วันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๔๘๐

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ตามหนังสือซึ่งถวายมา ลงวันที่ ๖ ว่ายังไม่ได้รับลายพระหัตถ์เวรนั้น ต่อเมื่อรถเมล์ออกมาแล้วชั่วโมงหนึ่ง จึ่งได้รับลายพระหัตถ์ช้าไปวันหนึ่ง ตรวจดูตราไปรษณีย์ก็ปรากฏวันส่งวันรับไม่คลาดเคลื่อน ตรวจดูซองก็ไม่มีบุบสลาย จะช้าไปด้วยเหตุใดก็ไม่ทราบ จะกราบทูลตอบลายพระหัตถ์นั้นลางข้อต่อไปนี้

เรื่องเฉลิมพระชันษา ตามที่กงสุลสยาม ณ ปีนังประกาศรับก๊าดถวายพระพรนั้น เป็นการทำถูกที่ควรทำอย่างยิ่ง

พระเดชพระคุณเป็นล้นเกล้า ที่ทรงพระเมตตาโปรดชี้แจงถึงพระเจดีย์พุทธคยาให้ได้ทราบแจ่มแจ้ง พระสาธุศีลสังวรบอกนั้นเห็นจะบอกตามที่เขาบอกท่านมาอีกต่อหนึ่ง ท่านจะไม่ได้ตรวจหนังสือซึ่งกล่าวถึงพระเจดีย์องค์นั้น อยากจะหาความว่าไม่มีจะตรวจ ชื่อสมุดที่ท่านเอามาให้ก็ตรงกันกับที่ตรัสบอกไปว่าได้ทรงรับที่ปีนัง

จะกราบทูลให้ทราบฝ่าพระบาทอย่างหนึ่งว่า คำ “อาสน” นั้นหนังสือทางสํสกฤตไม่ใช่หมายเป็นแต่ที่นั่งอย่างเดียว แม้ท่านั่งก็เรียกว่า “อาสน” เหมือนกัน เพราะฉะนั้นคำว่า “วชิรอาสน” จะเป็นนั่งขัดสมาธิเพชรทีเดียวก็ไม่ขัดเลย

ข้อที่ตรัสบอกว่าพระเจดีย์พุทธคยาก่อด้วยหินถือปูนนั้น ทำให้ข้อเคยสงสัยกระจ่างแจ้งขึ้นอีก ข้อสงสัยนั้นเกิดขึ้นแต่ไปเห็นปราสาทหลังหนึ่งซึ่งอยู่หน้าปราสาทพิมาย ทำไว้ด้วยหินต่างกัน เสาเป็นหินชนิดหนึ่ง ตามที่เห็นเช่นนั้นก็ลงใจเสียว่าเขาแกล้งทำให้เห็นแปลกกัน เพื่อให้ดูงามแปลกตา แต่ครั้นได้ไปถึงปราสาทพนมรุ้ง ได้เห็นพระระเบียงแถวหนึ่ง ก่อด้วยศิลาทรายเขียวครึ่งท่อน ก่อด้วยศิลาทรายแดง รู้ได้ว่าไม่ใช่ทำเพื่อให้ดูงาม เป็นการทำด้วยหาหินอย่างเดียวกันไม่ได้พอ แล้วจะทิ้งไว้เช่นนั้นหรือ ไม่ได้ น่าเกลียดเต็มทน เมื่อทำเสร็จแล้วจะต้องทาสีทับ ทั้งได้ไปดูโบราณสถานที่เมืองชวา เมื่อสองเดือนก่อนก็ไปเห็น จันดิ สารี เป็นปราสาทที่ก่อด้วยหิน แต่ปั้นลายประกอบไว้ด้วยปูน เป็นอีกแห่งหนึ่งซึ่งส่อให้เห็นว่า ถ้าไม่ทำอะไรทับก็เห็นจะน่าเกลียดอยู่ แล้วมาได้ฟังพระดำรัสเล่าคราวนี้ ว่าพระเจดีย์พุทธคยาก่อด้วยหินไล้ด้วยปูน เป็นอันทราบได้แน่ว่าแม้จะก่อด้วยหินก็ถือปูน แต่เหตุไรจึ่งต้องก่อด้วยหิน หากถือปูนแล้วจะก่อด้วยอะไรก็ได้เหมือนกัน ข้อนี้ยังคิดขบไม่แตก

ในสมุดที่พระสาธุศีลสังวรนำมาให้นั้น มีรูป มูลคันธกุฎีวิหารที่สารนาถอันสร้างใหม่อยู่ด้วยในนั้น เห็นรูปก็นึกรำคาญใจ ด้วยให้ฝรั่งทำ ฝรั่งคิดเอาตึกฝรั่งเป็นโครง แล้วเก็บเอาแบบก่อสร้างในอินเดียเข้าประกอบ เขาคิดว่าดี แต่เกล้ากระหม่อมเกลียด เห็นใช้ไม่ได้เลย ที่บันดุงก็มี ทำตึกที่ว่าราชการเมืองเป็นตึกฝรั่งแล้วเอาหลังคาปราสาทแบบเกาะบาหลีมาประกอบเข้า แต่ไม่ลดหลั่นกันถูกส่วนเลย ชาวเมืองหัวเราะเยาะเรียกกันว่า ตึกซาเต๊ะ หมายความว่าเอาหลังคามาเสียบซ้อนกันเหมือนเนื้อซาเต๊ะ สะใจจริง ที่ในกรุงเทพฯ ก็มีทำกันโครงตึกเป็นฝรั่ง ประกอบด้วยลวดลายไทย แล้วก็แช่มชื่นกันว่าทำอย่างไทย แต่เกล้ากระหม่อมเห็นว่าเป็นไทยไม่ได้เลย อันว่าสิ่งก่อสร้างทั้งหลายจะเป็นแบบของพวกไหนย่อมเป็นมาแต่แผนผังทีเดียว จะเด็ดเอาแต่ลางสิ่งมาประกอบเข้าจะเอาเป็นว่าแบบของพวกนั้นหาได้ไม่

เมื่อวันที่ ๖ นี้ มีหนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์เขาลงคำพระยาอินทรมนตรี ซึ่งพูดถึงครั้งแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม และพระเจ้าปราสาททองเก็บความในพระราชพงศาวดารกับหนังสือ วันวลิต เข้าเทียบกัน ได้ทราบมานานแล้วว่าพระยาอินทรมนตรีแต่งเรื่องนั้นอยู่ ให้นึกอยากรู้ว่าจะแต่งว่ากระไร พอเขาลงพิมพ์จึงต้องอ่านจนสิ้นเชิง นึกขันฝรั่งเข้าใจอะไรของเรายากเต็มที ต้องอธิบายกันคอแตก เหมือนที่ฝ่าพระบาทตรัสไว้ในคำนำหนังสือกฎมนเทียรบาลพม่าว่าต้นฉบับแต่งไว้สำหรับให้ฝรั่งเข้าใจ ถ้าจะแปลไปตามไป กลับจะทำให้ไทยไม่เข้าใจไปเสียอีก ฉะนั้นชื่อ วันวลิต เพิ่งได้เห็นเขียนตัวฝรั่งเป็นVan Vliet ที่เขียนเช่นนี้ ถ้าว่าตามที่ไปสังเกตวิธีอ่านของพวกดัตช์มาเมื่อไปเที่ยวชวาคราวนี้ จะต้องอ่านว่า ฟัน เฟลียต ผิดกับที่เราเคยเรียกไปมาก

ในสัปดาหะนี้ ทางกรุงเทพฯ จะมีงานในราชการงานหนึ่ง คือทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ๕๐ วัน ที่พระศพสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กำหนดในวันที่ ๑๒ และที่ ๑๓ เดือนนี้ ดั่งได้ถวายหมายกำหนดการมาให้ทราบฝ่าพระบาทนี้แล้ว

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ