- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์ทรงศร |
กับพระสัตรุดฤทธิรอน | บทจรมาสรงชลธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โทน
๏ ให้ไขท่อแก้วสุบงกช | วารีเสาวรสหอมหวาน |
ทรงสุคนธ์ปนปรุงสุมามาลย์ | สนับเพลาเครือก้านกระหนกครุฑ |
ภูษาองค์ละอย่างต่างสี | เครียวตะครีรายรูปเทพบุตร |
ชายไหวชายแครงชมพูนุท | ฉลององค์พื้นผุดดวงสุวรรณ |
ตาบทิศทับทรวงดวงประพาฬ | สังวาลมรกตทับทิมคั่น |
พาหุรัดทองกรมังกรพัน | ธำมรงค์เรือนสุบรรณเพชรพราย |
ต่างทรงมงกุฎเนาวรัตน์ | กรรเจียกดอกไม้ทัดจำรัสฉาย |
ห้อยสุวรรณมาลาโมราราย | จับศรนาดกรายมาขึ้นรถ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ บาทสกุณี
โทน
๏ รถเอยรถวิมาน | กงกำแก้วประพาฬอลงกต |
สามงอนอ่อนงามช้อยชด | ชั้นลดช่อตั้งบัลลังก์ลอย |
เรียงรูปเทพนมประนมนิ้ว | ครุฑจับนาคหิ้วเศียรห้อย |
บุษบกห้ายอดประดับพลอย | สุกย้อยงามแม้นไวชยันต์ |
องค์พระวรนุชนั่งหน้า | งามสง่าดั่งเทพรังสรรค์ |
เทียมสินธพชาติชาญฉกรรจ์ | สีจันทน์สามคู่เคียงจร |
สารถีขี่ขับสำทับเสียง | เรื่อยรี่เร็วเพียงหงส์ร่อน |
เครื่องสูงสายระย้าจามร | ฆ้องกลองแตรงอนประโคมครึก |
ทวยหาญโห่สะท้านสะเทือนภพ | กงกระทบเลื่อนลั่นก้องกึก |
สุพินสันนำพลคึกคึก | ดูพิลึกเข้าเมืองมลิวัน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ชมตลาด
๏ ผันแปรแลรอบราชฐาน | โอฬารดั่งดาวดึงส์สวรรค์ |
กำแพงดูเพียงสัตภัณฑ์ | คูกั้นเขื่อนแก้วเป็นแถวไป |
หอรบนางเรียงป้อมค่าย | เสมารายธงรอบดูไสว |
ซุ้มทวารบานสุวรรณอำไพ | ปืนใหญ่ประจำอยู่ทุกช่องมา |
ถนนพื้นล้วนแผ่นศีลาลาด | ตึกกลาดตั้งเกลื่อนแน่นหนา |
เรือนบ้านร้านระเบียบจำเริญตา | โรงม้าเรียงมาเป็นแถวกัน |
โรงคชรถเคียงคั่นห้อง | หน้าพระลานไว้ประลองพลขันธ์ |
ที่นั่งเย็นสุกย้อยพรายพรรณ | แสงสุวรรณดูพราววาวแวว |
นิเวศน์วังจังหวะตำหนักเนื่อง | โรงเครื่องเรืองทิมเป็นทิวแถว |
สามปราสาทดูประเสริฐเพริศแพร้ว | พื้นแก้วสุรกานต์ตระหง่านงาม |
สี่มุขสุขแม้นเวไชยันต์ | หน้าบันนาคเบือนเรืองอร่าม |
ห้ายอดแสงระยับแวววาม | บัวหงายทวยงามอรชร |
บราลีสีเลื่อมมุกดาหาร | ช่อฟ้าแก้วประพาฬประภัสสร |
พิศเพลินจำเริญเนตรภูธร | ให้ขับรถบทจรเข้าไป ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุพินสันผู้มีอัชฌาสัย |
ครั้นมาถึงหน้าพระลานชัย | ให้หยุดรถทรงอลงกรณ์ |
เข้าประทับเกยแก้วแกมมาศ | แล้วกราบบาทองค์พระทรงศร |
ขอเชิญเสด็จพระภูธร | บทจรขึ้นปราสาทรูจี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตทรงสวัสดิ์รัศมี |
ได้ฟังสุพินสันเสนี | จึ่งชวนพระศรีอนุชา |
สององค์เสด็จยุรยาตร | จากบัลลังก์ราชรัถา |
งามดั่งสุริยันกับจันทรา | ขึ้นมหาปราสาทสุรกานต์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | พร้อมอัษฎาทศทวยหาญ |
น้อมเกล้าประณตบทมาลย์ | ในสถานนิเวศน์อสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางวัชนีสูรมารศรี |
กับองค์พระราชบุตรี | อันมีศุภลักษณ์วิไลวรรณ |
แจ้งว่าเสด็จมาถึงปราสาท | สถิตแท่นสิงหาสน์ฉายฉัน |
พร้อมหมู่อนงค์กำนัล | พากันมาเฝ้าพระผ่านฟ้า ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงประณตบทบงสุ์ | สองกษัตริย์สุริย์วงศ์นาถา |
หมอบอยู่เป็นอันดับมา | คอยฟังบัญชาพระภูมี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตทรงสวัสดิ์รัศมี |
จึ่งมีพระราชวาที | ดูก่อนมเหสีพญามาร |
เรานี้จะยกกลับไป | ยังพิชัยอยุธยาราชฐาน |
ทูลองค์สมเด็จพระอวตาร | อันการในกรุงมลิวัน |
ตามแต่จะทรงพระเมตตา | จะให้ใครรักษาเขตขัณฑ์ |
แม่ลูกค่อยอยู่ครองกัน | กับฝูงกำนัลนารี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางวัชนีสูรมารศรี |
ได้ฟังพระราชวาที | มีความยินดีปรีดา |
จึ่งน้อมเศียรเกล้าบังคมทูล | นเรนทร์สูรสุริย์วงศ์นาถา |
ซึ่งพระองค์ทรงพระเมตตา | พระคุณล้ำฟ้าแดนไตร |
ตัวข้าทั้งสองผู้รองบาท | แสนอนาถไม่มีที่อาศัย |
ขอเอาพระเดชภูวไนย | ปกไปกว่าจะสิ้นชีวัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ได้ฟังนางทูลรำพัน | ทรงธรรม์เมตตาปรานี |
จึ่งผันพระพักตร์มาบัญชา | สั่งหมู่เสนายักษี |
ช่วยกันรักษาบุรี | ให้ไพร่ฟ้าประชาชีสำราญ |
ตรัสแล้วเสด็จยุรยาตร | ลงจากปราสาทมุกดาหาร |
พร้อมหมู่โยธีบริวาร | ผ่านฟ้ามาขึ้นรถชัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งให้เลิกพวกพลากร | ยักษาวานรน้อยใหญ่ |
ออกจากมลิวันกรุงไกร | กลับไปยังเขามยุรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งเสด็จยุรยาตร | จากบัลลังก์ราชรัถา |
กรายกรลีลาศคลาดคลา | ขึ้นสุวรรณพลับพลารูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พวกพลวานรแลยักษี |
ครั้นเสร็จสงครามก็ยินดี | มีแต่ชื่นเริงบันเทิงใจ |
เข้าออกในเมืองมลิวัน | ชวนกันจับหมูจับไก่ |
เที่ยวหยอกหญิงสาวฉาวไป | คว้าไขว่แม่หม้ายอยู่เฮฮา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์นาถา |
ครั้นรุ่งรางสร่างแสงพระสุริยา | เสด็จออกพลับพลารูจี |
พร้อมทหารทั้งสามพระนคร | เสนาวานรยักษี |
ดั่งดาวล้อมจันทราในราตรี | ธุลีเมฆหมอกไม่แผ้วพาน |
จึ่งมีมธุรสพจนารถ | ปรึกษาอำมาตย์ทวยหาญ |
บัดนี้ก็เสร็จราชการ | ซึ่งล้างพวกพาลอาธรรม์ |
เราจะเลิกพยุหโยธา | กลับไปอยุธยาเขตขัณฑ์ |
เฝ้าองค์พระผู้ทรงสุบรรณ | พร้อมกันจะเห็นประการใด ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังบรรหารพระภูวไนย | บังคมไหว้แล้วสนองพระวาจา |
ซึ่งพระองค์จะเลิกนิกร | ท้าวพญาวานรยักษา |
กลับไปยังศรีอยุธยา | เป็นหน้าวสันต์กันดาร |
จะลำบากยากใจแก่ไพร่พล | ด้วยฟ้าฝนตกทั่วทุกสถาน |
ตามประเวณีมาแต่บุราณ | ผ่านเกล้าจงได้ปรานี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตทรงสวัสดิ์รัศมี |
ได้ฟังพิเภกอสุรี | จึ่งมีวาจาตอบไป |
ครั้นจะอยู่ถึงฤดูเหมันต์ | พระทรงธรรม์จะติโทษได้ |
ว่ามารณรงค์ชิงชัย | ล้างเหล่าพวกภัยให้เนิ่นช้า |
จำจะลำบากบ้างแก่ไพร่พล | ด้วยลุยนํ้ากรำฝนเพราะเดินป่า |
สุครีพจงจัดโยธา | จะยกไปเวลาพรุ่งนี้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาไวยวงศากระบี่ศรี |
รับสั่งพระองค์ทรงฤทธี | ถวายอัญชุลีแล้วออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ตรวจหมู่วานรโดยจำนวน | ครบถ้วนไพร่นายน้อยใหญ่ |
อันวายุบุตรวุฒิไกร | ให้เป็นกองหน้านำจร |
พวกอัษฎาทศมงกุฎ | กับทหารฤทธิรุทรชาญสมร |
โดยเสด็จในทัพภูธร | พลากรเพียบพ้นคณนา |
อสุรผัดนิลพัทสองนาย | เดินแซงโดยซ้ายฝ่ายขวา |
โอรสอินทรชิตทั้งสองรา | กับทหารลงกาทั้งนั้น |
เป็นกองหลังรั้งท้ายโดยเสด็จ | น้องพระจักรเพชรรังสรรค์ |
ตั้งระเบียบเรียบแถวทางอรัญ | แน่นนันต์เพียบพื้นปถพี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองกษัตริย์สุริย์วงศ์เรืองศรี |
ครั้นรุ่งรางสร่างแสงพระรวี | เสด็จมาเข้าที่สนานองค์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โทน
๏ ปทุมแก้วโปรยปรายสายสินธุ์ | ชำระรดมลทินธุลีผง |
ลูบไล้เครื่องต้นสุคนธ์ทรง | ผจงผัดพักตร์ผ่องดั่งเพ็ญจันทร์ |
สอดใส่สนับเพลาเครือขด | ก้านแก้วมรกตทับทิมคั่น |
ภูษาพื้นสีต่างกัน | ช่อเชิงสุวรรณฉลุลาย |
ชายไหวชายแครงเครือมาศ | ฉลององค์พื้นตาดจำรัสฉาย |
ตาบทิศกุดั่นไพฑูรย์พราย | ทับทรวงสร้อยสายสังวาลวาม |
พาหุรัดทองกรมังกรแก้ว | ธำมรงค์เพชรแวววามอร่าม |
มงกุฎมรกตแกมภุกาม | กรรเจียกจรงอนงามกุณฑลทอง |
ต่างจับศรสิทธิ์อันศักดา | งามวิลาสใต้ฟ้าไม่มีสอง |
พร้อมหมู่เสนาอเนกนอง | เสด็จมาเกยทองอันรูจี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ได้ฤกษ์ให้เลิกพลากร | โยธาวานรยักษี |
สองพระองค์ทรงรถมณี | จากแดนบุรีมลิวัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ รถเอยรถทรง | กำกงแก้วลายฉายฉัน |
แปรกทองช่องกระจกกระหนกพัน | งอนชดลดชั้นบัลลังก์ลอย |
เสาแก้วกาบเก็จเพชรประดับ | ยอดแก้วแพรวระยับดั่งหิ่งห้อย |
บุษบกรุ้งร่วงด้วยดวงพลอย | แม้นวิมานมาศลอยในอัมพร |
เทียมสินธพสี่สีเศวต | กำลังเดชดั่งราชไกรสร |
พระกนิษฐานั่งหน้าประนมกร | สารถีขับจรดั่งลมพาน |
งามเครื่องสูงไสวรายริ้ว | มยุรฉัตรถัดทิวธงฉาน |
งามเสียงแตรสังข์เป็นกังวาน | ปี่ฆ้องกลองขานสะท้านดง |
อสุราวานรโห่สนั่น | พิลึกลั่นขุนไศลไพรระหง |
รีบเร่งพลขันธ์ดั้นดง | ตรงไปโดยทางพนาลี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงองค์วลาหกเรืองศรี |
ครั้นฤดูวสันต์ก็ยินดี | สำแดงฤทธีชัยชาญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เป็นพยุพัดกล้ากุลาหล | พฤกษาหักโค่นทุกสถาน |
เมฆหมอกมืดมนอนธการ | บันดาลห่าฝนให้ตกลง |
นองไปทั้งพื้นแผ่นดิน | วารินพัดพาธุลีผง |
ท่วมทุ่งมรคาป่าดง | ไหลลงโตรกธารคีรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายนางเมขลามารศรี |
หัตถ์ขวาถือดวงมณี | เทวีออกจากวิมานฟ้า |
เที่ยวฟ้อนร่อนรำทำเพลง | โอดพันบรรเลงหรรษา |
แสงแก้วแวววับทั้งโลกา | เวียนไวไปมาในอัมพร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายปโรตยักษีชาญสมร |
อยู่ในวิมานแก้วอลงกรณ์ | เห็นอัปสรเมขลานารี |
มืมือถือดวงวิเชียรฉาย | รำร่ายตามจักรราศี |
แสงแก้วแพรวพรายรูจี | รัศมีสว่างกระจ่างไป |
บังเกิดโลภล้นเป็นพ้นคิด | มีจิตยินดีจะใคร่ได้ |
จับศรออกจากวิมานชัย | เหาะระเห็จเตร็จไล่กัลยา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางมณีเมขลา |
เห็นปโรตไล่ชิดติดมา | นางฟ้ารำล่ออสุรี |
กลอกแก้วแพรวพรายกระจายแสง | แล้วแกล้งกำไว้ให้อับศรี |
เห็นห่างก็ชูดวงมณี | ทำทีล่อล้อขุนมาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ปโรตอสุรีใจหาญ |
ครั้นเห็นดวงแก้วนงคราญ | โถมทะยานคว้าไขว่ทั้งสองกร |
ครั้นใกล้ก็ไม่เห็นนาง | ครั้นห่างจึ่งเห็นดวงสมร |
กริ้วโกรธพิโรธดั่งไฟฟอน | ชักศรแผลงไปด้วยศักดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายรามสูรยักษา |
เที่ยวไปในกลีบเมฆา | พอเห็นเมขลานารี |
ดูดวงวิเชียรช่วงโชติ | เลี้ยวล่อปโรตยักษี |
มีความประดิพัทธ์ยินดี | จะใคร่ได้มณีของทรามวัย |
กวัดแกว่งขวานเพชรระเห็จหัน | เสียงสนั่นครั่นครื้นหวาดไหว |
ถาโถมกระชั้นชิดติดไป | เลี้ยวไล่นางเทพกัลยา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางมณีเมขลา |
เลี้ยวล่อปโรตอสุรา | มาพบรามสูรกุมภัณฑ์ |
หลบเข้ากลีบเมฆแฝงกาย | ยิ้มพรายสำรวลสรวลสันต์ |
เยี่ยมพักตร์โยนแก้วแพรวพรรณ | กัลยาล่อเลี้ยวเป็นที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | รามสูรสิทธิศักดิ์ยักษี |
ครั้นเห็นดวงแก้วมณี | อสุรีแกว่งขวานขว้างไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เปรี้ยงเปรี้ยงดั่งเสียงลมกาล | ขุนเขาจักรวาลสะท้านไหว |
เผ่นโผนโจนทะยานด้วยว่องไว | หมายใจชิงดวงจินดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางมณีเมขลา |
เห็นรามสูรไล่มา | ทั้งปโรตอสุรากั้นกาง |
ไม่คิดครั่นคร้ามขามใจ | เลี้ยวล่อเวียนไวมิให้ห่าง |
กลอกแก้วแวววับไปพลาง | ทำอย่างจะให้อสุรี |
ครั้นสองยักษ์ใกล้ชิดก็ซ่อนแก้ว | แล้วลอดตลบเลี้ยวหนี |
เห็นห่างก็โยนดวงมณี | ทำทีเยาะเย้ยไปมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | รามสูรฤทธิไกรใจกล้า |
ทั้งองค์ปโรตอสุรา | ต่างฉวยต่างคว้าวุ่นไป |
ครั้นแก้วแววแสงวาววับ | ก็โจนจับด้วยกำลังจะใคร่ได้ |
มืดมิดคว้าผิดก็ขัดใจ | ต่างไล่ติดตามนางเทวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึ่งองค์พระพรตเรืองศรี |
มาในกลางป่าพนาลี | ได้สิบสี่โยชน์คณนา |
เห็นมืดมนอนธการทั้งอากาศ | ไหวหวาดครื้นครั่นทุกทิศา |
ฝนตกนํ้านองพสุธา | ท่วมป่าท่าทางเสด็จจร |
ไม้ไหล้ลู่ล้มหักโค่น | พายุพัดอึงอลไม่หยุดหย่อน |
พิโรธโกรธกริ้วดั่งไฟฟอน | จับศรเงื้อง่าจะแผลงไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกผู้มีอัชฌาสัย |
ตกใจกอดข้อพระบาทไว้ | แล้วกราบทูลไปทันที |
ไม่ควรพระบาทจะกริ้วโกรธ | องค์ปโรตเทเวศเรืองศรี |
อันธรรมดาโลกประเวณี | ย่อมมีแต่กาลก่อนมา |
ครั้นพิรุณออกจากวิมาน | ก็บันดาลฝนตกในแหล่งหล้า |
ฝูงสัตว์ทั่วทั้งโลกา | ได้อาศัยนํ้าฟ้าสำราญใจ |
จงสั่งศรไปไล่พลาหก | อย่าให้ฝนตกในที่ใกล้ |
มรคาก็จะไม่ยากใจ | ภูวไนยจงทรงพระเมตตา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์นาถา |
ได้ฟังสั่งศรศักดา | ผ่านฟ้าผาดแผลงไปทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เสียงสนั่นครั่นครื้นอัมพร | ศรไล่พลาหกเรืองศรี |
ทั้งปโรตรามสูรอสุรี | นางมณีเมขลาก็หนีไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ สุริยาผ่องแผ้วโพยมบน | จะมืดเมฆมัวฝนก็หาไม่ |
จึ่งให้เคลื่อนพวกพลไกร | รีบไปโดยทางอรัญวา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ พระชมฝูงสัตว์จัตุบาท | เที่ยวกลาดเล็มกินที่ชายป่า |
กาสรพาพวกเป็นหมู่มา | พยัคฆาหมอบมองมฤคี |
โคเพลาะเลาะเลี้ยวเล็มระบัด | สิงห์นัดตามคณาไกรสีห์ |
คชสารนำนางกิริณี | ตรวจเสียงอึงมี่ชมกัน |
ละมาดเลี้ยวเที่ยวท่องกินหนาม | ชายระนามใกล้คู่หมู่สมัน |
เหล่าลิงวิ่งโลดพัลวัน | ล่อหลอกหยอกกันไปมา |
คชสีห์ทำสีหนาทเดิน | ตามเนินพนมแนวผา |
โตเต้นเผ่นผาดมรคา | กระต่ายป่าตื่นตามอลวน |
ทักกระทอนอเพนเม่นหมี | นางชะนิเหนี่ยวไม้โหยหน |
ชมพลางเพลินมาในอารญ | เร่งรถรีบพลดำเนินจร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ข้ามทางหว่างทุ่งวุ้งป่า | ธารท่าลำเนาสิงขร |
รอนแรมมาในพนาดร | ถึงนครลงกาธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ท้าวทศคิริวงศ์ยักษี |
จึ่งให้หยุดพหลโยธี | อยู่ที่ในสวนอุทยาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางตรีชฎายอดสงสาร |
กับเบญกายเยาวมาลย์ | ทั้งนงคราญสุวรรณกันยุมา |
แจ้งว่าสองพระองค์พงศ์นารายณ์ | ยกพลนิกายไปเข่นฆ่า |
สังหารจักรวรรดิอสุรา | มีชัยกลับมาถึงธานี |
พักพลอยู่นอกนคเรศ | ไปนิเวศน์ตำหนักสวนศรี |
มีความชื่นชมยินดี | เทวีจะไปเฝ้าพระทรงธรรม์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายนางมณโฑสาวสวรรค์ |
แจ้งว่าฝูงนางทั้งนั้น | จะออกไปอภิวันท์พระทรงฤทธิ์ |
ครั้นจะนิ่งอยู่ก็เกรงภัย | ครั้นจะออกไปก็กลัวผิด |
ให้เร่าร้อนฤทัยดั่งไฟพิษ | สุดคิดที่จะไว้อินทรีย์ |
แข็งใจเสด็จยุรยาตร | ลงจากปราสาทมณีศรี |
พร้อมตรีชฎาอสุรี | เทวีพากันดำเนินไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงลดองค์ลงหมอบเฝ้า | น้อมเกล้าบังคมประนมไหว้ |
แต่นางมณโฑทรามวัย | ก้มอยู่มิได้เงยพักตร์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์ทรงจักร |
เห็นเมียพิเภกขุนยักษ์ | พระตรัสทักแย้มยิ้มพริ้มพราย |
แสนสำราญฤทัยพระทรงธรรม์ | พักตร์ผ่องเพียงจันทร์จำรัสฉาย |
หมดเมฆไม่มีมลทินกราย | น้องนารายณ์ยินดีปรีดา |
แต่พักพวกพลทวยหาญ | อยู่ยังอุทยานยักษา |
งามดั่งองค์อมรินทรา | เสด็จมาประพาสนันทวัน |
สองกษัตริย์เที่ยวชมนคเรศ | ทั่วราชนิเวศน์เขตขัณฑ์ |
สมบัติพัสถานทศกัณฐ์ | สนุกดั่งชั้นฟ้าสุราลัย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ยักษาวานรน้อยใหญ่ |
พากันเที่ยวเก็บผลไม้ | ด้วยใจยินดีปรีดา |
เหล่าลิงวิ่งวุ่นพัลวัน | ชิงกันกับหมู่ยักษา |
สัพยอกหลอกล้อเฮฮา | เริงร่าทุกพวกพลากร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์ทรงศร |
พักพลโยธาวานร | แรมร้อนอยู่สามราตรี |
ครั้นพระสุริยาเรื่อรอง | แสงทองจำรัศรัศมี |
เสนาะเสียงไก่แก้วสกุณี | ร้องมี่ขันขานประสานกัน |
ชาวประโคมก็ประโคมฆ้องกลอง | ปี่เสนาะเพราะก้องเสียงสนั่น |
พระตื่นจากแท่นแก้วแกมสุวรรณ | พร้อมกันกับองค์พระอนุชา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ จึ่งชำระสระสรงทรงเครื่อง | อร่ามเรืองดั่งเทพเลขา |
สองกษัตริย์ยุรยาตรคลาดคลา | มาขึ้นรถรัตนารูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ให้เลิกพวกพลทวยหาญ | ออกจากอุทยานยักษี |
โห่สนั่นลั่นฟ้าธาตรี | สารถีเร่งรถดำเนินจร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
ครั้นถึงฟากฝั่งสาคร | ชุลีกรร่ายเวทเกรียงไกร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ บัดเดี๋ยวกลับกลายอินทรีย์ | เท่าพระเมรุคีรีเนินไศล |
นอนทอดตลอดฝั่งสมุทรไท | เป็นถนนกว้างใหญ่มหิมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์นาถา |
เห็นพญาอนุชิตทำฤทธา | เป็นทางข้ามมหาสาคร |
ราบรื่นดั่งพื้นปถพี | ภูมีชื่นชมสโมสร |
จึ่งให้ข้ามโยธาพลากร | บทจรเร่งรีบกันไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงฟากฝั่งชลธาร | พร้อมพวกทหารน้อยใหญ่ |
จึ่งให้ขับรถแก้วแววไว | ไปตามอรัญมรคา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ พระฟังเสียงวิหคกู่ร้อง | บ้างร่อนร้องจับกิ่งพฤกษา |
ชมหมู่รุกขชาติดาษดา | สาขารุ่นรามเรียงรัน |
บ้างผลิดอกออกผลอยู่สล้าง | สองข้างมรคาพนาสัณฑ์ |
ดิบห่ามทรามสุกแกมกัน | ที่เหลืองดั่งสุวรรณพรรณราย |
ที่เขียวปานมรกตสดแสง | ที่แดงดั่งปัทมราชเรืองฉาย |
บ้างหล่นลงเกลื่อนกลาดดาษทราย | วานรทั้งหลายก็เก็บกิน |
พระพายพานพัดเย็นเฉื่อย | เรื่อยรื่นเกสรขจรกลิ่น |
เสนาะเสียงผากไผ่ดั่งเพลงพิณ | ทินกรอ่อนแสงสำราญใจ |
จักจั่นเรไรเรื่อยร้อง | เพรียกพร้องดั่งจำเรียงเสียงใส |
ร้อนแรมมาในพนาลัย | รีบไปอยุธยาธานี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งหยุดพลากร | เสนาวานรยักษี |
ให้ประทับรถแก้วรูจี | กับเกยมณีอลงการ์ |
ชวนพระอนุชาร่วมใจ | ลงจากอาสน์พิชัยรถา |
พร้อมหมู่โยธีท้าวพญา | เสด็จมายังท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ สองกษัตริย์โอนเศียรอภิวาทน์ | แทบบาทพระนารายณ์รังสรรค์ |
บรรดาเสนาที่มานั้น | พากันนอบน้อมดุษฎี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
เสด็จออกมาตยามนตรี | ภูมีเห็นสองอนุชา |
กับหมู่ทหารชาญณรงค์ | ท้าวทศคิริวงศ์ยักษา |
ยิ่งแสนโสมนัสปรีดา | ผ่านฟ้ามีราชโองการ |
ดูก่อนพระน้องทั้งสองศรี | ผู้ร่วมชีวีสังขาร |
เจ้าไปปราบศัตรูหมู่มาร | พวกพาลมีกำลังประการใด |
อันไอ้ทศพินทรลักษณ์ | มันฮึกฮักต่อสู้เป็นไฉน |
ทั้งเมืองมลิวันกรุงไกร | ได้ยากหรือง่ายอนุชา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์กนิษฐา |
น้อมเศียรกราบทูลพระจักรา | ข้าบาทไปปราบไพรี |
อันทศพินก็จับได้ | ทั้งไอ้วรณีสูรยักษี |
ตัดเกล้าเสียบไว้ในธานี | แล้วยกไปบุรีมลิวัน |
แรกพระสัตรุดออกรบ | กับสุริยาภพโมหันธ์ |
ลูกท้าวจักรวรรดิกุมภัณฑ์ | ต้องหอกของมันอันเกรียงไกร |
เมื่อบรรลัยจักรมาราญรอน | ก็แผลงศรรัดพาเอาไปได้ |
สองครั้งดั่งว่าจะบรรลัย | แก้ทันจึ่งไม่วายปราณ |
ภายหลังน้องยกไปต่อหัตถ์ | ด้วยท้าวจักรวรรดิใจหาญ |
ก็ต้องศรสาตร์ขุนมาร | หากเดชพระอวตารผู้ศักดา |
โปรดเกศประทานซึ่งเกราะแก้ว | อันเพริศแพร้วทรงคุณกำลังกล้า |
คุ้มได้ไม่ระคายกายา | จึ่งเข่นฆ่าอาธรรม์บรรลัย |
กราบทูลแต่ต้นจนปลาย | บรรยายแจ้งการศึกใหญ่ |
บรรดาเสียทีแลมีชัย | จนได้มลิวันธานี ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์เรืองศรี |
ฟังพระอนุชาร่วมชีวี | จึ่งมีพระราชบัญชา |
อันยักษาชาวเมืองมลิวัน | แต่ละตนแข็งขันแกล้วกล้า |
ประกอบด้วยพระเวทวิทยา | มีเทพสาตราเกรียงไกร |
นี่หากว่าเจ้าทั้งสององค์ | รณรงค์จึ่งเอาชนะได้ |
นอกกว่าเรานี้ไม่มีใคร | จะปราบมันให้สิ้นปราณ |
ตรัสแล้วองค์พระจักรี | จึ่งมีสิงหนาทบรรหาร |
เป็นไฉนพิเภกขุนมาร | ตัวท่านสิเป็นโหรา |
ประกอบด้วยปรีชาสามารถ | อาจรู้ใจคนถ้วนหน้า |
มิได้พินิจพิจารณา | มาเลี้ยงลูกไอ้ศัตรูไว้ |
ให้มันทำได้ถึงเพียงนี้ | ดังหนึ่งหามีปัญญาไม่ |
หากอสุรผัดปรีชาไว | หลานรักร่วมใจมาแจ้งการ |
จึ่งได้ยกพลไปช่วย | หาไม่จะม้วยสังขาร |
เพราะลูกจังไรใจพาล | ได้ความอัประมาณแก่ธาตรี ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ท้าวทศคิริวงศ์ยักษี |
ได้ฟังจึ่งสนองพระวาที | ภูมีจงทรงพระเมตตา |
อันตัวข้านี้เป็นคนหลง | งวยงงด้วยความเสน่หา |
เมื่อพระองค์ให้ผ่านลงกา | ไม่แจ้งว่ามณโฑมีครรภ์ |
คิดว่าเป็นลูกสายโลหิต | จึ่งรักใคร่สนิทไม่เดียดฉันท์ |
เบาใจมิได้สำคัญ | ว่ามันจะผลาญชีวี |
ครั้งมหาบาลมาราญรอน | ก็ยกออกต่อกรด้วยยักษี |
รณรงค์เพลี่ยงพลํ้าเสียที | ครั้งนี้ก็ปิ้มจะบรรลัย |
สองครั้งหากได้พระเดช | โปรดเกศช่วยชีพไว้ได้ |
พระคุณลํ้าลบภพไตร | ใหญ่หลวงลึกพ้นคณนา |
ซึ่งเคืองใต้เบื้องธุลีบาท | พระตรีภูวนาถนาถา |
โทษหนักถึงราชอาชญา | ผ่านฟ้าจงโปรดปรานี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์เรืองศรี |
ได้ฟังพิเภกอสุรี | ภูมียิ้มแล้วตรัสไป |
ซึ่งไพรินดูหมิ่นขุนมาร | เพราะท่านหามีฤทธิ์ไม่ |
อันลงกานิเวศน์เวียงชัย | ไพบูลย์พูนสุขภิรมยา |
ประกอบด้วยไอศูรย์สมบัติ | เกษมสวัสดิ์ดั่งดาวดึงสา |
ปัจจามิตรจึ่งคิดฉันทา | มารบราชิงราชธานี |
ว่าแล้วจึ่งองค์พระทรงจักร | ตรัสสั่งพระลักษมณ์เรืองศรี |
กับสุมันตันเสนี | บัดนี้ก็เสร็จซึ่งปราบมาร |
จะรางวัลผู้มีความชอบ | ประกอบโดยควรที่ฐาน |
จงประชุมเสนาปรีชาชาญ | ปรึกษาการบำเหน็จให้พร้อมกัน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์รังสรรค์ |
กับมหาเสนาสุมันตัน | บังคมคัลรับสั่งแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ชุมหมู่มาตยามนตรี | เสนีผู้จักพิพากษา |
ฝ่ายสัตพลีปรีชา | ก็เอาจดหมายมาทันใด ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาบดีน้อยใหญ่ |
ปุโรหิตพฤฒาปัญญาไว | บังคมไหว้เบื้องบาทพระลักษมณ์ |
แล้วปรึกษาโดยข้อจดหมาย | ครั้งนารายณ์ประทานซึ่งนาศักดิ์ |
เมื่อเสร็จศึกลงกาขุนยักษ์ | เอาเป็นหลักเทียบเปรียบกัน |
ว่าอันพระพรตอนุชา | เป็นจอมโยธาทัพขัน |
ต่างองค์พระผู้ทรงสุบรรณ | ไปปราบกุมภัณฑ์พวกภัย |
แก้ท้าวทศคิริวงศ์ | คืนเอาลงกาไว้ได้ |
แล้วไปรณรงค์ชิงชัย | ถึงกรุงไกรมลิวันกันดาร |
ต้องศรอสุราสาหัส | ฆ่าจักรวรรดิม้วยสังขาร |
ทั้งสุริยาภพขุนมาร | บรรลัยจักรวายปราณด้วยฤทธี |
ได้กรุงมลิวันโอฬาร์ | มาขึ้นอยุธยาบุรีศรี |
เป็นเกียรติเฉลิมบาทพระจักรี | ความชอบนั้นมีพ้นนัก |
ฝ่ายพระสัตรุดสุริย์วงศ์ | ก็ได้รณรงค์หาญหัก |
ต้องหอกสุริยาภพขุนยักษ์ | ทั้งศรบรรลัยจักรรัดไป |
สองครั้งปิ้มเสียชีวิต | จะคิดย่อท้อก็หาไม่ |
แล้วฆ่านนยุพักตร์บรรลัย | ความชอบภูวไนยเสมอกัน |
สองพระองค์ควรเป็นอุปราช | เหมือนพระลักษมณ์นุชนาถรังสรรค์ |
ให้มงกุฎเพชรสังวาลวัลย์ | เครื่องกษัตริย์บรรจงอลงการ์ |
อันน้องพญาพาลี | กระบี่ทำชอบมาหนักหนา |
ทั้งรับพระสัตรุดในเมฆา | เมื่อต้องศรศักดาเหราพต |
ควรให้เครื่องทรงอลงการ | มงกุฎสังวาลมรกต |
ธำมรงค์ค่าเมืองเรืองยศ | เครื่องสูงกลิ้งกลดจามร |
ฝ่ายว่าท้าวทศคิริวงศ์ | ก็ซื่อตรงต่อบาทพระทรงศร |
เป็นโหราตาศึกแน่นอน | บอกการราญรอนกุมภัณฑ์ |
ควรให้มงกุฎเนาวรัตน์ | คู่ทรงจักรวรรดิรังสรรค์ |
ให้ทั้งภูษาสังวาลวัลย์ | ประดับแก้วกุดั่นรูจี |
อันพญาอนุชิตจักรีวงศ์ | อาจองสังหารยักษี |
ใช้ไหนก็ไม่เสียที | ครั้งนี้ก็อาสาไป |
ทำลายด่านกรุงมลิวัน | ทั้งนํ้ากรดเพลิงกัลป์เสียได้ |
แล้วแปลงเป็นอินทรีเข้าชิงชัย | แก้น้องภูวไนยคืนมา |
ทำการสงครามจนสำเร็จ | บำเหน็จนั้นมากหนักหนา |
ซึ่งกรุงมลิวันพารา | ใหญ่หลวงมหิมายิ่งนัก |
ควรพญาอนุชิตจักรีวงศ์ | ไปดำรงเสมาอาณาจักร |
เป็นเจ้าแก่หมู่อสุริยักษ์ | เรืองฤทธิ์สิทธิศักดิ์ชัยชาญ |
ให้ทั้งมงกุฎเนาวรัตน์ | กรรเจียกจรจำรัสมุกดาหาร |
เครื่องต้นเครื่องทรงอลงการ | ฝูงสนมบริวารกัลยา |
ฝ่ายพญาอินทรนุภาพฤทธี | ความชอบก็มีหนักหนา |
ล้างพิธีบรรลัยจักรอสุรา | ฆ่าเพตราม้วยบรรลัย |
ครั้งศรเหราฤทธิรณ | ก็ผลาญพลราหูไม่นับได้ |
แก้องค์พระสัตรุดไว้ | ควรให้สร้อยสนสังวาลวัลย์ |
ทั้งมงกุฎกุณฑลดอกไม้ทัด | สำหรับกษัตริย์รังสรรค์ |
กับเครื่องอุปโภคทั้งนั้น | สารพันตามมีบำเหน็จกร |
อันนิลพัทฤทธิรณ | คุมพลชมพูชาญสมร |
ได้ทอดตนเป็นถนนในสาคร | ให้ข้ามนิกรโยธี |
แล้วไปเก็บซึ่งโอสถ | มาบดแก้พระสัตรุดเรืองศรี |
ทั้งผลาญมารกระบิลอสุรี | สุดสิ้นชีวีแหลกลาญ |
เมื่อเหรารัดพาพระองค์ไป | ก็ติดตามชิงชัยหักหาญ |
ทั้งไปล้างพิธีถึงบาดาล | แล้วฆ่าไวยตาลมรณา |
ความชอบได้ทำเป็นสาหัส | ชื่อพญาอภัยพัทธ์พงศา |
เป็นฝ่ายหน้าชมพูนครา | ให้มหามงกุฎทับทิมพราย |
สร้อยสนตาบทิศทับทรวง | สังวาลแก้วรุ้งร่วงสามสาย |
พานพระศรีเต้านํ้าจำหลักลาย | ธำมรงค์เพชรพรายเรือนสุบรรณ |
อันนิลนนท์ชมพูพาน | สองทหารฤทธิแรงแข็งขัน |
ได้สื่อเมืองลงกามลิวัน | แล้วหักโหมโรมรันหมู่ยักษ์ |
ใช้ไหนใช้ได้ทั้งสองตน | ดั่งหนึ่งขุนพลพญาจักร |
ให้ภิญโญยศพระหริรักษ์ | ความชอบมากนักพันทวี |
ควรให้มงกุฎสุรกานต์ | สังวาลเนาวรัตน์จำรัสศรี |
ภูษาผ้าต้นอย่างดี | ทั้งสองกระบี่เสมอกัน |
อันว่ากุมารอสุรผัด | ไม่เกรงท้าวจักรวรรดิโมหันธ์ |
ซื่อตรงจงรักพระทรงธรรม์ | ได้เอาเหตุนั้นมาแจ้งการ |
แล้วนำทัพไปลงกา | อาสาต่อตีหักหาญ |
จับอ้ายทศพินขุนมาร | ชาญศึกองอาจว่องไว |
ล้างพิธีไวยตาลบรรลัยจักร | ทั้งสองขุนยักษ์เสียได้ |
ความชอบนั้นมีแต่ต้นไป | ให้เป็นอุปราชลงกา |
ชื่อว่าพญามารนุราช | โดยชาติสุริย์วงศ์ยักษา |
ให้มหามงกุฎรจนา | เครื่องทรงอลงการ์รูจี |
ฝายสองโอรสอินทรชิต | สุจริตต่อเบื้องบทศรี |
ลอบออกมาจากธานี | ทูลแจ้งถ้วนถี่ทุกสิ่งไป |
อาสาจับไอ้ทศพิน | ผู้เป็นไพรินนั้นได้ |
แล้วโดยเสด็จพระภูวไนย | รณรงค์ชิงชัยจนเสร็จการ |
เชษฐาชื่อพญาวันยุพักตร์ | เป็นปิ่นปักกุรุราชราชฐาน |
ฝ่ายว่าอนุชาผู้ปรีชาญ | ขุนมารมีชอบเสมอกัน |
ชื่อพญากันนุชิตฤทธิรอน | ผ่านนครจักรวาลเขตขัณฑ์ |
ประทานเครื่องกษัตริย์ครบครัน | เปาวนาสูรนั้นให้กลับมา |
เป็นเสนาตาเมืองผู้ใหญ่ | ในท้าวทศคิริวงศ์ยักษา |
อันหมู่วานรโยธา | ซึ่งได้เข่นฆ่าไพรี |
ควรให้เกี้ยวเพชรแลสิ่งของ | เจียดทองครอบทองตามที่ |
ฝ่ายพลลงกาธานี | ให้มีบำเหน็จทั่วกัน ฯ |
ฯ ๗๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ทั้งมหาเสนาสุมันตัน | เอาคำปรึกษานั้นเข้ามา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรบังคมบาท | พระนารายณ์ธิราชนาถา |
ทูลคำปรึกษาเสนา | ตามเรียบเรียงมาทุกประการ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกทุกสถาน |
ฟังพระอนุชาผู้ปรีชาญ | ทูลบำเหน็จทหารโยธี |
บรรดาที่มีความชอบ | ประกอบยศสมควรถ้วนถี่ |
ต้องในพระทัยก็ยินดี | จึ่งมีพระราชบัญชา |
อันซึ่งท้าวทศคิริวงศ์ | จะดำรงพิภพไปภายหน้า |
จะไม่มีพวกพาลพาลา | ด้วยศักดาเดชหลานรัก |
จะไพบูลย์พูนสุขเกษมสันต์ | ทั่วขัณฑเสมาอาณาจักร |
สืบศรีสุริย์วงศ์พงศ์ยักษ์ | ภิญโญยศศักดิ์จำเริญไป |
ตรัสแล้วก็ปูนบำนาญ | บำเหน็จทหารน้อยใหญ่ |
ตามซึ่งประกอบความชอบไว้ | ทั้งพลไกยเกษธานี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตพระสัตรุดเรืองศรี |
ทั้งท้าวพญาวานรอสุรี | น้อมเศียรชุลีลงพร้อมกัน |
รับของประทานฐานา | ต่างตนปรีดาเกษมสันต์ |
อันพลสี่พระนครนั้น | ก็ได้พร้อมกันทั้งไพร่นาย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกทั้งหลาย |
ครั้นเสร็จบำเหน็จหมู่นิกาย | พอบ่ายชายแสงรวีวร |
เสด็จจากแท่นแก้วแกมมาศ | สง่างามดั่งราชไกรสร |
ย่างเยื้องยุรยาตรนาดกร | บทจรเข้าปราสาทรัตนา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ