วิจารณ์หนังสือลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ ๑๙ (ท่อนที่ ๒)

๓. ว่าด้วยกระบวนเสด็จประพาส

ตำราในสมุดเล่มนี้ตั้งต้นด้วยลักษณะการเสด็จประพาสอย่าง “มิได้ประทับแรม” หมายความว่าเสด็จประพาสแล้วกลับพระราชวังในวันนั้นเอง พรรณนาลักษณะกระบวนต่างกันเป็น ๔ อย่างคือ กระบวนเสด็จ “ทางชลมารค” (ไปทางลำน้ำ) อย่าง ๑ เสด็จไปทางบกด้วย “กระบวนราบ” (เดินเท้า) อย่าง ๑ ด้วยกระบวนช้าง อย่าง ๑ ด้วยกระบวนม้า อย่าง ๑ กระบวนแต่ละอย่างที่พรรณนาในตำรานี้เห็นว่าจะเป็นอย่างเต็มตำราเพราะจำนวนผู้คนและพาหนะที่กำหนดมากมาย การแห่เสด็จเต็มตำราอย่างว่านี้นานๆ จะมีสักครั้งหนึ่ง เช่นเสด็จไปพระราชทานพระกฐินเป็นต้น ถ้าเสด็จไปทางใกล้ๆ หรือเป็นการด่วนมีเวลาตระเตรียมน้อย หรือที่สุดจะเสด็จประพาสอย่าง “เที่ยวเล่น” ก็คงลดกระบวนให้น้อยลงตามสะดวกและตามพระราชอัธยาศัย กระบวนแห่เสด็จทางบก ๒ อย่างนั้น สันนิษฐานว่า ถ้าเสด็จไปไหนใกล้ๆ คงใช้กระบวนราบ ถ้าเสด็จไปทางไกลหรือเสด็จไปในเวลามืดค่ำ (เช่นสมเด็จพระนารายณ์เสด็จไปส่งพระเป็นเจ้าที่เทวสถาน ดังกล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดาร) เสด็จกระบวนช้าง ถ้าเป็นการเสด็จไปอย่างปัจจุบันทันด่วนก็ทรงม้า ยังมีตำรากระบวนแห่เสด็จครั้งกรุงศรีอยุธยาทั้งกระบวนทางบกและทางน้ำ เป็นกระบวนใหญ่ยิ่งกว่าตำราที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ปรากฏอยู่อีก เรียกว่า “กระบวนพยุหยาตรา” ตั้งกระบวน “เพชรพวง” ซึ่งมีตำราเขียนเป็นรูปภาพไว้และกระบวนแห่เสด็จเลียบพระนครในงานราชาภิเษก (ตำราเหล่านี้มีอยู่ในหอพระสมุดฯ) กระบวนแห่พยุหยาตราอย่างใหญ่นั้นคนมากตั้ง ๑๐,๐๐๐ จัด “ริ้ว” กระบวนย่อมาจากเสด็จไปจากสงคราม มิใช่สำหรับเสด็จประพาสโดยปกติ

ตำราเสด็จพระพาสที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ ใช้เป็นแบบแผนในกรุงรัตนโกสินทร์ต่อมา เป็นแต่แก้ไขลดหย่อนหรือเปลี่ยนแปลงบ้างตามกาลเทศะ เพราะฉะนั้นในวินิจฉัยรายการที่จะกล่าวต่อไป จะเป็นแต่บอกอธิบายบางอย่างให้อ่านตำราในสมุดเล่มนี้ชัดขึ้น

ลักษณะการเกณฑ์กระบวนแห่

การกะเกณฑ์กระบวนแห่เสด็จ ตามประเพณีแต่โบราณมามีหลักดังนี้ คือพระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จไปไหน ดำรัสสั่งเจ้ากระทรวงวัง หรือถ้าเป็นการด่วนก็ดำรัสสั่งมหาดเล็กหรือใครอื่นที่อยู่รับใช้ใกล้พระองค์เป็น “ผู้รับสั่ง” ไปบอกกระทรวงวัง เจ้าพนักงานกระทรวงวังเขียนบัตรหมาย เรียกว่า “หมายรับสั่ง” ส่งไปยังกระทรวงมหาดไทยหัวหน้าฝ่ายพลเรือนฉบับ ๑ กระทรวงกลาโหมหัวหน้าฝ่ายทหารฉบับ ๑ กระทรวงทั้ง ๒ นั้นแยกรายการตามหน้าที่กรมต่างๆ เขียนบัตรหมายย่อยเรียกว่า “ตัดหมาย” สั่งกะเกณฑ์ไปยังกรมนั้นๆ (หมายรับสั่งเช่นว่ามีตัวอย่างอยู่ในหอสมุดฯ ในพวกหนังสือเขียนกระดาษเพลาหรือสมุดดำที่ได้มาจากกระทรวงมหาดไทย) ในกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหมมีหัวพันกับนายเวรเป็นพนักงานตัดหมาย และออกหมายย่อยกระทรวงละ ๔ เวร กำหนดหน้าที่ต่างกันตามประเภทการ กระทรวงมหาดไทยพันพาณุราชเป็นหัวหน้า นายแกว่นคชสาร นายเวรเป็นพนักงานสั่งเกณฑ์ช้าง พันเภาว์อัศวราชกับนายควรรู้อัศวเป็นพนักงานสั่งเกณฑ์ม้า พันจันทนุมาสกับนายชำนาญกระบวนเป็นพนักงานสั่งสำหรับทำทาง พันพุฒอนุราชกับนายรัดตรวจพลเป็นพนักงานสั่งเกณฑ์คน กระทรวงกลาโหม พันพรหมราชกับนายฤทธิรงอาวุธ เป็นพนักงานสั่งจ่ายเครื่องสรรพยุทธ พันทิพราชกับนายวิสูทธมณเฑียร เป็นพนักงานสั่งทำตำหนักพลับพลาและฉนวนน้ำ พันเทพราชกับนายจำเนียรสารพลเป็นพนักงานสั่งเกณฑ์คน ถึงเวลาจัดกระบวนหัวพัน ๘ คนนั้นมีหน้าที่เป็นผู้ตรวจกระบวนที่เกี่ยวกับหน้าที่แผนกของตนด้วย จึงมีชื่อในตำราที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้

๔. กระบวนแห่เสด็จทางชลมารค

กระบวนแห่เสด็จทางชลมารคใช้ “เรือยาว” อย่างโบราณ ยังใช้ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จนรัชกาลที่ ๗ คนชั้นหลังได้เห็นรูปและลักษณะเรือยาวแบบต่างๆ อย่างโบราณอยู่โดยมาก ไม่ต้องพรรณนาลักษณะเรือให้ยืดยาว เรือยาวสำหรับแห่เสด็จพระเจ้าแผ่นดินเรือหลวงมี ๒ ประเภท ประเภท ๑ เป็นเรือสำหรับกระบวนพยุหยาตราเช่นเรือพระที่นั่ง “กิ่ง” (มีเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เป็นต้น) ตั้งบุษบก (ในกาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศรว่า ตั้งราชคฤหจตุรมุขและกันยาก็มี) เป็นที่ประทับที่กลางลำ และเรือ “เอกชัย” “เรือรูปสัตว์” ซึ่งเป็นกระบวนนำ อีกประเภท ๑ เป็นเรือสำหรับเสด็จทางชลมารคอย่างสามัญมีเรือพระที่นั่ง “ศรี” พระที่นั่ง “กราบ” มีกันยาเป็นที่ประทับ กับเรือดั้งเรือกราบแห่เสด็จ เช่นที่พรรณนาในสมุดเล่มนี้ กระบวนแห่เสด็จทางชลมารคในกรุงรัตนโกสินทร์ ก็คงอย่างแบบเก่าเหมือนกับเช่นว่าในตำรานี้โดยมาก แต่ที่มีผิดกันบางแห่ง จะกล่าววินิจฉัยแต่ข้อที่ผิดกันลำดับตามหน้าสมุดลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ ๑๙ ฉบับหอสมุดฯ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐

หน้า ๒ ที่เรียกเรือพระที่นั่งว่า “ศรีสักหลาด” คำนี้ (ในหนังสือพงศาวดารก็ใช้) หมายความว่าอย่างไร (เรืออย่างนี้เรียกกันในชั้นหลังแต่ว่า “เรือศรี” มีเค้าเงื่อนว่าเป็นแบบเรือขอมแต่โบราณ เรือใช้กันในลำนำเมืองเสียมราฐก็ยังทำรูปหัวเรืออย่างเรือศรีอยู่จนบัดนี้ แม้เรือกิ่งก็เปนแบบเรือขอม ด้วยมีลายจำหลักรูปเรือปรากฏอยู่ที่ปราสาทหินบายน หรือนครวัดแห่งใดแห่งหนึ่ง) เหตุใดจึงมีคำ “สักหลาด” อยู่ข้างท้าย ถ้าหมายความว่าเพราะดาดหลังคากันยาด้วยสักหลาดไซ้ ในกรุงศรีอยุธยาก็น่ามี “เรือศรี” อีกชนิดหนึ่งซึ่งหลังคากันยาเป็นแต่กระแซงไม่ใช้สักหลาดดาด ครั้นมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ให้ดาดหลังคากันยาเรือศรีด้วยสักหลาดทุกลำ จึงงดคำสักหลาดคงเรียกแต่ว่าเรือศรี

หน้า ๓ (แต่บันทัดที่ ๑ จนบันทัดที่ ๗) ว่าด้วยข้าราชการที่มีตำแหน่งลงเรือพระที่นั่ง ความที่เขียนในตำรานี้ ว่าหัวหมื่นหรือนายเวรมหาดเล็กคน ๑ กับกำนันพระแสงปืนต้นคน ๑ “ลงหน้าเรือพระที่นั่ง” เทียบกับประเพณีชั้นหลัง (เมื่อฉันเป็นราชองครักษ์ในรัชกาลที่ ๕ เคยลงเรือพระที่นั่งตามเสด็จไปกฐินหลายปี) ราชองครักษ์กับจางวางหัวหมื่นมหาดเล็ก ๔ คนลงเรือพระที่นั่งเฝ้าอยู่ในกันยา กำนันพระแสงปืนต้นอยู่นอกม่านข้างหน้ากันยา แต่ข้างนอกกันยาท้ายเรือพระที่นั่งฉันไม่ได้เอาใจใส่พิจารณา แต่คาดจำนวนว่าราว ๔ คน มีอาลักษณ์ด้วยคน ๑ ที่กล่าวในตำราว่ามีแต่มหาดเล็กคน ๑ กับภูษามาลาคน ๑ และ ๒ คนนั้นต้องพายเรือด้วย ชวนให้เข้าใจว่าเรือพระที่นั่งศรีสักหลาดครั้งกรุงศรีอยุธยา ขนาดจะย่อมมาก

หน้า ๓ (แต่บันทัดที่ ๘ จนบันทัดที่ ๑๐) กล่าวถึงเรือพระที่นั่งเรียกว่า “ทองแขวนน้ำ” ๒ ลำเป็นเรือ “บ้านใหม่ขึ้นหลวงสุเรนทรนุชิต” ลำ ๑ เป็นเรือ (บ้าน) “โพธิเรียงขึ้นหลวงอภัยเสนา” ลำ ๑ ก็ในกระบวนเสด็จมีเรือพระที่นั่งศรีสักหลาดเป็นลำทรงลำ ๑ และเป็นพระที่นั่งรองลำ ๑ แล้วเหตุใดจึงมีเรือพระที่นั่งที่เรียกว่าทองแขวนฟ้านำอีก ๒ ลำ อธิบายข้อนี้มีเค้าเงื่อนอยู่ในกระบวนแห่เสด็จทางน้ำในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ มีเรือนำหน้าเรือพระที่นั่งลำทรง ๒ ลำ แต่เรียกว่าเรือ “ดั้งคู่ชัก” (ความหมายว่าสำหรับจูงเรือพระที่นั่ง) มีชื่อเฉพาะลำว่า “เรือทองขวานฟ้า” ลำ ๑ พลพายใช้คนชาวบ้านใหม่ และขึ้นอยู่ในหลวงสุเรนทรนุชิต อีกลำ ๑ ชื่อว่า “เรือทองบ้าบิ่น” ชาวบ้านโพธิเรียงเป็นพลพายขึ้นอยู่ในหลวงอภัยเสนา ตรงกับในตำราครั้งกรุงศรีอยุธยาทุกอย่าง ผิดกันแต่ในตำรานี้ว่าเป็น “เรือพระที่นั่ง” ตามแบบชั้นหลังว่าเป็น “เรือดั้งคู่ชัก” รูปเรือก็เป็นอย่างเรือศรีเหมือนเรือดั้งทั้งปวง ผิดกันแต่เรือคู่ชักหัวท้ายปิดทองห้อยพู่สีแดงแลสักหลาดดาดหลังคา กันยาปักลายทองเต็มทั้งผืน แต่เรือดั้งสามัญหัวท้ายไม่ปิดทองห้อยพู่สีขาว กับสักหลาดดาดหลังคากันยาปักทองแต่เป็นขอบ ฉันเคยได้ยินคนชั้นเก่าเขาเล่าให้ฟัง ว่าเรือดั้งคู่ชักนั้นมีสิทธิผิดกับเรืออื่นที่แห่เสด็จ เพราะเรือพระที่นั่ง พลพายย่อมคัดเลือกแต่ที่มีกำลังพายเรือแล่นเร็ว และพายทนกว่าคนพายเรืออื่น เรือดั้งคู่ชักต้องพายนำให้เร็วทันหนีเรือพระที่นั่ง ถ้าหากจะหนีไม่พ้น พอหัวเรือพระที่นั่งเกี่ยวแนวท้ายเรือคู่ชักเข้าไป เรียกกันว่า “เข้าดั้ง” เรือคู่ชักก็ใช้อุบายแกล้งคัดเรือให้ใกล้กันจนช่องน้ำแคบ เรือพระที่นั่งไม่สามารถจะพายแทรกกลางแข่งขึ้นไปได้ ฉันได้เคยเห็นเองครั้งหนึ่งเมื่อเป็นราชองครักษ์ตามเสด็จไปทอดกฐินวัดเฉลิมพระเกียรติ วันนั้นทรงเรือพระที่นั่งกราบแล่นเร็วกว่าเรือศรีเพราะระยะไกล ขากลับพวกพลพายอยากรีบกลับด้วยกันทั้งนั้น เรือพระที่นั่งพายไล่เรือคู่ชักทัน ถูกเรือคู่ชักปิดช่องต้องรอเรือพระที่นั่ง ดูเป็นการสนุกสนานคล้ายกับเรือดั้งคู่ชักชนะกิฬา แม้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงพระสรวล สิทธิของเรือดั้งคู่ชักเช่นว่ามานี้เห็นจะเป็นประเพณีมาเก่าแก่ เหตุที่เลือกเฉพาะชาวบ้านใหม่และโพธิเรียง เป็นฝีพายเรือคู่ชักนั้นก็น่าจะเป็นด้วยพวกชาวบ้านทั้ง ๒ นั้นชำนาญการพายเรือ จึงเป็นพลพายเรือดั้งคู่ชัก คงเลือกสรรกันมาทุกคราว แต่ข้อที่ในตำราเรียกว่า “เรือพระที่นั่ง” และเรียกชื่อว่า “เรือทองแขวนฟ้า” เหมือนกันทั้ง ๒ ลำนั้น คิดไม่เห็นว่าจะเป็นเพราะเหตุใด จะว่า “คนเก่า” ที่บอกตำราเข้าใจผิดก็ไม่มีหลักที่จะอ้างคัดค้าน ได้แต่ลองเดาเรื่องเรือพระที่นั่งทองแขวนฟ้า ๒ ลำตามเค้าที่มีในเรื่องพงศาวดาร ว่าครั้งหนึ่ง สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเรือเร็วไล่ตามเรือสำเภาพระยาจีนจันตุที่จะหนีไปเมืองเขมร เสด็จไปทันที่ปากน้ำเจ้าพระยาทรงยิงพระแสงปืนต่อสู้กับพวกพระยาจีนจันตุ จนเรือสำเภาได้ลมแล่นใบออกทะเล เรือพระที่นั่งจะตามออกไปไม่ได้จึงเสด็จกลับ อีกครั้งหนึ่งเมื่อต่อสู้กองทัพเชียงใหม่ที่ตำบลป่าโมกข์น้อย สมเด็จพระนเรศวรฯ กับสมเด็จพระเอกาทศรถทรงเรือพระองค์ละลำ ยิงพระแสงปืนรบข้าศึกซึ่งอยู่บนบก สมเด็จพระเอกาทศรถเห็นลูกปืนข้าศึกยิงเรือสมเด็จพระเชษฐาหนามาก จึงเอาเรือลำที่ทรงเองเข้าบังเรือสมเด็จพระนเรศวร ความในเรื่องพงศาวดารตอนที่ว่านี้ส่อให้เห็นว่าน่าจะมีเรือเร็วเป็นเรือพระที่นั่งสำหรับเวลาทรงเสด็จเข้ารบพุ่งเอง และมี ๒ ลำ ในเวลาออกปล้นค่ายข้าศึก เมื่อเจ้าหงสาวดีมาล้อมกรุงก็เห็นจะทรงเรือเร็วอย่างนี้ อาจจะให้เรียก “เรือแขวนฟ้า” (หมายความว่าเร็วเหมือนบินในอากาศ) ครั้นเสร็จสมัยมหาสงครามแล้ว จึงให้ปิดทองตบแต่งให้งดงาม เอาเข้านำหน้าเรือพระที่นั่งลำทรงในกระบวนแห่เสด็จทางชลมารค จึงเรียกเรือพระที่นั่งทองแขวนฟ้าทั้งคู่ แล้วเลยใช้เป็นแบบต่อมาในรัชกาลอื่นเมื่อภายหลัง แต่จะเปลี่ยนเป็นเรือดั้งคู่ชักมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา หรือมาเปลี่ยนต่อภายหลังรู้ไม่ได้ ที่ว่ามานี้โดยเดาทั้งนั้น อาจจะผิดก็เป็นได้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ