- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนางอสุรีสาวสรรค์ |
ขัดแค้นสีดาวิลาวัณย์ | ก็ชวนกันเข้าไปในพลับพลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ชุบ
๏ นั่งลงตรงพักตร์บังอร | ควักค้อนแล้วรํ่ารำพันว่า |
เป็นไฉนฉะนี้นางสีดา | พญายักษ์รักเจ้าดั่งดวงใจ |
ควรหรือช่างไม่ผ่อนผัน | รำพันด่าเล่นก็เป็นได้ |
จะให้เรานี้พลอยบรรลัย | ดีแล้วหรือไรนางเทวี |
ทีหลังแม้นไม่ปลงจิต | แสนสนิทด้วยท้าวยักษี |
จะฉีกเนื้อเถือหนังทั้งอินทรีย์ | ให้สาที่น้ำใจกัลยา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | สีดาเยาวยอดเสน่หา |
คิดแค้นทศกัณฐ์อสุรา | ทั้งเจ็บวาจากำนัล |
สุดทนสุดทุกข์สุดคิด | ช้ำจิตสุดที่จะอดกลั้น |
สะท้อนถอนใจจาบัลย์ | รำพันถึงองค์พระจักรี |
ไฉนพระไม่ติดตามมา | ล้างเหล่าพาลายักษี |
ให้มันหยาบช้าพาที | ว่ากล่าวเมียนี้ทุกสิ่งไป |
สุดคิดที่จะครองชีวาตม์ | ไว้ท่าเบื้องบาทพระองค์ได้ |
อยู่ช้ายิ่งช้ำระกำใจ | จะบรรลัยไปคอยยังเมืองฟ้า |
คิดพลางทางทำเป็นเข้าที่ | ครั้นเห็นนางอสุรีซ้ายขวา |
หลับไหลไม่ฟื้นกายา | ก็ลงจากพลับพลาเสด็จจร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ครั้นมาถึงต้นโศกใหญ่ | ใกล้สระปทุมเกสร |
พ้นฝูงอสุรีนิกร | บังอรทรุดองค์ลงโศกี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
โอ้
๏ โอ้ว่าสมเด็จพระพี่เจ้า | พระคุณปกเกล้าเกศี |
เมียจะสุดสิ้นชีวี | ภูมีไม่ได้เห็นใจ |
เสียทีครองตัวไว้ท่า | จะได้บังคมลาก็หาไม่ |
ตั้งแต่วันนี้จะลับไป | มิได้ฉลองบทมาลย์ |
รำพลางยอกรขึ้นเหนือเกศ | ไหว้ฝูงเทเวศร์ทุกสถาน |
กราบลงกับพื้นสุธาธาร | นงคราญร่ำว่าด้วยอาวรณ์ |
ขอฝากสมเด็จพระหริวงศ์ | กับองค์พระลักษมณ์ทรงศร |
อย่ามีทุกข์โศกโรคร้อน | แม้นพระสี่กรตามมา |
ช่วยทูลว่าข้านี้เจ็บชํ้า | ด้วยคำพวกพาลยักษา |
บัดนี้ถวายบังคมลา | ไปยังฟากฟ้าดุษฎี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โอด
ร่าย
๏ ครั้นเสร็จฝากฝูงเทเวศร์ | เยาวเรศผู้มิ่งมารศรี |
น้าวกิ่งโศกห้อยอินทรีย์ | เทวีก็หน่วงขึ้นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ เอาภูษาผูกศอให้มั่น | แล้วพันกับกิ่งโศกใหญ่ |
หลับเนตรดำรงปลงใจ | อรไทก็โจนลงมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
ครั้นเห็นองค์อัครกัลยา | ผูกศอโจนมาก็ตกใจ |
ตัวสั่นเพียงสิ้นชีวิต | ร้อนจิตดั่งหนึ่งเพลิงไหม้ |
โลดโผนโจนตรงลงไป | ด้วยกำลังว่องไวทันที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งแก้ภูษาทรง | ที่ผูกศอองค์พระลักษมี |
หย่อนลงยังพื้นปัถพี | ขุนกระบี่ก็โจนลงมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เห็นนางไม่สิ้นชีวาลัย | มีใจแสนโสมนัสสา |
วิ่งเข้ากราบลงกับบาทา | หมอบอยู่ตรงหน้าบังอร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดาดวงสมร |
เห็นกระบี่มาถวายชุลีกร | บังอรกริ้วโกรธดั่งเพลิงกาล |
จึงมีเสาวนีย์ตรัสไป | เหวยไอ้ลิงไพรเดียรัจฉาน |
เหตุใดมึงทำสาธารณ์ | กูผู้ทรมานเวทนา |
ทศพักตร์มันลักเราหนี | จากพระจักรีนาถา |
เจ็บชํ้าระกำอุรา | กินแต่นํ้าตาไม่วายวัน |
สุดทนจึ่งผูกคอตาย | ไอ้ลิงแสนร้ายโมหันธ์ |
เป็นไฉนจึงมากางกั้น | มิให้ม้วยชีวันด้วยอันใด ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ลูกพระพายผู้มีอัชฌาสัย |
บังคมก้มเกล้าแล้วทูลไป | พระองค์จงได้เมตตา |
ตัวข้านี้ชื่อหนุมาน | เป็นทหารพระนารายณ์นาถา |
บัดนี้ผ่านเกล้าเสด็จมา | ประชุมโยธาวานร |
อยู่ยังเชิงเขาคันธมาทน์ | กับพระนุชนาถทรงศร |
เสร็จแล้วจะยกพลากร | ตามมาราญรอนอสุรี |
ตรัสใช้ข้าบาทมาทูลสาร | แจ้งการให้ทราบบทศรี |
อันองค์พระลักษมณ์พระจักรี | แสนโศกโศกีทุกเวลา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดาเสน่หา |
แจ้งความออกนามพระจักรา | ดั่งอมฤตฟ้ายาใจ |
ให้คิดเสน่หาอาวรณ์ | บังอรไม่กลั้นโศกได้ |
ชลเนตรคลอเนตรด้วยอาลัย | ถอนใจแล้วมีเสาวนีย์ |
ตัวท่านว่าเป็นทหาร | พระนารายณ์อวตารเรืองศรี |
เป็นไฉนจึ่งตัวเรานี้ | มิได้รู้จักวานร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
ได้ฟังอัครราชบังอร | ประนมกรแล้วทูลสนองไป |
เมื่อพระองค์อยู่ด้วยพระทรงสังข์ | ข้ายังหามาเป็นข้าไม่ |
ทูลพลางถวายแหวนกับสไบ | ของนี้ภูวไนยให้มา |
สั่งว่าธำมรงค์พระเทวี | อสุรีถอดขว้างปักษา |
สดายุเมื่อใกล้มรณา | ถวายพระจักราฤทธิรอน |
อันพระภูษาสไบทรง | ขององค์อัคเรศสายสมร |
ซึ่งฝากไว้กับวานร | ภูธรให้เป็นสำคัญมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางสีดาเสน่หา |
เห็นพระธำมรงค์อลงการ์ | กับผ้าสไบของเทวี |
ดั่งได้พบองค์พระทรงฤทธิ์ | แล้วคิดสงสัยกระบี่ศรี |
จึ่งมีมธุรสวาที | ของนี้สิตกอยู่กลางไพร |
ตัวท่านเป็นพวกกุมภัณฑ์ | เที่ยวไปอารัญเก็บได้ |
ไอ้ทศเศียรจังไร | แกล้งใช้ให้เอ็งนำมา |
ทำกลลวงกูมิให้ตาย | ด้วยแยบคายถ้อยคำมารษา |
ตัวเราไม่เชื่อวาจา | พวกไอ้พาลาสาธารณ์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรผู้ปรีชาหาญ |
ฟังพระเสาวนีย์นงคราญ | กราบกับบทมาลย์แล้วทูลไป |
พระมารดาโลกอย่ากินแหนง | จะแต่งมาล่อลวงนั้นหาไม่ |
พระองค์สั่งข้าเป็นความนัย | ให้สิ้นสงสัยของเทวี |
ว่าเมื่อสมเด็จพระบิตุรงค์ | ตั้งมงคลการภิเษกศรี |
ยกมหาธนูโมลี | ที่ในบูรีมิถิลา |
พระแม่เจ้าแอบอยู่ยังบัญชร | พอพระสี่กรนาถา |
เสด็จดำเนินเข้ามา | นัยนาต่อเนตรเล็งกัน |
ต่างองค์ต่างคิดปฏิพัทธ์ | กำหนัดในรสเกษมสันต์ |
ความลับเป็นที่สำคัญ | รู้กันแต่กับพระเทวี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดามารศรี |
ได้ฟังหนุมานพาที | สิ้นที่กินแหนงแคลงใจ |
จึ่งรับภูษาธำมรงค์ | ทูนเศียรแล้วทรงกันแสงไห้ |
ชลเนตรนองเนตรรํ่าไร | ถอนใจสะอื้นอาวรณ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ โอ้ว่าพระองค์ทรงฤทธิ์ | เมียคิดว่าจะลาตายก่อน |
ยังอาลัยในข้าบังอร | อุตส่าห์บทจรตามมา |
ไม่คิดแก่ยากลำบากองค์ | บุกชัฏลัดดงพงป่า |
แสนทุกข์แสนเทวษเพทนา | กับพระอนุชาวิลาวัณย์ |
ทั้งนี้เป็นเหตุเพราะรักเมีย | จึ่งเสียรู้อสุรโมหันธ์ |
หาไม่ที่ไหนทศกัณฐ์ | มันจักได้ลักน้องมา |
ให้พระองค์โศกาอาวรณ์ | ทุกข์ร้อนเศร้าโทมนัสสา |
รํ่าพลางนางค่อนอุรา | ดั่งว่าจะสิ้นสมประดี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
เห็นองค์อัครราชเทวี | โศกีครวญครํ่ารำพัน |
ทูลว่าปิ่นเกล้าอย่าทุกข์ร้อน | อาวรณ์วิโยคโศกศัลย์ |
อันเหตุซึ่งไอ้ทศกัณฐ์ | มันไปลอบลักพระองค์มา |
ผลกรรมนำที่จะถึงตาย | วอดวายสิ้นโคตรยักษา |
สาบสูญสุริย์วงศ์ในลงกา | ด้วยศรศักดาพระสี่กร |
ซึ่งได้อาดูรพูนเทวษ | ขอเชิญอัคเรศดวงสมร |
ขึ้นนั่งยังมือวานร | จะพาบังอรจรจรัล |
ไปถวายสมเด็จพระนารายณ์ | ให้หายทุกข์ร้อนโศกศัลย์ |
มาตรแม้นยักษาตามทัน | จะฆ่ามันให้ม้วยชีวี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางสีดามารศรี |
ฟังลูกพระพายพาที | จึ่งมีเสาวนีย์ตอบไป |
ดูกรคำแหงหนุมาน | อันคำของท่านหาชอบไม่ |
ไฉนจึงคิดเบาใจ | มิได้ตริตรองด้วยปรีชา |
ทศพักตร์มันลักเราหนี | ข้อนี้ก็ที่กังขา |
มิหนำซ้ำตัวท่านมา | พาเราไปจากเมืองมาร |
ยิ่งจะเป็นที่ราคิน | ทั่วสิ้นในทศทิศาล |
ถึงองค์สมเด็จพระอวตาร | ผ่านฟ้าจะแหนงแคลงใจ |
ซึ่งท่านว่านี้ก็โดยธรรม์ | เราจะไปด้วยนั้นไม่ได้ |
ขุนกระบี่จงเร่งกลับไป | ทูลพระภูวไนยให้รีบมา |
สังหารผลาญไอ้ทศพักตร์ | ให้สิ้นศักดิ์สุริย์วงศ์พงศา |
เราจึ่งจะจากลงกา | ไปเฝ้าบาทาพระสี่กร ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
ได้ฟังอัครราชบังอร | วานรดำริตริไป |
นางนี้คือองค์พระลักษมี | สามภพธาตรีไม่หาได้ |
พร้อมทั้งปรีชาปัญญาไว | รู้ในอดีตปัจจุบัน |
ซื่อตรงต่อองค์พระภัสดา | สู้เสียชีวาอาสัญ |
ควรเป็นมารดาเทวัญ | ทั่วสวรรค์ชั้นฟ้าธาตรี |
คิดแล้วยอกรเหนือเกศ | ทูลอัคเรศมเหสี |
อันคำพระองค์พาที | ข้านี้ไม่คิดถึงการ |
จงระงับดับใจไว้ก่อน | อย่าด่วนรอนรานชีพสังขาร |
แม้นพระแม่เดียวบรรลัยลาญ | พระอวตารพระลักษมณ์อนุชา |
จะพากันมอดม้วยเป็นสาม | ไหนจะได้สงครามด้วยยักษา |
ป่วยการพวกพลโยธา | จงครององค์ไว้ท่าภูมี |
ตัวข้าขอลาพระเยาวเรศ | ไปแจ้งเหตุพระนารายณ์เรืองศรี |
ทูลแล้วนบนิ้วอัญชุลี | ขุนกระบี่ก็รีบออกไป ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดพิสมัย |
ครั้นวายุบุตรวุฒิไกร | ไปพอลับคลองนัยนา |
ค่อยระงับอาดูรพูนเทวษ | อัคเรศเหลือบแลซ้ายขวา |
ไม่เห็นผู้ใดไปมา | ก็รีบขึ้นพลับพลาทันที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
๏ เอนองค์ลงเหนือบรรจถรณ์ | ยอกรประณตบทศรี |
คิดคุณสมเด็จพระจักรี | เทวีก็เคลิ้มหลับไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ กล่อม
๏ บัดนั้น | วายุบุตรผู้มีอัชฌาสัย |
ครั้นออกมาพ้นอรไท | ก็ปีนขึ้นต้นไม้ใบบัง ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ แล้วจึ่งดำริตริการ | กูเป็นทหารพระทรงสังข์ |
จะอาสาหักศึกด้วยกำลัง | ยังไม่เห็นมืออสุรา |
วันนี้จะลองฤทธิ์ดู | ให้รู้กำลังยักษา |
สังหารผลาญเสียให้เปลืองตา | สงครามภายหน้าจะเบาใจ |
คิดแล้วสำแดงแผลงฤทธิ์ | ทศทิศกัมปนาทหวาดไหว |
โลดโผนโจนจ้วงทะลวงไป | เที่ยวหักต้นไม้เป็นโกลี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ อันหมู่พฤกษาผลาผล | หักโค่นด้วยมือกระบี่ศรี |
ย่อยยับไม่เป็นสมประดี | เสียงมี่ดั่งวายุพัดพาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ยักษานายหมวดทวยหาญ |
ที่อยู่เฝ้าสวนอุทยาน | เห็นลิงสาธารณ์บังอาจใจ |
เที่ยวถอนรอนรานรุกขชาติ | ล้มกลาดไม่เอาดีได้ |
โกรธาตาแดงดั่งแสงไฟ | ร้องเรียกบ่าวไพร่เป็นโกลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่อสุรยักษา |
ได้ยินเสียงนายเรียกมา | ก็พากันวิ่งมาลนลาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ แลเห็นลิงเผือกองอาจ | ร้ายกาจหยาบช้ากล้าหาญ |
หักถอนต้นไม้ในอุทยาน | กิ่งก้านแหลกยับไม่สมประดี |
บ้างทิ้งบ้างขับบ้างถือบ่วง | ทะลวงเข้าคล้องอึงมี่ |
ลางหมู่ก็วิ่งเข้าไล่ตี | อสุรีจะจับวานร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
ครั้นเห็นพวกพลนิกร | เข้ามาราญรอนก็ปรีดา |
ทำยักคิ้วหลิ่วตาลู่หู | ตะคอกขู่ล้อหลอกกลอกหน้า |
โลดโผนโจนทะลวงลงมา | เข้าไล่เข่นฆ่ากุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพวกโยธาพลขันธ์ |
เห็นวานรโรมรุกบุกบัน | โกรธาตัวสั่นเข้าชิงชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ พุ่งซัดอาวุธสับสน | เกลื่อนกล่นกันมาไม่นับได้ |
ยิงแย้งแทงฟันวุ่นไป | ล้อมไล่มิให้ออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
ผาดแผลงสำแดงฤทธา | เข้ากลางอสุราโยธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ มือตบตีนถีบปากกัด | ฟาดฟัดเข่นฆ่ายักษี |
บ้างม้วยมุดสุดสิ้นชีวี | อสุรีหนุนเนืองไม่เปลืองตา |
ผู้เดียวเคี่ยวขับสัประยุทธ์ | ฉวยชิงอาวุธทั้งซ้ายขวา |
กลอกกลับฟันแทงไปมา | อสุราตายกลาดดาษไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | หมู่มารโยธาน้อยใหญ่ |
กวัดแกว่งอาวุธดั่งเปลวไฟ | รุกไล่กระชิดติดพัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บ้างคล้องบ้างตีมี่ฉาว | ลางหมู่วิ่งก้าวสะกัดกั้น |
บ้างโลดบ้างโผนโจนฟัน | ยืนยันเข่นฆ่าราวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
รับรองป้องกันประจัญตี | เข้าไล่คลุกคลีรอนราญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ หวดซ้ายป่ายขวาอุตลุด | ด้วยฤทธิรุทรกำลังหาญ |
อันพวกพลอสุรหมู่มาร | วายปราณย่อยยับทับกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่อสุราพลขันธ์ |
เหลือตายไม่กลับเข้าโรมรัน | พากันวิ่งหนีตรงมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงนิเวศน์วังสถาน | สหัสกุมารยักษา |
ก้มเกล้ากราบลงกับบาทา | ทูลว่ามีวานรไพร |
เผือกผู้สามารถอาจนัก | ฮึกฮักมาทำหยาบใหญ่ |
เข้าสวนหักโค่นต้นไม้ | ยับไปไม่เป็นสมประดี |
ข้าบาทเข้ากลุ้มรุมจับ | มันกลับต่อสู้ยักษี |
พลมารตายกลาดปัถพี | ไม่มีใครรอต่อกร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สหัสกุมารชาญสมร |
ได้ฟังต่างโกรธดั่งไฟฟอน | เหม่ไอ้วานรอหังการ |
ที่มันอวดกล้าจะได้เห็น | กูจะกินเนื้อเล่นเป็นอาหาร |
กระทืบบาทผาดโผนโจนทะยาน | เหวยเสนามารชาญฉกรรจ์ |
เร่งเตรียมพหลพลยุทธ์ | เลือกล้วนฤทธิรุทรแข็งขัน |
ให้ครบกระบวนทัพพัน | กูจะไปโรมรันไอ้ลิงไพร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีธิบดีน้อยใหญ่ |
รับสั่งพระโอรสยศไกร | บังคมไหว้วิ่งวุ่นออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ประถม
ยานี
๏ จัดเป็นกระบวนทั้งพันทัพ | ซับซ้อนด้วยพลยักษา |
พันหมู่ดูดั่งจะเฟือนตา | สีกายสีหน้านั้นต่างกัน |
เขี้ยวงอนเขี้ยวโง้งจากปาก | หน้าแสยะหน้ากากขบขัน |
โพกหัวแต่งตัวหลายพรรณ | มือนั้นล้วนถืออาวุธ |
หอกดาบธนูแหลนหลาว | โล่เขนทวนง้าวอุตลุด |
บ้างถือคาบศีลาคาบชุด | นับสมุทรคอยเสด็จอสุรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | สหัสกุมารยักษี |
ต่างองค์เสด็จจรลี | เข้าที่สระสรงวาริน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ พันองค์ชำระสระสนาน | สุคนธารเกสรขจรกลิ่น |
สนับเพลาล้วนเชิงนาคินทร์ | ภูษาทรงข้าวบิณฑ์ต่างกัน |
ต่างทรงเกราะแก้วฉลององค์ | รัดอกเครือหงส์ลายกุดั่น |
ทับทรวงตาบทิศสังวาลวัลย์ | ทองกรมังกรพันจำหลักลอย |
พาหุรัดรูปวาสุกรีกราย | ธำมรงค์เพชรพรายดั่งหิ่งห้อย |
มงกุฎแก้วกรรเจียกประดับพลอย | ดอกไม้ทิพช่อช้อยอรชร |
พันองค์ล้วนทรงศักดา | กรขวานั้นกุมธนูศร |
ลงจากปราสาทอลงกรณ์ | บทจรตามกันมาขึ้นรถ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ รถเอยรถทรง | พันรถดุมวงอลงกต |
แอกอ่อนงอนงามช้อยชด | เทียมคชสีห์ลำพอง |
บ้างเทียมราชสีห์เสือสิงห์ | พันคู่เผ่นวิ่งผันผยอง |
สารถีมือถือตระบอง | ตวาดร้องขับรีบดั่งลมพัด |
ธงชัยธงริ้วทิวราย | ธงฉานธงชายปลายสะบัด |
อภิรุมชุมสายรายรัตน์ | มยุรฉัตรพัดโบกทานตะวัน |
กาหลปี่กลองฆ้องขาน | พลมารโห่ฮึกเสียงสนั่น |
ผงคลีกลบกลุ้มชอุ่มควัน | ขับกันเร่งราชรถมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นถึงจึ่งมีสิงหนาท | ประกาศหมู่ทวยหาญซ้ายขวา |
ให้ปันด้านรายรอบตรวจตรา | ดากันล้อมสวนอุทยาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งหมู่โยธาทวยหาญ |
รับสั่งสหัสกุมาร | ต่างวิ่งทะยานวุ่นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ ด้านใครใครเข้ารักษา | ตรวจตราไม่มีที่ออกได้ |
ล้วนกุมหอกดาบปืนไฟ | หมายใจสังหารราญรอน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สหัสกุมารชาญสมร |
ยืนรถอยู่กลางพลากร | แลเห็นวานรก็โกรธา |
ขบเขี้ยวเคี้ยวฟันกริ้วกราด | กระทืบบาทผาดเสียงดั่งฟ้าผ่า |
เหวยไอ้ลิงไพรอหังการ์ | ตัวมึงนี้มาแต่แห่งใด |
ถิ่นฐานบ้านเมืองพานร | เชื้อชาตินามกรเป็นไฉน |
จึ่งทำอาจองทะนงใจ | เข้ามาในสวนอสุรี |
หักโค่นต้นไม้แล้วมิหนำ | ซ้ำฆ่าโยธายักษี |
ไม่เกรงกูผู้มีฤทธี | ชีวีจะม้วยวายปราณ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจหาญ |
จึ่งตอบด้วยคำอหังการ | ว่าเหวยขุนมารพาลา |
นามกรบ้านเมืองกูไม่รู้ | อยู่แต่ห้วยเขาลำเนาป่า |
ผู้เดียวเที่ยวสัญจรมา | ไม่แจ้งว่าสวนผู้ใด |
เห็นลูกไม้สุกก็เก็บกิน | อสุรินทร์มันชวนกันล้อมไล่ |
โรมรุกบุกบันชิงชัย | สู้กูไม่ได้ก็วายปราณ |
ตัวเอ็งยกแสนยากร | รถรัตน์อัสดรทวยหาญ |
จะทำไมกูนะขุนมาร | หรือว่าคิดอ่านมาราวี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สหัสกุมารยักษี |
ได้ฟังวานรพาที | อสุรีดำริตริไป |
กูเป็นกษัตริย์สุริย์วงศ์ | จะรณรงค์กับลิงหาควรไม่ |
เสียยศอดสูแก่น้ำใจ | ไตรโลกจะหมิ่นนินทา |
คิดแล้วจึ่งตอบด้วยสีหนาท | เหวยเหวยไอ้ชาติลิงป่า |
สวนนี้ขององค์พระบิดา | ให้กูรักษามาช้านาน |
จะจับตัวมึงไปถวาย | แม้นกลัววอดวายสังขาร |
ลงมาประณตบทมาลย์ | กูจะประทานชีวี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
ได้ฟังจึ่งตอบวาที | อสุรีอย่าพักอหังการ์ |
ตัวเราผู้เดียวจะต่อสู้ | ให้สิ้นหมู่พวกพลยักษา |
แม้นชนะกูจึ่งเจรจา | อ้างอวดฤทธากุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ลูกท้าวทศเศียรรังสรรค์ |
ได้ฟังวานรชาญฉกรรจ์ | ทั้งพันกริ้วโกรธดั่งเพลิงกาล |
ขบเขี้ยวเคี้ยวกรามกระทืบบาท | ร้องประกาศแก่หมู่ทวยหาญ |
เร่งเร็วจับลิงสาธารณ์ | ผลาญเสียให้สิ้นชีวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่อสุรยักษี |
ได้ฟังบัญชาอสุรี | ก็ขับโยธีเข้าไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ทุ่งซัดอาวุธดั่งห่าฝน | ต่างตนวิ่งลัดสกัดไล่ |
บ้างยิงธนูหน้าไม้ | ปืนไฟนกสับคาบศิลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
หลบหลีกว่องไวไปมา | วิ่งฝ่าเข้ากลางโยธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ กุมภัณฑ์ฟันแทงสับสน | ไม่ระคายปลายขนกระบี่ศรี |
ผู้เดียวเคี่ยวฆ่าราวี | อสุรีตายยับทับกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่โยธาพลขันธ์ |
ยิ่งตายยิ่งหนุนเข้าโรมรัน | บุกบันต่อยตีวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บ้างกลุ้มรุมจับกุลาหล | ลางตนก็เอาพะเนินค้อน |
ลางหมู่ตีด้วยคทาธร | เสียงโห่สะท้อนสะเทือนไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
กลอกกลับรับรองว่องไว | รุกโรมโจมไล่กุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ถีบซ้ายป่ายขวาไม่ยั้งหยุด | ด้วยกำลังฤทธิรุทรดั่งจักรผัน |
อันหมู่พลมารทั้งนั้น | สุดสิ้นชีวันวายปราณ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิดโอด
๏ เมื่อนั้น | ลูกท้าวทศเศียรใจหาญ |
เห็นกระบี่เคี่ยวฆ่าพลมาร | แหลกลาญตายยับทั้งทัพชัย |
กระทืบบาทผาดร้องทั้งพัน | เสียงสนั่นครั่นครื้นแผ่นดินไหว |
ต่างต่างสำแดงฤทธิไกร | ขึ้นศรแผลงไปด้วยศักดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เปรี้ยงเปรี้ยงดั่งเสียงฟ้าฟาด | พันเล่มเต็มกลาดเวหา |
พุ่งพวยตรวยตรงลงมา | ล้อมรอบกายาวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
เห็นศรอสุรามาราญรอน | สองกรรวบไว้ด้วยฤทธา |
หักโยนไปให้แล้วร้องเย้ย | เหวยเหวยดูกรไอ้ยักษา |
อันศรของเอ็งซึ่งยิงมา | ล้วนมีศักดาเกรียงไกร |
เกลื่อนกลาดดาษไปทั้งเวหน | จะระคายปลายขนก็หาไม่ |
วันนี้ตัวมึงจะบรรลัย | ยังรู้หรือไม่อสุรี |
กูคือพระกาลพาลราช | จะมาพิฆาตยักษี |
ว่าพลางเผ่นโผนด้วยฤทธี | เข้าไล่ราวีกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ คลุกคลีตีหนักหักรถ | แหลกลงทั้งหมดดั่งแกล้งหั่น |
สารถีสิงห์สัตว์ที่เทียมนั้น | ตายกลาดไม่ทันพริบตา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | สหัสกุมารยักษา |
สิ้นรถสิ้นพลอสุรา | โกรธาดั่งไฟลามลน |
เหลือกตาขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน | สนั่นครั่นครื้นกุลาหล |
กวัดแกว่งอาวุธทั้งพันตน | วิ่งเข้าประจญประจัญบาน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ต่างตีต่างฟันต่างแทง | ต่างตนสำแดงกำลังหาญ |
ต่างถาต่างโถมโจมทะยาน | ขุนมารไม่คิดชีวัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิแรงแข็งขัน |
แล่นโลดโดดรับกุมภัณฑ์ | ด้วยกำลังอันวรารุทร |
ชิงได้กระบองยักษี | ตลบไล่ตีอุตลุด |
ต่างหาญต่อหาญทะยานยุทธ์ | ถ้อยทีสัประยุทธ์กันไปมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ขุนกระบี่ตีล้มลงเกลื่อนกลาด | แล้วชักตรีพิฆาตยักษา |
หัวขาดตัวขาดดาษดา | อสุราทั้งพันก็บรรลัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิดโอด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพวกพลมารน้อยใหญ่ |
เจ็บปวดเหลือตายกระจายไป | วิ่งตรงเข้าในพระบูรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงก็เข้าไปหา | มโหทรเสนายักษี |
เล่าความตามเรื่องที่ราวี | ถ้วนถี่เสร็จสิ้นทุกประการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | มโหทรผู้ใหญ่ใจหาญ |
ได้แจ้งแห่งคำหมู่มาร | ก็ลนลานเข้าในพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรบังคมทูล | นเรนทร์สูรธิราชรังสรรค์ |
ว่ามีลิงไพรใจฉกรรจ์ | มันนั้นเข้ามาในอุทยาน |
ทำลายพฤกษาผลาผล | ถอนชักหักต้นกิ่งก้าน |
ล้อมจับมันกลับรอนราญ | ผลาญหมู่กุมภัณฑ์มรณา |
ฝ่ายพระโอรสพันองค์ | รณรงค์ก็ม้วยสังขาร์ |
สิ้นทั้งม้ารถคชา | ด้วยมือลิงป่าพนาลี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
ได้ฟังคั่งแค้นแสนทวี | ดั่งหนึ่งอัคคีมาจ่อใจ |
ลุกจากแท่นแก้วแพร้วพรรณ | กระทืบบาทสนั่นหวั่นไหว |
สิบปากแผดร้องก้องไป | เหม่ไอ้ลิงไพรอหังการ |
มาทำทะนงองอาจ | ไม่เจียมตัวว่าชาติเดียรฉาน |
หมิ่นกูผู้วงศ์พรหมาน | จะวายปราณไม่ทันพริบตา |
ว่าแล้วตรัสสั่งนางกำนัล | จงเร่งชวนกันลงไปหา |
อินทรชิตผู้มีศักดา | ลูกรักกูมาบัดนี้ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นางพระกำนัลสาวศรี |
รับสั่งพญาอสุรี | ชุลีกรแล้วพากันรีบไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ชุบ
๏ ครั้นถึงปราสาทพระโอรส | นั่งลงประณตบังคมไหว้ |
ทูลว่าพระปิ่นราชัย | ให้ข้ามาแจ้งบทมาลย์ |
บัดนี้ยังมีลิงป่า | องอาจหยาบช้ากล้าหาญ |
ฆ่าพระอนุชาวายปราณ | โองการให้หาไปบัดนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตสุริย์วงศ์ยักษี |
แจ้งข่าวเร่าร้อนดั่งอัคคี | อสุรีกริ้วโกรธโกรธา |
ลุกจากแท่นแก้วอำไพ | พร้อมกำนัลในซ้ายขวา |
เสด็จยุรยาตรคลาดคลา | เข้ามายังท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรอภิวาทน์ | พระบิตุรงค์ธิราชรังสรรค์ |
ท่ามกลางอสุรกุมภัณฑ์ | คอยฟังบัญชาภูธร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวสิบพักตร์ชาญสมร |
ครั้นเห็นอินทรชิตฤทธิรอน | กวักกรตรัสเรียกโอรส |
แล้วมีพระราชบรรหาร | เล่าการทั้งปวงให้ฟังหมด |
เจ้าผู้สุริย์วงศ์ทรงยศ | จงยกหมู่ทศโยธา |
ออกไปสังหารราญรอน | วานรให้สิ้นสังขาร์ |
แม้นจับเป็นได้ก็จับมา | จะทำให้สาแก่ใจมัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ยอกรประนมบังคมคัล | กุมภัณฑ์สนองพจมาน |
พระองค์ผู้ปิ่นประชากร | อย่าเดือดร้อนด้วยไอ้เดียรัจฉาน |
ตัวมันผู้เดียวอหังการ | จะมีฤทธิ์กล้าหาญสักเพียงใด |
ข้าบาทจะรับไปจับมัน | มาถวายทรงธรรม์จงได้ |
ทูลแล้วก็ลากลับไป | ยังปราสาทชัยอสุรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งนั่งเหนืออาสน์ | อันโอภาสจำรัสรัศมี |
แล้วสั่งมหาเสนี | เร่งเตรียมโยธีไพร่นาย |
เลือกล้วนกำลังฤทธิรุทร | พร้อมสรรพอาวุธทั้งหลาย |
จะไปจับวานรตัวร้าย | มาถวายสมเด็จพระบิดร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งเสนามารชาญสมร |
รับสั่งลูกท้าวยี่สิบกร | แล้วรีบบทจรออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ประถม
ยานี
๏ เกณฑ์กระบวนทัพเบญจเสนี | ขี่แรดเสือสีห์เป็นกองหน้า |
ถือหลาวง้าวหอกปืนยา | เริงร่าสามหาวห้าวฮึก |
ปีกป้องกองขันล้วนตัวหาญ | ทะยานขึ้นขี่สิงห์กระทิงถึก |
แกว่งคทาขบฟันครั่นครึก | เคยโถมโจมศึกชั้นอินทร์ |
ยุกกระบัตรเกียกกายกองหลัง | ถือทวนดาบดั่งธนูศิลป์ |
ขี่อูฐขี่ม้านาคินทร์ | ขี่นกหัสดินกุญชร |
กองหลวงถือสรรพสาตรา | ขี่ละมั่งโคลากาสร |
พร้อมทั้งรถทรงอลงกรณ์ | ซับซ้อนคอยเสด็จอสุรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตสิทธิศักดิ์ยักษี |
ครั้นเสร็จซึ่งจัดโยธี | เสด็จมาเข้าที่สรงชล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ให้ไขท่อแก้วปทุมทอง | เป็นละอองโปรยปรายดั่งสายฝน |
หอมกระหลบอบอาบรสคนธ์ | ปรุงปนเรณูสุมามาลย์ |
แล้วทรงสนับเพลาภูษา | รจนาแย่งยกกระหนกก้าน |
ชายไหวชายแครงอลงการ | ฉลององค์ทองประสานดวงลอย |
ตาบทิศทับทรวงทับทิมพราย | สังวาลสามสายเฟื่องห้อย |
ทองกรพาหุรัดประดับพลอย | ธำมรงค์เพชรพร้อยเรือนสุบรรณ |
ทรงมหามงกุฎนพรัตน์ | กรรเจียกดอกไม้ทัดดวงกุดั่น |
จับศรนาคบาศดั่งไฟกัลป์ | จรจรัลมาขึ้นรถทรง ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ บาทสกุณี
โทน
๏ รถเอยรถศึก | แอกงอนพันลึกงามระหง |
กำแก้วสลับประดับกง | ธูปธารดุมวงอลงกรณ์ |
บุษบกบัลลังก์ลอยฟ้า | เทียมด้วยพญาไกรสร |
สารถีมือถือโตมร | ธงปักปลายงอนโบกบน |
มยุรฉัตรอภิรุมชุมสาย | ธงริ้วทิวรายสับสน |
โยธียัดเยียดอึงอล | กาหลฆ้องกลองโครมครึก |
สำเนียงเสียงพลโห่ร้อง | เริงร่าลำพองคะนองศึก |
มืดคลุ้มชอุ่มควันพันลึก | ขับกันคึกคึกรีบมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กราวนอก
๏ ครั้นถึงที่สวนอุทยาน | เห็นสหัสกุมารยักษา |
ตายอยู่กับพื้นพสุธา | มีความอาลัยสุดคิด |
แล้วเหลือบแลเห็นวานร | โกรธาดั่งศรเสียบจิต |
ให้หยุดรถแก้วชวลิต | จึ่งประกาศิตถามไป |
เหวยไอ้ลิงป่ากาลี | นามกรมึงนี้เป็นไฉน |
จึ่งทำอาจองทะนงใจ | มาลุยไล่ล้างเหล่าอสุรา |
ไม่เกรงกูผู้วงศ์พรหเมศ | ลือเดชทั่วทศทิศา |
ทรงเทพอาวุธอันศักดา | จะผลาญชีวาพานร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
ได้ฟังลูกท้าวยี่สิบกร | อ้างอวดฤทธิรอนพาที |
ตบมือสำรวลสรวลเย้ย | เหวยเหวยดูกรยักษี |
เหตุใดมาว่าเรานี้ | ดูหมิ่นอสุรีนั้นผิดไป |
ตัวกูผู้เดียวไม่มีเพื่อน | พวกเอ็งกล่นเกลื่อนไม่นับได้ |
เป็นหมู่หมู่กรูกันเข้าชิงชัย | จนใจจึ่งต้องโรมรัน |
เมื่อกระนี้จะว่าใครผิด | จงคิดดูเถิดอย่าหุนหัน |
ซึ่งถามนามกรเรานั้น | กุมภัณฑ์ประสงค์สิ่งใด |
แม้นว่าตัวเอ็งบอกก่อน | ภายหลังวานรจะบอกให้ |
อย่าพักอ้างอวดฤทธิไกร | กูไม่เกรงกลัวศักดา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ลูกท้าวทศเศียรยักษา |
ได้ฟังจึ่งร้องตอบมา | เหวยวานรป่าสาธารณ์ |
กูชื่ออินทรชิตสิทธิศักดิ์ | ทั่วทั้งไตรจักรก็ลือหาญ |
เป็นราชโอรสพญามาร | แต่ท้าวมัฆวานก็เกรงฤทธิ์ |
สาอะไรกับไอ้ลิงไพร | ที่ไหนจะทนศรสิทธิ์ |
บัดนี้จะสิ้นชีวิต | ด้วยฤทธิ์ของกูผู้ศักดา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
ได้ฟังจึ่งร้องตอบมา | เอ็งหรือชื่อว่าอินทรชิต |
เป็นลูกทศพักตร์ยักษี | พาทีอาจองทะนงจิต |
อ้างอวดศักดาวราฤทธิ์ | ถึงมีศรสิทธิ์มารอนราญ |
ตัวกูจะสู้แต่มือเปล่า | หักเอาด้วยกำลังหาญ |
ฆ่าเสียให้สิ้นสุดปราณ | ทั้งพวกพลมารที่ยกมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตสิทธิศักดิ์ยักษา |
ได้ฟังวานรเจรจา | โกรธาดั่งไฟบรรลัยกัลป์ |
ขบเขี้ยวเคี้ยวกรามกระทืบบาท | ร้องตวาดผาดเสียงดั่งฟ้าลั่น |
เหม่ไอ้ลิงไพรใจฉกรรจ์ | กูจะหั่นให้ยับลงกับกร |
ว่าพลางทางสั่งทวยหาญ | เหวยโยธามารชาญสมร |
เร่งกันล้อมจับวานร | ฟันฟอนให้ม้วยชีวี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่อสุรศักดิ์ยักษี |
รับสั่งถวายอัญชุลี | ขับกันอึงมี่เข้าไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บรรดาโยธีที่ขี่สัตว์ | แกว่งกวัดอาวุธล้อมไล่ |
ยิงธนูหน้าไม้ปืนไฟ | เสียงสนั่นหวั่นไหวสุธาธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจหาญ |
รับรองป้องกันประจัญบาน | โถมทะยานไล่ตีกุมกัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ยักษาเข้ากลุ้มรุมรอน | วานรกลับเลี้ยวกระหลบหัน |
ถีบตบขบกัดพัลวัน | จับกันอุตลุดเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่อสุรยักษา |
ยิ่งตายยิ่งหนุนเนื่องมา | เข้าไล่เข่นฆ่าวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ พุ่งซัดอาวุธสับสน | ต่างตนก็ยิงธนูศร |
บ้างแกว่งเสโลโตมร | ราญรอนไม่คิดชีวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
ผู้เดียวรบรุกคลุกคลี | ถาโถมโจมตีอสุรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ชิงได้อาวุธที่หมู่มาร | โลดโผนโจนทะยานเข่นฆ่า |
หัวขาดตีนขาดดาษดา | ยักษาตายยับทับกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิดโอด
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตฤทธิแรงแข็งขัน |
เห็นกระบี่ตีพลกุมภัณฑ์ | สุดสิ้นชีวันวายปราณ |
โกรธาชักศรพาดสาย | หมายพิฆาตให้สิ้นสังขาร |
น้าวหน่วงด้วยกำลังชัยชาญ | ขุนมารก็ผาดแผลงไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ เสียงสนั่นครั่นครื้นโกลาหล | เป็นศรเกลื่อนกล่นไม่นับได้ |
ต้องกายหนุมานชาญชัย | ด้วยฤทธิไกรราวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ลูกพระพายผู้ชาญชัยศรี |
ต้องศรอินทรชิตอสุรี | ไม่ระคายอินทรีย์วานร |
สองหัตถ์คว้าไขว่กลอกกลับ | รวบจับเอาได้ทุกเล่มศร |
หักเล่นย่อยยับกับกร | แล้วแผลงฤทธิรอนโผนไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ถีบต้องอินทรชิตอสุรา | ตกจากรัถาไม่ทนได้ |
ราชสีห์สารถีก็บรรลัย | รถชัยหักยับไม่สมประดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตสุริย์วงศ์ยักษี |
ตกลงกับพื้นปัถพี | อสุรีผุดลุกขึ้นยืนยัน |
พระหัตถ์กวัดแกว่งศรชัย | ว่องไวรวดเร็วดั่งจักรผัน |
ถาโถมโรมรุกบุกบัน | เข้าไล่โรมรันวานร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เท้าซ้ายเหยียบเข่ากระบี่ศรี | มือขวาอสุรีเงื้อศร |
กลอกกลับพัลวันประจัญกร | ต่างมีฤทธิรอนไม่ลดกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | หนุมานฤทธิแรงแข็งขัน |
หลีกหลบรบชิดติดพัน | ยืนยันเหยียบเข่าอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ มือขวาเงื้อง่าจะชิงศร | กรซ้ายกุมเศียรยักษี |
หันเหียนเปลี่ยนท่าราวี | ต่างรับต่างตีกันไปมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด