- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
๏ เมื่อนั้น | สัทธาสูรทศพักตร์ยักษา |
กับวิรุญจำบังอสุรา | เข้าที่นิทราในราตรี |
ปรึกษาในการรณยุทธ์ | ซึ่งจะล้างมนุษย์กระบี่ศรี |
ด้วยกลมารยาราวี | โดยมีพระเวทเชี่ยวชาญ |
จนประจุสมัยไก่ขัน | แสงสุพรรณพุ่งพรายฉายฉาน |
เสียงประโคมแตรสังข์กังสดาล | ฆ้องขานยํ่ารุ่งสนั่นไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ สามกษัตริย์สระสรงทรงเครื่อง | อร่ามเรืองพักตร์ผ่องดั่งแขไข |
ท้าวสัทธาสูรฤทธิไกร | จึ่งว่าแก่ท่านไททศพักตร์ |
ตัวเราจะยกไปก่อน | ประจัญกรรอนราญหาญหัก |
อันวิรุญจำบังหลานรัก | ขุนยักษ์อยู่หลังรั้งโยธี |
ว่าแล้วทั้งสองกษัตรา | ลาท้าวทศเศียรยักษี |
ลงจากปราสาทรูจี | เสด็จมายังที่ทัพชัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงต่างมีบรรหาร | สั่งเสนามารผู้ใหญ่ |
ให้ตรวจพหลพลไกร | ตามในกระบวนที่ยกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สองเสนามารยักษา |
ต่างตนรับราชบัญชา | ชุลีลาแล้วออกมาพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ปฐม
ยานี
๏ ฝ่ายข้างเสนีอัสดงค์ | ก็ตรวจเตรียมจตุรงค์พลขันธ์ |
ขุนช้างขี่ช้างซับมัน | กุมขอหยัดยันทั้งหมอควาญ |
ขุนม้าขี่ม้าถือทวน | ร่ายรำเป็นกระบวนสำแดงหาญ |
ขุนรถขี่รถเผ่นทะยาน | ถือหอกคอยผลาญไพริน |
ขุนพลก็เตรียมพลยุทธ์ | ล้วนกุมอาวุธครบสิ้น |
จารึกเสนาธิบดินทร์ | ก็ตรวจสินธพพวกพลากร |
สิบสมุทรพื้นพลพาชี | เริงร้ายราวีดั่งไกรสร |
ผู้ขี่ถือทวนโตมร | เพียบพื้นพระนครลงกา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสัทธาสูรยักษา |
กับวิรุญจำบังอสุรา | เสด็จมาโสรจสรงสาคร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ สองกษัตริย์ชำระสระสนาน | สุคนธาธารกลิ่นเกสร |
ต่างทรงสนับเพลาเชิงงอน | ภูษาลายกินนรกรกราย |
ชายไหวชายแครงเครือขด | เกราะแก้วมรกตฉานฉาย |
ฉลององค์พื้นตองทองพราย | รัดอกกระหนกลายสังวาลวัลย์ |
เฟื่องห้อยพลอยเพชรรุ้งร่วง | ตาบทิศทับทรวงดวงกุดั่น |
พาหุรัดทองกรมังกรพัน | ธำมรงค์เรือนสุบรรณกางกร |
ทรงมหามงกุฎเนาวรัตน์ | กรรเจียกจำรัสประภัสสร |
ต่างจับหอกแก้วคทาธร | มาขึ้นรถอัสดรพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ รถเอยรถศึก | กงกำแก้วผลึกทับทิมคั่น |
แอกอ่อนงอนงามกระหนกพัน | บัลลังก์สุวรรณจำหลักลาย |
ประดับเทพนมประนมหัตถ์ | ครุฑหยัดจับนาคเฉิดฉาย |
ช่อห้อยช่อตั้งกระจังราย | บุษบกดูคล้ายพิมานอินทร์ |
เทียมด้วยราชสีห์สี่พัน | โลทันมือถือธนูศิลป์ |
สำทับขับเร็วเสมอบิน | เครื่องสูงครบสิ้นไสวฟ้า |
ปี่กลองฆ้องขานประสานเสียง | สำเนียงพลโห่ฉาวฉ่า |
เร่งรถเร่งทศโยธา | บ่ายหน้าออกจากธานี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กราว
๏ เมื่อนั้น | วิรุญจำบังยักษี |
ครั้นทัพหลวงล่วงจากพระบุรี | ให้เคลื่อนพลพาชีชัยชาญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
โทน
๏ ม้าเอยม้าสินธพ | เลิศภพลำพองคะนองหาญ |
หักศึกฮึกสู้ประจัญบาน | โผนทะยานเผ่นเหยียบไพริน |
ผูกครบพื้นเครื่องกุดั่นดวง | ห้อยพู่หูพวงมณีสิ้น |
ปากแดงปานดั่งโกมิน | ดูนวลดำนิลทั้งอินทรีย์ |
เท้ารีบถีบเร็วดั่งลมกรด | มีพยศแม้นพญาราชสีห์ |
เหล่าพลล้วนพวกพาชี | ขับตีควบตามกันอึงอล |
สนั่นสำเนียงเสียงเท้า | ทหารรบโห่เร้ากุลาหล |
ผงคลีพัดคลุ้มโพยมบน | ขับร้นเร่งรีบกันไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กราวนอก
๏ บัดนั้น | ฟานเท่าเผือกผู้ตัวใหญ่ |
อันเป็นอุบาทว์จัญไร | ที่จะเสียทัพชัยอสุรี |
ให้บังเกิดร้อนรนดลจิต | ด้วยจะบอกนิมิตยักษี |
วิ่งออกจากพุ่มพนาลี | ผ่าพลโยธีขุนมาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสัทธาสูรใจหาญ |
เหลือบเห็นฟานป่าสาธารณ์ | วิ่งโผนโจนผ่านหน้าไป |
คิดคิดก็อัศจรรย์นัก | เห็นเหตุทรลักษณ์ลางใหญ่ |
ยิ่งให้หวาดหวั่นพรั่นใจ | สงสัยเป็นพ้นคณนา |
ครั้นกูจะขืนเดินทัพ | ก็ผิดกับพิชัยสงครามว่า |
คิดแล้วให้หยุดโยธา | อยู่ที่ชายป่าพนาลี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
เห็นทัพสัทธาสูรอสุรี | ยกมาถึงที่ชายไพร |
เสียงม้าเสียงรถคชสาร | สุธาธารเลื่อนลั่นหวั่นไหว |
ขุนกระบี่ผู้มีฤทธิไกร | ก็ปีนป่ายร่ายไม้ไต่มา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นใกล้พิชัยรถทรง | ขององค์พญายักษา |
จึ่งร้องประกาศด้วยวาจา | ถามว่าดูก่อนขุนมาร |
ตัวท่านจะไปแห่งใด | จึ่งยกพลไกรทวยหาญ |
เยียดยัดอัดพื้นสุธาธาร | เหตุการณ์สิ่งไรอสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสัทธาสูรยักษี |
ได้ฟังลิงน้อยพาที | ไม่มีสงสัยในวิญญาณ์ |
คิดว่าเป็นชาติวานร | อันเที่ยวสัญจรอยู่ในป่า |
จึ่งมีพระราชบัญชา | ว่าเหวยไอ้ลิงพนาวัน |
ตัวกูยกพลโยธี | แสนสุรเสนีทัพขันธ์ |
จะไปล้างมนุษย์อาธรรม์ | ที่มันชื่อว่าลักษมณ์ราม |
มึงนี้เป็นชาติกระบี่ไพร | กลการอะไรมาไต่ถาม |
จะประสงค์สิ่งใดในข้อความ | จึ่งลวนลามไม่เกรงฤทธี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
ได้ฟังจึ่งตอบอสุรี | ข้าถามโดยดีอย่าโกรธา |
เพราะว่าจะใคร่แจ้งเหตุ | ใช่จะไม่เกรงเดชท้าวยักษา |
อันจะสู้พระลักษมณ์พระรามา | ข้อนี้อย่าว่านะขุนมาร |
บรรดามิตรสหายพงศ์พันธุ์ | ของทศกัณฐ์ที่อวดหาญ |
ก็พลอยสิ้นชีพวายปราณ | เพราะอหังการกำเริบฤทธิ์ |
ท่านมีศักดาสักเพียงใด | จะมาต่อฤทธิไกรพระจักรกฤษณ์ |
จะพากันกลาดดินสิ้นชีวิต | พญามารหยุดคิดให้จงดี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสัทธาสูรยักษี |
ได้ฟังจึ่งตอบวาที | เหวยไอ้กลีจะหลอกใคร |
มึงเป็นเดียรัจฉานมาลบหลู่ | ไม่รู้จักกูหรือไฉน |
ลือนามขามทั่วภพไตร | ว่าได้พระเวทพรหมินทร์ |
แม้นจะให้ฝูงเทพบุตร | โยนอาวุธมาก็ได้สิ้น |
ทำไมกับมนุษย์เดินดิน | อย่าหมิ่นกูไม่เหมือนชาวลงกา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
ได้ฟังพญาอสุรา | จึ่งกล่าววาจาตอบไป |
แม้นท่านมีฤทธิ์ดังนั้น | เห็นจะสู้กันก็พอได้ |
ตัวข้านี้พลอยดีใจ | ที่จะมีชัยแก่ไพรี |
เกลือกไม่เหมือนคำขุนยักษ์ | จะแพ้พระหริรักษ์เรืองศรี |
ซึ่งมีพระเวทวิเศษดี | ข้านี้จะใคร่ดูฤทธา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสัทธาสูรยักษา |
มิได้แจ้งกลมารยา | อสุราจึ่งตอบคำไป |
เหวยเหวยไอ้ลิงสู่รู้ | จะใคร่ดูฤทธิ์กูก็พอได้ |
ว่าแล้วยืนขึ้นบนรถชัย | สะกดใจร่ายวิทยามนต์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ จึ่งเรียกฝูงเทพเทวา | เสียงสนั่นลั่นฟ้ากุลาหล |
ตลอดถึงสวรรค์ชั้นบน | ทั่วสกลวิมานรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายฝูงเทวาทุกราศี |
ได้ยินสัทธาสูรอสุรี | ร้องเรียกอึงมี่ขึ้นมา |
ทั้งหกชั้นฟ้าก็อุตลุด | ต่างขว้างอาวุธคมกล้า |
เกลื่อนกลาดดาษไปทั้งเมฆา | ด้วยกลัวฤทธากุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | องคตฤทธิแรงแข็งขัน |
กับฝูงวานรทั้งนั้น | ชวนกันฉวยรวบอาวุธไว้ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
รู้ว่าน้องรักร่วมใจ | กับพวกพลไกรวานร |
รวบฉวยอาวุธไว้ได้สิ้น | กระบินทร์ชื่นชมสโมสร |
ก็ร่ายไม้ไต่ลงยังดินดอน | ตบกรเยาะเย้ยอสุรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ กราวรำ
ร่าย
๏ ฉิฉะเจ้ากรุงอัสดงค์ | อ้างอวดฤทธิรงค์ว่าแกล้วกล้า |
เหตุใดไม่เห็นสาตรา | เหมือนหนึ่งปากว่าพาที |
นี่หรือจะยกไปต่อยุทธ์ | ด้วยพระจักรภุชเรืองศรี |
กูเป็นแต่ลิงพนาลี | ก็ดีกว่าเอ็งมีฤทธิไกร |
แม้นจะร้องเล่นเช่นยักษา | เทวาก็จะโยนอาวุธให้ |
ว่าพลางโลดโผนโจนไป | เข้าใกล้รถชัยขุนมาร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสัทธาสูรใจหาญ |
ฟังลิงเย้ยหยันเป็นคำพาล | พญามารกริ้วโกรธดั่งเพลิงกัลป์ |
ให้นึกแหนงแคลงคุณพระเวท | ของบรมพรหเมศรังสรรค์ |
กระทืบบาทขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน | เหม่ไอ้โมหันธ์อหังการ์ |
ซึ่งมึงอวดตัวว่ามีฤทธิ์ | ประสิทธิ์พระเวทคาถา |
เร่งเรียกอาวุธให้ตกมา | ไม่ได้จะฆ่าเสียบัดนี้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
ได้ฟังอสุราพาที | ขุนกระบี่จึ่งร้องตอบไป |
เอ็งจงคอยดูนะขุนยักษ์ | กูจักมุสานั้นหาไม่ |
ว่าพลางทางทำสะกดใจ | อ่านพระเวทไปด้วยมารยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ ครั้นแล้วแสร้งร้องประกาศ | เหวยเทวราชทุกทิศา |
เราจะต้องการสาตรา | จงโยนลงมาอย่าช้าที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | องคตหลานท้าวโกสีย์ |
ทั้งวานรห้าร้อยตัวดี | ได้ยินเสียงกระบี่หนุมาน |
ต่างทิ้งอาวุธดาดาษ | เกลื่อนกลาดรุ่งแรงแสงฉาน |
ถูกพลกุมภัณฑ์วายปราณ | อลหม่านทั้งทัพอสุรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
เห็นยักษีตายกลาดดาษดา | จึ่งมีวาจาประกาศไป |
เหวยสัทธาสูรอสุรี | เห็นฤทธีกูหรือหาไม่ |
เอ็งอวดศักดาว่าเกรียงไกร | คือใครจะเกรงอสุรี |
นี่หรือจะยกไปต่อฤทธิ์ | ด้วยพระจักรกฤษณ์เรืองศรี |
หัวเอ็งจะกลิ้งเป็นลูกคลี | ด้วยศรพระจักรีผู้ศักดา |
จงเลิกทัพกลับพลนิกร | คืนไปนครเสียดีกว่า |
ตัวเราหากคิดเมตตา | หวังว่าจะให้รอดชีวัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสัทธาสูรรังสรรค์ |
ได้ฟังกริ้วโกรธดังเพลิงกัลป์ | กุมภัณฑ์จึ่งร้องตอบไป |
เหม่เหม่ดูดู๋ไอ้เดียรัจฉาน | อหังการเจรจาหยาบใหญ่ |
ตัวมึงนี้นามกรใด | คือใครใช้สอยให้มา |
จึ่งอาจใจดูหมิ่นประมาทกู | ไอ้สู่รู้จะม้วยสังขาร์ |
ถึงเทวัญไม่ให้สาตรา | ที่จะฟังมึงว่าอย่าพึงคิด |
อันมนุษย์พี่น้องสองศรี | มาตรแม้นจะดีด้วยศรสิทธิ์ |
ปราบไปได้ทั่วทศทิศ | ก็ไม่เกรงฤทธิ์เท่ายองใย |
ตัวกูเป็นปิ่นอัสดงค์ | อันจะกลับจตุรงค์อย่าสงสัย |
ถ้ามิฆ่าลักษมณ์รามให้บรรลัย | กูก็ไม่ไปคืนพารา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
ได้ฟังจึ่งร้องตอบมา | มึงอย่าอหังการ์พาที |
กูเป็นทหารพระทรงศร | นามกรหนุมานกระบี่ศรี |
คือพระกาลผลาญภพธาตรี | จะมาเอาชีวีขุนมาร |
แต่สหัสเดชะชาญฉกรรจ์ | มีมือสองพันกล้าหาญ |
กูยังฆ่าเสียให้วายปราณ | ตัดเศียรประจานเสียบไว้ |
ตัวมึงมีกรแต่สองกร | ไหนจะต่อฤทธิรอนกูได้ |
ว่าแล้วขุนกระบี่ปรีชาไว | สะกดใจร่ายเวทวิทยา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ ตระ
๏ กายใหญ่เท่าบรมพรหมาน | สูงตระหง่านเงื้อมงํ้าเวหา |
สี่พักตร์แปดกรมหึมา | เข้าหักรัถาอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสัทธาสูรยักษี |
ตกลงกับพื้นปัถพี | โกรธดั่งอัคคีบรรลัยกัลป์ |
ผุดลุกขึ้นยืนกระทืบบาท | ร้องประกาศดั่งเสียงฟ้าลั่น |
เหวยเหวยอสูรกุมภัณฑ์ | กลัวลิงโมหันธ์หรือว่าไร |
จึ่งไม่เข้าต่อรอยุทธ์ | สัประยุทธ์จับตัวมันให้ได้ |
เร่งเร็วเร่งขับกันเข้าไป | ฆ่าเสียให้ม้วยบรรลัยลาญ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่อสุราทวยหาญ |
ได้ฟังบัญชาพญามาร | ต่างตนทะยานเข้าราวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ล้อมหน้าล้อมหลังอุตลุด | สัประยุทธ์ไล่จับกระบี่ศรี |
บ้างแทงบ้างฟันบ้างตี | อสุรีหนุนเนื่องเข้ามา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | องคตยศไกรใจกล้า |
เห็นหมู่อสูรโยธา | เข้าต่อศักดาหนุมาน |
กริ้วโกรธพิโรธดั่งไฟฟอน | ก็พาพวกวานรทวยหาญ |
ลงมายังพื้นสุธาธาร | เข้าไล่รอนราญอสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ หนุมานแกว่งตรีฟันฟาด | องคตไล่พิฆาตยักษี |
วานรบริวารได้ที | ตอบตีอสุราอึงอล |
พลมารผันหน้าเข้ารารับ | กระบี่โผนโจนจับกุลาหล |
ลิงหนึ่งสู้ยักษ์ได้ร้อยตน | ลางลิงประจญได้ถึงพัน |
พวกมารเข้ากลุ้มรุมแทง | ลิงปัดวัดแวงดั่งจักรผัน |
เป็นเหล่าเหล่าเข้าโจมจับกัน | อสุรีไม่ครั่นฤทธา |
วานรตบกัดฟัดฟาด | ฉีกขาแขนขาดกลาดป่า |
ล้มตายก่ายกองพสุธา | ยักษาแตกยับไม่สมประดี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสัทธาสูรยักษี |
เห็นพวกวานรโจมตี | อสุรีตายกลาดดาษไป |
พิโรธโกรธกริ้วกระทืบบาท | พสุธาอากาศก็หวาดไหว |
กวัดแกว่งศรสิทธิ์ฤทธิไกร | เข้าไล่ตีพลวานร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ผู้เดียวเคี่ยวขับรณรงค์ | อาจองดั่งพญาไกรสร |
พลลิงไม่รอต่อกร | วิ่งซอนแตกยับทับกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | หนุมานฤทธิแรงแข็งขัน |
เห็นวานรไม่หยุดยืนประจัญ | กุมภัณฑ์ไล่ตีลงมา |
เข่นเขี้ยวเคี้ยวฟันชันขน | แกว่งตรีคำรนเงื้อง่า |
ผาดโผนโจนไปด้วยฤทธา | เข้าตีต้านหน้าขุนมาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ สองโถมโจมจับสัประยุทธ์ | ต่อยุทธ์ไม่ยั้งกำลังหาญ |
วายุบุตรวุฒิไกรชัยชาญ | ทะยานถีบถูกอกอสุรี |
ขุนยักษ์ไม่ตั้งตัวได้ | ซวนไปยังเชิงคีรีศรี |
อันหมู่วานรโยธี | โห่เยาะอสุรีเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสัทธาสูรยักษา |
กริ้วโกรธพิโรธดั่งเพลิงฟ้า | ชักศรศักดาแผลงไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ สำเนียงดั่งเสียงลมกรด | บรรพตจักรวาลสะท้านไหว |
ศรสิทธิ์สำแดงฤทธิไกร | ไล่ล้อมรอบกายหนุมาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจหาญ |
เห็นยักษาแผลงศรมารอนราญ | โถมทะยานรวบได้ด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ หักเป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่ | แล้วโยนไปให้ยักษี |
ชี้หน้าว่าเหวยไอ้อัปรีย์ | วันนี้มึงจะม้วยชีวัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสัทธาสูรรังสรรค์ |
เสียศรเร่าร้อนดั่งเพลิงกัลป์ | กุมภัณฑ์กริ้วโกรธพิโรธนัก |
ตาแดงคือแสงพระสุริยา | กวัดแกว่งคทาดั่งผัดจักร |
ขบเขี้ยวเคี้ยวฟันอยู่คึกคัก | ขุนยักษ์ถาโถมเข้าโจมตี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ หวดซ้ายป่ายขวาอุตลุด | ด้วยกำลังฤทธิรุทรยักษี |
ต้องลูกพระพายเป็นหลายที | ขุนกระบี่หันเหเซไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
ยั้งตัวไว้ได้ด้วยว่องไว | เข้าไล่โจมจับกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ โจนขึ้นเหยียบเข่าน้าวเศียร | กลอกกลับหันเหียนดั่งจักรผัน |
องคตก็เข้าช่วยกัน | โรมรันฟันแทงอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสัทธาสูรยักษี |
ผู้เดียวรบรันประจัญตี | โจมจับกระบี่สองตน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ทั้งสามสัประยุทธ์ติดพัน | แทงฟันป้องปัดสับสน |
ต่างกล้าต่างหาญอดทน | อลวนไม่งดลดกร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
เขม้นเข่นฆ่าราญรอน | วานรรุกไล่อสุรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ มือซ้ายฉวยชิงกระบองยักษ์ | โถมหักเอาด้วยกำลังกล้า |
ตบกัดรัดรวบได้กายา | วานรฟาดลงกับดินดาน |
แล้วผาดโผนโจนเหยียบอกไว้ | แกว่งตรีฤทธิไกรจะสังหาร |
รอนหัตถ์ตัดเศียรขุนมาร | วายปราณสิ้นชีพชีวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด โอด
๏ ครั้นเสร็จซึ่งล้างอสุรา | วายุบุตรหิ้วเศียรยักษี |
แล้วพาองคตกับโยธี | เหาะมายังที่ทัพชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งสองวานร | ยอกรบังคมประนมไหว้ |
ทูลความแต่ต้นจนปลายไป | ตามได้สังหารอสุรา |
แล้วจึ่งถวายเศียรขุนยักษ์ | แก่พระทรงจักรนาถา |
ในที่ท่ามกลางเสนา | พร้อมหมู่โยธาพลากร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
ฟังลูกพระพายฤทธิรอน | ภูธรเห็นเศียรกุมภัณฑ์ |
มีความชื่นชมด้วยสมคิด | ทรงฤทธิ์ปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
ผิวพักตร์ผ่องเพียงดวงจันทร์ | จึ่งมีพระราชบัญชาการ |
สรรเสริญองคตวายุบุตร | พี่น้องวัยวุฒิกล้าหาญ |
พร้อมทั้งศักดาปรีชาชาญ | หาทั่วจักรวาลเห็นไม่มี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพลสัทธาสูรยักษี |
เหลือตายบาดเจ็บไม่สมประดี | วิ่งหนีซุกซนด้นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ลางมารมาพบเพื่อนกัน | ความกลัวตัวสั่นหาหยุดไม่ |
ก็วิ่งตะบึงเข้าในไพร | คิดว่าลิงไล่ตามมา |
จนถึงทัพวิรุญจำบัง | ก็พากันเซซังเข้าหา |
บอกแก่กองหน้าอสุรา | ว่าทัพอัสดงค์ธานี |
ยกไปตามชายพนาดร | ได้ราญรอนกับพวกกระบี่ศรี |
พระองค์ผู้จอมโยธี | บัดนี้สุดสิ้นชีวาลัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จิตกาสูรกองหน้านายใหญ่ |
ได้ฟังถี่ถ้วนทุกสิ่งไป | ตกใจก็พากันเข้ามา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งประณตบทบงสุ์ | ทูลองค์พญายักษา |
ว่าท้าวสัทธาสูรอสุรา | กรีธาทัพไปในกลางดง |
พบวานรหนึ่งกระจ้อยร่อย | โหนห้อยกิ่งไม้ไพรระหง |
ทักถามถ้อยคำอาจอง | พระยามารเคลิ้มหลงพาที |
บัดเดี๋ยวเป็นแปดกรสี่พักตร์ | เข้าไล่โหมหักยักษี |
พวกมันกรูกันมาราวี | ฆ่าองค์อสุรีมรณา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | วิรุญจำบังยักษา |
ได้ฟังดั่งต้องสายฟ้า | อสุราขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน |
ความแค้นความเสียดายพ้นนัก | พญายักษ์กริ้วโกรธหุนหัน |
เผ่นขึ้นพาชีตัวฉกรรจ์ | ก็ขับพวกพลขันธ์รีบไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ กราว
๏ เห็นพลอัสดงค์พระนคร | ตายยับซับซ้อนไม่นับได้ |
ก็เร่งพาชีพลไกร | ออกจากทางใหญ่ตัดมา |
เสียงผนังข้างม้าโกลนกระทบ | ทหารรบขี่ขับมาหน้า |
สนั่นครั่นครื้นพระสุธา | ดั่งคลื่นในมหาชลธาร |
ผงคลีเกลื่อนกลุ้มโพยมหน | บดบังมณฑลพระสุริย์ฉาน |
พลม้าขับม้าเผ่นทะยาน | โห่สะท้านควบแข่งกันไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เหลือบแลไปเห็นทัพมนุษย์ | ตั้งอยู่เป็นครุฑพยุห์ใหญ่ |
โยธีล้วนพวกกระบี่ไพร | กริ้วโกรธดั่งไฟไหม้ฟ้า |
จึงมีสีหนาทบรรหาร | สั่งโยธามารกองหน้า |
เร่งขับพาชีตีประดา | เข้าไล่เข่นฆ่าไพรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งจิตกาสูรยักษี |
รับสั่งแล้วขับพาชี | กรูกันเข้าตีวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ แยกปีกหลีกลวงให้ลิงไล่ | แล้วระดมปืนไฟธนูศร |
วกหลังประดังพุ่งโตมร | ตะลุมบอนกันในกลางพล |
แทงด้วยทวนง้าวหลาวแหลน | กระบี่แล่นรวนเรระเหหน |
พลม้าได้ทีตีประจญ | อลวนเข่นฆ่าราวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | สิบแปดมงกุฎกระบี่ศรี |
เห็นวานรแตกพ่ายไม่สมประดี | โกรธดั่งอัคคีไหม้ฟ้า |
นิลเอกฉวยจับม้าฟาด | นิลขันพิฆาตยักษา |
สุรเสนตีพลอาชา | ปิงคลาชักตรีเพชรแทง |
พลมารแตกย่นไม่ทนกร | ด้วยกำลังวานรเข้มแข็ง |
ตายกลาดดาษลงในกลางแปลง | พลลิงไล่แทงเป็นโกลี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | วิรุญจำบังยักษี |
เห็นโยธาแตกตายไม่สมประดี | โกรธดั่งอัคคีบรรลัยกัลป์ |
จึ่งยอกรประนมเหนือเกศ | ไหว้คุณพรหเมศรังสรรค์ |
ทำตามลัทธิกุมภัณฑ์ | กลั้นใจอ่านเวทกำบังตา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ เดชะพระเวทอันเชี่ยวชาญ | ก็บันดาลอินทรีย์ยักษา |
หายไปทั้งเงาแลอาชา | ก็ขับม้าเข้าไล่ราญรอน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ โถมแทงซ้ายขวาไม่หยุดยั้ง | ด้วยกำลังว่องไวดั่งไกรสร |
เวียนไวไล่เลี้ยวตะลุมบอน | วานรตายยับทับกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพวกกระบี่พลขันธ์ |
กระหยับกายหมายล้างกุมภัณฑ์ | ยืนยันเขม้นคอยที |
ได้ยินแต่เสียงเท้าม้า | ไม่เห็นกายายักษี |
มิได้โต้ตอบราวี | ก็ล้มลงกับที่สุธาธาร |
พลลิงวิ่งวุ่นไปทั้งทัพ | สุดที่จะรับกำลังหาญ |
แตกย่นจนรถพระอวตาร | อลหม่านเอิกเกริกเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกนาถา |
เสด็จเหนือรถแก้วแววฟ้า | เห็นหมู่วานรโยธี |
ตายกลาดดาษในสนามยุทธ์ | บ้างวิ่งอุตลุดแล่นหนี |
แลไปไม่เห็นอสุรี | ไล่มาในที่กลางพล |
ได้ยินแต่เสียงฉับฉับ | วานรตายยับสับสน |
ไม่รู้ที่จะรอต่อประจญ | พระภุชพลจึ่งถามโหรา |
อันวิรุญจำบังขุนมาร | มันทำการบังกายเข้าเข่นฆ่า |
วานรตายกลาดดาษดา | จะต่อกรยักษาประการใด ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังพระตรีภูวไนย | บังคมไหว้สนองพระวาที |
ขอพระองค์ผู้ทรงครุฑราช | จงวางพรหมาสตร์ศรศรี |
ไปสังหารผลาญม้าอสุรี | น่าที่จะได้ตัวมัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วรังสรรค์ |
ได้ฟังพิเภกกุมภัณฑ์ | ทรงธรรม์จับศรแผลงไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เสียงสนั่นลั่นฟ้าอากาศ | เป็นศรเกลื่อนกลาดไม่นับได้ |
ต้องพลโยธาอาชาไนย | บรรลัยทั้งทัพขุนมาร |
ทั้งนิลพาหุม้าทรง | ก็ล้มลงสิ้นชีพสังขาร |
ด้วยอานุภาพพระอวตาร | วานรทหารก็เป็นมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วิรุญจำบังยักษา |
เสียม้าดั่งเสียชีวา | เสียทั้งโยธาพาชี |
ผู้เดียวไม่เหลียวเห็นใคร | ให้หวาดหวั่นพรั่นใจยักษี |
สุดคิดสุดฤทธิ์อสุรี | สุดที่จะรอต่อยุทธ์ |
หน้าซีดตัวสั่นขวัญหาย | ให้เสียดายชีวีเป็นที่สุด |
ชิชะทั้งสองมนุษย์ | ฤทธิรุทรเลิศลบโลกา |
จำกูจะคิดอุบายหนี | ให้รอดชีวีดีกว่า |
คิดพลางเปลื้องผ้าโพกมา | อสุราผูกเป็นภาพพยนต์ |
ขี่ม้าถือหอกออกยืนอยู่ | ดูดั่งจะเผ่นโพยมหน |
เสร็จแล้วร่ายวิทยามนต์ | โดยกลลัทธิอสุรี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ ตระ
๏ ครั้นถ้วนเจ็ดคาบก็เป่าไป | ในภาพพยนต์ยักษี |
ก็เป็นอสุราพาชี | ดั่งหนึ่งว่ามีวิญญาณ์ |
แล้วจึ่งสำแดงแผลงฤทธิ์ | มืดมิดไปทั่วทิศา |
เหาะทะยานผ่านขึ้นยังเมฆา | อสุราก็ลอบหนีไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงอังกาศคีรี | ก็ตรงลงยังที่เขาใหญ่ |
แลเห็นหมู่วานรไพร | หิ้วหาบผลไม้ตามกัน |
เข้ามายังปากคูหา | อสุราหมายเนตรสังเกตมั่น |
ดีร้ายจะมีพระนักธรรม์ | สร้างพรตพรหมจรรย์อยู่ในนี้ |
ตัวกูจะเข้าไปสำนัก | พักพึ่งเบื้องบาทพระฤๅษี |
คิดแล้วยอกรอัญชุลี | อสุรีร่ายเวทอันศักดา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ ตระ
๏ บัดเดี๋ยวก็บันดาลเงาหาย | แลไม่เห็นกายยักษา |
เดินตามหมู่วานรมา | เข้าในคูหาพรายพรรณ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ แลเห็นอนงค์ทรงลักษณ์ | ผิวพักตร์ผ่องเพียงนางสวรรค์ |
กล้องแกล้งแน่งน้อยวิไลวรรณ | กุมภัณฑ์ชื่นชมยินดี |
จึ่งแก้พระเวทอันเพริศพราย | ให้ปรากฏกายยักษี |
แล้วกล่าวมธุรสวาที | เรานี้หนีศรพระรามมา |
เอ็นดูด้วยจงช่วยชีวิตไว้ | จะขออยู่อาศัยในคูหา |
แต่พอรุ่งแสงสุริยา | จึ่งจะลาโฉมยงนงคราญ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วานรินเยาวยอดสงสาร |
เหลือบแลไปเห็นขุนมาร | มาว่าขานอ้อนวอนพาที |
ความกลัวมิใคร่จะดูได้ | สะเทินใจผินผันพักตร์หนี |
ได้ยินความออกนามพระจักรี | เทวีถวิลจินดา |
ซึ่งยักษีหนีศรพระจักรแก้ว | จะพ้นทุกข์เราแล้วกระมังหนา |
ครั้นกูจะให้อสุรา | อาศัยคูหาไม่ชอบกล |
อันสตรีอยู่ใกล้บุรุษ | ย่อมวิมุตกินแหนงทุกแห่งหน |
จำจะบอกไปเสียให้พ้น | จึ่งจะไม่ระคนด้วยราคี |
คิดแล้วจึ่งตอบคำไป | ซึ่งจะอาศัยอยู่ที่นี่ |
เห็นไม่พ้นศรพระจักรี | จะพาเรานี้มรณา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วิรุญจำบังยักษา |
ได้ฟังคำนางเจรจา | อสุราขัดสนจนใจ |
จึ่งว่าเมื่อเจ้าไม่ปรานี | มิให้อยู่ในที่คูหาใหญ่ |
เป็นกรรมแล้วจำจะลาไป | แต่จะอาศัยแห่งใดดี |
จึ่งจะพ้นศรสิทธิ์ฤทธิรงค์ | ขององค์พระรามเรืองศรี |
เจ้าจงบอกให้เป็นไมตรี | พี่ไม่ลืมคุณกัลยา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วานรินผู้ยอดเสน่หา |
ได้ฟังคำวอนอสุรา | จึ่งกล่าววาจาตอบไป |
อันจะหนีศรพระจักรี | เรานี้จะบอกอุบายให้ |
จงไปยังฝั่งสมุทรไท | ทิศใต้เชิงเขาสัตภัณฑ์ |
นอกวินันตกสิงขร | สีทันดรหว่างอัศกรรณกั้น |
เป็นที่ภุชงค์ชาญฉกรรจ์ | นอกนั้นไม่มีใครไปมา |
จงนิมิตตัวให้เท่าไร | ด้วยฤทธิไกรยักษา |
เข้าซ่อนในฟองคงคา | เห็นว่าจะรอดชีวี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วิรุญจำบังยักษี |
ได้ฟังนางฟ้าพาที | อสุรีค่อยคลายสบายใจ |
จึ่งว่าซึ่งเจ้าการุญ | บุญคุณนั้นหาที่สุดไม่ |
ค่อยอยู่เถิดข้าจะลาไป | ตามในถ้อยคำกัลยา |
ว่าแล้วรีบเร่งจรลี | จากที่สุวรรณคูหา |
เหาะทะยานผ่านขึ้นยังเมฆา | ตรงมาฟากฝั่งสีทันดร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงซึ่งเชิงสัตภัณฑ์ | อันชื่ออัศกรรณสิงขร |
พินิจพิศดูในสาคร | เห็นก้อนฟองน้ำชอบกล |
จึ่งยอกรประนมเหนือเกศ | ไหว้คุณพรหเมศสามหน |
สำรวมใจร่ายวิทยามนต์ | นิมิตตนด้วยฤทธิ์อสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ กายเล็กเข้าเท่าตัวไร | ด้วยพระเวทเรืองชัยของยักษี |
เข้าแทรกยังฟองนที | ลอยอยู่ในที่ชลธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โล้
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายภาพพยนต์ตัวหาญ |
ซึ่งเปลี่ยนกายาขุนมาร | ขี่ม้าทะยานเข้าชิงชัย |
เหมือนวิรุญจำบังอสุรินทร์ | พวกกระบินทร์จะรู้ก็หาไม่ |
ลดเลี้ยวเที่ยวแทงวุ่นไป | กระบี่บรรลัยดาษดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | โยธาวานรถ้วนหน้า |
เข้ากลุ้มรุมกันเป็นโกลา | รับม้าตีตอบอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ลางเหล่าง้างเขาไล่ทิ้ง | ลางลิงโถมจับยักษี |
ลางพวกแทงฟันประจัญตี | ไม่ระคายอินทรีย์ภาพพยนต์ |
ทั้งอัษฎาทศมงกุฎ | ต่างเข้าต่อยุทธ์กุลาหล |
รูปนั้นทรหดอดทน | เข้าไล่ประจญไม่ลดกร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
เห็นยักษาขี่ม้าราญรอน | วานรตายกลาดดาษดา |
จึ่งชักพลายวาตขึ้นพาดสาย | หมายล้างชีวิตยักษา |
น้าวหน่วงด้วยกำลังมหึมา | ผ่านฟ้าก็ผาดแผลงไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ ศรชัยไปต้องภาพพยนต์ | ละเอียดลงไม่ทนฤทธิ์ได้ |
กลับเป็นขึ้นมาด้วยว่องไว | ภูวไนยแผลงซ้ำถึงสามที |
รูปนั้นก็ยังคงอยู่ | ขับม้าแทงหมู่กระบี่ศรี |
สงสัยพระทัยพันทวี | จึ่งมีพระราชบัญชา |
ตรัสถามพิเภกกุมภัณฑ์ | อันวิรุญจำบังยักษา |
สังหารไม่ม้วยชีวา | อสุรานี้เป็นประการใด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกผู้มีอัชฌาสัย |
พิเคราะห์ดูก็รู้ประจักษ์ใจ | บังคมไหว้สนองพระวาที |
รูปนี้ใช่ตัวอสุรา | เป็นรูปมารยาของยักษี |
เมื่อพระองค์ทรงศรไปราวี | ต้องพาชีมันบรรลัยลาญ |
อสุรีเกรงฤทธิ์ภูวนาถ | ไม่อาจจะต่อกำลังหาญ |
จึ่งเอาผ้าโพกขุนมาร | อ่านเวทผูกภาพพยนต์ไว้ |
ตัวมันลอบหนีพระทรงสังข์ | ไปยังอังกาศเขาใหญ่ |
ขอพระองค์จงแผลงศิลป์ชัย | เป็นข่ายไปล้อมรูปมารยา |
แล้วให้คำแหงวายุบุตร | ผู้มีฤทธิรุทรแกล้วกล้า |
ตามไปสังหารอสุรา | แม้นว่ามันถึงแก่ความตาย |
อันภาพพยนต์ขุนมาร | ก็จะกลับบันดาลสูญหาย |
สิ้นทั้งอาชาแลรูปกาย | กลายเป็นผ้าโพกกับหอกมัน ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภูวนาถรังสรรค์ |
ได้ฟังพิเภกกุมภัณฑ์ | จึ่งจับพาลจันทร์แผลงไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ สำเนียงดั่งเสียงสุนีบาต | พสุธาอากาศก็หวาดไหว |
เป็นข่ายเพชรเจ็ดชั้นเวียนไว | ล้อมภาพพยนต์ไว้ด้วยฤทธา |
แล้วจึ่งมีราชโองการ | สั่งศรีหนุมานทหารกล้า |
จงตามไปล้างอสุรา | ฆ่าเสียให้ม้วยชีวัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ