- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงพญาวายุภักษ์ยักษา |
หน้านั้นเป็นหน้าอสุรา | กายาเหมือนนกอินทรี |
สองกรนั้นมีปีกป้อง | สองเท้าเหมือนครุฑปักษี |
หางแพร้วดั่งแววโมรี | มีขนเลื่อมลายอลงกรณ์ |
ชนนีนั้นเป็นสกุณา | บิดาชาติอสูรชาญสมร |
ผ่านกรุงวิเชียรพระนคร | ยังเนินสิงขรจักรวาล |
โยธาเหล่าหนึ่งเป็นปักษี | เหล่าหนึ่งอสุรีใจหาญ |
อันวายุภักษ์ขุนมาร | ฤทธิไกรชัยชาญมหิมา |
มิได้อยู่ในทศธรรม์ | หยาบคายโมหันธ์แกล้วกล้า |
เบียดเบียนฤๅษีเทวา | เกรงฤทธิ์อสุราทั้งธาตรี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ คิดจะใคร่ไปเที่ยวประพาส | หิมวาสแนวเนินคีรีศรี |
ชมพรรณพฤกษามาลี | ให้มีความสุขสำราญ |
ตริแล้วอ่าองค์ทรงเครื่อง | จับกระบองฤทธิเรืองห้าวหาญ |
พาพวกโยธีบริวาร | บินทะยานผ่านไปในเมฆา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ สำเนียงเสียงปีกบันลือลั่น | ไหวหวั่นทั่วทศทิศา |
มืดกลุ้มบดบังพระสุริยา | บินข้ามมหาสมุทรไท ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดเดี๋ยวร่อนรามาถึง | เขาหนึ่งเงื้อมเมฆสูงใหญ่ |
ขุนมารเหลือบเล็งแลไป | ที่ในแนวเนินคีรี |
จึ่งเห็นมนุษย์ทั้งคู่ | นั่งอยู่กับเหล่ากระบี่ศรี |
มีความชื่นชมยินดี | ด้วยสบสมที่เจตนา |
อย่าเลยตัวกูจะฉวยฉาบ | คาบเอาไปกินเป็นภักษา |
คิดแล้วสำแดงฤทธา | อสุราก็โฉบลงไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เฉี่ยวเอามนุษย์ทั้งสององค์ | กำไว้ในกรงเล็บได้ |
กลับขึ้นเมฆาว่องไว | พาไปด้วยกำลังขุนมาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ท้าวพญาพานรินทร์ทวยหาญ |
เห็นปักษาโฉบพระลักษมณ์พระอวตาร | บินทะยานไปโดยอัมพร |
ต่างตนโกรธากระทืบบาท | ไหวหวาดสะเทือนสิงขร |
กวัดแกว่งอาวุธดั่งไฟฟอน | วานรเหาะตามไปทันที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นทันถาโถมเข้าโจมยุทธ | กลุ้มกันสัประยุทธ์ปักษี |
บ้างฉวยปีกฉีกหางเป็นโกลี | ตีสกัดโลดไล่ไปมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ สุครีพฉวยจับเท้าซ้าย | ลูกพระพายเข้าจับเท้าขวา |
ชิงได้พระลักษมณ์พระจักรา | แบกไว้เหนือบ่าพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วายุภักษ์ฤทธิแรงแข็งขัน |
คนเดียวต่อตีพัลวัน | รับรองป้องกันว่องไว |
กางปีกซ้ายขวาถาถาบ | โฉบฉาบราวีหนีไล่ |
ต่างกล้าต่อหาญเข้าชิงชัย | เสียงสนั่นหวั่นไหวทั้งธาตรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | บรรดาท้าวพญากระบี่ศรี |
จู่โจมโถมถาราวี | คลุกคลีตะลุมบอนรอนราญ |
ต่างผาดต่างโผนโจนจับ | ต่างกลอกต่างกลับสำแดงหาญ |
ต่างแทงต่างฟันขุนมาร | เข้าทะยานโถมถีบด้วยบาทา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วายุภักษ์ฤทธิไกรใจกล้า |
แผดเสียงเร่งพลเป็นโกลา | ให้เข้าเข่นฆ่าวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพวกทหารชาญสมร |
ต่างตนสำแดงฤทธิรอน | โถมเข้าต่อกรราวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ที่เป็นปักษาก็ฉาบเฉี่ยว | ลดเลี้ยวโจมจิกกระบี่ศรี |
บ้างกางปีกซ้ายขวาราวี | ต่อตีในกลางโพยมบน |
อันโยธีซึ่งเป็นอสุรา | กวัดแกว่งสาตรากุลาหล |
ยิงแย้งแทงฟันอลวน | ต่างตนไม่คิดตัวตาย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ท้าวพญาวานรทั้งหลาย |
กวัดแกว่งอาวุธดั่งเพลิงพราย | ทุกนายเข้าจับอสุรา |
ต่างฟาดต่างฟันต่างแทง | ด้วยกำลังฤทธิแรงแข็งกล้า |
หัวขาดตกกลาดลงมา | สิ้นพวกโยธาไพรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วายุภักษ์สิทธิศักดิ์ยักษี |
เห็นพลล้มตายไม่สมประดี | อสุรีกริ้วโกรธขบฟัน |
เข่นเขี้ยวคำรามเป็นโกลา | ดั่งหนึ่งเสียงฟ้าคะนองลั่น |
แกว่งกระบองฤทธิไกรดั่งไฟกัลป์ | เข้าไล่โรมรันวานร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | องคตนิลพัทชาญสมร |
ทั้งสิบแปดมงกุฎฤทธิรอน | กลุ้มเข้าต่อกรอสุรี |
บ้างฉวยปีกฉวยเท้าอุตลุด | ชิงคทาวุธยักษี |
บ้างแทงบ้างฟันบ้างตี | กระบี่รบชิดติดพัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วายุภักษ์ฤทธิแรงแข็งขัน |
ผู้เดียวสุดที่จะโรมรัน | โจมประจัญกับหมู่วานร |
สองปีกป้องปัดอุตลุด | ด้วยกำลังฤทธิรุทรชาญสมร |
ความเจ็บเหลือที่จะต่อกร | ก็บินหนีเข้าซ่อนในเมฆา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ท้าวพญาวานรแกล้วกล้า |
เห็นวายุภักษ์อสุรา | ไม่ต่อศักดาหนีไป |
ในที่พ่างพื้นอัมพร | ซ่อนอยู่ยังกลีบเมฆใหญ่ |
ต่างตนสำแดงฤทธิไกร | ทะยานไล่ติดตามอสุรี |
แยกกันลดเลี้ยวเที่ยวหา | ก็เห็นกายายักษี |
นิลพัทกับลูกพาลี | แกว่งตรีถาโถมเข้าโรมราญ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ สองนายรบชิดติดพัน | กลับกลอกแทงฟันสังหาร |
เศียรขาดตกพื้นสุธาธาร | ขุนมารสุดสิ้นชีวา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นเสร็จจึ่งลูกพระอาทิตย์ | กับพญาอนุชิตทหารกล้า |
ก็พาเสด็จสองกษัตรา | ลงมาบรรพตด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์เรืองศรี |
ครั้นมาถึงเนินคีรี | มีความแสนโสมนัสนัก |
พักตร์ผ่องดั่งดวงศศิธร | อันเขจรลอยเลื่อนตามจักร |
จึ่งตรัสแก่องค์พระลักษมณ์ | น้องรักของพี่ผู้ร่วมใจ |
อันหมู่ทหารของเรานี้ | ฤทธาไม่มีที่เปรียบได้ |
เลื่องชื่อลือจบภพไตร | ใช้ไหนก็ได้ดั่งจินดา |
ครั้งนี้เราจะจากพระนคร | ออกมาสัญจรอยู่กลางป่า |
นับได้เก้าเดือนคณนา | ชันษาร้ายพ้นพันทวี |
ต้องคำพิเภกทายทัก | ประจักษ์ทุกสิ่งไม่คลาดที่ |
หากทหารมาด้วยช่วยตามตี | ทันทีจึ่งไม่ลำบากใจ |
ที่นี้อาเกียรณ์ด้วยซากศพ | กลิ่นตลบไม่ทนอยู่ได้ |
จำเราจะพากันเที่ยวไป | หาที่อาศัยให้ถาวร |
ตรัสแล้วเสด็จยุรยาตร | องอาจดั่งพญาไกรสร |
ออกจากถํ้าแก้วอลงกรณ์ | วานรทหารก็ตามมา ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เดินทางมาหว่างบรรพต | เลี้ยวลดตามแถวแนวป่า |
ชมสัตว์จัตุบาทดาษดา | เล็มล่าริมชายพนาลี |
นรสิงห์สิงห์นัดโลดเล่น | กระต่ายเต้นตามเนินคีรีศรี |
เสือเหลืองหมอบมองมฤคี | จามรีเดินเดาะละเมาะเมียง |
หมีเที่ยวดั้นด้นบ่นพึม | เสือโคร่งกระหึมครึมเสียง |
โคป่าพาคู่คลอเคียง | เลียงผาเผ่นผายระเห็จจร |
ราชสีห์ชำเลืองเยื้องกราย | เมียงม่ายชมนางไกรสร |
มหิงสาเสี่ยวขวิดดินดอน | พังพอนเล่นเลี้ยวหยอกกัน |
คชสารนำหมู่กิริณี | เที่ยวอยู่ที่ชายพนาสัณฑ์ |
บ้างตรวจแตร้นแล่นไล่พัลวัน | ลูกนั้นแนมข้างไปมา |
อนิจจาเหมือนสีดายุพาพักตร์ | เลี้ยงสองลูกรักเสน่หา |
ชมพลางทางหวั่นวิญญาณ์ | ชลนาคลอเนตรดำเนินไป ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ ล่วงทางมาสามราตรี | ถึงที่ท้ายเขาหนึ่งใหญ่ |
ราบรื่นพื้นสะอ้านสำราญใจ | ประกอบด้วยมิ่งไม้หลายพรรณ |
พิศดอกออกผลดิบสุก | แสนสนุกดั่งหนึ่งสวนสวรรค์ |
ไม่รู้ว่าสวนกุมภัณฑ์ | ก็พากันเข้าไปด้วยยินดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เห็นสระโบกขรณีสี่เหลี่ยม | นํ้าเปี่ยมใสดั่งมณีศรี |
บันไดดาษลาดแท่นในชลธี | เป็นที่แสนสุขภิรมยา |
ริมรอบคันขอบสระนั้น | มีพรรณไม้ทรงบุปผา |
ก็พาพระวรนุชกับโยธา | ลงเล่นมหาชลาลัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ขัดสีธุลีมลทิน | ในกระแสวารินเย็นใส |
โกสุมตูมตั้งบังใบ | บ้างแบ่งบานไสวอรชร |
พระพายชายพัดรำเพยกลิ่น | รวยรินเสาวคนธ์เกสร |
หวนคะนึงถึงองค์บังอร | ภูธรแสนสลดวิญญาณ์ |
พระลักษมณ์เด็ดผักปทุเมศ | ทูลเกศถวายพระเชษฐา |
นิลุบลบัวผันสันตะวา | บุษบาบานแย้มแกมกัน |
ท้าวพญาวานรทั้งหลาย | เล่นโลดโดดว่ายเกษมสันต์ |
บ้างถอนทิ้งชิงดวงบุษบัน | บ้างสาดนํ้าดำดั้นวารี |
บ้างฉุดชักหักก้านปทุมาศ | ตีฟาดหยอกกันอึงมี่ |
ต่างตนชื่นชมยินดี | ในที่สระสวนมาลา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ครั้นเสร็จซึ่งลงสรงสนาน | องค์พระอวตารนาถา |
ก็ชวนพระศรีอนุชา | ขึ้นมาจากท่าชลาลัย |
พร้อมท้าวพญาพานร | สโมสรใต้ร่มรังใหญ่ |
พระพายชายพัดเย็นใจ | ภูวไนยสำราญอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายขุนนนทกาลยักษี |
ซึ่งท้าวอุณาราชอสุรี | ให้คุมโยธีห้าพัน |
พร้อมด้วยเครื่องสรรพสาตรา | ออกมารักษาสวนขวัญ |
ครั้นเห็นมนุษย์ทั้งสองนั้น | พากันเข้ามากับวานร |
อาจองลงเล่นอลวน | ในสระอุบลเกสร |
มิหนำซ้ำทำคะนองกร | ทึ้งถอนต้นรากไม่สมประดี |
แม้นทราบถึงเบื้องบาทบงสุ์ | แห่งองค์พระยายักษี |
จะกริ้วโกรธพิโรธพันทวี | น่าที่กูจะม้วยชีวัน |
จะจับมนุษย์ทั้งสองนาย | ไปถวายพระปิ่นไอศวรรย์ |
บรรดาวานรทั้งนั้น | จะหํ้าหั่นกินเล่นให้สำราญ |
คิดแล้วจึ่งทำสีหนาท | ร้องประกาศเร่งหมู่ทวยหาญ |
พร้อมกันโลดโผนโจนทะยาน | เข้าล้อมไว้ทุกด้านรอบไป ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ จึ่งร้องถามไปด้วยโกรธา | เหวยมนุษย์นี้มาแต่ไหน |
จึ่งทำอาจองทะนงใจ | เข้ามาเล่นในที่นี้ |
ไม่รู้หรือว่าสวนรุกขชาติ | ของท้าวอุณาราชยักษี |
ผ่านมหาสิงขรธานี | ฤทธีเลิศลบโลกา |
ตัวเอ็งถึงพรหมลิขิต | ชีวิตจะสิ้นสังขาร์ |
ทั้งไอ้วานรบรรดามา | จะเป็นภักษากุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระหริรักษ์จักรแก้วรังสรรค์ |
ได้ฟังขุนมารชาญฉกรรจ์ | ทรงธรรม์จึ่งตอบวาที |
อันตัวกูนี้ทรงนาม | ชื่อว่าพระรามเรืองศรี |
อวตารมาปราบอสุรี | ได้ผ่านธานีอยุธยา |
ออกมาเดินป่าพนาเวศ | ไม่แจ้งเหตุว่าสวนยักษา |
จึ่งลงอาบกินคงคา | มึงนี้หยาบช้าเป็นพ้นไป |
พวกเอ็งดั่งฝูงแมงเม่า | จะบินเข้าในกองเพลิงใหญ่ |
สำหรับแต่จะสิ้นชีวาลัย | ด้วยฤทธิไกรวานร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ขุนนนทกาลชาญสมร |
กริ้วโกรธพิโรธดังไฟฟอน | ก็ขับหมู่นิกรเข้าโจมตี |
บรรดาไพร่พลกุมภัณฑ์ | ขบฟันโห่ร้องอึงมี่ |
ต่างโผนโจนทะยานเข้าราวี | จับพวกกระบี่เป็นโกลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | องคตนิลพัทหาญกล้า |
มัจฉานุอสุรผัดผู้ศักดา | สิ้นทั้งโยธาที่ตามไป |
ต่างชักอาวุธออกกวัดแกว่ง | สำแดงฤทธิรอนแผ่นดินไหว |
แยกย้ายกันออกชิงชัย | ถาโถมโจมไล่ราวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ต่างจับต่างกุมตะลุมบอน | บ้างฉีกกรฉีกขายักษี |
หัวขาดตีนขาดไม่สมประดี | แตกหนีตายยับทับกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นนทกาลอสุราโมหันธ์ |
ความกลัวเพียงม้วยชีวัน | ตัวสั่นวิ่งหนีเข้าเวียงชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งตรงขึ้นไปเฝ้า | น้อมเกล้าประนมบังคมไหว้ |
ทูลว่าสองมนุษย์บังอาจใจ | มาอยู่ในสวนมาลา |
กับหมู่วานรินทร์กระบินทร์ราช | หลายตนองอาจแกล้วกล้า |
ลงเล่นในสระปทุมา | ทึ้งถอนพฤกษาแหลกลาญ |
ตัวข้าพากันเข้าล้อมจับ | มันกลับสัประยุทธ์หักหาญ |
ผลาญหมู่อสุราวายปราณ | ขอประทานจงได้ปรานี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวอุณาราชยักษี |
ได้ฟังกริ้วโกรธดั่งอัคคี | อสุรแผดเสียงเกรียงไกร |
ฉิฉะไอ้มนุษย์สองรา | กับกระบี่นี้มาแต่ไหน |
จึ่งทำโอหังบังอาจใจ | ไม่กลัวจะพากันวายปราณ |
แสนมหาสุรารักษ์นักสิทธ์ | ยังเกรงฤทธิ์กูผู้แกล้วหาญ |
แต่ออกชื่อลือไปในจักรวาล | ก็บันดาลสยองพองโลมา |
มันนี้ถึงที่จะวินาศ | ไม่รู้จักมัจจุราชเข่นฆ่า |
จักผลาญให้ม้วยไม่พริบตา | ด้วยศักดาเดชอันเกรียงไกร |
ตรัสแล้วมีราชบรรหาร | เหวยเสนามารผู้ใหญ่ |
เร่งจัดพหลพลไกร | กูจะไปจับมนุษย์วานร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นนทยักษ์เสนาชาญสมร |
รับสั่งน้อมเศียรชุลีกร | รีบจรออกจากพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เกณฑ์หมู่พลมารชำนาญศึก | เลือกล้วนห้าวฮึกแข็งขัน |
หมู่หนึ่งหน้าเสือขบฟัน | กายนั้นเป็นเพศอสุรี |
หมู่หนึ่งกายเป็นพยัคฆ์ | ดวงพักตร์เป็นหน้ายักษี |
หมู่หนึ่งเป็นหน้าพาชี | มีกายนั้นเป็นกายมาร |
หมู่หนึ่งนั้นตัวเป็นอาชา | หน้าเป็นอสุราเหี้ยมหาญ |
หมู่หนึ่งหน้าสิงห์เผ่นทะยาน | กายเป็นกายมารเกรียงไกร |
หมู่หนึ่งหน้าเป็นกุมภัณฑ์ | ตัวนั้นเป็นสิงห์เติบใหญ่ |
ล้วนถืออาวุธแกว่งไกว | เตรียมไว้โดยราชบัญชา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวอุณาราชยักษา |
ครั้นเสร็จซึ่งจัดโยธา | มาเข้าที่สรงชลธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ สุหร่ายแก้วโปรยปรายดั่งสายฝน | ลูบไล้เสาวคนธ์หอมหวาน |
สอดทรงสนับเพลาอลงการ | ภูษาลายก้านกระหนกครุฑ |
ชายไหวชายแครงเครือหงส์ | ฉลององค์พื้นตองทองผุด |
ทรงเกราะสำหรับพิชัยยุทธ์ | รัดอกประดับบุษย์ดวงลอย |
ตาบทิศทับทรวงสังวาลวัลย์ | สะอิ้งแก้วกุดั่นเฟื่องห้อย |
ทองกรพาหุรัดประดับพลอย | ธำมรงค์เพชรพร้อยพรายตา |
ทรงมหามงกุฎเนาวรัตน์ | ทัดกรรเจียกแก้วซ้ายขวา |
จับศรแล้วขัดคทา | เสด็จมาขึ้นรถอลงการ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ รถเอยราชรถศึก | พันลึกด้วยดวงมุกดาหาร |
กำกงล้วนแล้วแก้วประพาฬ | สามงอนชัชวาลรูจี |
เสาเก็จกาบกระจังบัลลังก์รถ | อลงกตด้วยแก้วสลับศรี |
มุขบันช่อฟ้าบราลี | แกมมณีนพมาศชมพูนุท |
เทียมด้วยคชสีห์ตัวกล้า | เริงร่าแผดร้องอึงอุด |
สารถีกวัดแกว่งคทาวุธ | ขับรุดทะยานมากลางพล |
อภิรุมชุมสายพรายโพยม | ปี่ฆ้องกลองประโคมกุลาหล |
โห่สะเทือนเลื่อนลั่นสุธาดล | รีบพลไปยังอุทยาน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
ได้ยินเสียงพวกพลมาร | โห่สะท้านอื้ออึงคะนึงมา |
จึ่งตรัสแก่พระลักษมณ์นุชนาถ | ทั้งราชกระบินทร์ซ้ายขวา |
บัดนี้อสูรพาลา | ไปบอกเจ้ามันมาชิงชัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นิลพัทอสุรผัดทหารใหญ่ |
ทั้งมัจฉานุผู้ฤทธิไกร | บังคมไหว้สนองพระวาที |
ข้าขออาสาไปราญรอน | ผลาญพลนิกรยักษี |
มิให้เคืองใต้ธุลี | ภูมีจงทรงพระเมตตา |
ทูลแล้วประณตบทบงสุ์ | ลาองค์พระบรมนาถา |
สามนายก็รีบออกมา | ยังที่ชายป่าพนาลัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ แลเห็นพวกพลอสุรี | เกลื่อนกลาดปถพีไม่นับได้ |
ต่างตนสำแดงฤทธิไกร | เข้าไล่ตีทัพกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ต่างตีต่างฟันต่างแทง | ด้วยกำลังเรี่ยวแรงแข็งขัน |
พลมารไม่รอต่อประจัญ | พากันแตกย่นร้นมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นนทจักรนายทหารกองหน้า |
เห็นสามกระบี่ตีโยธา | แตกยับลงมาวุ่นไป |
พิโรธโกรธกริ้วกระทืบบาท | ผาดเสียงสีหนาทหวาดไหว |
ต้อนหมู่พหลพลไกร | ออกไปรับหน้าวานร |
แทงฟันพุ่งซัดสับสน | ลางตนก็ยิงธนูศร |
โห่สนั่นครั่นครื้นดินดอน | ราญรอนไม่คิดชีวา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สามนายผู้ใจแกล้วกล้า |
เห็นยักษีหนุนเนื่องกันมา | ก็โจมเข้าเข่นฆ่ากลางพล |
หักคอหักแขนจับฟัด | พุ่งซัดอาวุธสับสน |
พลมารไม่หาญทานทน | แตกร่นจนรถกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ นิลพัทจึ่งยืนร้องประกาศ | เหวยเหวยอุณาราชโมหันธ์ |
มึงไม่รู้หรือไอ้อาธรรม์ | ว่าพระทรงสุบรรณฤทธิรุทร |
เทเวศประชุมเชิญมา | จากมหาวารีกษีรสมุทร |
เกิดในสุริย์วงศ์พงศ์มนุษย์ | ได้ผ่านอยุธยาราชัย |
ทรงนามพระรามราเมศ | เรืองเดชฟากฟ้าดินไหว |
เป็นฉัตรแก้วกั้นพื้นภพไตร | เสด็จไปล้างพวกพาลา |
ในลงกามลิวันพระนคร | ตายด้วยแสงศรมาหนักหนา |
แจ้งว่าฝ่ายทิศบูรพา | มีหมู่อสุราอาธรรม์ |
จึ่งละสมบัติพัสถาน | ทรมานมาเดินพนาสัณฑ์ |
ได้ล้างกุเวรตรีปักกัน | ทั้งวายุภักษ์นั้นบรรลัย |
อันกุมภัณฑ์นุราชอสุรี | ซึ่งต้องสาปพระศุลีด้วยโทษใหญ่ |
พระโปรดให้พ้นทุกข์ไป | เป็นเทพไทดั่งก่อนมา |
มึงอย่าโอหังมาต่อยุทธ์ | ด้วยพระทรงครุฑปักษา |
เร่งไปบังคมพระบาทา | เห็นว่าจะได้คงชีวี ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวอุณาราชยักษี |
ได้ฟังวานรพาที | โกรธดั่งอัคคีบรรลัยกาล |
กระทืบบาทผาดแผดสิงหนาท | เหวยเหวยไอ้ชาติเดียรัจฉาน |
มึงมามุสาสาธารณ์ | คือนารายณ์อวตารครั้งใด |
ตัวกูผู้ทรงศักดาฤทธิ์ | ทั้งสามภพจบทิศไม่เปรียบได้ |
ทำไมมนุษย์เท่าแมงใย | ดั่งลูกนกอยู่ในปากกา |
อันกุเวรตรีปักกันวายุภักษ์ | ไม่เรืองฤทธิ์สิทธิศักดิ์แกล้วกล้า |
มันจึ่งสิ้นชีพชีวา | มึงอย่าขึ้นหน้าว่ากันดี |
บัดเดี๋ยวก็จะม้วยวายชนม์ | ทั้งสามตนกลิ้งอยู่ที่นี่ |
ว่าแล้วชักศรทันที | อสุรีพาดสายแผลงไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ สำเนียงดั่งเสียงสุนีบาต | เป็นนาคเกลื่อนกลาดไม่นับได้ |
พ่นพิษดั่งหนึ่งเปลวไฟ | เลิกพังพานไล่วานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ทั้งสามทหารชาญสมร |
โจมจับนาคาด้วยฤทธิรอน | สองกรฟาดฟันแหลกลาญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เสร็จแล้วผาดแผลงสำแดงฤทธิ์ | เสียงสนั่นครรชิตทุกสถาน |
ต่างตนโลดโผนโจนทะยาน | ขึ้นรถขุนมารทันที |
นิลพัทถีบท้าวอุณาราช | อสุรผัดพิฆาตสารถี |
มัจฉานุหักรถอสุรี | ฆ่าทั้งคชสีห์มรณา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวอุณาราชยักษา |
ตกลงยังพื้นพระสุธา | อสุราผุดลุกขึ้นยืนยัน |
พิโรธโกรธกริ้วกระทืบบาท | พระสุธาอากาศเลื่อนลั่น |
กวัดแกว่งศรสิทธิ์ดั่งเพลิงกัลป์ | ก็ขับพลกุมภัณฑ์เข้าราวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สามทหารผู้ชาญชัยศรี |
รับรองป้องกันอสุรี | ทำทีถอยย่นลงมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ฝ่ายสุครีพองคตวายุบุตร | กับสิบแปดมงกุฎตัวกล้า |
เห็นหมู่อสูรโยธา | ตีประดาไล่รุกบุกบัน |
เข้ามาจนหน้าพระภุชพล | ต่างตนกริ้วโกรธตัวสั่น |
กวัดแกว่งอาวุธดั่งเพลิงกัลป์ | ขบฟันเข้าไล่รอนราญ |
ฉะแทงตบกัดฟัดฟาด | ด้วยกำลังองอาจกล้าหาญ |
ล้มตายก่ายกองสุธาธาร | อลหม่านไม่เป็นสมประดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวอุณาราชยักษี |
เห็นวานรไล่ฆ่าโยธี | อสุรีกริ้วโกรธดั่งเพลิงพิษ |
กระทืบบาทขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน | กรนั้นกวัดแกว่งศรสิทธิ์ |
เข้าไล่วานรด้วยฤทธิ์ | หมายล้างชีวิตให้มรณา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์นาถา |
เห็นยักษีไล่เหล่ากระบี่มา | ผ่านฟ้าแกว่งศรออกโรมรัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เท้าขวานั้นเหยียบเข่าซ้าย | งามคล้ายหัสเนตรรังสรรค์ |
จับไพจิตรากุมภัณฑ์ | ทรงธรรม์หวดต้องขุนมาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวอุณาราชใจหาญ |
รับรองป้องกันประจัญบาน | โถมทะยานเข้าไล่ราวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เท้าซ้ายนั้นเหยียบเข่าขวา | มือคว้าชิงคันศรศรี |
กลอกกลับจับกันในที | ต่างตีต่างปัดพัลวัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วรังสรรค์ |
อาจองรบรุกบุกบัน | ยืนยันโจมจับขุนมาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เท้าซ้ายนั้นเหยียบเข่าขวา | เงื้อง่าคันศรจะสังหาร |
หวดด้วยอสุราสาธารณ์ | ล้มซานออกไปทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวอุณาราชยักษี |
ผุดลุกขึ้นจากปถพี | อสุรีจับศรแผลงไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ สำเนียงเพียงรามสูรมาร | ขว้างขวานสนั่นหวั่นไหว |
เป็นก้อนเหล็กเรืองโรจน์ด้วยเปลวไฟ | ตกกลาดดาษไปทั้งดินดอน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระอวตารชาญสมร |
เห็นอาวุธยักษ์เป็นไฟฟอน | ก็ชักศรพรหมาสตร์อันศักดา |
พาดสายหมายล้างกุมภัณฑ์ | ยืนยันกรายกรเงื้อง่า |
น้าวหน่วงด้วยกำลังกายา | ผ่านฟ้าก็ผาดแผลงไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครื้นครั่นสนั่นโพยมหน | บังเกิดเป็นฝนห่าใหญ่ |
ตกลงมาดับเปลวไฟ | แล้วไปต้องอกกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อุณาราชฤทธิแรงแข็งขัน |
ต้องศรปิ้มม้วยชีวัน | ก็ขบฟันร่ายเวทอันศักดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถ้วนเจ็ดคาบก็ลูบลง | ทั่วสารพางค์องค์ยักษา |
ลูกศรที่รึงตรึงตรา | ก็หลุดจากกายาทันใด |
อันความเจ็บปวดนั้นสูญหาย | แต่เหนื่อยพักตร์จักคลายก็หาไม่ |
คิดแล้วรำพึงคะนึงไป | มนุษย์นี้ฤทธิไกรชัยชาญ |
ตัวกูก็ทรงสิทธิศักดิ์ | ทั้งไตรจักรไม่รอต่อต้าน |
รณรงค์พ่างเพียงวายปราณ | จะสังหารฉันใดไม่มรณา |
จำจะผ่อนพักกำลังก่อน | จึ่งจะค่อยราญรอนเข่นฆ่า |
คิดแล้วพญาอสุรา | ก็ตรงมายังสระวารี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงพระโคศภฤๅษี |
เข้าฌานสำรวมอินทรีย์ | อยู่ที่ศาลาอารัญ |
แจ้งว่าองค์พระอวตาร | สังหารอุณาราชไม่อาสัญ |
ก็ออกจากพิธีตบะกรรม์ | พระนักธรรม์เหาะรีบระเห็จไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เลื่อนลอยมาในโพยมพราย | คล้ายคล้ายถึงยอดพนมใหญ่ |
ตรงลงยังที่ชิงชัย | เข้าไปหาองค์พระจักรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ นั่งลงแล้วกล่าวพจนารถ | เดิมเหตุอุณาราชยักษี |
เป็นเทวาข้าบาทพระศุลี | มีพระหฤทัยกรุณา |
อยู่มาเกียจคร้านไม่ขึ้นเฝ้า | พระเป็นเจ้าจึ่งลงโทษา |
สาปให้มาเป็นอสุรา | ผ่านมหาสิงขรกรุงไกร |
บรรดาอาวุธที่มีฤทธิ์ | อย่าให้ผลาญชีวิตมันได้ |
เมื่อใดพระนารายณ์เรืองชัย | ไวกูณฐ์มาล้างพวกพาล |
ทรงนามพระรามจักรี | ผ่านศรีอยุธยาราชฐาน |
ออกมาเดินไพรกันดาร | จะผลาญอุณาราชมรณา |
ให้จำเพาะถอนเอาต้นกก | แผลงไปปักอกยักษา |
ตรึงไว้กับแผ่นศีลา | ทรมาอยู่แสนโกฏิปี |
จึ่งสั่งรูปให้อยู่แจ้งเหตุ | แก่พระทรงเดชเรืองศรี |
ว่าพลางชี้กกให้ทันที | แล้วกลับไปกุฎีพระอาจารย์ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
ฟังพระมุนีผู้มีฌาน | แจ้งการแต่ดึกดำบรรพ์ |
มีความชื่นชมโสมนัส | ดั่งได้สมบัติในสวรรค์ |
ดวงพักตร์ผ่องแผ้วเพียงจันทร์ | ทรงธรรม์ถอนกกแก้วมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายท้าวอุณาราชยักษา |
กินน้ำชำระพักตรา | เย็นทั่วกายาอสุรี |
ซึ่งหิวหอบเหน็ดเหนื่อยก็เคลื่อนคลาย | หมายจะล้างมนุษย์กระบี่ศรี |
ก็เผ่นโผนจากสระด้วยฤทธี | เข้าถาโถมโจมตีพัลวัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์องค์นารายณ์รังสรรค์ |
แกว่งศรตีต้องกุมภัณฑ์ | หันไปจากที่รอนราญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ แล้วเอากกแก้วพาดสาย | หมายล้างชีวิตสังขาร |
น้าวหน่วงด้วยกำลังชัยชาญ | ผ่านฟ้าผาดแผลงไปทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เสียงสะเทือนเลื่อนลั่นโลกธาตุ | ดั่งหนึ่งพรหมาสตร์ศรศรี |
ต้องอกอุณาราชอสุรี | ปลิวไปจากที่ด้วยฤทธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ตกลงในถํ้าริมสวนขวัญ | ตรึงมั่นไว้กับแผ่นผา |
มิได้ไหวติงกายา | พระจักราก็ซ้ำสาปไป |
ให้เกิดไก่แก้วอลงกรณ์ | กับนนทรีถือค้อนเหล็กใหญ่ |
อยู่รักษาอสุรานี้ไว้ | ให้ได้ถึงแสนโกฏิปี |
แม้นเห็นกกเลื่อนเคลื่อนคลาด | จากอกอุณาราชยักษี |
ไก่นั้นจึ่งขันขึ้นทันที | นนทรีเร่งเอาพะเนินรัน |
สาปเสร็จเสด็จบทจร | งามดั่งทินกรรังสรรค์ |
กับองค์อนุชาวิลาวัณย์ | คืนเข้าสวนขวัญอสุรา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายฝูงเทเวศทุกทิศา |
ทั้งนางอัปสรกัลยา | เห็นพระจักราสี่กร |
สังหารอุณาราชด้วยศรกก | ปักอกตรึงไว้กับสิงขร |
ต่างองค์ปรีดาถาวร | เผยบัญชรแก้วทุกวิมาน |
เยี่ยมพักตร์สำรวลสรวลสันต์ | ตบหัตถ์สนั่นฉัดฉาน |
โปรยดอกไม้ทิพย์โอฬาร | หอมหวานเสาวรสรวยริน |
บ้างร้องอวยชัยถวายพร | สรรเสริญฤทธิรอนพระทรงศิลป์ |
ทีนี้โลกาฟ้าดิน | จะสิ้นทุกข์เป็นสุขภิรมยา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่อสูรศักดิ์ยักษา |
ที่เหลือตายแอบชายอรัญวา | เห็นพญาอุณาราชอสุรี |
แพ้ฤทธิ์มนุษย์วุฒิไกร | ต้องศรปลิวไปจากที่ |
ตกใจดั่งจะสิ้นชีวี | ก็ลัดหนีเข้ายังพระนคร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งบังคมทูล | นางไวยกาสูรดวงสมร |
อันเป็นมเหสีภูธร | มารดรนางประจันกัลยา |
บัดนี้พระองค์ทรงภพ | ยกพวกพลรบไปเข่นฆ่า |
จนสิ้นจตุรงค์โยธา | ผ่านฟ้าต้องศรปลิวไป |
กราบทูลแต่ต้นจนปลาย | บรรยายจะเว้นก็หาไม่ |
อันสองมนุษย์วุฒิไกร | ยังอยู่ในสวนอุทยาน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางไวยกาสูรยอดสงสาร |
ทั้งประจันธิดายุพาพาล | รู้ว่าพญามารมรณา |
ตกใจดั่งใครมาฟันฟาด | ให้เศียรขาดด้วยดาบอันคมกล้า |
ต่างองค์ต่างฟายชลนา | โศกาครวญครํ่ารำพัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ มารดาว่าโอ้พระทรงเดช | มงกุฎเกศสิงขรเขตขัณฑ์ |
ทรงฤทธิไกรดั่งไฟกัลป์ | ปราบได้ทั้งสวรรค์ชั้นบาดาล |
ควรหรือพ่ายแพ้แก่มนุษย์ | สิ้นสุดชีวังสังขาร |
แต่นี้สิงขรเมืองมาร | จะเสื่อมเศร้าสาธารณ์ทุกวันไป |
ธิดาว่าโอ้พระบิตุรงค์ | ทรงคุณไม่มีที่เปรียบได้ |
รักลูกดั่งหนึ่งดวงใจ | ถนอมเลี้ยงมิให้ราคี |
แม้นจะชมดาวเดือนดวงตะวัน | พระพาไปทุกชั้นราศี |
ยังมิได้ทดแทนเท่าธุลี | ทีนี้จะแลลับตา |
กำนัลว่าโอ้พระปิ่นเกศ | พระคุณดั่งบิตุเรศนาถา |
บำรุงเลี้ยงข้าบาททั้งนี้มา | ด้วยพระทัยเมตตาสถาวร |
ยศศักดิ์ศฤงคารประทานให้ | ได้อยู่เป็นสุขสโมสร |
ครั้งนี้จะมีแต่ทุกข์ร้อน | รํ่าพลางข้อนทรวงเข้าโศกี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพระหริรักษ์เรืองศรี |
ครั้นเสร็จซึ่งล้างอสุรี | ภูมีสำราญฤทัย |
จึ่งตรัสแก่องค์พระอนุชา | ทั้งท้าวพญาน้อยใหญ่ |
แต่เราสละเวียงชัย | ออกมาเดินไพรพนาวัน |
ปราบหมู่อสุรพวกพาล | ที่หยาบช้าสาธารณ์โมหันธ์ |
ตามคำพิเภกกุมภัณฑ์ | กำหนดนั้นก็ได้ครบปี |
ควรเราจะคืนนคเรศ | ดับเทวษเจ็ดกษัตริย์เรืองศรี |
ตรัสแล้วเสด็จจรลี | จากที่อุทยานอสุรา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เดินทางตามหว่างหิมเวศ | พระทรงเดชชมพรรณปักษา |
จับไม้ร่ายร้องจำนรรจา | สาสิกาจับแก้วคลอกัน |
กระสาจับต้นสนสร้อย | นกเขาจับข่อยคูขัน |
โนรีจับรักเรียงรัน | เบญจวรรณจับหว้าริมทาง |
นกแก้วจับเกดเป็นฝูง | นกยูงจับประยงค์ฟ้อนหาง |
คับแคเต้นไต่กิ่งคาง | นกลางจับเลียบแล้วบินไป |
ฝูงหงส์จับเหียงเคียงคู่ | กระลุมพูร่อนลงจับไผ่ |
ไก่ฟ้าจับกิ่งมะไฟ | ระวังไพรจับราชพฤกษ์นอน |
พญาลอจับต้นพะยูงลาย | นกคล้าจับขลายบินว่อน |
ชมพลางเร่งรีบบทจร | พระอนุชาวานรก็ตามมา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายองค์พระพรตกนิษฐา |
ทั้งพระสัตรุดอนุชา | กับสองนัดดาวิลาวัณย์ |
ซึ่งอยู่รักษาพระนคร | คอยพระสี่กรรังสรรค์ |
นับวันนับเดือนประสมกัน | โดยกำหนดนั้นก็ครบปี |
บัดนี้สมเด็จพระทรงเดช | จะคืนเข้านิเวศน์บุรีศรี |
จำจะไปคอยเสด็จพระจักรี | อยู่ที่ภายนอกพระนคร |
ตรัสแล้วก็พากันลีลาศ | สี่องค์ดั่งราชไกรสร |
อันหมู่เสนาพลากร | ราษฎรทั้งนั้นก็ตามไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ นั่งแน่นสองแถวแนวนอน | กำหนดทิศโดยต้นทางใหญ่ |
คอยองค์พระตรีภูวไนย | ผู้ใดมิได้วางตา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระภุชพงศ์องค์นารายณ์นาถา |
ร้อนแรมมาในอรัญวา | นับได้สิบห้าราตรี |
ข้ามด่านผ่านแถวแนวทุ่ง | หมายมุ่งสำคัญวิถี |
พอชายบ่ายแสงพระรวี | ภูมีก็ถึงพระนคร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สี่กษัตริย์สุริย์วงศ์ทรงศร |
ตั้งพระเนตรคอยองค์พระสี่กร | เหลือบเห็นภูธรมาแต่ไกล |
มีความชื่นชมโสมนัส | พูนสวัสดิ์พ้นที่จะเปรียบได้ |
ต่างองค์ต่างวิ่งออกไป | ด้วยใจจงรักภักดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ จึ่งน้อมเศียรถวายอภิวาทน์ | กราบลงแทบบาทบทศรี |
อันเสนาไพร่ฟ้าประชาชี | ต่างถวายอัญชุลีพร้อมกัน |
ชาวประโคมก็ประโคมฆ้องกลอง | แตรสังข์กึกก้องเสียงสนั่น |
อันชีพ่อพราหมณ์ทั้งนั้น | อภิวันท์อ่านเวทถวายพร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระอวตารชาญสมร |
เห็นสี่สุริย์วงศ์ทรงฤทธิรอน | มนตรีนิกรโยธา |
อันความเหนื่อยพักตร์ก็หายสิ้น | พระทรงศิลป์แสนโสมนัสสา |
ปราศรัยแล้วก็พากันยาตรา | มายังปราสาทรูจี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งตรงขึ้นไปเฝ้า | น้อมเกล้าประณตบทศรี |
ทั้งสามสมเด็จพระชนนี | ด้วยใจปรีดาสถาวร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สามพระมารดาดวงสมร |
เห็นองค์สมเด็จพระสี่กร | กับพระลักษมณ์ฤทธิรอนอนุชา |
กลับมาแต่ป่าพนาลัย | อรไทแสนโสมนัสสา |
ดั่งได้ผ่านสวรรค์ชั้นฟ้า | ลุกมาสวมกอดทันที |
ยอกรลูบหลังลูบพักตร์ | ลูกรักของแม่ทั้งสองศรี |
แต่เจ้าไปจากพระบุรี | แม่นี้โศกาอาลัย |
เช้าคํ่าพรํ่ากินแต่ชลเนตร | จะเว้นวายเทวษก็หาไม่ |
ในอกร้อนรุ่มดั่งสุมไฟ | ค่อยคลายใจด้วยสองนัดดา |
พ่อไปเดินป่ากันดาร | สององค์ช้านานหนักหนา |
ได้ยากเป็นไฉนนะแก้วตา | จึ่งมาซูบผอมถึงเพียงนี้ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระหริรักษ์เรืองศรี |
ฟังสามสมเด็จพระชนนี | ชุลีกรแล้วทูลสนองไป |
ตัวลูกนี้จากบทเรศ | แสนเทวษปิ้มเลือดตาไหล |
ทรมานอดอยากลำบากใจ | ชิงชัยด้วยพวกพาลา |
อันท้าวกุเวรตรีปักกัน | สุดสิ้นชีวันสังขาร์ |
โปรดกุมภัณฑ์นุราชอสุรา | คืนไปเป็นข้าพระศุลี |
แล้วพบยักษาวายุภักษ์ | มาโฉบเฉี่ยวลูกรักทั้งสองศรี |
ไปในกรงเล็บสกุณี | พวกกระบี่ตามล้างบรรลัย |
ครั้นถึงสวนอุณาราชกุมภัณฑ์ | ได้ต่อยุทธ์ด้วยมันเป็นศึกใหญ่ |
ลูกเอากกแก้วแผลงไป | ตรึงไว้ตามสาปพระอิศรา |
หากคุณทั้งสามพระแม่เจ้า | เป็นที่ปกเกล้าเกศา |
จึ่งรอดชีวิตคืนมา | ทูลเบื้องบาทาในครั้งนี้ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สามพระมารดาโฉมศรี |
ฟังพระโอรสร่วมชีวี | มีความสงสารเป็นพ้นไป |
ชลเนตรคลอดวงนัยนา | จะกลั้นโศกามิใคร่ได้ |
อนิจจาพ่อปิ้มจักบรรลัย | หากทหารชาญชัยไปแก้ทัน |
บัดนี้ก็สิ้นเคราะห์แล้ว | แก้วตาจงบำรุงไอศวรรย์ |
ให้ไพร่ฟ้าผาสุกทุกนิรันดร์ | เป็นฉัตรกั้นพื้นภพโลกา |
ให้เดชาถาวรศรีสวัสดิ์ | สืบวงศ์จักรพรรดิไปภายหน้า |
แม่นี้จะฝากชีวา | ฝากศพแก้วตาสืบไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้มีอัชฌาสัย |
ก้มเกล้ารับพรใส่เศียรไว้ | ด้วยใจโสมนัสยินดี |
จึ่งชวนพระอนุชากับโอรส | ยอกรประณตบทศรี |
ลาสามสมเด็จพระชนนี | จรลีไปปราสาทชัชวาล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงเสด็จเหนือบัลลังก์อาสน์ | อันโอภาสพรรณรายฉายฉาน |
จึ่งประทานเครื่องต้นอลงการ | แก่ทหารตามมีบำเหน็จกร |
สังวาลธำมรงค์มงกุฎเพชร | เสร็จแล้วโอวาทสั่งสอน |
จงกลับไปผ่านพระนคร | ให้ถาวรเป็นสุขทุกพารา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ท้าวพญาวานรถ้วนหน้า |
รับราชรางวัลอันโอฬาร์ | แสนโสมนัสสาพันทวี |
จึ่งน้อมเศียรประณตบทบงสุ์ | ลาองค์พระนารายณ์เรืองศรี |
ต่างเหาะไปยังธานี | ด้วยกำลังฤทธีชัยชาญ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
ครั้นคํ่ายํ่าสนธยากาล | ชัชวาลด้วยแสงจันทร |
ดวงดาวประดับเดียรดาษ | โอภาสจำรัสประภัสสร |
จึ่งพาสองโอรสฤทธิรอน | บทจรเข้าห้องรูจี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เอนองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | ภายใต้เศวตฉัตรมณีศรี |
ให้คะนึงถึงองค์เทวี | ภูมีทอดถอนฤทัย |
พิศพักตร์ทั้งสองเยาวเรศ | ชลเนตรแถวถั่งหลั่งไหล |
นิจจาเอ๋ยสีดายาใจ | เคยได้ยากไร้ด้วยกันมา |
ความเจ้ารักพี่พี่รักเจ้า | สองเราร่วมชีพสังขาร์ |
ถ้อยทีมิให้เคืองวิญญาณ์ | ควรหรือมาเป็นได้ดั่งนี้ |
โอ้ว่าเสียแรงบำรุงรัก | เสียดายนักแก้วตามาจากพี่ |
สุดคิดสุดทุกข์แสนทวี | แสนเทวษที่เจ้าไม่อาวรณ์ |
เสียทีที่อวตารมา | ปราบหมู่พาลาด้วยแสงศร |
ไตรโลกเป็นสุขไม่ทุกข์ร้อน | แต่ดวงสมรพี่มาจากไป |
อกเอ๋ยทำไฉนจะได้น้อง | คืนมาร่วมห้องพิสมัย |
พิเภกก็ทายทำนายไว้ | ว่าจะมีผู้ใหญ่เมตตา |
คิดคิดก็ไม่เล็งเห็น | ใครจะเป็นที่พึ่งเหมือนหนึ่งว่า |
ครวญพลางกอดสองกุมารา | ผ่านฟ้าหลับไปในราตรี ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ