วันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๓๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๒๖ มีนาคมแล้ว ประมาณว่าจดหมายของหม่อมฉันฉบับนี้ท่านคงจะรับวันที่ ๒ หรือที่ ๓ เมษายน จึงเริ่มต้นด้วยขอถวายพรปีใหม่แก่พระองค์ท่านกับทั้งคุณโตและหลานๆ ทุกคน ให้ทรงเป็นสุขสำราญปราศจากภัยพิบัติอุปัทวันตรายทั้งปวงจงตลอด พ.ศ. ๒๔๘๑ เทอญ

เรื่องที่ทูลกระหม่อมชายจะฉลองพระชันษานั้น ท่านเคยมีลายพระหัตถ์ตรัสบอกหม่อมฉันว่าที่บันดงจะทำแต่งานฉลองวันประสูติตามเคย แต่งานฉลองพระชันษาเสมอสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงนั้น “จะให้เขาทำบุญในกรุงเทพฯ” หม่อมฉันคิดว่าเขาคงมาเชิญเสด็จพระองค์ท่านไปนั่งงาน เสร็จงานแล้วจึงเสด็จไปบันดงในเดือนสิงหาคม ส่วนหม่อมฉันจะไปบันดงให้ทันวันเฉลิมพระชันษาที่ ๒๙ มิถุนายน ยังไม่ได้กำหนดวันเป็นแน่แต่คงไป ไปเรือเกดะจากปีนังวันจันทร์ ถึงสิงคโปร์วันอังคาร วันพุธกับวันพฤหัสบดีต้องพักคอยเรืออยู่ที่เมืองสิงคโปร์ จึงคิดจะไปลองหาเครื่องแก้หูตึงใน ๒ วันนั้น วันศุกร์ไปชวาตามกำหนดเรือ เรื่องเครื่องแก้หูตึงนั้น ตั้งแต่หม่อมฉันมาอยู่ปีนังเวลามีแขกมาหา ที่เป็นคนไม่เคยคุ้นกันก็ดีหรือที่เคยคุ้นกันแต่มิได้พบปะมาช้านานก็ดี หม่อมฉันต้องบอกเขาในคำปฏิสันฐานว่าเดี๋ยวนี้หูหม่อมฉันตึง ขอให้พูดให้ดังกว่าปกติและขออย่าให้ถือเมื่อต้องไต่ถามเขาในเวลาหม่อมฉันไม่ได้ยินถนัด กรณีอันนี้เป็นเหตุให้พวกมิตรสหายหลายคน เขาช่วยสืบหาเครื่องฟังและแคตตาล้อกของเหล่านั้นมาให้เนืองๆ มีเกือบเป็นพะเนินเทินทึก แต่ไม่เป็นประโยชน์เพราะของเหล่านั้นเขาทำขายตามประเทศต่างๆ ในแคตล้อกกล่าวว่าต้องไปให้เขาปรับเครื่องกับหูก็เป็นอันเหลือกำลังที่จะพยายามไปเที่ยวหาได้ แต่ครั้งหนึ่งแหม่มโชดส์อเมริกันออกมาจากกรุงเทพฯ เมื่อพูดกันถึงเรื่องหูตึงแกบอกว่ามีเครื่องฟังอเมริกันคิดขึ้นใหม่อย่างหนึ่งดีนัก แกได้เห็นมิสเตอร์เมกแกนผู้จัดการโรงพยาบาลโรคเรื้อนที่เชียงใหม่ ซึ่งเป็นคนหูหนวกมาแต่ก่อน ไปได้มาจากอเมริกา เดี๋ยวนี้อาจฟังได้ยินเหมือนกับคนหูปกติ แล้วแกยังเอื้อเฟื้อ ไปเขียนจดหมายบอกมิสเตอร์แมกเกน ๆ เป็นคนเคยรู้จักหม่อมฉันมาแต่ก่อนก็เอาเป็นธุระช่วยขวนขวายต่อไป อยู่มาในกาลวันหนึ่งหม่อมฉันได้รับจดหมายของห้างทำเครื่องฟังอย่างนั้นเรียกว่า Sonotone ส่งมาจากอเมริกาด้วยกันกับแคตล้อก บอกในจดหมายว่า เขาได้ตั้งสาขาจำหน่ายเครื่องโสโนโตนที่เมืองสิงคโปร์อยู่ใกล้กับปีนัง ผู้จัดการสาขานั้นก็ได้รับคำสั่งให้มาติดต่อกับหม่อมฉัน เขาบอกมาในการที่จะใช้เครื่องโสโนโตนนั้นจำต้องปรับให้เข้าหู จะขนเครื่องมือสำหรับการนั้นมาปีนังก็ลำบากและสิ้นเปลืองมากนัก ขอให้หม่อมฉันไปที่สิงคโปร์จะดีกว่า ฝ่ายหม่อมฉันยังไม่มีกิจที่จะไปจึงรอมา แต่สังเกตดูหูมันตึงหนักลง จึงคิดว่าเมื่อไปชวาในเดือนมิถุนายน จะต้องพักที่เมืองสิงคโปร์รอกำหนดเรืออยู่ ๒ วัน จะเลยไปดูเครื่องโสโนโตนด้วย หม่อมฉันลองอ่านแคตตาล้อกศึกษาเรื่องเครื่องฟังได้ความรู้ว่า เครื่องฟังมี ๔ ประเภท

ประเภทที่ ๑ ทำเป็นก้อนด้วยปูนหรืออะไรไม่รู้สำหรับจุกในรูหู เครื่องอย่างนี้ผู้ที่เคยรู้เห็นเขาบอกว่าไม่ได้ยินมากขึ้นเท่าใดนัก และรำคาญหูด้วย บางทีเครื่องนั้นถ้าไม่ระวังเวลาใส่ก็อาจกัดหูถึงเลือดออก

ประเภทที่ ๒ ทำเป็นแตรรับเสียงส่งเสียงเข้าหู อย่างเช่นพระองค์จรูญใช้ และหม่อมฉันก็ใช้อยู่บัดนี้

ประเภทที่ ๓ โทรศัพท์สำหรับหู คือมีแบตตารีไฟฟ้าล่ามลวดต่อกับเครื่องขยายเสียง และมีลวดล่ามต่อไปถึงแว่นที่ถือจ่อไว้กับหู

ประเภทที่ ๔ คือเครื่องโสโนโตนนี้ เกิดด้วยมีนักปราชญ์คนหนึ่งชื่อ ลีเบอ พิจารณาได้ความจริงว่าการฟังเสียงอาจจะฟังทางกระโหลกศีรษะได้ไม่ต้องอาศัยหู เขาบอกอธิบายว่าหูคนนั้นมีเป็น ๓ ชั้น ใบหูและรูหูเป็นหูชั้นนอกสำหรับแต่จะรับเสียงส่งเข้าไปถึงกระดูกชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นหูชั้นกลาง หูชั้นกลางส่งเสียงเข้าไปถึงกระดูกอีกชิ้นหนึ่งซึ่งเป็นหูชั้นในสำหรับส่งเสียงเข้าแก้วหู ซึ่งเส้นประสาทมารวมรับเสียง คนหูตึงนั้นมักเป็นด้วยกระดูกหูชั้นกลางชำรุดไม่สามารถรับเสียงได้เต็มที่ นานเข้าชำรุดมากขึ้นก็รับเสียงได้เบาลงทุกที เพราะฉะนั้นจึงทำให้คนหูตึงหนักลงโดยลำดับ เครื่องโสโนโตนนี้เขาทำแท่งกลสำหรับส่งเสียงทางกระโหลกศีรษะ เอาแท่งนั้นทาบที่ตรงไหนเช่นที่บ้องหูเป็นต้น ก็ส่งเสียงข้ามกระดูกชั้นนอกที่ชำรุดเข้าไปต่อกับกระดูกชั้นในทีเดียว ส่วนกำลังที่ส่งเสียงนั้นก็ใช้ไฟฟ้าทำนองเดียวกันกับโทรศัพท์หู หม่อมฉันส่งอธิบายเครื่องโสโนโตนอย่างมีรูปภาพมาถวาย พร้อมกับจดหมายฉบับนี้ฉบับ ๑ (ทรงแล้วไม่ต้องส่งคืน) เมื่อหม่อมฉันได้ทดลองเห็นดีชั่วอย่างไรจะถวายรายงานต่อไปว่า เพียงในเวลานี้ หม่อมฉันได้ยินจากผู้ที่เขาเคยเห็นคนใช้เครื่องโสโนโตนหลายคน รวมทั้งชายดำและหมอ Heit ที่เคยตรวจหูหม่อมฉันเมื่อไปชวาครั้งก่อน ชมกันว่าดีทั้งนั้น

เรื่องเจ้าคุณผู้หญิงที่ทูลไปแล้วยังขาดสาขาคดีอยู่หน่อย เมื่อเรายังเป็นเด็กเคยรู้จักคุณปลัดศิลา เรียกกันว่าคุณปลัดใหญ่ กับคุณปลัดเสงี่ยมเรียกกันว่าคุณปลัดน้อย สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเคยประทานอธิบายว่าทูลกระหม่อมทรงตั้งทั้ง ๒ คน คุณศิลาเป็นปลัดเจ้าคุณตำหนักใหม่ และเจ้าคุณจอมเสงี่ยมเป็นปลัดเจ้าคุณตำหนักเดิม เคยโจทกันเมื่อทรงตั้งเจ้าคุณจอมมารดาสำลีและเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยมว่าจะมีปลัดหรือไม่ เห็นกันว่าปลัดดูเป็นฐานานุกรมพระราชาคณะจึงไม่ทรงตั้ง หม่อมฉันจำได้อย่างนี้

ชื่อกรมอาทมาฏนั้น หม่อมฉันก็เคยได้เห็นเขียนว่า กรมอาจสามารถ คิดออกจะเห็นตามพระดำริว่าชื่ออาทมาฏเป็นภาษามอญ ไทยเอามาเรียกเพี้ยนเป็นอาจสามารถ ขอให้ลองสืบพวกมอญดู การที่เรียกเพี้ยนภาษาเช่นนี้มีที่จะยกมาเปรียบได้ เช่นเรียก “เซอเจมสบรุ๊ก” ว่า “เยสัปรุส” แล้วเล่าอธิบายใส่ความกันต่อไปว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสว่า ทูตคนนี้เห็นจะไม่ร้ายกาจด้วยเป็นสัปปุรุษ ดังนี้

หม่อมฉันมีเรื่องออกจะพิศวง ด้วยพอเขียนตอบคำถามโบราณคดีของพระยาอินทรมนตรีส่งไปเสร็จแล้ว ในสัปดาห์นั้นเอง ก็ได้รับคำถามโบราณคดีมาแต่ที่อื่นอีก ๒ ราย ราย ๑ บาดหลวงไทยชื่อประชุม ซึ่งบวชในนิกายซาเลเซียน และออกไปเรียนอยู่ที่เมืองตุริโนในประเทศอิตาลีถามความจริงในเรื่องที่หนังสือพิมพ์ลงว่าพระเจ้าแผ่นดินสยามขับไล่ฝรั่งฮอลันดา เพราะทูลว่าในยุโรปน้ำแข็งในฤดูหนาว อีกราย ๑ นายสนิทสุมิตรถามมาจากหัวหินถึงตำนานภูเขาลาดที่อยู่กลางตะกาดแหลมตะเกียบ คิดดูก็เห็นขัน ดูราวกับจะชวนให้เป็นนาย ก.ศ.ร. กุหลาบ แต่ก็นิ่งเสียก็นึกว่าเขาถามมาโดยไมตรีจิตไม่ตอบก็เสียอัชฌาสัย หม่อมฉันจึงตอบไปทั้ง ๒ ราย ได้ส่งต้นจดหมายถามกับสำเนาคำตอบมาถวายอ่านเล่นด้วยในคราวนี้

หม่อมฉันได้เห็นหนังสือบางกอกไตม์ ลงข่าวกรณีอันหนึ่งหลายสัปดาห์มาแล้ว หม่อมฉันฉงนนึกว่าจะทูลถามก็เผอิญลืมไปเสีย เพิ่งกลับนึกได้เมื่อเขียนจดหมายฉบับนี้ ข่าวนั้นว่ามีโจรลักพระพุทธรูปองค์หนึ่งซึ่งราคาประมาณ ๓,๐๐๐ บาทไปจากวัดสระเกศ ตำรวจไปพบพระพุทธรูปองค์นั้นที่บ้านพระประสารฯ (สร้อยชื่อว่ากระไรหม่อมฉันจำไม่ได้) เกิดสงสัยว่าที่วัดสระเกศนั้นมีพระพุทธรูปอะไรประมาณราคาถึง ๓,๐๐๐ บาท และขนาดย่อมพอที่โจรลอบลักเอาไปได้ ท่านทรงทราบความจริงเป็นอย่างไรหรือไม่

ทีนี้จะทูลเรื่องพระนามพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงศรีอยุธยา วินิจฉัยเฉพาะว่าด้วยสร้อยพระนามต่อไป พระนามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏนั้น เชื่อได้ว่าคงมีสร้อยเฉลิมพระเกียรติทุกพระองค์ ผิดกันแต่สั้นกับยาว ชั้นแรกใช้สร้อยพระนามสั้นๆ แล้วค่อยขยายยาวยิ่งขึ้นเป็นลำดับมา หม่อมฉันลองค้นคัดเฉพาะพระนามสมเด็จพระรามาธิบดี (อู่ทอง) ที่ ๑ ที่พบในหนังสือต่างๆ ๑๐ แห่ง มีสร้อยดังนี้

๑) ในร่ายโองการแช่งน้ำพระพิพัฒนสัจจามี ๒ แห่ง ว่า

ก) “(ชื่อใครใจคดขบถแก่เจ้า ผู้ผ่านเกล้าอยุธยา)

สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาจักรพรรดิศรราชาธิราช” (อยู่ที่ตอนกลาง)

ข) “สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิศรราช (เรื่อยหล้า)” (ที่ลงท้าย)

๒) ในกฎหมายลักษณะลักพา ใช้พุทธศักราช ๑๘๙๙ ว่า “สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีบรมจักรพรรดิราชาธิราช”

๓) ในกฎหมายลักษณะพยาน ลงพุทธศักราช ๑๘๙๔ ว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้ารามาธิบดี ศรีสุนทรบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว”

๔) ในกฎหมายลักษณะโจร ลงพุทธศักราช ๑๙๐๐ ว่า “สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว”

๕) ในกฎหมายอาญาราษฎร์ ลงพุทธศักราช ๑๙๐๓ ว่า “พระบาทสมเด็จบรมบพิตร พระเจ้ารามาธิบดี ศรีสุนทรบรมจักรพรรดิราชาธิราช”

๖) ในกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ ลงพุทธศักราช ๑๙๐๓ ว่า “พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี ศรีบรมจักรพรรดิราชาธิราช บรมนาถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว”

๗) ในกฎหมาย (เพิ่ม) ลักษณะโจร ลงพุทธศักราช ๑๙๐๓ ว่า “สมเด็จพระเจ้ารามาธิบดี ศรีสฤษดิรักษ จักรพรรดิราชาธิราช ตรีภูวนาธิเบศร บรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว”

๘) ในกฎหมาย (เพิ่ม) ลักษณะโจร ลงพุทธศักราช ๑๙๐๔ ว่า “สมเด็จพระเจ้ารามาธิบดี ศรีบรมจักรพรรดิราชาธิราช บรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว”

๙) ในกฎหมายลักษณะรับฟ้อง ลงพุทธศักราช ๑๘๙๙ ว่า “สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสุนทรจักรพรรดิราชาธิราช ราเมศวรธรรมิกราชเดโชชัย เทพตรีภูวนาธิเบศร บรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว”

๑๐) ในกฎหมายลักษณะอาญาหลวง ลงพุทธศักราช ๑๘๙๕ ว่า “สมเด็จพระรามาธิบดินทรบรมจักรพรรดิศร บวรธรรมมิกมหาราชาธิราช ชาติหริหรินอินทรเดโชชัย มหัยสุริยสวรรยา เทพาดิเทพภูวนาถ บรมนาถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว”

พิจารณาคำที่ใช้ในพระนามตามที่คัดมานี้ ดูมีคำที่ใช้เป็นหลักพระนาม ๒ คำ คือ “รามาธิบดี” คำ ๑ “จักรพรรดิ” คำ ๑ คำนอกจากนั้นเป็นแต่ประกอบเป็นสร้อยทั้งนั้น แม้คำ “ราชาธิราช” ก็เป็นแต่สำหรับลงท้ายพระนาม พิจารณาต่อไปเห็นว่า พระนามกับสร้อยที่ใช้ในโองการแช่งน้ำ น่าจะใกล้กับที่จารึกพระสุพรรณบัฏจริง เพราะสร้อยพระนามที่ใช้ในกฎหมายลักษณะต่างๆที่คัดมา ก็มีคำ “รามาธิบดี” กับคำ “จักรพรรดิ” แทบทั้งนั้น ผิดกันแต่คำอื่นๆ ที่เอามาเรียงเป็นสร้อยให้ไพเราะ เหตุใดในกฎหมายจึงใช้คำสร้อยพระนามแปลกๆ กัน หม่อมฉันคิดเห็นว่าเกิดแต่วิธีตั้งกฎหมายครั้งกรุงศรีอยุธยา ดังจะทูลวินิจฉัยถวายต่อไปในจดหมายสัปดาห์หน้า เขียนจดหมายมาได้เพียงนี้ ถึงวันพฤหัสบดีที่ ๓๑ มีนาคม กำหนดที่จะต้องส่งไปรษณีย์จึงต้องหยุดไว้ที

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ