วันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๔๘๐

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๘ พฤษภาคมแล้ว พออ่านถึงที่ตรัสว่ากรมหมื่นวรวัฒน์เคยทูล ว่าเจ้าฟ้าอิศราพงศ์อำนวยการเขียนแผนผังพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส หม่อมฉันก็ตกใจ ด้วยความที่ทูลสันนิษฐานไปว่า ทูลกระหม่อมทรงพระราชดำริจะเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปตั้งเป็นประธานที่วัดบวรสถานฯ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตแล้วนั้น ผิดถนัดถึงนอนหงายทีเดียว เพราะเจ้าฟ้าอิศราพงศ์สิ้นพระชนม์ในปีระกา พ.ศ. ๒๔๐๔ ก่อนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ สวรรคตถึง ๔ ปี จึงขอสันนิษฐานใหม่ ว่าทูลกระหม่อมได้ทรงพระราชดำริด้วยกันกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงกระนั้นก็น่าเชื่อว่าเป็นพระราชดำริของทูลกระหม่อม พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ เป็นแต่ทรงบัญชาตามด้วยความที่กล่าวกันมาเป็นยุติว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ พระอัธยาศัยไม่ทรงขวนขวายในเรื่องยศศักดิ์ โปรดแต่หัดทหารกับการกีฬา และถ่อมพระองค์เป็นนิจ แต่ทูลกระหม่อมมีพระราชประสงค์ที่จะยกย่องพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ให้เป็นอย่างพระเจ้าแผ่นดินผิดกับกรมพระราชวังบวรฯ แต่ก่อนๆ โปรดให้สถาปนาการต่างๆ ทางวังหน้าด้วยพระราชประสงค์เช่นนั้นมากมายหลายอย่าง เช่นให้สร้างปราสาทและพระราชทานเครื่องราชูปโภคต่างๆ เทียบเทียมวังหลวง ตลอดจนทรงแก้ทำเนียบข้าราชการวังหน้าเพิ่มเติมตำแหน่งขุนนางขึ้น ให้คล้ายกับข้าราชการวังหลวงเป็นต้น พิเคราะห์การที่ทรงพระราชดำริจะเอาวัดบวรสถานฯ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ก็มีเค้าเข้าทางที่จะยกเกียรติวังหน้าให้เทียบเทียมวังหลวง เพราะ (๑) พระแก้วมรกตกับพระพุทธสิหิงค์เคยเป็นพระพุทธรูปศรีเมืองทั้ง ๒ พระองค์ (๒) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้พระแก้วมรกตมาฉันใด กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทก็ได้พระพุทธสิหิงค์มาเช่นเดียวกัน (๓) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้นในพระราชวังเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต แต่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงสร้างพระที่นั่งพุทไธสวรรย์เป็นมณเทียรที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ไว้ในวัง ยังผิดกับวังหลวง (๔) เมื่อพระพุทธสิหิงค์ลงมาอยู่ในวังหลวง ทางวังหน้ารื้อบุษบกยอดปรางค์ที่เคยตั้งพระพุทธสิหิงค์เสีย เมื่อเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับขึ้นไปวังหน้าต้องประดิษฐานไว้บนพระแท่นดาดเพดาน (ซึ่งกรมพระราชวัง ฯ ครั้งรัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างหรือสร้างใหม่ไม่ทราบแน่) คล้ายกับไปอาศัยอยู่แทนของเดิม กรณีนั้นประจวบกับมีวัดบวรสถานฯ สร้างไว้ในวังหน้าเหมือนอย่างวัดพระศรีรัตนศาสดารามในวังหลวง และวัดนั้นยังไม่มีพระประธานเพราะการสร้างค้างอยู่ เพราะเหตุที่กล่าวมา ทูลกระหม่อมจึงทรงพระราชดำริบูรณะปฏิวังขรณ์วัดบวรสถานฯ ให้เป็นอย่างวัดพระศรีรัตนศาสดารามในวังหน้าและเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปเป็นพระประธานเหมือนอย่างพระแก้วมรกต ส่วนพระที่นั่งพุทไธสวรรย์นั้นเห็นจะทรงพระราชดำริให้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วผลึก ที่พระราชทานไปให้เทียบกับพระพุทธรัตนสถานในวังหลวง สันนิษฐานที่ทูลใหม่นี้เห็นว่าเรื่องติดต่อเข้ากันได้หมด เห็นจะไม่ผิดห่างไกล รูปภาพเขียนในโบสถ์วัดบวรสถานนั้น หม่อมฉันก็ชอบห้องชนช้าง ยังจำได้ว่าช้างทรงของพระเจ้าเชียงใหม่เขียนเป็นสีช้างเผือก แต่แต้มดำให้เป็นช้างกระ แต่เพิ่งทราบว่าเป็นฝีมืออาจารย์แดงวัดหงส์

เรื่องเครื่องคชาธารปักฉัตรนั้น มิใช่สำหรับขี่ชนช้างเป็นแน่ แต่พิเคราะห์ดูน่าจะมีสำหรับใช้ทางอื่น เพราะเศวตฉัตรกับคนโบกแพนมีเป็นสำคัญก็ “ฉัตร” (คือร่มสีต่าง ๆ) เป็นเครื่องหมายของตัวนายทัพและ “แพน” เป็นเครื่องสำหรับส่งคำสั่งนายทัพไปได้สุดสายตา ของ ๒ อย่างนี้มีประโยชน์ประกอบกัน ถ้าอยู่สูงให้คนเห็นไปได้ไกลก็ยิ่งมีประโยชน์ เปรียบเหมือนเวลากองทัพ ๒ ฝ่ายตั้งประชันกันในท้องทุ่ง ถ้าแม่ทัพผู้อำนวยการรบขี่ช้างอยู่ข้างหลังและมีคนโบกแพนอยู่ด้วย ก็อาจจะแลเห็นและอาจจะสั่งกระบวนรบได้สะดวก และจำต้องมีฉัตรสำหรับตัวอยู่ด้วย พวกนายทัพนายกองจึงจะรู้ว่าจะคอยดูสัญญาที่ตรงไหน ดูเป็นประโยชน์อย่างว่ามานี้ หม่อมฉันจึงเห็นว่าจะเป็นของมีจริง แม่ทัพสามัญอาจจะใช้สัปคับช้างเขนก็ได้ หรือช้างใดๆ ที่มีสัปคับก็ได้ และคงมีพระคชาธารสำหรับพระเจ้าแผ่นดินทรงเวลาบัญชาการรบเช่นว่า ที่มาทำให้เป็นรูปร่างอย่างมีอยู่บัดนี้ น่าจะเป็นของคิดทำเพื่อประดับพระเกียรติยศ

หม่อมฉันกลับจากบนเขาลงมาอยู่ซินนามอนฮอลอย่างเดิม เมื่อวันอังคารที่ ๑๑ อันเป็นวันฉลองราชาภิเษกของพระเจ้ายอร์ชที่ ๖ งานคราวนี้ทำให้ใหญ่โตกว่างานฉลองราชสมบัติพระเจ้ายอร์ชที่ ๕ เมื่อปีก่อน แต่หม่อมฉันจะรอไว้จนเสร็จงาน จึงจะรวมเรื่องเล่าถวายในจดหมายฉบับอื่นต่อไปข้างหน้า

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ