- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
๏ เมื่อนั้น | พระทรงภพลบโลกนาถา |
ครั้นถึงเกยแก้วรัตนา | พอเวลาสิ้นแสงรวีวร |
ดาวเดือนเลื่อนลอยโพยมหน | อำพนโอภาสประภัสสร |
เสด็จจากรถทรงอลงกรณ์ | บทจรขึ้นยังปราสาทชัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เอนองค์ลงเหนือบัลลังก์อาสน์ | จะไสยาสน์เป็นสุขก็หาไม่ |
ให้กลุ้มกลัดซัดทรวงดวงใจ | ดั่งเรือดไรไต่ทั่วอินทรีย์ |
บันดาลร้อนรนพ้นนัก | ดั่งอัคนิรุทรมาจุดจี่ |
แต่ผุดลุกผุดนั่งไม่สมประดี | อยู่ในแท่นที่สุพรรณพราย |
จึ่งเยี่ยมสิงหาสน์บัญชรชัย | ชมแสงแขไขจำรัสฉาย |
หวังให้นํ้าฟ้าต้องกาย | จะได้หายซึ่งความรำคาญ |
ครั้นวายุพัดอ่อนอ่อน | กลับบันดาลร้อนดั่งเพลิงผลาญ |
เหลือบเห็นฝูงอนงค์นงคราญ | ผ่านฟ้ายิ่งกริ้วโกรธา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ เหม่เหม่ดูดู๋อี่กำนัล | ชวนกันมานั่งประชุมหน้า |
แกล้งแต่งจริตกิริยา | มาเย้ยเยาะข้าหรือว่าไร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ศัพท์ไทย
๏ ตรัสพลางฉวยชักพระขรรค์ทรง | ส่งเสียงกระทืบบาทหวาดไหว |
กวัดแกว่งคือไฟ | ไล่ฝูงนารี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
รื้อ
๏ อี่เอยอี่กำนัล | กูจะบั่นเกล้าเกศี |
พาอี่กาลี | วิ่งหนีไปไย |
มึงมาชวนกัน | เย้ยหยันกูได้ |
ว่าพลางภูวไนย | เลี้ยวไล่ไปมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ นางเอยนางกำนัล | ตัวสั่นตกใจหนักหนา |
ความกลัวอาญา | ผ่านฟ้าพันทวี |
ต่างร้องตรีดตราด | หวีดหวาดวิ่งหนี |
ล้มลุกคลุกคลี | อึงมี่โกลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
รื้อ
๏ ครั้นเอยครั้นเห็น | สาวศรีหนีเร้นไม่รอหน้า |
พระกริ้วโกรธา | ยิ่งกว่าไฟกัลป์ |
คลั่งคลุ้มกลุ้มกลัด | กวัดแกว่งพระขรรค์ |
เลี้ยวไล่ฟาดฟัน | กำนัลวุ่นไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดพิสมัย |
เห็นพระองค์ผู้ทรงฤทธิไกร | คลั่งไคล้ไล่ฝูงนารี |
ความตกใจกลัวตัวสั่น | จึ่งสั่งกำนัลสาวศรี |
จงไปทูลพระลักษมณ์ภูมี | ว่าเรานี้ให้เชิญเสด็จมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สาวใช้คนสนิทเสน่หา |
รับพระเสาวนีย์นางกัลยา | ถวายบังคมลาแล้วรีบไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งคลานเข้าเฝ้า | น้อมเกล้านบนิ้วประนมไหว้ |
ทูลความตามข้อรับสั่งใช้ | ขององค์อรไททุกประการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ผู้ปรีชาหาญ |
ตกใจดั่งจะสิ้นชนมาน | ผ่านฟ้าก็รีบจรลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จึ่งน้อมเศียรเกล้าอภิวาทน์ | แทบบาทสมเด็จพระลักษมี |
ท่ามกลางอนงค์นารี | ในที่ปราสาทอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดาดวงสมร |
เห็นพระอนุชาฤทธิรอน | จึ่งมีสุนทรตรัสไป |
บัดนี้สมเด็จพระเชษฐา | จะเข้าที่ไสยาก็หาไม่ |
ไล่พิฆาตฟาดฟันกำนัลใน | ตกใจวิ่งวุ่นทุกนารี |
จึ่งให้ไปเชิญเสด็จเจ้า | ขวัญข้าวผู้เพื่อนยากพี่ |
จงออกไปเฝ้าพระภูมี | เห็นที่จะคลายพระโกรธา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึ่งองค์พระลักษมณ์กนิษฐา |
รับพระเสาวนีย์นางกัลยา | กราบกับบาทาแล้วรีบไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงเข้ากอดพระบาท | ยอกรอภิวาทน์บังคมไหว้ |
ทูลว่าพระองค์ทรงภพไตร | เหตุใดมาเป็นดั่งนี้ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วเรืองศรี |
เห็นพระอนุชาร่วมชีวี | ภูมีค่อยได้สติมา |
จึ่งตรัสว่าดูก่อนเจ้าลักษมณ์ | น้องรักแสนสุดเสน่หา |
ตัวพี่เข้าที่ไสยา | เหนือแท่นรัตนาอำไพ |
ให้กลุ้มจิตดั่งต้องพิษศร | กายาเร่าร้อนไม่นอนได้ |
จะเป็นเหตุผลประการใด | จงค้นดูให้ทั่วบัดนี้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
ก้มเกล้ารับสั่งพระจักรี | ถวายอัญชุลีแล้วเข้ามา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ค้นไปในห้องปราสาท | พระยี่ภู่ปูลาดก็เลิกหา |
ฉากม่านลับแลทวารา | ไม่เห็นประหลาดตาสิ่งใด |
จึ่งเข้าค้นแท่นบรรทม | บรมไสยาสน์องค์ใหญ่ |
เห็นกระดานชนวนวางไว้ | ใต้ที่บรรจถรณ์พระนารายณ์ |
เขียนรูปทศพักตร์ยักษี | ภูมีตกใจใจหาย |
ใครหนอบังอาจไม่กลัวตาย | ทำให้ระคายเคืองพระบาทา |
ครั้นกูจะเอาซ่อนไว้ | เกรงภัยพระบรมเชษฐา |
คิดแล้วก็หยิบกระดานมา | ถวายพระจักราทรงธรรม์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระหริรักษ์รังสรรค์ |
ทอดพระเนตรเห็นรูปทศกัณฐ์ | บันดาลกริ้วโกรธคือไฟ |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | เหวยอี่พนักงานน้อยใหญ่ |
ใครเขียนรูปอสุราซ่อนไว้ | ในใต้แท่นที่ไสยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝูงนางกำนัลซ้ายขวา |
ความกลัวพระราชอาชญา | หน้าตาไม่เป็นสมประดี |
ครั้นจะทูลตามจริงให้แจ้งเหตุ | ก็เกรงองค์อัคเรศมเหสี |
แลดูหน้ากันทุกนารี | มิรู้ที่จะทูลประการใด |
แต่พระองค์ตรัสถามเป็นหลายหน | จะออกปากสักคนก็หาไม่ |
ครั้นกระทืบบาทก็ตกใจ | บังคมไหว้แล้วก้มพักตรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาผู้ยอดเสน่หา |
เห็นพระองค์กริ้วโกรธโกรธา | กัลยารำพึงคะนึงคิด |
ครั้นกูจะนิ่งอยู่บัดนี้ | น่าที่นางในจะได้ผิด |
ด้วยอาชญาองค์พระทรงฤทธิ์ | เวราจะติดตัวไป |
ประการหนึ่งจะเป็นที่ติฉิน | ทั้งหลายจะหมิ่นนินทาได้ |
ว่าตัวกูทำแล้วสินิ่งไว้ | ให้ผู้อื่นต้องภัยไม่ปรานี |
คิดแล้วจึ่งคลานเข้าไปเฝ้า | น้อมเกล้าประณตบทศรี |
อันรูปทศกัณฐ์อสุรี | ข้านี้ละเมิดพระอาญา |
เหตุด้วยสาวใช้ผู้หนึ่ง | มาใส่กลถามถึงยักษา |
แล้ววอนให้เขียนรูปเจ้าลงกา | ต่อหน้าพระสนมนางใน |
ข้าบาทประมาทไม่ทันรู้ | มันรบจะดูก็เขียนให้ |
บัดเดี๋ยวนางนั้นหายไป | ตกใจด้วยกันทุกนารี |
จะลบล้างเท่าไรก็ไม่หมด | ยิ่งปรากฏเป็นรูปยักษี |
พอเสด็จถึงเกยมณี | จึงซ่อนไว้ใต้ที่ไสยา ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกนาถา |
ได้ฟังยิ่งกริ้วโกรธา | กระทืบบาทชี้หน้าแล้วตรัสไป |
เหม่เหม่ดูดู๋อี่ทรลักษณ์ | ชั่วช้าอัปลักษณ์หยาบใหญ่ |
เสียแรงกูรักดั่งดวงใจ | ควรหรือเป็นได้เพียงนี้ |
ลอบเขียนรูปชู้ไว้ชมเล่น | ครั้นเห็นซัดใส่เอาทาสี |
อนิจจาไม่รู้ว่ากาลี | เสียทีไปตามเอามึงมา |
ทำศึกปิ้มปางตัวตาย | กลับเป็นแสนร้ายสองหน้า |
แม้นแจ้งว่ารักอสุรา | กูจะรับมึงมาด้วยอันใด |
ว่าแล้วตรัสสั่งพระลักษมณ์ | อี่สีดาจักเลี้ยงไว้ไม่ได้ |
เร่งเร็วจงพาตัวไป | ฆ่าเสียแต่ในราตรี |
อย่าให้แจ้งถึงสามพระมารดา | แหวะดวงจิตมาให้พี่ |
จะดูใจอี่กาลกิณี | ที่มันแพศยาอาธรรม์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ได้ฟังพระองค์ทรงสุบรรณ | ให้ล้างชีวันนางสีดา |
ตกใจดั่งพญามัจจุราช | มาฟันฟาดเศียรเกล้าเกศา |
ครั้นจะขอโทษทัณฑ์กัลยา | เห็นว่ายังทรงพระโกรธนัก |
จำเป็นจำรับพระโองการ | ของพระอวตารทรงจักร |
จึ่งพาพี่นางนงลักษณ์ | ไปให้พ้นพักตร์ภูมี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ ทยอย
๏ ครั้นมาลับคลองพระนัยน์เนตร | น้อมเกศกราบบาทนางโฉมศรี |
แล้วมีพจนารถวาที | เป็นกรรมของพี่ได้ทำมา |
ครั้นน้องจะทูลขอโทษ | เห็นทรงพระโกรธอยู่หนักหนา |
ว่าพลางกันแสงโศกา | ปิ้มประหนึ่งชีวาจะวายปราณ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาผู้ยอดสงสาร |
จึ่งว่าแก่พระลักษมณ์ชัยชาญ | ผ่านฟ้าไม่ทรงพระปรานี |
ผิดแต่เขียนรูปทศพักตร์ | ใช่จะจงใจรักยักษี |
พี่ทูลความตามเหตุซึ่งเกิดมี | พระมิได้ไถ่ถามเอาความจริง |
มาสั่งให้พิฆาตฟาดฟัน | สารพันว่าชั่วไปทุกสิ่ง |
จนใจสุดที่จะท้วงติง | จะนิ่งตายไปตามเวรา |
อันธรรมดาโลกทั้งหลาย | เกิดแล้วย่อมตายถ้วนหน้า |
ว่าพลางตรัสถามพระอนุชา | เจ้าจะฆ่าพี่ที่แห่งใด ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ผู้มีอัชฌาสัย |
สะอื้นพลางทางทูลอรไท | จะนำไปให้พ้นธานี |
ด้วยว่าที่นี้เป็นในเมือง | ฝูงคนจะลือเลื่องอึงมี่ |
อดสูไพร่ฟ้าประชาชี | ไม่รู้ชั่วดีจะนินทา |
ทูลพลางทางเช็ดชลเนตร | นำองค์อัคเรศเสน่หา |
รีบเร่งออกจากพารา | ไปตามมรคาพนาลัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงซึ่งป่ากาลวาต | เห็นนิโครธรุกขชาติสูงใหญ่ |
ก็พาพระพี่นางเข้าไป | ยังร่มไม้ใกล้เชิงคีรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โอ้
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางสีดามารศรี |
นั่งลงทรงโศกโศกี | เทวีตรัสแก่พระอนุชา |
วันนี้ตัวพี่จะลาแล้ว | น้องแก้วแสนสุดเสน่หา |
เคยยากเย็นเข็ญใจด้วยกันมา | จะไม่ได้เห็นหน้าสืบไป |
โทษพี่ผิดพลั้งแต่เพียงนี้ | ใช่ที่จะถึงตายก็หาไม่ |
มาตรแม้นชั่วช้าประการใด | ย่อมแจ้งแก่ใจพระน้องรัก |
ถึงว่าจะสิ้นชีวาวาย | จะสู้ถือสัจตายให้ประจักษ์ |
จงฆ่าพี่เสียเถิดนะเจ้าลักษมณ์ | ให้สิ้นเวรสิ้นรักกันวันนี้ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
โอ้
๏ เมื่อนั้น | องค์พระอนุชาเรืองศรี |
ได้ฟังพระราชเสาวนีย์ | โศกีกราบทูลกัลยา |
ซึ่งพระองค์ครองสัจสุจริต | ก็แจ้งจิตน้องนี้ไม่กังขา |
ถึงทศพักตร์มันลักไปลงกา | ยังรักษาองค์ไว้ไม่มลทิน |
ผ่องแผ้วดั่งแก้วบรมจักร | สุรารักษ์นักสิทธ์ก็แจ้งสิ้น |
แม้นพิรุธทุจริตราคิน | ก็จะสิ้นชนมานเมื่อลุยไฟ |
เหตุนี้เพราะเพื่อผลกรรม | ซึ่งทำไว้แต่ก่อนมาซัดให้ |
สุดคิดที่จะล้างชีวาลัย | เชิญเสด็จไปตามเวรา |
ทูลพลางแสนโศกแสนเทวษ | ชลนัยน์นองเนตรทั้งซ้ายขวา |
ซบพักตร์ลงกับบาทา | โศกาเพียงสิ้นชีวัน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โอด
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางสีดาสาวสวรรค์ |
เห็นพระน้องโศกาจาบัลย์ | กัลยาตรัสปลอบไปทันที |
โอ้อนิจจาเจ้าลักษมณ์ | ขอบใจพ้นนักซึ่งรักพี่ |
เมื่อรับสั่งให้ล้างชีวี | ปรานีไม่ฆ่าจะปล่อยไป |
พ่อจะไปเฝ้าองค์พระทรงฤทธิ์ | จะได้ดวงชีวิตที่ไหนให้ |
มาล่วงรับสั่งพระภูวไนย | โพยภัยจะมีแก่น้องยา |
ซึ่งเจ้าเมตตาการุญ | พระคุณอยู่พี่เป็นหนักหนา |
ไม่ขอทนทุกข์เวทนา | เร่งฆ่าเสียเถิดบัดนี้ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
น้อมเศียรสนองพระเสาวนีย์ | น้องจะฆ่าพี่นางนั้นฉันใด |
ประการหนึ่งพระองค์ก็ทรงครรภ์ | แก่เดือนคืนวันเติบใหญ่ |
เอ็นดูนัดดายาใจ | หญิงชายไม่แจ้งประจักษ์ตา |
สงสารจะมาพลอยตาย | น้องนี้เสียดายเป็นหนักหนา |
เชิญเสด็จไปตามเวรา | ตัวข้าจะคืนเข้าธานี |
จะเบี่ยงบ่ายกราบทูลพระทรงฤทธิ์ | ถึงผิดก็จะรับใส่เกศี |
จะแทนคุณพี่นางด้วยภักดี | มิได้มีอาลัยแก่ชีวัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดาสาวสวรรค์ |
ฟังพระอนุชารำพัน | กัลยารำพึงคะนึงคิด |
นิจจาเอ๋ยสงสารเจ้าลักษมณ์ | ซื่อตรงจงรักสุจริต |
ไหนจะฆ่ากูสิ้นชีวิต | เพราะว่ามีจิตเมตตา |
จำจะเสกแสร้งอุบาย | ด้วยถ้อยคำหยาบคายมารษา |
ตัดพ้อว่ากล่าวเป็นมารยา | ให้โกรธาขัดแค้นละอายใจ |
จึ่งจะสิ้นเมตตาการุญ | หวนหุนฆ่าฟันกูเสียได้ |
คิดแล้วจึ่งมีวาจาไป | เออไฉนฉะนี้พระลักษมณ์ |
ตัวท่านสิเป็นเพชฌฆาต | ถือราชอาชญาพระทรงจักร |
ไม่ทำตามบัญชาพระหริรักษ์ | มาเยื้องยักจะทำร้ายเรา |
เพราะเห็นว่าเป็นคนโทษ | สันโดษอยู่ในเงื้อมมือเจ้า |
แกล้งกล่าววาจาให้เพราะเพรา | โลมเลาดั่งจริงทุกสิ่งไป |
อันคิดนี้พอเข้าใจอยู่ | ด้วยกลางไพรใครหารู้เห็นไม่ |
จึ่งหน่วงไว้ให้ช้ำระกำใจ | ดีแล้วหรือไรให้ว่ามา ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์กนิษฐา |
ได้ฟังดั่งหนึ่งสายฟ้า | มาฟอนฟาดกายาพระทรงฤทธิ์ |
ให้ล้มลงเหนือพื้นสุธาดล | มืดมนคลั่งคลุ้มกล้มจิต |
ร้อนรุ่มสุมทรวงอยู่ด้วยพิษ | รำพึงคิดเห็นจริงทุกสิ่งไป |
อันถ้อยคำที่ว่าทั้งนี้ | เป็นประเวณีโลกวิสัย |
ด้วยกูกับนางมากลางไพร | ชั่วดีผู้ใดไม่ล่วงรู้ |
ธรรมดาสตรีกับบุรุษ | ที่วิมุตติมลทินแก่กันอยู่ |
ใครห่อนจะเห็นใจกู | จะมีผู้กระหายนินทา |
จำเป็นจะประหารชีวี | จึ่งจะสิ้นราคีไปภายหน้า |
คิดแล้วชักพระขรรค์อันศักดา | เงื้อง่าจะฆ่าบังอร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ กลับคิดพิศวงสงสาร | ถึงหลานในครรภ์ดวงสมร |
ให้เร่าร้อนฤทัยดั่งไฟฟอน | อาวรณ์สลดระทดใจ |
ชลเนตรแถวถั่งหลั่งลง | จะดำรงพระองค์มิใคร่ได้ |
พระขรรค์พลัดจากพระหัตถ์ไป | ภูวไนยทรุดองค์ลงโศกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๏ ครั้นได้สติสมประดี | ยอกรชุลีเหนือเกศา |
กราบลงแทบบาทแล้วสมา | ขออย่ามีเวราต่อกัน |
จำเป็นจะทำตามโองการ | ของพระอวตารรังสรรค์ |
ว่าแล้วจับพระแสงพรายพรรณ | จะพิฆาตฟาดฟันนางเทวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เงื้อขึ้นแล้วยืนตะลึงอยู่ | แลดูองค์พระมเหสี |
มิรู้ที่จะประหารชีวี | ภูมีกลับนั่งลงโศกา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๏ แล้วคิดเกรงองค์พระทรงจักร | หักใจดับโทมนัสสา |
ลุกขึ้นแกว่งพระแสงศักดา | หลับตาลงแล้วก็หวดไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ พระขรรค์แก้วศักดาวราวุธ | หลุดจากพระกรหารู้ไม่ |
สำคัญว่าพี่นางบรรลัย | สลบไปไม่เป็นสมประดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดามารศรี |
ครั้นพระลักษมณ์ประหารชีวี | ไม่ระคายอินทรีย์กัลยา |
ด้วยเดชความสัตย์ของนงคราญ | ทั้งบุญญาธิการโอรสา |
พระขรรค์กลับกลายเป็นมาลา | ลอยมาสอดสวมพระศอไว้ |
เห็นพระลักษมณ์นั้นล้มสลบอยู่ | จะรู้สมประดีก็หาไม่ |
คิดว่าสุดสิ้นชีวาลัย | ตกใจสวมกอดเข้าโศกี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
โอ้
๏ สะอื้นพลางว่าโอ้เจ้าเพื่อนยาก | พ่อเคยลำบากมาด้วยพี่ |
เมื่ออยู่ยังโคธาวารี | พระจักรีไปตามมฤคา |
พี่หยาบช้าว่าขานประการใด | ดวงใจไม่ถือโทษา |
ครั้งทำสงครามในลงกา | ต้องเทพสาตราพวกพาล |
ถึงห้าครั้งไม่สิ้นชีวิต | กลับมาสถิตราชฐาน |
พ่อได้เสวยสุขสำราญ | ไม่ช้านานสักเท่าใดมี |
ครั้งนี้เพราะพี่คิดประมาท | วาดรูปทศพักตร์ยักษี |
พระอวตารให้ประหารชีวี | จะสู้ตายแทนพี่ไม่กลัวภัย |
อันคุณของพระอนุชา | ดินแดนแผ่นฟ้าไม่เปรียบได้ |
เมื่อเจ้าสูญสิ้นชีวาลัย | พี่จะตายไปตามน้องรัก |
รํ่าพลางฟูมฟายชลเนตร | แสนทุกข์แสนเทวษเพียงอกหัก |
ยอกรข้อนทรวงเข้าฮักฮัก | นงลักษณ์สลบลงทันที ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ โอด
๏ ครั้นต้องละอองนํ้าค้าง | เย็นซาบสารพางค์นางโฉมศรี |
ฟื้นกายคืนได้สมประดี | เทวีต้ององค์พระอนุชา |
เห็นยังอ่อนอุ่นละมุนอยู่ | ก็รู้ว่าไม่สิ้นสังขาร์ |
ยอกรขึ้นตั้งสัตยา | ประกาศฝูงเทวาทุกทิศ |
เดชะความสัจของข้านั้น | ซื่อตรงเที่ยงธรรม์ไม่ทุจริต |
ขอให้พระลักษมณ์ผู้เรืองฤทธิ์ | คืนได้ชีวิตมาบัดนี้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ครั้นอธิษฐานแล้วก็ลูบลง | ที่องค์อนุชาเรืองศรี |
บันดาลเป็นทิพวารี | ซับซาบอินทรีย์ด้วยสัจจา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์กนิษฐา |
ครั้นฟื้นคืนได้สติมา | เห็นพี่นางกัลยาไม่บรรลัย |
มีความชื่นชมโสมนัส | ยกหัตถ์บังคมประนมไหว้ |
แล้วกล่าววาจาถามไป | เป็นไฉนพี่นางไม่วายปราณ |
อันพระขรรค์แก้วเล่มนี้ | มีคมดั่งกรดกล้าหาญ |
แม้นฟันเหล็กเพชรก็แหลกลาญ | มาบันดาลหายไปกับกร |
อันพวงสุวรรณมาลัย | งามไปด้วยทิพเกสร |
สวมใส่พระศอดั่งอาภรณ์ | บังอรพระได้แห่งใดมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดาเสน่หา |
ได้ฟังจึ่งมีวาจา | เมื่อแก้วตาฟันพี่ลงนั้น |
ก็คิดว่าม้วยชีวาลัย | จะลาเจ้าไปสู่สวรรค์ |
เดชะความสัจที่เที่ยงธรรม์ | พระขรรค์ไม่ระคายอินทรีย์ |
กลับกลายเป็นพวงมาลัย | สวมสอดอยู่ในพระศอพี่ |
ว่าแล้วเปลื้องพวงมาลี | ยื่นให้พระศรีอนุชา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึ่งองค์พระลักษมณ์กนิษฐา |
รับพวงสุวรรณมาลา | มาจากหัตถานางอรไท |
ก็กลับกลายไปเป็นพระขรรค์ | ทรงธรรม์ยอกรบังคมไหว้ |
แล้วมีวาจาทูลไป | ด้วยใจชื่นชมยินดี |
อันซึ่งความสัตย์ของพระองค์ | มั่นคงประเสริฐเป็นศักดิ์ศรี |
ผ่องแผ้วดั่งแก้วไม่ราคี | เลิศลํ้าสตรีในโลกา |
เป็นมหามหัศจรรย์นัก | ประจักษ์แจ้งทั่วทศทิศา |
ถึงพระองค์จะจากนครา | เห็นว่าจะไม่มีภัย |
เชิญเสด็จไปตามกรรมก่อน | อย่าทุกข์ร้อนพระทัยหม่นไหม้ |
ตัวน้องจะกลับเข้าเวียงชัย | มิให้ทันรุ่งสุริยัน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดาสาวสวรรค์ |
ฟังพระอนุชาร่วมชีวัน | อัดอั้นตันใจโศกา |
จึ่งว่าดูก่อนเจ้าลักษมณ์ | น้องรักผู้ยอดเสน่หา |
พี่จะไปตามกรรมเวรา | ทนทุกข์เวทนาในพงพี |
ตัวเจ้าจะกลับคืนไป | ยังในอยุธยาบุรีศรี |
ทำไฉนจะได้ดวงชีวี | ไปถวายภูมีเป็นสำคัญ |
พระองค์จะทรงพระโกรธ | ลงโทษโดยพระทัยหุนหัน |
ฝ่ายเจ้าก็จะสิ้นชีวัน | จอมขวัญจะคิดประการใด ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ผู้มีอัชฌาสัย |
สะอื้นพลางทางทูลสนองไป | จะปรารมภ์ไยถึงน้องยา |
สงสารแต่องค์พระพี่ | จะจรลีผู้เดียวในกลางป่า |
ตรำฝนทนแดดเวทนา | อนาถาลำบากด้วยกันดาร |
จะผินพักตร์ไปพึ่งผู้ใด | อาศัยอยู่กินเป็นถิ่นฐาน |
จะลำบากยากใจทรมาน | สงสารเป็นพ้นพันทวี |
ว่าแล้วน้อมเศียรอภิวาทน์ | กราบลงแทบบาทบทศรี |
ชลนัยน์นองพักตร์โศกี | ภูมีแข็งใจจรจรัล ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ แล้วหยุดยืนอยู่ดูมา | เห็นพี่นางโศกากันแสงศัลย์ |
ยิ่งสลดระทดใจจาบัลย์ | ทรงธรรม์มากอดพระบาทไว้ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ โศกายอกรขึ้นเหนือเกศ | ประกาศฝูงเทเวศน้อยใหญ่ |
บรรดาเจ้าป่าพระไพร | ห้วยไศลสุมทุมพุ่มพง |
ทั้งท้าวหัสนัยน์เทวราช | อีกพระกมลาสน์ครรไลหงส์ |
วิรูปักษ์เวสสุวัณฤทธิรงค์ | วิรุฬหกแลองค์ทตรฐ |
หนึ่งพระอิศโรโมลิศ | อันสถิตไกรลาศอลงกต |
ทั้งหกห้องฟ้าแลโสฬส | ทั่วทศทิศจงเมตตา |
ขอฝากสมเด็จพระพี่ | อย่าให้มีอันตรายที่ในป่า |
รํ่าพลางถวายบังคมลา | ไปตามมรคาพนาดร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เดินทางหว่างไม้ไพรสัณฑ์ | ด้วยแสงจันทร์จำรัสประภัสสร |
ให้เยือกเย็นพระทัยอาวรณ์ | ถึงบังอรพี่นางสีดา |
โอ้ว่าปางก่อนก็เคยยาก | แสนลำบากสามองค์ไปเดินป่า |
ต้องฝนทนแสงพระสุริยา | แต่มีเพื่อนเจรจาด้วยกันไป |
ครั้งนี้พระพี่องค์เดียว | จะแลเหลียวหาเห็นผู้ใดไม่ |
ยิ่งวิเวกสงัดในพงไพร | จะตกใจไหวหวาดประหวั่นกาย |
ด้วยสัตว์จตุบททวิบาท | จะร้องตรีดหวีดหวาดขวัญหาย |
จะไสยาสน์เหนือพื้นธุลีทราย | แสนลำบากยากกายพระพี่นัก |
นิจจาเอ๋ยคิดน่าสงสาร | จะทนทุกข์ทรมานเพียงอกหัก |
ใครจะช่วยเชิญองค์นงลักษณ์ | ไปได้ที่พักให้พ้นภัย |
แล้วทั้งพระองค์ก็ทรงครรภ์ | จะเดินดั้นในดงกระไรได้ |
รํ่าพลางสลดระทดใจ | ภูวไนยทรุดองค์ลงโศกี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ โอด
ยานี
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายท้าวหัสนัยน์เรืองศรี |
เสด็จในเวไชยันต์รูจี | พร้อมเทพนารีกัลยา |
ให้บันดาลร้อนรนสกนธ์กาย | ดั่งเพลิงพรายเผาผิวมังสา |
จึ่งเล็งทิพเนตรลงมา | ยังพื้นมหาสุธาธาร |
ก็แลเห็นองค์พระลักษมณ์ | บ่ายพักตร์จะคืนเข้าราชฐาน |
แม้นมิได้ดวงใจเยาวมาลย์ | พระอวตารจะลงโทษทัณฑ์ |
ฝ่ายองค์สีดาเทวี | โศกีวิโยคโศกศัลย์ |
ไม่มีที่อาศัยในอารัญ | ทั้งทรงพระครรภ์ลูกยา |
จะแสนลำบากยากกาย | จะซุกล้มซอนตายที่ในป่า |
จำกูจะไปช่วยชีวา | อย่าให้สองกษัตรามีภัย ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย
๏ คิดแล้วเสด็จยุรยาตร | จากวิมานเมรุมาศเขาใหญ่ |
เหาะระเห็จเตร็จฟ้าด้วยว่องไว | ลงไปยังพื้นปถพี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ กลม
๏ จึ่งบันดาลให้เป็นเนื้อทราย | ตายอยู่ริมชายพนาศรี |
แทบทางพระลักษมณ์จรลี | ด้วยฤทธีท้าวเทวัญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ครั้นคลายโศกาจาบัลย์ | ก็จรจรัลมาโดยมรคา |
จึ่งเหลือบแลเห็นเนื้อทราย | นอนอยู่ริมชายพฤกษา |
พิศดูก็รู้ว่ามรณา | สมดั่งปรารถนาก็ยินดี |
ควรกูจะแหวะเอาดวงจิต | ถวายพระจักรกฤษณ์เรืองศรี |
แทนพระหทัยนางเทวี | ตามมีพระราชโองการ |
คิดแล้วก็แวะเข้าไป | ใต้ต้นไม้ใหญ่ไพศาล |
ชักพระขรรค์แก้วชัยชาญ | ก็แหวะดวงวิญญาณ์มฤคา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ได้แล้วก็เสด็จยุรยาตร | จากร่มรุกขชาติใบหนา |
รีบเร่งดำเนินเดินมา | ยังศรีอยุธยาธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งคลานเข้าไปเฝ้า | น้อมเกล้าประณตบทศรี |
ทูลถวายซึ่งดวงชีวี | ในที่ท่ามกลางนางกำนัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วรังสรรค์ |
ยื่นกรรับดวงชีวัน | ทรงธรรม์พินิจพิศไป |
สำคัญว่าจิตนางเทวี | จะรู้ว่ามฤคีก็หาไม่ |
จึ่งตรัสแก่พระลักษมณ์ผู้ร่วมใจ | เห็นแล้วหรือไฉนอนุชา |
แต่หัวใจมันยังวิปริต | เหมือนจิตเดียรัจฉานที่กลางป่า |
กระนี้หรือจะไม่รักอสุรา | อนิจจาเสียทีที่เลี้ยงมัน |
ทั้งพี่ทั้งเจ้าก็หลงกล | ไม่แจ้งว่าทรชนโมหันธ์ |
ตรัสแล้วเสด็จจรจรัล | เข้าห้องสุวรรณอำไพ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดพิสมัย |
แลตามพระลักษมณ์จนลับไป | อรไทเปลี่ยวใจเปล่าตา |
ครั้นได้ยินลิงค่างครามครึม | เค้ากู่กระหึมก้องป่า |
ทิ้งทูดท้วงทักไปมา | ชะนีไห้โหยหาเพื่อนกัน |
ไก่ตกใจตื่นกระตากก้อง | นกแสกแถกร้องเสียงสนั่น |
กระเวนไพรเพรียกพร้อมกระเวนวัน | จักจั่นแจ้วเจื้อยวิเวกใจ |
พยัคฆาปีบเปรี้ยงเสียงกระหึม | ช้างครึมเย่อชักหักไผ่ |
ให้คร้ามกลัวตัวสั่นหวั่นพระทัย | ทรามวัยซบพักตร์ลงโศกา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
๏ แล้วขืนใจระงับดับเทวษ | เช็ดชลเนตรทั้งซ้ายขวา |
จึ่งดำริตริไปด้วยปรีชา | แม้นว่าจะอยู่ในที่นี้ |
เป็นหญิงผู้เดียวเปลี่ยวกันดาร | จะเป็นภักษาหารแก่เสือสีห์ |
จำจะอตส่าห์จรลี | ไปให้พบที่พึ่งพัก |
คิดแล้วย่างเยื้องยุรยาตร | งามวิลาสลํ้านางทั้งไตรจักร |
ยอกรไหว้ฝูงสุรารักษ์ | นงลักษณ์เสด็จด้วยแสงจันทร์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
โอ้ร่าย
๏ เดินพลางพลางโศกแสนเทวษ | ชลนัยน์นองเนตรกันแสงศัลย์ |
อุราเร่าร้อนแดยัน | จาบัลย์ครวญครํ่ารํ่าไร |
โอ้อนิจจานะอกเอ๋ย | เวรสิ่งใดเลยมาซัดให้ |
ไม่ควรที่เป็นก็เป็นไป | จะตกไร้ร้อยยากลำบากองค์ |
ครั้งก่อนก็จากราชฐาน | ทรมานอยู่ในไพรระหง |
ครั้งนี้ผู้เดียวมาเดินดง | ไหนจะคงคืนชีพชีวี |
โอ้ว่าน้องรักเจ้ากลับไป | เมื่อไม่ได้ดวงชีวิตพี่ |
ถวายองค์สมเด็จพระจักรี | น่าที่จะม้วยชีวัน |
คิดคิดจะใคร่กลั้นใจตาย | ไปเกิดกายชาติใหม่ในสวรรค์ |
หากเอ็นดูบุตรที่ในครรภ์ | ขวัญข้าวจะพลอยมรณา |
โอ้ว่าเดชะกุศล | ผลบุญหนหลังของลูกข้า |
ขอจงฝูงเทพเทวา | รักษาอย่าให้มีภัย |
รํ่าพลางอาดูรพูนเทวษ | ชลเนตรแถวถั่งหลั่งไหล |
วังเวงวิเวกพระฤทัย | ไปในพนมพนาลี ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ เพลง
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวหัสนัยน์เรืองศรี |
ครั้นพระลักษมณ์กลับไปธานี | จึ่งนิมิตอินทรีย์ด้วยศักดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ บัดเดี๋ยวกลับเป็นมหิงส์ | งามยิ่งกว่าฝูงที่ในป่า |
ยกหูชูหางวางมา | ยังนางสีดาบังอร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เข้าใกล้แล้วกล่าววาที | ดูก่อนโฉมศรีสายสมร |
เหตุใดโศกาอาวรณ์ | เที่ยวสัญจรอยู่ที่ในไพร |
ผู้เดียวเปลี่ยวใจไม่มีเพื่อน | ถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ที่ไหน |
ไม่กลัวสัตว์ป่าพนาลัย | จะไปแห่งใดนางเทวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดามารศรี |
ได้ฟังมหิงสาพาที | เทวีจึ่งแจ้งกิจจา |
ข้าเป็นมเหสีพระราม | มีนามสีดาเสน่หา |
พระองค์ให้ลงพระอาญา | ก็เล่ามาเสร็จสิ้นทุกประการ |
จนใจจึ่งต้องท่องเที่ยว | ผู้เดียวไม่มีถิ่นฐาน |
แสนยากลำบากด้วยกันดาร | ทรมานชอกชํ้าระกำใจ |
พี่มหิงส์จงได้เมตตา | ช่วยพาข้าไปที่อาศัย |
พระฤๅษีมุนีอยู่แห่งใด | น้องจะได้พำนักเลี้ยงชีวี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | มหิงสาหัสนัยน์เรืองศรี |
ได้ฟังจึ่งตอบวาที | อย่าโศกีเร่าร้อนวิญญาณ์ |
จะพาไปให้พบพระดาบส | อันทรงพรตญาณฌานกล้า |
เจ้าจงเดินตามเรามา | ว่าแล้วนำหน้าพาไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ พอรุ่งก็ถึงอาศรม | พระบรมสิทธาอาจารย์ใหญ่ |
ฝ่ายองค์สมเด็จหัสนัยน์ | ก็กลับไปยังทิพย์วิมาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดสงสาร |
ครั้นเห็นอาศรมพระทรงญาณ | นงคราญชื่นชมด้วยสมคิด |
อันความวิโยคโศกศัลย์ | ค่อยบรรเทาสร่างสว่างจิต |
เข้าไปถวายอัญชุลิต | องค์พระนักสิทธ์ยังกุฎี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | พระวัชมฤคฤๅษี |
ครั้นเห็นองค์อัครเทวี | มีความฉงนสนเท่ห์ใจ |
จึ่งว่าดูก่อนนงลักษณ์ | ผู้จำเริญพักตร์ดั่งแขไข |
ถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่แห่งใด | นามกรชื่อไรกัลยา |
เหตุใดจึ่งมาแต่ผู้เดียว | เปล่าเปลี่ยวอนาถที่ในป่า |
ไม่กลัวสิงสัตว์จะบีฑา | กูเห็นเป็นน่าอัศจรรย์ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางสีดาสาวสวรรค์ |
ได้ฟังวาจาพระนักธรรม์ | กัลยาน้อมเศียรอัญชุลี |
แล้วแถลงแจ้งซึ่งกิจจา | ข้าชื่อสีดามารศรี |
เป็นอัครราชเทวี | องค์พระจักรีอวตาร |
ซึ่งผ่านอยุธานคเรศ | มงกุฎเกศจรรโลงราชฐาน |
เดิมข้าไปสรงชลธาร | กับฝูงนงคราญกัลยา |
มีนางปีศาจแกล้งนิมิต | เหมือนสาวใช้ชิดสนิทหน้า |
วอนให้เขียนรูปเจ้าลงกา | หลานนี้ก็พาซื่อไป |
ครั้นเขียนลงแล้วไม่ลบหาย | จึ่งเกิดวุ่นวายเป็นเหตุใหญ่ |
พระรามคิดแหนงแคลงใจ | ว่าข้ารักใคร่ทศกัณฐ์ |
สั่งให้พระลักษมณ์เอาตัวมา | ผลาญชีวาเสียให้อาสัญ |
พระอนุชาพิฆาตฟาดฟัน | พระขรรค์กลายเป็นพวงมาลี |
เห็นสัจแจ้งจริงประจักษ์ใจ | จึ่งขับให้มาในพนาศรี |
เป็นบุญได้พบพระมุนี | หลานนี้ขอฝากชีวา ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระดาบสผู้ทรงสิกขา |
ได้ฟังคำนางสีดา | มีจิตเมตตาอาลัย |
จึ่งว่าดูดู๋พระราม | จะไถ่ถามให้ประจักษ์ก็หาไม่ |
เมื่อครั้งทศพักตร์มันลักไป | ภูวไนยตามผลาญอสุรินทร์ |
ได้นางมาลุยเพลิงถวายสัตย์ | ตัดข้อวิมุตติสงสัยสิ้น |
ประจักษ์แจ้งทั่วฟ้าแดนดิน | หรือมาคิดกินแหนงไม่ต้องการ |
ซึ่งเป็นทั้งนี้ก็เพราะกรรม | จึ่งจำให้พลัดพรากราชฐาน |
อย่าอาวรณ์ร้อนรํ่ารำคาญ | จะเลี้ยงหลานมิให้ราคี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ครั้นเสร็จซึ่งสั่งสนทนา | จึ่งองค์พระมหาฤๅษี |
ก็ร่ายพระเวทอันฤทธี | นิมิตคันธกุฎีทันใด ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ บัดเดี๋ยวก็เป็นอาศรม | เกิดขึ้นใต้ร่มพฤกษาใหญ่ |
ทั้งบรรจถรณ์อ่อนอาสน์อำไพ | มุ้งม่านเครื่องใช้ครบครัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดาสาวสวรรค์ |
อยู่ด้วยพระมหานักธรรม์ | ที่ในอรัญกุฎี |
ปรนนิบัติเช้าเย็นเป็นนิจ | ดั่งบิตุเรศก่อเกิดเกศี |
ทั้งนํ้าใช้นํ้าฉันแลอัคคี | กวาดแผ้วกุฎีทุกเวลา |
จนครรภ์นั้นถ้วนทศมาส | จะประสูติพระราชโอรสา |
ให้เจ็บปวดทั่วสกนธ์กายา | ดั่งว่าจะสิ้นชีวาลัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระวัชมฤคอาจารย์ใหญ่ |
รู้ว่าสีดาทรามวัย | อรไทจะประสูติลูกรัก |
ตกใจวิ่งวุ่นทั้งอาศรม | แสนทุกข์ปรารมภ์เพียงอกหัก |
จะเสกนํ้าก็ละลํ่าละลัก | พระนักสิทธ์ไม่เป็นสมประดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา