- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงพิราพขุนมารหาญกล้า |
อยู่เชิงอัศกรรณบรรพตา | มีอานุภาพเป็นพ้นนัก |
เมื่อจะแผลงฤทธิ์อำนาจ | หวาดไหวดินฟ้าอาณาจักร |
นักสิทธ์วิทยาสุรารักษ์ | กลัวเดชขุนยักษ์ทั้งธาตรี |
พระอิศวรเอากำลังสมุทรไท | ทั้งพระเพลิงแบ่งให้ยักษี |
แล้วประทานบริเวณพนาลี | อสุรีสร้างสระอุทยาน |
ต่อสิงสัตว์ล่วงลัดเข้าในถิ่น | จึ่งให้จับกินเป็นอาหาร |
นอกนั้นไม่ทำสาธารณ์ | ขุนมารกลัวเจ้าภพไตร |
ได้ต้นชมพู่พะวาทอง | เป็นของต้องอัธยาศัย |
แบกด้วยกำลังว่องไว | ตรงไปยังสวนมาลี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ รำพันพิราพ
๏ ครั้นถึงจึ่งเรียกกุมภัณฑ์ | บรรดาซึ่งเฝ้าสวนศรี |
กูได้ต้นไม้ประหลาดดี | ผลนั้นมีรสโอชา |
ชื่อว่าชมพู่พะวาทอง | เป็นของวิเศษหนักหนา |
ตัวกูอุตส่าห์เอามา | หวังว่าจะปลูกลงไว้ |
จะได้เป็นภักษ์ผลพืชพันธุ์ | จงช่วยกันขุดหลุมให้กว้างใหญ่ |
ที่ริมขอบสระชลาลัย | อย่าช้าแต่ในบัดเดี๋ยวนี้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งหมู่อสุรศักดิ์ยักษี |
เห็นต้นพฤกษางามดี | ต่างดูอึงมี่ด้วยปรีดา |
ลางมารก็ว่าไม่รู้จัก | ประหลาดนักกว่าไม้ที่ในป่า |
ชมแล้วก็ชวนกันออกมา | อสุราขุดหลุมวุ่นไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พิราพผู้เป็นนายใหญ่ |
เห็นหลุมสำเร็จดั่งใจ | ก็ปลูกต้นไม้ลงทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ปลูกต้นไม้
๏ ครั้นแล้วสำเร็จเสร็จการ | จึ่งบรรหารสั่งหมู่ยักษี |
เอ็งจงไปตักเอาวารี | มารดที่ชมพู่พะวา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่อสุรศักดิ์ยักษา |
ฉวยครุแครงวิ่งเป็นโกลา | ตักน้ำมารดแข่งกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พิราพฤทธิแรงแข็งขัน |
เสร็จแล้วจึ่งสั่งกุมภัณฑ์ | เอ็งหมั่นรดน้ำพรวนดิน |
แม้นว่าต้นไม้ของกูตาย | จะฆ่าให้วอดวายหมดสิ้น |
ถ้าสิงสัตว์ล่วงลัดเข้ามากิน | ในที่ถิ่นฐานจงล้อมไว้ |
ทั้งมนุษย์นักสิทธ์วิทยา | ใครมาอย่าให้ออกไปได้ |
เจ็ดวันจะมาชมต้นไม้ | ให้เป็นผาสุกสำราญ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ สั่งแล้วสำแดงแผลงฤทธิ์ | อากาศมืดมิดสุริย์ฉาน |
เหาะระเห็จจากสวนอุทยาน | ตรงไปวิมานเทวัญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นถึงซึ่งดาวดึงสา | ขุนมารปรีดาเกษมสันต์ |
ลดเลี้ยวเที่ยวไปทุกชั้น | ไล่รุกบุกบันเทวา |
ฉวยชุดอัปสรสุราลัย | หมายใจจะร่วมเสน่หา |
สัพยอกฝูงเทพธิดา | เลี้ยวไล่ไขว่คว้าด้วยยินดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | เทวัญนางฟ้าในราศี |
ตกใจเพียงสิ้นชีวี | ตัวสั่นร้องมี่วุ่นไป |
บ้างอุ้มบ้างฉุดกันวิ่ง | บ้างล้มนอนกลิ้งไม่ลุกได้ |
ฝูงนางอัปสรสุราลัย | ตกใจวิ่งปะทะปะกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พิราพฤทธิแรงแข็งขัน |
เห็นเครื่องประดับเทวัญ | พรายพรรณล้วนแล้วแก้วมณี |
ยิ่งพิศยิ่งเพ่งเล็งไป | ยิ่งติดต้องใจยักษี |
ไล่ลัดสกัดทันที | อสุรีชิงแก้วเทวา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นได้สมดั่งความคิด | มีจิตแสนโสมนัสสา |
เหาะทะยานผ่านจากเมืองฟ้า | ตรงมาที่อยู่กุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพระหริรักษ์รังสรรค์ |
สำรวมจิตตามกิจนักธรรม์ | โดยอันเมตตาสถาวร |
กับสองสุริย์วงศ์ทรงสวัสดิ์ | อยู่ยังสัตกูฏสิงขร |
ให้คะนึงถึงองค์พระบิดร | เร่าร้อนฤทัยรันทด |
มิได้จำเริญภาวนา | โดยเพศสิทธาดาบส |
ให้คลุ้มคลั่งดั่งหนึ่งจะเสียพรต | จึ่งมีพจนารถวาที |
แก่นางสีดาแลพระลักษมณ์ | ดูกรน้องรักทั้งสองศรี |
เราจะอยู่สัตกูฏคีรี | เห็นพระชนนีจะเวียนมา |
พี่คิดจะไปให้พ้น | อย่าให้คนรู้แห่งตำแหน่งหา |
จะได้จำเริญผลภาวนา | ระงับวิญญาณ์บูชาไฟ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดพิสมัย |
ทั้งองค์พระลักษมณ์ผู้ร่วมใจ | ได้ฟังพระราชบัญชา |
น้อมเศียรกราบลงแทบบาท | ทูลพระภูวนาถนาถา |
สุดแต่สบายพระวิญญาณ์ | ตัวข้าจะตามเสด็จจร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระอวตารชาญสมร |
ได้ฟังวาจาอันสุนทร | สโมสรชื่นชมยินดี |
จึ่งชวนพระลักษมณ์นุชนาถ | กับองค์อัครราชมเหสี |
ออกจากอรัญกุฎี | จรลีไปตามมรรคา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงคณะพระนักธรรม์ | พร้อมกันอยู่ที่เนินผา |
ก็พาพระลักษมณ์นางสีดา | เข้าไปวันทาพระมุนี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ แล้วมีมธุรสบรรหาร | พระอาจารย์ค่อยอยู่เกษมศรี |
ตัวข้าไม่สบายอินทรีย์ | บัดนี้จะลาพระองค์ไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมหาดาบสน้อยใหญ่ |
ฟังพระหริวงศ์ทรงชัย | ให้อาลัยด้วยความเมตตา |
มิอาจจะทัดขัดขวาง | ต่างองค์เศร้าโทมนัสสา |
สุดคิดสุดที่จะเจรจา | พระสิทธาอำนวยอวยพร |
อันศัตรูหมู่ราชไพรี | ให้พ่ายแพ้ฤทธีด้วยแสงศร |
พระองค์จงไปสถาวร | อย่ามีทุกข์ร้อนสิ่งใด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้มีอัชฌาสัย |
ทั้งพระลักษมณ์นางสีดาทรามวัย | ประนมไหว้รับพรพระนักพรต |
สามกษัตริย์ยินดีเสมอกัน | พักตร์ผ่องเพียงจันทร์ทรงกลด |
ออกจากสัตกูฏบรรพต | บทจรมาตามมรรคา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
ชมป่า
๏ เดินทางหว่างแถวแนวพนม | พระชี้ชมฝูงสัตว์ในป่า |
คณาลิงวิ่งไล่กันไปมา | มหิงสาตามคู่พัลวัน |
ฝูงกวางย่างเยื้องเล็มระบัด | สิงห์ขนัดเต้นโลดผกผัน |
ช้างสารหลับตาเรียกมัน | เสือโคร่งยืนยันคำรามรณ |
ไกรสรดำเนินองอาจ | จามรีลีลาศถนอมขน |
คชสีห์เคล้าคู่อลวน | หมีเดินบ่นงึมพึมมา |
ฝูงโคไล่เลี้ยวคะนองสัตว์ | แรดกัดกินระนามหนามหนา |
นางชะนีห้อยโหนโยนกายา | ตามกิ่งพฤกษาหากัน |
จักจั่นเรไรรี่เรื่อย | แจ้วเจื้อยเสนาะเสียงสนั่น |
ชมพลางเสด็จจรจรัล | ข้ามเนินบรรพตคีรี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ แลเห็นศาลาพระอาจารย์ | ริมธารแทบเชิงคีรีศรี |
พากันย่างเยื้องจรลี | เข้าไปสู่ที่พระนักพรต ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งเห็นพระมหาสิทธา | กับนางภรรยาเป็นดาบส |
วันทาแล้วกล่าวมธุรส | พระทรงยศนี้นามกรใด |
อันตระกูลสุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์ | เขตขัณฑ์บ้านเมืองอยู่ไหน |
แต่ตั้งสร้างพรตอดใจ | นับได้สักกี่ปีมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | มหาดาบสพรตกล้า |
เห็นสามสุริย์วงศ์กษัตรา | ดวงพักตร์ลักขณาละกลกัน |
สองเจ้างามจับดวงเนตร | ดั่งเทเวศร์ลงมาจากสวรรค์ |
โฉมนางทรงลักษณ์วิไลวรรณ | ดั่งพระจันทร์ผ่องแผ้วเมฆา |
จึ่งตอบมธุรสอันสุนทร | ดูกรหลานรักเสน่หา |
เราสองนี้เป็นกษัตรา | ครองกรุงปัญจาธานี |
ทรงนามชื่อว่าท้าวสุทัศน์ | นางกษัตริย์นี้เป็นมเหสี |
ชื่อว่าศุกไขเทวี | ไม่มีบุตรีโอรส |
สละสมบัติพัสถาน | มาจำเริญฌานเป็นดาบส |
อยู่ในหิมวันต์บรรพต | กำหนดหมื่นปีล่วงไป |
อันเจ้าซึ่งมาทั้งสององค์ | นามกรสุริย์วงศ์เป็นไฉน |
เหตุใดไม่อยู่เวียงชัย | บวชเป็นชีไพรเที่ยวมา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกนาถา |
ฟังรสพจนารถพระสิทธา | ผ่านฟ้าจึ่งตอบวาที |
ตัวหลานนี้ชื่อว่าราเมศ | นั่นสีดาอัคเรศมเหสี |
นี่คืออนุชาร่วมชีวี | มีนามพระลักษมณ์กุมาร |
หน่อท้าวทศรถสุริย์วงศ์ | ดำรงอยุธยาราชฐาน |
นางไกยเกษีนงคราญ | เยาวมาลย์ขอสัตย์พระบิดา |
ให้ข้านี้บวชเป็นดาบส | สิบสี่ปีสร้างพรตอยู่ในป่า |
ครบแล้วจะคืนเข้าพารา | ครอบครองไพร่ฟ้าประชาชี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวสุทัศน์ฤๅษี |
ฟังพระหริรักษ์จักรี | ยิ่งมีเมตตาอาลัย |
เจ้าจงอยู่ด้วยอัยกา | พิธีภาวนาจะบอกให้ |
อย่าเที่ยวสัญจรนอนไพร | ไปให้ลำบากอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอวตารทรงสวัสดิ์รัศมี |
ได้ฟังดั่งทิพวารี | ชุลีกรสนองวาจา |
ซึ่งพระองค์เมตตาการุญ | พระคุณล้นเกล้าเกศา |
แต่เห็นยังใกล้พารา | คนจะตามมาพบพาน |
จะเที่ยวหาที่ปรนนิบัติ | ให้สงัดวิเวกรโหฐาน |
จะได้ตั้งใจจำเริญฌาน | พระอาจารย์ค่อยอยู่จะลาไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระมหาดาบสผู้ใหญ่ |
ฟังราชบัญชายิ่งอาลัย | จนใจสุดที่จะพาที |
แต่นิ่งนึกตรึกคิดอยู่เป็นครู่ | ก็รู้ว่านารายณ์เรืองศรี |
อวตารมาผลาญอสุรี | ยินดีดั่งได้โสฬส |
จึ่งอ่านเวทอำนวยอวยพร | จงเรืองฤทธิรอนดั่งเพลิงกรด |
อันปัจจามิตรที่คิดคด | ให้ม้วยหมดด้วยศรพระจักรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางศุกไขดาบสินีศรี |
พิศโฉมสีดาเทวี | เป็นที่เพลิดเพลินจำเริญใจ |
แสนรักแสนสุดเสน่หา | เอาสุวรรณมาลายื่นให้ |
ลูบหน้าลูบหลังแล้วอวยชัย | แม่ไปเป็นสุขสถาวร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระรามสุริย์วงศ์ทรงศร |
กับพระอนุชาฤทธิรอน | บังอรอัคเรศเทวี |
ต่างองค์ต่างมัสการลา | สองพระมหาฤๅษี |
ออกจากอารัญกุฎี | จรลีตามทางพนาลัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ มาถึงแม่นํ้าอมฤก | สายชลเชี่ยวลึกกว้างใหญ่ |
มัจฉาเกลื่อนกลาดดาษไป | เลี้ยวไล่ผุดพ่นชลธาร |
เงือกพรายสยายผมตากลอก | เหราฝ่าระลอกกระฉอกฉาน |
ย่อมล้วนหยาบช้าสามานย์ | กันดารที่จะข้ามคงคา |
สามกษัตริย์ก็ชวนกันหยุดพัก | สำนักต้นไทรใบหนา |
ร่มชิดมิดแสงสุริยา | พระพายพัดมารวยริน |
พาละอองบุปผชาติเกสร | ขจายจรหอมฟุ้งจรุงกลิ่น |
โรยร่วงลงในแผ่นดิน | พระทรงศิลป์สำราญอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ยานี
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงพระไทรเทเวศร์เรืองศรี |
สถิตในวิมานรัตน์รูจี | เป็นที่สำราญกายา |
แจ้งว่านารายณ์ไวกูณฐ์ | จะไปปราบประยูรยักษา |
ไม่มีพ่วงแพนาวา | จะข้ามมหาชลธาร |
จำจะช่วยองค์พระทรงสังข์ | ให้ข้ามถึงฝั่งไพศาล |
คิดแล้วออกจากวิมาน | เหาะทะยานมาด้วยกำลังฤทธิ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ยืนอยู่ยังริมนัที | ที่ใกล้พระบรมจักรกฤษณ์ |
ยอกรเหนือศิโรโมลิศ | ก็นิมิตนาวาทันใด ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ เสร็จแล้วก็ไสลอยล่อง | ตามท้องคงคาชลาไหล |
วนเข้าอยู่ตรงต้นไทร | ด้วยฤทธิไกรเทวา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ใช้เรือ
๏ เมื่อนั้น | พระพิษณุรักษ์นาถา |
แลเห็นเรือน้อยลอยมา | หยุดอยู่ที่ท่าวารี |
มีความชื่นชมโสมนัส | ดั่งได้สมบัติโกสีย์ |
ก็พาสองกษัตริย์จรลี | เสด็จลงสู่ที่นาวา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เดชะบุญญาวราฤทธิ์ | ของพระจักรกฤษณ์นาถา |
ทั้งเดชเทวัญอันศักดา | พระพายพาพัดข้ามชลธาร |
งามลํ้าดั่งหนึ่งสำเภาทอง | ต้องคลื่นฝืนระลอกกระฉอกฉาน |
เทวาโปรยทิพสุมามาลย์ | หอมหวานเกลื่อนกลาดดาษไป |
อันมัจฉาชาติทั้งหลาย | แหวกว่ายห้อมล้อมมาไสว |
ดั่งพวกพหลสกลไกร | คับคั่งมาในคงคา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ โล้
๏ ครั้นถึงฝั่งฟากสาคร | องค์พระสี่กรนาถา |
ก็พาสองกษัตริย์ลีลา | ไปตามมรรคาพนาวัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ พระรอนแรมมาหลายทิวาวาร | ก็ถึงที่อุทยานสวนขวัญ |
พฤกษาดาดาษเรียงรัน | ไม่สำคัญว่าสวนอสุรี |
สามกษัตริย์พากันลีลาศ | งามดั่งเทวราชอัปสรศรี |
เสด็จไปชมทิพมาลี | ที่ลดาวัลย์ในชั้นฟ้า ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ชมดง
๏ เที่ยวชมมิ่งไม้ในสวน | หอมหวนทุกพรรณบุปผา |
การะเกดแก้วแกมกรรณิการ์ | กุหลาบสร้อยฟ้าอินทนิล |
ชาตบุษย์พิกุลแกมประยงค์ | มะลิลามหาหงส์ส่งกลิ่น |
สารภีร่วงรสรวยริน | กระถินนางแย้มมะลิวัลย์ |
สาวหยุดพุทธชาดจำปี | มะลุลีสุกรมนมสวรรค์ |
ชมพู่พะวาทองอินจัน | ผลนั้นเป็นพวงแกว่งไกว |
ดกดาษทุกกิ่งสาขา | ห้อยย้อยระย้าอยู่ไสว |
พระเด็ดดวงพวงผลที่ต้องใจ | ยื่นให้นางสีดาบังอร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ สามกษัตริย์เสด็จประพาส | สำราญราชฤทัยสโมสร |
จนชายบ่ายแสงทินกร | คลายร้อนระงับอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ บัดนั้น | หมู่มารซึ่งเฝ้าสวนศรี |
เห็นสองมนุษย์กับนารี | เข้ามาในที่อุทยาน |
เที่ยวเก็บพฤษาผลาผล | หักก่นดอกใบกิ่งก้าน |
แม้นพิราพมาเห็นมิเป็นการ | จะสังหารเราม้วยมรณา |
จะนิ่งอยู่ฉะนี้ก็มิได้ | จะจับไว้ให้พ้นโทษา |
ว่าแล้วก็กรูกันเข้ามา | ด้วยกำลังโกรธากุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งร้องตวาด | เหวยใครองอาจโมหันธ์ |
มาทำข่มเหงไม่เกรงกัน | หักพรรณพฤกษาของขุนมาร |
ผู้ชื่อพิราพสิทธิศักดิ์ | สุรารักษ์กลัวฤทธิ์ทุกทิศศาล |
เราจะจับตัวไว้ให้พระกาล | กินเป็นอาหารบัดนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วเรืองศรี |
ได้ฟังอสุราพาที | จึ่งมีพระราชบัญชา |
ตัวเราทั้งสามเป็นดาบส | เที่ยวจำเริญพรตกลางป่า |
เห็นพฤกษาชาติสะอาดตา | ไม่รู้ว่าเป็นสวนอสุรี |
ผลไม้หล่นกลาดดาษดิน | ก็เก็บกินโดยเพศฤๅษี |
เอ็งอย่าอหังการ์พาที | ชีวีจะม้วยบรรลัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งหมู่กุมภัณฑ์น้อยใหญ่ |
ได้ฟังขัดแค้นแน่นใจ | โกรธาดั่งไฟประลัยกัลป์ |
ขบเขี้ยวเคี้ยวกรามร้องตวาด | กระทืบบาทเพียงแผ่นดินลั่น |
วิ่งผลุนหมุนมากว่าหมื่นพัน | กลุ้มกันจะเข้าราวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์เรืองศรี |
แลเห็นพวกพาลอสุรี | ทำทีฮึกฮักเข้ามา |
พระหัตถ์กวัดแกว่งศรทรง | อาจองดั่งพระกาลหาญกล้า |
เสด็จจากร่มรุกขฉายา | ออกไล่เข่นฆ่าหมู่มาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพวกอสุราใจหาญ |
เห็นมนุษย์ออกมารอนราญ | ต่างตนก็ทะยานเข้าชิงชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ยิงด้วยหน้าไม้ปืนยา | บ้างเงื้อง่าอาวุธน้อยใหญ่ |
บ้างคว้าหินผาทิ้งไป | โห่สนั่นหวั่นไหวพนาวัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์รังสรรค์ |
รับรองป้องปัดกุมภัณฑ์ | ยืนยันต่อสู้อสุรา |
ผู้เดียวหักโหมโจมจับ | กลอกกลับกลางหมู่ยักษา |
ตีด้วยคันศรอันศักดา | อสุราแตกตายกระจายไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่กุมภัณฑ์น้อยใหญ่ |
ที่เหลือตายพ่ายหนีไม่ชิงชัย | ซุกซนด้นไพรไม่สมประดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์องค์นารายณ์เรืองศรี |
เห็นพระอนุชาราวี | อสุรีตายกลาดดาษดา |
จึ่งยอกรลูบพระปฤษฎางค์ | ยิ้มพลางชมฤทธิ์กนิษฐา |
มิเสียทีเป็นวงศ์อิศรา | ใต้ฟ้าไม่มีใครเทียมทัน |
ตรัสแล้วชวนสีดายุพาพักตร์ | กับองค์พระลักษมณ์รังสรรค์ |
ออกจากอุทยานกุมภัณฑ์ | พากันไปตามมรรคา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ พญาเดิน
๏ ข้ามธารผ่านแถวแนวพนม | เห็นร่มรังใหญ่ใบหนา |
ดอกดวงห้อยย้อยตระการตา | ดั่งปาริชาติในเมืองอินทร์ |
จึ่งหยุดประทับระงับร้อน | พระพายพาเกสรขจรกลิ่น |
ภุมราร่อนร้องโบยบิน | พระทรงศิลป์เป็นสุขสำราญ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ กล่อม
๏ เมื่อนั้น | พิราพฤทธิไกรใจหาญ |
เจ็ดวันจะไปอุทยาน | ขุนมารชำระกายา |
เอาแก้วประดับอุดมเดช | ซึ่งเทเวศร์นับถือถ้วนหน้า |
สอดสวมอินทรีย์อสุรา | จับหอกเงื้อง่าแล้วรีบจร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เข้าม่าน
๏ ข้ามละหานผ่านเนินบรรพต | เลี้ยวลดตามเชิงสิงขร |
เห็นกระทิงมหิงสกุญชร | สโมสรชื่นชมยินดี |
จึ่งค่อยด้อมมองแอบแฝง | ลัดแลงซ่อนตัวยักษี |
เงื้อหอกกลอกแกว่งด้วยฤทธี | ไล่แทงมฤคีเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ โคกระทิงสิงห์ขนัดที่พีมัน | เลือกสรรเอาเป็นภักษา |
ตับไตไส้พุงแลลูกตา | อสุรากินเล่นสำราญใจ |
เสร็จแล้วก็ชักเอาเครือเขา | ผูกเท้าคชสารตัวใหญ่ |
คอนด้วยกำลังฤทธิไกร | ตรงไปยังสวนอุทยาน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เตียว
๏ ครั้นถึงจึ่งเห็นรุกขชาติ | เป็นรอยหักฟาดกิ่งก้าน |
บ้างล้มโค่นกล่นเกลื่อนสุธาธาร | หมู่มารตายยับไม่สมประดี |
ช้างสารที่คอนมานั้น | กุมภัณฑ์ทุ่มทิ้งลงกับที่ |
กระทืบบาทตาแดงดั่งอัคคี | เรียกหมู่ยักษีเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | อสุรีซึ่งหนีอยู่ในป่า |
ได้ยินเสียงนายเรียกมา | ก็วิ่งออกหาวุ่นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พิราพผู้เป็นนายใหญ่ |
ยิ่งเห็นไพร่พลสกลไกร | บาดเจ็บเลือดไหลก็โกรธนัก |
เหวยเหวยเป็นไฉนไอ้กุมภัณฑ์ | ใครมาโรมรันหาญหัก |
อหังการ์หยาบใหญ่ไม่เกรงพักตร์ | ฮึกฮักทำได้ถึงเพียงนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งหมู่อสุรศักดิ์ยักษี |
กลัวนายจะซ้ำฆ่าตี | อัญชุลีแล้วแจ้งกิจจา |
มีมนุษย์ทั้งสองอาจอง | กับอนงค์ทรงลักษณ์ดั่งเลขา |
มาหักรานก้านกิ่งดวงผกา | เที่ยวทำหยาบช้าสาธารณ์ |
บรรดาตัวข้าทั้งหลาย | จะจับไว้ให้นายเป็นอาหาร |
มนุษย์นั้นมีฤทธิ์ชัยชาญ | เคี่ยวฆ่าหมู่มารบรรลัย |
สุดคิดสุดกำลังจะต่อสู้ | ไปแอบดูบนเนินเขาใหญ่ |
บัดนี้มันพากันเดินไป | ตามในมรรคาพนาลี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พิราพสิทธิศักดิ์ยักษี |
ได้ฟังกริ้วโกรธคืออัคคี | อสุรีเข่นเขี้ยวเคี้ยวฟัน |
เหม่เหม่มนุษย์อหังการ | กูจะผลาญให้ม้วยอาสัญ |
จับหอกกลอกแกว่งดั่งไฟกัลป์ | กุมภัณฑ์ตามรอยบาทา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เขม้นมองตามช่องพนาลัย | จนใกล้รังใหญ่สาขา |
เห็นองค์ทรงลักษณ์โสภา | กับสองชีป่าพนาลี |
มีมือถือศรทั้งสององค์ | งามทรงดั่งหนึ่งโกสีย์ |
น่าที่มันจะมีฤทธี | จะลอบล้างชีวีให้บรรลัย |
คิดแล้วยอกรอภิวาทน์ | พระจอมไกรลาสเขาใหญ่ |
หลับเนตรสำรวมจิตใจ | ร่ายเวทฤทธิไกรกำบังกาย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ ตระ
๏ เดชะวิทยาอันเชี่ยวชาญ | ก็บันดาลทั้งตัวแลเงาหาย |
เข้าไปถึงมนุษย์สองชาย | เพ่งพิศทั่วกายไม่วางตา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ เห็นสององค์ทรงลักษณ์วิไลวรรณ | งามดั่งสุริยันในเวหา |
พิศดูอัครราชกัลยา | งามดั่งจันทราไม่ราคี |
ยิ่งพิศยิ่งพิศวาสกลุ้ม | รสรักรึงรุมดั่งเพลิงจี่ |
ซ่านซาบทั่วกายอินทรีย์ | อสุรีรำพึงคะนึงคิด |
อย่าเลยกูจะพานางไป | ไว้ร่วมภิรมย์สมสนิท |
เป็นคู่อิงแอบแนบชิด | คิดแล้วร่ายวิทยามนต์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ ตระ
๏ ครั้นจบพระเวทอันศักดา | อสุราเป่าไปสามหน |
มืดมัวปิดต้องสุริยน | อนธการยิ่งกว่าราตรี |
มีความชื่นชมโสมนัส | ดั่งได้สมบัติโกสีย์ |
ก็เข้าไปใกล้นางเทวี | อสุรีคว้าองค์เยาวมาลย์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดสงสาร |
ความกลัวดั่งตัวจะวายปราณ | นงคราญเรียกหาพระสี่กร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พิราพขุนมารชาญสมร |
โอบอุ้มอัครราชบังอร | ก็รีบจรด้วยกำลังกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วรังสรรค์ |
ได้ยินเสียงสีดาวิลาวัณย์ | ทรงธรรม์คว้าหาอรไท |
พบแต่พระลักษมณ์สุริย์วงศ์ | จะพบองค์กัลยาก็หาไม่ |
พระยิ่งฉงนสนเท่ห์ใจ | ภูวไนยจึ่งมีบัญชา |
เหตุใดดินฟ้าอากาศ | วิปลาสมืดมิดทุกทิศา |
แว่วเสียงสำเนียงนางสีดา | ร้องมาแล้วสูญหายไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังบรรหารพระภูวไนย | บังคมไหว้สนองพระวาจา |
เหตุนี้จะเป็นไอ้กุมภัณฑ์ | นายมันซึ่งชื่อพิราพป่า |
สำแดงแผลงฤทธิ์ติดตามมา | ดินฟ้าจึ่งมืดไปดั่งนี้ |
พระองค์จงแผลงแสงศร | ให้เป็นทินกรจำรัสศรี |
จึ่งจะเห็นตัวอสุรี | ภูมีจะได้รอนราญ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
ได้ฟังพระอนุชาชัยชาญ | ผ่านฟ้าทรงศรแผลงไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ เปรี้ยงเปรี้ยงดั่งเสียงฟ้าฟาด | โลกธาตุสะท้านสะเทือนไหว |
โชติช่วงดั่งดวงอโณทัย | แลไปก็เห็นกุมภัณฑ์ |
อุ้มองค์อัครราชเทวี | พาหนีลัดป่าพนาสัณฑ์ |
สองกษัตริย์โกรธกริ้วดั่งไฟกัลป์ | ไล่กระชั้นติดตามอสุรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ พระลักษมณ์ก็หวดด้วยคันศร | พระสี่กรโจมจับยักษา |
ชิงองค์อัครราชชายา | อสุราก็วางนางเทวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พิราพสิทธิศักดิ์ยักษี |
เจ็บปวดชอกช้ำทั้งอินทรีย์ | โกรธดั่งอัคคีบรรลัยกาล |
จึ่งร้องว่าเหวยสองมนุษย์ | ฤทธิรุทรเป็นไฉนจึ่งอวดหาญ |
เข้าสวนแล้วฆ่าหมู่มาร | หักรานมิ่งไม้ไม่เกรงกัน |
กูคือพญามัจจุราช | ตามมาจะพิฆาตให้อาสัญ |
วันนี้จะม้วยชีวัน | ด้วยมือกุมภัณฑ์อันศักดา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระหริรักษ์จักรแก้วนาถา |
ได้ฟังอสูรพาลา | ผ่านฟ้าจึ่งตอบวาที |
เราเดินมากลางพนาเวศ | ไม่แจ้งเหตุว่าสวนยักษี |
หมู่มารกลุ้มกันมาราวี | กูนี้จึ่งฆ่าให้สาใจ |
เอ็งอย่าฮึกฮักอวดหาญ | อหังการเจรจาหยาบใหญ่ |
จะสู้กูผู้มีฤทธิไกร | ที่ไหนจะรอดชีวัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พิราพฤทธิแรงแข็งขัน |
ได้ฟังขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน | กุมภัณฑ์กระทืบบาทา |
ร้องว่าเหวยเหวยมนุษย์น้อย | กล่าวถ้อยเย่อหยิ่งให้เกินหน้า |
ไม่รู้ตัวว่าจะมรณา | กลับมาอ้างอวดฤทธิไกร |
สาอะไรกับเอ็งสองคน | หรือจะทนฝีมือกูได้ |
ว่าพลางกวัดแกว่งหอกชัย | โลดโผนโจนไล่ราวี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระหริรักษ์เรืองศรี |
รับรองป้องกันประจัญตี | ภูมีโจมจับอสุรา |
กรซ้ายชิงหอกขุนมาร | พระลักษมณ์รอนราญยักษา |
กลอกกลับสัประยุทธ์ไปมา | ยักย้ายหลายท่าติดพัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พิราพฤทธิแรงแข็งขัน |
ประจัญบานรานรุกบุกบัน | ฉวยคว้าด้วยคันธนูชัย |
กระชากฉุดให้หลุดจากหัตถ์ | ต่างปัดต่างถอยต่างไล่ |
ต่างรับต่างตีวุ่นไป | ด้วยฤทธิไกรมหิมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกนาถา |
โจมจ้วงทะลวงจับอสุรา | บาทาเหยียบเข่ายืนยัน |
อสุรีจับเอวแล้วเงื้อหอก | กลับกลอกรวดเร็วดั่งจักรผัน |
พระโจนขึ้นเหยียบบ่ากุมภัณฑ์ | พระหัตถ์นั้นเงื้อศิลป์จะราวี |
หันเวียนเปลี่ยนท่าสับสน | ต่างตนไม่ท้อถอยหนี |
พระลักษมณ์รุกโรมโจมตี | อสุรีไม่ทานฤทธา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พิราพฤทธิไกรใจกล้า |
เจ็บปวดรวดเร้าทั้งกายา | โกรธาไม่คิดชีวัน |
มือหนึ่งก็ง้างเอาคีรี | สำแดงฤทธีแข็งขัน |
ทุ่มทิ้งด้วยกำลังกุมภัณฑ์ | ประกายนั้นเป็นแสงไฟพราย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกทั้งหลาย |
จับศรพรหมาสตร์เยื้องกราย | น้าวหน่วงพาดสายแล้วแผลงไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เสียงสนั่นลั่นทั่วจักรวาล | พระสุเมรุสะท้านสะเทือนไหว |
ต้องพิราพขุนมารชาญชัย | บรรลัยสุดสิ้นชีวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด โอด
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายฝูงเทวาทุกราศี |
เห็นพระหริรักษ์จักรี | สังหารอสุรีวายปราณ |
ต่างองค์ต่างเยี่ยมวิมานมาศ | เทวราชตบหัตถ์ฉัดฉาน |
ทั้งเทพธิดายุพาพาล | สาธุการแซ่ซ้องอวยชัย |
บ้างโปรยทิพบุปผามาลาสวรรค์ | สุคันธาทิพรสลงมาให้ |
เกลื่อนกลาดกลิ่นกลั้วขจรใจ | อื้ออึงคะนึงไปทุกชั้นฟ้า ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ สาธุการ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วนาถา |
ครั้นเสร็จสังหารอสุรา | เทวาอำนวยอวยพร |
โปรยทิพบุปผามาลัย | ตลบไปด้วยกลิ่นเกสร |
เกลื่อนกลาดดาษพื้นดินดอน | พระสี่กรเก็บให้นางสีดา |
สามกษัตริย์เชยชมดอกไม้มาศ | งามประหลาดทุกพรรณบุปผา |
ชมพลางทางเสด็จลีลา | ไปตามมรรคาพนาลี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
ชมดง
๏ เดินทางมาหว่างบรรพต | เลี้ยวลดชมหมู่ปักษี |
แขกเต้าบินเคล้าโนรี | ระวังไพรร้องมี่ระวังดง |
กระไนไก่แก้วสาลิกา | หงส์ทองเรียกหาคณาหงส์ |
มยุรารำเคล้าเวียนวง | กระเวนหลงคอยคู่คณานาง |
บ้าระบุ่นขุนแผนแผ่นเคล้า | แขกเต้ากระเต็นเล่นหาง |
โพระดกอีลุ้มตลอนฟาง | กางเขนพูดจ้อคลอกัน |
ขาบคุ่มเขาไฟไก่ฟ้า | จากพรากโกญจากระทาขัน |
กระเวนแอ่นลมอังชัน | ดอกบัวเบญจวรรณรังนาน |
กระเหว่าวายุภักษ์สร้อยทอง | การเวกเรื่อยร้องเสียงหวาน |
ชมปักษาชาติในดงดาน | ผ่านฟ้าพลางเสด็จจรลี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เพลง
ช้า
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงนางเสาวรีโฉมศรี |
แต่ต้องสาปสมเด็จพระศุลี | มาอยู่ที่สาลวันช้านาน |
ผู้เดียวเปลี่ยวองค์เวทนา | เก็บผลพฤกษาเป็นอาหาร |
อาศัยเงื้อมเงาเวภาร | ในถํ้าสุรกานต์อลงกรณ์ |
อันสัตว์จัตุบาททวิบาท | ที่ร้ายกาจไม่กรายสายสมร |
ครั้นรุ่งรังสีรวีวร | บังอรดำเนินเดินมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
๏ เที่ยวเก็บบุปผามาลี | อันมีแถบเชิงภูผา |
เหลือบแลเห็นสามกษัตรา | ทรงโฉมโสภาละกลกัน |
องค์หนึ่งดั่งท้าวเทวราช | เป็นจอมเมรุมาศเมืองสวรรค์ |
องค์หนึ่งงามคล้ายพระสุริยัน | อันเสด็จเลื่อนลอยอัมพร |
งามรูปงามสง่าทั้งสององค์ | งามทรงมหาธนูศร |
งามทั้งอัครราชบังอร | ดั่งจันทรลอยฟ้าไม่ราคี |
อรชรอ้อนแอ้นทั้งกาย | ดูละม้ายคล้ายโฉมพระลักษมี |
สามองค์เลิศลํ้าธาตรี | เป็นที่เพลิดเพลินจำเริญใจ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ ครั้นกูจะออกไปทักถาม | เห็นจะวู่วามหาควรไม่ |
คิดแล้วทำเมินเดินไป | อรไทเที่ยวเก็บมาลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภูวไนยนาถา |
พาสองสุริย์วงศ์กษัตรา | เสด็จมาตามทางพนาลี |
ข้ามธารผ่านเขาลำเนาทุ่ง | เวิ้งวุ้งแนวเนินคีรีศรี |
แลเห็นอนงค์นารี | มีลักษณ์โสภาวิลาวัณย์ |
ให้ฉงนสนเท่ห์พระทัยนัก | หรืออารักษ์เจ้าป่าพนาสัณฑ์ |
หรือยักขินีผีไพรใจฉกรรจ์ | มันแกล้งทำมารยาพิราไน |
คิดแล้วจึ่งมีบัญชา | ถามว่าเจ้านี้เป็นไฉน |
จึ่งมาอยู่ผู้เดียวในไพร | นามกรชื่อไรนงคราญ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางเสาวรียอดสงสาร |
ได้ฟังพระบัญชาการ | เยาวมาลย์เหลือบดูพระจักรี |
พินิจพิศไปก็งวยงง | นั่งลงประณตบทศรี |
ตัวข้าชื่อว่าเสาวรี | รองบาทเจ้าตรีโลกา |
ผิดด้วยประมาทขาดเฝ้า | พระปิ่นเกล้าลงโทษโทษา |
สาปให้เพลิงไหม้อรัญวา | ร้อนแรงแสงกล้าดั่งไฟกัลป์ |
ให้ข้านี้ทรมานกาย | คอยท่าพระนารายณ์รังสรรค์ |
อวตารมาผลาญกุมภัณฑ์ | ที่มันเป็นเสี้ยนโลกา |
ข้าได้นำเสด็จพระสี่กร | บทจรไปดับเพลิงป่า |
จึ่งพ้นคำสาปพระอิศรา | คืนไปเมืองฟ้าสุราลัย |
ท่านนี้หน่อนามเผ่าพงศ์ | กษัตริย์สุริย์วงศ์กรุงไหน |
ทั้งสามจึ่งบวชเป็นชีไพร | เที่ยวมาที่ในพนาลี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพิษณุรักษ์เรืองศรี |
ได้ฟังจึงตอบวาที | เรานี้คือนารายณ์อวตาร |
หน่อท้าวทศรถเรืองเดช | ปิ่นเกศอยุธยาราชฐาน |
องค์พระลักษมีนงคราญ | เยาวมาลย์มาเป็นสีดา |
อันพญาอนันตภุชงค์ | คือองค์พระลักษมณ์กนิษฐา |
ตัวเราชื่อรามรามา | จะไปเข่นฆ่าอสุรี |
ให้สิ้นพาลในกาลกฤตยุค | โลกาจึ่งจะสุขเกษมศรี |
มาเถิดไปดับอัคคี | เทวีจะได้พ้นทรมาน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางเสาวรีเยาวยอดสงสาร |
ได้ฟังพระบัญชาการ | นงคราญแลเห็นเป็นสี่กร |
น้อมเศียรกราบลงกับเบื้องบาท | พระตรีภูวนาถทรงศร |
ก็นำเสด็จภูธร | บทจรไปตามมรรคา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกนาถา |
เดินพลางทางทอดทัศนา | เห็นเพลิงแรงแสงกล้าดั่งไฟกัลป์ |
สำเนียงเพียงพายุลมกาฬ | พัดเขาจักรวาลถล่มลั่น |
อากาศมืดคลุ้มชอุ่มควัน | พระหัตถ์นั้นก็ขึ้นธนูทรง |
งามดั่งบรมพรหมเมศ | อันเสด็จประเวศครรไลหงส์ |
จึ่งชักพลายวาตฤทธิรงค์ | พระองค์พาดสายแล้วแผลงไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ เสียงสนั้นครั่นครื้นโลกา | มหาเมฆตกมาห่าใหญ่ |
เพลิงนั้นก็ดับทันใด | ด้วยฤทธิไกรพระจักรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางเสาวรีโฉมศรี |
ครั้นเห็นเพลิงดับก็ยินดี | ชุลีกรกราบทูลพระจักรา |
อันตัวข้านี้ได้พึ่งบาท | พระตรีภูวนาถนาถา |
จึ่งพ้นทนทุกข์เวทนา | ขอลาสมเด็จพระสี่กร |
พระองค์จะไปปราบกุมภัณฑ์ | ให้มันแพ้ฤทธิ์ด้วยแสงศร |
จงปรากฏพระยศขจายจร | ดั่งพรข้าบาทบทมาลย์ |
ทูลแล้วถวายบังคมลา | ทั้งพระลักษมณ์นางสีดายอดสงสาร |
ก็เลื่อนลอยขึ้นบนคัคนานต์ | ไปสถานไกรลาสคีรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระหริรักษ์จักรแก้วเรืองศรี |
ครั้นเสร็จซึ่งดับอัคคี | นางเสาวรีวิไลวรรณ |
ทั้งสามกษัตริย์สุริย์วงศ์ | ต่างองค์มีใจเกษมสันต์ |
ก็เสด็จย่างเยื้องจรจรัล | ตามกันไปโดยพนาลี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ พญาเดิน
สระบุหร่ง
๏ พระชมสุวรรณบรรพต | มรกตแกมนิลสลับสี |
โชติช่วงด้วยดวงมณี | รัศมีแวววับจับตา |
แสงรุ้งพุ่งจับมุกดาหาร | แก้วประพาฬแลเลื่อมที่เงื้อมผา |
เป็นหน่อแหลมแซมยอดดาษดา | ต้องแสงสุริยาแพรวพราย |
บ้างเป็นชะง่อนซ้อนซับ | แสงสลับลดหลั่นชั้นฉาย |
พู่ห้อยย้อยระย้าศีลาลาย | ดั่งฉากช่างระบายอำไพ |
มีเวิ้งวุ้งเชิงผาน่าชม | พฤกษาร่มรื่นงามไสว |
นํ้าพุดุดั้นดลอดไป | ไหลมาแต่ยอดคีริน |
อันดวงบุปผชาติทั้งหลาย | บ้างคลี่คลายเกสรขจรกลิ่น |
ภุมเรศร่อนเคล้าโบยบิน | พระทรงศิลป์ชมพลางทางลีลา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ มาถึงอาศรมพระอาจารย์ | จำเริญฌานอยู่เชิงภูผา |
ที่นั้นสะอ้านสะอาดตา | ก็เข้าไปวันทาพระนักพรต ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | องค์พระอรรคตดาบส |
เห็นสามสุริย์วงศ์ทรงยศ | ดั่งพระจันทร์ทรงกลดไม่ราคี |
งามพักตร์ลักขณาวิลาวัณย์ | ผิวพรรณอำไพเฉลิมศรี |
ดั่งสุวรรณแกมแก้วมณี | เป็นที่เพลิดเพลินจำเริญตา |
จึ่งมีวาจาอันสุนทร | ดูกรหลานรักเสน่หา |
สุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์กษัตรา | นามกรพาราอยู่แห่งใด |
จึ่งผนวชบวชเป็นโยคี | ทั้งสามมานี้จะไปไหน |
สู้แสนลำบากยากใจ | ที่ในพนมพนาวัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์รังสรรค์ |
ได้ฟังวาจาพระนักธรรม์ | บังคมคัลแล้วตอบพจมาน |
ตัวข้าทั้งสองนี้เป็นวงศ์ | พงศ์จักรพรรดิมหาศาล |
หน่อท้าวทศรถชัยชาญ | ได้ผ่านอยุธยาธานี |
ทรงนามพระรามราเมศ | อัคเรศนั้นคือมเหสี |
มีนามสีดาเทวี | นี่ชื่อพระลักษมณ์อนุชา |
พระบิตุรงค์จะมอบเศวตฉัตร | สืบวงศ์จักรพรรดินาถา |
นางไกยเกษีกัลยา | ริษยาขอสัตย์พระภูธร |
ชิงสมบัติให้พระพรต | ซึ่งเป็นโอรสของนางก่อน |
พระพรตไม่ครองพระนคร | มาวอนให้ข้าคืนพารา |
หลานนี้รับสัตย์พระบิตุเรศ | สู้ทนเทวษมาในป่า |
มิได้อาลัยแก่ชีวา | ไปกว่าจะครบสิบสี่ปี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระอรรคตฤๅษี |
ฟังรสพจนารถพระจักรี | พระมุนีนิ่งนึกตรึกไตร |
ก็แจ้งว่านารายณ์อวตาร | จากเกษียรชลธารสมุทรใหญ่ |
มาล้างอาธรรม์ในแดนไตร | ดีใจดั่งได้โสฬส |
ลูบหลังแล้วกล่าวสุนทร | ตาจะเล่าความก่อนให้แจ้งหมด |
ด้วยยักษีตรีบูรัมใจคด | รักยศขอพรเจ้าโลกา |
ว่าแม้นผู้ใดจะฆ่าฟัน | อย่าให้ชีวันสังขาร์ |
พระองค์ก็ประสาทอสุรา | มันยิ่งหยาบช้าราวี |
อันเทวานาคาแลมนุษย์ | ไม่ต้านต่อฤทธิรุทรยักษี |
ไตรโลกเดือดร้อนดั่งอัคคี | พระศุลีกริ้วโกรธดังเพลิงกัลป์ |
จึ่งเสด็จลงมาสังหาร | ขุนมารสิ้นชีพอาสัญ |
แล้วเปลื้องเกราะทรงพระองค์นั้น | บัญชาให้ตารักษาไว้ |
ถ้าพระภุชพงศ์วงศ์ประยูร | ไวกูณฐ์มาทำสงครามใหญ่ |
ให้เอาเกราะนี้ทรงไป | ชิงชัยกันเทพศาสตรา |
ว่าแล้วยื่นเกราะสุรกานต์ | ถวายพระอวตารนาถา |
จงมีชัยแก่หมู่อสุรา | ใต้ฟ้าอย่าทานฤทธิรอน ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระหริรักษ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
จึ่งรับเกราะแก้วอลงกรณ์ | ทั้งพรพระมหานักธรรม์ |
มีความชื่นชมโสมนัส | ดั่งได้สมบัติในสวรรค์ |
สามกษัตริย์ก้มเกล้าอภิวันท์ | พากันออกจากศาลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เดินทางหว่างเชิงสิงขร | จนทินกรลับเหลี่ยมภูผา |
แสงจันทร์แจ่มแจ้งเมฆา | ปักษาเพรียกพร้องสนั่นไพร |
ก็ชวนสองสุริย์วงศ์ทรงลักษณ์ | หยุดพักใต้ร่มโศกใหญ่ |
พระพายพาเกสรขจรใจ | บรรทมหลับไปในราตรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ กล่อม
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายท้าวพันเนตรเรืองศรี |
เสด็จเหนือทิพอาสน์รูจี | ในที่วิมานอลงกรณ์ |
พร้อมพระมเหสีสี่องค์ | กับฝูงอนงค์อัปสร |
มิได้มีสุขสถาวร | ให้เร่าร้อนฤทัยดังไฟกัลป์ |
จึ่งเล็งทิพเนตรลงมา | ก็เห็นพระจักรารังสรรค์ |
กับพระลักษมณ์สีดาวิลาวัณย์ | มาในอารัญบรรพต |
จะเสาะแสวงที่อาศัย | วิเวกใจโดยเพศดาบส |
จะได้ตั้งกรรมจำเริญพรต | อดจิตที่จะบำเพ็ญฌาน |
จำจะนิมิตอาศรม | ให้รื่นร่มสงัดรโหฐาน |
คิดแล้วพาเทพบริวาร | เหาะทะยานมายังปัถพี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เหาะ
๏ ครั้นถึงริมฝั่งสาคร | นามกรโคทาวารีศรี |
ถิ่นฐานสะอ้านสะอาดดี | ก็นิมิตซึ่งที่ศาลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ เกิดขึ้นเป็นสามอาศรม | รื่นร่มด้วยพรรณพฤกษา |
พวงผลดอกบานตระการตา | ดั่งลัดดาวัลย์ในชั้นอินทร์ |
มีสระปทุมเกสร | เบิกบานขจรขจายกลิ่น |
นํ้าใสสะอ้านไม่ราคิน | เห็นพื้นดินกรวดทรายพรายพรรณ |
ทั้งที่จงกรมจำเริญฌาน | ชาลาปราการหลายหลั่น |
เขียนอักษรไว้เป็นสำคัญ | เทวัญก็กลับไปเมืองฟ้า ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกนาถา |
บรรทมใต้รุกขฉายา | จนปัจฉิมเวลาล่วงไป |
ดาวเดือนเลื่อนลับอากาศ | ภานุมาศเยี่ยมยอดเนินไศล |
แสงทองรองเรืองอำไพ | สกุณาไก่แก้วเพรียกพร้อง |
เสนาะดั่งดุริยางค์จำเรียง | ส่งเสียงสนั่นกึกก้อง |
ภุมรินบินว่อนร่อนร้อง | เชยซาบอาบละอองมาลี |
พระก็ฟื้นตื่นจากไสยาสน์ | ชวนองค์อัครราชมเหสี |
กับพระอนุชาร่วมชีวี | จรลีไปตามมรรคา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เพลง
ร่าย
๏ มาถึงจึ่งเห็นอาศรม | สูงตระหง่านน่าชมที่เชิงผา |
สามหลังดั่งวิมานเทวา | มีกำแพงชาลาพาไล |
พร้อมที่จงกรมอัพโพกาศ | รุกขชาติรื่นร่มงามไสว |
ดอกดวงพวงผลแกว่งไกว | ก็เข้าไปในอารัญกุฎี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เห็นอักษรจารึกที่ในบาน | ว่าองค์มัฆวานเรืองศรี |
ลงมาสร้างไว้ในที่นี้ | เพราะมีนํ้าจิตเจตนา |
หวังจะให้เป็นที่สงัดกาย | พระนารายณ์อวตารนาถา |
ครั้นอ่านสารเสร็จก็ปรีดา | ผ่านฟ้ามีพจน์วาที |
แก่สองกษัตริย์สุริย์วงศ์ | ว่าศาลาขององค์โกสีย์ |
ควรเราจะอยู่ในที่นี้ | บำเพ็ญบารมีพรหมจรรย์ |
ตรัสแล้วชวนองค์อัครราช | กับพระลักษมณ์นุชนาถรังสรรค์ |
กรายกรย่างเยื้องจรจรัล | พากันไปสรงคงคา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
สระบุหร่ง
๏ นํ้าใสดั่งสีมณีรัตน์ | ฟองฟัดกระทบฝั่งฉานฉ่า |
เป็นชายหาดสะอาดสะอ้านตา | ปทุมมาห้าหมู่อรชร |
ต่างองค์ชำระสระสนาน | ชมผกาชูก้านบานสลอน |
สัตตบรรณแซมบุษบากร | โกสุมเกสรรวยริน |
ลมพัดเหล่าพรรณปทุมมาศ | หล่นกลาดลอยเกลื่อนกระแสสินธุ์ |
ภุมราพารสโบยบิน | หวนกลิ่นหอมกลบชลธี |
พระเลือกเด็ดเหล่าดวงผกากาญจน์ | ให้เยาวมาลย์ยอดมิ่งมารศรี |
นางชมน้องเชยดวงมณี | สีจำรูญแสงจำรัสอรชร |
เพชรแววแก้ววามอร่ามเรือง | เขียวเหลืองขาวเลื่อมประภัสสร |
สามกษัตริย์แหวกว่ายชโลทร | ระงับร้อนสำราญพระทัยนัก ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เพลงฉิ่ง
๏ ครั้นเสร็จโสรจสรงชลธาร | องค์พระอวตารทรงจักร |
ชวนนางสีดายุพาพักตร์ | กับพระลักษมณ์ไปบรรณศาลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ