เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพม่า ตอนที่ ๑๐ (ต่อ)

เที่ยวเมืองร่างกุ้งเมื่อขากลับ

อธิบายส่วนการเมืองที่จะจัดตามรัฐธรรมนูญใหม่นั้น ในสมัยนี้จะจัดเพียงแต่คณะรัฐมนตรีกับเนติสภา กับเปลี่ยนระเบียบเนติสภาอันเป็นต้นเค้าของการปกครองบ้านเมืองก่อน วิธีปกครองเมืองพม่าถ้าว่าแต่หัวข้อพอเข้าใจง่ายๆ ในสมัยเมื่ออังกฤษแรกได้เมืองพม่าปกครองอย่าง “ฝรั่งเป็นนาย พม่าเป็นบ่าว” ต่อมาเมื่อปกครองอย่างดิอาชี เปลี่ยนเป็น “ฝรั่งกับพม่าช่วยกันปกครอง” วิธีที่จะจัดใหม่นี้ “ให้พม่าปกครอง ฝรั่งเป็นแต่ควบคุม”

ตามวิธีใหม่รัฐบาลกลางคงมีเจ้าเมือง Governor เป็นหัวหน้าอย่างเดิม แต่รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงต่างๆ ซึ่งแต่ก่อนเป็นพม่าแต่ ๓ คนต่อไปจะเป็นพม่าโดยมาก จะมีนายกรัฐมนตรี Prime Minister เป็นพม่าด้วย เค้ากระทรวงคงเป็นอังกฤษแต่กระทรวงกลาโหม (รวมทั้งตำรวจ Police) คน กับเจ้ากระทรวงการต่างประเทศ คน ๑ เนติสภาแต่ก่อนมีสมาชิกที่รับเลือกและที่เจ้าเมืองตั้ง แต่เนติสภา Legislative Councilต่อไป นอกจากเจ้ากระทรวงฝรั่ง ๒ คน จะมีแต่สมาชิกที่ราษฎรเลือก และจะมีเป็น ๒ สภา คือ สภาผู้แทน (พลเมือง) Representatives สภา ๑ กับสภามนตรี Senate (ให้เนติสภาเลือกสมาชิกส่วน ๑ เจ้าเมืองเลือกตั้งส่วน ๑ ผสมกัน) สภา ๑ บรรดากฎหมาย (และงบประมาณการเงิน) ต้องผ่านทั้ง ๒ สภา และเจ้าเมืองต้องเห็นชอบด้วยแล้วจึงประกาศใช้ได้ แต่อังกฤษสงวนอำนาจพิเศษของเจ้าเมืองไว้ว่าถ้าความตกลงของเนติสภาอย่างใด เจ้าเมืองเห็นว่าจะเป็นผลร้ายแก่บ้านเมือง มีอำนาจที่จะขัดได้

การเกี่ยวข้องกันระหว่างรัฐมนตรีกับเนติสภานั้น ตามวิธีดีอาชีที่ใช้มาแต่ก่อน เจ้าเมืองเป็นผู้เลือกและตั้งรัฐมนตรี ถึงเนติสภาจะไม่ชอบใจรัฐมนตรีทั้งคณะหรือแต่คนใดคนหนึ่ง ก็ถอดถอนไม่ได้ ต่อไปนี้เนติสภาจะมีอำนาจเอารัฐมนตรีออกจากตำเหน่งได้ เพราะฉะนั้นการตั้งรัฐมนตรี เจ้าเมืองจำต้องเลือกหาผู้ที่เนติสภาเชื่อถือ หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่ง ต้องเลือกผู้ที่มีพรรคพวกเป็นสมาชิกอยู่ในเนติสภามากกว่าเพื่อน เป็นตัวนายกและให้นายกเลือกหาพรรคพวกที่เนติสภาไว้ใจเป็นรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงต่างๆ จนครบคณะ เพราะลักษณะการเป็นดังว่ามานี้ คณะรัฐมนตรีที่บังคับบัญชาการบ้านเมืองก็เหมือนอยู่ในอำนาจเนติสภา ถ้าทำการอย่างใดไม่ชอบใจสมาชิกเนติสภาโดยมากเมื่อใด ก็จะต้องออกจากตำแหน่งเมื่อนั้น แต่สมาชิกในเนติสภาเป็นหลายคณะ ความเห็นแตกต่างกันเป็นหลายอย่างดังกล่าวมาแล้ว ยากทีจะให้เห็นเป็นอย่างเดียวกันโดยมากได้ง่ายๆ ข้อนี้เป็นเครื่องป้องกันคณะรัฐมนตรีอยู่อย่างหนึ่ง ถึงกระนั้นรัฐมนตรีจะบังคับบัญชาการอันใดก็ต้องระวังอยู่เสมอที่จะให้เนติสภาชอบ หรือมิให้สมาชิกเนติสภาโดยมากขัดขวาง

ถ้าว่าถึงวัตถุที่ประสงค์ของสมาชิกในเนติสภา ถึงแม้ว่าตัวคนแยกกันเป็นหลายคณะดังกล่าวมาแล้วก็ดี ความประสงค์ที่เป็นข้อสำคัญคงมีแต่ ๒ อย่าง คือ บรรดาสมาชิกที่เป็นพม่าย่อมอยากให้อำนาจตกอยู่ในมือพม่า แต่สมาชิกที่เป็นชนชาติอื่นหรือเป็นชาวต่างประเทศ ไม่อยากให้พม่ามีอำนาจมาก ด้วยเกรงจะถูกเบียดเบียฬ แต่ในพวกพม่าเองก็มีความเห็นแตกต่างกันในข้อที่จะเอาอำนาจมาไว้ในมือพม่าด้วยอุบายอย่างใด ที่แยกกันเป็นหลายคณะก็ด้วยเห็นต่างกันในข้อนี้เป็นสำคัญ เปรียบเช่นฝรั่งชอบเรียกในยุโรปว่าเป็น “พวกฝ่ายขวา” พวก ๑ และ “พวกฝ่ายซ้าย” พวก ๑

พวกฝ่ายขวาเห็นว่าควรจะทำการร่วมมือกับอังกฤษ เอาใจให้อังกฤษเชื่อถือโอนอำนาจให้พม่ามากขึ้นโดยลำดับ ส่วนพวกฝ่ายซ้ายไม่เชื่อใจอังกฤษ คิดจะใช้อำนาจที่มีตามรัฐธรรมนูญด้วยประการต่างๆ ให้อังกฤษต้องจำใจให้อำนาจแก่พม่า พวกพม่าที่เคยรับราชการดูมักมีความเห็นเป็นอย่างข้างฝ่ายขวาโดยมาก แต่พวกที่ไม่เคยมีตำแหน่งในราชการ เช่นพวกเนติบัณฑิต และพวกนักการเมือง มักมีความเห็นอย่างข้างฝ่ายซ้าย

ฉันได้เคยสนทนากับพม่าสมัยใหม่ที่เป็นเจ้าเมืองคน ๑ ซึ่งความเห็นเป็นอย่างข้างฝ่ายขวา เขาว่าเมืองพม่าแต่ก่อนมาก็เป็นเอกเทศ ชาวเมืองก็เป็นชาติหนึ่ง ถือศาสนาหนึ่งต่างหากจากอินเดีย ที่ต้องรวมอยู่ในอาณาเขตอินเดียเพราะเคราะห์กรรมและเหตุการณ์ในพงศาวดารทำให้เป็นเช่นนั้น ที่ได้แยกออกจากอินเดียนั้นพม่าควรจะพอใจ ด้วยบ้านเมืองของตนได้กลับเป็นเอกเทศอย่างเมื่อครั้งปู่ย่าตายาย ส่วนการปกครองเมืองพม่าต่อไปนั้น ซึ่งพวกพม่าอยากจะปกครองบ้านเมืองของตนเองอย่างเป็นอิสระ ก็เป็นธรรมดา แต่เมืองพม่าตกอยู่ในเงื้อมมืออังกฤษ ๆ ได้ปกครองมาช้านานแล้ว ที่ไหนเขาจะยอมปล่อยเมืองพม่าให้หลุดมือเขาง่ายๆ พม่าก็ไม่มีกำลังที่จะช่วงชิงเอาบ้านเมืองจากอังกฤษได้ ทางที่จะให้ผลดีจึงมีทางเดียวแต่ต้องรักษาไมตรีดีกับอังกฤษ แต่พยายามศึกษาวิชาและทำการต่างๆ ให้อังกฤษเห็นว่าพม่ามีความสามารถอาจจะทำการงานปกครองบ้านเมืองไว้ใจได้เหมือนคนอังกฤษ อันต้องหามาเปลี่ยนตัวกันอยู่เสมอ เช่นนั้นแลพม่าจึงจะได้ปกครองบ้านเมืองของตนเองมากขึ้น อำนาจและหน้าที่ๆตกอยู่ในเมืองพวกฝรั่งก็จะลดลงโดยลำดับ ยังไม่ถึงเวลาที่คิดเป็นอิสระ

ความเห็นของพวกทางฝ่ายซ้ายเป็นอย่างไร ฉันไม่มีโอกาสสนทนากับพม่าพวกนั้นยืดยาว เป็นแต่สนทนากันบ้างเล็กน้อย ฉันถามคนหนึ่งว่าในการที่เมืองพม่าได้เป็นเอกเทศนั้นเขาชอบใจหรือไม่ เขาตอบทันทีว่าไม่ชอบเลย ฉันประหลาดใจถามเขาต่อไปว่า พม่าก็ต่างชาติ ต่างศาสนากับชาวอินเดีย แต่ก่อนก็เคยเป็นประเทศหนึ่งต่างหาก เหตุไฉนเขาจึงพอใจจะให้เมืองพม่ารวมอยู่ในอาณาเขตของอินเดีย เขาตอบว่าที่รัฐบาลอังกฤษยอมให้รัฐธรรมนูญใหม่ครั้งนี้ เพราะเกรงชาวอินเดียจะกำเริบ แต่อย่างไรๆ ต่อไปชาวอินเดียต้องใช้อำนาจการปกครองบ้านเมืองของตนเอง (Home Rule) เต็มที่ ถ้าเมืองพม่าอยู่ในอาณาเขตอินเดียอย่างแต่ก่อน อินเดียได้อำนาจเพียงใดเมืองพม่าก็คงได้ด้วยเพียงนั้น ที่อังกฤษแยกเมืองพม่าออกเสียจากอินเดียเพราะประสงค์จะกดเมืองพม่าลงเป็นเมืองขึ้น (ให้พม่าอยู่ในบังคับฝรั่ง) เหมือนอย่างเมืองสิงคโปร์และฮ่องกง พม่าจะต้องเป็นข้าของอังกฤษต่อไปไม่มีที่สุด เขาจึงไม่พอใจ อีกคนหนึ่งว่าการที่อังกฤษให้พม่าเป็นรัฐมนตรีบัญชาการบ้านเมืองนั้น ที่จริงให้แต่ตำแหน่งมิได้ให้อำนาจ ยกตัวอย่างดังไม่ให้อำนาจบังคับกรมตำรวจ Police ซึ่งคงอยู่ในบังคับบัญชาของฝรั่งดังนี้ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยจะปกครองบ้านเมืองได้อย่างไร มีอีกคนหนึ่งรังเกียจการที่ให้พวกชาวต่างประเทศเลือกคนแทนชาติของตนเป็นสมาชิกในเนติสภา เห็นว่าการเลือกสมาชิกควรเอาแต่ท้องที่เป็นเกณฑ์อย่างเดียว ความเห็นข้อนี้เราพอเข้าใจได้ ว่าถ้าการเลือกเอาแต่ท้องที่เป็นเกณฑ์ สมาชิกเนติสภาคงเป็นพม่าแทบทั้งหมด ชาวต่างประเทศจะได้รับเลือกก็แต่ในท้องที่ที่มีชาวต่างประเทศมากกว่าพม่า เช่นที่เมืองร่างกุ้งเป็นต้น รัฐบาลอังกฤษเห็นพวกชาวต่างประเทศจะเสียเปรียบพม่ามากนัก จึงคิดให้มีวิธีเลือกกันตามชาติ

ส่วนความเห็นของพวกอังกฤษนั้น ฉันได้สนทนากับข้าราชการหลายคน ดูไม่มีใครเห็นชอบในการที่จะจัดใหม่นั้นเสียเลย เขาว่าพม่ายังไม่ถึงเวลาสามารถจะใช้วิธีปกครองอย่างประชาบาล Democracy เพราะพม่าที่ได้ศึกษาและทรงคุณวุฒิถึงจะบัญชาการได้ยังมีน้อยตัวนัก ในเวลาเมื่อใช้วิธีดิอาชีดูภายนอกเหมือนพม่ากับอังกฤษปกครองด้วยกัน แต่ที่จริงพม่าได้เป็นตำแหน่งแต่ที่ไม่สำคัญ ถึงกระนั้นอังกฤษก็ต้องแนะนำหมดทุกอย่าง แต่ตามวิธีใหม่นี้ถึงรูปการดูเหมือนอำนาจจะตกอยู่แก่ราษฎรด้วยการเลือกสมาชิกเนติสภา แต่ที่จริงราษฎรในเมืองพม่าโดยมากไม่เอาใจใส่ในการปกครองบ้านเมือง อำนาจจะไปตกอยู่แต่ในพวกนักการเมืองทั้งผู้ปกครองก็ยังซ้ำต้องอยู่ในอำนาจของเนติสภา ซึ่งมีแต่พวกเนติบัณฑิตและนักการเมือง ชำนาญแต่การพูดกับออกความเห็นไปต่างๆ มีน้อยตัวที่ได้เคยรับผิดชอบทำความปกครองบ้านเมืองมาแต่ก่อน เมื่อใช้วิธีใหม่คงจะเกิดลำบากไปนาน ฉันสอดถามว่าจะแก้ความลำบากด้วยเลือกเอาอังกฤษที่ชำนาญการงานเข้าเป็นสมาชิกในคณะรัฐมนตรีบ้างไม่ได้หรือ เขาตอบว่าถ้านายกรัฐมนตรีคนไหนทำเช่นนั้น ก็เห็นจะถูกเนติสภาลงมติว่าไม่เชือถือ ต้องออกจากตำแหน่งทันที เพราะพวกนักการเมืองพม่าประสงค์จะเอาฝรั่งที่เป็นตำแหน่งต่าง ๆ ในเมืองพม่าออก และจะเอาพม่าเข้าเป็นแทนทั้งมีพรรคพวกที่ปรารถนาจะได้เป็นตำแหน่ง ๆ อยู่มากด้วยกัน

เมื่อฉันกลับจากเมืองพม่าแล้ว เห็นในหนังสือพิมพ์ว่าได้มีการเลือกเนติสภาใหม่ สำหรับรัฐธรรมนูญที่จะใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๐ เป็นต้นไป ได้ยินว่าการที่พวกพม่านักการเมืองคิดจะรวมให้มีคณะต่างๆ น้อยลงไม่สำเร็จ เพราะหัวหน้าต่างคณะไม่ยอมเป็นตัวรองเมื่อรวมเป็นคณะเดียวกัน และไม่ยอมเลิกนามคณะเดิมของตน ถึงกับมีผู้เปรียบเทียบให้เอานามฉายาของพระมหาเถระองค์หนึ่งซึ่งเป็นอาจารย์ (ตัวหัวหน้า) ทั้ง ๒ พวกมาใช้เป็นนามคณะ (เห็นจะเป็นด้วยพระมหาเถระองค์นั้นไม่ยอม) ก็ไม่ตกลงกัน ในที่สุดเมื่อแล้วสมาชิกกลับแยกคณะกันมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเดี๋ยวนี้มีถึง ๗ คณะด้วยกัน ได้ยินว่าเจ้าเมืองเลือกอูบาเป U Ba Pe ซึ่งเคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเกษตร จะให้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยมีสมาชิกในเนติสภาเป็นพรรคพวก ๔๐ คน แต่สมาชิกคณะอื่นๆ รวมกันมีจำนวนมากกว่าลงมติว่าไม่เชื่อถือ อูบาเปก็ไม่ได้เป็น แต่ลงที่สุดไกล่เกลี่ยอย่างใดอย่างหนึ่งเนติสภายอมรับดอกเตอร์ บา มอ Doctor Ba Maw ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาเป็นนายกรัฐมนตรี จะเป็นอย่างไรกันต่อไปยังหาทราบไม่ การเปลี่ยนแปลงวิธีปกครองดังกล่าวมาจัดเฉพาะแต่ในแดนพม่า หาเกี่ยวข้องไปถึงแดนไทยใหญ่ Shan States ไม่ หรือว่าอีกนัยหนึ่ง รัฐบาลที่พวกพม่าได้มีอำนาจขึ้นนั้น จะบังคับบัญชาไปถึงเมืองไทยใหญ่ไม่ได้ เมืองไทยใหญ่ทั้งปวงยังขึ้นตรงต่ออังกฤษ อังกฤษยังให้คงเป็นเมืองประเทศราช และแบ่งเป็นฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้อยู่ตามเดิม ได้ยินว่าอังกฤษคิดจะจัดให้เป็นสหปาลีรัฐ Federation ฝ่ายเหนืออาณาเขต ๑ ฝ่ายใต้อาณาเขต ๑ แต่ค่อยจัดไปไม่เร่งร้อน

เวลา ๑๙ นาฬิกา (วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์) นั้น เจ้าหญิงไปบ้านอูบาดุน เลขานุการของเนติสภา ตามที่เขาได้เชิญไว้ให้ไปกินเลี้ยงอย่างพม่า ไปได้สักครู่หนึ่งให้เจ้าฉายเมืองกับเนติบัณฑิตพวกของอุบาดุนคนหนึ่ง มาบอกฉันว่าเขาหาคนฟ้อนรำอย่าง “โยเดีย” ไว้รำให้ดู ฉันก็รีบแต่งตัวตามไป บ้านอุบาดุนนั้นเป็นเรือน ๒ ชั้น ถ้าจะเปรียบก็เหมือนบ้านพวกข้าราชการในกรุงเทพฯ ไม่แปลกประหลาดอันใด แต่วันนั้นเขาเชิญพวกพ้องมา (ดูพวกเรา) มาก ดูล้วนแต่เป็นชายหนุ่มกับหญิงสาว ให้นั่งในห้องรับแขกกับเราและนำให้รู้จักก็มี ที่นั่งอยู่ตามช่องประตูและตามเฉลียงก็มีอีกมาก พอแลเห็นก็คาดได้ว่าเป็นพวกเนติบัณฑิตกับนักเรียนกฎหมายทั้งนั้น มีผู้หญิงสาว ๒ คนที่เขานำให้รู้จักว่าเป็นเนติบัณฑิต และว่าความในโรงศาลจนมีชื่อเสียงอยู่ในเวลานั้น

จะเล่าแทรกเรื่องเนติบัณฑิตพม่าตามที่พวกพ่อค้าฝรั่งเขาบอก เขาว่าเนติบัณฑิตพม่าแต่เดิมก็เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองดี แต่เมื่อมีจำนวนเนติบัณฑิตมากขึ้นทุกปี ตำแหน่งราชการและกิจธุระสำหรับเนติบัณฑิต เช่นรับว่าความในโรงศาลเป็นต้น มีไม่พอแก่จำนวนคนก็เกิดมีเนติบัณฑิตที่ไม่มีงานทำมากขึ้น พวกนี้ชอบเที่ยวยุยงให้คนเป็นความกัน เพื่อหาประโยชน์เลี้ยงตัว เลยลำบากไปถึงการค้าขาย ด้วยแต่ก่อนมาพวกพ่อค้ากับลูกค้ามักไว้ใจกันและกัน เดี๋ยวนี้ถ้ามีข้อเกี่ยงแย่งอะไรกันสักเล็กน้อย พวกเนติบัณฑิตก็เข้ายุยงพวกลูกค้าให้ฟ้องร้องในโรงศาล จนพวกพ่อค้าไม่ไว้ใจลูกค้าเหมือนแต่ก่อน เขาว่ารัฐบาลกำลังจะคิดแก้ไขตัดจำนวนเนติบัณฑิตให้เพิ่มขึ้นน้อยกว่าแต่ก่อน แต่จะทำด้วยประการอย่างใดกันฉันไม่ทราบ

การฟ้อนรำนั้นเล่นในห้องรับแขกนั่นเอง มีพวกชาวดนตรีเป็นก็ชายตีระนาดคน ๑ สีซอคน ๑ ดีดพิณคน ๑ พิณพม่าฉันเพิ่งเคยเห็นวันนี้ เป็นพิณแบบโบราณเหมือนเช่นพวกอียิปต์จำหลักไว้ในศิลา ฟังเสียงก็ไพเราะดี พวกคนรำนั้นเป็นผู้หญิง ๓ คน ยังเป็นสาวแต่รำได้อย่างพม่า ๒ คน เป็นผู้ใหญ่อายุสัก ๔๐ ปี ชื่อว่า มะ ma (มีชื่อคำกลางจำไม่ได้ ลงท้ายชื่อว่า) เยือน Yuen เราจึงเรียกกันตามสะดวกปากว่า “แม่เยื้อน” คน ๑ เป็นคนที่รำอย่างโยเดียได้ แกบอกว่าครูของแกเป็นละครผู้หญิงของพระเจ้ามินดง ตัวแกเองเดี๋ยวนี้ก็เลิกหาเลี้ยงชีพในการฟ้อนรำแล้ว แต่รับจ้างเป็นครูคนอื่น หญิงเหลือถามชื่อเพลงโยเดียที่แกรู้จัก และวานพม่าจดตามคำบอกมาให้ดังนี้

๑. Khamein เดาว่า เขมร

๒. Ngu ngit เดาว่า ยุหงิด

๓. Mahothi เดาว่า มะโหรี

๔. Htanauk เดาว่า ตะนาว

๕. Farantin เดาว่า ฝรั่งเต้น

๖. Khetmun เดาว่า แขกมอญ

๗. Parin เดาว่า บลิ่ม

กระบวนที่แกจะรำให้ดูนั้น

๘. Paringya เดาว่า เพลงช้า

๙. Paringyin เดาว่า เพลงเร็ว

เมื่อรำก็ได้เค้า ด้วยตั้งต้นนั่งคุกเข่าประนมมือ ตั้งท่าเทพนมปฐม พรหมสี่หน้า ถูกแบบเพลงช้าของไทย แต่รำคล้ายไทยอยู่สักสองสามท่า แล้วก็กลายไปคล้ายอย่างพม่าทั้งเพลงช้าเพลงเร็ว ได้แต่จังหวะเหมือนไทย เมื่อดูแม่เยื้อนรำ ได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งว่า ที่มองโปซินรำให้ดูที่เมืองจองเดนั้นคงเป็นท่าโขน ที่แม่เยื้อนรำเป็นท่าละครใน แต่ก็น่าประหลาดใจหนักหนา ที่พม่าได้ไทยไปเป็นครูละครถึง ๑๗๙ ปีมาแล้ว ยังรักษาท่าทางไว้ได้เพียงนั้น ดูรำแล้วฉันก็ลากลับมาโฮเต็ล

ตอนที่ ๑๑ กลับเมืองปีนัง

ในตอนนี้มิใคร่มีเรื่องอะไรจะเล่าเท่าใดนัก เพราะกลับย้อนมาทางเดียวกันกับเมื่อไป และมาเรืออย่างเดียวกันกับที่ไป มีเรื่องก็เป็นอย่างเบ็ดเตล็ด เดิมฉันเขียนไว้ข้างท้ายตอนที่ ๑๑ หมายว่าจะให้สิ้นเรื่องเพียงนั้น แต่เมื่อพิจารณาดูเห็นผิดกระบวนความที่ได้เขียนบอกเรื่องมาเป็นตอนๆ ดูเป็นไปค้างเติ่งอยู่ที่เมืองร่างกุ้งจึงแยกความมาเป็นตอนหนึ่งต่างหาก

วันพฤหัสบดีที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ เวลาเช้าอูบาดุนมาส่งที่โฮเต็ล เวลากลางวันเชิญมิสเตอร์ แนช ปลัดเลขาธิการของรัฐบาล กับมิสเตอร์คัสโตเนีย กับภรรยามากินเลี้ยงเวลากลางวันที่โฮเต็ล เลี้ยงแล้วไปลงเรือการาปารา Karapara ของบริษัทอิสต์อินเดีย เป็นเรือคู่กับลำที่เรามา มิสเตอร์แนช ปลัดเลขาธิการของรัฐบาล มิสเตอร์ไปรเออ กงซุลสยาม มิสเตอรคัสโตเนีย นายห้างอิสต์เอเซียติค กับเจ้าฉายเมืองเจ้าขุนศึก ลงไปส่งที่เรือ เรือออกจากท่าเวลา ๑๔ นาฬิกาครึ่ง ลงมาทอดสมอรอน้ำอยู่ข้างใต้เมืองร่างกุ้งจนน้ำขึ้นจึงออกเรือแล่นมา ออกจากปากน้ำเมื่อจวนค่ำ มาเรือขากลับผิดกับเมื่อกับขาไปอย่างหนึ่ง ด้วยเรือบรรทุกทหารแขกปัญจาบของอังกฤษมาแต่เมืองกัลกัตตากว่า ๔๐๐ คน ระหว่างเรือที่สำหรับบรรทุกสินค้า มีพวกทหารแขกกับลูกเมียที่ตามมาด้วยเต็มไปทั้งนั้น ว่าจะไปผลัดทหารกาชิน Chachin ที่ประจำอยู่ ณ เมืองแปะระในสหรัฐมะลายูครบกำหนดแล้วกลับไปเมืองพม่า พวกทหารกาชินนั้นฉันเคยเห็นที่ปีนัง ดูเป็นชาติอยู่ในระหว่างจีนกับไทยใหญ่ อังกฤษเกลี้ยกล่อมฝึกหัดเป็นทหารอยู่ในเมืองพม่ามาก ส่วนทหารแขกปัญจาบนั้นว่าจะส่งตามมาในเรือลำหลังอีกจนครบจำนวนกองพันหนึ่ง พวกนายทหารโดยสารชั้นที่ ๑ มากับพวกเรา พอรุ่งขึ้นวัน ๑ ก็คุ้นกันเกือบหมด คราวนี้มีหญิงสาวชาวอเมริกาเป็นพวกท่องเที่ยวมาด้วยกัน ๓ คน พอเห็นเจ้าหญิงก็เข้ามาหา คนที่เป็นหัวหน้าบอกว่าเป็นหลานพระยากัลยาณไมตรี Dr. Sayre และประสงค์จะเข้าไปเที่ยวกรุงเทพฯ จากปีนัง พวกเรารู้ก็ยินดีเขียนจดหมายชักนำให้ถือไปถึงพวกพ้องขอให้อุปการะหญิงสาว ๓ คนนั้น ต่อมาได้รับจดหมายบอกมาว่าไปกรุงเทพฯ มีความยินดีพอใจมาก

ขากลับทะเลราบเรียบราวกับน้ำในอ่าง จนพวกเราที่ขี้เมาคลื่นออกเดินก่าได้หมดทุกคนตลอดทั้ง ๓ วัน เขาเดินเรือใกล้ฝั่งกว่าเมื่อขาไป ได้เห็นเกาะภูเก็ตตลอดไปถึงภูเขาที่เมืองพังงา กลับมาถึงปีนัง ณ วันอาทิตย์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ เวลาเช้า เจ้าเมืองให้เรือหลวงไปรับมาส่งขึ้นบกกลับบ้าน

วันจันทร์ที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ไปส่งพระองค์หญิงใหญ่ศิริรัตนบุษบง ลงไปเมืองสิงคโปร์ เป็นสิ้นเรื่องเที่ยวเมืองพม่าเพียงเท่านี้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ