- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสหัสเดชะยักษา |
ครั้นเสร็จสั่งมหาเสนา | ก็เข้ามายังที่ข้างใน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์อาสน์ | พร้อมอนงค์นางนาฏน้อยใหญ่ |
หมอบฟ้าเกลื่อนกลาดดาษไป | ภูวไนยจึ่งมีโองการ |
สั่งนางอนงค์อันทรงโฉม | เป็นที่ประโลมสงสาร |
กูจะไปลงกาเมืองมาร | บรรดาพนักงานทุกนารี |
จงจัดกันให้ได้ห้าร้อย | เลือกล้วนแน่งน้อยเฉลิมศรี |
ไปด้วยกับกูผู้ฤทธี | ในรถมณีเดียวกัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นางสนองพระโอษฐ์คนขยัน |
รับสั่งพญากุมภัณฑ์ | ถวายบังคมคัลแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
ชมตลาด
๏ จัดนางกำนัลอันทรงลักษณ์ | ผิวพักตร์รูปทรงโอ่อ่า |
อรชรอ้อนแอ้นจำเริญตา | ห้าร้อยล้วนกัลยาณี |
อาบนํ้าลูบไล้เสาวคนธ์ | ทาแป้งแต่งตนขัดสี |
นุ่งห่มต่างกันทุกนารี | ใส่นํ้ามันหวีหัววุ่นไป |
ส่องกระจกเก็บไรวิไลลักษณ์ | ผัดพักตร์ผ่องเพียงแขไข |
งามดั่งนางฟ้าสุราลัย | คอยเสด็จภูวไนยยาตรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสหัสเดชะยักษา |
ทั้งมูลพลัมอสุรา | เข้าที่ไสยาในราตรี |
ครั้นพระอุทัยไขแสง | แจ่มแจ้งจำรัสรัศมี |
ก็เสด็จย่างเยื้องจรลี | มาเข้าที่สรงสาคร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ สองกษัตริย์ชำระสระสนาน | สุคนธาธารทิพย์เกสร |
ต่างทรงสนับเพลาเชิงงอน | อุทุมพรภูษาท้องพัน |
ชายไหวชายแครงเครือหงส์ | ฉลององค์เกราะเพชรทับทิมคั่น |
ต่างทรงทับทรวงสังวาลวัลย์ | ตาบทิศกุดั่นประดับพลอย |
สอดใส่สร้อยสนสะอิ้งแก้ว | รัดองค์วาวแววเฟื่องห้อย |
ทองกรแก้วฉลุฉลักลอย | พาหุรัดรักร้อยทับทิมพราย |
ต่างทรงธำมรงค์เรือนเก็จ | มงกุฎเพชรรุ้งร่วงฉานฉาย |
กรรเจียกจรเนาวรัตน์จำหลักลาย | พระเชษฐากรายหัตถ์ทั้งสองพัน |
กรกุมเครื่องสรรพอาวุธ | สำหรับรณยุทธ์ทุกมือมั่น |
พระอนุชาจับหอกยืนยัน | กุมภัณฑ์กวัดแกว่งไปมา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ครั้นเสร็จเสด็จยุรยาตร | ลงจากปราสาทยักษา |
พร้อมด้วยฝูงสนมกัลยา | ไปขึ้นมหาพิชัยรถ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ รถเอยราชรถศึก | สองรถพันลึกอลงกต |
แอกงอนอ่อนสลวยชวยชด | ชั้นลดล้วนแล้วบัลลังก์ลาย |
อันรถสมเด็จพระเชษฐา | สูงเยี่ยมเทียมฟ้าฉานฉาย |
นางกำนัลนั่งรอบเรียงราย | งามคล้ายกับเทพกินนร |
เทียมด้วยราชสีห์สี่พัน | ตัวฉกรรจ์กล้าหาญชาญสมร |
สารถีมือถือโตมร | ขับจรรวดเร็วดั่งลมพัด |
เครื่องสูงครบสิ่งกรรชิงราย | ธงชายธงชัยปลายสะบัด |
พลมารเดินเบียดเยียดยัด | ขนัดฆ้องกลองประโคมโครมครึก |
พระอนุชานั้นยกไปหน้า | โยธาโห่ร้องก้องกึก |
มืดคลุ้มชอุ่มควันพันลึก | ขับกันคึกคึกรีบไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นถึงลงกาธานี | มูลพลัมผู้มีอัชฌาสัย |
ให้หยุดพหลพลไกร | ตั้งไว้แต่นอกพระพารา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ ครั้นเสร็จก็เสด็จยุรยาตร | จากพิชัยราชรัถา |
ไปเฝ้าสมเด็จพระพี่ยา | ยังรถรัตนาพรายพรรณ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งน้อมเศียรเกล้าบังคม | พระบรมเชษฐารังสรรค์ |
ทูลว่าพระองค์ทรงธรรม์ | ตั้งมั่นอยู่นอกพระนคร |
ตัวข้าจะถวายบังคมลา | ไปบอกเจ้าลงกาสหายก่อน |
ให้มารับเสด็จภูธร | บทจรเข้ายังเวียงชัย |
จึ่งจะควรแก่เบื้องบทเรศ | มงกุฎเกศกษัตริย์สูงใหญ่ |
พระยศจะปรากฏไป | ดั่งในฟากฟ้าธาตรี |
ว่าแล้วเสด็จยุรยาตร | องอาจดั่งพญาราชสีห์ |
ขึ้นยังรถรัตน์มณี | อสุรีก็เข้าในลงกา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษา |
รู้ว่าพระสหายเสด็จมา | อสุราแสนโสมนัสนัก |
ดั่งได้สมบัติพัสถาน | ศฤงคารบริวารในไตรจักร |
สำรวลสรวลยิ้มพริ้มพักตร์ | ไปรับสหายรักด้วยยินดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ จึ่งให้ประทับรัถา | กับเกยรัตนาจำรัสศรี |
พากันย่างเยื้องจรลี | ขึ้นปราสาทมณีอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ สองกษัตริย์นั่งร่วมบัลลังก์อาสน์ | สำราญราชฤทัยสโมสร |
คำรพกันด้วยใจสถาวร | เป็นทางสุนทรไมตรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึ่งมูลพลัมยักษี |
ส้วมกอดพระสหายด้วยยินดี | จึ่งมีบัญชาถามไป |
อันซึ่งอริราชไพริน | ถิ่นฐานบ้านเมืองนั้นอยู่ไหน |
สุริย์วงศ์พงศ์เผ่าเหล่าใคร | จึ่งอาจใจมาทำอหังการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพณาสูรใจหาญ |
ได้ฟังจึ่งมีพจมาน | อันพวกพาลที่ยกมานี้ |
นามมันชื่อว่ารามลักษมณ์ | หลานรักอัชบาลเรืองศรี |
หน่อท้าวทศรถธิบดี | อยู่ยังบุรีอยุธยา |
ตัวมันมีฤทธิ์ด้วยแสงศร | ทั้งพลวานรก็แกล้วกล้า |
ยกข้ามมหาสมุทรมา | เคี่ยวฆ่าสุริย์วงศ์กุมภัณฑ์ |
ครั้งนี้ไม่มีที่เห็นใคร | จะมล้างมันให้อาสัญ |
จึ่งไปเชิญสหายร่วมชีวัน | มาคิดกันสังหารไพรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญามูลพลัมยักษี |
ฟังพระสหายร่วมชีวี | โกรธดั่งอัคคีไหม้ฟ้า |
กระทืบบาทผาดแผดสุรเสียง | สำเนียงเลื่อนลั่นดั่งฟ้าผ่า |
ไฉนจึ่งไม่แจ้งกิจจา | ดั่งหนึ่งว่าเราไม่รักกัน |
ให้ยืดยาวใหญ่หลวงถึงเพียงนี้ | จนญาติวงศ์อสุรีอาสัญ |
ทำไมกับมนุษย์เท่าแมงวัน | ฤทธิ์มันจะมีสักเพียงไร |
บัดนี้พระเชษฐาฤทธิรณ | โกรธายกพลพยุห์ใหญ่ |
จะดับเข็ญให้เย็นทั้งเวียงชัย | ภูวไนยตั้งทัพพลับพลา |
อยู่นอกพระนิเวศน์เขตสถาน | ท่านจงไปเฝ้าพระเชษฐา |
ทูลเชิญเสด็จเข้ามา | คิดฆ่าอริราชไพรี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
แจ้งว่าพระเชษฐาธิบดี | ยกโยธีมาก็ดีใจ |
สิบปากสำรวลสรวลสันต์ | ตบหัตถ์สนั่นหวั่นไหว |
ก็พากันลีลาคลาไคล | ไปขึ้นรถทรงอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ สองกษัตริย์เสด็จตามกัน | ให้โลทันรีบขับไกรสร |
ออกจากลงกาพระนคร | บทจรไปโดยมรรคา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงให้หยุดรถทรง | สองสหายก็ลงจากรัถา |
พากันยุรยาตรคลาดคลา | ไปเฝ้าพญาอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ต่างองค์ประณตบทมาลย์ | พระผู้ปิ่นปางตาลเรืองศรี |
ด้วยใจชื่นชมยินดี | ในที่ท่ามกลางกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสหัสเดชะรังสรรค์ |
ครั้นแลเห็นองค์ทศกัณฐ์ | มาบังคมคัลก็ปรีดา |
จึ่งมีบัญชาอันสุนทร | ดูก่อนทศกัณฐ์ยักษา |
ซึ่งข้าศึกฮึกหาญอหังการ์ | กำลังแกล้วกล้าสักเพียงใด |
บรรดาสุริย์วงศ์พรหมาน | ต้านทานฝีมือมันไม่ได้ |
ตัวพี่แจ้งสารก็ร้อนใจ | ดั่งนอนอยู่ในอัคคี |
รีบเกณฑ์จตุรงค์พยุหบาตร | แสนเสนามาตย์ยักษี |
มาด้วยหวังจะช่วยต่อตี | สังหารชีวีให้มรณา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษา |
ได้ฟังพระราชบัญชา | อสุราแสนโสมนัสนัก |
ดั่งได้สมบัติพัสถาน | ศฤงคารบริวารทั้งไตรจักร |
จึ่งสนองวาจาพญายักษ์ | อันมนุษย์รามลักษมณ์ซึ่งอาจใจ |
ชำนาญในการธนูศร | ฤทธิ์รอนฟากฟ้าดินไหว |
อันหมู่โยธีกระบี่ไพร | ว่องไวในที่รณยุทธ์ |
ล้วนรู้เดินฟ้าประดาดิน | สิ้นทั้งเจ็ดสิบเจ็ดสมุทร |
มาตรแม้นถึงฆ่าด้วยอาวุธ | ก็ไม่สุดสิ้นชีพชีวี |
ซึ่งพระองค์เมตตาการุญ | พระคุณยิ่งฟ้าราศี |
ขอเชิญเสด็จเข้าบุรี | พักหมู่โยธีในลงกา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสหัสเดชะยักษา |
ได้ฟังคั่งแค้นในอุรา | โกรธาดั่งไฟบรรลัยกาล |
เหม่เหม่มนุษย์กับลิงไพร | เหตุใดมาทำอวดหาญ |
ไม่รู้ว่าชีวาจะวายปราณ | ด้วยมือพระกาลอันเรืองยศ |
ตรัสแล้วให้เลิกโยธา | แสนสุรเสนาทั้งปวงหมด |
ทั้งหมู่คชาม้ารถ | บทจรเข้ายังพระบุรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยี่สิบกรยักษี |
นำเสด็จเชษฐาธิบดี | ถึงที่ปราการลงกา |
แลดูพิชัยรถทรง | ขององค์พญายักษา |
ใหญ่สูงกว่าช่องทวารา | จึ่งบัญชาสั่งมโหทร |
จงเร่งไปรื้อกำแพงเมือง | ข้างเบื้องทักษิณเสียก่อน |
ให้ราบรื่นจนพื้นดินดอน | รถพระภูธรจะเข้าไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มโหทรเสนาผู้ใหญ่ |
รับสั่งพระองค์ทรงภพไกร | ก็ขับไพร่ให้รื้อปราการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บ้างคัดบ้างขนอุตลุด | บ้างขุดบ้างรื้อทุกหน้าด้าน |
ทุบปราบราบรื่นพื้นดินดาน | ก็เสร็จตามพจมานอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสหัสเดชะยักษี |
จึ่งให้เคลื่อนรถรัตนมณี | เข้าในบุรีลงกา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ชมตลาด
๏ พินิจพิศดูพระนคร | ท้าวยี่สิบกรยักษา |
ปราการเชิงเทินจำเริญตา | ระยะช่องเสมาเสมอกัน |
ซุ้มทวารบานบังทวาเรศ | เขื่อนเขตคูรอบเป็นขอบคั่น |
ป้อมปืนหอรบเรียงรัน | ธงสุวรรณแถวฉัตรอลงกรณ์ |
ถนนแก้วแล้วล้วนศิลาลาด | แสนสะอาดแลเลื่อมประภัสสร |
ตึกกว้านร้านเรือนราษฎร | ไม่ซับซ้อนเรียงเรียบระเบียบงาม |
นิเวศน์วังคลังทิมเป็นทิวท่อง | พระลานมีที่ประลองท้องสนาม |
ที่นั่งเย็นเห็นลอยพลอยวาม | ปราสาทสามดูสูงสุดตา |
จตุรมุขสุขแม้นพิมานสวรรค์ | ยอดนั้นเป็นพรหมสี่หน้า |
หน้าบันสุบรรณจับนาคา | บราลีช่อฟ้าช้อยชด |
ช่องแกลแลไกลวาวแวว | เจียรนำปานแก้วอลงกต |
มีพื้นเจ็ดชั้นเป็นหลั่นลด | งามหมดเป็นที่จำเริญใจ |
อันกรุงลงการาชฐาน | แสนสนุกโอฬารไม่เปรียบได้ |
ชมพลางต่างเร่งรถชัย | ไปยังนิเวศน์อสุรี ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศพักตร์ยักษี |
นำเสด็จเชษฐาธิบดี | เข้ามาถึงที่หน้าพระลาน |
จึ่งให้ประทับกับเกยแก้ว | อันเลิศแล้วด้วยดวงมุกดาหาร |
ทูลเชิญเสด็จพญามาร | ขึ้นปราสาทสุรกานต์รัตนา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ให้นั่งเหนือบัลลังก์อาสน์ | ท่ามกลางอำมาตย์ซ้ายขวา |
หมอบเฝ้าเกลื่อนกลาดดาษดา | งามสง่าดั่งท้าวเวสสุวัณ |
แล้วมีพระราชวาที | สั่งมหาเสนีคนขยัน |
จงบอกเจ้าพนักงานทั้งนั้น | ให้แต่งเครื่องอันโอฬาร |
มาถวายสมเด็จพระเชษฐา | เลี้ยงทั้งโยธาทวยหาญ |
ข้าวเหล้าเป็ดไก่ชัยบาน | ของคาวของหวานทุกสิ่งไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มโหทรเสนาผู้ใหญ่ |
รับสั่งพระองค์ทรงภพไตร | บังคมไหว้แล้วรีบออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งสั่งกรมวังให้หมายบอก | วิเสทในนอกถ้วนหน้า |
ให้แต่งเอมโอชโภชนา | ตามบัญชาสั่งอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | นายเวรกรมวังทั้งสี่ |
ได้แจ้งแห่งมหาเสนี | หมายไปตามที่พร้อมกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นางวิเสทนอกตัวขยัน |
แจ้งหมายวิ่งผลุนพัลวัน | แบ่งปันกันตามพนักงาน |
บ้างคั่วบ้างแกงแพนงปิ้ง | ครบสิ่งของคาวของหวาน |
แกล้มกับเมรัยชัยบาน | เทียบทานแต่ล้วนโอชา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | นวลนางมณโฑเสน่หา |
จึ่งจัดสาวสรรค์กัลยา | รูปทรงโสภาวิลาวัณย์ |
เลือกล้วนแน่งน้อยอรชร | ดั่งนางอัปสรสาวสวรรค์ |
พร้อมทั้งสิบสองพระกำนัล | พากันขึ้นเฝ้าพระสามี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
๏ จึ่งน้อมเศียรประณตบทบงสุ์ | องค์สหัสเดชะยักษี |
ทั้งมูลพลัมอสุรี | ในที่ปราสาทรัตนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนางกำนัลซ้ายขวา |
ยกเครื่องเนื่องตามกันขึ้นมา | ถวายองค์พญากุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
จึ่งเชิญทั้งสองกษัตริย์นั้น | ให้กุมภัณฑ์เสวยโภชนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนางพนักงานซ้ายขวา |
ทั้งสิบสองกำนัลกัลยา | ก็เข้ามาโบกปัดพัดวี |
ลางนางบ้างรินสุรากลั่น | ใส่จอกสุวรรณจำรัสศรี |
ถวายองค์พญาอสุรี | ตามที่ตำแหน่งพนักงาน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เซ่นเหล้า
พระทอง
๏ ฝ่ายนางบำเรอก็ขับครวญ | โหยหวนรี่เรื่อยเฉื่อยฉาน |
ประสานเสียงโอดพันบรรเลงลาน | เป็นคำหวานพร้อมเพราะจับใจ |
บ้างตีรำมะนาท้าทับ | ฉิ่งกรับขานขัดจังหวะให้ |
ดีดสีมี่อึงคะนึงไป | พร้อมทั้งขับไม้มโหรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ มโหรี
ปะวะหลิม
๏ ฝ่ายนางระบำก็รำฟ้อน | ถวายกรองค์ท้าวยักษี |
ชม้ายกรายหัตถ์เป็นที | ในที่จังหวะเพลงรำ |
ร่ายตีวงเวียนเปลี่ยนขวา | ย้ายเป็นกินราเลียบถํ้า |
ดั่งนางฟ้าลงมาจับระบำ | งามขำอ้อนแอ้นทุกนางใน |
แล้วตีวงเวียนเปลี่ยนซ้าย | ย้ายเป็นผาลาเพียงไหล่ |
แกล้งทำกระบวนให้ยวนใจ | แก่สามท่านไทอสุรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสหัสเดชะยักษา |
ทั้งมูลพลัมอสุรา | เสวยพลางทัศนาระบำบัน |
ล้วนโฉมอำไพวิไลลักษณ์ | ผิวพักตร์เพียงอัปสรสวรรค์ |
ทั้งจริตกรีดงอนก็คล้ายกัน | กุมภัณฑ์พิศเพลินเจริญใจ |
สุรเสียงสำเนียงก็น่ารัก | พญายักษ์พิศวงหลงใหล |
ให้เกิดประดิพัทธ์ประหวัดไป | ที่ในรูปรสกิริยา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนางวิเสทนอกซ้ายขวา |
หุงต้มปิ้งจี่เป็นโกลา | ยำพล่าอุตลุดวุ่นไป |
ช้างสารคั่วแกงแพนงอั่ว | ควายวัวทอดมันชุบไข่ |
แกล้มกับสำหรับเมรัย | เสร็จแล้วยกไปตามกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ตั้งเป็นระเบียบเรียบเรียง | ในที่เลี้ยงหมู่พลขันธ์ |
ของหวานของคาวครบครัน | เหล้าต้มเหล้ากลั่นอย่างดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พวกพลปางตาลยักษี |
นั่งล้อมพร้อมกันทำที | กินเหล้าอึงมี่เป็นโกลา |
เมามายพูดโป้งโฉงเฉง | เต้นรำทำเพลงกลอกหน้า |
ฉวยฉุดยุดนางอสุรา | ไขว่คว้าอุตลุดวุ่นไป |
ที่เหล่ากินมากก็รากท้น | จะเอาดีสักคนก็ไม่ได้ |
อึงคะนึงทั้งหน้าพระลานชัย | นายไพร่เกษมเปรมปรีดิ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เซ่นเหล้า
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสหัสเดชะยักษี |
เสร็จเสวยโภชนาสาลี | อสุรีปราศรัยทศกัณฐ์ |
อนิจจามณโฑเมียเจ้า | พักตราสร้อยเศร้าโศกศัลย์ |
ซูบผอมเสียโฉมโนมพรรณ | ด้วยโศกาจาบัลย์ถึงลูกรัก |
อันการสงครามครั้งนี้ | ไว้นักงานพี่จะช่วยหัก |
ฆ่าเสียให้สิ้นทั้งรามลักษมณ์ | ที่มันฮึกฮักอหังการ์ |
ด้วยคทาวุธพระทรงญาณ | ประทานให้เราผู้เชษฐา |
ทรงอานุภาพมหิมา | ใต้ฟ้าไม่มีของผู้ใด |
แม้นชี้ข้างต้นก็ตาย | ชี้ปลายกลับเป็นขึ้นมาได้ |
ทำไมกับมนุษย์เท่าตัวไร | กับไอ้ลิงไพรอัปรีย์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพนาสูรยักษี |
ฟังพระเชษฐาพาที | ยินดีดั่งได้โสฬส |
สิบปากสำรวลสรวลสันต์ | สิบพักตร์เพียงจันทร์ทรงกลด |
ทีนี้ไพรีที่คิดคด | จะตายหมดด้วยพระเดชา |
ตัวข้าจะยกจตุรงค์ | ออกไปตามองค์พระเชษฐา |
จะดูหน้ามนุษย์ทั้งสองรา | กับพวกสวาวานร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสหัสเดชะชาญสมร |
ได้ฟังท้าวยี่สิบกร | ภูธรจึ่งสั่งเสนี |
จงเตรียมจตุรงค์ทวยหาญ | คชาธารรถรัตน์หัตถี |
กูจะไปปราบราชไพรี | แต่นาทีเดียวให้พร้อมกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาปางตาลคนขยัน |
กับเสนีทศเศียรกุมภัณฑ์ | ถวายบังคมคัลแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ยานี
๏ เสนีปางตาลก็จัดพล | สับสนโดยซ้ายฝ่ายขวา |
เป็นกระบวนจตุรงค์โยธา | คชารถรัตน์อัสดร |
ให้กองพญาอุปราช | ล้วนเหล่าอาจหาญชาญสมร |
ทั้งสามสิบสมุทรพลากร | เป็นทัพหน้าราญรอนไพรี |
ทัพหลวงนั้นองค์พระเชษฐา | โยธาดั่งพญาราชสีห์ |
แต่ละตนโตดำลํ่าพี | มีมือถือสรรพอาวุธ |
ฝ่ายข้างลงกาพระนคร | พลากรสามสิบเจ็ดสมุทร |
เลือกล้วนหมู่มารชำนาญยุทธ์ | ฤทธิรุทรดั่งไฟบรรลัยกาล |
เป็นทัพหลังรั้งท้ายกระหนาบศึก | โห่ฮึกผาดแผลงสำแดงหาญ |
เตรียมทั้งรถแก้วอันโอฬาร | คอยสามพญามารเสด็จจร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสหัสเดชะชาญสมร |
กับสองอนุชาฤทธิรอน | กรายกรไปสรงวาริน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ สามกษัตริย์สระสนานกายา | สุคนธาหอมฟุ้งจรุงกลิ่น |
สนับเพลารายพลอยโกมิน | ภูษาธงข้าวบิณฑ์เชิงครุฑ |
ต่างทรงชายแครงชายไหว | เกราะเพชรเจียระไนสลับบุษย์ |
ทับทรวงสังวาลชมพูนุท | ตาบทิศมุกดาดวงลอย |
รัดอกกระหนกเนาวรัตน์ | สะอิ้งแก้วจำรัสเฟื่องห้อย |
ทองกรกุดั่นประดับพลอย | พาหุรัดรักร้อยอลงการ |
ต่างทรงธำมรงค์เรือนเก็จ | มงกุฎเพชรพรรณรายฉายฉาน |
ทรงมหากุณฑลแก้วประพาฬ | ห้อยพวงกุสุมาลย์กรรเจียกจร |
ต่างทรงคทาวราวุธ | หอกแก้วฤทธิรุทรธนูศร |
เสด็จจากปราสาทอลงกรณ์ | บทจรขึ้นรถสุรกานต์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เสมอ
๏ รถเอยรถศึก | พันลึกด้วยแก้วมุกดาหาร |
งอนระหงกงก้องจักรวาล | สูงตระหง่านเงื้อมงํ้าอัมพร |
เทียมด้วยคชสีห์สองพัน | ถัดนั้นเทียมพญาไกรสร |
รถหลังเทียมเสือฤทธิรอน | สารถีขับจรดั่งลมพัด |
พร้อมเครื่องอภิรุมชุมสาย | ธงฉานธงชายกรรชิงฉัตร |
โยธาเบียดเสียดเยียดยัด | ขนัดฆ้องกลองประโคมโครมครึก |
เสียงปี่เสียงแตรเสียงสังข์ | ประดังพร้อมสามกองก้องกึก |
เสียงเท้าโยธาคึกคึก | โห่ฮึกขับแข่งกันมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กราว
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศพักตร์ยักษา |
เดินเป็นทัพหลังรั้งโยธา | อสุรารื่นเริงบันเทิงไป |
จนล่วงแว่นแคว้นนคเรศ | เข้าเขตวิถีทางใหญ่ |
ให้เกิดนิมิตประหลาดใจ | เมื่อจะเสียทัพชัยปางตาล |
สุริยาแจ่มแจ้งแสงส่อง | ฟ้าคะนองลั่นเปรี้ยงผ่าผลาญ |
ถูกงอนรถทรงพญามาร | บันดาลหักสะบั้นลงทันที |
แล้วต้องซึ่งเศวตฉัตรทรง | ขององค์พญายักษี |
ย่อยยับเป็นภัสม์ธุลี | อสุรีตะลึงทั้งกายา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสองพันกรยักษา |
เห็นรถทศกัณฐ์อสุรา | ฟ้าผ่างอนหักทำลาย |
เป็นลางวิปริตผิดนัก | พญายักษ์คิดไปก็ใจหาย |
อันเจ้าลงกานี้เคราะห์ร้าย | แม้นไปจะตายด้วยไพรี |
ให้หยุดรถแล้วกล่าวสุนทร | ดูก่อนอนุชาเรืองศรี |
บัดนี้เหตุใหญ่บังเกิดมี | เจ้าพี่จงกลับเข้าพารา |
แต่เราสองทัพจะชิงชัย | ด้วยมนุษย์กับไอ้ลิงป่า |
ให้สิ้นพวกมันที่ยกมา | อนุชาอย่าได้อาวรณ์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรขุนมารชาญสมร |
ได้ฟังบัญชาอันสุนทร | ยอกรชุลีแล้วตอบไป |
ซึ่งพระองค์ทรงพระเมตตา | พระคุณนั้นหาที่สุดไม่ |
จะขอพึ่งเดชภูวไนย | ไปกว่าจะสิ้นชีวัน |
ทูลแล้วให้กลับรถทรง | จตุรงค์โยธาทัพขันธ์ |
รีบเร่งม้ารถคชกรรม์ | กุมภัณฑ์คืนเข้าลงกา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสหัสเดชะยักษา |
ครั้นทศกัณฐ์อสุรา | เลิกโยธากลับเข้าธานี |
จึ่งสั่งให้เคลื่อนจตุรงค์ | บากตรงออกตามวิถี |
โบกธงสำคัญสามที | อสุรีรีบเร่งยกไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เสียงม้าเสียงรถคชสาร | พลหาญโห่ฮึกแผ่นดินไหว |
สะเทือนถึงฟากฟ้าสุราลัย | ดั่งเขาใหญ่สัตภัณฑ์จะลั่นทรุด |
พญามูลพลัมเป็นทัพหน้า | โยธาถ้วนสามสิบสมุทร |
กวัดแกว่งสาตราอาวุธ | สำแดงฤทธิรุทรเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงสมรภูมิชัย | จึ่งให้หยุดพลไกรซ้ายขวา |
ตั้งเป็นกระบวนนาคา | คอยท่าอริราชไพรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์ทรงสังข์เรืองศรี |
ไสยาสน์ในราษราตรี | เหนือที่แท่นแก้วอลงกรณ์ |
ดาวเดือนเลื่อนลับเมฆา | สุริยาเรืองแสงประภัสสร |
พระพายพัดเรณูขจายจร | หอมกลิ่นอ่อนอ่อนรวยมา |
ทิชากรร่อนร้องถวายเสียง | สำเนียงเสนาะสนั่นป่า |
ฟื้นองค์จากที่ไสยา | ในเวลารุ่งแสงสุริยัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ จึ่งโสรจสรงทรงเครื่องเทวราช | อันโอภาสพรรณรายฉายฉัน |
เสด็จจากห้องแก้วแพรวพรรณ | ทรงธรรม์ออกหน้าพลับพลาชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ พร้อมอัษฎาทศมงกุฎ | ทหารฤทธิรุทรน้อยใหญ่ |
พอได้ยินสำเนียงเกรียงไกร | หวาดไหวทั่วทั้งธาตรี |
จึ่งมีพระราชบัญชา | ถามพญาพิเภกยักษี |
อันทัพซึ่งยกมานี้ | จะเป็นอสุรีในลงกา |
หรือว่าญาติวงศ์พงศ์พันธุ์ | ของทศกัณฐ์ยักษา |
เสียงมี่เอิกเกริกโกลา | ยิ่งกว่าทุกครั้งทุกทีไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังบัญชาพระภูวไนย | ก็ดูไปตามยามนาที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ขับไล่โดยในตำรา | ก็แจ้งโดยปรีชายักษี |
จึ่งบังคมคัลอัญชุลี | อสุรีสนองพระบัญชา |
ทัพนี้มิใช่สุริย์วงศ์ | ขององค์ทศพักตร์ยักษา |
คือสหายรักร่วมชีวา | เป็นมหาอุปราชปางตาล |
ชื่อมูลพลัมขุนยักษ์ | เรืองฤทธิ์สิทธิศักดิ์กล้าหาญ |
กับสหัสเดชะชัยชาญ | พี่ชายขุนมารร่วมอุทร |
เพื่อนนั้นเป็นปิ่นนคเรศ | เลื่องชื่อลือเดชชาญสมร |
ยกหมู่โยธาพลากร | มาช่วยพระนครลงกา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระภุชพงศ์องค์นารายณ์นาถา |
ได้แจ้งแห่งคำโหรา | ผ่านฟ้าจึงตรัสถามไป |
อันสองขุนมารซึ่งมีฤทธิ์ | ทศทิศไม่ทานกำลังได้ |
ครั้งนี้ท่านจะเห็นผู้ใด | ที่จะออกชิงชัยอสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกสุริย์วงศ์ยักษี |
ได้ฟังบรรหารพระจักรี | ชุลีกรสนองพระบัญชา |
อันท้าวพญาวานร | ซึ่งจะไปต่อกรยักษา |
ยากที่จะชนะอสุรา | ด้วยว่าสงครามนั้นใหญ่นัก |
ขอเชิญเสด็จบาทบงสุ์ | องค์พระภุชพงศ์ทรงจักร |
ออกไปสังหารขุนยักษ์ | เห็นจะหักเอาได้ด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์เรืองศรี |
ได้ฟังพิเภกอสุรี | จึ่งมีพระราชโองการ |
ดูกรพญาสุครีพ | เร่งรีบตรวจเตรียมทวยหาญ |
เราจะยกออกไปรอนราญ | กับสองขุนมารชาญฉกรรจ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุครีพฤทธิแรงแข็งขัน |
รับสั่งพระองค์ทรงสุบรรณ | ถวายบังคมคัลแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๏ เกณฑ์ให้คำแหงวายุบุตร | ถือพลสิบสมุทรเป็นกองหน้า |
เกียกกายหลานอมรินทรา | โยธาห้าสมุทรวานร |
กองหลวงนั้นพระจักรภุช | ทวยหาญสิบสมุทรชาญสมร |
เลือกล้วนกระบี่ฤทธิรอน | กรกุมเครื่องสรรพอาวุธ |
ยกระบัตรกระบินทร์นิลนนท์ | คุมพลวานรห้าสมุทร |
กองหลังนั้นคือโคมุท | คุมพวกพลยุทธ์เสมอกัน |
พร้อมทั้งปีกซ้ายปีกขวา | เสือป่าแมวมองตัวขยัน |
สามหอกเจ็ดหอกครบครัน | เลือกสรรแต่ล้วนตัวดี |
ศักดาเพียงพลิกแผ่นดินหงาย | ไพร่นายอุตลุดอึงมี่ |
เทียมทั้งรถรัตน์มณี | คอยพระจักรีเสด็จจร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
กับองค์พระลักษมณ์ฤทธิรอน | กรายกรไปสรงชลธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ สุหร่ายแก้วโปรยปรายดั่งสายฝน | ทรงสุคนธาทิพย์หอมหวาน |
สนับเพลาเครือหงส์อลงการ | เชิงงอนแก้วก้านอรชร |
พระเชษฐาผ้าทิพย์พื้นตอง | เครือทองรูปราชไกรสร |
พระอนุชาภูษาอุทุมพร | ลายรูปกินนรกรกราย |
ต่างทรงชายไหวปลายสะบัด | ชายแครงเนาวรัตน์ฉานฉาย |
ฉลององค์เกราะเพชรแพรวพราย | สังวาลศึกสามสายทับทรวง |
ตาบทิศมรกตเฟื่องห้อย | ทองกรรายพลอยโชติช่วง |
พาหุรัดกุดั่นชิงดวง | ธำมรงค์รุ้งร่วงเรือนครุฑ |
พระอนุชาทรงชฎาเทเวศ | พระเชษฐานั้นทรงมงกุฎ |
ห้อยพวงมาลัยชมพูนุท | จับศรฤทธิรุทรทั้งสององค์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย
๏ ครั้นเสร็จก็เสด็จลีลาศ | ดั่งสองเทวราชครรไลหงส์ |
พร้อมหมู่วานรสุริย์วงศ์ | มาทรงพิชัยราชรถ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ รถเอยรถทรง | จำหลักแก้วกำกงอลงกต |
แปรกแอกงอนอ่อนชด | ชั้นลดช่อตั้งบัลลังก์ลอย |
หน้าบันชั้นสิงห์พริ้งเพรา | พนักเสากาบกระหนกช่อห้อย |
มุขบันแวววับประดับพลอย | ห้ายอดสุกย้อยสุพรรณพราย |
เทียมด้วยสินธพเทเวศ | กำลังเดชดั่งม้าพระสุริย์ฉาย |
มาตุลีขี่ขับกรีดกราย | น้องนารายณ์นั่งหน้าประนมกร |
ประดับด้วยเครื่องสูงมยุรฉัตร | พัดโบกธงทิวปลิวสลอน |
ชุมสายบังแทรกจามร | แตรงอนแตรฝรั่งอึงอล |
โยธาโห่เร้าเอาฤกษ์ | เอิกเกริกโลกากุลาหล |
ผงคลีฟุ้งคลุ้มบดบน | เร่งพลขับแข่งกันไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | โยธาวานรน้อยใหญ่ |
ครั้นใกล้สมรภูมิชัย | แลไปที่ชายพนาวัน |
เห็นสหัสเดชะฤทธิรงค์ | ทรงรถอยู่กลางพลขันธ์ |
กายใหญ่ดั่งเขาอัศกรรณ | พักตร์นั้นถึงพันพักตรา |
ฟันเขียวเขี้ยวขาวช่วงโชติ | ยาวออกนอกโอษฐ์ยักษา |
ตาแดงดั่งแสงสุริยา | สองพันหัตถากุมอาวุธ |
วานรครั้นเห็นกุมภัณฑ์ | ตัวสั่นตกใจเป็นที่สุด |
ให้เข็ดขามคร้ามกลัวฤทธิรุทร | วิ่งหนีอุตลุดวุ่นไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เหลือแต่สุครีพหนุมาน | องคตชมพูพานทหารใหญ่ |
ทั้งสิบแปดมงกุฎวุฒิไกร | พิเภกผู้ไวปัญญา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรแก้วสุริย์วงศ์นาถา |
กับองค์พระศรีอนุชา | เห็นวานรแตกยับไม่สมประดี |
เหลือแต่โอรสพระสุริยัน | กับพิเภกกุมภัณฑ์ยักษี |
หนุมานองคตขุนกระบี่ | ทั้งสิบแปดเสนีวานร |
ให้คิดฉงนสนเท่ห์นัก | พระทรงจักรเขม้นไม่วางศร |
จึ่งถามน้องท้าวยี่สิบกร | ดูก่อนพิเภกโหรา |
ตัวเรายกพลมาสังหาร | ผลาญโคตรวงศ์ยักษา |
แต่หลังทุกครั้งทุกทีมา | วานรอาจองทะนงฤทธิ์ |
ดั่งไกรสรเข้าจับมฤคี | วันนี้เราดูเห็นผิด |
พากันแตกตื่นไปทุกทิศ | คิดคิดเป็นน่าอัศจรรย์ใจ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังบรรหารพระภูวไนย | บังคมไหว้สนองพระบัญชา |
อันสหัสเดชะตนนี้ | มันมีฤทธีแกล้วกล้า |
ได้พรบรมพรหมา | เป็นมหาวิเศษยิ่งนัก |
แม้นว่าจะเข้าต่อตี | ให้ไพรีเกรงฤทธิ์สิทธิศักดิ์ |
วานรครั้นเห็นขุนยักษ์ | จึ่งไม่รอต่อพักตร์กุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์รังสรรค์ |
ได้ฟังน้องท้าวทศกัณฐ์ | ทรงธรรม์สั่งองค์อนุชา |
ทั้งพญาสุครีพวายุบุตร | กับสิบแปดมงกุฎแกล้วกล้า |
จงไปไล่พลโยธา | ให้คืนเข้ามายังทัพชัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์กับหมู่ทหารใหญ่ |
รับสั่งพระตรีภูวไนย | บังคมไหว้แล้วพากันรีบจร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เที่ยวไปในแนวพนาเวศ | ขอบเขตธารท่าสิงขร |
เรียกหมู่โยธาวานร | ขับต้อนอื้ออึงเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา