- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๙
ช้า
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงสหมลิวันยักษี |
แจ้งว่าลัสเตียนอสุรี | สุดสิ้นชีวีวายปราณ |
ทศกัณฐ์ได้ผ่านพารา | เบียดเบียนเทวาทุกสถาน |
นานไปจะเกิดภัยพาล | ร้อนถึงบาดาลกรุงไกร |
เมืองเราเป็นมหานัคเรศ | ขอบเขตท่าทางหาดีไม่ |
จะไปตั้งด่านขันให้มั่นไว้ | อย่าให้ไพรีมาบีฑา |
คิดแล้วจึ่งสั่งเสนามาร | เร่งเตรียมทหารซ้ายขวา |
กูจะไปเที่ยวดูมรคา | ตั้งด่านรักษาธานี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งเสนามารยักษี |
รับสั่งพญาอสุรี | ชุลีลาออกจากพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ยานี
๏ เกณฑ์พลทวยหาญชาญณรงค์ | เลือกล้วนอาจองแข็งขัน |
กองหน้าถือปืนขบฟัน | น้าวนกยืนยันทุกตน |
หมู่หนึ่งหน้ากากตากลอก | ถือหอกกวัดแกว่งกุลาหล |
หมู่หนึ่งถือธนูลูกกล | เขี้ยวโง้งพ้นปากเพียงตา |
หมู่หนึ่งล้วนถือทวนยาว | ฟันขาวหน้าไพร่ใจกล้า |
เตรียมทั้งรถแก้วแววฟ้า | คอยท่าเสด็จอสุรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสหมลิวันยักษี |
เสด็จจากแท่นแก้วมณี | มาเข้าที่สระสรงชลธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ชำระสระสนานสำราญองค์ | ทรงสุคนธาทิพหอมหวาน |
สนับเพลาพลอยแก้วสุรกานต์ | ภูษาลายก้านเครือครุฑ |
สอดใส่ชายไหวชายแครง | ฉลององค์ตาดแย่งรายบุษย์ |
ตาบทิศทับทรวงชมพูนุท | สังวาลชุดมุกดาชิงดวง |
พาหุรัดทองกรมังกรกลาย | ธํามรงค์เพชรพรายรุ้งร่วง |
ทรงมงกุฎแก้วดอกไม้พวง | ห้อยห่วงกุณฑลประดับกรรณ |
พระหัตถ์ซ้ายจับคทาธร | กรขวานั้นกุมพระแสงขรรค์ |
งามทรงดั่งองค์เวสสุวัณ | จรจรัลไปขึ้นพิชัยรถ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ บาทสกุณี
โทน
๏ รถเอยราชรถทรง | กำกงประดับด้วยมรกต |
แอกงอนอ่อนงามช้อยชด | บัลลงก์ลดช่อตั้งกระจังราย |
ประดับรูปเทพนมประนมนิ้ว | ครุฑจับนาคหิ้วแหงนหงาย |
บุษบกเรือนเก็จเพชรพราย | งามคล้ายรถทรงทินกร |
เทียมโตสองพันตัวคะนอง | ลำพองดั่งพญาไกรสร |
สารถีมือถือโตมร | ขับจรรวดเร็วดั่งลมพัด |
ประดับด้วยอภิรุมชุมสาย | ธงริ้วทิวรายปลายสะบัด |
เกณฑ์แห่เบียดเสียดเยียดยัด | ขนัดฆ้องกลองประโคมโครมครึก |
เสียงกงรถลั่นสนั่นป่า | โยธาโห่ร้องก้องกึก |
แผ่นดินไหวหวั่นพันลึก | คึกคึกออกจากธานี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ กราว
ร่าย
๏ มาถึงเนินทรายชายสมุทร | ที่สุดขอบเขตยักษี |
เป็นต้นทางจะขึ้นไปปัถพี | อสุรีให้หยุดพลไกร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ จึ่งนิมิตเป็นสระปทุมมาศ | บัวหนึ่งประหลาดดอกใหญ่ |
เป็นทางโดยก้านลงไป | แล้วไว้ประตูศีลา |
มีกำแพงแล่งล้อมป้อมค่าย | กุมภัณฑ์โกฏิปลายอยู่รักษา |
ถัดนั้นไว้พญาคชา | สูงใหญ่แกล้วกล้าบ้ามัน |
เที่ยวท่องป้องกันกระเวนทาง | คอยล้างศัตรูให้อาสัญ |
ถัดไปไว้เขากระทบกัน | ประกายนั้นรุ่งโรจน์เป็นเพลิงกาฬ |
ถัดนั้นมีฝูงยุงใหญ่ | ตัวเท่าแม่ไก่ใจหาญ |
จัดเสร็จสำเร็จทุกประการ | พญามารกลับมายังธานี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด เจรจา
๏ ครั้นถึงจึ่งมีบัญชา | สั่งมหาเสนาทั้งสี่ |
ว่าทวารปราการพระบุรี | เป็นที่เข้าออกอลวน |
ถ้าศัตรูปลอมมาทําร้าย | จะแยกรายกันจับเห็นขัดสน |
จงทำเป็นตราชูยนตร์ | ชั่งให้ทุกตนทั้งไปมา |
สั่งแล้วเสด็จลีลาศ | จากบัลลังก์ราชรัถา |
กรายกรนวยนาดยาตรา | ขึ้นยังมหาปราสาทชัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | ทั้งสี่เสนาผู้ใหญ่ |
รับสั่งพระองค์ทรงภพไตร | ไปทําตามมีบัญชาการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสหมลิวันใจหาญ |
แต่เสวยสวรรยาในบาดาล | ช้านานประมาณโกฏิปี |
ทรงพระชราประชวรหนัก | เรียกมหายมยักษ์ยักษี |
อันเป็นโอรสร่วมชีวี | เข้ามาแล้วมีบัญชา |
บัดนี้บิดาจะบรรลัย | เจ้าจะผ่านโภไคยไปภายหน้า |
อย่าคบทศกัณฐ์อสุรา | ใจบาปหยาบช้าสาธารณ์ |
จะพาให้เสียวงศ์พรหเมศ | ซึ่งเรืองเดชศักดากล้าหาญ |
สั่งแล้วจึ่งองค์พญามาร | ก็วายปราณสิ้นชีพชีวี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | มหายมยักษ์ยักษี |
ได้ผ่านสวรรยาธานี | แทนที่สมเด็จพระบิดร |
ทรงนามท้าวศากยวงศา | มหายมยักษ์ชาญสมร |
มีพระมเหสีบังอร | งามงอนทรงโฉมประโลมใจ |
ชื่อจันทประภาลาวัณย์ | กุมภัณฑ์แสนสนิทพิสมัย |
มีบุตรีเลิศลักษณ์อำไพ | ให้ชื่อพิรากวนเทวี |
ท้าวมีทั้งโอรสา | ชื่อว่าไมยราพยักษี |
องคพระชนกชนนี | มิให้มีราคีแผ้วพาน |
พระเสวยสวรรยาราชัย | ไพร่ฟ้ามีใจเกษมศานต์ |
แสนสนุกเป็นสุขสำราญ | ที่ในบาดาลพารา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายท้าวทศพักตร์ยักษา |
ราตรีเข้าที่ไสยา | อสุราให้คิดกำเริบใจ |
กูทรงศักดาวราฤทธิ์ | ปัจจามิตรไม่ต่อกรได้ |
ย่อมกลัวอานุภาพราบไป | ทั้งในไตรภพธาตรี |
แต่องค์โกสีย์ตรีเนตร | ไม่เกรงเดชพงศ์พรหมเรืองศรี |
ด้วยได้จักรแก้วพระศุลี | ทําทีอาจองทะนงนัก |
อันรณพักตร์ฤทธิรอน | ก็ได้เวทกับศรสิทธิศักดิ์ |
จะให้ยกพหลพลยักษ์ | ขึ้นไปโหมหักยังเมืองฟ้า |
ให้อยู่ในเงื้อมมือจงได้ | ด้วยฤทธิไกรโอรสา |
จะเป็นเกียรติยศไว้ในโลกา | ไปชั่วกัลปาธาตรี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย
๏ ครั้นพระสุริยาเรืองรอง | แสงทองจำรัสรัศมี |
สระสรงทรงเครื่องรูจี | เสด็จมายังที่พระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ร่าย
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | ภายใต้เศวตฉัตรฉายฉัน |
พร้อมหมู่อสุรากุมภัณฑ์ | อภิวันท์หมอบกลาดดาษดา |
ดั่งหนึ่งดวงดาวดารากร | แวดล้อมจันทรในเวหา |
จึ่งมีพระราชบัญชา | แก่โอรสาธิบดี |
ดูกรเจ้าผู้จำเริญรัก | ดวงจักษุพ่อเฉลิมศรี |
อันสามภพจบทั่วธาตรี | ก็เกรงกลัวฤทธีบิดร |
แต่ท้าวตรีเนตรนี้หมิ่นกัน | สำคัญว่าตัวชาญสมร |
เจ้าจงยกพวกพลากร | ขึ้นไปราญรอนราวี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | รณพักตร์สุริย์วงศ์ยักษี |
ฟังราชบรรหารก็ยินดี | ชุลีกรสนองพระบัญชา |
ซึ่งจะให้ไปปราบโกสิต | ก็สมคิดลูกขออาสา |
ทูลแล้วถวายบังคมลา | เสด็จมาปราสาทอำไพ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งมีพจนารถ | สั่งเสนามาตย์ผู้ใหญ่ |
ให้เกณฑ์พหลพลไกร | กูจะไปโหมหักมัฆวาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาผู้ใหญ่ใจหาญ |
ก้มเกล้ารับพระบัญชาการ | ขุนมารก็ออกมาทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
ยานี
๏ ทัพหน้าจัดเอาฤทธิกัน | เกียกกายโชติวรรณยักษี |
ปีกขวารุทกาลอสุรี | ปีกซ้ายตรีเมฆมาลา |
ยุกกระบัตรนั้นจัดนันทยักษ์ | กองหลังโรมจักรยักษา |
กองขันพัทกันอสุรา | กองหนุนอัษฎากุมภัณฑ์ |
ล้วนคุมทหารฤทธิรุทร | กวัดแกว่งอาวุธดั่งจักรผัน |
ผูกพญาคเชนทร์ซับมัน | เตรียมกันรับเสด็จอสุรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | รณพักตร์สุริย์วงศ์ยักษี |
ครั้นรุ่งสางสว่างธาตรี | เสด็จมาเข้าที่สรงชล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ให้ไขสหัสธารา | ละอองโปรยปรายมาดั่งฝอยฝน |
ทรงสุคันธารสเสาวคนธ์ | ปรุงปนนพมาศสุมามาลย์ |
สนับเพลารูปวาสุกรีกรอง | ภูษาพื้นตองทองประสาน |
ชายแครงเครือหงส์อลงการ | ชายไหวลายก้านกระหนกกลาย |
ฉลององค์ทรงเกราะแก้วผลึก | สอดสังวาลศึกสามสาย |
ทับทรวงตาบทิศทับทิมพราย | ทองกรมังกรกลายพาหุรัด |
ธำมรงค์เรือนเก็จเพชรเหลือง | อร่ามเรืองทั้งสิบนิ้วพระหัตถ์ |
ทรงมหามงกุฎดอกไม้ทัด | กุณฑลแก้วจํารัสกรรเจียกจร |
ห้อยพวงสุวรรณมาลา | กรขวาทรงจับธนูศร |
ดั่งพระขันทกุมารฤทธิรอน | กรายกรมาขึ้นคชไกร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ บาทสกุณี
โทน
๏ ช้างเอยช้างต้น | สกลจักรอัครคเชนทร์สูงใหญ่ |
ฝีงากล้าหาญว่องไว | หูหางแกว่งไกวยิ่งยนตร์ |
ร้ายกาจอาจอุกบุกบัน | เรียกมันครั่นครึกดั่งเสียงฝน |
โกญจนาทผาดร้องอึงอล | เคยผจญชนชนะมาหลายคราว |
งวงคว้างาเงยเสยสอย | ไม่ท้อถอยข้าศึกแต่สักก้าว |
เรืองฤทธิ์ดั่งจะปลิดเอาเดือนดาว | ห้าวหาญลำพองคะนองนัก |
ประดับเครื่องสำหรับรณรงค์ | สมเป็นช้างทรงพญาจักร |
เสียงโยธาโห่ฮึกคึกคัก | รีบเร่งพลยักษ์เหาะทะยาน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นถึงยอดเขายุคนธร | จึ่งให้หยุดนิกรทวยหาญ |
คอยดูองค์ท้าวมัฆวาน | จะคิดอ่านรณรงค์ประการใด ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝูงเทพเทวาน้อยใหญ่ |
เห็นรณพักตร์ยกพลขึ้นไป | ถึงในพิภพเมืองฟ้า |
ต่างองค์ตกใจตัวสั่น | ดั่งชีวันจะม้วยสังขาร์ |
ออกจากวิมานรัตนา | ไปเฝ้าองค์อินทราธิบดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรบังคมบาท | ทูลท้าวเทวราชเรืองศรี |
ว่ารณพักตร์อสุรี | ยกหมู่โยธีกุมภัณฑ์ |
มาตั้งอยู่มหาราชพิภพ | เห็นจะรบเอาดาวดึงส์สวรรค์ |
พระองค์ผู้ปิ่นเทวัญ | ทรงธรรม์เร่งคิดดำริการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวหัสนัยน์ใจหาญ |
ได้ฟังจึ่งมีพจมาน | เหม่ไอ้พวกพาลอหังการ์ |
ดูกรมาตุลีเทวบุตร | อันมีฤทธิรุทรแกล้วกล้า |
เร่งไปจัดทัพเทวา | จะกรีธาไปปราบอสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | องค์พระมาตุลีเรืองศรี |
รับสั่งท้าวสุชัมบดี | ถวายอัญชุลีแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๏ จัดเอาพระกาลเรืองเดช | ให้ถือพลเทเวศร์เป็นทัพหน้า |
เกียกกายพระพิรุณเทวา | ปีกขวาสุยามเทวัญ |
ปีกซ้ายพระพายฤทธิรงค์ | องค์ท้าวอัศกัณฐ์เป็นกองขัน |
ยกกระบัตรวิษณุกรรม์ | อิสานนั้นถือเทพธงชัย |
เทวาเกณฑ์กองละสองโกฏิ | เสียงอุโฆษเพียงพื้นพระเมรุไหว |
เตรียมเวไชยันต์แก้วแววไว | คอยองค์หัสนัยน์ยาตรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | จึ่งองค์เจ้าตรัยตรึงศา |
ครั้นใกล้ศุภฤกษ์เวลา | เสด็จมาเข้าที่สรงชล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ให้ไขสหัสท่อทอง | น้ำทิพเป็นละอองฝอยฝน |
ทรงสุคนธารสเสาวคนธ์ | ปรุงปนนพมาศชมพูนุท |
สนับเพลาเชิงงอนสามชั้น | รายทับทิมคั่นสลับบุษย์ |
ภูษาท้องพันเชิงครุฑ | ชายไหวห่วงยุดชายแครง |
สอดใส่เกราะทิพวิเชียรมาศ | ฉลององค์พื้นตาดเครือแย่ง |
ตาบทิศทับทรวงประดับแดง | สังวาลลายแทงพาหุรัด |
ทองกรนาคเกี้ยวกุดั่นเกล็ด | ธํามรงค์พลอยเพชรทุกนิ้วหัตถ์ |
มงกุฎแก้วสุรกานต์ดอกไม้ทัด | กรรเจียกจรจํารัสกุณฑลพราย |
จับจักรวิชัยโมลี | รัศมีดั่งฟ้าฟาดสาย |
เสด็จจากแท่นทิพพรรณราย | กรายกรขึ้นรถรัตนา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ บาทสกุณี
๏ บัดนั้น | อัสดรเทวบุตรแกล้วกล้า |
พันองค์ซึ่งแปลงเป็นอาชา | เทียมในมหาเวไชยันต์ |
สําแดงเดชเหตุอัปมงคล | ลองเชิงเริงรณเหียนหัน |
ร้องอัปราชัยขึ้นพร้อมกัน | เมื่อจะเคลื่อนพลขันธ์ดำเนินไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
โทน
๏ รถเอยรถวิมาน | เวไชยันต์ทิพยานสูงใหญ่ |
กงกำล้วนแก้วแววไว | แอกอ่อนงอนไสวรูจี |
บัลลังก์ลดแก้วลายรายภาพ | บุษบกเก็จกาบมณีศรี |
เทียมด้วยเทพบุตรพาชี | พันหนึ่งล้วนมีฤทธิรอน |
พระมาตุลีขี่ขับสินธพ | เสียงสนั่นลั่นภพไหวกระฉ่อน |
ธงทิพเจ็ดชายปักปลายงอน | จามรเครื่องสูงสลับกัน |
ฆ้องกลองแตรสังข์ประโคมขาน | อิสานอยู่หน้าพลขันธ์ |
โบกธงเดินนําเป็นสําคัญ | โห่สนั่นลั่นฟ้าธาตรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นยกมาถึงกึ่งทาง | ท่ามกลางพระเมรุคิรีศรี |
จึ่งให้หยุดเทพบุตรพาชี | มั่นไว้ดูทีอสุรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | รณพักตร์สุริย์วงศ์ยักษา |
เห็นโกสีย์ยกทัพลงมา | ก็ขับคชาขึ้นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ร้องว่าเหวยเหวยมัฆวาน | ท่านนี้คิดอ่านเป็นไฉน |
จึ่งทำอาจองทะนงใจ | ไม่ไปเฝ้าองค์พญายักษ์ |
ผู้ปิ่นลงกานคเรศ | ทรงเดชปราบได้ทั้งไตรจักร |
พระองค์กริ้วโกรธพิโรธนัก | ให้เราลูกรักนี้ยกมา |
สังหารผลาญเสียให้วายชนม์ | ด้วยกำลังฤทธิรณแกล้วกล้า |
แม้นรักตัวกลัวความมรณา | จงไปเฝ้าบาทาพระภูมี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวหัสนัยน์โกสีย์ |
ได้ฟังจึ่งตอบวาที | เหวยไอ้อสุรีใจพาล |
ตัวกูเป็นใหญ่ในชั้นฟ้า | มึงอย่าเจรจาอวดหาญ |
อันพ่อของเอ็งนั้นสาธารณ์ | ทำการแต่อัปมงคล |
กูไม่คบหาสมาศักดิ์ | กับไอ้ทรลักษณ์อกุศล |
มึงอย่าอ้างอวดฤทธิรณ | จะผจญด้วยกูผู้ศักดา |
เอ็งดั่งสุนัขจิ้งจอก | จะมาหยอกไกรสรตัวกล้า |
สำหรับแต่จะม้วยชีวา | ด้วยจักราวุธบัดนี้ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ลูกท้าวทศพักตร์ยักษี |
ได้ฟังกริ้วโกรธดั่งอัคคี | อสุรีขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน |
เหม่เหม่ดูดู๋อินทรา | อหังการ์หยาบช้าโมหันธ์ |
ดีแล้วจะได้เห็นกัน | กูจะล้างชีวันให้บรรลัย |
ว่าพลางมีราชบรรหาร | เหวยเสนามารน้อยใหญ่ |
จงยกพหลพลไกร | เข้าไล่ตีทัพเทวา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฤทธิกันสิทธิศักดิ์ยักษา |
ซึ่งเป็นทัพหน้าอสุรา | ก็ขับโยธาเข้าโจมตี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่อสุรยักษี |
ต่างตนสำแดงฤทธี | เข้าตีทัพท้าวเทวัญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ต่างพุ่งศัสตราอาวุธ | อุตลุดโห่ร้องเสียงสนั่น |
รุกโรมโจมจ้วงทะลวงฟัน | กุมภัณฑ์ไม่เงือดงดกร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายองค์พระกาลชาญสมร |
ขับหมู่เทวาวิชาธร | เข้าประหารราญรอนอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ สัประยุทธ์ยิงแย้งแทงฟัน | กุมภัณฑ์แตกพ่ายกระจายหนี |
เทวาไล่รุกคลุกคลี | ตีถึงหน้าช้างขุนมาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | รณพักตร์ฤทธิไกรใจหาญ |
พิโรธโกรธกริ้วดั่งเพลิงกาฬ | ไสช้างทะยานเข้าชิงชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ งวงคว้างาแทงเท้าฉัด | โก่งหางสะพัดทะลวงไล่ |
เทวาแตกย่นร่นไป | ด้วยฤทธิไกรอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวหัสนัยน์เรืองศรี |
เห็นยักษ์ขับช้างเข้าราวี | ก็ขว้างจักรมณีไปด้วยฤทธิ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เป็นเพลิงกรดล้อมคชสาร | พลมารร้อนรนไม่ทนติด |
วิ่งแยกแตกกันไปทุกทิศ | เสียงสนั่นครรชิตเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ลูกท้าวทศเศียรยักษา |
ต้องเปลวเพลิงร้อนกายา | อสุราตระหนกตกใจ |
จึ่งชักศรวิษณุปาณัม | อันมีอำนาจแผ่นดินไหว |
พาดสายแล้วผาดแผลงไป | ด้วยฤทธิไกรขุนมาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ พสุธาอากาศก็หวาดหวั่น | เสียงสนั่นไปทั่วทุกสถาน |
ทศทิศมืดมนอนธการ | บันดาลเป็นฝนตกมา |
เปลวเพลิงเริงแรงดับสิ้น | อสุรินทร์แสนโสมนัสสา |
ก็ขับช้างทรงอสุรา | เข้าไล่เข่นฆ่าราวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวมัฆวานเรืองศรี |
เห็นยักษาแผลงศรเป็นวารี | มาดับอัคคีสูญไป |
แล้วทําอำนาจอาจหาญ | ขับพญาคชสารทะลวงไล่ |
พระองค์จับตรีขึ้นแกว่งไกว | ขว้างไปด้วยกำลังฤทธา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เสียงสนั่นครั่นครื้นโพยมหน | มืดมนไปทั่วทิศา |
เกิดเป็นข่ายเพชรอันศักดา | ล้อมรอบโยธาคชาธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายรณพักตร์ใจหาญ |
ชักศรนาคบาศพรหมาน | ทูนเศียรมัสการแล้วแผลงไป[2] ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ เปรี้ยงเปรี้ยงดั่งเสียงฟ้าฟาด | ข่ายเพชรเด็ดขาดหาเหลือไม่ |
แล้วกลับเป็นนาคฤทธิไกร | ล้อมไล่พ่นพิษเป็นโกลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวหัสนัยน์เรืองศรี |
เห็นศรอสุราเป็นนาคี | เข้ามาราวีถึงหน้ารถ |
บรรดาโยธาเทวัญ | ก็ตกใจพากันแตกหมด |
จึ่งให้มาตุลีมียศ | ขับรถหนีขึ้นยังเมฆา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฤทธิกันซึ่งเป็นทัพหน้า |
เผ่นโผนโจนไปด้วยฤทธา | ฉวยท้ายรัถาลากไว้ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ มาตุลีก็ขับเผ่นทะยาน | ขุนมารยุดมั่นหาวางไม่ |
ต่างหนีต่างฉุดวุ่นไป | ที่ในพ่างพื้นอัมพร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวมัฆวานชาญสมร |
เห็นยักษ์ติดตามราญรอน | มิได้ต่อกรอสุรา |
ความกลัวหน้าซีดตัวสั่น | ดั่งจะม้วยชีวันสังขาร์ |
ไม่ทันจับจักรก็หนีมา | ยังมหาไพชยันต์อลงการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฤทธิกันผู้ใจห้าวหาญ |
เห็นองค์สมเด็จมัฆวาน | หนีจากวิมานเวไชยันต์ |
จึ่งหยิบเอาจักรแก้วโมลี | ศรีบรมไกรลาสรังสรรค์ |
มิได้ตามไปโรมรัน | กุมภัณฑ์ก็กลับลงมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงยอกรถวายจักร | แก่องค์รณพักตร์ยักษา |
ทูลว่าของอมรินทรา | ข้าได้มาเป็นบำเหน็จกร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | รณพักตร์สุริย์วงศ์ทรงศร |
มีชัยได้จักรฤทธิรอน | ก็ให้เลิกนิกรโยธี |
บ่ายหน้าพญาคชสาร | จากสถานพระเมรุคีรีศรี |
ลอยลิ่วปลิวมาด้วยฤทธี | ไปยังบูรีลงกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งประณตบทบงสุ์ | ทูลองค์บิตุราชนาถา |
ลูกยกขึ้นไปเมืองฟ้า | ได้ต่อฤทธาหัสนัยน์ |
จนถึงเข่นฆ่าสามารถ | เทวราชไม่ทานกำลังได้ |
พาพลแตกพ่ายกระจายไป | อสุรารุกไล่ราญรอน |
ลูกนี้ชิงได้จักรแก้ว | อันเพริศแพร้วจำรัสประภัสสร |
มาถวายสมเด็จพระบิดร | เป็นสำคัญกรที่ราวี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
รับเอาจักรแก้วโมลี | ยินดีดั่งได้ฟากฟ้า |
สวมสอดกอดองค์พระลูกไว้ | เจ้าผู้ฤทธิไกรแกล้วกล้า |
ควรที่เป็นปิ่นอสุรา | สืบสุริย์วงศาในเมืองยักษ์ |
พ่อจงทรงนามว่าอินทรชิต | ให้เลื่องชื่อลือฤทธิ์ไตรจักร |
ตามในนิมิตของลูกรัก | ซึ่งโหมหักมีชัยแก่เทวัญ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ก้มเกล้าประนมบังคมคัล | กุมภัณฑ์รับพรพระบิดา |
พักตร์ผ่องดั่งดวงศศิธร | สโมสรด้วยโสมนัสสา |
ยอกรดุษฎีชุลีลา | ไปมหาปราสาทรูจี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงนางมาลีสาวศรี |
บำเรอบาทบงสุ์พระศุลี | ที่ในไกรลาสบรรพตา |
รูปทรงส่งศรีวิไลลักษณ์ | อัคเรศเคยเก็บบุปผา |
บูชาพระเวทอยู่อัตรา | ครั้นถึงเวลาจรจรัล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
พระทอง
๏ เที่ยวเก็บบุปผามาลาศ | พุทธชาดสุกรมนมสวรรค์ |
กุหลาบกาหลงมะลิวัลย์ | พิกันเกดแก้วชบาบาน |
ประดู่ลำดวนยมโดย | ลมโชยกลิ่นชวยหอมหวาน |
นางแย้มสายหยุดพุดตาน | อังกาบชูก้านกระดังงา |
ช่อกระแบกชาตบุษย์พุดซ้อน | กลิ่นขจรฟุ้งจับนาสา |
จําปีมะลุลีมะลิลา | พิกุลกรรณิการ์สารภี |
ลดเลี้ยวร่ำร้องเล่นในสวน | โหยหวนฉ่ำเฉื่อยเรื่อยรี่ |
กรายกรอ้อนแอ้นดั่งกินรี | พลางเด็ดมาลีประดับทรวง |
แล้วย้ายเป็นคำหวานประสานเสียง | สำเนียงการเวกวิหคหงศ์ |
รื่นร่มลมพานสำราญองค์ | นั่งลงร้อยพวงสุมามาลย์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นนทกาลอสุราใจหาญ |
เป็นข้าพระสยมภูวญาณ | เฝ้าทวารกำแพงชั้นใน |
ไร้คู่อยู่เดียวถึงหมื่นปี | จะรู้รสสตรีก็หาไม่ |
เห็นนางมาลีเคยออกไป | เก็บพรรณดอกไม้ทุกเวลา |
อรชรอ้อนแอ้นวิไลวรรณ | ให้มีใจผูกพันเสน่หา |
นั่งยิ้มอยู่ริมทวารา | นางเดินออกมาก็ตามไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นถึงที่สวนอุทยาน | นนทกาลเข้าแฝงไทรใหญ่ |
เห็นนางนั่งกรองมาลัย | งามดั่งแขไขในราตรี |
ยิ่งพิศยิ่งพิศวาสกลุ้ม | ให้เร่าร้อนรึงรุมดั่งเพลิงจี่ |
อสุราก็เด็ดเอามาลี | ทิ้งองค์เทวีวิไลวรรณ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางเทพมาลีสาวสวรรค์ |
ตกใจดั่งใครมาฟาดฟัน | กัลยาร้องหวีดขึ้นทันที |
จึ่งชะแง้แลรอบอุทยาน | ก็เห็นนนทกาลยักษี |
ความโกรธความแค้นแสนทวี | หยิบมาลีได้ก็รีบมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งกราบลงกับบาท | พระอิศโรธิราชนาถา |
ทูลพลางทางแสนโศกา | ชลนาคลอเนตรร่ำไร |
ว่านนทกาลอาจอง | จะเกรงบาทบงสุ์ก็หาไม่ |
นางแจ้งแต่ต้นจนปลายไป | แล้วถวายดอกไม้เป็นสำคัญ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอิศวรบรมรังสรรค์ |
ได้ฟังกริ้วโกรธดังไฟกัลป์ | เหม่เหม่กุมภัณฑ์อหังการ์ |
จิตุบทจงเร่งลงไป | ยังไอ้นนทกาลยักษา |
พาเอาตัวมันขึ้นมา | จะถามกิจจาให้แจ้งการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จิตุบทผู้ปรีชาหาญ |
น้อมเศียรรับสั่งพระทรงญาณ | ก็รีบไปยังทวารทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งแถลงแจ้งเหตุ | ว่าพระอิศเรศเรืองศรี |
ให้กูมาหาอสุรี | ไปเฝ้าธุลีบาทา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งนนทกาลยักษา |
ได้แจ้งแห่งเทวบัญชา | ตกใจก็มาด้วยเทวัญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งคลานขึ้นไปเฝ้า | พระเป็นเจ้าสามภพรังสรรค์ |
น้อมเศียรนบนิ้วบังคมคัล | กุมภัณฑ์คอยฟังพระวาที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสยมภูวนาถเรืองศรี |
ทอดพระเนตรแลเห็นอสุรี | มีเทวบัญชาถามไป |
ดูกรอสูรนนทกาล | ตัวเอ็งคิดอ่านเป็นไฉน |
จึ่งทำอาจองทะนงใจ | เอาดอกไม้ทิ้งเทพมาลี |
ซึ่งเป็นคนในใช้ชิด | ไม่คิดเจียมตัวยักษี |
หยาบช้าสาหัสใช่พอดี | มึงนี้ไม่กลัวอาญา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งนนทกาลยักษา |
ได้ฟังเทวราชบัญชา | ดั่งสายฟ้าฟาดกุมภัณฑ์ |
น้อมเศียรทูลองค์พระภูวนาถ | ซึ่งบังอาจหยอกนางสาวสวรรค์ |
โทษาถึงสิ้นชีวัน | ทรงธรรม์จงโปรดปรานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสยมภูวนาถเรืองศรี |
ได้ฟังกริ้วโกรธคืออัคคี | จะไหม้ตรีโลกให้บรรลัย |
จึ่งสาปด้วยวาจาสิทธิ์ | ตัวมึงทำผิดเป็นโทษใหญ่ |
อย่าช้าจงเร่งลงไป | เป็นกาสรอยู่ในพนาวัน |
ชื่อว่ากำแหงทรพา | สาใจที่มึงโมหันธ์ |
เมื่อได้มีบุตรชาญฉกรรจ์ | ชื่อทรพีอันชัยชาญ |
ผลาญชีวิตมึงบรรลัย | จึ่งให้พ้นชาติเดียรฉาน |
สิ้นทุกข์มาเป็นนายทวาร | ยังสถานไกรลาสบรรพตา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | จึ่งนนทกาลยักษา |
ได้ฟังเร่าร้อนในวิญญาณ์ | อสุราเพียงสิ้นชีวาลัย |
ความทุกข์ความกลัวด้วยตัวผิด | สุดคิดที่จะขอโทษได้ |
ลาองค์พระผู้ทรงภพไตร | ไปจากไกรลาสคีรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
โอ้ร่าย
๏ เดินพลางทางแสนโศกา | ชลนาอาบพักตร์ยักษี |
โอ้ว่าตัวกูนี้ไม่ดี | เสียทีที่เกิดมาเป็นชาย |
ไร้การภิรมย์สมสวาท | ชั่วชาติกว่าบุรุษทั้งหลาย |
รักหญิงหมายสนิทไม่คิดกาย | กลับกลายได้ความอัประมาณ |
ตั้งแต่นี้ไปจะทนทุกข์ | เสื่อมสุขจากที่เกษมศานต์ |
จะสัญจรนอนพงดงดาน | ขุนมารครวญคร่ำร่ำไร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
๏ แล้วคิดมานะขบฟัน | กรรมมาตามทันไม่หนีได้ |
ถึงตัวแล้วจะกลัวด้วยอันใด | คิดพลางตรงไปอรัญวา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงหิมวันต์พนาเวศ | ก็กลับเพศไปเป็นมหิงสา |
ชื่อว่าพญาทรพา | มีกำลังฤทธาเชี่ยวชาญ |
ใหญ่สูงพ่วงพีองอาจ | หยาบคายร้ายกาจกล้าหาญ |
กายาเผือกสีสำลาน | ใจพาลอิจฉาอาธรรม์ |
บริวารล้วนนางกาสร | ห้าพันสัญจรอยู่ไพรสัณฑ์ |
แม้นว่าตัวใดมีครรภ์ | ทรพานั้นหมั่นระวังดู |
ถ้าเห็นว่านางมหิงสา | คลอดลูกออกมาเป็นตัวผู้ |
ไม่อาลัยหมายใจว่าศัตรู | เสี่ยวเสียจากหมู่ให้วายชนม์ |
ด้วยความรังเกียจเดียดฉันท์ | หวงแหนสัตว์นั้นเป็นต้น |
มหิงส์ผู้ตัวใดไม่แปลกปน | ตนเดียวเที่ยวอยู่ในดงดอน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | จึ่งนางนิลากาสร |
ทรพาร่วมสัตว์สมจร | ก็มีอุทรจำเริญมา |
จึ่งคิดคำนึงถึงตัว | ด้วยกลัวพญามหิงสา |
แม้นกูจะคลอดลูกยา | เป็นผู้ก็ท่าจะบรรลัย |
อย่าเลยจะหนีไปจากหมู่ | ซ่อนคลอดในคูหาใหญ่ |
คิดแล้วลอบหลีกออกไป | เข้าในแนวเนินคีรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ มาถึงถ้ำแก้วสุรกานต์ | พอพระสุริย์ฉานจํารัสศรี |
ก็ได้ศุภฤกษ์ยามดี | พร้อมทั้งดิถีเวลา |
จึ่งคลอดบุตรมาเป็นตัวผู้ | ดำดูองอาจแกล้วกล้า |
ข้อลํากำลังมหึมา | ก็โลมเลียลูกยาสำราญใจ |
ให้กินนมแล้วปลอบลูกรัก | แม่จะอยู่ช้านักก็ไม่ได้ |
แม้นพ่อของเจ้ารู้ไป | จะพากันบรรลัยไม่พริบตา |
จึ่งเล่าให้ฟังถ้วนถี่ | แต่ฆ่าชีวีลูกเสียหนักหนา |
เจ้าจงระมัดกายา | กําพร้าแม่อยู่สถาวร |
สั่งพลางน้ำตาไหลพราก | ขอฝากเทพไททุกสิงขร |
แล้วออกจากถ้ำอลงกรณ์ | บทจรตามฝูงเที่ยวไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | เทวาอยู่ในคูหาใหญ่ |
ฟังนางกาสรก็อาลัย | มีใจกรุณาพันทวี |
จึ่งชวนกันเข้ารักษา | สองเขาบาทาทั้งสี่ |
อยู่ทุกทิวาราตรี | ให้ชื่อทรพีชาญฉกรรจ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายท้าวยมยักษ์รังสรรค์ |
ซึ่งผ่านบาดาลพิภพนั้น | มีมหันตยศเลิศไกร |
ประกอบด้วยสนมกัลยา | แสนสุรเสนาน้อยใหญ่ |
ไพร่ฟ้าผาสุกสําราญใจ | ศัตรูหมู่ภัยไม่ยายี |
ครอบครองสวรรยาช้านาน | จนชนมานท้าวยักษี |
ทรงพระชราห้าหมื่นปี | อสุรีจวนสิ้นชีวัน |
จึ่งตรัสแก่องค์อัครชายา | พระบิดาเมื่อมอบไอศวรรย์ |
สั่งพี่มิให้คบทศกัณฐ์ | หยาบช้าอาธรรม์ทรลักษณ์ |
จงบอกลูกหลานสืบไป | อย่าให้คบหาสมาศักดิ์ |
สั่งแล้วหลานท้าวสี่พักตร์ | พญายักษ์ก็สิ้นชีวา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | ไมยราพสิทธิศักดิ์ยักษา |
ครั้นพระบิตุเรศมรณา | อสุราเปลี่ยวเปล่าเศร้าใจ |
ให้คิดตรึกตราปรารภ | ซึ่งจะครองพิภพเป็นใหญ่ |
แม้นเกิดสงครามมาชิงชัย | ไม่มีฤทธิไกรจะราญรอน |
จะไปหาพระสุเมธทรงญาณ | ซึ่งอยู่หิมพานต์สิงขร |
คิดแล้วทรงเครื่องอลงกรณ์ | บทจรขึ้นเฝ้าพระมารดา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรอภิวาทน์ | ทูลบาทชนนีนาถา |
ลูกรักจักถวายบังคมลา | ไปเรียนวิทยาพระมุนี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางจันทประภาโฉมศรี |
ฟังพระโอรสก็ยินดี | เทวีอำนวยอวยพร |
ซึ่งเจ้าจะไปเรียนวิชา | ให้แกล้วกล้าชำนาญชาญสมร |
เหมือนองค์สมเด็จพระบิดร | จงถาวรเจริญสวัสดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาไมยราพยักษี |
ชุลีกรรับพรพระชนนี | ก็แทรกพื้นปัถพีขึ้นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นถึงจึ่งกราบมัสการ | พระสุเมธอาจารย์ผู้ใหญ่ |
ว่าข้าจำนงจงใจ | จะเรียนรู้อยู่ใต้บาทา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุเมธดาบสพรตกล้า |
ได้ฟังไมยราพก็ปรีดา | จึ่งบอกเวทคาถามหามนตร์ |
ทั้งผูกจิตนิทราสะกดทัพ | สรรพยาเป่ากล้องล่องหน |
พีธีอุปเท่ห์เล่ห์กล | คงทนกำลังกายา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พญาไมยราพยักษา |
ทำเพียรร่ำเรียนวิชา | ต่อพระมหาอาจารย์ |
อุปเท่ห์เล่ห์กลสำหรับใช้ | ก็จำได้ทุกสิ่งวิตถาร |
ทดลองถ่องแท้ชํานาญ | ในวิชาการพระมุนี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุเมธมหาฤๅษี |
เห็นพญาไมยราพอสุรี | ปรีชาแคล่วคล่องว่องไว |
ลูบหลังแล้วกล่าวสุนทร | เจ้าผู้ฤทธิรอนแผ่นดินไหว |
กูจะบอกพระเวทถอดใจ | มิให้ใครฆ่ามรณา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาไมยราพยักษา |
ได้ฟังพระมหาสิทธา | ว่าจะตั้งกาลาให้กล้าฤทธิ์ |
กราบลงแล้วตอบพจมาน | ซึ่งจะทำการถอดจิต |
ตัวข้ายินดีเป็นสุดคิด | พระนักสิทธ์จงได้ปรานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระมหาฤๅษี |
ก็พาไมยราพอสุรี | ออกจากที่บรรณศาลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ มาถึงซึ่งต้นรังใหญ่ | ยอดใบกิ่งก้านสาขา |
ร่มชิดมิดแสงพระสุริยา | ผกากลิ่นกลบตลบไป |
ใต้ต้นราบรื่นพื้นทรายอ่อน | ใกล้เชิงสิงขรเนินไศล |
จึ่งกองกูณฑ์กาลาบูชาไฟ | ตามในไสยเวทพิธีการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ยานี
๏ เมื่อนั้น | พญาไมยราพใจหาญ |
ชําระสระสรงชลธาร | ขุนมารห่อเกล้าเป็นโยคี |
จึงเอาจุณเจิมเฉลิมพักตร์ | พญายักษ์ถือประคำมณีศรี |
กราบบาทพระมหามุนี | อสุรีเข้านั่งภาวนา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ เมื่อนั้น | พระสุเมธทรงญาณฌานกล้า |
เสกน้ำประกายอสุรา | ร่ายเวทมนตราเป่าไป |
จนครบกำหนดสิบห้าวัน | อากาศครื้นครั่นหวั่นไหว |
มืดมัวทั่วทั้งพนาลัย | ต้องในไสยเวทพระมุนี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ สาธุการ
๏ เมื่อนั้น | พญาไมยราพยักษี |
หลับเนตรสำรวมอินทรีย์ | อสุรีไม่แจ้งเหตุการณ์ |
เมื่อจิตจะออกจากกายา | ด้วยเดชาพระเวทกล้าหาญ |
เป็นแมลงภู่ทองบินทะยาน | จากโอษฐ์ขุนมารฤทธิรอน |
ทักษิณสามรอบเวียนวง | แล้วตรงไปเชยเกสร |
ในดอกรังร่วงรสขจายจร | กลับร่อนมายังอสุรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ เมื่อนั้น | องค์พระมหาฤาษี |
ครั้นเห็นสุวรรณภุมรี | ไปเชยมาลีแล้วกลับมา |
บินอยู่ตรงหน้าขุนยักษ์ | พระนักสิทธ์แสนโสมนัสสา |
จึ่งยื่นหัตถ์หยิบเอาภุมรา | ส่งให้พญาอสุรี |
แล้วมีวาจาอันสุนทร | ดูก่อนไมยราพยักษี |
ท่านจงเอาดวงชีวี | ไปไว้ตรีกูฏบรรพต |
แต่นี้อินทรีย์อสุรา | เป็นมหาคงทนทรหด |
แม้นมีปัจจามิตรคิดคด | ฆ่าด้วยเพลิงกรดไม่วายปราณ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ไมยราพฤทธิไกรใจหาญ |
รับจิตจากกรพระอาจารย์ | ยินดีปานได้โสฬส |
จึ่งว่าอันซึ่งพระคุณนี้ | ใหญ่หลวงพ้นที่จะกำหนด |
พระองค์ค่อยอยู่จำเริญพรต | ในอาศรมบทสถาวร |
ตัวข้าขอลาบาทบง | ลงไปยังบาดาลก่อน |
ว่าแล้วสำแดงฤทธิรอน | แทรกพื้นแผ่นดินดอนลงไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ มาถึงตรีกูฏภูผา | ใต้เชิงมหาพระเมรุใหญ่ |
พญามารจึ่งเอาดวงใจ | ใส่ไว้หว่างยอดคีรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นเสร็จซึ่งซ่อนภุมเรศ | ก็ออกมาด้วยเดชยักษี |
ตรงไปบาดาลธานี | ยังที่พิภพอสุรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ปฐม