วันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๐ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๕ มีนาคม แล้ว

ที่โปรดประทานอธิบายคำจำแนกความเสียหาย ในลักษณะปรับละเมิดมานั้นชัดเจนดีมาก หม่อมฉันจะคัดส่งไปให้พระยาอินทรมนตรีด้วย

นายประสิทธิ์ โลหนันท์ รองกงสุลสยามคนใหม่กับภรรยาชื่อกัญญาเขามาหาหม่อมฉันแล้ว เขาทำดีอย่างหนึ่ง ในบัตรชื่อที่ส่งขึ้นมาให้หม่อมฉันเขาเขียนเส้นหมึกเพิ่มลงข้างท้าย ชื่อนายประสิทธิ์ว่า “บุตรพระยาทิพโกษา (สอน)” บัตรชื่อภรรยาก็เขียนเพิ่มว่า “บุตรีพระยาอุทัยธรรม (หรุ่น)” ได้รู้แต่เห็นบัตรชื่อว่าเป็นลูกเพื่อนเก่าทั้งสามีและภรรยา แต่ภรรยานั้นถึงไม่บอกก็รู้ได้ด้วยหน้าตาช่างเหมือนบิดาจริงๆ การรับรองก็เลยสนิทสนมตั้งแต่แรกพบกัน กิริยามารยาทดูเป็นผู้ดีไทยน่าเลื่อมใสทั้ง ๒ คน

เรื่องทางปีนังมีเรื่องที่ควรทูล ๒ เรื่อง เรื่อง ๑ คือพระองค์หญิงประเวศวรสมัยจะเสด็จไปกรุงเทพฯ ในวันที่ ๑๑ นี้ เพราะเธอทราบข่าวว่าคุณจอมมารดาทับทิมป่วยเป็นโรคธาตุวิปริต และหมอว่าอาการน่าวิตกด้วยหัวใจท่านอ่อน อายุก็กว่า ๘๐ แล้ว แต่กรมสิงห์ยังจะรอฟังอาการต่อไปก่อน

อีกเรื่อง ๑ นั้น เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑ มีนาคม เขามีการประลองบินที่สนามบิน หม่อมฉันได้ทูลแล้วว่าจะไปดู สนามบินอยู่ข้างใต้ห่างเมืองไประยะทางราว ๑๐ ไมล์ แต่กระนั้นก็มีคนไปดูอย่างว่า “ล้นหล้าฟ้ามืด” เครื่องบินมาเล่นปีนี้มากกว่าปีก่อนๆ มีเครื่องบินมาจากเรือรบพวก ๑ มาจากทหารบินกองเมืองสิงคโปร์พวก ๑ จากสโมสรนักบินพลเรือนเมืองสิงคโปร์พวก ๑ เมืองกัวลาลัมเปอร์พวก ๑ เมืองแประพวก ๑ ในปีนังนี้อีกพวก ๑ แต่ถ้าว่าด้วยกระบวนบินต่างๆ ที่เล่นดูมันก็ซ้ำกับอย่างที่เคยเห็นมาแต่ก่อนนั้นเอง เปรียบอย่างดูละครม้าก็ว่าได้ แต่ปีนี้เกิดเหตุด้วยทหารนักบินเมืองสิงคโปร์คน ๑ ขึ้นบินหกคะเมนเทนเท่อวดตามเคย แต่พลาดพลั้งอย่างหนึ่งอย่างใดที่สุดเครื่องบินเลยตกดิน เป็นครั้งแรกที่หม่อมฉันได้เห็นเครื่องบินตก แต่เดชะบุญที่ตกเมื่อลงมาเตี้ยแล้ว และปลายปีกกระทบแผ่นดินก่อน ผู้บินจึงไม่ตาย ถึงกระนั้นก็แขนหักขาหัก คนตกใจกันอลหม่านไปทั้งสนาม แต่ตกห่างจากที่คนดูสักครึ่งไมล์พอแลเห็นลิบๆ ไม่มีเสี่ยงภัยอย่างใดแก่คนดู

เรื่องวินิจฉัยพระนามพระเจ้าแผ่นดิน ครั้งกรุงศรีอยุธยานั้นกลายเป็นยากมาก ยิ่งค้นหาหลักฐานก็ยิ่งพบข้อสงสัย คิดออกก็มี คิดไม่ออกก็มีแต่จะพยายามต่อไป ในคราวนี้จะทูลเป็นเค้าแต่ว่า พระนามพระเจ้าแผ่นดินนั้นมีถึง ๕ ประเภท คือ พระนามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏประเภท ๑ พระนามถวายเพิ่มพระเกียรติประเภท ๑ พระนามที่ขานในเวลาเสด็จเสวยราชย์อยู่ประเภท ๑ พระนามที่บัญญัติให้เรียกเมื่อล่วงรัชกาลแล้วประเภท ๑ พระนามที่เรียกกันตามสะดวกปากของคนทั้งหลายเมื่อล่วงรัชกาลแล้วประเภท ๑

๑. พระนามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏนั้น เอาเหตุเป็นต้นพระนามเช่นพระเจ้าอู่ทองตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อประกาศเป็นอิสระ จึงถวายพระนามว่า “พระรามาธิบดี” เทียบกับพระรามาวตารครองกรุงอโยธยาแต่ปางก่อน เป็นต้น

๒. พระนามถวายเพิ่มพระเกียรตินั้น พระเจ้าแผ่นดินพระพระองค์ใดมีพระเกียรติพิเศษอย่างใดเกิดขึ้นในเวลาเสวยราชย์อยู่ ก็ถวายพระนามเพิ่มขึ้นเฉลิมพระเกียรตินั้น เช่นพระมหาจักรพรรดิได้ช้างเผือกถึง ๗ ช้าง ถวายพระนามว่า “พระเจ้าช้างเผือก” เพิ่มขึ้นเป็นต้น

๓. พระนามที่ขานในเวลาเสด็จเสวยราชย์อยู่นั้น ใช้แต่ว่า“พระเจ้าอยู่หัว” หาออกพระนามตามที่จารึกพระสุพรรณบัฏหรือพระนามเพิ่มพระเกียรติไม่

๔. พระนามที่บัญญัติให้เรียกเมื่อล่วงรัชกาลแล้วนั้น เวลาแรกเสด็จสวรรคตเรียกแต่ว่า “สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศ” หรือแยกออกเป็น ๒ คำ เรียกโดยย่อว่า “สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง” คำ ๑ มิฉะนั้นก็เรียกว่า “ในพระบรมโกศ” หรือ “ในพระโกศ” อีกคำ ๑ ถ้าเรียกพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อนๆ ขึ้นไป เอาพระนามเมื่อก่อนเสวยราชย์มาใช้โดยมาก เช่น พระราเมศวร พระบรมราชา พระนครินทรราชา พระชัยราชา เป็นต้น ล้วนเป็นพระนามเจ้าครองเมืองเพิ่มคำ “ธิราช” ต่อท้ายก็กลายเป็นพระนามพระเจ้าแผ่นดิน หรือมิฉนั้นก็เอาพระนามที่ถวายเพิ่มพระเกียรติ เช่น สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มาใช้หรือมิฉะนั้นก็คิดพระนามใหม่ ดังปรากฏอยู่ในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า พระนามคิดใหม่เช่นว่านี้ สังเกตดูมีตั้งแต่พระเจ้าปราสาททองลงมาจนหมดสมัยกรุงศรีธยุธยา

๕. พระนามที่เรียกกันตามสะดวกปากนั้น มีทั้งเรียกพระเจ้าแผ่นดินเมื่อยังเสวยราชย์ เช่นเรียกว่า “ขุนหลวง” และ “เจ้าชีวิต” และมีต่อไปสำหรับเรียกพระเจ้าแผ่นดินที่ล่วงรัชกาลไปแล้ว เป็นต้น แต่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ยังชอบเรียกกันว่า “พระเจ้าอู่ทอง” หรือ “ท้าวอู่ทอง” มาจนทุกวันนี้ นอกจากนั้นมามีพระนามเรียกตามปากตลาด ตั้งแต่ ขุนหลวงเพทราชา ขุนหลวงเสือ ขุนหลวงท้ายสระ (หรือขุนหลวงทรงปลาก็เรียก) ขุนหลวงบรมโกศ ขุนหลวงพระที่นั่งสุริยามรินทร์ (หรือขุนหลวงขี้เรื้อนก็เรียก) ขุนหลวงหาวัด (หรือขุนหลวงดอกมะเดื่อก็เรียก) จนถึงขุนหลวงพระยาตาก (หรือขุนหลวงตาก) เป็นที่สุด

เขียนมาเพียงนี้พอถึงวันพฤหัสบดีที่ ๑๐ กำหนดจะต้องส่งไปกรุงเทพฯ ต้องหยุดเสียที จะทูลวินิจฉัยพระนามเป็นรายประเภทในคราวหน้าต่อไป

หม่อมฉันถวายคำตอบปัญหาที่ ๘ ของพระยาอินทรมนตรีมาถวายทอดพระเนตรอีกตอน ๑

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ