- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๖
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสหมลิวันยักษา |
ฟังข่าวเร่าร้อนอุรา | จึงถวิลจินดาในการยุทธ์ |
อันธรรมดานาคี | กลัวสุบรรณปักษีเป็นที่สุด |
ถึงจะยกออกต่อฤทธิรุทร | ก็จะตายสิ้นสุดลงด้วยกัน |
ฝ่ายองค์ท้าวจัตุรพักตร์ | ขุนยักษ์ก็ม้วยชีวาสัญ |
ลัสเตียนโอรสพระองค์นั้น | ครอบครองเขตขัณฑ์ลงกา |
หลานรักเรืองเดชด้วยศิลป์ศร | ไหวกระฉ่อนเกรงฤทธิ์ทุกทิศา |
ตัวกูจะให้ไปหามา | เข่นฆ่าอริราชไพรี |
คิดแล้วจึ่งมีพจมาน | ให้จัดทหารยักษี |
ขึ้นรายรอบราชธานี | รักษาหน้าที่มั่นไว้ |
อาลักษณ์แต่งสารให้เสนา | รีบไปลงกากรุงใหญ่ |
เชิญพระนัดดามาชิงชัย | ฆ่าเสียให้สิ้นพวกมัน ฯ |
ฯ ๑๒ คํา ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งขุนอาลักษณ์ตัวขยัน |
รับสั่งพญากุมภัณฑ์ | เร่งกันจารึกสารา |
เสร็จแล้วใส่กล่องสุวรรณรัตน์ | ส่งให้ต่อหัตถ์ยักษา |
จงรีบขึ้นไปยังลงกา | ถวายองค์พญาอสุรี |
ฯ ๔ คํา ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งมหากายยักษี |
รับสารแล้วแผลงฤทธี | แหวกพระธรณีขึ้นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายสองเสนาผู้ใหญ่ |
กะเกณฑ์รี้พลสกลไกร | ให้ขึ้นรักษาปราการ |
ทวาราหอรบป้อมค่าย | รายล้วนโยธากล้าหาญ |
ปืนใหญ่นั้นใส่ทุกทวาร | นายด่านกำชับตรวจตรา ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พญากาลนาคแกล้วกล้า |
ครั้นเสร็จหักด่านอสุรา | ก็รีบโยธาเข้าไป ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงนิเวศน์เมืองมาร | ก็หยุดทวยหาญน้อยใหญ่ |
แล้วสั่งอำมาตย์ผู้ร่วมใจ | ให้ยกเข้าล้อมธานี ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | จึ่งเสนานาคทั้งสี่ |
รับสั่งถวายอัญชุลี | ยกไปตามมีพจมาน ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ
๏ กองใครใครเข้าตั้งมั่น | ล้อมรอบสามชั้นทุกด้าน |
ตรวจตราทั่วทัพกำชับการ | โห่สะเทิ้นสะท้านเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายมหากายยักษา |
ครั้นถึงพิชัยลงกา | ก็เข้าไปศาลาลูกขุนใน |
คํารพนบนิ้วดุษฎี | แก่มหาเสนีผู้ใหญ่ |
แจ้งว่าบาดาลเกิดภัย | ภูวไนยให้ถือสารมา ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีธิบดีซ้ายขวา |
ได้แจ้งแห่งคำทูตา | ก็พากันมาพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงประณตบทบงสุ์ | องค์ท้าวลัสเตียนรังสรรค์ |
ทูลว่าสหมลิวัน | ซึ่งครองเขตขัณฑ์บาดาล |
ให้มหากายอสุรา | ขึ้นมาจำทูลพระราชสาร |
ใต้เบื้องบงกชบทมาลย์ | แล้วอ่านถวายอสุรี ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ
ช้า
๏ ราชสารพระพงศ์พรหเมศ | มงกุฎเกศบาดาลกรุงศรี |
ผู้เป็นอัยกาธิบดี | มีนามสหมลิวัน |
อวยพรอักษรศรีสวัสดิ์ | ถึงพระนัดดาจอมขวัญ |
บัดนี้ภุชงค์ชาญฉกรรจ์ | ยกพวกพลขันธ์มาราญรอน |
อันซึ่งสุริย์วงศ์ในบาดาล | ไมมีใครชำนาญชาญสมร |
ที่จะออกโรมรันฟันฟอน | ต่อกรด้วยหมู่ปัจจามิตร |
เชิญพระนัดดาดวงเนตร | ผู้เรืองเดชฤทธิรอนศรสิทธิ์ |
ยกหมู่โยธาอันมีฤทธิ์ | มาช่วยชีวิตอัยกา |
ให้เป็นสุขสวัสดิ์สถาวร | ดับร้อนประยูรวงศา |
เย็นทั่วขอบขัณฑเสมา | ไพร่ฟ้าจะเกษมเปรมปรีดิ์ ฯ |
ฯ ๑๐ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวลัสเตียนยักษี |
แจ้งสารดาลเดือดดั่งอัคคี | อสุรีขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน |
กระทืบบาทมีราชบรรหาร | เหวยเสนามารตัวขยัน |
จงเกณฑ์อสุรกุมภัณฑ์ | กูจะไปโรมรันไพรี ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ
๏ บัดนั้น | ทั้งสองเสนายักษี |
รับสั่งพระองค์ทรงธรณี | ถวายอัญชุลีแล้วออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๏ จึ่งจัดทหารโยธา | กายาล่ำสันสูงใหญ่ |
ชํานาญในการชิงชัย | ล้วนใจหยาบช้าทมิฬ |
แกล้วกล้าทรหดอดทน | แปลงกายหายตนก็ได้สิ้น |
เหาะเหินเดินน้ำดำดิน | อินทร์พรหมก็เกรงฤทธา |
กรกุมเครื่องสรรพอาวุธ | อุตลุดกวัดแกว่งสำแดงกล้า |
เตรียมทั้งรถแก้วแววฟ้า | คอยท่ารับเสด็จอสุรี ฯ |
ฯ ๖ คํา ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวลัสเตียนยักษี |
ครั้นแสงทองส่องฟ้าธาตรี | เสด็จมาเข้าที่สรงชล ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ เสมอ
โทน
๏ ให้ไขท่อแก้วปทุมทอง | วารีเป็นละอองฝอยฝน |
ทรงสุคนธารสเสาวคนธ์ | ปรุงปนเกสรสุมามาลย์ |
สอดใส่สนับเพลาเชิงยก | ภูษาช่องกระจกกระหนกก้าน |
ชายแครงเครือหงส์อลงการ | ชายไหวชัชวาลวิไลวรรณ |
ฉลององค์ทรงประพาสพื้นม่วง | ตาบทิศทับทรวงดวงกุดั่น |
สังวาลเพชรสามสายสลับกัน | พาหุรัดนาคพันทองกร |
ธํามรงค์มรกตไข่ครุฑ | ทรงมหามงกุฎประภัสสร |
ดอกไม้ทัดกุณฑลกรรเจียกจร | จับศิลป์ฤทธิรอนมาขึ้นรถ ฯ |
ฯ ๘ คํา ฯ เสมอ
๏ ได้ฤกษ์ให้เลิกจัตุรงค์ | ลั่นฆ้องโบกธงเป็นกำหนด |
โห่สนั่นครั่นครื้นถึงโสฬส | เมฆหมดแจ่มดวงอโณทัย ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ กราว
โทน
๏ รถเอยราชรถทรง | เจ็ดงอนงามระหงสูงใหญ่ |
แปรกแอกคร่ำอำไพ | ดุมแก้วเจียระไนประดับกัน |
โตกตั้งบัลลังก์ลอยช้อยชด | กระจังลายมรกตทับทิมคั่น |
ครุฑจับนาคห้อยยืนยัน | ชั้นเทพนมประนมกร |
เทียมเสือสองพันร้ายกาจ | องอาจเพียงพญาไกรสร |
สารถีมือถือโตมร | ขับจรรวดเร็วดั่งลมพัด |
เครื่องสูงบังแทรกสลับกัน | จามรทอนตะวันกรรชิงฉัตร |
กาหลพลแห่เยียดยัด | ขนัดฆ้องกลองประโคมครึก |
ทวยหาญขานโห่อึงอุด | กวัดแกว่งอาวุธคะนองศึก |
แทรกแผ่นดินลั่นพันลึก | คึกคึกเร่งรีบแข่งกัน ฯ |
ฯ ๑๐ คํา ฯ รุกร้น
๏ ครั้นถึงบาดาลนครา | เห็นนาคาตั้งล้อมไว้มั่น |
โกรธาขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน | ขับพวกพลขันธ์เข้าโจมตี ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสหมลิวันยักษี |
เห็นทัพลงกาเข้าราวี | อสุรีจึงสั่งพระลูกยา |
เจ้าผู้ดวงชีพชีวัน | เร่งยกพลขันธ์แกล้วกล้า |
ออกสังหารผลาญหมู่นาคา | กระหนาบทัพลังกาธานี ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | มหายมยักษ์ยักษี |
รับสั่งแล้วยกโยธี | อสุรีตีกระหนาบออกมา ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ เชิด
๏ ฝ่ายทหารทั้งสองพระนคร | เข้าไล่ตะลุมบอนเข่นฆ่า |
ยิงแย้งแทงฟันเป็นโกลา | โยธาโห่สนั่นบาดาล ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพลนาคาใจหาญ |
เห็นยักษากระหนาบมารอนราญ | ก็ออกประจัญบานต่อตี |
อาวุธแทงฟันพุ่งซัด | ต่างป้องต่างปัดไม่ถอยหนี |
ต่างหาญต่างกล้าเข้าราวี | นาคีพ่นพิษเป็นควัน ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ยักษาโยธาแข็งขัน |
กวัดแกว่งอาวุธขบฟัน | ดากันตีหนักหักมา |
เป็นหมู่หมู่เหล่าเหล่าเข้าฟันแทง | ยิงแย้งเขม้นเข่นฆ่า |
นาคีตายกลาดดาษดา | ด้วยกำลังฤทธาอสุรี ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พญากาลนาคเรืองศรี |
เห็นพลสุดสิ้นชีวี | โกรธคืออัคคีไหม้ฟ้า |
กายนั้นกลับเป็นนาคราช | เจ็ดเศียรองอาจแกล้วกล้า |
ตาแดงดั่งแสงสุริยา | ตรงมาหน้ารถพญามาร ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ แผละ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวลัสเตียนใจหาญ |
เห็นภุชงค์องอาจอหังการ | แผลงฤทธิ์ทะยานมาราวี |
จึ่งชักศรวิษณุเวท | อันเรืองเดชปราบได้ทุกราศี |
พาดสายหมายล้างนาคี | อสุรีแผลงไปด้วยศักดา ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ เชิด
๏ ศรแสงสำแดงอำนาจ | ไปเป็นครุฑราชปักษา |
ใหญ่เท่ามหาพรหมา | กระหยับปีกบินถาเข้าไป |
โฉบลงตรงเศียรพญานาค | อ้าปากคาบคั้นเอาคอได้ |
เท้าฉุดมือยุดรวบไว้ | พาไปถวายอสุรี ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ แผละ
๏ เมื่อนั้น | พญากาลนาคเรืองศรี |
ครั้นศรครุฑฉุดฉวยอินทรีย์ | เจ็บดั่งชีวีจะบรรลัย |
จวนตัวกลัวแก่ความตาย | จะคิดอายอัปยศก็หาไม่ |
ร้องขอชีวิตวุ่นไป | พระองค์จงได้เมตตา ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวลัสเตียนยักษา |
ได้ฟังพญานาคา | อสุรามีใจปรานี |
จึ่งสั่งครุฑให้วางภุชงค์ | ไว้หน้ารถทรงยักษี |
ก็เป็นไปตามวาที | ดั่งหนึ่งว่ามีจิตใจ ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ เชิด เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พญานาคผู้มีอัชฌาสัย |
ยินดีด้วยได้ชีวาลัย | เกิดความรักใคร่พญามาร |
จึ่งกลับเพศเป็นมนุษย์น้อย | แช่มช้อยยั่วยวนสงสาร |
สิ้นความมานะอหังการ | คลานเข้าไปบังคมคัล |
ทูลว่าตัวข้าครั้งนี้ | ถึงทีสิ้นชีพอาสัญ |
ซึ่งพระองค์ประทานชีวัน | พระคุณนั้นพ้นคณนา |
ไม่มีสิ่งใดฉลองบาท | องค์พระภูวนาถนาถา |
จะขอถวายราชธิดา | ไว้ใต้บาทาพระภูมี |
ว่าแล้วประณตบทบงสุ์ | ลาองค์พญายักษี |
เลิกพวกพหลโยธี | กลับไปบูรีนาคา ฯ |
ฯ ๑๐ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | มหายมยักษ์ยักษา |
เสร็จศึกนาคีก็ปรีดา | ดั่งได้ฟากฟ้าโสฬส |
เข้าไปเฝ้าท้าวลัสเตียน | น้อมเศียรกราบบาทบงกช |
ทูลเชิญพระองค์ผู้ทรงยศ | ให้บทจรเข้าวังจันทน์ ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวลัสเตียนรังสรรค์ |
ก็ยกรี้พลกุมภัณฑ์ | ตามกันเข้าไปพระนคร ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ กราว
๏ ครั้นถึงประทับกับเกยแก้ว | อันเพริศแพร้วจำรัสประภัสสร |
เสด็จจากรถทรงอลงกรณ์ | บทจรขึ้นเฝ้าอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสหมลิวันยักษี |
เสด็จจากแท่นรัตน์มณี | ภูมีมารับพระนัดดา ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ
๏ จูงกรหลานรักลีลาศ | ขึ้นนั่งร่วมอาสน์ท้าวยักษา |
แล้วมีมธุรสวาจา | ซึ่งเจ้ามาช่วยชิงชัย |
ข้าศึกจึงแตกย่อยยับ | คุณนั้นไม่นับประมาณได้ |
หาไม่บาดาลกรุงไกร | จะอยู่ในอำนาจนาคี ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวลัสเตียนยักษี |
น้อมเศียรถวายอัญชุลี | อสุรีก็ทูลสนองไป |
หลานนี้มิได้แจ้งการ | ว่าบาดาลเกิดเสี้ยนศึกใหญ่ |
ต่อพระองค์ผู้ทรงภพไตร | บอกไปจึ่งได้ยกมา |
หวังจะฉลองรองบาท | พระพงศ์พรหมธิราชนาถา |
มิได้พักพลสักเวลา | ถึงจะเสียชีวาไม่อาวรณ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสหมลิวันชาญสมร |
ฟังพระนัดดาฤทธิรอน | ภูธรชื่นชมยินดี |
จึ่งประทานธำมรงค์สังวาล | มงกุฎสุรกานต์มณีศรี |
บรรดาพวกพลโยธี | ภูมีบำเหน็จทั่วกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ลัสเตียนพงศ์พรหมรังสรรค์ |
รับของประทานรางวัล | กุมภัณฑ์ยินดีปรีดา |
เสร็จแล้วถวายอภิวาทน์ | ลาบาทพระบรมนาถา |
ให้เลิกพวกพลอสุรา | คืนไปลงกาธานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ กราว
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพญาภุชงค์เรืองศรี |
ครั้นกลับไปถึงพระบุรี | ขึ้นปราสาทมณีอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โอ้ร่าย
๏ เข้าในห้องทองไสยาสน์ | เอนองค์เหนืออาสน์บรรจถรณ์ |
กรก่ายพักตราอาวรณ์ | ภูธรสะท้อนถอนใจ |
แล้วจึ่งตรัสบอกมเหสี | เจ้าพี่ผู้ยอดพิสมัย |
ครั้งนี้เรายกทัพไป | ชิงชัยเสียทีอสุรา |
ลัสเตียนจับได้ไว้ชีวิต | พี่คิดถึงคุณยักษา |
จึ่งถวายพระราชธิดา | แก้วตาอย่างละห้อยน้อยใจ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางประภาผู้ยอดพิสมัย |
ได้ฟังจึงสนองบัญชาไป | ภูวไนยอย่าเศร้าโศกี |
ลัสเตียนก็เป็นวงศ์พรหมเมศ | ลือเดชทั่วฟ้าราศี |
จะเสียศักดิ์ไปเมื่อไรมี | ดีแล้วจะได้พึ่งอสุรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญากาลนาคนาถา |
ได้ฟังองค์อัครกัลยา | ไม่ขัดบัญชาก็สมคิด |
จึงเรียกพระธิดายุพาพักตร์ | อันทรงลักษณ์ดั่งนางในดุสิต |
ให้เข้ามานั่งใกล้ชิด | ทรงฤทธิ์ตรัสสั่งบังอร |
เจ้าจะไปอยู่ด้วยภัสดา | แก้วตาจำคำพ่อสอน |
เสงี่ยมเจียมองค์อย่าแง่งอน | ฝากตัวภูธรจงดี |
สั่งแล้วให้ชำระสระสรง | ทรงเครื่องเนาวรัตน์จำรัสศรี |
เสด็จไปเกยรัตน์มณี | พระสนมนารีก็ตามมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ พระบิตุรงค์ขึ้นทรงราชรถ | งามศักดิ์งามยศงามสง่า |
พระบุตรีนั้นทรงสีวิกา | งามดั่งนางฟ้าสุราลัย |
พร้อมฝูงอนงค์นาคี | โยธีเพียบพื้นแผ่นดินไหว |
ออกจากบาดาลกรุงไกร | ไปโดยวิธีทางจร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
โทน
๏ รถเอยรถแก้ว | เพริศแพร้วจำรัสประภัสสร |
โชติช่วงดั่งดวงศศิธร | เครื่องสูงสลอนสลับกัน |
ปี่กลองฆ้องขานประสานเสียง | สำเนียงเสนาะครื้นครั่น |
โยธาอัดแอแจจัน | โห่สนั่นกึกก้องบาดาล |
แหวกสมุทรผุดขึ้นปัถพี | เร่งพลนาคีทวยหาญ |
ลอยลิ่วปลิวไปในคัคนานต์ | หมายสถานทวีปลงกา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงให้หยุดพลากร | บทจรลงจากรัถา |
พาองค์พระราชธิดา | ขึ้นเฝ้าพญากุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ เจรจา
๏ น้อมเศียรประณตบทบงสุ์ | ทูลองค์บรมรังสรรค์ |
ขอถวายธิดาลาวัณย์ | ทรงธรรม์จงได้ปรานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวลัสเตียนยักษี |
พิศดูโฉมนางอัคคี | อินทรีย์เสาวภาคย์จำเริญตา |
งามศักดิ์งามศรีงามทรง | งามองค์ดั่งเทพเลขา |
อรชรอ้อนแอ้นทั้งกายา | พักตราผ่องแผ้วเพียงจันทร์ |
สมเป็นมเหสีทศพักตร์ | จะร่วมรักภิรมย์ชมขวัญ |
ใหญ่กว่าสนมกำนัล | ดั่งสุวรรณกับแก้วมณี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ จึงมีบัญชาอันสุนทร | ดูก่อนพญานาคเรืองศรี |
ซึ่งท่านให้ราชบุตรี | เรานี้มีความยินดีนัก |
จะให้ร่วมห้องทศกัณฐ์ | ครอบครองเขตขัณฑ์อาณาจักร |
สืบสายสุริย์วงศ์พงศ์ยักษ์ | เป็นหลักลงกากรุงไกร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พญานาคผู้มีอัชฌาสัย |
น้อมเศียรกราบทูลสนองไป | สุดแต่ภูวไนยจะเมตตา |
อันซึ่งตัวข้าจะลาบาท | พระพงศ์พรหมธิราชนาถา |
ว่าแล้วก็เลิกโยธา | ไปยังนคราบาดาล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ท้าวลัสเตียนใจหาญ |
เสวยสมบัติมาช้านาน | พญามารทรงพระชรานัก |
คิดถึงความตายเป็นเบื้องหน้า | ดั่งว่านอนอยู่ในหว่างจักร |
จึ่งให้ทศกัณฐ์ลูกรัก | เป็นปิ่นปักลงกาธานี |
อันนางอัคคีวรนาฏ | ให้เป็นอัครราชมเหสี |
ใหญ่กว่าสนมนารี | แปดหมื่นสี่พันกัลยา |
แล้วให้บุษบกพิมานทรง | แก่องค์กุเปรันยักษา |
ไปอยู่กาลจักรพารา | ที่เนินแนวป่าหิมวันต์ |
อันทัพนาสูรขุนมาร | ครองกรุงจักรวาลเขตขัณฑ์ |
ธาดาครองเมืองวัทกัน | มารันครองกรุงโสฬส |
โรมคันนั้นให้ขุนขร | ทูตผ่านนครชนบท |
อันองค์ตรีเศียรโอรส | เสวยยศเมืองมัชวารี |
นางสำมนักขาสุดท้อง | ให้ครองกับชิวหายักษี |
พิเภกกุมภกรรณฤทธี | ให้อยู่กับพี่ในลงกา |
ท้าวมอบสมบัติพัสถาน | ศฤงคารบริวารถ้วนหน้า |
แก่โอรสราชธิดา | ตามลำดับมาพร้อมกัน |
พระครองสมบัติหกหมื่นปี | ไม่มีโลโภโมหันธ์ |
พญามัจจุราชมาตามทัน | กุมภัณฑ์สิ้นชีพชนมา ฯ |
ฯ ๑๘ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษา |
ได้ผ่านโภไคศวรรยา | เป็นมหาจรรโลงเลิศไกร |
ครั้นบิตุเรศสวรรคต | เลื่องชื่อลือยศแผ่นดินไหว |
อันหมู่เทวาสุราลัย | ก็เอามาใช้อยู่อัตรา |
ท้าวมีสหายรักเจ็ดองค์ | ทรงอานุภาพแกล้วกล้า |
ชื่อว่าอัชกรรณมารา | ทั้งไพจิตราอสุรี |
กับองค์ท้าวสัทธาสูร | พญามูลพลำยักษี |
จักรวรรดิสัตลุงฤทธี | มหาบาลผู้มีเดชา |
แต่ละองค์ดำรงราชฐาน | โอฬารดั่งดาวดึงสา |
ไปมาหากันอัตรา | อสุราผาสุกสถาวร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงวิรูฬหกชาญสมร |
อยู่ในใต้พื้นดินดอน | หว่างสิงขรตรีกูฏบรรพต |
เมืองนั้นสมญาบาดาล | ปราสาทแก้วสุรกานต์อลงกต |
สนุกดั่งสวรรค์ชั้นโสฬส | พร้อมทศโยธาอสุรี |
พญามารเคยขึ้นไปเฝ้าบาท | พระมงกุฎไกรลาสเรืองศรี |
ถวายบังคมคัลอัญชุลี | ปีหนึ่งเจ็ดครั้งอัตรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ ครั้นถึงกำหนดจะไปเฝ้า | พระเป็นเจ้าสามภพนาถา |
เสด็จจากแท่นแก้วแววฟ้า | มาเข้าที่สรงชลธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ชำระสระสนานสำราญองค์ | ทรงสุคนธาทิพย์หอมหวาน |
สอดใส่สนับเพลาอลงการ | ภูษาเครือก้านกระหนกลาย |
ชายไหวไหวพริ้งปลายสะบัด | ชายแครงเนาวรัตน์จำรัสฉาย |
จึ่งเอานาคราชตัวร้าย | เป็นสายสร้อยเลี้ยวเกี้ยวกัน |
ประชุมเศียรเข้าเป็นทับทรวง | โชติช่วงเนตรนาคแดงฉัน |
ภุชงค์เป็นพาหุรัดพัน | ทองกรนั้นล้วนนาคี |
สิบนิ้วเอานาคเป็นธำมรงค์ | แล้วทรงมงกุฎมณีศรี |
กรขวากวัดแกว่งพระแสงตรี | อสุรีลงจากปราสาทชัย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ พิราพรอน
ร่าย
๏ ออกนอกบาดาลพารา | สำแดงศักดาแผ่นดินไหว |
แทรกพื้นพสุธาชลาลัย | เหาะทะยานผ่านไปด้วยฤทธิ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ กราว
๏ มาถึงสถานไกรลาส | อันโอภาสดั่งชั้นดุสิต |
พอพระอิศโรโมลิศ | สถิตอยู่ยังที่ไสยา |
พญามารย่างขึ้นอัฒจันทร์ | สำคัญว่าบรมนาถา |
เสด็จออกอสูรเทวา | ในมุขมหาพิมานชัย |
ก็น้อมเศียรนบนิ้วบังคมคัล | ทุกขั้นอัฒจันทร์หาเว้นไม่ |
ค่อยยอบหมอบกราบขึ้นไป | มิได้ดูองค์พระทรงญาณ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | จึ่งสารภูตัวหาญ |
อยู่ยอดภูผามาช้านาน | เห็นขุนมารเดินกราบบันได |
ร้องว่าตุ๊กแกแล้วแลดู | ทำชูศีรษะเย้ยให้ |
ครั้นอสุระกราบลงทีไร | ก็ร้องไยไพลงมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | จึ่งวิรูฬหกยักษา |
เห็นสารภูดูหมิ่นอหังการ์ | อสุรากริ้วโกรธคือไฟฟอน |
แลไปไม่เห็นพระศุลี | บนที่เนาวรัตน์ประภัสสร |
ก็ถอดสังวาลนาคอลงกรณ์ | ขว้างด้วยฤทธิรอนขุนมาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ถูกเขาไกรลาสลั่นทรุด | สารภูสิ้นสุดสังขาร |
มิได้เฝ้าองค์พระทรงญาณ | ก็กลับไปบาดาลพารา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
โอด
๏ เมื่อนั้น | พระศุลีตรีภพนาถา |
บรรทมเหนือทิพอาสน์โอฬาร์ | ก็ฟื้นกายาขึ้นทันที |
ได้ยินสำเนียงครื้นครั่น | สนั่นทั่วชั้นฟ้าราศี |
เสด็จจากแท่นรัตน์มณี | ออกที่หน้ามุขพิมาน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งเห็นคีรีไกรลาส | ทรุดคลาดเอนเอียงไปอิสาน |
ให้คิดสนเท่ห์ในวิญญาณ | เหตุไฉนเกิดการทั้งนี้ |
เล็งดูก็รู้ด้วยปรีชา | ว่าวิรูฬหกยักษี |
ขว้างสารภูด้วยนาคี | ถูกคีรีลั่นทรุดลงไป |
จึงตรัสว่าผู้ใดจะองอาจ | ยกมหาไกรลาสขึ้นได้ |
เราจะบำเหน็จให้ถึงใจ | ตามในความชอบที่ทำการ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ฝูงเทพเทวาทุกสถาน |
ได้ฟังเทวรสพจมาน | กราบกรานทูลองค์พระอิศรา |
อันซึ่งจะให้ยกไกรลาส | ข้าบาททั้งปวงจะอาสา |
ว่าแล้วก็ถวายบังคมลา | ออกมาแผลงฤทธิ์เกรียงไกร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ บรรดาเทวาสุรารักษ์ | เข้ายกเข้าผลักภูเขาใหญ่ |
บ้างแบกบ้างรุนวุ่นไป | โห่สนั่นหวั่นไหวทั้งธาตรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ จนสิ้นฤทธิ์สิ้นแรงเทวัญ | เขานั้นไม่เคลื่อนจากที่ |
จึ่งบังคมทูลพระศุลี | ข้านี้สิ้นกำลังกายา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระอิศวรบรมนาถา |
นิ่งนึกตรึกถวิลจินดา | ว่าลูกลัสเตียนกุมภัณฑ์ |
สิบเศียรสิบพักตร์ยี่สิบกร | กำลังฤทธิรอนแข็งขัน |
มีนามชื่อว่าทศกัณฐ์ | เห็นมันจะยกได้ด้วยศักดา |
คิดแล้วจึ่งสั่งจิตุบท | จงไปหาทศพักตร์ยักษา |
ยังกรุงพิชัยลงกา | ให้รีบขึ้นมาวันนี้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งจิตุบทผู้ชาญชัยศรี |
รับเทวราชวาที | น้อมเศียรชุลีแล้วเหาะไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ กลม
๏ เลื่อนลอยอยู่บนอากาศ | ตรงหน้าสิงหาสน์บัญชรใหญ่ |
ร้องบอกว่าเจ้าภพไตร | โองการตรัสใช้ให้เรามา |
หาเจ้าลงกาพญามาร | ผู้ปรีชาชาญหาญกล้า |
ขึ้นไปเฝ้าเบื้องบาทา | ยังมหาไกรลาสคีรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยี่สิบกรยักษี |
เสด็จออกหมู่มุขมนตรี | ในที่พระโรงรัตนา |
แจ้งว่าพระสยมภูวญาณ | มีเทวโองการให้หา |
ก็แต่งองค์ทรงเครื่องอลงการ์ | ถือศรเหาะมาในอัมพร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นถึงสถานวิมานมาศ | ยังยอดไกรลาสสิงขร |
คลานเข้าไปเฝ้าพระภูธร | ท่ามกลางนิกรเทวัญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอิศวรบรมรังสรรค์ |
เหลือบแลมาเห็นทศกัณฐ์ | จึ่งมีบัญชาตรัสไป |
วิรูฬหกมันทำให้เขาทรุด | เทวายกฉุดหาขึ้นไม่ |
จึ่งหาเอ็งผู้ฤทธิไกร | หวังจะให้ช่วยยกคีรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ทศพักตร์พงศ์พรหมเรืองศรี |
ก้มเกล้าสนองวาที | ทั้งนี้มิให้เคืองบาทา |
ถึงมาตรจะเสียชีวิต | ไม่คิดจะขออาสา |
ทูลแล้วถวายบังคมลา | ออกมานิมิตอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ ใหญ่เท่าบรมพรหมมาน | ตระหง่านเงื้อมพระเมรุคีรีศรี |
ตีนเหยียบศีลาปัถพี | อสุรีเข้าแบกยืนยัน |
ยี่สิบกรกุมเหลี่ยมเขา | เท้าถีบด้วยกำลังแข็งขัน |
ลั่นเลื่อนสะเทือนหิมวันต์ | เขานั้นก็ตรงคืนมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ฝูงเทพเทวัญถ้วนหน้า |
เห็นฤทธิ์ทศกัณฐ์อสุรา | ตกใจประหม่าขวัญบิน |
โอ้ว่าชาวเราครั้งนี้ | จะเป็นข้ายักษีเสียสิ้น |
ทั้งฦๅสิทธิ์วิทยานาคินทร์ | ผินหน้าเข้าปรับทุกข์กัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ทศพักตร์พงศ์พรหมรังสรรค์ |
ชื่นเริงบันเทิงใจกุมภัณฑ์ | มาบังคมคัลพระศุลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ อหังการ์อิ่มเอิบกำเริบฤทธิ์ | ไม่คิดถึงศักดิ์ยักษี |
โลภล้นเป็นพ้นพันทวี | อสุรีทูลเจ้าโลกา |
ตัวข้าเป็นเจ้าแก่หมู่ยักษ์ | ไม่มีอัคเรศเสน่หา |
จะขอประทานพระอุมา | ผ่านฟ้าจงได้ปรานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสยมภูวนาถเรืองศรี |
ได้ฟังอสุราพาที | ภูมีรำพึงคะนึงคิด |
ชิชะน้อยหรือไอ้ทศกัณฐ์ | โมหันธ์อาจองทะนงจิต |
ล่วงขอมารดาสุราฤทธิ์ | คิดใหญ่ใฝ่สูงกว่าพักตรา |
แต่กูได้ออกปากไว้ | จำเป็นจะให้แก่ยักษา |
ถึงพาไปก็นับจะคืนมา | ใช่ว่าจะเป็นอะไรมี |
คิดแล้วมีเทวบรรหาร | โองการตรัสตอบยักษี |
ซึ่งเอ็งปรารถนานางเทวี | กูนี้ไม่ขัดกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศพักตร์พงศ์พรหมรังสรรค์ |
ยินดีน้อมเศียรบังคมคัล | กุมภัณฑ์ก็คลานเข้าไป |
จะอุ้มองค์เทพมารดร | ให้เร่าร้อนกายาดั่งเพลิงไหม้ |
จึ่งช้อนพระบาทนางอรไท | ทูนเศียรเหาะไปด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ร้อนรัศมีกายพระอุมา | ร้อนทั้งสุริยารังสี |
สุดทนสุดกลั้นอสุรี | ก็พาองค์เทวีเดินไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ พญาเดิน
ยานี
๏ เมื่อนั้น | ฝูงเทพเทวัญน้อยใหญ่ |
เห็นพระเป็นเจ้าภพไตร | ประทานนางให้อสุรา |
ตระหนกตกใจไม่มีขวัญ | ทุกเทพเทวัญถ้วนหน้า |
ก็ไปเฝ้าพระนารายณ์ฤทธา | ยังมหาเกษียรวารี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เหาะ
๏ ครั้นถึงจึ่งทูลเบื้องบาท | ว่าพระจอมไกรลาสคีรีศรี |
ประทานพระอุมาเทวี | ให้ไอ้อัปรีย์ทศกัณฐ์ |
บรรดาฝูงเทพนิกร | เดือดร้อนไปทั่วสรวงสวรรค์ |
ต่างองค์โศกาจาบัลย์ | พระทรงธรรม์จงได้เมตตา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระนารายณ์นาถา |
ได้แจ้งแห่งคำเทวา | จึ่งมีบัญชาตรัสไป |
อันพระอุมาโฉมยง | องค์เจ้าโลกาประทานให้ |
แก่ทศกัณฐ์จังไร | ใช่ว่าจะเป็นอะไรมี |
นัยมันจะเชิญพระอัคเรศ | คืนนิเวศน์ไกรลาสคีรีศรี |
ตรัสแล้วสำแดงฤทธี | เหาะมาจากที่ทะเลวน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ กลม
๏ ครั้นถึงต้นทางไปลงกา | ก็ลงยังชายป่าพนาสณฑ์ |
พระองค์จึ่งคิดอุบายกล | ร่ายมนต์จำแลงอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ด้วยเดชพระเวทอันเชี่ยวชาญ | ก็บันดาลกลายเป็นยักษี |
รูปนั้นแก่เฒ่าอัปรีย์ | ทำทีดั่งหนึ่งพาลา |
จับจอบขุดปัถพีดล | ยืนปลูกซึ่งต้นพฤกษา |
เอายอดลงพื้นพสุธา | กลับรากขึ้นมาอัมพร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เสร็จแล้วพรวนดินรดน้ำ | ทำเป็นชื่นชมสโมสร |
คอยดูท้าวยี่สิบกร | ภูธรจะลวงอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
พาพระอุมาเทวี | จรลีมาตามมรคา |
เห็นกุมภัณฑ์นั้นปลูกต้นไม้ | ไม่รู้ว่านารายณ์นาถา |
เข้าใกล้จึ่งกล่าววาจา | ตาเฒ่านี้โฉดพ้นไป |
ใครห่อนปลูกไม้เอาปลายลง | เราดูเร่งพะวงสงสัย |
ผิดเพศในพื้นภพไตร | จะเป็นผลที่ไหนดังนี้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์ซึ่งเป็นยักษี |
ได้ฟังถ้อยคำอสุรี | ทำทียิ้มแย้มไยไพ |
ตัวท่านนั้นอีกโฉดเขลา | กลับติเตียนเราก็เป็นได้ |
จะตบมือสรวลเล่นให้หนำใจ | ด้วยไม่รู้สึกกายา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายท้าวทศพักตร์ยักษา |
ได้ฟังมารเฒ่ากล่าวมา | อสุราฉงนสนเท่ห์นัก |
จึ่งคิดว่าอันตาแก่นี้ | ไฉนจึ่งพาทีทะนงศักดิ์ |
ไม่เกรงกูผู้วงศ์จัตรุพักตร์ | คิดแล้วขุนยักษ์ก็ถามไป |
ซึ่งตาว่าเราเขลาโฉด | เห็นโทษนั้นมีที่ข้อไหน |
จงเร่งบอกมาให้แจ้งใจ | หาไม่จะม้วยชีวี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระนารายณ์เรืองศรี |
ยิ้มแล้วจึ่งกล่าววาที | อสุรีไม่แจ้งความใน |
ตัวเราผู้เฒ่าจะเอาบุญ | ท่านอย่าลืมคุณจะบอกให้ |
นางดีมีอยู่ไม่พอใจ | เอาหญิงจังไรอะไรมา |
เมื่อลักขณะคือพระกาล | จะผลาญโคตรวงศ์ยักษา |
สูญสิ้นทั้งกรุงลงกา | หลับตาไม่รู้ว่าชั่วดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
ได้ฟังมารเฒ่าพาที | อสุรีก็สงสัยใจ |
นางนี้จะจริงเหมือนหนึ่งว่า | กายาจึ่งร้อนดั่งเพลิงไหม้ |
คิดแล้วก็ร้องถามไป | นางใดที่ท่านว่าดี |
เอ็นดูด้วยช่วยบอกเถิดขุนยักษ์ | จักกลับไปเปลี่ยนนางโฉมศรี |
ซึ่งทำคุณเราครั้งนี้ | ไม่เสียทีจะแทนคุณตา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์ซึ่งเป็นยักษา |
จึ่งตอบไปด้วยไวปัญญา | นางหนึ่งลักขณาวิลาวัณย์ |
ชื่อว่ามณโฑเทวี | งามล้ำนารีในสรวงสวรรค์ |
ผิวพักตร์ผ่องเพียงดวงจันทร์ | สารพันเป็นที่จำเริญรัก ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ทศกัณฐ์ผู้มีสิทธิศักดิ์ |
ได้ฟังตาเฒ่าขุนยักษ์ | แย้มยิ้มพริ้มพักตร์ด้วยยินดี |
จึ่งช้อนบาทบงสุ์อัคเรศ | ขึ้นทูลเหนือเกศยักษี |
เหาะระเห็จเตร็ดฟ้าทันที | ไปคีรีไกลลาสบรรพตา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งวางนางลง | ทูลองค์พระอิศวรนาถา |
อันซึ่งสมเด็จพระอุมา | ตัวข้าจะคืนถวายไว้ |
ขอประทานมณโฑเทวี | ไปเป็นที่ร่วมพิสมัย |
พระองค์ผู้ทรงภพไตร | จงได้โปรดข้าบทมาลย์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระจอมไกรลาสราชฐาน |
ยิ้มแล้วมีเทวโองการ | อันโฉมนงคราญอุมานี้ |
ทรงศรีที่เทพมารดา | ไม่ควรวาสนายักษี |
ซึ่งขอมณโฑเทวี | ทั้งนี้ก็ตามแต่น้ำใจ |
ตรัสแล้วมีเทวโองการ | เรียกมณโฑเยาวมาลย์มาให้ |
เอ็งจงพานางลงไป | เลี้ยงไว้เป็นศรีลงกา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษา |
เห็นโฉมมณโฑกัลยา | นางในฟากฟ้าไม่เทียมทัน |
งามทรงงามองค์งามอ่อน | งามงอนเป็นที่เฉลิมขวัญ |
งามพักตร์ลักขณาวิลาวัณย์ | สารพันพริ้งพร้อมทั้งอินทรีย์ |
แสนพิศวาสจะขาดจิต | ยิ่งพิศติดเนตรยักษี |
ถวายบังคมลาพระศุลี | ก็อุ้มองค์เทวีเหาะไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ มาพลางพลางเชยชมน้อง | ประคองแนบจุมพิตพิสมัย |
ดั้นหมอกออกเมฆด้วยฤทธิไกร | ผ่านพิชัยขีดขินบุรินทร์มา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด