คำตอบปัญหาที่ ๘ ของพระยาอินทรมนตรี

คำถามที่ ๘ ว่า ในกฎหมายทำเนียบศักดินาหัวเมืองที่มีคำว่า “ขึ้นประแดงเสนาฏ” หรือขึ้นประแดงชื่ออื่นอยู่ต่อท้ายชื่อเมืองทุกเมืองนั้นหมายความอย่างไร

ตอบคำถามที่ ๘ จะบอกอธิบายโดยย่อพอให้เข้าใจเหตุก่อน ชื่อประแดงเหล่านั้นมีอยู่ในกฎหมายทำเนียบศักดินาพลเรือนส่วน “กรมพระสุรัสวดี” หรือเรียกกันโดยย่อว่า “กรมสัสดี” อันเป็นเจ้าหน้าที่ทำบัญชีคนที่เป็นกำลังของบ้านเมือง ระเบียบของกรมสัสดีนั้นจัดกรมกลางกรม ๑ เป็นกรมฝ่ายขวากรม ๑ เป็นกรมฝ่ายซ้ายกรม ๑ กรมฝ่ายขวาและกรมฝ่ายซ้ายมีผู้เป็นหัวหน้าแผนกกรมละ ๓ คน หัวหน้าแผนกกรมฝ่ายขวา เรียกชื่อในทำเนียบศักดินาพลเรือนว่า

กุมฦๅแดง สารภาษติการีย์ คน ๑

กุมฦาแดง เสนาฎชาติการย์ คน ๑

กุมฦๅแดง ธรรมาธิการย์ คน ๑

หัวหน้าในกรมฝ่ายซ้ายเรียกชื่อว่า

กุมฦๅแดง จุลาเทพภักดีศรีกะดาลพล คน ๑

กุมฦๅแดง อินทประยาธิการย์ คน ๑

กุมฦๅแดง ปัญญาธิการย์ คน ๑

แต่ในทำเนียบศักดินาหัวเมืองเรียกว่า “ประแดง” หาเรียก “กุมฦาแดง” ไม่ และมีจำนวนหน้าที่ถึงหัวเมือง แต่ ๓ คน คือ

ประแดง เสนาฎฝ่ายขวา คน ๑

ประแดง จุลาเทพ ฝ่ายซ้าย คน ๑

ประแดง อินทปัญญา ฝ่ายซ้าย คน ๑

อีก ๓ คนเห็นจะสำหรับบัญชีพลในราชธานี ไม่มีหน้าที่ถึงหัวเมือง

เพราะเหตุใดจึงเอาชื่อ ประแดงเสนาฎ ประแดงจุลาเทพ และประแดงอินทปัญญา ไปลงต่อท้ายชื่อเมืองในทำเนียบนั้น สันนิษฐานว่า เพื่อจะให้รู้ตรงกันมิให้เกิดเข้าใจผิดในกรมสัสดี ว่าใครเป็นเจ้าหน้าที่สำหรับเมืองไหน และมิให้หัวเมืองเข้าใจผิดว่าจะต้องติดต่อกับแผนกไหนในกรมสัสดีเท่านั้นเอง

ยังมีข้อความที่จะต้องคิดวินิจฉัยต่อไปอีก ว่าข้างต้นชื่อทั้ง ๓ คนนั้นในทำเนียบศักดินาพลเรือนเรียกว่า “กุมฦาแดง” ไฉนในทำเนียบศักดินาหัวเมืองจึงเรียกว่า “ประแดง” ข้อนี้เห็นว่า คำ “กุมฦาแดง” ก็ดี “ประแดง” ก็ดี เป็นภาษาเขมรทั้ง ๒ คำ แต่จะแปลเป็นภาษาไทยว่ากระไร ที่เมืองนี้ไม่มีหนังสือพจนานุกรมภาษาเขมรที่จะค้น ได้แต่สังเกตเทียบเคียงกับหนังสือที่มีอยู่

คำว่า “กุมฦาแดง” ดูใกล้กันกับคำ “กมรเตง” อันเป็นยศอย่างเขมรเทียบกับคำเจ้าในภาษาไทย มีอยู่ในศิลาจารึกครั้งสุโขทัย คำกุมฤาแดงอาจจะเพี้ยนมาจากคำ “กมรเตง” ก็เป็นได้ คำว่า “ประแดง” นั้นดูเป็นอีกคำหนึ่งต่างหาก และไทยเอามาใช้แพร่หลายกว่าคำ “กุมฦาแดง” มีปรากฏแต่ในทำเนียบสัสดีแห่งเดียวเท่านั้น แต่คำประแดงใช้เป็นชื่อเมืองพระประแดง และใช้เป็นยศในทำเนียบศักดินาพลเรือนก็มีหลายกรม ลองตรวจดูมี

ประแดงก้อนแก้ว กับประแดงเกยดาบ ในกรมวัง ๒ คน

ประแดงราชภักดี ในกรมภูษามาลา

ประแดงราชมณี ในกรมพราหมณ์พฤฒิบาท

ประแดงศรีรักษา สมุห์บัญชี กรมพระคลังในซ้าย

ประแดงราชภักดี สมุห์บัญชี กรมพระคลังขวา

ประแดง (แต่ขาดชื่อไม่ลงไว้) ในกรมตำรวจในขวาคน ๑ ในซ้ายคน ๑

ประแดงนารายณ์ ในกรมตำรวจใหญ่ขวา

ประแดงอินทรสรศักดิ์ ในกรมตำรวจใหญ่ซ้าย

ประแดงราชรงค์ ในกรมตำรวจนอกขวา

ประแดงจงใจยุทธ ในกรมตำรวจนอกซ้าย

ประแดงเสนี ในกรมตำรวจสนมขวา

ประแดงเสนา ในกรมตำรวจสนมซ้าย

ประแดงทิพย์ศักดิ์ ในกรมสนมกลางขวา

ประแดงเทพศักดิ์ ในกรมสนมกลางซ้าย

ประแดงจันทร เสมียนตรากรมเมือง

สังเกตดูผู้มียศเป็นประแดงในกรมต่างๆ สันนิษฐานว่าเห็นจะมีหน้าที่ในการทำบัญชีเป็นสำคัญ และบางทีในกาลครั้งใดครั้งหนึ่งจะเปลี่ยนยศ กุมฦาแดง เป็น ประแดง ในทำเนียบศักดินาหัวเมืองจึงใช้ประแดงแทนกุมฤาแดงแต่นั้นมา

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ