- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายฝูงสุราฤทธิ์ทุกทิศา |
ทั้งหกห้องสวรรค์ชั้นฟ้า | เจ้าป่าภูมิพฤกษ์เทวัญ |
ได้ฟังพระลักษมณ์สุริย์วงศ์ | ฝากองค์สีดาสาวสวรรค์ |
ให้เร่าร้อนฤทัยดั่งไฟกัลป์ | เทวัญเล็งทิพเนตรมา |
เห็นเจ้าลงกาพญายักษ์ | จะมาลักอัคเรศเสน่หา |
ต่างตระหนกตกใจเป็นโกลา | ทุกเมืองแมนแดนฟ้าสุราลัย |
ครั้นจะมารักษานางเทวี | กลัวเดชอสุรีไม่มาได้ |
ต่างทุกข์ต่างร้อนอาวรณ์ใจ | จึ่งตริไปแต่แรกอวตาร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ ก็รู้ว่าทศพักตร์ยักษา | มันจะสิ้นชีวาสังขาร |
เหตุด้วยสีดาเยาวมาลย์ | จะก่อการเคี่ยวฆ่าอสุรี |
ถึงมาตรมันพานางไป | จะเป็นไรแก่องค์พระลักษมี |
พระนารายณ์จะตามนางเทวี | ทั้งจะพบโยธีวานร |
ช่วยกันเคี่ยวเข็ญเข่นฆ่า | ให้สิ้นวงศ์อสุราด้วยแสงศร |
โลกาจะได้สถาวร | เพราะพระสี่กรปราบมาร |
ตริพลางต่างองค์โสมนัส | แซ่ซ้องตบหัตถ์ฉัดฉาน |
อื้ออึงไปทั่วจักรวาล | แสนสนุกสำราญทั้งเมืองฟ้า ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายท้าวทศพักตร์ยักษา |
ครั้นเห็นพระลักษมณ์อนุชา | ออกจากศาลาก็ยินดี |
ดั่งได้น้ำสุรามฤต | มาลูบทรวงดวงจิตยักษี |
แย้มยิ้มพริ้มพักตร์เปรมปรีดิ์ | อสุรีก็เด็ดใบไม้มา |
แล้วจึ่งยอกรขึ้นเหนือเกศ | โอมอ่านพระเวทคาถา |
เสกใบไม้ลูบกายา | ด้วยศักดาเดชกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ ตระ
๏ บัดเดี๋ยวกลับเป็นดาบส | อันมีพรตชำนาญฌานขยัน |
ห่มหนังเสือลายพรายพรรณ | เจิมจันทน์นุ่งผ้าคากรอง |
สอดสายธุหร่ำมุ่นชฎา | มือขวาถือตาลิปัตรป้อง |
สวมประคำมณีดั่งสีทอง | แล้วเดินย่องตามชายพนาลี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ พราหมณ์เข้า
๏ ครั้นถึงจึ่งแอบพุ่มไม้ | แลไปเห็นองค์มารศรี |
นั่งอยู่ที่หน้ากุฎี | งามลํ้านารีในเมืองอินทร์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ชมโฉม
๏ พิศพักตร์ผ่องพักตร์ดั่งจันทร | พิศขนงก่งงอนดั่งคันศิลป์ |
พิศเนตรดั่งเนตรมฤคิน | พิศทันต์ดั่งนิลอันเรียบราย |
พิศโอษฐ์ดั่งหนึ่งจะแย้มสรวล | พิศนวลดั่งสีมณีฉาย |
พิศปรางดั่งปรางทองพราย | พิศกรรณคล้ายกลีบบุษบง |
พิศจุไรดั่งหนึ่งแกล้งวาด | พิศศอวิลาศดั่งคอหงส์ |
พิศกรดั่งงวงคชาพงศ์ | พิศทรงดั่งเทพกินรา |
พิศถันดั่งปทุมเกสร | พิศเอวเอวอ่อนดั่งเลขา |
พิศผิวผิวผ่องดั่งทองทา | พิศจริตกิริยาก็จับใจ |
ยิ่งพิศยิ่งเพลินจำเริญรัก | พญายักษ์ครวญคิดพิสมัย |
สำราญแย้มยิ้มพริ้มไพร | ก็ตรงเข้าไปยังกุฎี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงซึ่งหน้าอาศรม | มีความชื่นชมเกษมศรี |
ทำเป็นสำรวมอินทรีย์ | ดั่งโยคีมีพรตจรรยา |
จึ่งร่ายคาถามหาละลวย | เป่ารวยตามลมไปตรงหน้า |
แล้วอวยพรพึมพำชำเลืองตา | ชัยตุมหาสถาวร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั่น | นวลนางสีดาดวงสมร |
เห็นดาบสเข้ามาถวายพร | งามด้วยสังวรอินทรีย์ |
มิได้มีใจสงกา | กัลยาประณตบทศรี |
แล้วกล่าวสุนทรวาที | พระมุนีนี้นามกรใด |
บำเพ็ญฌานสร้างพรตพรหมจรรย์ | ศาลาอารัญนั้นอยู่ไหน |
อตส่าห์บุกป่าฝ่าไพร | มีกิจสิ่งไรพระอาจารย์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรผู้ปรีชาหาญ |
ฟังเสียงฟังรสพจมาน | ปานอมฤตฟ้ายาใจ |
พร้อมทั้งจริตมารยาท | ยิ่งแสนพิศวาสหลงใหล |
จึ่งมีมธุรสตอบไป | รูปนี้ได้ชื่อว่าสุธรรม์ |
อยู่แดนลงกาธานี | ไม่มีโลโภโมหันธ์ |
ตั้งแต่รักษาพรหมจรรย์ | นานได้แปดพันปีมา |
ไม่สบายจึ่งเที่ยวจงกรม | ให้เป็นบรมสุขา |
พอแลเห็นบรรณศาลา | ตานี้ยินดีเป็นพ้นนัก |
จึ่งอุตส่าห์แวะเข้ามาดู | หวังว่าจะใคร่รู้จัก |
พบเจ้าเยาวยอดวิไลลักษณ์ | ผ่องพักตร์เสาวภาคย์จำเริญใจ |
มาอยู่ผู้เดียวที่ในป่า | ถิ่นฐานพาราเป็นไฉน |
อันนามกรชื่อไร | เหตุใดมาบวชเป็นโยคี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางสีดามารศรี |
ได้ฟังวาจาพระมุนี | เทวีจึ่งกล่าวสุนทร |
ตัวข้านี้เป็นอัคเรศ | พระราเมศสุริย์วงศ์ทรงศร |
มีนามสีดาบังอร | อยู่พระนครอยุธยา |
ผ่านฟ้ารับสัตย์พระบิตุรงค์ | มาทรงผนวชเป็นชีป่า |
ข้ากับพระลักษมณ์อนุชา | เสน่หาต่อเบื้องบทมาลย์ |
จึ่งออกมาตามปรนนิบัติ | ที่ในพนัสไพรสาณฑ์ |
แต่อยู่ที่นี่ก็ช้านาน | พึ่งเห็นพระอาจารย์วันนี้ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศพักตร์ยักษี |
ได้ฟังพจนารถเทวี | จึ่งกล่าววาทีอันสุนทร |
อนิจจาเจ้าผู้จำเริญพักตร์ | ทรงลักษณ์ยิ่งเทพอัปสร |
งามเสงี่ยมเอี่ยมองค์อรชร | จะหาเปรียบบังอรไม่เทียมทัน |
จะว่าโดยเอ็นดูอย่าน้อยใจ | ใช่จะแกล้งกล่าวเสกสรร |
เจ้ากับพระรามสามีนั้น | ไกลกันดั่งดินกับแผ่นฟ้า |
แม้นได้ไปเป็นมเหสี | ทศเศียรอสุรีจะดีกว่า |
สมบัติพัสถานเขาโอฬาร์ | เดชาปรากฏทั้งแดนไตร |
ท่านนั้นเป็นวงศ์พรหเมศ | ทั่วทุกเทเวศบังคมไหว้ |
ท้าวไร้อัคเรศอันพึงใจ | ที่จะได้เป็นปิ่นนารี |
เหมือนเจ้าไปร่วมเศวตฉัตร | งามดั่งเนาวรัตน์จำรัสศรี |
กับทิพสุวรรณอันรูจี | จะเป็นที่สรรเสริญทั้งโลกา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดเสน่หา |
ได้ฟังขัดแค้นแน่นอุรา | กัลยาจึ่งตรัสตอบไป |
อันทศเศียรขุนยักษ์ | ชั่วนักไม่มีใครเปรียบได้ |
เขารู้อยู่สิ้นทั้งแดนไตร | เหตุใดมาชมกันว่าดี |
ฝ่ายว่าพระรามสุริย์วงศ์ | คือองค์พระนารายณ์เรืองศรี |
อวตารมาผลาญอสุรี | ภูมีตั้งอยู่ในสัตย์ธรรม์ |
ไฉนกลับติเตียนด้วยคำคด | หรือดาบสพวกพาลโมหันธ์ |
ไม่รู้ว่าพิษเพลิงกัลป์ | มาประมาทเสกสรรเจรจา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษา |
ได้ฟังพจนารถนางกัลยา | อสุรายิ้มแล้วก็ตอบไป |
อนิจจารูปว่าจะให้ดี | กลับโกรธฤๅษีก็เป็นได้ |
อันพระรามสามีอรไท | ที่ไหนจะเทียมทศพักตร์ |
น้อยทั้งสมบัติพัสถาน | ศฤงคารบริวารอาณาจักร |
ทั้งฤทธีปรีชาก็อ่อนนัก | เปรียบกับพญายักษ์นั้นไกลกัน |
มาตรแม้นจะต่อฤทธา | แต่พริบตาก็จะม้วยอาสัญ |
รักเจ้าจึ่งว่าโดยธรรม์ | กัลยาคิดดูให้จงดี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางสีดามารศรี |
ได้ฟังถ้อยคำโยคี | ดั่งคมตรีเสียบกรรณกัลยา |
จึ่งว่าฤๅษีนี้ทุจริต | ไม่อยู่โดยกิจชีป่า |
มาดูหมิ่นองค์พระจักรา | ไม่มีฤทธาหรือว่าไร |
อันทูษณ์ขรตรีเศียรสามนาย | น้องชายทศกัณฐ์นั้นไปไหน |
กับพลสี่สิบสมุทรไท | คือใครสังหารชีวัน |
ถึงขุนยักษ์สิบพักตร์ยี่สิบกร | ไม่ครั่นศรพระนารายณ์รังสรรค์ |
สิ้นทั้งโคตรวงศ์พงศ์พันธุ์ | อย่าสำคัญว่าจะรอดชีวี |
เรานี้มิได้สมาคม | ฟังลมโกหกฤๅษี |
เร่งไปเสียจากกุฎี | อย่ามาเซ้าซี้เจรจา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพนาสูรยักษา |
ได้ฟังกริ้วโกรธโกรธา | อสุราร้องตวาดไป |
เหม่เหม่สีดายุพาพาล | ถ้อยคำสามานย์หยาบใหญ่ |
ยกผัวว่ามีฤทธิไกร | จะได้เห็นกันในวันนี้ |
ตัวเรามิใช่ดาบส | คือทศพักตร์ยักษี |
แม้นว่าพระรามมีฤทธี | จงมาต่อตีด้วยกัน |
ว่าแล้วกลับกลายเป็นรูปยักษ์ | สิบพักตร์กรแกว่งพระแสงขรรค์ |
สิบปากขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน | เนตรนั้นดั่งดวงสุริยา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางสีดาเสน่หา |
แลเห็นเป็นรูปอสุรา | กัลยาตระหนกตกใจ |
เรียกองค์พระลักษมณ์พระจักรี | จะมีสมประดีก็หาไม่ |
ร้องตรีดหวีดหวาดวุ่นไป | อรไทวิ่งหนีกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
เห็นนางสีดาวิลาวัณย์ | ตัวสั่นวิ่งร้องไม่สมประดี |
พญามารแย้มยิ้มพริ้มพราย | ตาหมายจะจับนางโฉมศรี |
ไล่ลัดสกัดทันที | อสุรีคว้าไขว่ไปมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นทันโฉมยงนงลักษณ์ | พญายักษ์กั้นกางขวางหน้า |
แล้วมีมธุรสวาจา | แก้วตาอย่าตระหนกตกใจ |
ความพี่รักเจ้าเยาวเรศ | เปรียบปานดวงเนตรก็เปรียบได้ |
ขอเชิญยุพยอดอรไท | มาไปเป็นศรีเมืองมาร |
จะตั้งเจ้าไว้ให้เป็นเอก | ร่วมเศวกฉัตรฉายฉาน |
ใหญ่กว่าสนมบริวาร | ในปราสาทสุรกานต์อลงกรณ์ |
ว่าพลางก็เข้าประคององค์ | ค่อยดำรงโอบอุ้มดวงสมร |
รับขวัญแล้วพาบังอร | บทจรไปรถมณี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งวางนางลง | ยังท้ายรถทรงจำรัสศรี |
ขับทะยานผ่านฟ้าด้วยฤทธี | พวกพลอสุรีก็ล้อมมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดเสน่หา |
เหลียวดูพระบรรณศาลา | กัลยาพ่างเพียงจะขาดใจ |
แลหาพระลักษมณ์พระจักรแก้ว | จะเห็นแว่วตามมาก็หาไม่ |
ยิ่งวิโยคโศกแสนอาลัย | อรไทครวญถึงพระภัสดา |
โอ้ว่าพระจอมมงกุฎเกศ | ก็แจ้งเหตุว่ากลยักษา |
ตัวข้าไม่ฟังพระบัญชา | ให้ผ่านฟ้าไปตามมฤคี |
พระลักษมณ์ทานทัดก็ขัดใจ | ขืนขับให้ไปช่วยพี่ |
อสุรามันจึ่งได้ที | ลักเมียหนีจากบทมาลย์ |
กลับมาจะเห็นศาลาเปล่า | จะโศกเศร้ากำสรดด้วยสงสาร |
อกเอ๋ยใครเลยจะแจ้งการ | แก่พระอวตารสี่กร |
ให้รีบตามมาบัดเดี๋ยวนี้ | สังหารอสุรีด้วยแสงศร |
สุดคิดเมียแล้วพระภูธร | ร่ำพลางบังอรก็โศกา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ โอด
ร่าย
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงสดายุราชปักษา |
อยู่ในวิมานอันโอฬาร์ | สกุณาคิดถึงพระจักรี |
นานแล้วมิได้ไปเยี่ยมบาท | พระนารายณ์ธิราชเรืองศรี |
ป่านนี้สามกษัตริย์ธิบดี | จะมีสุขหรือทุกข์ประการใด |
อย่าเลยวันนี้จะไปดู | ให้รู้ร้ายดีเป็นไฉน |
ก็ออกจากวิมานอำไพ | ถีบทะยานขึ้นในเมฆา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ แผละ
๏ ลมปีกลั่นปานพายุพัด | เมฆกลัดหมอกเกลื่อนพระเวหา |
สะท้านดงสะเทือนดินโกลา | มืดฟ้ามัวฝนอึงอล |
สิงขรสาครกัมปนาท | โลกธาตุลั่นทั่วทุกแห่งหน |
ปกศรีปิดแสงสุริยน | พยับบังโพยมบนอนธการ |
ถารีบถีบเร็วกว่าลมพัด | ปีกกวัดปัดแกว่งสำแดงหาญ |
ข้ามสมุทรเขาสุเมรุจักรวาล | ผ่านเมฆเผ่นมาด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ จึงเหลือบแลเห็นทศพักตร์ | ลักองค์สีดามารศรี |
ใส่ท้ายรถรัตนมณี | อสุรีแวดล้อมเหาะมา |
กริ้วโกรธพิโรธดั่งเพลิงกัลป์ | ราปีกเข้ากั้นขวางหน้า |
จึ่งร้องสำทับด้วยวาจา | ว่าเหวยดูกรขุนมาร |
เหตุใดตัวมึงจึงบังอาจ | ไปลักอัครราชยอดสงสาร |
ขององค์พระรามผู้ปรีชาญ | ไม่กลัววายปราณหรือว่าไร |
ท่านนั้นคือองค์พระทรงนาค | มาจากเกษียรสมุทรใหญ่ |
นี่พระลักษมีคู่ใจ | ไอ้จังไรจงเชิญนางเทวี |
คืนไปถวายพระทรงฤทธิ์ | จะได้รอดชีวิตยักษี |
แม้นเอ็งไม่ฟังเราพาที | กูจะผลาญชีวีอสุรา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษา |
ได้ฟังพญาสกุณา | โกรธาตวาดประกาศไป |
เหม่เหม่ไอ้ชาติเดียรฉาน | อหังการเจรจาหยาบใหญ่ |
ถึงมาตรนารายณ์เรืองชัย | ตัวกูไม่เกรงฤทธี |
กงการอะไรไอ้สู่รู้ | จะต่อสู้พระกาลเรืองศรี |
หัวมึงจะขาดจากอินทรีย์ | ด้วยมือกูนี้ไม่พริบตา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | สดายุฤทธิไกรใจกล้า |
ได้ฟังทศเศียรอสุรา | โกรธาดั่งไฟประลัยกัลป์ |
จึ่งร้องว่าเหวยไอ้ขุนยักษ์ | มึงนี้ทรลักษณ์โมหันธ์ |
อันท้าวทศรถทรงธรรม์ | สหายร่วมชีวันของกูมา |
เหตุใดจึ่งว่ามิใช่การ | นางสีดาเยาวมาลย์เสน่หา |
เป็นศรีสะใภ้ยอดธิดา | อสุราไม่รู้หรือว่าไร |
ถึงมึงสิบพักตร์ยี่สิบกร | หรือจะต่อฤทธิรอนกับกูได้ |
บัดเดี๋ยวจะม้วยบรรลัย | มึงอย่าอาจใจพาที |
ว่าแล้วกระหยับปีกร่อน | ด้วยกำลังฤทธิรอนปักษี |
บินไล่ถาโถมโจมตี | จิกหมู่อสุรีบริวาร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | อสุราห้าสิบทวยหาญ |
เห็นปักษีองอาจอหังการ | ต่างโถมทะยานเข้าราญรอน |
พุ่งซัดอาวุธสับสน | ต่างตนก็ยิงธนูศร |
ครื้นครั่นสนั่นอัมพร | ทินกรมืดคลุ้มชอุ่มควัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | สดายุฤทธิแรงแข็งขัน |
เข้าไล่โฉบฉาบพัลวัน | ประจัญกลางหมู่อสุรี |
ยักษ์หาญอาจกล้าไม่ละลด | ขุนนกทรหดไม่ถอยหนี |
เล็บหยิกปากจิกปีกตี | โยธีห้าสิบก็มรณา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด โอด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศพักตร์ยักษา |
เห็นพลสุดสิ้นชีวา | โกรธาขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน |
ยี่สิบกรกวัดแกว่งอาวุธ | สำแดงฤทธิรุทรดั่งจักรผัน |
กระทืบรถแก้วแพรวพรรณ | เข้าไล่บุกบันสกุณี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | จึ่งสดายุราชปักษี |
โฉบขยิกจิกฉาบอสุรี | คาบได้สารถีที่ขับรถ |
เท้าหยิกจิกด้วยจะงอยปาก | ถีบกระชากคอขาดเลือดหยด |
โฉบตีราชสีห์เลี้ยวลด | หมดทั้งสองพันก็บรรลัย |
อันรถซึ่งพญามารทรง | กำกงหักยับไม่ทนได้ |
แล้วบินถาโถมเข้าไป | หมายใจจะชิงเยาวมาลย์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรฤทธิไกรใจหาญ |
หัตถ์หนึ่งอุ้มนางเหาะทะยาน | สิบเก้ากรรอนราญสกุณี |
ด้วยกำลังศักดาวรารุทร | จนสิ้นอาวุธยักษี |
ยังแต่มือเปล่าเข้าราวี | ต่างตีสัประยุทธ์ไปมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ กุมภัณฑ์ประหวั่นพรั่นใจ | กลัวจะเสียชัยแก่ปักษา |
อุ้มนางพลางสู้สกุณา | ให้พะว้าพะวังด้วยบังอร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สดายุใจหาญชาญสมร |
บินขวางหน้าท้าวยี่สิบกร | สำแดงฤทธิรอนดั่งลมกัลป์ |
กางปีกแผ่หางพลางเย้ย | ว่าเหวยอสุรีโมหันธ์ |
สิบเศียรสิบพักตร์กุมภัณฑ์ | ยี่สิบหัตถ์อันชิงชัย |
พุ่งซัดอาวุธเป็นห่าฝน | จะต้องปลายขนก็หาไม่ |
ถึงทั้งสามภพจบแดนไตร | กูจะเกรงผู้ใดอย่าพึงคิด |
กลัวแต่พระสยมภูวนาถ | พระนารายณ์ธิราชจักรกฤษณ์ |
กับธำมรงค์พระอิศวรทรงฤทธิ์ | ที่ติดนิ้วน้อยนางมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศพักตร์ยักษา |
ได้ฟังพญาสกุณา | อสุราชื่นชมยินดี |
ทั้งสิ้นฤทธิ์สิ้นคิดคิดกลัวตาย | สุดหมายจะชนะปักษี |
จับข้อพระหัตถ์นางเทวี | อสุรีชิงถอดธำมรงค์ |
ซึ่งอยู่ในนิ้วกนิษฐา | องค์นางสีดานวลหง |
มุ่งมาดจะพิฆาตให้ปลดปลง | ก็ขว้างตรงไปด้วยกำลังกาย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ รัศมีโชติช่วงทั้งอากาศ | ต้องสดายุราชดั่งใจหมาย |
เพียงคมจักรแก้วแพรวพราย | ทำลายชีวิตสกุณี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาสดายุราชปักษี |
ครั้นต้องแหวนแก้วพระศุลี | เจ็บทั่วอินทรีย์โลมา |
สองปีกหางหักสลักอก | ตกลงมาจากเวหา |
ปากคาบธำมรงค์อลงการ์ | เอาใจไว้ท่าพระจักรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดามารศรี |
ครั้นเห็นพญาสกุณี | ต้องแหวนโมลีอลงการ |
ตกลงกับพื้นพสุธา | เวทนาถึงสิ้นสังขาร |
ความรักความเสียดายพ้นประมาณ | นงคราญครวญคร่ำรำพัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ โอ้ว่าสดายุเอ๋ย | ไม่ควรเลยจะสิ้นชีวาสัญ |
เรืองฤทธิไกรดั่งไฟกัลป์ | ลือทั่วสวรรค์ชั้นฟ้า |
ตั้งใจจงรักพระนารายณ์ | ไม่คิดกายต่อด้วยยักษา |
อสุรีก็จะแพ้ศักดา | ควรหรือยังว่าประมาทใจ |
เมื่อยังสงครามติดพัน | มาโมหันธ์เจรจาก็เป็นได้ |
จนถึงชีวันบรรลัย | ดั่งใช่เชื้อชาติอาชาชาญ |
เสียแรงเป็นพ่อสหายรัก | พระทรงจักรผู้ปรีชาหาญ |
กลับแพ้อสุราสาธารณ์ | สงสารเป็นพ้นคณนา |
ทีนี้ใครจะช่วยเจ็บร้อน | ชิงข้าจากกรยักษา |
ร่ำพลางแสนโศกโศกา | ปิ้มว่าจะสิ้นชีวี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยี่สิบกรยักษี |
รณรงค์มีชัยสกุณี | ก็อุ้มพระลักษมีเหาะมา |
เดชะบารมีโฉมฉาย | ให้บันดาลร้อนกายยักษา |
สิ้นแรงที่จะไปในเมฆา | ก็ลงมายังพื้นสุธาธาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งวางนางลง | นำองค์เยาวยอดสงสาร |
ดั้นดัดลัดพงดงดาน | ข้ามห้วยเหวธารผ่านไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ พญาเดิน
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาผู้ยอดพิสมัย |
เดินพลางทางโศกาลัย | อรไทเหลียวหาพระจักรี |
พอเห็นพญายูงทอง | เยื้องย่องบนยอดคีรีศรี |
จึ่งกล่าวสุนทรวาที | นกเอ๋ยจงมีเมตตา |
ช่วยนำเอาข่าวไปถวาย | องค์พระนารายณ์นาถา |
ว่ายักษีพาข้าหนีมา | แสนเวทนาลำบากใจ |
ความอายความแค้นนั้นสุดคิด | เห็นจะครองชีวิตไว้ไม่ได้ |
ให้พระองค์เร่งตามมาชิงชัย | สั่งพลางเดินไปด้วยกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เพลง
๏ ข้ามธารผ่านทุ่งวุ้งเขา | ตามลำเนาแนวป่าพนาสัณฑ์ |
จนชายบ่ายแสงสุริยัน | กัลยาเห็นฝูงวานร |
ลูกเกาะหน้าหลังพรั่งพรู | เลียบอยู่ที่เชิงสิงขร |
จึ่งมีวาจาว่าวอน | ดูก่อนท่านผู้สวัสดี |
ขอฝากภูษาไวัถวาย | องค์พระนารายณ์เรืองศรี |
เมตตาช่วยทูลพระจักรี | ว่าอสุรีมันลักน้องมา |
ว่าพลางนางเปลื้องสไบทรง | ออกส่งให้แก่กระบี่ป่า |
แล้วสั่งซ้ำร่ำไรโศกา | อย่าลืมคำข้าพี่วานร |
ให้พระเร่งตามไปโรมรัน | ผลาญชีวิตมันด้วยแสงศร |
ให้สิ้นโคตรอาสัตย์ดัสกร | ยังนครลงกาเมืองมาร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรผู้ปรีชาหาญ |
พาองค์สีดายุพาพาล | ข้ามธารแถวป่าพนาวัน |
มิได้หยุดหย่อนผ่อนกาย | จนชายบ่ายแสงพระสุริย์ฉัน |
ด้วยเกรงพระรามจะตามทัน | กุมภัณฑ์ถึงฝั่งสมุทรไท |
จึ่งคิดว่าสีดาทรงลักษณ์ | ทั่วทั้งไตรจักรไม่หาได้ |
แม้นกูจะพาเข้าไป | ไว้ในลงกาธานี |
จะเป็นที่เคืองใจเคืองตา | กับมณโฑกัลยามเหสี |
อย่าเลยจะพานางเทวี | ไปไว้ในที่อุทยาน |
คิดแล้วช้อนองค์นงลักษณ์ | พญายักษ์สำแดงกำลังหาญ |
เหาะข้ามสมุทรชลธาร | หมายสถานสวนแก้วมาลี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงตำหนักที่ประพาส | ในราชอุทยานยักษี |
ก็วางองค์สีดาเทวี | ลงที่แท่นแก้วอลงกรณ์ |
เดชะด้วยโพธิสมภาร | พระมารดาโลกดวงสมร |
พญายักษ์เข้าใกล้บังอร | ให้ร้อนฤทัยดังไฟกัลป์ |
สิบเศียรเพียงแตกทำลาย | ด้วยเดชะพระนารายณ์รังสรรค์ |
ก็เสด็จย่างเยื้องจรจรัล | ออกจากสุวรรณพลับพลา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งมีพระราชบรรหาร | สั่งสหัสกุมารโอรสา |
ให้ระวังระไวนางสีดา | ตรวจตรากำชับกันจงดี |
แม้นว่ามีเหตุเภทภัย | กูไม่ไว้ชีวิตยักษี |
สั่งแล้วสำแดงฤทธี | เหาะเข้าบูรีขุนมาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
แผลงศรต้องกวางสาธารณ์ | บรรลัยลาญสุดสิ้นชีวี |
จึ่งเอาเชือกเขาเถาวัลย์ | ผูกพันข้อเท้าทั้งสี่ |
เอาคันศรสอดคอนมฤคี | ก็เสด็จจรลีกลับมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
๏ ข้ามธารผ่านทุ่งวุ้งเวิ้ง | เลียบเชิงพนมแนวป่า |
เหลือบแลไปเห็นอนุชา | ผ่านฟ้าตระหนกตกใจ |
จึ่งตรัสถามว่าเจ้าลักษมณ์ | น้องรักของพี่เป็นไฉน |
จึ่งละนางสีดาผู้เดียวไว้ | เหตุใดมาเป็นดั่งนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
น้อมเศียรกราบบาทพระจักรี | ชุลีกรสนองพระบัญชา |
เมื่อกี้ได้ยินสำเนียง | สุรเสียงสมเด็จพระเชษฐา |
ว่ากวางกลายเป็นอสุรา | เข้ามาหักหาญชิงชัย |
มันมีศักดาสามารถ | ผู้เดียวไม่อาจต่อได้ |
สุดแรงสุดฤทธิ์สุดใจ | เห็นจะเสียชัยแก่กุมภัณฑ์ |
เรียกข้าให้รีบไปช่วย | แม้นช้าจะม้วยอาสัญ |
พระพี่นางได้ยินเสียงมัน | สำคัญว่าเสียงพระสี่กร |
ขับน้องให้ตามเบื้องบาท | พระตรีภูวนาถทรงศร |
ทูลว่าใช่เสียงพระภูธร | อสุรีหลอกหลอนเป็นมารยา |
พี่นางไม่เชื่อฟังคำ | พิไรรํ่าเพียงสิ้นสังขาร์ |
พ้อตัดขัดแค้นโกรธา | สารพันจะว่าที่ไม่ดี |
สุดคิดสุดที่จะขัดได้ | จำใจมาตามบทศรี |
ซึ่งข้าล่วงราชวาที | โทษนี้ถึงสิ้นชีวัน ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วรังสรรค์ |
ฟังข่าวเร่าร้อนดั่งเพลิงกัลป์ | ทรงธรรม์ทุ่มทิ้งมฤคี |
เอะผิดไปแล้วเจ้าลักษมณ์ | น้องรักผู้ร่วมชีวิตพี่ |
เห็นจะได้ทุกข์แสนทวี | ครั้งนี้จะฟายน้ำตา |
ตรัสแล้วสะท้อนถอนใจ | ภูวไนยเศร้าโทมนัสสา |
จึ่งชวนพระศรีอนุชา | เสด็จมาตามทางพนาวัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
โอ้ร่าย
๏ ข้ามธารผ่านเขาลำเนาทุ่ง | ให้สะดุ้งพระทัยไหวหวั่น |
ทศทิศมืดคลุ้มชอุ่มควัน | ฟ้าลั่นครั่นครื้นอึงอล |
อันพฤกษาชาติริมทาง | ม่วงปรางลางสาดที่ทรงผล |
ก็ผลิดอกออกช่อเสาวคนธ์ | ล้วนพิกลหลายหลากประหลาดใจ |
ฝ่ายหมู่ปักษาทิชากร | จะบินร่อนไปมาก็หาไม่ |
จับเจ่าเหงาเงียบสงัดไป | มิได้ขานขันจำนรรจา |
อีกทั้งพระแสงศรทรง | เผอิญตกลงจากหัตถา |
สารพันแปลกใจนัยนา | ก็รีบมาอารัญกุฎี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงศาลาอาวาส | ไม่เห็นอัครราชมเหสี |
ตกใจดั่งจะม้วยชีวี | ภูมีเที่ยวหาอรไท ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ ค้นทุกสุมทุมพุ่มพง | ริมจังหวัดวงที่อาศัย |
ทั้งท่านํ้าสระสวนดอกไม้ | เที่ยวไปไม่พบกัลยา |
สองกษัตริย์ก็ทรุดนั่งลง | ต่างองค์เศร้าโทมนัสสา |
ชลเนตรคลอดวงนัยนา | ต่างแสนโศการํ่าไร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
โอ้
๏ โอ้ว่าสีดาของพี่เอ๋ย | ทรามเชยเยาวยอดพิสมัย |
เพื่อนยากลำบากเดินไพร | พี่ก็ถนอมใจนางเทวี |
อันกลอสุรีก็แจ้งอยู่ | แต่สุดรู้ที่จะขัดโฉมศรี |
ถึงมาตรไปตามมฤคี | พี่นี้ไม่วางวิญญาณ์ |
จึ่งให้พระลักษมณ์อยู่ด้วย | หวังช่วยพิทักษ์รักษา |
แม้นว่ามิขับอนุชา | ที่ไหนแก้วตาจะหายไป |
สุดคิดพี่แล้วครั้งนี้ | จะรู้ที่ติดตามไปหนไหน |
ตั้งแต่จะโศกาลัย | ตายอยู่ที่ในหิมวา |
เสียทีที่ได้อวตาร | มาปราบพวกพาลยักษา |
ไตรโลกก็จะล่วงนินทา | ว่าไม่รู้กลอสุรี |
ครั้นจะกลับคืนนคเรศ | ก็อายแก่เทเวศร์ทุกราศี |
รํ่าพลางทางทรงโศกี | ดั่งหนึ่งชีวีจะบรรลัย ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ โอด
โอ้
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ผู้มีอัชฌาสัย |
คิดว่าพระองค์ทรงฤทธิไกร | ภูวไนยสิ้นชีพชีวัน |
จึ่งเข้าสวมกอดบาทบงสุ์ | พระเชษฐาสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ซบพักตร์โศกาจาบัลย์ | รำพันฟูมฟายชลนา |
โอ้พระหริวงศ์ทรงภพ | เลื่องชื่อลือจบทุกทิศา |
ควรเป็นจรรโลงโลกา | หรือมาสิ้นชีวาอยู่กลางดิน |
มาทิ้งน้องไว้ไม่อาวรณ์ | ภูธรกลับไปบรรทมสินธุ์ |
ใครจะได้แก้แค้นไพริน | ซึ่งดูหมิ่นลักองค์อรไท |
โอ้พระลักษมีโฉมยง | ป่านนี้พระองค์จะเป็นไฉน |
อกเอ๋ยทุกข์เดียวไม่สาใจ | ภูวไนยซํ้าสิ้นชีวา |
กลับเป็นสองทุกข์ดั่งนี้ | สุดที่น้องจะคงสังขาร์ |
รํ่าพลางซบพักตร์โศกา | สลบกับบาทาพระอวตาร ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ โอด
ยานี
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายองค์เจ้าตรัยตรึงศ์สถาน |
เสด็จเหนือทิพอาสน์อลงการ | ในมหาวิมานรูจี |
พร้อมด้วยสุรางค์อัปสร | ถวายกรฟ้อนรำดีดสี |
มิได้มีสุขสวัสดี | อินทรีย์เร่าร้อนดั่งเพลิงกัลป์ |
จึ่งเล็งดูด้วยทิพเนตร | เห็นพระนเรศรังสรรค์ |
กับองค์อนุชาวิลาวัณย์ | สลบอยู่หน้าบรรณศาลา |
ตกใจกลัวองค์พระนารายณ์ | จะวายชีวิตสังขาร์ |
จึ่งพาฝูงเทพเทวา | เหาะมาด้วยกำลังฤทธิรณ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เหาะ
๏ เลื่อนลอยอยู่บนคัคนานต์ | บันดาลเป็นละอองฝอยฝน |
ต้ององค์พระลักษมณ์พระภุชพล | เย็นทั่วสกนธ์อินทรีย์ |
แล้วมีเทวราชประกาศมา | ให้พระจักราเรืองศรี |
ตามนางทางทิศหรดี | จะมีผู้บอกข่าวเยาวมาลย์ |
จึ่งจะได้ไปล้างหมู่ยักษ์ | ให้ไตรจักรเป็นสุขเกษมศานต์ |
ว่าแล้วพาฝูงบริวาร | กลับไปสถานวิมานฟ้า ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | สองกษัตริย์สุริย์วงศ์นาถา |
ครั้นต้องละอองทิพธารา | ค่อยสว่างวิญญาณ์สมประดี |
ต่างฟื้นพระองค์ดำรงกาย | ฝ่ายพระนารายณ์เรืองศรี |
จึ่งมีพจนารถวาที | เจ้าพี่ผู้ร่วมชีวาลัย |
เมื่อกี้เสียงใครร้องประกาศ | นุชนาฏได้ยินหรือหาไม่ |
ให้เราไปตามอรไท | จะได้ซึ่งข่าวกัลยา |
ตรัสแล้วต่างจับศรทรง | สององค์เศร้าโทมนัสสา |
ออกจากบริเวณศาลา | บ่ายหน้าไปทิศหรดี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
พญาโศก
๏ เสด็จโดยพนมพนาเวศ | ทอดพระเนตรเห็นศพยักษี |
เรี่ยรายตามชายพนาลี | พระจักรีพินิจพิศไป |
หัวขาดตีนขาดแขนหลุด | จะเป็นรอยอาวุธก็มิใช่ |
ยิ่งคิดฉงนสนเท่ห์ใจ | ภูวไนยก็รีบเสด็จมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เดินพลางพิศดูทุกย่างบาท | เห็นสดายุราชปักษา |
ปีกหักหางหักเวทนา | ผ่านฟ้าตระหนกตกใจ |
เข้าใกล้แล้วกล่าวพจมาน | ท่านนี้เหตุการณ์เป็นไฉน |
รณรงค์สงครามด้วยผู้ใด | จึงได้เจ็บชํ้าทั้งอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาสดายุปักษี |
ครั้นเห็นพระลักษมณ์พระจักรี | สกุณีจึ่งแจ้งกิจจา |
ต้วข้าคิดถึงพระสี่กร | ก็เขจรมาโดยเวหา |
พบทศกัณฐ์อสุรา | ลักนางสีดายุพาพักตร์ |
ใส่รถมากลางโพยมหน | จึ่งเข้าประจญหาญหัก |
หวังจะชิงองค์นงลักษณ์ | จากกรขุนยักษ์ชาญฉกรรจ์ |
หักรถฆ่าพลโยธา | บรรดามาก็ม้วยอาสัญ |
จนสิ้นอาวุธกุมภัณฑ์ | ข้าเยาะเย้ยมันประมาทไป |
ว่ากลัวแต่แหวนแก้วที่นางทรง | ขององค์พระอิศวรประทานให้ |
อสุรีไม่คิดละอายใจ | ถอดได้จากก้อยกัลยา |
ขว้างมาต้องปีกหางหัก | เพียงจักสิ้นชีพสังขาร์ |
ว่าพลางถวายแหวนพระจักรา | สกุณาก็สิ้นชีวัน ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | สองกษัตริย์สุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ฟังสดายุรํ่ารำพัน | แจ้งข่าวองค์กัลยาณี |
ถวายแหวนแล้วสิ้นชนมาน | สงสารพญาปักษี |
ทั้งทุกข์ทั้งแค้นแสนทวี | โศกีรํ่ารักสกุณา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
โอ้
๏ โอ้ว่าสดายุฤทธิรงค์ | เสียทีอาจองแกล้วกล้า |
สงครามหรือประมาทวาจา | จนเสียชีวาแก่ขุนมาร |
เสียแรงที่มีกำลังฤทธิ์ | ทศทิศเลื่องชื่อลือหาญ |
เสียยศอัปยศทั้งไตรดาล | ผ่านฟ้ารํ่าพลางทางโศกี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๏ ครั้นค่อยคลายความอาวรณ์ | พระสี่กรธิราชเรืองศรี |
ก็ทรงพลายวาตอันฤทธี | ภูมีแผลงสนั่นครรชิต ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เกิดเป็นมหาเมรุมาศ | โอภาสดั่งวิมานในดุสิต |
ห้ายอดมีมุขทั้งสี่ทิศ | พึงพิศจำเริญนัยนา |
รุ่งเรืองด้วยเครื่องประดับครบ | สวมศพพญาปักษา |
เสร็จแล้วสมเด็จพระจักรา | ผ่านฟ้าแผลงอัคนีไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เป็นเพลิงเริงแรงแสงฉาน | เผาผลาญซากศพหมดไหม้ |
แล้วเป็นห่าฝนดับไฟ | ด้วยฤทธิไกรพระจักรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ รัว
๏ ครั้นเสร็จปลงศพสกุณา | ก็พาพระอนุชาเรืองศรี |
ยุรยาตรนาดกรจรลี | มาตามวิถีพนาวัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ จึ่งแลไปเห็นพระไทร | มณฑลสูงใหญ่ดั่งฉัตรกั้น |
ร่มชิดมิดแสงสุริยัน | ผลนั้นดกดาษสะอาดตา |
สองกษัตริย์เร่งรีบบทจร | ทินกรร้อนแรงแสงกล้า |
ก็เข้าอาศัยในฉายา | หวังว่าจะระงับอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงอสุรกุมพลยักษี |
มีกายแต่เพียงนาภี | อสุรีทรงกำลังฤทธา |
เติบโตใหญ่สูงเงื้อมง้ำ | อ้าปากปานถํ้าคูหา |
สองเนตรดั่งดวงพระสุริยา | ยักษาต้องสาปพระทรงญาณ |
ถึงหกหมื่นปีแต่ทนทุกข์ | ไม่มีสิ่งสุขเกษมศานต์ |
ต่อสัตว์เข้าวงมือมาร | จึ่งให้เป็นอาหารเลี้ยงชีวี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ เมื่อนั้น | พระอวตารทรงสวัสดิ์รัศมี |
หยุดระงับดับร้อนอินทรีย์ | ภูมีค่อยสบายวิญญาณ์ |
พระพายชายพัดมาอ่อนอ่อน | ทินกรเลี้ยวลับเหลี่ยมผา |
สองกษัตริย์ก็พากันเดินมา | เข้าวงหัตถากุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | กุมพลฤทธิแรงแข็งขัน |
เห็นสองมนุษย์วิไลวรรณ | พากันเข้ามาก็ดีใจ |
สำรวลสรวลสันต์อึงมี่ | ตัวกูวันนี้มีลาภใหญ่ |
ทรหดอดอยากอยู่ในไพร | ช้านานมิได้พบรส |
เลือดเนื้อของมันทั้งสิ้น | กูนี้จะกินเสียให้หมด |
คิดจะจับองค์พระทรงยศ | ให้หวาดหวั่นรันทดทั้งกายา |
เอะแล้วนารายณ์อวตาร | ลงมาปราบมารกระมังหนา |
จึ่งเผอิญให้กูผู้ศักดา | เกรงกลัวฤทธาดั่งนี้ |
คิดแล้วกล่าวคำอันสุนทร | ดูก่อนมนุษย์ทั้งสองศรี |
แน่งน้อยเสาวภาคย์ทั้งอินทรีย์ | มีนามกรชื่อใด |
เชื้อชาติสุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์ | บ้านเมืองท่านนั้นอยู่ไหน |
จึ่งบวชเป็นฤๅษีชีไพร | มาไยในมืออสุรา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกนาถา |
ได้ฟังจึ่งมีบัญชา | ว่าเหวยพญากุมภัณฑ์ |
เราชื่อพระรามสุริย์วงศ์ | คือองค์พระนารายณ์รังสรรค์ |
ฦๅสิทธ์วิทยาเทวัญ | ประชุมกันเชิญให้อวตาร |
มาเกิดในกรุงศรีอยุธยา | วงศ์จักรพัตรามหาศาล |
หวังปราบอสูรหมู่มาร | ที่สาธารณ์เป็นเสี้ยนธาตรี |
ตัวเรารับสัตย์พระบิตุเรศ | จึ่งมาทรงเพศเป็นฤๅษี |
กับพระลักษมณ์นางสีดาเทวี | มาสร้างพรตอยู่ที่พนาลัย |
ทศพักตร์มันลักบังอร | บทจรทางนี้หรือไฉน |
ตัวเราตามองค์อรไท | หวังจะไปสังหารอสุรา |
ท่านนี้มีกายแต่กึ่งตน | เหตุผลสิ่งใดนะยักษา |
จึ่งมาทนทุกข์เวทนา | อยู่ที่ในป่ากันดาร ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | อสุรกุมพลใจหาญ |
แจ้งว่านารายณ์อวตาร | กราบกับบทมาลย์ด้วยยินดี |
ทูลว่าข้าชื่อกุมพล | คนโปรดพระอิศวรเรืองศรี |
ลอบหยอกนางนิลมาลี | ซึ่งบำเรอเจ้าตรีโลกา |
นางร้องอื้อฉาวกล่าวโทษ | ทราบโสตพระบรมนาถา |
กริ้วโกรธจับจักรขว้างมา | ต้องกายาขาดกึ่งตน |
แล้วจึ่งสาปซ้ำให้ลำบาก | ทนยากอยู่ในป่าพนาสณฑ์ |
ต่อพบสมเด็จพระภุชพล | จึ่งให้พ้นคำสาปพระศุลี |
อันทศเศียรขุนยักษ์ | ลักนางสีดามเหสี |
เหาะไปข้างทิศหรดี | อสุรีนั้นอยู่ลงกา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์นาถา |
ได้ฟังกุมพลอสุรา | บอกข่าวสีดาเยาวมาลย์ |
สุดฤทธิ์สุดคิดจะตามทัน | ให้หวาดหวั่นพระทัยดั่งไฟผลาญ |
อาลัยถึงองค์นงคราญ | สงสารเป็นพ้นพันทวี |
ชลเนตรคลอเนตรถอนใจ | ภูวไนยตรัสถามยักษี |
อันทางไปลงกาธานี | นี้ใกล้หรือไกลอสุรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งอสูรกุมพลยักษา |
น้อมเศียรกราบลงกับบาทา | แล้วยกหัตถ์ขวาชี้ไป |
อันทางลงการาชฐาน | จะประมาณมากน้อยนั้นไม่ได้ |
กันดารลำบากยากใจ | ข้ามไศลห้วยเหวสีขริน |
เมื่อใดไปถึงพารา | ชื่อว่านครขีดขิน |
จงถามพาลีลูกอินทร์ | ซึ่งได้กินเมืองนั้นต่อไป |
พระองค์จะได้พลากร | วานรทั้งสองกรุงใหญ่ |
ขีดขินชมพูเวียงชัย | จึ่งจะได้ข้ามไปลงกา |
แต่ข้าทนทุกข์ลำบากนัก | พระทรงจักรจงโปรดเกศา |
ช่วยส่งให้พ้นเวทนา | คืนไปเป็นข้าพระศุลี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
ได้ฟังกุมพลอสุรี | ชี้แจงมรคาพนาดร |
มีความเมตตาการุญนัก | จึ่งชักพรหมาสตร์ธนูศร |
ผาดแผลงด้วยกำลังฤทธิรอน | อัมพรมืดมนอนธการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ ศิลป์ชัยต้องกายกุมพล | วายชนม์สิ้นชีพสังขาร |
ไปเกิดในทิพวิมาน | ยังสถานไกรลาสคีรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๏ ครั้นเสร็จส่งกุมพลยักษ์ | พระจักรแก้วทรงสวัสดิ์รัศมี |
กับองค์พระลักษมณ์ร่วมชีวี | จรลีตามมรคาไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
โทนชมดง
๏ เดินทางในหว่างบรรพต | เลี้ยวลดตามเชิงเขาใหญ่ |
เห็นฝูงปักษาคณาใน | อาลัยถึงองค์วนิดา |
นกแก้วจับกิ่งแก้วพลอด | เหมือนเสียงเยาวยอดเสน่หา |
สาลิกาจับกรรณิการ์ | จำนรรจาเหมือนเจ้าพาที |
แขกเต้าจับเต่าร้างร้อง | เหมือนพี่ร้างห่างห้องมารศรี |
เบญจวรรณจับวัลย์มาลี | เหมือนวันเจ้าวอนพี่ให้ตามกวาง |
นกยูงจับยูงโหยหวน | เหมือนพี่โหยหานวลผู้แนบข้าง |
นกหว้าจับหว้าริมทาง | เหมือนว่านางไม่เชื่อวาจา |
นางนวลจับนางนวลนอน | เหมือนนวลเนื้อดวงสมรเสน่หา |
จากพรากจับจากแล้วร่อนรา | เหมือนพี่กับแก้วตาจากกัน |
นกลางจับลางลิงร้อง | เหมือนลางเมื่อพลัดน้องพี่โศกศัลย์ |
ครวญพลางพระเสด็จจรจรัล | ทรงธรรม์สะอื้นโศกี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ โอด