ครั้นถึงก็ทรงสุคนธ์เจิม | เฉลิมรูปเทวาน้อยใหญ่ |
จุดเทียนบูชาโปรยมาลัย | ภูวไนยสังเวยเทวัญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เซ่นเหล้า
สระบุหร่ง
๏ ขอเชิญเทวราชผู้ศักดา | ซึ่งรักษาพระนิเวศน์เขตขัณฑ์ |
จงรับสั่งเวยพลีกรรม์ | อันข้าบูชาด้วยภักดี |
ทั้งพระเสื้อเมืองทรงเมือง | อุดมเดชรุ่งเรืองรัศมี |
จงคิดกรุณาปรานี | แก่โยธีไพร่ฟ้าประชาชน |
ยังวัสสวลาหกตกมา | ให้จำเริญธัญญาพืชผล |
ช่วยชีวิตสัตว์ไว้ไม่อับจน | จะได้แผ่กุศลให้ทุกวัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ สาธุการ
๏ บัดนั้น | นางท้าวแสนกลคนขยัน |
จุดเทียนประนมบังคมคัล | ตัวสั่นเท้าเท้าหาวเรอ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เซ่นเหล้า
๏ ลุกขึ้นส่ายตนพ่นบู้หรี่ | ทำทีพูดจายํ้าเหยอ |
รำง่าท่าทับสี่เกลอ | เรียกสมุนแก้เก้อวุ่นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จึ่งบอกว่าอารักษ์อันศักดิ์สิทธิ์ | สถิตอยู่ในฐานศาลใหญ่ |
ว่าถ้าได้เครื่องอันชอบใจ | จะช่วยภูวไนยอย่าอาวรณ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวโรมพัตชาญสมร |
แต่บวงสรวงฝูงเทพนิกร | ในพระนครทุกแห่งไป |
มิได้ว่างเว้นเวลา | ฝนจะตกลงมาก็หาไม่ |
พระองค์ผู้ทรงภพไตร | ไม่มีความสุขสำราญ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งนายพรานไพรใจหาญ |
แจ้งว่าพระปิ่นสุธาธาร | ตั้งการบวงสรวงเทวา |
ได้ถึงเจ็ดเดือนเจ็ดวัน | ฝนนั้นไม่ตกแต่สักห่า |
นายพรานก็รีบเข้ามา | ยังพาราโรมพัตธานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรบังคมทูล | นเรนทรสูรปิ่นภพเรืองศรี |
อันฝนแล้งแห้งไปถึงสามปี | เหตุนี้ด้วยพระนักพรต |
อยู่ในสาลวันหว่างไศล | ชื่อกไลโกฏดาบส |
เข้าฌานชำนาญไม่เงือดงด | อดจิตจำเริญภาวนา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวโรมพัตนาถา |
ได้ฟังก็แจ้งในวิญญาณ์ | ผ่านฟ้าดำริตริไป |
จำเป็นจะล้างพิธี | ของพระมุนีเสียให้ได้ |
อันสตรีเป็นที่ประโลมใจ | จะแต่งไปด้วยเล่ห์อุบายกล |
ล้างกิจด้วยรสสงสาร | ให้เธอเสียฌานจำเริญผล |
คิดแล้วพระปิ่นสุธาดล | เสด็จเข้าไพชยนต์รูจี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงสถิตเหนือแท่นแก้ว | แล้วเรียกพระธิดาโฉมศรี |
รับขวัญพลางกล่าววาที | เจ้าดวงชีวีของบิดา |
บัดนี้ยังมีพระดาบส | สร้างพรตทรงญาณฌานกล้า |
มหาเมฆไม่ตั้งตกมา | ลำบากเวทนาทั้งกรุงไกร |
เจ้าจงออกไปหิมพานต์ | ทำลายฌานเธอเสียให้ได้ |
แล้วพาเข้ามายังเวียงชัย | เป็นปิ่นไพร่ฟ้าประชากร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางอรุณวดีดวงสมร |
ก้มเกล้ารับสั่งพระบิดร | บังอรทูลตอบพระบัญชา |
ซึ่งพระองค์โปรดปรานประการใด | จะรับใส่เศียรเกล้าเกศา |
ลูกรักขอเอาชีวา | สนองเบื้องบาทาพระทรงธรรม์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวโรมพัตรังสรรค์ |
ฟังพระธิดาวิลาวัณย์ | ภูธรรับขวัญนางเทวี |
มีความชื่นชมโสมนัส | ดั่งได้สมบัติโกสีย์ |
เสด็จจากอาสน์แก้วรูจี | ออกที่พระโรงรัตนา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งสั่งเสนาผู้ใหญ่ | อันปรีชาไวแกล้วกล้า |
จงเตรียมรถเตรียมพลโยธา | พระธิดากูจะไปพนาลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งมหาเสนาทั้งสี่ |
รับสั่งพระองค์ทรงธรณี | ออกมาจากที่พระโรงชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งจัดกระบวนพระประเทียบ | ขอเฝ้าแหนเรียบงามไสว |
อันหน้ารถแก้วแววไว | ล้วนใส่เสื้อเขียวเครือวัลย์ |
ถัดไปใส่เสื้อสีทับทิม | สีฟ้าขลิบริมสลับคั่น |
หมู่หนึ่งใส่เสื้อสีจันทร์ | ถัดนั้นเสื้อม่วงติดกรอง |
ถัดไปใส่เสื้อสีแดง | พื้นแย่งถือหอกเป็นทิวท่อง |
ริ้วนอกถือปืนคร่ำทอง | ตั้งกองคอยเสด็จพระบุตรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | องค์พระธิดาโฉมศรี |
ครั้นรุ่งรางสร่างแสงพระรวี | ก็จรลีไปสรงสาคร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ชมตลาด
๏ ชำระสระสนานสำราญองค์ | ทรงสุคนธ์ธารกลิ่นเกสร |
ภูษาลายเครือกินนร | ช่อเชิงมังกรกระหวัดกาย |
สไบตาดพื้นทองกรองริม | สอดสีทับทิมเฉิดฉาย |
ทับทรวงมรกตจำหลักลาย | ตาบทิศสร้อยสายสังวาลวัลย์ |
สะอิ้งแก้วแววเลื่อมมุกดาหาร | ดวงประพาฬบานพับประดับถัน |
พาหุรัดทองกรมังกรพัน | ธำมรงค์เพชรกุดั่นพรายตา |
ทรงมหามงกุฎเนาวรัตน์ | กรรเจียกจรจำรัสซ้ายขวา |
งามเพียงนางเทพกินรา | นวยนาดยาตราขึ้นรถ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เพลง
โทน
๏ รถเอยรถทรง | งามองค์พระธิดาอลงกต |
งามแปรกแอกงอนอ่อนชด | งามช่อชั้นลดบัลลังก์ลอย |
งามทวยรวยรับหางหงส์ | งามทรงบุษบกกระหนกห้อย |
งามมุขสุกวามอร่ามพลอย | งามยอดดั่งจะย้อยด้วยทองพราย |
งามสินธพเทียมทั้งสี่ | งามสารถีขับเฉิดฉาย |
งามเครื่องสูงริ้วเป็นทิวราย | งามพวกกลองตะพายประโคมครึก |
งามแถวธงชายพรายสุวรรณ | งามเสียงกงลั่นก้องกึก |
งามทางหว่างไศลไพรพฤกษ์ | งามพลแห่ฮึกเข้าดงดอน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
ร่าย
๏ เดินทางเลียบธารผ่านทุ่ง | ตามเชิงเวิ้งวุ้งสิงขร |
ข้ามชลาท่านํ้าประทับนอน | รอนแรมมาในพนาลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โทน
๏ ชมหมู่ปักษาทิชาชาติ | เกลื่อนกลาดจับไม้อึงมี่ |
สร้อยร้าจับต้นสารภี | โนรีจับจิกดอกประยงค์ |
นกเขาจับขันบนแคป่า | สาลิกาจับกิ่งกาหลง |
นกแก้วจับต้นคันทรง | ฝูงหงส์บินร่อนมาจับยาง |
มยุราจับต้นบุนนาก | จากพรากบินตรงมาจับกร่าง |
โพระดกเคียงคู่จับคาง | นกลางจับเครือแสลงพัน |
ไก่ฟ้าบินจับต้นตะคร้อ | พญาลอเลียบกิ่งกะทั่งหัน |
ช่างทองจับต้นชิงชัน | เบญจวรรณเต้นไต่กิ่งกระวาน |
ฟังเสียงวิหคนกร้อง | ทำนองดั่งสังคีตขับขาน |
เพลิดเพลินจำเริญใจนงคราญ | จนใกล้สถานพระสิทธา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | นายวันจรกพรานป่า |
นำเสด็จพระราชธิดา | มาใกล้บริเวณพระนักพรต |
จึ่งให้หยุดรถแก้วมณี | ไว้ที่ใกล้อาศรมบท |
กำชับโยธาม้ารถ | กำหนดอย่าให้อื้ออึงไป |
จึ่งทูลพระบุตรีโฉมยง | ชี้ตรงพุ่มไม้สูงใหญ่ |
เห็นหลังคาช่อฟ้าอยู่ไรไร | โน่นที่อาศัยพระอาจารย์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระธิดาเยาวยอดสงสาร |
ลงจากรถแก้วสุรกานต์ | ตรงไปสถานศาลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงจึ่งเห็นพระนักธรรม์ | ผู้ทรงพรตกรรม์แกล้วกล้า |
ดวงพักตร์นั้นเป็นมฤคา | กัลยานั่งลงดุษฎี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกไลโกฏฤๅษี |
ไม่เคยเห็นรูปสตรี | มีความสงสัยก็พิศดู |
เห็นเขาติดอกครัดเคร่ง | ดั่งปทุมตูมเต่งทั้งคู่ |
สัตว์นี้เป็นไฉนจึ่งไม่รู้ | จะเป็นหมู่เดียรฉานนามใด |
ตริแล้วจึ่งกล่าววาที | เอ็งนี้เป็นสัตว์จำพวกไหน |
จึ่งมีเขาที่อกกูหลากใจ | ไม่เคยพบเห็นแต่ก่อนมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางอรุณวดีเสน่หา |
ได้ฟังจึ่งตอบพระสิทธา | เขาข้านี้น่าอัศจรรย์ |
ไม่งอกในเศียรเหมือนฝูงสัตว์ | มาพลัดขึ้นที่อกเหมือนแกล้งปั้น |
เต่งตั้งดั่งดวงบุษบัน | อ่อนละม้ายคล้ายกันกับสำลี |
พระองค์ผู้ทรงตบะญาณ | ขอประทานโปรดเกล้าเกศี |
พิเคราะห์ดูให้รู้ว่าร้ายดี | ข้าเป็นดั่งนี้ด้วยอันใด |
ว่าพลางทางเข้าปรนนิบัติ | สัมผัสทำนวดฟั้นให้ |
ด้วยกลมารยาพิราไน | แกล้งยั่วยวนใจพระมุนี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกไลโกฏฤๅษี |
ไม่รู้ในกลสตรี | ลืมที่คำสั่งพระบิดร |
เข้าประคองต้องเต้าสุมณฑา | กายาแนบเนื้อดวงสมร |
ให้เกิดประดิพัทธ์อาวรณ์ | ถึงไม่มีผู้สอนก็เป็นไป |
เชยแก้มแนมเนตรเกศกรรณ | เกษมสันต์ในความพิสมัย |
ภุมรินบินเคล้าสุมาลัย | แทรกไซ้เกสรปทุมมาลย์ |
เชยซาบอาบสร้อยเสาวรส | สุบงกชคลี่กลีบหอมหวาน |
ร่วมภิรมย์สมสุขสำราญ | ในสถานศาลาอารญ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กล่อม
๏ ก็เสียตบะกิจพิธีกรรม์ | พลาหกครื้นครั่นคะนองฝน |
ฟ้าเปรี้ยงเสียงสนั่นอึงอล | ตกจนนองพื้นพสุธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ เมื่อนั้น | นางอรุณวดีเสน่หา |
ครั้นเห็นพระมุนีผู้ปรีชา | หลงด้วยมารยาพิราไน |
จนได้ร่วมรสสังวาส | อัครราชแนบสนิทพิสมัย |
อิงแอบแนบข้างไม่ห่างไกล | อรไทจึ่งกล่าววาที |
ตัวข้าเป็นราชธิดา | กษัตราโรมพัตบูรีศรี |
พระบิตุรงค์ผู้ทรงธรณี | ให้ข้านี้มาเชิญพระนักธรรม์ |
เข้าไปโปรดเกล้าประชากร | อันได้เดือดร้อนทั้งเขตขัณฑ์ |
เหมือนหนึ่งช่วยชีพชีวัน | ฝูงคนทั้งนั้นให้พ้นภัย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกไลโกฏอาจารย์ใหญ่ |
ฟังนางหวนทุกข์ฉุกใจ | ก็คิดได้ถึงคำบิดา |
เอะกูผิดแล้วครั้งนี้ | มาร่วมรสฤดีเสน่หา |
ให้เสียดายตบะกิจวิทยา | อนิจจาจะทำประการใด |
ครั้นจักละนางอยู่สร้างพรต | เสียดายรสที่ร่วมพิสมัย |
จำกูจะตั้งหน้าไป | จะเป็นกระไรก็ตามที |
คิดแล้วจึ่งตอบวาจา | ซึ่งจะพาเราไปบูรีศรี |
สุดแต่สีกาจะปรานี | รูปนี้มิให้อนาทร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางอรุณวดีดวงสมร |
เห็นพระสิทธาอาวรณ์ | ยอกรกราบลงกับบาทา |
ขอเชิญพระองค์รีบไป | ขึ้นมหาพิชัยรัถา |
ข้าเอามารับกับโยธา | อยู่ที่ชายป่าพนาลี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกไลโกฏฤๅษี |
ได้ฟังอัครราชเทวี | ก็ครองเครื่องอาหุดีชีไพร |
ฉวยได้ไม้เท้าตาลิปัตร | บริขารนั้นยัดใส่ย่ามใหญ่ |
ออกจากอาศรมศาลาลัย | ไปด้วยองค์อัครชายา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | นางอรุณวดีเสน่หา |
ครั้นถึงที่ประทับโยธา | กัลยาเชิญองค์พระมุนี |
ขึ้นนั่งบัลลังก์รถทรง | ท่ามกลางอนงค์สาวศรี |
ให้เลิกพหลโยธี | คืนเข้าบูรีอรไท ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงเมืองโรมพัตตัน | ฝนสวรรค์ลั่นฟ้าห่าใหญ่ |
ฝูงสัตว์มัจฉาก็ดีใจ | ห้วยหนองนองไปด้วยธารา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ บัดนั้น | หญิงชายชาวเมืองถ้วนหน้า |
ต่างคนยินดีปรีดา | พากันมาดูพระนักพรต |
เห็นหน้าดั่งหน้ากวางทราย | รูปกายเป็นเพศมนุษย์หมด |
ต่างร้องสรรเสริญเจริญยศ | ทั่วทั้งชนบทธานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวโรมพัตเรืองศรี |
ครั้นรู้ว่าราชบุตรี | ได้พระมุนีมาดั่งใจ |
มีความชื่นชมโสมนัส | พูนสวัสดิ์พักตร์ผ่องดั่งแขไข |
ลงจากปราสาทแก้วแววไว | เสด็จไปรับองค์พระสิทธา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งประณตบทบงสุ์ | พระดาบสผู้ทรงสิกขา |
เชิญลงจากรถรัตนา | มาขึ้นมหาปราสาทชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ให้นั่งเหนือบัลลังก์แก้ว | แล้วมีมธุรสปราศรัย |
พระองค์ทรงพรตอยู่กลางไพร | ชำนาญในกิจพิธี |
ด้วยอำนาจวิทยาอาคม | ของพระบรมฤๅษี |
ฝนนั้นแล้งไปถึงสามปี | ประชาชีไพร่ฟ้าก็ล้มตาย |
จึ่งให้ไปเชิญเข้ามา | ช่วยชีวาสัตว์ทั้งหลาย |
ซึ่งอุปัทวันอันตราย | จะหายด้วยบุญพระอาจารย์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั่น | พระมุนีผู้ปรีชาหาญ |
ได้ฟังจึ่งตอบพจมาน | เหตุการณ์ทั้งนี้มิได้รู้ |
สาละวนสวดมนต์ภาวนา | ตั้งใจรักษากิจอยู่ |
เป็นไฉนไม่ให้ไปบอกกู | จึ่งสู้ยากมาถึงสามปี |
ต่อเมื่อให้องค์อรไท | ออกไปหารูปผู้ฤๅษี |
แจ้งว่าเกิดภัยในธานี | เรานี้จึ่งได้เข้ามา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวโรมพัตนาถา |
ชื่นชมโสมนัสปรีดา | ในองค์พระมหาอาจารย์ |
จึ่งถวายธูปเทียนหิรัญมาศ | สุมาลาศเสาวรสหอมหวาน |
ให้พระองค์ผู้ทรงตบะญาณ | อยู่ปราสาทสุรกานต์รูจี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระกไลโกฏฤๅษี |
ภิรมย์สมสวาทด้วยเทวี | มีแต่ผาสุกจำเริญใจ |
เพลิดเพลินในรสเสน่หา | จะจงกรมภาวนาก็หาไม่ |
ลืมทำพิธีบูชาไฟ | ลืมไพรอาวาสแต่ก่อนกาล |
ลืมทั้งคณะสานุศิษย์ | ลืมกิจกำเริบด้วยสงสาร |
แต่ภิรมย์สมสุขด้วยเยาวมาลย์ | แสนสนุกสำราญทุกเวลา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ กล่อม
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายท้าวทศรถนาถา |
ครอบครองไอศูรย์สวรรยา | ในกรุงทวาราวดี |
เทวาสุรารักษ์นักสิทธ์ | ทุกทิศมาพึ่งบทศรี |
ดั่งฉัตรแก้วกั้นโมลี | ประชาชีแสนสุขสำราญ |
เป็นสหายกับพญาสกุณา | ชื่อว่าสดายุใจหาญ |
พระไร้โอรสราชกุมาร | ผ่านฟ้าดำริตริไป |
แม้นกูสวรรคตลง | ใครจะสืบสุริย์วงศ์ก็หาไม่ |
อสุราจะชะล่าชะเลยใจ | เบียดเบียนทั้งไตรโลกา |
อย่าเลยจะประชุมพระดาบส | อันมีพรตญาณฌานกล้า |
ตั้งพิธีการกาลา | ให้เกิดโอรสาอันฤทธี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย
๏ ครั้นรุ่งแสงสีรวีวร | ทินกรจำรัสรัศมี |
ชำระองค์ทรงเครื่องรูจี | จรลีออกท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | ภายใต้เศวตฉัตรฉายฉัน |
พร้อมหมู่สุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์ | เสนาอภิวันท์ดาษดา |
จึงมีพระราชบรรหาร | สั่งขุนธรรมการใจกล้า |
จงไปนิมนต์พระสิทธา | เข้ามายังราชธานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ขุนธรรมการทั้งสี่ |
รับสั่งแล้วถวายอัญชุลี | ต่างขึ้นพาชีรีบไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ มาถึงศาลาอาศรม | ยอกรบังคมประนมไหว้ |
บอกว่าพระปิ่นภพไตร | ให้มานิมนต์พระสิทธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระวสิษฐ์สวามิตรฌานกล้า |
พระวัชอัคคีผู้ปรีชา | พระภารทวาชมุนี |
แจ้งว่าพระวงศ์เทเวศ | จอมเกศอยุธยากรุงศรี |
ให้นิมนต์เข้าไปพระบูรี | ก็มีความยินดีปรีดา |
จึ่งบอกคณะพระดาบส | อันมีพรตญาณฌานกล้า |
ต่างองค์ทรงเครื่องจรรยา | ออกจากศาลาแล้วรีบไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงนิเวศน์วังสถาน | องค์พระอาจารย์น้อยใหญ่ |
ก็นั่งเหนืออาสน์แก้วแววไว | ตามที่โดยในอันดับกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถรังสรรค์ |
ครั้นเห็นคณะพระนักธรรม์ | อภิวันท์แล้วมีบัญชา |
ซึ่งให้นิมนต์มาทั้งนี้ | ด้วยมีประสงค์จะปรึกษา |
ตัวข้าครอบครองสวรรยา | อายุสสังขาร์ก็ล่วงไป |
อันเกิดมาเป็นรูปกาย | ที่จะพ้นความตายนั้นหาไม่ |
โยมไร้โอรสยศไกร | จะสืบในสุริย์วงศ์กษัตรา |
แม้นว่าสิ้นชีพสังขาร | จะเดือดร้อนรำคาญทั้งแหล่งหล้า |
อันหมู่อสุรพาลา | ก็ยิ่งจะหยาบช้าราวี |
ขอพระมหาอาจารย์เจ้า | จงได้โปรดเกล้าเกศี |
ช่วยตั้งกระลากิจพิธี | ให้มีซึ่งราชโอรส ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทั้งสี่พระมหาดาบส |
ได้ฟังบรรหารพระทรงยศ | จึ่งตอบมธุรสพจนา |
ซึ่งพระองค์ดำริทั้งนี้ | รูปยินดีด้วยหนักหนา |
อันจะทำพิธีจรรยา | ก็จะมีบุตรมาตั้งใจ |
แต่ไม่สู้ทรงศักดานัก | จะต่อสู้หมู่ยักษ์นั้นไม่ได้ |
อสุรีย่อมมีฤทธิไกร | สามไทเป็นเจ้าให้พรมา |
แม้นว่าได้พระกไลโกฏ | อันมีโพธิสมภารฌานกล้า |
ซึ่งอยู่โรมพัตพารา | นิมนต์เธอมาคิดการ |
เห็นว่าจะได้ราชบุตร | ฤทธิรุทรเดชากล้าหาญ |
ด้วยกิจพิธีนั้นชำนาญ | ถึงจะสู้ยักษ์มารไม่เกรงกัน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถรังสรรค์ |
ฟังสี่พระมหานักธรรม์ | ดั่งได้ช่อชั้นดุษฎี |
พระอาจารย์จงไปด้วยโยม | ยังโรมพัตบูรีศรี |
ช่วยกันว่าวอนพระมุนี | เห็นทีจะได้ดั่งจินดา |
ตรัสแล้วสั่งเสนามาตย์ | ให้เตรียมพยุหบาตรซ้ายขวา |
ราชรถคชสารอาชา | ทั้งรัถาสำหรับพระนักธรรม์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งมหาเสนาคนขยัน |
รับสั่งพระวงศ์เทวัญ | ถวายบังคมคัลแล้วออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เกณฑ์หมู่โยธาล้วนสามารถ | ตั้งเป็นพยุหบาตรกระบวนใหญ่ |
กองหน้านั้นถือปืนไฟ | ใส่เสื้อสีฟ้าขลิบทอง |
หมู่หนึ่งมือถือธนู | ใส่เสื้อชมพูเป็นทิวท่อง |
หมู่หนึ่งถือหอกคร่ำทอง | สอดใส่เสื้อปล้องกรีดกราย |
หมู่หนึ่งมือถือเกาทัณฑ์ | ใส่เสื้อสีจันทร์เฉิดฉาย |
เตรียมทั้งรถแก้วแพรวพราย | ไพร่นายคอยเสด็จจรลี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา