- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมาลีวราชเรืองศรี |
ครั้นเห็นบุษบกนางเทวี | จึ่งมีพระราชบัญชา |
สั่งองค์พระวิษณุกรรม์ | อันมีปรีชาแกล้วกล้า |
จงเลื่อนบุษบกนางสีดา | เข้ามาให้ใกล้เรานี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระวิษณุกรรม์เรืองศรี |
ก็เลื่อนบุษบกนางเทวี | เข้าไปตามมีพระโองการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดสงสาร |
จึ่งเปิดม่านทองชัชวาล | เยาวมาลย์บังคมพระอัยกา |
เหลือบแลเห็นองค์พระสามี | ทรงรถมณีอยู่เบื้องขวา |
กราบลงตรงพักตร์พระจักรา | แล้วทรงโศกาจาบัลย์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมาลีวราชรังสรรค์ |
เห็นนางสีดาวิลาวัณย์ | งามดั่งดวงจันทร์ไม่ราคี |
มาตรแม้นถึงองค์พระอุมา | นางสุชาดาโฉมศรี |
นางสุจิตราเทวี | สุนันทานารีอรไท |
ทั้งสุธรรมานงคราญ | จะเปรียบงามเยาวมาลย์ก็ไม่ได้ |
ทั่วสวรรค์ชั้นฟ้าสุราลัย | ไกลกันกับโฉมนางสีดา |
กระนี้แลหรือทศกัณฐ์ | จะไม่ผูกพันเสน่หา |
พาโคตรวงศ์ในลงกา | แสนสุรโยธาวายปราณ |
แต่กูผู้ทรงทศธรรม์ | ยังหวาดหวั่นเคลิ้มไปด้วยสงสาร |
หากมีอุเบกขาญาณ | จึงประหารเสียได้ไม่ไยดี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย
๏ คิดแล้วมีราชบัญชา | ดูก่อนสีดามารศรี |
ตัวเจ้าเป็นราชบุตรี | กษัตริย์ธิบดีกรุงใด |
อันองค์ภัสดาเยาวมาลย์ | ถิ่นฐานบ้านเมืองอยู่ไหน |
จงว่าแต่ตามจริงไป | เหตุใดทศกัณฐ์จึ่งได้มา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดาเสน่หา |
ได้ฟังพระองค์ทรงศักดา | กัลยาสนองพระวาที |
ข้านี้เกิดในปทุมมาลย์ | อันเบิกบานโอภาสเฉลิมศรี |
แทบเนรัญชราวารี | พระชนกมุนีมาเลี้ยงไว้ |
เป็นราชธิดาสุดสวาท | จนข้าบาทค่อยจำเริญใหญ่ |
พระองค์ลาพรตเข้าไป | เสวยมไหสวรรยา |
ยังมิถิลาพระนคร | อันถาวรบรมสุขา |
ให้ตั้งการพิธีโอฬาร์ | ยกมหาธนูโมลี |
กรุงกษัตริย์มาพร้อมประชุมกัน | แน่นนันต์ในพระลานชัยศรี |
ทั้งเทวาอินทราธิบดี | พระมุนีมานั่งเป็นประธาน |
บรรดาท้าวพญาเข้ายกศิลป์ | ของพระปิ่นไกรลาสราชฐาน |
ไม่เคลื่อนคลาดจากอาสน์อลงการ | พระอวตารยกได้ด้วยฤทธา |
องค์ท้าวชนกบิตุเรศ | ทรงเดชแสนโสมนัสสา |
จึ่งทำพิธีการวิวาห์ | เศกข้ากับองค์พระจักรี |
ความนี้ก็แจ้งอยู่ด้วยกัน | ทั้งเทวัญแลท้าวโกสีย์ |
พระรามจึ่งพาข้านี้ | มายังบุรีอยุธยา |
พระองค์รับสัจพระบิตุเรศ | มาทรงเพศผนวชอยู่กลางป่า |
ข้ากับพระลักษมณ์อนุชา | ตามมาปรนนิบัติภูธร |
อยู่ริมโคทาวารี | แทบที่แนวเนินสิงขร |
วันหนึ่งกวางทองพนาดร | บทจรมาใกล้ตำหนักไพร |
ข้าเห็นเป็นน่าชมนัก | ให้มีใจรักจะใคร่ได้ |
จึ่งวอนพระรามให้ตามไป | จับกวางที่ในพนาวัน |
บัดเดี๋ยวได้ยินสำเนียง | เหมือนเสียงภัสดารังสรรค์ |
จึ่งขับให้องค์พระลักษมณ์นั้น | ไปช่วยทรงธรรม์ราวี |
จึ่งทศเศียรขุนยักษ์ | ไปลอบลักข้าพาหนี |
หลานรักได้บอกว่าผัวมี | อสุรีไม่ฟังวาจา |
พบสดายุที่กลางทาง | เข้ากั้นกางชิงชัยกับยักษา |
บอกว่าเป็นเพื่อนพระจักรา | กลับฆ่าปักษีวายปราณ |
แล้วพามาไว้ในสวนขวัญ | รำพันอ้อนวอนด้วยคำหวาน |
หลานไม่นำพาด่าประจาน | ขุนมารกราบไหว้ให้ปรานี |
ข้าไม่ลงใจก็ขึ้งโกรธ | ไปคาดโทษแก่นางยักษี |
มิได้เอาเท็จมาพาที | ทำถึงเพียงนี้พระอัยกา ฯ |
ฯ ๓๒ คำ ฯ เจรจา
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมาลีวราชนาถา |
ได้ฟังเยาวมาลย์ให้การมา | ผ่านฟ้าดำริตริไป |
อันคำนางนี้สุจริต | จะแต้มติดมุสานั้นหาไม่ |
สมคำพระรามที่ถามไว้ | ข้อใดมิได้แปลกกัน |
คิดแล้วจึ่งถามเทวา | บรรดาลงมาแต่สวรรค์ |
ทั้งท้าวตรีเนตรเวสสุวัณ | ผู้ทรงสัจธรรม์ประเสริฐนัก |
อันคำสีดายุพาพาล | คำพระอวตารทรงจักร |
กับคำของท้าวทศพักตร์ | ต่างเยื้องยักว่าประสาใจ |
เทวายังได้รู้เห็น | จะเป็นเท็จจริงอยู่ข้างไหน |
จงว่าแต่สัจตัดตรงไป | อย่าเข้าข้างใครนะเทวัญ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | จึ่งองค์เจ้าตรัยตรึงศ์สวรรค์ |
กับฝูงเทวาทั้งนั้น | พร้อมกันสนองพระวาที |
อันคำให้การพระจักรา | กับนางสีดามารศรี |
ทั้งสองต้องกันไม่ราคี | ว่านี้จริงสิ้นทุกประการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พระปิ่นยอดฟ้ามหาสถาน |
ได้ฟังคำท้าวมัฆวาน | กับเทวัญพยานอ้างนั้น |
สมสิ้นเหมือนคำพระรามา | คำนางสีดาสาวสวรรค์ |
เป็นสัจสุจริตไม่ผิดกัน | ทรงธรรม์จึ่งถามทศพักตร์ |
ดูก่อนนัดดาสุริย์วงศ์ | ผู้ดำรงลงกาอาณาจักร |
อันหมู่เทวาสุรารักษ์ | กับองค์นงลักษณ์นางสีดา |
ให้การสมคำพระรามสิ้น | เห็นเป็นมลทินข้างยักษา |
ตัวเจ้าผู้มีปรีชา | จะว่ากระไรอสุรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยี่สิบกรยักษี |
ขัดสนเป็นพ้นพันทวี | จึ่งพาทีเบี่ยงบิดติดใจ |
อันสีดารับสมอ้างพระราม | ข้อความทั้งนี้หาจริงไม่ |
ครั้นข้าจะทูลภูวไนย | ดั่งแกล้งใส่ไคล้เจรจา |
พระองค์ผู้ทรงปรีชาชาญ | จงส่องญาณโดยธรรมอุเบกขา |
ประเวณีหญิงชายในโลกา | เสน่หาแต่รูปวิไลวรรณ |
พระรามทรงโฉมประโลมลักษณ์ | สีดาหรือจะไม่รักใฝ่ฝัน |
แล้วเป็นมนุษย์เหมือนกัน | ข้าเป็นกุมภัณฑ์ไม่ชอบใจ |
นางจึ่งไปเข้าด้วยพระราม | กลับความที่จริงนั้นเสียได้ |
วันเมื่อข้าพบอรไท | ว่าลูกผัวหาไม่จึงพามา |
แต่สองต่อสองกับนาง | จะรู้ที่อ้างใครในป่า |
อันท้าวโกสีย์แลเทวา | บรรดาที่มาเป็นพยาน |
โกรธาว่าอินทรชิตสุริย์วงศ์ | ขึ้นไปรณรงค์หักหาญ |
มีพยาบาทข้ามาช้านาน | หลานติดใจอยู่พระภูมี ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ เจรจา
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมาลีวราชเรืองศรี |
ได้ฟังคำค้านอสุรี | ทั้งติดใจเทวีสีดา |
พระองค์จึ่งมีบัญชาซัก | ดูก่อนทศพักตร์ยักษา |
อันคำขององค์พระรามา | กัลยาได้ยินหรือว่าไร |
เมื่อยักษาวานรกำกับกัน | หรือคนธรรพ์นั้นบอกหรือไฉน |
หรือว่าอินทราสุราลัย | คือใครไปบอกให้ว่ามา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษา |
จึ่งแก้ไขด้วยไวปัญญา | จะรู้ว่าใครบอกก็ยากนัก |
อันฝูงเทวาสุราฤทธิ์ | เป็นพวกผิดกับข้าทั้งไตรจักร |
หลานนี้ไม่มีใครรัก | ด้วยหมู่ยักษ์ไปเที่ยวโจมตี |
อันซึ่งพระรามฤทธิรงค์ | มาเคี่ยวฆ่าวงศ์ยักษี |
เทวาชื่นชมยินดี | จึ่งมีใจรักทั้งแดนไตร |
แต่องค์เทเวศมัฆวาน | ยังเอารถวิมานลงมาให้ |
ทั้งพระมาตุลีก็เป็นใจ | ไปขับรถชัยพระรามา |
อันฝูงเทวาสุรารักษ์ | สมัครเป็นพยานอาสา |
ไปเข้าดลใจนางสีดา | ให้ว่าสมคำไปทั้งนี้ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมาลีวราชเรืองศรี |
ได้ฟังคั่งแค้นแสนทวี | ดั่งหนึ่งเอาตรีมาเสียบกรรณ |
จึ่งว่าเป็นไฉนทศพักตร์ | มาฮึกฮักดื้อดึงด้วยโมหันธ์ |
มาติดใจฝูงเทพเทวัญ | ผูกพันว่านี้ก็ผิดไป |
ทำไมกับท้าวโกสีย์ | รถของเขามีเขาก็ให้ |
ว่าเลือกรักมักชังด้วยอันใด | แล้วติดใจคนกลางนางสีดา |
ครั้นซักไซ้ไถ่ถามเอาความจริง | หรือกลับติงทุเลาต่อว่า |
ตัวกูผู้เป็นอัยกา | พิพากษาลำเอียงหรือว่าไร |
เจรจาความสัจไม่มี | ดั่งสตรีเด็กน้อยก็ไม่ได้ |
หรือว่าเทวาสุราลัย | พอใจไปจตุราบาย |
กูพิจารณาก็ได้ความ | คำพระรามสีดาทั้งสองฝ่าย |
ต้องถูกผูกพันเป็นต้นปลาย | ทั้งคำเทพทั้งหลายก็สมกัน |
ซึ่งเอ็งกล่าวหาทุกข้อ | ล้วนแกล้งติดต่อให้เหมาะมั่น |
สืบสวนก็ไม่เป็นสัจธรรม์ | สารพันทรลักษณ์อัปรีย์ |
เห็นจริงว่าตัวบังอาจ | ไปลอบลักอัครราชมเหสี |
ขององค์พระรามจักรี | อสุรีเร่งส่งนางสีดา ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยี่สิบกรยักษา |
ได้ฟังสมเด็จพระอัยกา | ให้ส่งสีดายุพาพาล |
ความแค้นเป็นแสนสุดคิด | ดังปืนพิษร้อยเล่มมาสังหาร |
ขืนใจประณตบทมาลย์ | ขอประทานจงได้เมตตา |
อันสีดาเจรจาไม่มีจริง | ดูดังเป็นหญิงแพศยา |
แกล้งให้ผิดกับพระรามา | พระอัยกาก็เห็นว่าเป็นดี |
อันซึ่งจะส่งนางไป | ให้แก่พระรามเรืองศรี |
ข้อนี้อัปยศพันทวี | ตรีโลกจะเย้ยไยไพ |
ว่าแพ้มนุษย์กับวานร | รบรอต่อกรเขาไม่ได้ |
จะรู้ที่เอาหน้าไว้แห่งใด | อายใจเป็นพ้นคณนา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมาลีวราชนาถา |
ได้ฟังทศกัณฐ์เจรจา | ยิ่งเคืองขัดอุราพระทรงฤทธิ์ |
นิ่งนึกตรึกไปช้านาน | แล้วมีโองการประกาศิต |
เอ็งไม่อยู่ในทศพิธ | จึ่งแกล้งเบือนบิดเอาแต่ใจ |
อันจะส่งสีดาบัดนี้ | ยักษีส่งเองหรือไฉน |
กูว่าต่อหน้าสุราลัย | คือใครจะล่วงนินทา |
หากแกล้งเจรจาเยื้องยัก | ฝืนพักตร์เคลือบแฝงแต่งว่า |
ดูดั่งทรลักษณ์พาลา | ใครจะนับหน้าว่าตัวดี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศพักตร์ยักษี |
ฟังพระอัยกาพาที | ดังหนึ่งอัคคีมาจ่อใจ |
ให้คั่งแค้นแน่นอกด้วยความโกรธ | จะออกโอษฐ์เจรจามิใคร่ได้ |
นิ่งอยู่เป็นครู่แล้วทูลไป | ซึ่งจะให้ส่งนางสีดา |
เมื่อหมู่สุริย์วงศ์มิตรสหาย | พระรามฆ่าตายเสียหนักหนา |
ถึงให้ไปก็ใช่ญาติกา | จะคืนเป็นมาเมื่อไรมี |
ตัวหลานก็นับว่าเลิศชาย | สู้ตายไม่ส่งนางโฉมศรี |
จะขอเคี่ยวฆ่าราวี | ใครดีก็จะได้เห็นกัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมาลีวราชรังสรรค์ |
ได้ฟังทศเศียรกุมภัณฑ์ | ดึงดันองอาจอหังการ |
พระพิโรธโกรธกริ้วกระทืบบาท | เปล่งซึ่งสีหนาทบรรหาร |
เหวยไอ้ทรชนคนพาล | มึงมาหน้าด้านเจรจา |
เสียแรงเป็นวงศ์พรหเมศ | ลือเดชทั่วทศทิศา |
สมบัติพัสถานโอฬาร์ | ควรหรือยังว่าไม่รักยศ |
จะว่าให้ดีสิไม่ฟัง | โอหังหยาบช้าสาหส |
พาไอ้จังไรใจคด | เอาแต่ทรยศมาใส่ตัว |
ความเจ็บความอายก็หาไม่ | กราบไหว้สตรีท่วมหัว |
ลุแก่โลภหลงเมามัว | ถือเอาที่ชั่วว่าเป็นดี |
เมื่อมึงพอใจทรลักษณ์ | ไม่รักสุริย์วงศ์ยักษี |
ขอให้วิบัติอัปรีย์ | อย่ามีสิ่งซึ่งสถาวร |
มาตรแม้นจะออกต่อยุทธ์ | ให้ตายด้วยอาวุธแสงศร |
ขององค์พระรามสี่กร | พ่ายแพ้ฤทธิรอนทุกวันไป |
ว่าแล้วสั่งวิษณุกรรม์ | อันมีปัญญาอัชฌาสัย |
จงพาสีดาอรไท | คืนไปยังสวนมาลี ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | สุครีพหนุมานกระบี่ศรี |
ชมพูพานองคตผู้ฤทธี | ทั้งเสนีสิบแปดมงกุฎนั้น |
ได้ยินทศพักตร์ขุนมาร | อหังการดื้อดึงโมหันธ์ |
ต่างตนกริ้วโกรธขบฟัน | มือคันเงือดเงื้อสาตรา |
บ้างว่าจะตัดเศียรประจาน | บ้างทะยานจะเข้าเข่นฆ่า |
บ้างว่าจะผ่าอุรา | บ้างจะสับกายาให้กากิน |
บ้างว่าจะบั่นกรรอนหัตถ์ | บ้างจะตัดจมูกหูเสียให้สิ้น |
บ้างจะผ่าปากลากลิ้น | จงสาใจอสุรินทร์อัปรีย์ |
บ้างว่าอันองค์พระอัคเรศ | บรรดาเทเวศทุกราศี |
จะให้กลับคืนไปไยมี | เชิญเสด็จเทวีไปพลับพลา |
บรรดาวานรทั้งนั้น | ลุกขึ้นพร้อมกันถ้วนหน้า |
อื้ออึงทั้งทัพที่ยกมา | กวัดแกว่งสาตราดั่งไฟกาล ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เจรจา
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พระจักรกฤษณ์ลือฤทธิ์ทุกทิศาน |
เห็นพวกพลไกรชัยชาญ | ฮึกหาญขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน |
จึ่งมีมธุรสวาจา | แก่พระอนุชารังสรรค์ |
เจ้าผู้ร่วมชีพชีวัน | อันหมู่พลขันธ์ของเรานี้ |
ต่างโกรธโลดโผนโจนทะยาน | จะเข้าสังหารยักษี |
ดั่งไกรสรเห็นมฤคี | มีแต่จะแผดเอาชีวา |
ครั้นจะมิห้ามก็ไม่ได้ | ที่ไหนจะละยักษา |
ตรัสแล้วจึ่งมีบัญชา | ดูก่อนโยธาพลไกร |
อย่าทำแก่ท้าวทศกัณฐ์ | พระอัยกาทรงธรรม์จะติได้ |
ไม่ช้าอสุราจะบรรลัย | จะไปไหนพ้นมือมี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดามารศรี |
ฟังพระอัยกาธิบดี | ภูมีสั่งวิษณุกรรม์ |
ให้พาองค์นางนงลักษณ์ | คืนยังตำหนักสวนขวัญ |
แสนทุกข์แสนเทวษจาบัลย์ | ด้วยจะไกลทรงธรรม์ภัสดา |
เหลือบดูองค์พระทรงเดช | อัคเรศเศร้าโทมนัสสา |
พิศพักตร์พระลักษมณ์อนุชา | ชลนาคลอเนตรอรไท |
จึ่งน้อมเศียรเกล้าบังคมบาท | พระอัยกาธิราชผู้ใหญ่ |
ลาทั้งพระตรีภูวไนย | ทรามวัยสะอื้นโศกี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | พระวิษณุกรรม์เรืองศรี |
จึ่งนำบุษบกนางเทวี | คืนมายังที่อุทยาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพณาสูรใจหาญ |
เจ็บคำอัยกาด่าประจาน | พญามารดาลเดือดดั่งอัคคี |
ยิ่งคิดยิ่งแค้นแน่นใจ | ให้มุ่นหมกในทรวงยักษี |
ดูดู๋องค์ท้าวมาลี | ดีแล้วจะได้เห็นกัน |
แม้นว่าตายแล้วก็แล้วไป | ถ้าชีวิตยังไม่อาสัญ |
กูจะยกจตุรงค์กุมภัณฑ์ | ไปล้างชีวันให้มรณา |
คิดแล้วจึ่งมีพจนารถ | ให้โลทันกลับราชรัถา |
มิได้บังคมพระอัยกา | อสุราคืนเข้ายังบุรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมาลีวราชเรืองศรี |
ครั้นทศกัณฐ์กลับไปธานี | จึ่งมีวาจาอันสุนทร |
ดูก่อนพระรามพระลักษมณ์ | เจ้าผู้สิทธิศักดิ์ด้วยแสงศร |
พ่อจงศรีสวัสดิ์สถาวร | ให้ขจรเดชาทั้งแดนไตร |
อันทศพักตร์อาธรรม์ | อย่าให้มันต่อฤทธิ์เจ้าได้ |
บรรดาพวกพาลที่จองภัย | จงอยู่ในใต้เบื้องบทมาลย์ |
อันตัวอัยกาจะลาเจ้า | ไปเขายอดฟ้าราชฐาน |
ว่าแล้วเลิกหมู่บริวาร | เหาะทะยานไปโดยเมฆา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกนาถา |
ครั้นองค์สมเด็จพระอัยกา | คืนไปยอดฟ้าศิวาลัย |
จึ่งให้เลิกพวกพลากร | เสนาวานรน้อยใหญ่ |
ออกจากสมรภูมิชัย | คืนไปพลับพลารูจี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
ครั้นถึงนิเวศน์อสุรี | ก็เสด็จเข้าที่ไสยา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ช้า
๏ ลดองค์ลงเหนือบรรจถรณ์ | พระกรก่ายพักตร์ยักษา |
ให้คั่งแค้นแน่นในอุรา | กายาร้อนรุ่มดังสุมไฟ |
คิดอายเทวาสุรารักษ์ | พญายักษ์ทอดถอนใจใหญ่ |
อกเอ๋ยครั้งนี้ไม่เห็นใคร | จะเป็นที่พึ่งได้ก็ไม่มี |
หมายองค์พระอัยกาเล่า | ก็กลับเข้าด้วยมนุษย์ทั้งสองศรี |
แต่ผุดลุกผุดนั่งไม่สมประดี | ในที่สิริไสยา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ ตระ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | นางมณโฑเยาวยอดเสน่หา |
แจ้งว่าสมเด็จพระภัสดา | ไปหาอัยกาทรงธรรม์ |
กลับมามิได้สรงเสวย | ชมเชยฝูงนางสาวสวรรค์ |
วิปริตผิดไปกว่าทุกวัน | กัลยาก็รีบเสด็จจร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงแท่นที่ไสยาสน์ | อันโอภาสจำรัสประภัสสร |
นั่งลงแทบบาทพระภูธร | บังอรนบนิ้วอัญชุลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวสิบพักตร์ยักษี |
เห็นเมียรักร่วมชีวี | มาเฝ้ายังที่ไสยา |
ลุกขึ้นแล้วกล่าวสุนทร | ดูก่อนเยาวยอดเสน่หา |
ความแค้นพี่พ้นคณนา | ด้วยองค์อัยกาทรงญาณ |
เชิญมาหวังว่าจะช่วยร้อน | ภูธรไม่คิดว่าเป็นหลาน |
เห็นผู้อื่นดีกว่าวงศ์วาน | ผ่านฟ้ามิได้ปรานี |
เธอมาพิพากษาขาดไป | จะให้ส่งสีดามารศรี |
ครั้นไม่ทำตามวาที | ภูมีขัดเคืองวิญญาณ์ |
แสร้งด่าหยาบช้าสาหัส | สารพัดประจานไม่คิดหน้า |
อายแก่ฝูงเทพเทวา | ทั้งหมู่สวาวานร |
อัปยศครั้งนี้เป็นพ้นคิด | เจ็บจิตดั่งหนึ่งต้องศร |
สุดปัญญาแล้วนะบังอร | ดวงสมรจะคิดฉันใดดี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางมณโฑมเหสี |
ฟังพระภัสดาพาที | เทวีตะลึงทั้งกายา |
ดั่งหนึ่งพญามัจจุราช | มาพิฆาตให้สิ้นสังขาร์ |
จึ่งนบนิ้วสนองพระบัญชา | จงฟังเมียว่าอย่าเสียใจ |
ระงับพระทัยไว้ก่อน | เอาปัญญาผันผ่อนแก้ไข |
พระองค์ก็ทรงฤทธิไกร | ปราบได้ทั่วทั้งธาตรี |
ท่านไม่นับว่าเป็นหลาน | จะเดือดร้อนรำคาญก็ใช่ที่ |
จงคิดอ่านในการจะราวี | ให้มีชัยแก่พวกพาลา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพณาสูรยักษา |
ได้ฟังดั่งอมฤตฟ้า | มาโสรจสรงกายากุมภัณฑ์ |
จึ่งคิดขึ้นได้ว่าพระเวท | ขององค์บิตุเรศรังสรรค์ |
กับหอกกบิลพัทคู่กัน | พระอิศวรทรงธรรม์ประสาทไว้ |
สำหรับปราบหมู่ปัจจามิตร | ทั่วทั้งทศทิศไม่ต่อได้ |
ประเสริฐกว่าอาวุธทั้งแดนไตร | อาจให้มีชัยแก่ไพรี |
พญามารชื่นชมโสมนัส | จึ่งตรัสบอกอัคเรศมเหสี |
พระเวทสิ่งหนึ่งของเรามี | พี่คิดได้แล้วกัลยา |
จะไปตั้งพิธีกลาเพลิง | ใกล้เชิงพระเมรุภูผา |
ที่หาดทรายกรดรจนา | บูชากบิลพัทหอกชัย |
จะมีศักดาอานุภาพ | ปราบทั้งไตรจักรก็ปราบได้ |
สาอะไรมนุษย์กับลิงไพร | ทีนี้จะบรรลัยดั่งใจคิด |
ถึงพระอัยกาธิบดี | ที่มีปรีชาวาจาสิทธิ์ |
จะสังหารให้สิ้นชีวิต | ด้วยฤทธิ์หอกแก้วอันศักดา |
ทั้งหมู่เทเวศมัฆวาน | ซึ่งไปเป็นพยานพร้อมหน้า |
พี่จะปั้นรูปเข้าบูชา | ในกองกูณฑ์มหาพิธี |
แม้นถ้วนสามวันโดยกำหนด | จะตายหมดทั้งท้าวโกสีย์ |
ไม่พักเข่นฆ่าราวี | ครั้งนี้จะได้เห็นกัน |
ว่าพลางทางแสนโสมนัส | ยี่สิบหัตถ์ตบหัตถ์สรวลสันต์ |
จนรุ่งแสงสีรวีวรรณ | กุมภัณฑ์ออกท้องพระโรงชัย ฯ |
ฯ ๒๐ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์อาสน์ | พร้อมเสนามาตย์น้อยใหญ่ |
หมอบเฝ้าเกลื่อนกลาดดาษไป | ดั่งดาวล้อมแขไขในเมฆา |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | สั่งมโหทรมารยักษา |
ตัวท่านจงคุมโยธา | ไปมหาพระเมรุบรรพต |
ตั้งโรงพิธีอลงกรณ์ | ริมสาครเนินหาดทรายกรด |
สามสิบเก้าห้องเป็นหลั่นลด | รจนาด้วยแดงโมรี |
แล้วให้ตั้งเครี่องมัสการ | สุมามาลย์ล้วนแดงจำรัสศรี |
เจ็ดสิ่งเลือกสรรแต่อย่างดี | บัตรพลีธูปเทียนชวาลา |
ทั้งแก้วเจ็ดประการโอภาส | ดินแดงอันสะอาดเจ็ดท่า |
ให้หาครบเสร็จตามตำรา | จะปั้นรูปเทวาบูชาไฟ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มโหทรเสนาผู้ใหญ่ |
รับสั่งพระองค์ทรงภพไตร | บังคมไหว้แล้วรีบออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ปฐม
๏ จึ่งกะเกณฑ์เจ้าพนักงาน | ฝ่ายทหารพลเรือนซ้ายขวา |
พร้อมตามพระบัญชา | เสร็จแล้วก็พากันรีบจร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงพระเมรุบรรพต | ที่หาดทรายกรดเชิงสิงขร |
ตรงลงยังพื้นดินดอน | แทบฝั่งสาครสมุทรไท ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
ชมตลาด
๏ จึ่งให้ปลูกโรงพิธี | กว้างขวางยาวรีสูงใหญ่ |
สามสิบเก้าห้องอำไพ | ดาษไปด้วยแดงรจนา |
ดาดเพดานห้อยอัจกลับ | สลับพวงพู่กลิ่นบุปผา |
ตั้งทั้งบัลลังก์อลงการ์ | ปักมหาเศวตฉัตรพรายพรรณ |
ชั้นนอกนั้นรายราชวัติ | ทิวธงแถวฉัตรสลับคั่น |
ผูกทั้งม่านแดงเครือสุวรรณ | พื้นนั้นโปรยปรายด้วยทรายทอง |
ตั้งเครื่องสักการบูชา | บุปผาธูปเทียนเป็นทิวท่อง |
ประทีปชวาลาเรืองรอง | เสร็จต้องตามสั่งทุกประการ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยี่สิบกรใจหาญ |
จึ่งสั่งเสนาปรีชาชาญ | ให้เตรียมพลมารโยธี |
เลือกสรรแต่ล้วนฤทธิรุทร | ให้ได้สิบสมุทรยักษี |
กูจะไปพระเมรุคีรี | ยังที่หาดกรดรจนา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึ่งเปาวนาสูรยักษา |
รับสั่งถวายบังคมลา | ออกมาจากท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ปฐม
ยานี
๏ จัดหมู่ทหารชำนาญศึก | หกเหล่าห้าวฮึกแข็งขัน |
กองหน้าใส่เสื้อสีจันทร์ | ถือหอกยืนยันกระหยับแทง |
ถัดมาใส่เสื้อพื้นตอง | มือถือทวนทองกวัดแกว่ง |
ถัดมาถือปืนรางแดง | ใส่เสื้อเครือแย่งพื้นดำ |
กองขวาใส่เสื้อเขียวขาบ | สองมือถือดาบด้ามคร่ำ |
กองซ้ายใส่เสื้อดอกคำ | ถือง้าวกรายรำทุกคน |
กองหลังถือสรรพาอาวุธ | กวัดแกว่งอุตลุดกุลาหล |
หกกองครบสิบสมุทรพล | เกลื่อนกล่นเอิกเกริกเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพณาสูรยักษา |
ครั้นเสร็จซึ่งจัดโยธา | เสด็จมาโสรจสรงวาริน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ชำระสระสนานสำราญองค์ | ทรงสุคนธ์หอมฟุ้งจรุงกลิ่น |
ภูษาลายรูปนาคิน | สนับเพลาโกมินเชิงงอน |
ชายแครงชายไหวปลายสะบัด | ฉลององค์เกราะรัตน์ประภัสสร |
รัดอกกระหนกกาบเป็นมังกร | ตาบทิศอรชรสังวาลวัลย์ |
ทับทรวงมรกตข่ายครุฑ | ทองกรประดับบุษย์ทับทิมคั่น |
พาหุรัดเป็นรูปนาคพัน | ธำมรงค์เรือนสุบรรณอลงการ |
ทรงมหามงกุฎประดับเพชร | กุณฑลเก็จจอนแก้วมุกดาหาร |
จับหอกกบิลพัทชัชวาล | มาขึ้นรถสุรกานต์อันรูจี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ รถเอยรถทรง | กำกงแก้วประดับสลับสี |
แอกงอนล้วนแล้วด้วยมณี | มุขศรีทรงแม้นวิมานฟ้า |
ห้ายอดแวววับประดับพลอย | สุกย้อยสูงเยี่ยมเวหา |
เทียมด้วยราชสีห์อันศักดา | เผ่นพามาทางอัมพร |
เครื่องสูงบังสูรย์มยุรฉัตร | กรรชิงรัตน์แลเลื่อมประภัสสร |
มี่ฆ้องกลองแห่แตรงอน | พลากรเกลื่อนกลาดโพยมบน |
เสียงรถเสียงทศทวยหาญ | โห่สะท้านดินฟ้ากุลาหล |
ข้ามมหาสมุทรชะเลวน | รีบพลไปโดยเมฆา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงพระเมรุบรรพต | ขับรถลงจากพระเวหา |
ประทับหมู่อสูรโยธา | แทบท่าสมุทรชลธาร |
แล้วมีบัญชาสีหนาท | ประกาศกำชับทวยหาญ |
จงตั้งกองป้องกันภัยพาล | อย่าให้เหตุการณ์บังเกิดมี |
ตรัสแล้วจึ่งเปลื้องเครื่องทรง | จากองค์พญายักษี |
เสด็จจากรถรัตน์มณี | จรลีลงสรงสาคร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ชำระกายให้หมดมลทิน | สุคนธาธารกลิ่นเกสร |
ทรงภูษาแดงอรชร | แสงดั่งทินกรอโณทัย |
เจิมจุณมุ่นเกล้าเมาลี | งามดั่งโยคีอาจารย์ใหญ่ |
โพกสีทับทิมอำไพ | ทรงสไบบังเฉียงชมพูพราย |
สอดใส่ประคำปัทมราช | สวมธุหร่ำโอภาสสามสาย |
จับหอกกบิลพัทกรีดกราย | บ่ายหน้าเข้าโรงพิธี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
ชมตลาด
๏ ขึ้นนั่งเหนือบัลลังก์รัตน์ | ภายใต้เศวตฉัตรเฉลิมศรี |
จึ่งบูชาธูปเทียนมาลี | ทั้งมณีเจ็ดประการอำไพ |
แล้วเอาดินเจ็ดท่าประสมกัน | ปั้นรูปเทวัญน้อยใหญ่ |
ทั้งหกห้องฟ้าสุราลัย | บรรดาที่ไปเป็นพยาน |
เสร็จแล้วจึ่งโหมอัคคี | กลางโรงพิธีไพศาล |
ยอกรถวายมัสการ | โอมอ่านพระเวทวิทยา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ ตระ
๏ ครั้นถ้วนคำรบครบพัน | เพลิงนั้นเริงแรงแสงกล้า |
จึ่งหยิบเอารูปเทวา | โยนเข้ากลาอัคคี |
แผ่นดินสองแสนสี่หมื่นโยชน์ | ก็อุโฆษกึกก้องสนั่นมี่ |
เป็นระลอกกระฉอกชลธี | อสุรีซ้ำร่ายพระเวทไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ สาธุการ
๏ เดชะพระมนต์อันเชี่ยวชาญ | ของพระทรงญาณประสาทให้ |
บันดาลร้อนถึงเทพไท | ดั่งหนึ่งต้องไฟบรรลัยกัลป์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
ยานี
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายองค์เจ้าตรัยตรึงศ์สวรรค์ |
กับทั้งฝูงเทพเทวัญ | ทุกชั้นร้อนรนสกนธ์กาย |
ดั่งอัคนิรุทรมาจุดจี่ | แสนเทวษแสนทวีไม่รู้หาย |
แต่ผุดลุกผุดนั่งวุ่นวาย | ไม่มีความสบายเท่ายองใย |
โกสีย์จึ่งเล็งทิพเนตร | ทั่วทุกประเทศน้อยใหญ่ |
เห็นทศกัณฐ์ตั้งกลาไฟ | ใกล้เชิงพระเมรุบรรพต |
ปั้นรูปเทวาบูชากูณฑ์ | ขุนยักษ์จักฆ่าเสียให้หมด |
จึ่งพาเทวัญอันมียศ | บทจรไปเฝ้าพระศุลี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ โคมเวียน
ร่าย
๏ ครั้นถึงจึ่งประณตบทบาท | พระสยมภูวนาถเรืองศรี |
ทูลว่าทศเศียรอสุรี | บัดนี้ไปตั้งพิธีกรรม์ |
ชุบกบิลพัทให้เรืองเดช | ปั้นรูปเทเวศในสวรรค์ |
ทิ้งลงในกลางอัคคีนั้น | จะฆ่าชีวันให้บรรลัย |
อันการครั้งนี้ใหญ่นัก | ไม่เห็นใครจะหักหาญได้ |
แม้นช้าวิทยาจะกล้าไป | ฝูงเทพไทจะวายปราณ |
อสุรียิ่งจะกำเริบฤทธิ์ | ทุจริตหยาบช้ากล้าหาญ |
พระองค์ผู้ทรงปรีชาชาญ | ขอประทานจงได้เมตตา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระทรงภพลบโลกนาถา |
แจ้งว่าทศเศียรอสุรา | ไปตั้งวิทยากลาไฟ |
จึ่งมีเทวราชบรรหาร | แก่มัฆวานเทวาน้อยใหญ่ |
อันหอกกบิลพัทเรืองชัย | เราให้ลัสเตียนขุนยักษ์ |
อานุภาพหอกแก้วเล่มนี้ | อาจผลาญไพรีทั้งไตรจักร |
บัดนี้อสุรีทศพักตร์ | ลูกรักนั้นได้สืบมา |
ว่าแล้วจึ่งมีประกาศิต | สั่งจิตุบทฤทธิ์กล้า |
จงไปหาพาลีเทวา | ให้มาไกรลาสคีรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จิตุบทเทวัญเรืองศรี |
รับสั่งถวายอัญชุลี | สำแดงฤทธีแล้วเหาะไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงยามาเทวสถาน | แสนสนุกโอฬารกว้างใหญ่ |
ตรงเข้ายังที่วิมานชัย | เทพไทพาลีผู้ศักดา |
แจ้งว่าพระสยมภูวนาถ | มีเทวราชให้หา |
จงไปเฝ้าเบื้องบาทา | องค์พระอิศราธิบดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พาลีเทพบุตรเรืองศรี |
แจ้งว่าองค์พระศุลี | มีพระบัญชาให้หาไป |
ก็แต่งองค์ทรงเครื่องอลงการ | พร้อมด้วยบริวารน้อยใหญ่ |
ออกจากวิมานอำไพ | สำแดงฤทธิไกรเหาะมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรอภิวาท | พระสยมภูวนาถนาถา |
ท่ามกลางฝูงเทพเทวา | ซึ่งมาประชุมพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระอิศวรบรมรังสรรค์ |
ครั้นเห็นพาลีเทวัญ | ทรงธรรม์จึ่งมีพจมาน |
ดูก่อนท่านผู้ศักดา | อันมีปรีชากล้าหาญ |
บัดนี้ทศเศียรใจพาล | ตั้งพิธีการกลาไฟ |
ชุบหอกยังหาดทรายกรด | เชิงพระเมรุบรรพตเขาใหญ่ |
ปั้นรูปเทวาสุราลัย | โยนเข้าในกองอัคคี |
แม้นถ้วนสามวันโดยกำหนด | เทวาจะตายหมดทุกราศี |
อันหอกกบิลพัทอสุรี | จะเรืองฤทธีมหึมา |
ฝ่ายองค์พระลักษมณ์พระราม | จะสงครามด้วยยากหนักหนา |
ตัวท่านผู้มีเดชา | จงพาบริวารลงไป |
ช่วยกันทำลายพิธี | ของอสุรีเสียให้ได้ |
อันหมู่เทวาสุราลัย | จะพ้นภัยเป็นสุขสถาวร ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พาลีเทพบุตรชาญสมร |
รับเทวบัญชาอันสุนทร | ประนมกรสนองพระวาที |
ซึ่งพระองค์จะให้ข้าลงไป | ล้างพิธีใหญ่ของยักษี |
จะขออาสาในครานี้ | มิให้เคืองธุลีบาทา |
ทูลแล้วถวายบังคม | พระอิศวรบรมนาถา |
จึ่งนิมิตบิดเบือนกายา | กับฝูงเทวาพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ ตระ
๏ บัดเดี๋ยวกลับเป็นพาลี | ทำทีกวัดแกว่งพระแสงขรรค์ |
อันเทพบริวารทั้งนั้น | เป็นวานรถือสรรพ์อาวุธ |
แต่ละตนล้วนมีฤทธิรอน | แน่นนับซับซ้อนอึงอุด |
ดั่งพลสมเด็จพระทรงครุฑ | เมื่อข้ามสมุทรไปลงกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสยมภูวนาถนาถา |
เห็นเป็นพาลีผู้ศักดา | โยธาแต่ล้วนวานร |
สำแดงแผลงฤทธิ์อำนาจ | หวั่นไหวไกรลาสสิงขร |
จึ่งตรัสอำนวยอวยพร | จงถาวรจำเริญสวัสดี |
อันกบิลพัทหอกชัย | ที่เราให้ไปแก่ยักษี |
อย่าได้ต้องพานอินทรีย์ | ทั้งหมู่กระบี่เทวา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | เทพบุตรพาลีใจกล้า |
ก้มเกล้ารับพรพระอิศรา | ถวายบังคมลาพร้อมกัน |
ต่างตนแผลงฤทธิ์อำนาจ | ไกรลาสสะเทือนเลื่อนลั่น |
พาฝูงโยธาเทวัญ | ทั้งนั้นระเห็จเหาะไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงพระเมรุบรรพต | ที่หาดทรายกรดเนินใหญ่ |
เห็นโรงพิธีอำไพ | ก็ลงในพ่างพื้นสุธาธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นแล้วสำแดงแผลงฤทธิ์ | ให้มืดมิดไปทั่วทุกสถาน |
ก็พาฝูงเทพบริวาร | ทะยานเข้าหักเอาคีรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เสียงสนั่นครั่นครื้นทั้งอากาศ | วิมานมาศสะเทือนทุกราศี |
ทิ้งลงกลางโรงพิธี | แล้วเข้ารุมตีอสุรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพวกทหารยักษา |
ล้มตายเกลื่อนกลาดดาษดา | ตกประหม่าวิ่งแยกแตกกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยี่สิบกรรังสรรค์ |
ได้ยินสำเนียงนี่นัน | กุมภัณฑ์ลืมเนตรแลไป |
เห็นพญาพาลีฤทธิรอน | กับฝูงวานรน้อยใหญ่ |
ให้คิดฉงนสนเท่ห์ใจ | ไฉนจึ่งเป็นดั่งนี้ |
ไอ้นี่สิสิ้นชีวิต | ด้วยศรสิทธิ์พระรามเรืองศรี |
เหตุใดจึ่งคืนชีวี | กลับมาต่อตีประหลาดนัก |
ชะรอยพิเภกมันบอกการ | ให้ไอ้หนุมานอัปลักษณ์ |
แปลงเป็นพาลีทรลักษณ์ | มาหักพิธีกาลา |
กูจะผลาญเสียด้วยฤทธิ์ | ไม่ไว้ชีวิตไอ้ลิงป่า |
คิดแล้วเผ่นโผนโจนมา | พญามารแกว่งหอกเข้าราวี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พาลีเทวัญเรืองศรี |
หลบหลีกว่องไวในที | ทะยานเข้าต่อตีกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เท้าซ้ายเหยียบเข่าอสุรา | เท้าขวานั้นแกว่งพระแสงขรรค์ |
ปัดกบิลพัทพัลวัน | ฟันถูกทศกัณฐ์ขุนมาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ใจหาญ |
ต้องเทพอาวุธชัยชาญ | เจ็บปานชีวันจะบรรลัย |
ทั้งกำลังก็น้อยถอยลง | จะยืนตรงต่อตีมิใคร่ได้ |
สุดฤทธิ์สุดคิดจะชิงชัย | ก็หนีไปลงกาธานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พาลีเทพบุตรเรืองศรี |
กับพวกบริวารโยธี | เข้าดับอัคคีกาลา |
บ้างแย่งบ้างรดด้วยวาริน | สิ้นเปลวเริงแรงแสงกล้า |
ก็หยิบเอารูปเทวา | มาทิ้งลงในสีทันดร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นเสร็จสิ้นล้างพิธี | อสุรีทศกัณฐ์ชาญสมร |
ก็กลับเพศจากวานร | เขจรไปเฝ้าพระทรงญาณ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด