- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๘
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงท้าวทศพักตร์ยักษี |
แจ้งว่าพญาพาลี | พรุ่งนี้จะลงสรงองคต |
ไอ้นี่มันลูกศัตรู | เกิดมาให้กูอัปยศ |
นานไปจะได้แต่ทรยศ | ทศทิศจะรับอัประมาณ |
ว่าลูกมณโฑนุชนาฏ | เกิดด้วยไอ้ชาติเดียรฉาน |
จะฆ่ามันเสียให้วายปราณ | จึ่งจะสิ้นรำคาญสบายใจ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ คิดแล้วเสด็จโดยบัญชร | สำแดงฤทธิรอนแผ่นดินไหว |
เหาะระเห็จเตร็ดฟ้าว่องไว | ตรงไปยมนานที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ กราว
๏ มาถึงซึ่งที่ท่าสรง | ก็ลงยังฝั่งวารีศรี |
ยอกรเหนือเกล้าเมาลี | อสุรีก็ร่ายพระเวทไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ ครั้นถ้วนคำรบเจ็ดท่า | กายาก็กลับเป็นปูใหญ่ |
เสร็จแล้วคลานลงชลาลัย | จมอยู่ในท้องวารี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ คุกพาทย์
ยานี
๏ เมื่อนั้น | พญาพานรินทร์เรืองศรี |
ครั้นแสงทองส่องฟ้าธาตรี | ก็เสด็จจากที่ไสยา |
จึ่งให้แต่งองค์พระโอรส | อลงกตด้วยทิพย์ภูษา |
ทองกรสวมกรเป็นนาคา | พาหุรัดธํามรงค์สังวาล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เสร็จแล้วให้ทรงยานุมาศ | แห่โดยพยุหบาตรสรงสนาน |
ฆ้องกลองเครื่องสูงโอฬาร | พฤฒาจารย์ก็นำเสด็จไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ กลองโยน
๏ บัดนั้น | ฝ่ายทหารวานรน้อยใหญ่ |
ก็ลงเที่ยวค้นชลาลัย | ไล่สัตว์ที่มีเขี้ยวงา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ พากันค้นไปเป็นหมู่หมู่ | ก็พบปูตัวใหญ่ใจกล้า |
แอบกับคันฉัตรรัตนา | วานรไล่จับวุ่นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ทศกัณฐ์ซึ่งเป็นปูใหญ่ |
ง่าก้ามคำรามเสียงเกรียงไกร | ทะยานไล่วานรเป็นโกลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | โยธาทหารกระบี่ศรี |
ไม่รู้ที่จะต่อฤทธี | ต่างคนต่างหนีขึ้นมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ก้มเกล้าประณตบทบงสุ์ | ทูลองค์พาลีแกล้วกล้า |
ว่าพบปูใหญ่อหังการ์ | ข้าเข้าเข่นฆ่ามันต่อกร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ลูกท้าวมัฆวานชาญสมร |
ได้ฟังชักตรีฤทธิรอน | โถมลงสาครด้วยโกรธา |
แหวกน้ำดำด้นค้นจบ | พานพบปูใหญ่ใจกล้า |
โลดโผนโจนจับด้วยศักดา | ยมนาเป็นระลอกกระฉอกไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ทศพักตร์ซึ่งเป็นปูใหญ่ |
ครั้นพญาพาลีเข้าชิงชัย | ตกใจก็กลายเป็นกุมภัณฑ์ |
แหวกน้ำทําฤทธิ์เข้าต่อยุทธ์ | ด้วยกำลังวัยวุฒิแข็งขัน |
สองหาญต่อกล้าโรมรัน | เสียงสนั่นทั้งท้องวารี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ลูกท้าวมัฆวานเรืองศรี |
กริ้วโกรธพิโรธดั่งอัคคี | ขุนกระบี่จึ่งร้องประกาศไป |
เหม่เหม่ดูดู๋ไอ้ทศพักตร์ | อิจฉาทรลักษณ์หยาบใหญ่ |
กูจะฆ่าให้ม้วยบรรลัย | ว่าแล้วเข้าไล่บุกบัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ต่างฟันต่างแทงต่างรับ | กลอกกลับรวดเร็วดั่งจักรผัน |
ถ้อยทีถ้อยตีถ้อยประจัญ | หนีไล่พัลวันในวารี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
แต่ปะทะระกรพาลี | อสุรีก็ถอยกำลังฤทธิ์ |
ทั้งยี่สิบกรฟอนฟาด | ไม่อาจต้านต่อรอติด |
แต่รับรองป้องกันมิให้ชิด | สุดคิดจําเข้าต่อกร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาพาลีชาญสมร |
ไล่รุกบุกบั่นฟันฟอน | วานรถีบต้องอสุรี |
จมน้ำดำผุดไม่หยุดรับ | ก็ถาโถมโจมจับยักษี |
รวบรัดตัวได้ในนที | ขุนกระบี่ก็พาขึ้นมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพลวานรแกล้วกล้า |
เห็นพระองค์ผู้ทรงนครา | จับได้ยักษาก็ดีใจ |
จึ่งเข้าผูกมัดรัดรึง | ตรึงไว้ด้วยพวนเหล็กใหญ่ |
บ้างเข้าเยาะเย้ยไยไพ | ตระเวนไว้ที่ริมคงคา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา เดี่ยว
๏ บัดนั้น | โหราพฤฒาจารย์พร้อมหน้า |
ครั้นถึงศุภฤกษ์เวลา | พอจับอสุราได้พร้อมกัน |
ให้ลั่นฆ้องประโคมแตรสังข์ | เภรีมี่ดังครื้นครั่น |
สุครีพอุ้มนัดดาวิลาวัณย์ | จรจรัลลงสรงนที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ลงสรง
๏ เสร็จซึ่งมงคลสรงสนาน | ก็เชิญพระกุมารเรืองศรี |
ขึ้นจากท้องท่าวารี | กระบี่แห่แหนแน่นมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ กลองโยน
๏ ครั้นถึงพระมหาปราสาท | อันโอภาสจำรัสพระเวหา |
โยคีชีพราหมณ์พฤฒา | ราชครูโหราทั้งนั้น |
เข้ามาถวายอาเศียรพาท | โดยศาสตร์พระอิศวรรังสรรค์ |
โอมอ่านพระเวทขึ้นพร้อมกัน | เฉลิมขวัญองค์พระกุมารา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ สาธุการ
โทน
๏ บัดนั้น | ราชครูผู้ใหญ่ซ้ายขวา |
ก็จุดเทียนเวียนแว่นรัตนา | ให้ประโคมกาหลดนตรี |
ฆ้องกลองพิณสังข์กังสดาล | ประสานเสียงดุริยางค์อึงมี่ |
เจ็ดรอบชอบโดยประเวณี | ดับอัคคีโบกควันไปทันใด |
แล้วเอาจุณเจิมเฉลิมพักตร์ | ตามลักขณาตำราไสย |
บรรดาเสนาวานรใน | ก็อวยชัยให้พรสวัสดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายคณะพระมหาฤาษี |
ครั้นเสร็จการราชพิธี | ก็ลาไปที่อยู่พระอาจารย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาพาลีใจหาญ |
จึงสั่งเสนายามพะวาน | ให้เอาทศกัณฐ์มารขึ้นมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ยามพะวานวานรใจกล้า |
รับสั่งพระองค์ทรงนครา | ชุลีลาแล้วรีบระเห็จไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ มาถึงที่มัดอสุรี | ขุนกระบี่ฉุดพวนเหล็กใหญ่ |
บรรดาโยธีกระบี่ไพร | เขาลากไล่ตีต้อนกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ ครั้นถึงจึ่งเอาต้นแหล่ง | ผูกแย่งขึงไว้ให้มั่น |
ทารกรรมตรำตรากทศกัณฐ์ | ที่หน้าพระโรงคัลรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาพานรินทร์เรืองศรี |
ครั้นเห็นทศเศียรอสุรี | ขุนกระบี่ยิ้มพรายสบายใจ |
จึ่งมีพระราชบัญชา | สั่งหมู่โยธาน้อยใหญ่ |
จงไปเยาะเย้ยไยไพ | ให้สมแก่ใจไอ้สาธารณ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่โยธีทวยหาญ |
รับสั่งลูกท้าวมัฆวาน | ต่างวิ่งลนลานออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งเข้าแย่งยุด | กระชากฉุดพวนใหญ่ลากคร่า |
ลางลิงยักคิ้วหลิ่วตา | ชี้หน้าเยาะเย้ยกุมภัณฑ์ |
เหวยเหวยดูก่อนขุนยักษ์ | ก้มพักตร์อยู่ไยไอ้โมหันธ์ |
นี่ฤๅชื่อว่าทศกัณฐ์ | เป็นเจ้ากุมภัณฑ์ในลงกา |
อาจองว่าวงศ์จัตุรพักตร์ | อวดฤทธิ์สิทธิศักดิ์แกล้วกล้า |
ไม่อดสูลอบแปลงเป็นปูมา | เขาจับได้ที่ท่าชลาลัย |
เสียแรงสิบพักตร์ยี่สิบกร | มานั่งทอดถอนใจใหญ่ |
เหวยเจ้าลงกากรุงไกร | เป็นไรจึ่งไม่แผลงฤทธิ์ |
ดีแต่จะลอบทําร้าย | ไม่มีชาติอายแต่สักหนิด |
กูเห็นเป็นสิ้นความคิด | ที่จะแก้ชีวิตไปลงกา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาพาลีใจกล้า |
สำรวลสรวลสันต์แล้วบัญชา | ให้โยธาผูกทศกัณฐ์ไว้ |
สำหรับองคตลูกกู | ลากเล่นต่างปูตัวใหญ่ |
สั่งเสร็จเสด็จเข้าไป | ยังไพชยนต์รัตน์รูจี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | องคตกุมารเรืองศรี |
ครั้นรุ่งสางสว่างราตรี | ลงมาที่ท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งจูงทศกัณฐ์ลากเล่น | เช้าเย็นเป็นสุขเกษมสันต์ |
แล้วเอาข้าวเดนนางกำนัล | ให้กินวันละปั้นทุกเวลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พญาพาลีใจกล้า |
แต่จับทศกัณฐ์พันธนา | ให้ลูกยาลากเล่นเป็นช้านาน |
จนกายซูบผอมอดอยาก | ลําบากปิ้มสิ้นสังขาร |
แกล้งทารกรรมทำประจาน | ขุนมารมาได้ถึงเจ็ดวัน |
คิดว่าครั้งนี้จะไว้ยศ | ให้ปรากฏฟากฟ้าสรวงสวรรค์ |
กว่าจะสิ้นกำหนดกัปกัลป์ | จึงให้แก้กุมภัณฑ์ปล่อยไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วานรราชมัลผู้ใหญ่ |
รับสั่งลูกท้าวหัสนัยน์ | ก็แก้ปล่อยไปทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
ได้ความอัปยศพันทวี | อสุรีไม่เงยพักตรา |
สุดเจ็บสุดอายสุดฤทธิ์ | สุดคิดมิใคร่ให้เห็นหน้า |
จำเป็นจำดำรงกายา | เหาะไปลงกาธานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงนิเวศน์ราชฐาน | ขึ้นแท่นสุรกานต์จำรัสศรี |
ทอดองค์ลงทรงโศกี | อสุรีสะท้อนถอนใจ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
ช้า
๏ โอ้ว่าเสียแรงกูเรืองฤทธิ์ | ทศทิศไม่รอต่อได้ |
ออกนามขามเดชทั่วไป | ทั้งในไตรภพธาตรี |
ครั้งหนึ่งไปต่อฤทธิรงค์ | ก็แพ้องค์อรชุนเรืองศรี |
อายอสุรเทวานาคี | แล้วมาแพ้พาลีถึงสองครา |
อันพระเวทพระมนต์ศรสิทธิ์ | ก็ชํานาญฤทธิ์แกล้วกล้า |
ทั้งเทพอาวุธล้วนศักดา | ควรฤๅมาแพ้ภัยพาล |
ซึ่งจะทำสงครามต่อไป | เสียชัยก็จะเสียสังขาร |
จําจะคิดกับองค์พระอาจารย์ | ทําการถอดจิตออกจากกาย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ พญามารนิ่งนึกตรึกไป | จนอุทัยเรืองแรงแสงฉาย |
เสด็จจากแท่นแก้วแพร้วพราย | กรายกรออกพระโรงรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งมีพระราชบรรหาร | สั่งเสนามารยักษี |
จงรีบออกไปยังกุฎี | เชิญพระมุนีเข้ามา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งเสนามารยักษา |
รับสั่งแล้วถวายบังคมลา | อสุราก็รีบระเห็จไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงอาศรมพระดาบส | ยอกรประณตประนมไหว้ |
แจ้งความตามข้อรับสั่งใช้ | โดยในพระราชโองการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระโคบุตรปรีชากล้าหาญ |
รู้ว่าทศเศียรพญามาร | นิมนต์ไปราชฐานธานี |
ก็นุ่งคากรองเปลือกไม้ | สำหรับวิสัยพระฤๅษี |
ฉวยได้ไม้เท้าพัชนี | ออกจากกุฎีแล้วรีบมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงพระนิเวศน์วังสถาน | องค์พระอาจารย์ฌานกล้า |
ขึ้นยังปราสาทแก้วแววฟ้า | นั่งแท่นรัตนาพรายพรรณ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
น้อมเศียรนมัสการพระนักธรรม์ | วันนี้โยมให้นิมนต์มา |
ด้วยพระองค์สิเป็นอาจารย์ | บอกการศิลป์ศรให้ข้า |
ทั้งพระเวทพระมนต์วิทยา | ล้วนมีศักดาเกรียงไกร |
ข้าไปสงครามด้วยพาลี | สองทีไม่สู้เขาได้ |
ครั้งพระอรชุนมัดไป | ก็แจ้งในใต้เบื้องบทมาลย์ |
ภายหน้าแม้นมีปัจจามิตร | ชีวิตก็จะสิ้นสังขาร |
ขอพระองค์ผู้ทรงตบะญาณ | ช่วยคิดการอย่าให้ม้วยชีวี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระโคบุตรฤๅษี |
ยิ้มแล้วจึ่งตอบวาที | อสุรีอย่าปรารมภ์ใจ |
กูจะตั้งพิธีตบะกิจ | ถอดจิตของเอ็งออกให้ |
ถึงใครจะฆ่าไม่บรรลัย | ด้วยดวงใจอยู่นอกกายา |
เราจะขึ้นไปทำพิธี | ยอดนิลคีรีภูผา |
อย่าให้ใครแจ้งกิจจา | ว่าแล้วก็พากันไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งองค์พระมุนี | นิมิตโรงพิธีสูงใหญ่ |
พร้อมด้วยฉัตรเบญจรงค์ธงชัย | ธูปเทียนดอกไม้ครบครัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
ยานี
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
สระสรงทรงเครื่องวิไลวรรณ | จุณจันทน์เจิมพักตร์ดั่งโยคี |
ทรงภูษาขาวโขมพัสตร์ | พระหัตถ์ถือประคำมณีศรี |
สอดสายธุหร่ำรูจี | เข้าโรงพิธีอำไพ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
ชมตลาด
๏ จึ่งเอาธูปเทียนมาลา | บูชาโดยศาสตร์คัมภีร์ไสย |
หลับเนตรอ่านเวทสำรวมใจ | มิได้หวาดไหวไปมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระโคบุตรอาจารย์ฌานกล้า |
นั่งสมาธิเหนืออาสน์ภาวนา | วิญญาณ์ผูกจิตอสุรี |
จึ่งเอาน้ำสังข์น้ำกลศ | รดเหนือเศียรเกล้ายักษี |
แล้วร่ายพระเวทอันฤทธี | เป่าทั่วอินทรีย์กุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ สาธุการ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
หลับเนตรอ่านเวทตบะกรรม์ | ก็ล่วงพิธีนั้นช้านาน |
เก้าเดือนเก้าวันเก้านาที | ให้อิ่มดีไม่อยากอาหาร |
ด้วยเดชพระเวทตบะญาณ | ปานดั่งกินทิพย์ทุกเวลา |
เมื่อจิตจะออกจากตัว | ให้มึนมัวนัยน์เนตรทั้งซ้ายขวา |
เศียรพองสยองโลมา | ดั่งว่าจะสิ้นสมประดี |
แรงน้อยผ็อยไปไม่นั่งตรง | ซบลงหมอบอยู่กับที่ |
ดวงจิตก็ออกจากอินทรีย์ | อสุรีสลบนิ่งไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ เมื่อนั้น | องคพระโคบุตรอาจารย์ใหญ่ |
ยินดีก็หยิบเอาดวงใจ | ใส่ในกล่องแก้วแววฟ้า |
ชั้นนอกนั้นศีลาประดับ | ปรับชิดยิ่งเส้นเลขา |
ครั้นแล้วจึ่งองค์พระสิทธา | เอาน้ำประกายาอสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
ก็ฟื้นคืนได้สมประดี | ปรีดาด้วยจิตออกจากกาย |
จึ่งตรัสแก่องค์พระนักสิทธ์ | พิธีนี้ทำมิได้ง่าย |
ถึงมาตรใครฆ่าก็ไม่ตาย | ศัตรูหมู่ร้ายไม่เกรงกัน |
อันคุณพระองค์ทรงเดช | เสมอด้วยบิตุเรศรังสรรค์ |
จิตนี้เป็นที่สำคัญ | พระนักธรรม์จะเอาไว้แห่งใด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระโคบุตรอาจารย์ใหญ่ |
ได้ฟังบัญชาก็ตอบไป | อันดวงใจซึ่งออกจากกายา |
เปรียบดั่งลูกโคที่พลัดแม่ | อยากนมชะแง้แลหา |
ถ้าเหลือบไปเห็นมารดา | ก็จะวิ่งเข้ามาด้วยยินดี |
ดวงจิตจะไว้ใกล้กาย | ดีร้ายจะคืนเข้าสู่ที่ |
ถึงมาตรจะซ้ำทำพิธี | ชีวีไม่คืนออกมา |
กูจะช่วยรักษาไว้ | ที่ในกุฎีกลางป่า |
ให้ไกลองค์พญาอสุรา | เห็นว่าจะไม่มีเหตุการณ์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรผู้ปรีชาหาญ |
ได้ฟังพระมหาอาจารย์ | ปานได้ช่อชั้นดุษฎี |
จึ่งว่าสุดแต่พระคุณ | จะการุญโปรดเกล้าเกศี |
โยมจะพึ่งบาทพระมุนี | ไปกว่าชีวีจะมรณา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาดาบสพรตกล้า |
เสร็จแล้วถวายพระพรลา | พาดวงใจเหาะไปกุฎี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยี่สิบกรยักษี |
เสร็จส่งพระมหามุนี | อสุรีแสนโสมนัสนัก |
ดั่งได้สมบัติพัสถาน | อันโอฬารเลิศในไตรจักร |
สํารวลสรวลยิ้มพริ้มพักตร์ | ขุนยักษ์เสด็จกลับมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายกุเปรันยักษา |
แต่มาอยู่กาลจักรพารา | เฝ้าเจ้าโลกาเป็นนิจไป |
จะได้ขี่ม้ารถคชสาร | ยวดยานสิ่งอื่นนั้นหาไม่ |
ทรงแต่บุษบกอำไพ | เป็นที่ชอบใจอสุรี |
เวลาอุทัยก็ทรงเครื่อง | อร่ามเรืองจํารัสรัศมี |
ขึ้นบุษบกแก้วมณี | ไปสู่ที่เฝ้าเจ้าโลกา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ พญาเดิน
๏ ครั้นถึงซึ่งเนินไกรลาส | ก็ลงจากอากาศเวหา |
พอองค์สมเด็จพระอิศรา | สำรวมวิญญาณ์จำเริญฌาน |
อยู่ในวิมานแก้วอลงกรณ์ | เหนือคอกุญชรตัวหาญ |
ยักษีหยุดอยู่สำราญ | เชิงสถานไกรลาสบรรพต ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
โทน
๏ เที่ยวชมพฤกษาทิชาชาติ | ล้วนงามสะอาดประหลาดหมด |
โนรีจับไม้คันธรส | นกกดจับเกดเคียงกัน |
กาลิงจับกิ่งกาหลง | ฝูงหงส์จับไม้กะทั่งหัน |
กระลุมพูจู่จับแสลงพัน | เบญจวรรณจับต้นพะวา |
นกสักร่อนจับกิ่งสน | อัญชันจับต้นฉำฉา |
นกแก้วจับต้นกรรณิการ์ | ไก่ฟ้าจับต้นมะไฟ |
มีทั้งห้วยเหวเปลวปล่อง | ชั้นช่องโตรกเตริ่นเนินไศล |
อสุราชื่นเริงบันเทิงใจ | ในเชิงไกรลาสคีรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เพลง
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
แต่ถอดดวงจิตจากอินทรีย์ | มีใจองอาจอหังการ์ |
ให้คิดอิจฉาอาธรรม์ | แก่กุเปรันเชษฐา |
ว่าองค์สมเด็จพระบิดา | ยกมหาบุษบกให้ไป |
ตัวกูก็ทรงสิทธิศักดิ์ | จะโหมหักชิงคืนมาให้ได้ |
คิดแล้วลงสรงคงคาลัย | ทรงเครื่องพิชัยสงครามยุทธ์ |
ยี่สิบหัตถ์นั้นจับพระแสง | เงื้อง่ากวัดแกว่งอุตลุด |
ผลาดแผลงสำแดงฤทธิรุทร | เหาะทะยานผ่านสมุทรขึ้นเมฆา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงเนินไศลไกรลาส | แลผาดไปเห็นพระเชษฐา |
มีความยินดีปรีดา | จึ่งกล่าววาจาประกาศไป |
ดูกรกุเปรันยักษ์ | ผู้ผ่านกาลจักรกรุงใหญ่ |
อันบุษบกแก้วแววไว | สำหรับพิชัยลงกา |
พระบิตุรงค์ทรงมอบราชฐาน | ให้เราผ่านพิภพยักษา |
ท่านจงส่งบุษบกมา | ไม่ให้จะฆ่าเสียบัดนี้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | กุเปรันสิทธิศักดิ์ยักษี |
ได้ฟังทศพักตร์พาที | อสุรีกริ้วโกรธขบฟัน |
จึ่งว่าสมเด็จพระบิตุเรศ | ให้ตัวผ่านนิเวศน์เขตขัณฑ์ |
บรรดาพี่น้องทั้งนั้น | ก็แบ่งปันให้ตามลำดับมา |
แต่บุษบกแก้วทิพยมาศ | ท้าวประสาทให้กูผู้เชษฐา |
ตัวเอ็งก็เป็นอนุชา | ได้สมบัติบิดาไม่หนําใจ |
ยังมาอ้างอวดอหังการ | ฮึกหาญดูหมิ่นผู้ใหญ่ |
ตัวกูก็มีฤทธิไกร | จะกลัวมึงไยไอ้อัปรีย์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
ได้ฟังเชษฐาพาที | อสุรีกริ้วโกรธดั่งไฟกาฬ |
จึ่งร้องว่าเหวยกุเปรัน | วันนี้มึงจะม้วยสังขาร |
ว่าแล้วเผ่นโผนโจนทะยาน | เข้าไล่รอนราญพี่ยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | กุเปรันฤทธิไกรใจกล้า |
รับรองป้องปัดเป็นโกลา | ตีซ้ายป่ายขวาอลวน |
ต่อต้านสัประยุทธ์โหมหัก | ตีต้องทศพักตร์หลายหน |
สองกล้าสองหาญทานทน | ต่างตนไม่เงือดงดกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรฤทธิแรงแข็งขัน |
ต้องศาสตราวุธกุเปรัน | กุมภัณฑ์เดือดดาลทะยานใจ |
เผ่นโผนโจนจับรับรอง | ชิงเอาตะบองเพชรได้ |
ตีต้องกุเปรันหันไป | เลือดไหลลงโซมกายา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | กุเปรันสิทธิศักดิ์ยักษา |
ความเจ็บปิ้มม้วยมรณา | อสุรารั้งรอท้อใจ |
สิ้นแรงหิวหอบบอบนัก | จะต่อฤทธิ์ทศพักตร์ก็มิได้ |
ความกลัวทิ้งบุษบกไว้ | หนีไปพึ่งองค์พระศุลี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
ไล่ชิดติดพันตามตี | ไปจนถึงที่เจ้าโลกา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | กุเปรันสิทธิศักดิ์ยักษา |
วิ่งหนีดั่งจะม้วยชีวา | เวียนรอบคชาพระทรงญาณ |
จึ่งร้องทูลองค์พระเป็นเจ้า | จงโปรดเกล้าช่วยชีพสังขาร |
ทศกัณฐ์หยาบช้าสาธารณ์ | มันไล่รอนราญราวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสยมภูวนาถเรืองศรี |
ได้ยินสำเนียงอสุรี | ภูมีเหลือบเนตรแลไป |
เห็นทศเศียรขุนยักษ์ | อาจองทะนงศักดิ์หยาบใหญ่ |
โกรธาถอดงาคชไกร | ขว้างไปปักอกอสุรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ แล้วสาปซ้ำด้วยวาจาสิทธิ์ | ให้ติดอยู่กับทรวงยักษา |
ต่อวันสิ้นชีพชีวา | งานั้นจึ่งหลุดจากอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศกัณฐ์สิทธิศักดิ์ยักษี |
เจ็บปวดปิ้มสิ้นชีวี | อสุรีคอยดำรงทรงกาย |
ยี่สิบกรถอนงากระชากฉุด | ไม่หลุดจากอกก็ใจหาย |
มิได้ตามตีพี่ชาย | กลัวตายก็วิ่งหนีไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เจ็บปวดรวดเร้าเป็นกำลัง | จะเหลียวหลังมาก็หาไม่ |
ขึ้นบุษบกแก้วแววไว | ลอยลิ่วไปในเมฆา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงนิเวศน์วังสถาน | สั่งเสนามารยักษา |
ไปหาวิษณุกรรม์เทวา | ว่ากูให้มาบัดเดี๋ยวนี้ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งเสนามารยักษี |
รับสั่งแล้วแผลงฤทธี | อสุรีเหาะขึ้นอัมพร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งแจ้งแก่เทวัญ | ว่าท้าวทศกัณฐ์ชาญสมร |
ให้มาเชิญท่านผู้ฤทธิรอน | ไปยังนครลงกา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พระวิษณุกรรมแกล้วกล้า |
ได้แจ้งแห่งคำอสุรา | ก็สำแดงฤทธาเหาะไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โคมเวียน
๏ ครั้นถึงลงจากอากาศ | เทวราชผู้มีอัชฌาสัย |
ก็เข้าไปยังท้องพระโรงชัย | นั่งใกล้พญาอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
เห็นพระวิษณุกรรม์ก็ยินดี | จึ่งมีสุนทรวาจา |
ดูกรท่านผู้จำเริญสุข | เราทนทุกข์ปิ้มสิ้นสังขาร์ |
ด้วยพระอิศโรโกรธา | ขว้างงามาปักอุระไว้ |
แล้วทั้งสาปซ้ำมิให้หลุด | ชักฉุดเท่าไรก็ไม่ไหว |
จะให้ท่านรจนามัย | แก้ไขเลื่อยงาคเชนทร |
แล้วทำเครื่องประดับปิด | ให้วิจิตรแลเลื่อมประภัสสร |
อย่าให้เห็นงากุญชร | อลงกรณ์ให้สนิทงามดี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | พระวิษณุกรรม์เรืองศรี |
ก็เลื่อยงาที่อกอสุรี | มิให้ราคีกายา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ไม่ทันพริบตางาก็ขาด | ด้วยฤทธิ์เทวราชแกล้วกล้า |
แล้วนิมิตอาภรณ์รจนา | ปิดซึ่งอุราพญามาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ ครั้นเสร็จก็ลาทศกัณฐ์ | เทวัญออกจากราชฐาน |
เหาะขึ้นยังพื้นคัคนานต์ | ตรงไปวิมานอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงหนุมานชาญสมร |
อยู่ในขีดขินพระนคร | ด้วยพญาวานรพาลี |
ต่างตาต่างใจไม่เกียจคร้าน | ราชกิจการงานถ้วนถี่ |
แสนสนุกทุกทิวาราตรี | กระบี่คิดถวิลจินดา |
ใคร่รักษาศีลสํารวมจิต | ให้จําเริญฤทธิ์แกล้วกล้า |
คิดแล้วลูกพระพายเทวา | ก็เข้ามายังท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงประณตบทบงสุ์ | องคพญาพาลีรังสรรค์ |
ทูลว่าขอลาพระทรงธรรม์ | ไปสร้างพรหมจรรย์พิธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาพานรินทร์เรืองศรี |
ได้ฟังนัดดาร่วมชีวี | ขุนกระบี่อัดอั้นฤทัย |
จึ่งสวมสอดกอดองค์หลานรัก | พิศพักตร์ทอดถอนใจใหญ่ |
แล้วว่าตัวเจ้าจะออกไป | จำศีลอยู่ในอรัญวา |
พ่อจงสำเร็จความคิด | ให้เลื่องชื่อลือฤทธิ์ทุกทิศา |
เสร็จแล้วเร่งกลับคืนมา | จะได้ต่างตาต่างกร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กำแหงหนุมานชาญสมร |
ก้มเกล้าคำนับรับพร | ด้วยใจสุนทรสวัสดี |
แล้วจึ่งประณตบทบงสุ์ | ลาองค์สุครีพกระบี่ศรี |
สั่งทั้งองคตร่วมชีวี | ขุนกระบี่ก็เหาะระเห็จไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ มาถึงป่ากัทลีวัน | สำคัญไม้หว้าต้นใหญ่ |
ร่มชิดมิดแสงอโณทัย | เข้าอาศัยภาวนาน่าสำราญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ใจหาญ |
เสวยสุขสวรรยาโอฬาร | ด้วยฝูงบริวารนารี |
มิได้อิ่มใจในรสรัก | พญายักษ์จะใคร่เกษมศรี |
ด้วยเทพธิดากัลยาณี | อสุรีเหาะไปเมืองฟ้า ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ มาถึงพิภพมัฆวาน | ในสถานแดนดาวดึงสา |
จึ่งอ่านพระเวทอันศักดา | แปลงเพศกายากุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ อ่าองค์ทรงโฉมประโลมใจ | ดั่งองค์หัสนัยน์รังสรรค์ |
ยุรยาตรนาดกรจรจรัล | เข้าวิมานสุวรรณรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ฉุยฉาย
โอ้โลม
๏ ครั้นถึงนั่งแท่นนางฟ้า | ไขว่คว้าด้วยใจเกษมศรี |
สัพยอกหยอกเย้าไปในที | ร่วมรสฤดีภิรมย์ใจ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ กล่อม
๏ แล้วเที่ยวไปชมสมพาส | ทุกวิมานมาศน้อยใหญ่ |
เชยแก้มแนมเนื้ออรไท | ลูบไล้ชมทิพย์สุมามาลย์ |
เที่ยวไปทั้งหกชั้นฟ้า | อสุราเป็นสุขเกษมศานต์ |
เพลินใจในรสฤดีดาล | ช้านานถึงเจ็ดราตรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ กล่อม
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายนางมณโฑมเหสี |
ไม่แจ้งว่าองค์พระสามี | มีที่เสด็จไปแห่งใด |
เจ็ดวันแต่ตั้งใจคอย | รำพันเศร้าสร้อยละห้อยไห้ |
สิ้นทั้งสนมกรมใน | อาลัยร่ำรักกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | ชิวหาฤทธิแรงแข็งขัน |
แจ้งว่าองค์ท้าวทศกัณฐ์ | หายไปหลายวันไม่กลับมา |
โฉมนางมณโฑกับสาวสนม | โศกาปรารมภ์ละห้อยหา |
ขุนยักษ์ใคร่แจ้งกิจจา | ก็รีบมาเฝ้านางเทวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งน้อมศิโรเพฐน์ | ยอกรเหนือเกศเกศี |
ทูลว่าพระองค์ทรงธรณี | ร้ายดีไม่แจ้งประจักษ์ใจ |
พระแม่จะมาโศกา | ใช่จะทราบกิจจาก็หาไม่ |
อันบุษบกแก้วแววไว | ของท่านไทสหมลิวัน |
ให้ไว้แก่ท้าวจัตุรพักตร์ | องค์อัครอัยการังสรรค์ |
เป็นที่เสี่ยงทายสำคัญ | ถ้าหญิงอันผัวมรณา |
ขึ้นขี่บุษบกไม่คลาดเคลื่อน | ลอยเลื่อนไปโดยพระเวหา |
แม้นดียังมีชีวา | บุษบกก็พาลอยไป |
แม่อย่าโศกาอาวรณ์ | เร่าร้อนฤทัยหม่นไหม้ |
จงเสี่ยงบุษบกแก้วแววไว | จะได้ประจักษ์ว่าร้ายดี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางมณโฑมเหสี |
ได้ฟังชิวหาพาที | ก็เสด็จมาที่หน้าพระลาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงขึ้นบุษบกรัตน์ | ยอกรตั้งสัตย์อธิษฐาน |
ก็ลอยลิ่วปลิวไปในคัคนานต์ | งามปานมหาเวไชยันต์ |
แสงแก้วจำรัสประภัสสร | เพียงแสงทินกรฉายฉัน |
ทักษิณรอบเมืองกุมภัณฑ์ | เวียนวันร่อนกลับลงมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ พญาเดิน
๏ บัดนั้น | ฝูงนางกํานัลซ้ายขวา |
เสนีชีพราหมณ์พฤฒา | พร้อมหน้าก็เห็นประจักษ์ใจ |
รู้ว่าพระองค์ทรงธรณี | ไปดีหามีเหตุไม่ |
สิ้นความโศกาอาลัย | ไพบูลย์พูนสุขสำราญ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยี่สิบกรใจหาญ |
เสร็จปลอมนางฟ้ายุพาพาล | ขุนมารเหาะกลับมาธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | นางเทพธิดาทุกราศี |
แจ้งว่าทศกัณฐ์อสุรี | มาปลอมร่วมฤดีภิรมยา |
น้อยจิตคิดแค้นกันแสงศัลย์ | ดั่งจะม้วยชีวันสังขาร์ |
บอกแก่ฝูงเทพเทวา | ทั่วทุกชั้นฟ้าสุราลัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายเทพบุตรน้อยใหญ่ |
ได้ฟังคั่งแค้นแน่นใจ | ดั่งใครมาเด็ดเอาชีวี |
ครั้นจะหักโหมโรมรัน | กลัวฤทธิ์ทศกัณฐ์ยักษี |
หน้าตาไม่เป็นสมประดี | มีแต่ปรับทุกข์กันไปมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศเศียรยักษา |
แปลงกายเที่ยวปลอมนางฟ้า | มิได้คิดแก่หน้าสุราลัย |
ประพฤติชั่วมัวเมากามคุณ | โมหาทารุณหยาบใหญ่ |
แล้วแปลงเป็นมัจฉาไป | ร่วมพิสมัยกับนางปลา |
จนเกิดบุตรีวิลาวัณย์ | ชื่อนางสุพรรณมัจฉา |
แล้วแปลงเป็นพญาคชา | เที่ยวไปในป่าหิมพานต์ |
เข้าร่วมภิรมย์สมพาส | สังวาสด้วยนางคชสาร |
เป็นสุขสนุกสําราญ | เกิดสองกุมารฤทธี |
ชื่อว่ากิริธรกิริวัน | กายนั้นเป็นเพศยักษี |
ดวงพักตร์นั้นเหมือนชนนี | อัศกรรณอสุรีไปเลี้ยงไว้ |
ฝ่ายนางมณโฑนงลักษณ์ | มีโอรสรักพิสมัย |
ยิ่งกว่าสุริย์วงศ์ในเวียงชัย | ให้ชื่อรณพักตร์กุมารา |
อันนางพระสนมพันอนงค์ | ก็ทรงครรภ์คลอดโอรสา |
ชื่อสหัสกุมารอสุรา | พญายักษ์รักตามอันดับกัน |
แล้วประทานนางนมพี่เลี้ยง | ประคองเคียงขับกล่อมถนอมขวัญ |
ขึ้นเฝ้าเช้าเย็นเป็นนิรันดร์ | ดั่งดาวล้อมจันทร์ในราตรี ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายรณพักตร์ยักษี |
ครั้นชันษาได้สิบห้าปี | มีแต่หยาบช้าสามานย์ |
คิดจักใคร่เรียนศรศาสตร์ | ให้มีอำนาจกล้าหาญ |
ในพระโคบุตรผู้ทรงญาณ | อันเป็นอาจารย์ของบิดร |
คิดแล้วอ่าองค์ทรงเครื่อง | อร่ามเรืองเนาวรัตน์ประภัสสร |
ลงจากปราสาทอลงกรณ์ | บทจรมาพระโรงรูจี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงประณตบทบงสุ์ | กราบลงแทบเบื้องบทศรี |
แล้วทูลพระชนกชนนี | ลูกนี้จะขอบังคมลา |
ไปเรียนไตรเพทเวทมนตร์ | ให้เรืองฤทธิรณแกล้วกล้า |
ในสํานักพระมหาสิทธา | ผ่านฟ้าจงได้ปรานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระบิตุเรศมารดาทั้งสองศรี |
ฟังโอรสาพาที | ยินดีด้วยสมอารมณ์คิด |
ลูบหลังแล้วมีพจมาน | พ่อจะไปเรียนการศรสิทธิ์ |
ก็ต้องตามสุริย์วงศ์ทรงฤทธิ์ | ให้สมดั่งจิตลูกยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | รณพักตร์สุริย์วงศ์ยักษา |
รับพรบิตุเรศมารดา | ถวายบังคมลาแล้วเหาะไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ กราวใน
๏ ครั้นถึงสำนักพระอาจารย์ | เข้าไปมัสการบังคมไหว้ |
แจ้งว่าตัวข้านี้ตั้งใจ | มาอยู่ใต้เบื้องบาทพระมุนี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระโคบุตรมหาฤๅษี |
ได้ฟังรณพักตร์ก็ยินดี | จึ่งมีวาจาตอบไป |
หลานรักจะเรียนวิชาการ | กูผู้อาจารย์จะบอกให้ |
จงมีความเพียรมั่นไว้ | ก็จะได้สมดั่งจินดา |
ว่าแล้วจึ่งบอกเวทมนตร์ | อุปเท่ห์เล่ห์กลคาถา |
ตามในไตรเพทพรหมา | พระสิทธาบอกให้ทุกประการ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ลูกท้าวทศเศียรใจหาญ |
ปรนนิบัตินวดฟั้นอาจารย์ | พากเพียรช้านานมากึ่งปี |
ไตรเพทเวทมนตร์ก็จำได้ | ขึ้นปากขึ้นใจถ้วนถี่ |
ไม่พลั้งพลาดคลาดคำพระมุนี | ดั่งเหล็กเพชรจารที่ศีลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระโคบุตรอาจารย์ฌานกล้า |
เห็นรณพักตร์ไวปัญญา | เล่าเรียนวิชาได้ชํานาญ |
จึ่งมีวาจาอันสุนทร | ดูก่อนเจ้าผู้เป็นหลาน |
พระเวทอันหนึ่งเชี่ยวชาญ | ชื่อว่ามหากาลอัคคี |
บูชาพระเป็นเจ้าทั้งสาม | พยายามตามเวทพระฤๅษี |
ถ้าครบกำหนดเจ็ดปี | ก็จะเรืองฤทธีด้วยศิลป์ชัย |
เจ้าจงไปนั่งบัลลังก์สมาธิ | ในที่โพกาศเนินไศล |
ทรมานอินทรีย์สำรวมใจ | ก็จะได้สําเร็จดั่งจินดา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | รณพักตร์สุริย์วงศ์ยักษา |
ได้ฟังพระมหาสิทธา | อสุรามีความยินดี |
ยอกรประณตบทบงสุ์ | องค์พระโคบุตรฤๅษี |
ออกจากอรัญกุฎี | จรลีตามทางพนาดร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงซึ่งที่โพกาศ | ศีลาลาดแทบเชิงสิงขร |
มีสถานธารท่าชโลธร | สาครไหลเชี่ยวเป็นเกลียวมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จึ่งลงชำระสระสนาน | ให้สำราญกายยักษา |
ทรงขาวโขมพัสตร์สะอาดตา | สไบขาวเฉียงบ่าอสุรี |
ผูกเกล้าชฎาห่อเกศ | ถือเพศเป็นเพศฤๅษี |
จุณเจิมเฉลิมพักตร์สามที | ทรงประคำมณีอลงกรณ์ |
แล้วเกี่ยวรัดโกปินำ | สอดสายธุหร่ำประภัสสร |
สำรวมจิตอินทรีย์สังวร | บทจรมาแท่นศิลา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ชมตลาด
๏ เข้านั่งตั้งกายระงับจิต | โดยพิธีทางอุเบกขา |
บริกรรมพระเวทพรหมา | หว่างกระลากองกูณฑ์อัคคี |
อดทั้งน้ำท่าอาหาร | ทรมานไม่ออกจากที่ |
จนถ้วนกำหนดเจ็ดปี | ก็สำเร็จดั่งมีพยายาม ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตะบองกัน
ยานี
๏ เมื่อนั้น | องค์พระเป็นเจ้าทั้งสาม |
ให้เร่าร้อนฤทัยดั่งไฟลาม | มีความสงสัยในวิญญาณ์ |
ต่างองค์ต่างเล็งทิพเนตร | ก็แจ้งเหตุรณพักตร์ยักษา |
มาตั้งพิธีกระลา | บูชาพระเวทอยู่ช้านาน |
หวังว่าจะขอศรสิทธิ์ | อันเรืองฤทธิ์อำนาจอาจหาญ |
ก็เสด็จจากทิพวิมาน | เหาะทะยานมายังอสุรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ โคมเวียน
๏ ครั้นถึงจึงยืนทั้งสามองค์ | ตรงหน้ารณพักตร์ยักษี |
ปรากฏพระกายอินทรีย์ | มีเทวบัญชาถามไป |
ว่าเหวยดูกรขุนมาร | เอ็งมาทําการพิธีใหญ่ |
มีความปรารถนาสิ่งใด | บอกกูให้แจ้งกิจจา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายรณพักตร์ยักษา |
ได้ฟังเทวราชบัญชา | อสุราลืมเนตรแลไป |
เห็นพระเป็นเจ้าทั้งสาม | สง่างามไม่มีที่เปรียบได้ |
ก็ออกจากพิธีกระลาไฟ | เข้าไปน้อมเศียรบังคมคัล |
ทูลว่าตัวข้าผู้รองบาท | สามพระภูวนาถรังสรรค์ |
อุตส่าห์มาตั้งพิธีกรรม์ | จะขอศรอันฤทธี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สามพระองค์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
ได้ฟังอสุราพาที | ขอศรอันมีศักดา |
จึ่งพระสยมภูวนาถ | ประสาทศรพรหมาสตร์แก่ยักษา |
ทั้งพระเวทแปลงเพศกายา | เป็นองค์อินทราสำหรับไป |
ฝ่ายท้าวมหาพรหมาน | จึ่งประทานศรนาคบาศให้ |
แล้วตรัสอำนวยอวยชัย | ให้เรืองฤทธิไกรดั่งไฟพราย |
ถึงจะตายจงตายบนอากาศ | ให้ประหลาดฝูงโลกทั้งหลาย |
แม้นเศียรนั้นขาดจากกาย | ตกดินจงกลายเป็นไฟกัลป์ |
ต่อได้พานแก้วทิพมาศ | ของพรหมาธิราชรังสรรค์ |
มารองรับเศียรกุมภัณฑ์ | ไฟนั้นจึ่งไม่ไหม้โลกา |
พระนารายณ์ประทานศรสิทธิ์ | วิษณุปาณัมแก่ยักษา |
เสร็จแล้วสามองค์ก็กลับมา | ยังวิมานรัตนารูจี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ลูกท้าวทศเศียรยักษี |
ได้ศรสามเล่มก็ยินดี | อสุรีมาลาพระอาจารย์ |
เสร็จแล้วถวายอภิวาทน์ | สำแดงอำนาจกำลังหาญ |
เหาะขึ้นยังพื้นคัคนานต์ | คืนเข้าราชฐานลงกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นถึงจึ่งประณตบทบงสุ์ | พระบิตุรงค์ธิราชนาถา |
ทั้งองค์สมเด็จพระมารดา | ในมหาปราสาทรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระบิตุเรศมารดาทั้งสองศรี |
สวมสอดกอดลูกด้วยยินดี | แล้วมีวาทีถามไป |
เจ้าไปเรียนศิลปศาสตร์ | สำเร็จปรารถนาฤๅหาไม่ |
แต่วันพ่อจากเวียงชัย | ก็ตั้งใจคอยเจ้าทุกเวลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | รณพักตร์สุริย์วงศ์ยักษา |
น้อมเศียรสนองพระวาจา | ลูกจากบาทาไปหลายปี |
อุตส่าห์พยายามด้วยความเพียร | เรียนศิลปศาสตร์พระฤๅษี |
รู้ครบจบไตรเวทวิธี | แล้วอาหุดีกระลาไฟ |
ได้ศรสามเล่มฤทธิรงค์ | พระเป็นเจ้าสามองค์ประสาทให้ |
จึ่งกลับเข้ามาเวียงชัย | ตั้งใจจะสนองพระบาทา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระชนนีบิตุเรศนาถา |
ฟังโอรสแจ้งกิจจา | แสนโสมนัสสาพ้นนัก |
ตรัสว่าพ่อยอดสุริย์วงศ์ | ควรที่ดำรงอาณาจักร |
เป็นเจ้าแก่หมู่อสูรยักษ์ | ปิ่นปักลงกาพระนคร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | รณพักตร์กุมารชาญสมร |
น้อมเศียรถวายชุลีกร | บทจรมาปราสาทรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ