- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพระหริรักษ์เรืองศรี |
เสด็จเหนือทิพอาสน์รูจี | ยังที่สุวรรณพลับพลา |
ท่ามกลางทหารฤทธิรุทร | เจ็ดสิบเจ็ดสมุทรพร้อมหน้า |
น้อมเกล้าเฝ้ากลาดดาษดา | ดั่งดาวล้อมจันทราในอัมพร |
พอได้ยินสำเนียงกึกก้อง | สะเทือนท้องมรกตสิงขร |
ดั่งเสียงคลื่นพื้นฝั่งสาคร | กระฉ่อนไหวพ่างพื้นธาตรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ จึ่งมีพระราชบัญชา | ถามพญาพิเภกยักษี |
อันทัพซึ่งยกมาวันนี้ | จะเป็นอสุรีตนใด ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกผู้มีอัชฌาสัย |
รับสั่งพระตรีภูวไนย | ก็จับยามไปตามนาที |
เสร็จแล้วประณตบทบงสุ์ | ทูลองค์พระนารายณ์เรืองศรี |
อันทัพซึ่งยกมาวันนี้ | โยธีนั้นล้วนอสุรา |
แต่ผู้ที่เป็นจอมพล | ข้าคิดฉงนหนักหนา |
มิใช่สุริย์วงศ์ในลงกา | จะว่าท้าวยักษาก็ผิดไป |
เห็นจะเป็นทหารชาญณรงค์ | ใต้เบื้องบาทบงสุ์ก็ว่าได้ |
ขอให้พระลักษมณ์ภูวไนย | ยกพวกพลไกรไปดูที ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วเรืองศรี |
ได้ฟังพิเภกอสุรี | ภูมีถวิลจินดา |
ชะรอยว่าลูกพระพาย | คิดอุบายล่อลวงยักษา |
จะเอาดวงใจให้ได้มา | พิเภกจึ่งว่าแต่เป็นนัย |
คิดแล้วตรัสสั่งพระลักษมณ์ | น้องรักผู้มีอัชฌาสัย |
ตัวเจ้าจงยกพลไกร | ออกไปชิงชัยด้วยไพรี |
แม้นว่าข้าศึกมีกำลัง | จงรับรั้งตั้งมั่นไว้ท่าพี่ |
อย่าประมาทอาจองให้เสียที | ในที่รณรงค์อสุรา |
ตรัสแล้วจึ่งมีประกาศิต | แก่ลูกพระอาทิตย์ใจกล้า |
จงเตรียมพหลโยธา | ให้พระอนุชาฤทธิรอน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาสุครีพชาญสมร |
รับสั่งน้อมเศียรชุลีกร | ก็รีบบทจรออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ปฐม
ยานี
๏ เกณฑ์กระบี่โดยซ้ายฝ่ายขวา | เป็นกระบวนโยธาทัพใหญ่ |
เหล่าพวกขีดขินกรุงไกร | ล้วนถือปืนไฟทุกตน |
ให้เป็นกองหน้าสำหรับหัก | ไหนหนักถาโถมเข้าโจมปล้น |
กองกลางเลือกล้วนอดทน | ถือง้าวคำรนทะลวงฟัน |
กองหลังชมพูนครินทร์ | พื้นพงศ์กระบินทร์ตัวขยัน |
ถือหอกกลอกกลับยืนยัน | ต่างตนต่างขันประลองฤทธิ์ |
บ้างถือแหลนหลาวทวนธนู | บางหมู่ถือตรีกระบี่กริช |
กวัดแกว่งเป็นแสงชวลิต | อกนิษฐ์เพียบพื้นพระสุธา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | น้องพระหริรักษ์นาถา |
ครั้นได้ศุภฤกษ์เวลา | เสด็จมาเข้าที่สรงชล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ สระสนานสำราญอินทรีย์ | วารีเย็นซาบเป็นสายฝน |
ทรงสุคนธาทิพย์ปรุงปน | เกสรอุบลในเมืองอินทร์ |
สอดใส่สนับเพลาเทวราช | เครือมาศรายดวงมุกดาสิ้น |
ภูษาคู่องค์อมรินทร์ | พื้นตองก้านกินรีรำ |
ชายไหวชายแครงแก้วกระหนาบ | ฉลององค์พื้นขาบเขียวขำ |
ทับทรวงดวงบุษราคัม | ประจำยามตาบทิศสังวาล |
ทองกรพาหุรัดธำมรงค์ | มงกุฎจรแก้วมุกดาหาร |
จับศรฤทธิไกรดั่งไฟกาล | มาขึ้นรถพิมานสุพรรณพราย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ บาทสกุณี
โทน
๏ รถเอยรถเทเวศ | โกสีย์ตรีเนตรบรรจงถวาย |
งอนระหงธงทองสามชาย | บุษบกงามคล้ายวิมานรัตน์ |
รายกระจังช่องกระจกกระหนกกลับ | เครือลอยครุฑสับสิงห์อัด |
สินธพสี่เทียมล้วนสันทัด | มาตุลีกรายหัตถ์ขับทะยาน |
เครื่องสูงบังแทรกจามร | ธงชัยมังกรธงฉาน |
ขนัดพลแน่นพื้นสุธาธาร | ปี่ฆ้องกลองขานประสานกัน |
เสียงสินธพร้องก้องกึก | วานรโห่ฮึกแผ่นดินลั่น |
ผงคลีมืดคลุ้มชอุ่มควัน | รีบขับพลขันธ์ดำเนินไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ รุกร้น
๏ ครั้นถึงเห็นทัพอสุรา | ตั้งดาตามเชิงเขาใหญ่ |
จึ่งให้หยุดพหลพลไกร | มั่นไว้คอยดูท่วงที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
ยืนรถอยู่กลางโยธี | เห็นพระลักษมณ์กรีพลออกมา |
จึ่งถามโลทันอสุรินทร์ | ว่าอินทรชิตยักษา |
แต่ก่อนเคยยกโยธา | ออกมาต้านต่อฤทธิไกร |
เมื่อทัพเข้าปะทะปะกัน | กุมภัณฑ์นั้นทำเป็นไฉน |
ให้แต่ทัพหน้าเข้าชิงชัย | หรือพร้อมทั้งทัพใหญ่ระดมตี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งนายโลทันยักษี |
นบนิ้วยอกรอัญชุลี | อสุรีสนองวาจา |
เมื่อครั้งอินทรชิตออกโรมรัน | ทัพหลวงตั้งมั่นไว้ชายป่า |
ครั้นเห็นข้าศึกยกมา | สั่งให้กองหน้าออกราญรอน |
กับหมู่โยธีกระบี่ไพร | ภูวไนยคอยดูกำลังก่อน |
ภายหลังจึงออกต่อกร | วางศรไปล้างไพริน |
ถึงพระญาติพระวงศ์กุมภัณฑ์ | ก็ทำมาเหมือนกันดั่งนี้สิ้น |
แต่ยักษาตายกลาดดาษดิน | ด้วยมือกระบินทร์โยธา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วายุบุตรฤทธิไกรใจกล้า |
ได้ฟังจึ่งกล่าววาจา | อันเรายกมาครั้งนี้ |
ตั้งใจอาสาพญายักษ์ | จะจับรามลักษมณ์ทั้งสองศรี |
มิให้ยากแก่พลโยธี | เหมือนวงศ์อสุรีในเมืองมาร |
แต่ตัวของกูผู้เดียว | จะตีทัพขับเคี่ยวให้แตกฉาน |
ด้วยกำลังฤทธิไกรชัยชาญ | จับมนุษย์สาธารณ์ไปทั้งเป็น |
ยักษาจงอยู่แต่ที่นี่ | กูจะหักไพรีให้เอ็งเห็น |
มิให้พลลำบากยากเย็น | ชวนกันดูเล่นให้สำราญใจ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพวกพลมารน้อยใหญ่ |
ฟังวายุบุตรวุฒิไกร | ยินดีดั่งได้ฟากฟ้า |
ต่างตนยกมืออัญชุลี | อวยพรขุนกระบี่ถ้วนหน้า |
ครั้นแล้วก็ถอยออกมา | ตั้งตาคอยดูหนุมาน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | จึ่งลูกพระพายใจหาญ |
ลงจากรถแก้วสุรกานต์ | โถมทะยานเข้าตีราวี |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ผู้เดียวมิได้ยั้งหยุด | สำแดงฤทธิรุทรดั่งไกรสร |
หวดซ้ายป่ายขวาตะลุมบอน | ราญรอนอุตลุดวุ่นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | โยธาวานรน้อยใหญ่ |
เห็นวายุบุตรวุฒิไกร | โลดไล่โรมรุกบุกบัน |
ต่างตนต่างเกรงศักดา | ตกประหม่าหน้าซีดตัวสั่น |
วิ่งแยกแตกยับทับกัน | บ้างเข้าพึ่งพันพระลักษมณ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ความกลัวคำแหงหนุมาน | ดั่งเห็นพระกาลสิทธิศักดิ์ |
อกสั่นหวั่นไหวอยู่ทึกทัก | เพียงจักสิ้นชีพชีวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
เห็นวายุบุตรทำฤทธี | ไล่ตีกระบี่เข้ามา |
ให้คิดฉงนสนเท่ห์ใจ | หนุมานสิไปอาสา |
จะเอาดวงใจอสุรา | เหตุใดมาเป็นปัจจามิตร |
กลับไปเข้าด้วยทศกัณฐ์ | หยาบช้าอาธรรม์ทุจริต |
ยกพลออกมาต่อฤทธิ์ | ไม่คิดเกรงบาทภูวไนย |
กูไม่เห็นเลยว่าหนุมาน | จะทำการถึงเพียงนี้ได้ |
ยิ่งคิดยิ่งแค้นแน่นใจ | จึ่งตรัสใช้สุครีพผู้ศักดา |
กับพญาพิเภกยักษี | ให้ไปต้อนกระบี่ทัพหน้า |
ซึ่งหนีเข้าในอรัญวา | ให้ออกมาสัประยุทธ์ราญรอน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกสุครีพชาญสมร |
รับราชวาทีชุลีกร | ก็ไปต้อนกระบี่รี้พล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ซุกซอนไปในป่าชัฏ | เลี้ยวลัดสกัดทุกแห่งหน |
จับได้กระบี่ทีละตน | บัดเดี๋ยวก็ด้นหนีไป |
จับได้ตนนั้นตนนี้หาย | ไพร่นายไม่คุมกันเข้าได้ |
อันกระบวนสำหรับทัพชัย | วุ่นไปไม่เป็นสมประดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
ผู้เดียวหักโหมโจมตี | กลางพลโยธีวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ปีกซ้ายปีกขวาก็แตกสิ้น | ด้วยกำลังกระบินทร์ชาญสมร |
หน่วงไว้ให้แสงทินกร | รอนรอนลงใกล้สนธยา |
ถึงหน้ารถน้องพระจักรี | ขุนกระบี่ยักคิ้วให้หน้า |
แล้วแสร้งกล่าวคำอหังการ์ | ดูราพระลักษมณ์ภูวไนย |
ตัวเราซึ่งออกมาโหมหัก | ยังรู้จักบ้างหรือหาไม่ |
ท่านกับพระรามแต่ก่อนใช้ | ให้ทำการศึกแต่ต้นมา |
ครั้งใดก็ได้ถ้อยคำ | เราอาบเหื่อต่างนํ้ามาหนักหนา |
อันบำเหน็จบำนาญนานา | แต่เสื้อผ้าจะให้ก็ไม่มี |
เรามาอยู่ด้วยทศพักตร์ | อาสาพญายักษี |
ไม่ช้าสักสามราตรี | มิทันที่จะออกมาตีทัพ |
เราได้มงกุฎกุณฑล | สร้อยสนสังวาลพลอยประดับ |
เสื้อผ้าเงินทองราชทรัพย์ | พ้นที่จะนับประมาณไป |
ทั้งฝูงอนงค์นารี | ปราสาทตรีมุขสูงใหญ่ |
เป็นสุขสนุกสำราญใจ | ดั่งได้สมบัติในเมืองฟ้า ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์นาถา |
ได้ฟังคั่งแค้นแน่นอุรา | จึ่งมีบัญชาตอบไป |
เหวยเหวยคำแหงหนุมาน | ตัวเองคิดอ่านเป็นไฉน |
พระเชษฐากับกูมาอยู่ไพร | จะได้สิ่งใดให้ปัน |
แม้นเสร็จสำเร็จการณรงค์ | พระองค์คืนครองไอศวรรย์ |
ได้ให้สัญญาไว้ต่อกัน | ท่านนั้นจะให้ผ่านบุรี |
ทำคุณแล้วกลับมาทำโทษ | จะประโยชน์สิ่งใดกระบี่ศรี |
อันท่านเจรจาพาที | ดั่งคนอัปรีย์ทรลักษณ์ |
แต่ต้นนั้นทำสัตย์ซื่อ | ดังหรือข้างปลายอัปลักษณ์ |
เห็นแก่สมบัติของขุนยักษ์ | ไม่รักตัวกลัวกรรมเวรา |
เสียแรงเป็นลูกพระพาย | ชาติชายประกอบด้วยยศถา |
ไม่อายมนุษย์แลเทวา | ใครจะนับหน้าว่าตัวดี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
ได้ฟังพระอนุชาพาที | ขุนกระบี่ตบมือแล้วตอบไป |
ว่าเหวยดูก่อนพระลักษมณ์ | ตำราจักมีมาแต่ไหน |
ใคร่ห่อนชี้นกบนปลายไม้ | หว่านข้าวลงไว้ที่ในนา |
แล้วจะอยู่ท่าลูกโค | ให้โตใหญ่ขึ้นต่อภายหน้า |
กว่าจะมีชัยอสุรา | พี่ยาท่านจึ่งจะรางวัล |
ตัวเราทำศึกขับเคี่ยว | ผู้เดียวแม้นม้วยอาสัญ |
ก็จะสูญเสียเปล่าในกลางคัน | จะหมายได้ดังนั้นก็ผิดไป |
พระลักษมณ์อย่าพักเจรจา | เราจะฟังท่านว่านั้นหาไม่ |
หากว่าสนธยาลงไรไร | ทินกรใกล้อัสดงคต |
ถ้าแม้นเวลายังวัน | เราจะผูกพันเอาให้หมด |
ถึงตัวพระลักษมณ์ก็ไม่ลด | จะจับให้ทศกัณฐ์เจ้าลงกา |
ขุนกระบี่แกล้งกล่าวไยไพ | ให้ได้ยินประจักษ์แก่ยักษา |
ว่าแล้วจึ่งถอยหลังมา | ขึ้นรถรัตนารูจี |
ให้เลิกจตุรงค์ทวยหาญ | แสนเสนามารยักษี |
โห่สนั่นครั่นครื้นปถพี | กรีทัพกลับเข้าพระนคร ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงประทับทับเกยแก้ว | อันเพริศแพรวจำรัสประภัสสร |
ลงจากรถแก้วอลงกรณ์ | บทจรขึ้นเฝ้าเจ้าลงกา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยี่สิบกรยักษา |
ครั้นเห็นหนุมานขึ้นมา | อสุราชื่นชมยินดี |
จึ่งตรัสปราศรัยด้วยสุนทร | ดูก่อนลูกรักเฉลิมศรี |
ซึ่งเจ้าไปปราบไพรี | ได้ทีหรือเป็นประการใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วายุบุตรผู้มีอัชฌาสัย |
ฟังเจ้ากรุงลงกากรุงไกร | จึ่งตอบไปด้วยไวปรีชา |
ครั้นข้าจะทูลแต่ตามจริง | ดั่งจะหยิ่งยกตัวเอาหน้า |
อันมีชัยหรือเสียทีมา | อสุราก็แจ้งอยู่ทั้งนั้น |
พระองค์ผู้พงศ์พรหมาน | จงถามทวยหาญพลขันธ์ |
บรรดาที่ไปด้วยกัน | ทรงธรรม์ก็จะทราบใต้ธุลี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
ได้ฟังหนุมานพาที | จึ่งมีพระราชโองการ |
ดูก่อนแสนสุรเสนา | บรรดาโยธาทวยหาญ |
ลูกรักกูออกไปรอนราญ | ยังองอาจปรีชาญประการใด |
จะเปรียบกับองค์อินทรชิต | ทั้งความคิดฤทธาเป็นไฉน |
เห็นทีใครจะดีกว่าใคร | ในการรณรงค์ราวี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาโยธายักษี |
ต่างตนสนองพระวาที | ตามที่ได้รู้เห็นมา |
อันซึ่งหนุมานชาญณรงค์ | ทำศึกอาจองแกล้วกล้า |
มิให้ยากลำบากแก่โยธา | ผู้เดียวเคี่ยวฆ่าไพริน |
บรรดาวานรนับสมุทร | ไม่ทานฤทธิรุทรแตกสิ้น |
อุปมาดั่งหมู่มฤคิน | ได้กลิ่นไกรสรตัวฉกรรจ์ |
ขุนกระบี่ไล่ตีโหมหัก | ถึงรถพระลักษมณ์แล้วเย้ยหยัน |
ตัดพ้อหยาบช้าทุกสิ่งอัน | โรมรุกบุกบันเข้าไป |
ถ้าแม้นมิจวนอัสดงค์ | เห็นจะจับองค์พระลักษมณ์ได้ |
อันหนุมานฤทธิไกร | ว่องไวทั้งสติปัญญา |
ซึ่งจะเปรียบกับองค์อินทรชิต | เห็นผิดไกลกันหนักหนา |
ดั่งหนึ่งแผ่นดินกับแผ่นฟ้า | พ้นที่จะอุปมาไป |
เหมือนปัดอันมีราคิน | จะเปรียบแก้วจินดากระไรได้ |
พระองค์ผู้ทรงภพไตร | จะแคลงพระทัยไปไยมี ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวสิบพักตร์ยักษี |
ได้แจ้งแห่งคำเสนี | มีความชื่นชมด้วยสมคิด |
ลงมาสวมกอดหนุมาน | แล้วมีโองการประกาศิต |
เจ้าผู้ศักดาวราฤทธิ์ | ดั่งดวงชีวิตของบิดร |
ควรที่จะผ่านสมบัติ | ในเศวตฉัตรประภัสสร |
เป็นปิ่นลงกาพระนคร | เฉลิมหมู่นิกรกุมภัณฑ์ |
พ่อกับมณโฑนางสีดา | จะพากันไปอยู่ในไพรสัณฑ์ |
จะยกสวรรยาทั้งนั้น | ทำขวัญให้เจ้าผู้ชัยชาญ |
ซึ่งทำสงครามมาเหนื่อยพักตร์ | ลูกรักจงไปสรงสนาน |
เสวยโภชนาให้สำราญ | ชมฝูงเยาวมาลย์อนงค์ใน |
ตรัสแล้วมีราชวาที | สั่งมหาเสนีผู้ใหญ่ |
อันสมบัติอินทรชิตฤทธิไกร | นั้นยกมาให้หนุมาน |
ทั้งนางสุวรรณกันยุมา | ซึ่งเป็นภิริยายอดสงสาร |
อีกนางขับรำประจำงาน | ประทานให้สิ้นด้วยกัน ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | มโหทรเสนาคนขยัน |
รับสั่งพญากุมภัณฑ์ | ถวายบังคมคัลแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จัดแจงเครื่องต้นเครื่องทรง | ขององค์อินทรชิตยักษา |
ทั้งสมบัติพัสถานอันโอฬาร์ | ตามบัญชาสั่งอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ลูกพระพายผู้ชาญชัยศรี |
ได้ประทานสมบัติก็ยินดี | ขุนกระบี่มาปราสาทอินทรชิต ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงซึ่งที่ราชฐาน | แสนสนุกโอฬารดั่งดุสิต |
ขึ้นยังแท่นทองชวลิต | อันวิจิตรด้วยแก้วอลงการ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มโหทรผู้มียศถา |
จึ่งมอบสมบัติอันโอฬาร์ | ให้แก่พญาหนุมาน |
ของนี้สมเด็จพระบิตุรงค์ | รางวัลพระองค์ผู้ใจหาญ |
ให้แทนที่อินทรชิตชัยชาญ | ท่านผู้มีฤทธิ์จงรับไว้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วายุบุตรผู้มีอัชฌาสัย |
รับแสนสวรรยาปราสาทชัย | ด้วยใจโสมนัสยินดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสุวรรณกันยุมาโฉมศรี |
ซึ่งเป็นเอกอัครเทวี | ขององค์อสุรีอินทรชิต |
ทรงโฉมประโลมสงสาร | ดั่งนางในวิมานดุสิต |
อรชรอ้อนแอ้นพึงพิศ | พร้อมทั้งจริตกิริยา |
กับฝูงนารีสนมนาฏ | อันมีวิลาสดั่งเลขา |
แต่งองค์ทรงเครื่องอลงการ์ | พากันขึ้นมาด้วยยินดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงนบนิ้วประนม | บังคมเฟี้ยมเฝ้ากระบี่ศรี |
บ้างเข้าโบกปัดพัดวี | ใช้สอยตามที่พนักงาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เบ้าหลุด
๏ ฝ่ายนางบำเรอก็ขับครวญ | โหยหวนรี่เรื่อยเฉื่อยฉาน |
ดีดสีตีเป่าบรรเลงลาน | กรับฉิ่งประสานจังหวะกัน |
บ้างขับรำมะนาท้าทับ | ร้องรับเพราะเพียงเพลงสวรรค์ |
ร่อนเสียงสำเนียงโอดพัน | สนั่นทั้งปราสาทรัตนา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
พระทอง
๏ ฝูงนางระบำก็รำฟ้อน | ทอดกรกรีดกรายดั่งเลขา |
ท่าทีชม้ายชายตา | เยื้องย่างเข้ามาให้ชิด |
แล้วตีวงเวียนเปลี่ยนหัตถ์ | ซัดแขนเยื้องไหล่ใส่จริต |
งามงอนอ้อนแอ้นพึงพิศ | เบี่ยงบิดเป็นท่าม้าคลี |
ร่ายรำเวียนวงเป็นกงจักร | เยื้องยักโดยจังหวะดีดสี |
รำรอคลอเคล้าไปในที | บำเรอขุนกระบี่ผู้ศักดา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
๏ เมื่อนั้น | ลูกพระพายผู้มียศถา |
อยู่เหนือแท่นทองอลงการ์ | ดูฝูงกัลยาระบำบัน |
ทั้งฟังเสียงสำเนียงขับกล่อม | เพราะพร้อมดั่งหนึ่งเพลงสวรรค์ |
แต่จิตประดิพัทธ์ผูกพัน | ในสุวรรณกันยุมาเทวี |
จึ่งลดองค์ลงจากบัลลังก์รัตน์ | ยอหัตถ์ลูบหลังนางโฉมศรี |
พิศพักตร์อัคเรศนารี | แล้วมีสุนทรวาจา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ชาตรี
๏ น้องเอยน้องรัก | นงลักษณ์ผู้ยอดเสน่หา |
บุญพี่เคยทำจึ่งนำมา | ได้พบกัลยายาใจ |
ท้าวทศกัณฐ์บิตุเรศ | โปรดเกศเอามาประทานให้ |
เจ้าดวงดอกฟ้าสุราลัย | อรไทจงได้ปรานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | นางสุวรรณกันยุมาโฉมศรี |
ได้ฟังหนุมานพาที | เทวีจึ่งตอบบัญชา |
พระองค์จงได้โปรดก่อน | ตัวข้าทุกข์ร้อนอยู่หนักหนา |
ด้วยองค์อินทรชิตภัสดา | พึ่งม้วยมรณาไม่ช้านัก |
ยังไม่ทันถึงสักกึ่งเดือน | จิตน้องฟั่นเฟือนเพียงอกหัก |
ร้องไห้นํ้าเนตรไม่วายพักตร์ | จะมีใจรักนั้นฉันใด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
โลม
๏ โฉมเอยโฉมเฉลา | ยุพเยาว์ผู้ยอดพิสมัย |
อันความแสนโศกาลัย | ใช่จะเป็นแต่องค์วนิดา |
ซึ่งเกิดมาในธาตรี | ย่อมมีด้วยกันถ้วนหน้า |
จงดับเสียเถิดนะแก้วตา | ฟังคำพี่ว่าอย่าทุกข์ร้อน |
วันนี้ก็เป็นวันดี | ควรที่จะร่วมสโมสร |
ให้ศรีสวัสดิ์สถาวร | ดวงสมรอย่าหน่วงให้เนิ่นนาน |
ด้วยณรงค์สงครามจะมีไป | เกลือกส้มจะไม่เป็นหวาน |
ตัวพี่เป็นคนราชการ | เยาวมาลย์จงได้เมตตา |
ว่าพลางก็ทางสัพยอก | เย้าหยอกด้วยความเสน่หา |
เลียมลองต้องดวงสุมณฑา | กรลอดสอดคว้าไปในที ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ทรงเอยทรงเดช | พระจงโปรดเกศเกศี |
อะไรมาทำดั่งนี้ | ไม่ปรานีเลยภูวไนย |
ตัวน้องก็อยู่เป็นข้า | ใช่จะพ้นบาทาก็หาไม่ |
อันฝูงนางเป็นที่จำเริญใจ | ก็ทรงโฉมวิไลเพริศพราย |
ขอเชิญเสด็จไปเชยชม | ภิรมย์รักด้วยนางทั้งหลาย |
พระอย่าทำอุตลุดวุ่นวาย | ให้น้องอับอายอสุรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
โลม
๏ ดวงเอยดวงสมร | เจ้างามงอนนิ่มเนื้อมารศรี |
อันฝูงนางกำนัลทั้งนี้ | พี่ไม่จำนงจงใจ |
อันตัวของเจ้าเยาวเรศ | เหมือนดวงเนตรเป็นที่พิสมัย |
เจ้าอย่าสลัดตัดอาลัย | ให้พี่นี้ทนเวทนา |
ว่าพลางอิงแอบแนบชิด | จุมพิตด้วยความเสน่หา |
เกี่ยวกระหวัดรึดรึงตรึงตรา | วิญญาณ์ด่าวดิ้นแดยัน |
พระสมุทรตีฟองนองระลอก | กระทบฝั่งกระฉอกสะเทือนลั่น |
วาฬใหญ่พ่นน้ำอยู่เป็นควัน | ฝนสวรรค์ตกทั่วสาคร |
สองร่วมภิรมย์สมพาส | แสนสวาทในรสสโมสร |
แสนสุขแสนเกษมสถาวร | เหนือที่บรรจถรณ์ในราตรี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ กล่อม
ช้า
๏ เมื่อนั้น | นางสุวรรณกันยุมาโฉมศรี |
ได้ร่วมในรสฤๅดี | ด้วยขุนกระบี่ผู้ปรีชา |
ลืมโศกลืมทุกข์ลืมเทวษ | เยาวเรศแสนโสมนัสสา |
ลืมทั้งอินทรชิตภัสดา | กัลยาลืมกายลืมองค์ |
แต่อิงแอบแนบชิดไม่ห่างได้ | ด้วยความพิสมัยใหลหลง |
นวดฟั้นคั้นเบื้องบาทบงสุ์ | พิศวงในขุนวานร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายองค์พระลักษมณ์ชาญสมร |
ครั้นหนุมานเลิกพลากร | เข้านครลงกาธานี |
ไม่ทันจะรู้ในอุบาย | แยบคายชั้นเชิงกระบี่ศรี |
พิโรธโกรธกริ้วพันทวี | จึ่งมีพจนารถตรัสไป |
ดูก่อนลูกพระสุริย์ฉาน | หนุมานนี้มันเป็นไฉน |
ไม่เกรงบาทพระตรีภูวไนย | กลับไปเข้าด้วยทศกัณฐ์ |
เรานี้ประหลาดใจนัก | ครั้นจักให้เลิกพลขันธ์ |
เกลือกมันจะตามมาโรมรัน | บ่ายรับไม่ทันจะเสียที |
จำเราจะตั้งมั่นไว้ | ที่ในริมเนินคีรีศรี |
ท่านกับนิลนนท์มนตรี | สองกระบี่จงกลับไปพลับพลา |
เอาคำที่มันองอาจ | ทรยศประมาทพระเชษฐา |
กราบทูลพระองค์ทรงศักดา | ให้ทราบบาทาทุกประการ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กระบินทร์สองนายใจหาญ |
รับสั่งน้องพระอวตาร | กราบกับบทมาลย์แล้วรีบจร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรอภิวาท | พระตรีภูวนาถทรงศร |
ทูลว่าหนุมานฤทธิรอน | วานรคิดคดต่อบาทา |
ไปเข้าด้วยทศพักตร์อสุรี | ทำทีฮึกฮักหนักหนา |
ยกพวกพลมารออกมา | ลุยไล่เข่นฆ่ากระบี่ไพร |
แตกย่นจนถึงทัพพระลักษมณ์ | ทะนงศักดิ์เจรจาหยาบใหญ่ |
ทูลถี่คลี่คลายขยายไป | โดยได้รู้เห็นทุกประการ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระจักรกฤษณ์ฤทธิ์ลํ้าสุริย์ฉาน |
ได้ฟังสุครีพชัยชาญ | ผ่านฟ้าถวิลจินดา |
ชะรอยโอรสพระพาย | ทำอุบายล่อลวงยักษา |
อันจะไปเข้าด้วยอสุรา | เหมือนคำสุครีพว่านั้นผิดที |
พระลักษมณ์ไม่รู้จึ่งกริ้วโกรธ | แค้นเคืองยกโทษกระบี่ศรี |
คิดแล้วสั่งน้องพาลี | ท่านทั้งสองนี้จงรีบไป |
ซึ่งว่าหนุมานคิดคด | ทำการทรยศหยาบใหญ่ |
ให้พระลักษมณ์คอยรับมั่นไว้ | กูจะยกออกไปราญรอน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ทั้งสองทหารชาญสมร |
ก้มเกล้ารับสั่งพระสี่กร | วานรรีบไปด้วยศักดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งประณตบทบงสุ์ | ทูลองค์พระลักษมณ์กนิษฐา |
โดยในพระราชบัญชา | องค์พระจักราทรงฤทธิ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์จักรกฤษณ์ |
เสด็จเหนือแท่นแก้วชวลิต | นิ่งคิดดำริตริไป |
หนุมานได้ว่าไว้กับกู | ใครจะล่วงรู้ก็หาไม่ |
เห็นจะคิดเป็นยลกลใน | ลวงเอาดวงใจอสุรี |
พระลักษมณ์ยังอ่อนแก่ความนัก | ไม่รู้จักชั้นเชิงกระบี่ศรี |
เกลือกว่ารุ่งเช้าวันนี้ | หนุมานผู้มีปรีชา |
จะมารยายกพลมาราญรอน | พระลักษมณ์จะไม่ผ่อนผันหา |
จะรบพุ่งกันเป็นโกลา | จะพาเนื้อความนั้นมากไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ จำกูจะยกออกไปดู | ให้รู้ร้ายดีเป็นไฉน |
คิดแล้วพอรุ่งอโณทัย | ก็ออกพลับพลาชัยรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งมีพระราชบรรหาร | สั่งชมพูพานกระบี่ศรี |
ตัวกูจะยกไปราวี | จงเตรียมโยธีให้พร้อมกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ศรีชมพูพานตัวขยัน |
รับสั่งพระองค์ทรงสุบรรณ | ถวายบังคมคัลแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ปฐม
ยานี
๏ เกณฑ์กระบี่เข้ากระบวนโดยเสด็จ | พระจักรเพชรตรีภพนาถา |
เลือกสรรล้วนทรงศักดา | ตัวแกล้วใจกล้าในการยุทธ์ |
แต่ละหมู่อาจดำสุธาดล | เดินด้นไปได้หลังสมุทร |
บ้างไปทางกาลาคนิรุทร | แล้วผุดขึ้นกลางสัตภัณฑ์ |
ลางหมู่เดินได้ในอัมพร | เที่ยวจรไปจบทางสวรรค์ |
ทุกพวกพื้นพงศ์เทวัญ | ชาญฉกรรจ์ประกอบฤทธา |
ล้วนถือทวนง้าวดาบหอก | กวัดแกว่งกลับกลอกเงื้อง่า |
ตั้งไปตามเกล็ดนาคา | ในหน้าพลับพลารูจี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์เรืองศรี |
ครั้นเสร็จซึ่งจัดโยธี | เสด็จเข้าที่สนานกาย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ นํ้าทิพย์ไขจากสุหร่ายรัตน์ | ดั่งฝนโบกขรพรรษกระแสสาย |
ทรงสุคนธ์ปนปรงสุพรรณพราย | กลิ่นขจายขจรวิญญาณ์ |
สอดใส่สนับเพลากระหนกหงส์ | แล้วทรงโขมพัตถ์ภูษา |
ชายแครงชายไหวอลงการ์ | ฉลององค์อินทราเครือสุวรรณ |
ตาบทิศทับทรวงมุกดาหาร | สังวาลมรกตทับทิมคั่น |
ทองกรพาหุรัดนาคพัน | ธำมรงค์เครือสุบรรณกางกร |
ทรงมหามงกุฎกรรเจียกเพชร | กุณฑลแก้วเก็จประภัสสร |
จับพระแสงพรหมาสตร์ฤทธิรอน | บทจรมาขึ้นรถทรง ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ บาทสกุณี
โทน
๏ เวเอยเวไชยันต์ | เรือนสุวรรณแอกงอนอ่อนระหง |
ดุมกำแก้วสลับประกับกง | ปักธงสามชายปลายปลิว |
รายรูปเทพนมประนมหัตถ์ | ครุฑจับนาคหยัดสะบัดหิ้ว |
สิงห์อัดแอบเคียงเรียงริ้ว | กระหนกพลิ้วนกกลายรายกระจัง |
เทียมสินธพสิบเทพบุตร | ขาวผ่องบริสุทธิ์ดั่งสีสังข์ |
สารถีผู้มีกำลัง | นั่งหน้าขับโผนโจนทะยาน |
ประดับด้วยชุมสายเศวตฉัตร | กรรชิงรัตน์บังแสงสุริย์ฉาน |
แตรงอนแตรฝรั่งกังสดาล | ปี่กลองฆ้องขานประสานกัน |
เสียงม้าเริงร้องก้องกึก | เสียงพลโห่ฮึกแผ่นดินลั่น |
ผงคลีมืดคลุ้มชอุ่มควัน | รีบเร่งพลขันธ์ยาตรา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ รุกร้น
๏ ครั้นมาถึงที่สนามรบ | พระตรีภพลบโลกนาถา |
ให้หยุดเคียงรถพระอนุชา | พร้อมหมู่โยธาวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
เห็นพระจักรกฤษณ์ฤทธิรอน | ภูธรยกมาก็ยินดี |
จึงก้มเกล้าเข้ารับบังคมทูล | นเรนทร์สูรธิราชเรืองศรี |
ว่าไอ้หนุมานอัปรีย์ | บัดนี้มันทำทรยศ |
กลับไปเข้าด้วยทศพักตร์ | ฮึกฮักหยาบช้าสาหส |
ออกมาต่อตีถึงหน้ารถ | วานรแตกหมดด้วยมือมัน |
แล้วกล่าวถ้อยคำหมิ่นประมาท | ต่อเบื้องบาทพระนารายณ์รังสรรค์ |
ขอพระองค์ผู้ทรงสุบรรณ | จงล้างชีพชีวันให้วายปราณ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
ฟังพระอนุชาแจ้งการ | ผ่านฟ้ายิ้มแย้มไปมา |
แล้วตรัสแก่องค์พระลักษมณ์ | น้องรักผู้ร่วมสังขาร์ |
ตัวพี่จะดูกิริยา | ให้เห็นแก่ตาประจักษ์ใจ |
หนุมานจะทำหักหาญ | เหมือนวันวานนี้หรือไฉน |
แม้นมันทรยศคิดคดไป | จะฆ่าให้บรรลัยด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายหนุมานกระบี่ศรี |
อยู่ในปราสาทรัตน์มณี | ด้วยเทวีสุวรรณกันยุมา |
แสนเกษมแสนสุขสโมสร | จนทินกรแจ่มแจ้งพระเวหา |
ก็สระสรงทรงเครื่องอลงการ์ | ขึ้นเฝ้าพญากุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ครั้นเห็นหนุมานชาญฉกรรจ์ | กุมภัณฑ์ยินดีเป็นพ้นไป |
จึ่งจูงเอามือขุนกระบี่ | ขึ้นแท่นมณีแล้วปราศรัย |
เจ้าผู้ฤทธีปรีชาไว | ดั่งหนึ่งดวงใจของบิดา |
วานนี้เจ้าออกไปตีทัพ | เคี่ยวขับเหนื่อยพักตร์มาหนักหนา |
พ่อจงงดอยู่สักเพลา | ให้เป็นผาสุกสำราญ |
อันมนุษย์พี่น้องรามลักษมณ์ | เห็นจักสิ้นชีพสังขาร |
ด้วยมือของเจ้าผู้ชัยชาญ | เมืองมารจะเกษมเปรมปรีดิ์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
ได้ฟังพญาอสุรี | ขุนกระบี่นิ่งนึกในใจ |
ครั้นกูจะอยู่หลายวันนัก | พระทรงศักดิ์จะติโทษได้ |
จะว่ามาอาสาให้ช้าไป | จะลวงไอ้จังไรทศกัณฐ์ |
ออกไปให้พระองค์สังหาร | ผลาญเสียให้ม้วยอาสัญ |
คิดแล้วจึ่งตอบกุมภัณฑ์ | ซึ่งพระองค์ทรงธรรม์ห้ามไว้ |
ทั้งนี้ด้วยทรงพระการุญ | อันคุณนั้นหาที่สุดไม่ |
สงครามเพียงนี้ไม่ยากใจ | จะงดอยู่ไยให้เนิ่นช้า |
อันมนุษย์พี่น้องทั้งสองชาย | มาดหมายเหมือนอยู่ในมือข้า |
วันนี้ขอเชิญพระบิดา | ยกโยธาไปเป็นประธาน |
ตัวลูกผู้เดียวจะตีทัพ | ให้ย่อยยับลงด้วยกำลังหาญ |
จับพระลักษมณ์พระรามอหังการ | มาถวายบทมาลย์พระบิดร ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพณาสูรชาญสมร |
ได้ฟังวาจาวานร | ดังหนึ่งภูธรได้โสฬส |
สิบโอษฐ์สำรวลสรวลสันต์ | สิบพักตร์เพียงจันทร์ทรงกลด |
จึ่งสั่งเสนีผู้มียศ | ให้เตรียมรถเตรียมทศโยธา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งเปาวนาสูรยักษา |
ก้มเกล้ารับสั่งเจ้าลงกา | บังคมลาออกจากพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ปฐม
ยานี
๏ เกณฑ์พลทหารชำนาญศึก | สี่หมู่ห้าวฮึกแข็งขัน |
ขุนช้างขี่ช้างชาญฉกรรจ์ | กุมขอหยัดยันกรายกร |
ขุนม้าขี่ม้าอาชาชาติ | ร้ายกาจมีเดชดั่งไกรสร |
ถือสายร่ายรำโตมร | ขับจรรวดเร็วดั่งลมกาล |
ขุนรถขี่รถเรือนสุวรรณ | กรกุมเกาทัณฑ์สำแดงหาญ |
ขุนพลตรวจเตรียมพลมาร | เริงร่านฮึกห้าวทุกตน |
ล้วนถือง้าวทวนหอกดาบ | ปืนไฟกำซาบสับสน |
กวัดแกว่งสำแดงฤทธิรน | เกลื่อนกล่นเพียบพื้นพระสุธา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศพักตร์ยักษา |
ครั้นใกล้ศุภฤกษ์เวลา | เสด็จมาโสรจสรงสาคร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ปทุมทองโปรยปรายดั่งสายฝน | ทรงสุคนธารกลิ่นเกสร |
สอดใส่สนับเพลาเชิงงอน | ภูษาลายกินนรกรกราย |
ชายไหวชายแครงเครือขด | เกราะแก้วมรกตฉานฉาย |
ฉลององค์พื้นตองทองพราย | รัดอกกระหนกกลายสังวาลรัตน์ |
ตาบทิศทับทรวงพวงเพชร | ธำมรงค์เรือนเก็จกาบสะบัด |
ทรงมหามงกุฎดอกไม้ทัด | พาหุรัดมรกตกรรเจียกจร |
ยี่สิบหัตถ์จับเทพอาวุธ | ครบเครื่องพิชัยยุทธ์ธนูศร |
ดั่งองค์เวสสุวัณฤทธิรอน | กรายกรมาเกยรัตนา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งให้คำแหงหนุมาน | ยกพลทวยหาญเป็นทัพหน้า |
ออกจากพิชัยลงกา | แล้วองค์อสุราก็ทรงรถ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ กราว
โทน
๏ รถเอยรถแก้ว | กงกำล้วนแล้วด้วยมรกต |
แปรกแอกอ่อนงอนชด | บัลลังก์บดแก้วลายรายกระจัง |
บุษบกเรือนเก็จประกวดภาพ | เสากาบทาบกระจกกระหนกตั้ง |
สี่มุขหุ้มสุวรรณบันบัง | ดูดั่งวิมานในเมืองอินทร์ |
เทียมด้วยสารถีสี่พัน | โลทันมือถือธนูศิลป์ |
สำทับขัดรุดดั่งครุฑบิน | เครื่องสูงบังทินกรพราย |
เสียงฆ้องกลองประโคมก้องกึก | พลศึกดั่งคลื่นไม่ขาดสาย |
โห่สนั่นโบกธงสามชาย | รีบพลนิกายดำเนินไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
เป็นทัพหน้ามาใกล้ที่ชิงชัย | จึ่งคิดได้ด้วยไวปัญญา |
วันนี้กูลวงทศกัณฐ์ | ให้อายแก่เทวัญทุกทิศา |
ทั้งหมู่อสุรโยธา | จงสมน้ำหน้าไอ้อัปรีย์ |
คิดแล้วให้หยุดจตุรงค์ | ลงจากรถแก้วมณีศรี |
ไปยังพญาอสุรี | ในที่ท่ามกลางกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ทูลว่าพระองค์ทรงฤทธิรอน | อย่าเพ่อยกนิกรพลขันธ์ |
จงให้โยธาทั้งนั้น | ตั้งกระบวนทัพมั่นลงไว้ |
ข้าจะอ่านพระเวทวิทยา | กำลังกายาเข้าไปใกล้ |
จับสองมนุษย์วุฒิไกร | มัดมาให้ได้ทั้งสองคน |
แม้นเห็นข้าเหาะขึ้นสามโยชน์ | เดียวโดดอยู่กลางเวหน |
ขอพระบิตุเรศฤทธิรน | จงเร่งรถเร่งพลเข้าไป |
ให้ทันท่วงทีอย่าช้านัก | ลูกจะส่งพระลักษมณ์พระรามให้ |
ฆ่าเสียให้ม้วยบรรลัย | จะเสร็จศึกแต่ในวันนี้ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพณาสูรยักษี |
ไม่รู้ว่ากลก็ยินดี | อสุรีจึ่งตอบวาจา |
เจ้าผู้ปรีชาวราฤทธิ์ | คิดการนี้ชัดหนักหนา |
ตัวพ่อจะตั้งโยธา | คอยดูสัญญาของลูกรัก ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ