- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถรังสรรค์ |
ครั้นสิ้นแสงสีรวีวรรณ | แสงจันทร์จำรัสอัมพร |
ประดับด้วยดวงดาราราย | เลื่อมพรายโอภาสประภัสสร |
พระเสด็จสิงหาสน์บัญชร | พร้อมหมู่นิกรกำนัลใน |
ฟ้อนรำบำเรอเบื้องบาท | พิณพาทย์จำเรียงเสียงใส |
ไพเราะเสนาะจับใจ | สำราญราชฤทัยภูมี |
ให้หวนรำพึงคะนึงนัก | ถึงนงลักษณ์โฉมไกยเกษี |
ด้วยไม่เห็นองค์เทวี | ในที่ท่ามกลางนางกำนัล ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ จึ่งชำระสระสรงทรงเครื่อง | อร่ามเรืองดั่งเทพรังสรรค์ |
แล้วเสด็จย่างเยื้องจรจรัล | ฝูงอนงค์ทั้งนั้นก็ตามมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงห้องแก้วสุวรรณรัตน์ | จึ่งยื่นพระหัตถ์เบื้องขวา |
แหวกม่านสุวรรณอลงการ์ | ผ่านฟ้าเหลือบแลแปรไป |
เห็นนางโศกาจาบัลย์ | จะทันรู้กลหญิงก็หาไม่ |
ด้วยความเสน่หาอาลัย | ก็เข้าไปนั่งแนบเทวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
โอ้ชาตรี
๏ ลูบหลังแล้วมีพจนารถ | สายสวาทนิ่มเนื้อมารศรี |
เป็นไฉนจึ่งทรงโศกี | แสนทวีเทวษเวทนา |
โรคาแผ้วพานประการใด | หรือใครให้เคืองจิตขนิษฐา |
ตรัสพลางทางเช็ดชลนา | เจ้าอย่าโศกาอาวรณ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางไกยเกษีดวงสมร |
ได้ฟังบรรหารพระภูธร | บังอรยิ่งโศกาลัย |
ทำสะอึกสะอื้นด้วยมารยา | จะสนองบัญชาก็หาไม่ |
แต่สะท้อนถอนทอดฤทัย | ในที่แท่นแก้วอลงการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
โลม
๏ น้องเอยน้องรัก | เยาวลักษณ์ผู้ยอดสงสาร |
เป็นไฉนฉะนี้นะนงคราญ | จึ่งแสนโศกทรมานไม่พาที |
พี่นี้ฉงนสนเท่ห์ใจ | ให้เร่าร้อนฤทัยดังเพลิงจี่ |
อันจะนิ่งโศกาอยู่ดั่งนี้ | เหมือนจะแกล้งให้พี่เวทนา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางไกยเกษีเสน่หา |
สะอื้นพลางพลางทูลกิจจา | ข้าไม่มีโรคาสิ่งใด |
แต่ให้ชอกช้ำระกำจิต | คิดน้อยใจตัวจึ่งร้องไห้ |
เสียแรงภักดีต่อภูวไนย | ไม่อาลัยแก่ชีพชีวี |
เมื่อไปล้างปทูตกุมภัณฑ์ | ในชั้นพิภพโกสีย์ |
สู้เอากรต่างเพลารถมณี | จึ่งผลาญอสุรีบรรลัยลาญ |
พระองค์ให้สัตย์สัญญา | โองการดั่งงาคชสาร |
ข้าบาทดูมาก็ช้านาน | ยังไม่ได้ประทานสิ่งใด ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
โลม
๏ ดวงเอยดวงเนตร | อัคเรศผู้ยอดพิสมัย |
รักนางพ่างเพียงฤทัย | ว่าไยฉะนี้วนิดา |
ซึ่งเจ้าจงรักสุจริต | สู้เสียชีวิตสังขาร์ |
ความชอบนั้นพ้นคณนา | ใช่ว่าลืมไปเมื่อไรมี |
สิ่งใดซึ่งน้องต้องประสงค์ | แก้วตาเจ้าจงบอกพี่ |
จะให้สมปรารถนานางเทวี | มารศรีอย่าโศกาลัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระเยาวมาลย์ผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังบรรหารภูวไนย | บังคมไหว้สนองพระวาจา |
ข้าจะขอสัตย์ที่ปฏิญาณ | ผ่านเกล้าจงโปรดเกศา |
ซึ่งจะให้พระรามลูกยา | เป็นปิ่นโลกาประชากร |
พระองค์จงได้เงือดงด | ขอให้โอรสของข้าก่อน |
ให้พระรามไปจากพระนคร | สัญจรเดินไพรสิบสี่ปี |
จึ่งกลับมาครองนคเรศ | เป็นมงกุฎเกศบุรีศรี |
ความปรารถนาข้าเท่านี้ | ภูมีจงให้สมคิด ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระบิตุรงค์องค์พระจักรกฤษณ์ |
ได้ฟังดั่งต้องปืนพิษ | ชีวิตเพียงม้วยด้วยวาจา |
น้อยหรืออีไกยเกษี | ใจมันกาลีริษยา |
จะแกล้งมาผลาญชีวา | ให้กูมรณาไม่อาลัย |
อันน้ำใจหญิงทั้งไตรจักร | จะเหมือนอีทรลักษณ์นี้หาไม่ |
จะใคร่แหวะอกดูหัวใจ | ให้สมที่มันสาธารณ์ |
แล้วกลับตรึกไปถึงความสัตย์ | ยิ่งเคืองขัดเร่าร้อนดังเพลิงผลาญ |
ฆ่าเสียก็จะเสียปฏิญาณ | จำจะพจมานโดยดี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
โลม
๏ สุดเอยสุดสวาท | นุชนาฏผู้มิ่งมารศรี |
รักเจ้าเท่าดวงชีวี | ไฉนว่าดั่งนี้นะทรามวัย |
อันองค์พระพรตเป็นน้อง | จะครองเมืองก่อนพี่กระไรได้ |
ผิดประเวณีธรรมแต่ก่อนไป | ไตรโลกจะล่วงนินทา |
แม้นขออื่นจะให้เทวี | ขัอนี้เหมือนเจ้าริษยา |
แก่องค์พระรามลูกยา | แก้วตาคิดดูให้ควรการ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | นางไกยเกษียอดสงสาร |
ได้ฟังจึ่งตอบพจมาน | ด้วยปรีชาชาญทันที |
ซึ่งมีมธุรสพจนารถ | ข้าบาททราบเกล้าเกศี |
อันวงศ์กษัตริย์ในธาตรี | ทั่วทุกบุรีกรุงไกร |
ย่อมเสวยโภไคยไอศูรย์ | โดยประยูรอันดับน้อยใหญ่ |
ตามเรื่องเนื่องวงศ์ลงไป | ด้วยมิได้ให้สัตย์ไว้ต่อกัน |
ข้าไม่จำนงจงจิต | ริษยาพระรามรังสรรค์ |
จะช่วยบำรุงสัตย์พระทรงธรรม์ | ให้โลกนั้นลือทั่วทั้งไตรดาล ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจอมจักรพรรดิมหาศาล |
ได้ฟังเร่าร้อนในวิญญาณ | ปานดั่งต้องสายอสุนี |
ตะลึงคิดเป็นครู่แล้วบัญชา | อนิจจานางไกยเกษี |
แสนรักพี่รักพันทวี | ครั้งนี้ควรหรือไม่อาลัย |
ซึ่งให้สัตย์เจ้าก็จริงอยู่ | โฉมตรูหาขอสิ่งใดไม่ |
ครั้นจะให้พระรามผ่านเวียงชัย | แกล้งมาทำให้เสียการ |
จะดีอยู่แต่สัตย์สัญญาเจ้า | คำเราสั่งแล้วดั่งงาสาร |
กลายกลับก็จะได้อัประมาณ | นงคราญไม่คิดปรานี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | โฉมนวลนางไกยเกษี |
ได้ฟังพระราชวาที | ชุลีกรสนองพระบัญชา |
ซึ่งจะยกสมบัติให้พระราม | ข้อนี้เป็นความหลังข้า |
อันสัตย์ซึ่งพระองค์สัญญา | ดั่งจารึกศิลาลงไว้ |
พระรามก็ยังไม่มีชอบ | ไฉนพระจึ่งมอบสมบัติให้ |
ไม่ปรึกษาหารือประการใด | ภูวไนยกลับกล่าวดั่งนี้ |
เมื่อพระองค์ยังทรงเศวตฉัตร | เป็นจอมจักรพรรดิเรืองศรี |
ฝ่ายข้าก็ยังไม่ได้ที | นี่จะยกให้พระรามา |
เห็นจะไม่ได้เหมือนสัญญาไว้ | จึ่งขอเมืองให้ลูกข้า |
พระองค์จงทรงพระเมตตา | ขอประทานโทษาในครั้งนี้ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถเรืองศรี |
ยิ่งฟังยิ่งแค้นแสนทวี | ภูมีอัดอั้นฤทัย |
อนิจจาควรหรือมาอาธรรม์ | น้ำใจฉกรรจ์หยาบใหญ่ |
รักแต่ลูกตัวไม่อายใจ | จะให้ผ่านโภไคศวรรยา |
ก่อนองค์พระรามผู้พี่ | เห็นดีก็ตามปรารถนา |
แต่ซึ่งจะให้พระจักรา | ออกไปอยู่ป่าพนาลัย |
ข้อนี้เห็นผิดธรรมนัก | อันจักฟังเจ้านั้นไม่ได้ |
แม้นพระรามจากเมืองวันใด | พี่จะม้วยบรรลัยด้วยอาวรณ์ |
เจ้าจงกลับหลังยั้งคิด | เหมือนบำรุงชีวิตเราไว้ก่อน |
อย่ากำจัดให้พลัดพระนคร | ดวงสมรจงได้เมตตา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางไกยเกษีเสน่หา |
ยอกรสนองพระบัญชา | ผ่านฟ้าเลือกว่าแต่ความดี |
อันตัวของข้านี้จงรัก | สามิภักดิ์ต่อเบื้องบทศรี |
หวังบำรุงสัตย์ภูมี | ให้ตรีโลกปรากฏพระยศไป |
เหมือนหนึ่งความสัตย์พระบิตุรงค์ | มั่นคงหาขุ่นมัวไม่ |
เชือดเนื้อแลกชีวิตสัตว์ไว้ | มิได้อาลัยแก่ชีวัน |
นี่แต่พระรามจะทรงพรต | เป็นดาบสไปอยู่ไพรสัณฑ์ |
แต่สิบสี่ปีไม่ช้าพลัน | พระลูกนั้นก็คืนเวียงชัย |
พระองค์ผู้ทรงโลกา | จะด่วนดับชีวาหาควรไม่ |
จะเป็นที่พึ่งภพไตร | ภูวไนยดำริดูให้ดี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถเรืองศรี |
ได้ฟังกริ้วโกรธดั่งอัคคี | จับพระขรรค์โมลีศักดา |
กระทืบบาทแล้วมีบรรหาร | เหวยอีคนพาลริษยา |
กูไม่รู้เลยว่าเป็นกา | ใจบาปหยาบช้าอาธรรม์ |
ส่วนว่าลูกมึงสิมึงรัก | ลูกเขาจักฆ่าให้อาสัญ |
โลภล้นพ้นตัวทุกสิ่งอัน | ความเจ็บอายนั้นก็ไม่มี |
ตัวกูซึ่งเลี้ยงมึงมา | ดั่งบิดาบังเกิดเกล้าเกศี |
จังทานจะผลาญชีวี | ให้สามีม้วยบรรลัย |
ไว้ไยหนักพื้นสุธาธาร | อีใจพาลนี่เลี้ยงไม่ได้ |
ว่าพลางกวัดแกว่งพระขรรค์ชัย | ภูวไนยเงือดเงื้อจะราญรอน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางไกยเกษีดวงสมร |
ไม่คิดชีวาอาวรณ์ | ประนมกรกราบลงกับบาทา |
จึ่งสนองพระราชวาที | ซึ่งภูมีชุบเกล้าเกศา |
พระคุณดังคุณพระบิดา | พ้นที่จะคณนาไป |
ถึงไม่เมตตาจะฆ่าฟัน | จะเสียดายชีวันนั้นหาไม่ |
พระองค์ผู้ทรงภพไตร | ที่ไหนจะคงวาที ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถเรืองศรี |
ได้ฟังดั่งเอาอัคคี | มาจุดจี้ดวงชีพชีวัน |
กวัดแกว่งพระแสงขรรค์ชัย | หมายใจจะฆ่าให้อาสัญ |
แต่เงือดเงื้อจะพิฆาตฟาดฟัน | แล้วทรงธรรม์กลับคิดถึงสัจจา |
ก็ขว้างพระแสงเสียจากกร | เร่าร้อนเพียงสิ้นสังขาร์ |
ยิ่งคะนึงถึงองค์พระรามา | ผ่านฟ้าแสนโศกร่ำไร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
๏ โอ้ว่าแก้วตาของบิตุเรศ | ทรงเดชฟากฟ้าดินไหว |
ควรหรือมีมารมาจองภัย | จงใจริษยาลูกรัก |
มาแกล้งกำจัดให้พลัดพราก | จากไอศวรรยาอาณาจักร |
มันนี้อาธรรม์ฉกรรจ์นัก | ทรลักษณ์หยาบช้าสาธารณ์ |
คิดฆ่าผัวได้แล้วมิหนำ | ซ้ำพรากเจ้าไปไม่สงสาร |
บิดาก็จะม้วยวายปราณ | เจ้าจะต้องทรมานเดินดง |
ยามนอนเคยนอนทิพอาสน์ | พ่อจะนอนดินดาษธุลีผง |
ยามเสวยเคยรสอันบรรจง | จะทรงเสวยผลไม้เผือกมัน |
จะต้องฝนแดดลมระทมทุกข์ | เสื่อมสุขจากความเกษมสันต์ |
เคยทรงภูษาพรายพรรณ | จะทรงคากรองอันอนาถตา |
เสียแรงเป็นนารายณ์อวตาร | มาได้ทุกข์ทรมานเดินป่า |
ร่ำพลางทางทรงโศกา | ดั่งว่าจะสิ้นสมประดี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | จึงนวลนางไกยเกษี |
เห็นพระองค์ทรงโศกโศกี | นิ่งไปกับที่ไสยา |
ให้ยินดีปรีดาในอารมณ์ | ด้วยสมพระทัยปรารถนา |
จำกูจะไปอยู่ทวารา | อย่าให้ใครมาเฝ้าพระภูธร |
คิดแล้วลุกจากไสยาสน์ | องอาจดั่งนางไกรสร |
ดำเนินเยื้องย่างกรายกร | บทจรจากห้องบรรทมใน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงประตูก็ทรุดนั่ง | แล้วสั่งสาวใช้น้อยใหญ่ |
เอ็งจงช่วยกันระวังระไว | อย่าให้ใครเข้ามาถึงที่นี้ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | สาวใช้นางไกยเกษี |
อีกทั้งนางค่อมกุจจี | มาพร้อมอยู่ที่ทวารา |
มีความยินดีเป็นที่สุด | อุตลุดทั้งเจ้าทั้งข้า |
ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ส่ายหน้าตา | สำรวลสรวลร่าเริงไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | เสนาบดีน้อยใหญ่ |
ทั้งโยธาทหารนอกใน | ครั้นแสงอุทัยสว่างฟ้า |
ต่างต่างอาบน้ำทาแป้ง | แต่งตัวนุ่งห่มโอ่อ่า |
บ้างขี่พาชีเสลี่ยงงา | มาคอยท่ารับเสด็จพระจักรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์เรืองศรี |
ครั้นรุ่งสางสว่างธาตรี | ก็เข้าที่สระสรงชลธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ชำระสระสนานสำราญองค์ | ทรงสุคนธารสหอมหวาน |
สนับเพลารายพลอยสุรกานต์ | ภูษาลายก้านกระหนกพัน |
สอดใส่ชายแครงเครือครุฑ | ชายไหวรายบุษย์ทับทิมคั่น |
รัดองค์มรกตสังวาลวัลย์ | ตาบทิศกุดั่นทับทรวง |
พาหุรัดทองกรมังกรกลาย | ธำมรงค์เพชรพรายรุ้งร่วง |
ทรงมหามงกุฎดอกไม้พวง | ห้อยห่วงกุณฑลกรรเจียกจร |
ขัดพระขรรค์แก้วอันศักดา | พระหัตถ์ขวานั้นจับธนูศร |
เสด็จย่างเยื้องกรายกร | บทจรจากปราสาทรูจี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
๏ ถึงเกยขึ้นทรงยานุมาศ | งามดั่งเทวราชเรืองศรี |
งามกษัตริย์สุริย์วงศ์โยธี | งามแสนเสนีพร้อมกัน |
งามขนัดตาริ้วกันกง | งามองค์พระนารายณ์รังสรรค์ |
งามเครื่องสูงไสวพรายพรรณ | งามเกณฑ์แห่คั่นคู่เคียง |
งามธงเป็นทิวปลิวโพยม | งามเครื่องประโคมประสานเสียง |
งามเพราะเสนาะลํ้าจำเรียง | งามพ่างเพียงเทพครรไล ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ กลองโยน
๏ บัดนั้น | ฝ่ายฝูงประชากรน้อยใหญ่ |
เบียดเสียดเยียดยัดกันไป | ดูการพิชัยพิธี |
เห็นพระหริรักษ์จักรา | งามสง่าดังองค์โกสีย์ |
อันทรงเวไชยันต์รูจี | โดยเทพวิถีเสด็จจร |
ตามชมบุญญาอานุภาพ | ยอกรกรานกราบสโมสร |
แซ่ซ้องอำนวยอวยพร | ให้พระชนม์ถาวรจำเริญนาน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
เสด็จโดยวิถีอันโอฬาร | ให้บันดาลหวาดหวั่นฤทัย |
อันเครื่องแห่แตรสังข์ประสานเสียง | จะเสนาะสำเนียงก็หาไม่ |
ทั้งพระองค์ก็เคลิ้มตะลึงไป | จนมาใกล้โรงราชพิธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงประทับกับเกยมาศ | ลีลาศดั่งพญาราชสีห์ |
เข้ามณฑปแก้วรูจี | ปโรหิตเสนีก็ตามมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งถวายประณตบทบงสุ์ | พระวสิษฐ์ผู้ทรงสิกขา |
กับพระสวามิตรสิทธา | ทั้งคณะมหานักพรต ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระวสิษฐ์สวามิตรดาบส |
เห็นพระหริวงศ์ทรงยศ | อลงกตดั่งดวงสุริยัน |
สมเดชสมศรีสมศักดิ์ | สมเป็นปิ่นปักไอศวรรย์ |
บรรดาคณะพระนักธรรม์ | ชวนกันชมบุญพระอวตาร |
นั่งคอยท่าท้าวทศรถ | ยังไม่เห็นบทจรจากสถาน |
จนนาฬิกาสองโมงนาน | จวนการศุภฤกษ์สถาวร |
จึ่งสั่งเสนาให้ไปทูล | นเรนทร์สูรบิตุรงค์พระทรงศร |
ว่าจวนเวลาสยุมพร | เชิญเสด็จภูธรออกมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุมันตันผู้มียศถา |
รับคำทั้งสองพระสิทธา | ชุลีลาแล้วรีบไปทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงทวารชั้นกลาง | เห็นสาวใช้นางไกยเกษี |
จึ่งสั่งความตามคำพระมุนี | ถ้วนถี่เสร็จสิ้นทุกสิ่งไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | กุจจีผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังแย้มยิ้มแต่ในใจ | ประนมไหว้แล้วรีบเข้ามา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งประณตบทบงสุ์ | ทูลองค์อัคเรศเสน่หา |
ว่าสองพระมหาสิทธา | ใช้ให้เสนาสุมันตัน |
เข้ามากราบทูลเบื้องบาท | พระพงศ์เทวราชรังสรรค์ |
ว่าจวนศุภฤกษ์พิธีกรรม์ | ให้เชิญทรงธรรม์เสด็จจร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางไกยเกษีดวงสมร |
จึงมีเสาวนีย์อันสุนทร | ดูก่อนกุจจีผู้ปรีชา |
จงกลับไปบอกสุมันตัน | ว่าพระทรงธรรม์นาถา |
ให้หาพระรามเข้ามา | ยังห้องปราสาทรูจี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นางกุจจีค่อมทาสี |
น้อมเกล้ารับราชเสาวนีย์ | ถวายอัญชุลีแล้วออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงนบนิ้วอภิวันท์ | สุมันตันเสนาผู้ใหญ่ |
บอกว่าพระองค์ทรงภพไตร | สั่งให้เชิญพระรามเข้ามา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | สุมันตันผู้มียศถา |
ได้ฟังสงสัยในวิญญาณ์ | ก็รีบมาเฝ้าองค์พระจักรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ น้อมเกล้าทูลว่าพระบิตุเรศ | ทรงเดชเสด็จอยู่ในที่ |
ปราสาทสุวรรณรูจี | นางไกยเกษีนงคราญ |
ให้ไปทูลเชิญบาทบงสุ์ | สาวใช้กลับลงมาสั่งสาร |
ว่ามีพระราชโองการ | ให้เชิญบทมาลย์ขึ้นไป |
รับสั่งข้อนี้ประหลาดอยู่ | คิดดูก็น่าสงสัย |
จะซักไซ้ไถ่ถามให้แจ้งใจ | เขาไม่บอกเหตุว่าร้ายดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
ได้ฟังสุมันตันเสนี | ภูมีถวิลจินดา |
จะเป็นสิ่งใดไม่แจ้งเหตุ | จึ่งองค์บิตุเรศนาถา |
มิได้เสด็จลงมา | กลับมีบัญชาให้หาไป |
คิดแล้วยอกรมัสการ | พระมหาอาจารย์ผู้ใหญ่ |
เสด็จจากโรงราชพิธีชัย | เข้าในปราสาทรูจี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงทวารพระนิเวศน์ | เห็นอัคเรศโฉมไกยเกษี |
นั่งขวางอยู่กับนางกุจจี | ก็นบนิ้วดุษฎีชุลีกร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางไกยเกษีดวงสมร |
เห็นพระจักรกฤษณ์ฤทธิรอน | จึงว่าดูกรพระโอรส |
บัดนี้สมเด็จพระบิตุเรศ | ให้เจ้าทรงเพศเป็นดาบส |
ไปอยู่หิมวันต์บรรพต | กำหนดสิบสี่ปีจึงกลับมา |
เสวยแสนสวรรยาสมบัติ | สืบวงศ์จักรพรรดินาถา |
อันในพระราชบัญชา | ให้ลูกยาเร่งไปวันนี้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์เรืองศรี |
ได้ฟังอัครราชเทวี | มีพระทัยรำพึงคะนึงคิด |
อันองค์สมเด็จพระบิตุเรศ | ทรงเดชบัญชาประกาศิต |
ดั่งหนึ่งเหล็กเพชรชวลิต | ลิขิตลงแผ่นศิลา |
เหตุไฉนจึ่งตรัสดั่งนี้ | ผิดทีประหลาดหนักหนา |
คิดแล้วสนองพระวาจา | ซึ่งพระจอมโลกาสุธาธาร |
สั่งให้ข้าบวชเป็นดาบส | ไปสร้างพรตอยู่ในไพรสาณฑ์ |
กำหนดสิบสี่ปีประมาณ | ก็ต้องตามอวตารของลูกรัก |
ความซึ่งแสนโสมนัสสา | ยิ่งกว่าให้ผ่านอาณาจักร |
ด้วยจะได้ปราบหมู่อสูรยักษ์ | เป็นที่พำนักแก่แดนไตร |
เมื่อแรกจะให้ครองพระนคร | จะปรีดาถาวรก็หาไม่ |
หากเกรงพระเดชภูวไนย | จำใจรับราชวาที |
ถึงแต่พระแม่จะบังคับ | ก็จะรับใส่เกล้าเกศี |
อย่าอาวรณ์ร้อนใจพระชนนี | ว่าแล้วจรลีออกมา ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงมหาปราสาท | อันโอภาสจำรัสพระเวหา |
น้อมเศียรกราบลงกับบาทา | องค์พระมารดาแล้วทูลไป |
บัดนี้สมเด็จพระบิตุรงค์ | จะขุ่นเคืองบาทบงสุ์เป็นไฉน |
แม่ไกยเกษีทรามวัย | ให้ไปหาลูกเข้ามา |
บอกว่ารับสั่งพระบิตุเรศ | ให้ลูกทรงเพศเป็นชีป่า |
ออกไปอยู่ในหิมวา | กำหนดวรรษาสิบสี่ปี |
ครบแล้วให้กลับบุรีรัตน์ | ครอบครองสมบัติเฉลิมศรี |
พระองค์ค่อยอยู่สวัสดี | ลูกนี้จะลาบทจร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางเกาสุริยาดวงสมร |
ได้ฟังดั่งใครมาตัดกร | แสนทุกข์สะท้อนถอนใจ |
อนิจจาควรหรือมามีมาร | จังทานลูกกูก็เป็นได้ |
แกล้งจะฆ่าชีวันให้บรรลัย | อรไทรำพันโศกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
โอ้
๏ โอ้ว่าลูกรักของแม่เอ๋ย | ทรามเชยแสนสุดเสน่หา |
เสียทีที่อวตารมา | ในวงศ์อิศราเรืองยศ |
ควรหรือจะจากนคเรศ | แสนเทวษเพทนาสาหส |
เวรใดมาทันพระโอรส | จึ่งต้องทรงพรตไปอยู่ไพร |
หรือเราแม่ลูกได้พรากสัตว์ | ให้วิบัติพลัดกันเป็นไฉน |
อกุศลจึ่งเข้ามาจองภัย | ดลใจสมเด็จพระบิดา |
โอ้ว่าตัวแม่แต่วันนี้ | จะโศกีเศร้าโทมนัสสา |
ยามกินจะกินแต่น้ำตา | แสนเวทนาระทมทุกข์ |
ยามนอนแม่นี้จะคิดถึง | คำนึงหาเจ้าไม่มีสุข |
พ่อจะดับเข็ญให้เย็นยุค | หรือกลับมาได้ทุกข์ระกำใจ |
ครั้งไปล้างกากนาสูร | แม่ยังอาดูรละห้อยไห้ |
ทีนี้จะช้ำระกำใจ | ที่ไหนแม่จะมีชีวา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ โอด
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วนาถา |
เห็นองค์พระราชมารดา | แสนโศกโศกาจาบัลย์ |
กอดข้อพระบาทแล้วทูลวอน | พระองค์อย่าทุกข์ร้อนกันแสงศัลย์ |
เวรแล้วก็จำจากกัน | ใช่จะสิ้นชีวันเมื่อไรมี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางเกาสุริยามารศรี |
ฟังโอรสาพาที | เทวีค่อยได้สติมา |
จึงส้วมสอดกอดองค์พระลูกรัก | ดวงจักษุแม่เสน่หา |
พ่ออย่าเพ่อฟังอีมารยา | มารดาจะไปเฝ้าพระบิดร |
จะทูลถามเหตุผลต้นปลาย | จงยับยั้งฟังร้ายดีก่อน |
ให้ประจักษ์ทักแท้แน่นอน | ว่าแล้วกรายกรจรลี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงประตูชั้นใน | จึ่งพบนางไกยเกษี |
นั่งขึงบึ้งอยู่ไม่พาที | เทวีเดินตรงเข้าไป |
เห็นพระภัสดาธิราช | ไสยาสน์เศร้าสร้อยละห้อยไห้ |
กราบลงแทบบาทภูวไนย | อรไททูลถามกิจจา |
ไฉนจึ่งโศกาอาดูร | ทูนเทวษทุกข์โทมนัสสา |
อันองค์พระรามกุมารา | ลูกข้ามีโทษประการใด |
ตั้งการมงคลภิเษกศรี | จะมอบบุรีแล้วไม่ให้ |
มิหนำซ้ำขับไปอยู่ไพร | เป็นไฉนฉะนี้ประหลาดนัก ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระบิตุรงค์องค์นารายณ์ทรงจักร |
แว่วเสียงอัคเรศวิไลลักษณ์ | จึ่งผินพักตร์ลืมเนตรชำเลืองมา |
เห็นนางเกาสุริยาบังอร | อาวรณ์เศร้าโทมนัสสา |
สะอื้นพลางตรัสบอกกิจจา | ความผิดลูกยานั้นไม่มี |
ซึ่งพี่อาดูรพูนเทวษ | เหตุด้วยอีไกยเกษี |
เป็นมารมาผลาญชีวี | ยกสัตย์ที่ได้สัญญามัน |
ครั้งไปล้างปทูตขุนมาร | ในเมืองมัฆวานรังสรรค์ |
อันเพลารถที่พี่ทรงนั้น | หักสะบั้นออกกลางเมฆา |
มันได้เอากรสอดเข้า | ต่างเพลาพิชัยรัถา |
ฝ่ายพี่ได้ลั่นวาจา | มันพึ่งมาว่าครั้งนี้ |
จะให้ลูกขึ้นครองนคเรศ | นิรเทศพระรามเรืองศรี |
ไปบวชอยู่ป่าสิบสี่ปี | พี่นี้ขัดสนจนใจ |
จะฆ่ามันก็คิดเสียดายสัตย์ | สุดคิดจึ่งขัดมันไม่ได้ |
อันตัวของพี่จะบรรลัย | ที่ไหนจะคงชนมาน ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางเกาสุริยายอดสงสาร |
ได้ฟังดั่งต้องเพลิงกาฬ | นงคราญกราบทูลสนองไป |
พระองค์จงโปรดปรานี | อย่าแสนโศกีหาควรไม่ |
ความสัตย์ซึ่งปฏิญาณไว้ | เขาประสงค์ก็ให้ดั่งจินดา |
เสียศีลอย่าให้เสียสัตย์ | ถึงลูกรักจักพลัดไปอยู่ป่า |
สิบสี่ปีจะกลับคืนมา | ใช่ว่าลูกจะม้วยชีวัน |
อันซึ่งพระรามสุริย์วงศ์ | คือองค์พระนารายณ์รังสรรค์ |
ฤๅษีเทวาประชุมกัน | อัญเชิญให้เสด็จอวตาร |
ลงมาหวังจะปราบยุค | ให้โลกเป็นสุขเกษมศานต์ |
อย่าอาวรณ์ทุกข์ร้อนรำคาญ | ผ่านฟ้าจงระงับดับใจ |
อันจากลูกรักแต่เพียงนี้ | หรือจะเสียชีวีหาควรไม่ |
พระองค์ผู้ทรงฤทธิไกร | ไตรโลกจะได้พึ่งบาทา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เจ้าเอยเจ้าพี่ | ว่านี้ก็ชอบหนักหนา |
แต่เจ็บใจด้วยคำมันเจรจา | ดั่งต้องสายฟ้าสักแสนที |
อายหมู่เสนาประชาชน | คนธรรพ์เทวาทุกราศี |
สู้ตายไม่เสียดายชีวี | เจ้าพี่ค่อยอยู่สถาวร |
จะลาไปพิภพเทเวศร์ | คอยท่าอัคเรศดวงสมร |
เป็นกรรมแล้วจำจากจร | ว่าพลางภูธรก็โศกา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | นางเกาสุริยาเสน่หา |
ได้ฟังพระราชบัญชา | ดั่งว่าเศียรขาดจากอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๏ โอ้พระผู้ปิ่นปักเกศ | พระเดชเคยปกเกศี |
ควรหรือจะสิ้นชีวี | หนีไปเมืองฟ้าสุราลัย |
อกเอ๋ยพลัดลูกแล้วจากผัว | จะอยู่ไปเป็นตัวกระไรได้ |
สารพัดจะระกำช้ำใจ | จะบรรลัยไปตามพระทรงฤทธิ์ |
โอ้ว่ากรุงศรีอยุธยา | สนุกดั่งฟากฟ้าดุสิต |
พระเดชแผ่ทั่วทศทิศ | ปัจจามิตรไม่รอต่อกร |
ตั้งแต่นี้ไปจะได้ทุกข์ | เสื่อมสุขสิ้นความสโมสร |
เงียบเหงาไปทั้งพระนคร | ด้วยภูธรสวรรคาลัย |
ครวญพลางพลางข้อนทรวงเทวษ | ชลเนตรนองพักตร์เป็นเลือดไหล |
ยกพระบาทขึ้นทูนเศียรไว้ | สลบไปกับองค์พระภัสดา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โอด