วิจารณ์ขนบธรรมเนียมในราชสำนักครั้งกรุงศรีอยุธยา

ตามตำราที่ปรากฏในหนังสือลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ ภาคที่ ๑๙

----------------------------

๑. วินิจฉัยลักษณะการตั้งตำราขนบธรรมเนียม

ในเรื่องพงศาวดารปรากฏว่า เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า หนังสือตำรับตำราราชการบ้านเมืองที่มีอยู่ในหอหลวงสำหรับพระนครเป็นอันตรายหายสูญไปหมด เพราะฉะนั้นเมื่อกู้บ้านเมืองกลับเป็นอิสระได้แล้ว จึงต้องสร้างตำราขนบธรรมเนียมราชการบ้านเมืองให้มีเหมือนตั้งแต่ก่อน ด้วยใช้วิธี ๒ อย่าง คือ อย่าง ๑ ให้เที่ยวเสาะหาสำเนาตำรับตำราของเดิมที่ยังมีกระจัดกระจายอยู่ในพื้นเมืองรวมเอามาเรียบเรียงตรวจชำระตั้งเป็นตำรา ในจำพวกนี้ก็มีหนังสือพระไตรปิฎกและกฎหมายฉบับพิมพ์ ๒ เล่มสมุดเป็นตัวอย่าง อีกอย่าง ๑ อาศัยไต่ถามผู้ที่เคยทำราชการครั้งกรุงศรีอยุธยารู้เห็นขนบธรรมเนียมเอาคำชี้แจงของผู้รู้เหล่านั้นมาตรวจชำระแล้วตั้งเป็นตำราขึ้น เช่นตำราที่พิมพ์ในหนังสือลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ ๑๙ นี้ เป็นตัวอย่าง แต่ที่รวมพิมพ์ในสมุดเล่มนี้ เฉพาะตำราขนบธรรมเนียมในราชสำนักซึ่งหอพระสมุดฯ ได้ฉบับเขียนมาแต่ที่ต่าง ๆ ฉบับเติมแยกกันเป็น ๔ เรื่อง คือ

เรื่องที่ ๑ ตำรากระบวนเสด็จประพาส (ซึ่งพิมพ์ไว้ข้างตอนต้น) ตำรานี้แต่งในสมัยกรุงธนบุรี มีบานแพนกว่า

“วันศุกร์ เดือน ๑๒ แรม ๖ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๒ ปีชวดโทศก (พ.ศ. ๒๓๒๓) เจ้าพระยาจักรีฯ รับสั่งใส่เกล้าสั่งว่า ขนบธรรมเนียมราชการทุกวันนี้ฟั่นเฟือน ให้ (มีรายชื่อข้าราชการ คือ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช เจ้าพระยาราชาบริรักษ์ เจ้าพระยาราชนายกเป็นต้น กับพระยา พระ หลวง หมื่น พัน อีกหลายคนตลอดจน “นายหงส์เสมียนนครบาลแต่ก่อน” เป็นที่สุดรวมจำนวน) “คนเก่า ๒๐ คน” มาพร้อมกัน ณ โรงพระแก้วมรกต บอกขนบธรรมเนียมราชการตามอย่างแต่ก่อน” ดังนี้

เรื่องที่ ๒ ตำราหน้าที่ราชการในราชสำนัก ซึ่งพิมพ์เป็นตอนที่ ๒ หมดเพียงหน้าที่กรมวัง เรื่องนี้ฉบับที่ได้มาไม่มีบานแพนกปรากฏว่าแต่งเมื่อใดหรือใครเป็นผู้แต่ง ถึงกระนั้นมีเค้าเงื่อนในรูปความกับทั้งที่ใช้คำเรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า “ของหลวง” เหมือนกับในตำราเรื่องที่ ๑ น่าสันนิษฐานว่าแต่งคราวเดียวกัน และคนแต่งอยู่ในพวก “คนเก่า” ที่แต่งตำราเรื่องที่ ๑

เรื่องที่ ๓ ตำราพิธีราชาภิเษกซึ่งพิมพ์อยู่ในตอนที่ ๒ (หน้า ๕๕) แต่งในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ มีบานแพนกว่า

“วันพฤหัสบดี เดือนยี่ ขึ้น ๑๐ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๕๕ ปีเถาะเบญจศก (พ.ศ. ๒๓๒๖ ภายหลังแต่งตำราเรื่องที่ ๑ สามปี) เจ้าพระยาเพชรพิชัย เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี พระยาราชสงคราม พระยาอุทัยมนตรี นั่งพร้อมกันแต่งกฎหมายซึ่งทำการพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งในหลวงวัดประดู่ (พึ่งสังเกตว่าเลิกใช้คำ “ของหลวง” เปลี่ยนเป็น “ในหลวง”) ไว้สำหรับหอหลวงฉบับ ๑” ดังนี้

เรื่องที่ ๔ ตำราทรงเครื่องต้น ซึ่งพิมพ์ไว้ข้างท้ายตอนที่ ๒ ตำรานี้ลี้ลับอยู่ช้านานเพิ่งมาปรากฏเมื่อรัชกาลที่ ๖ ด้วยคุณแววข้าหลวงเดิม ซึ่งเคยเป็นภรรยาเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (เวก บุณยรัตพันธ์) นำมาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทานแก่หอพระสมุด แม้ไม่มีบานแพนก หรือชื่อผู้แต่ง ก็เห็นได้วาคงแต่งเมื่อรัชกาลที่ ๑ และเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด) คงได้เกี่ยวข้องในการแต่งตำราเรื่องนี้ หนังสือจึงตกอยู่ในสกุลบุณยรัตพันธ์ต่อมาจนถึงเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (เวก) ผู้เป็นเหลน

พิเคราะห์ขนบธรรมเนียมซึ่งเอามาแต่งตำราต่างๆ ที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ ดูเหมือนตั้งใจจะเอาระเบียบครั้งรัชกาลพระบรมโกษฐ (ระหว่าง พ.ศ. ๒๒๗๕ จน พ.ศ. ๒๓๐๑) ซึ่งมักเรียกกันว่า “ครั้งบ้านเมืองดี” มาตั้งเป็นตำราทั้งนั้น เห็นได้ชัดแห่งหนึ่งตอนว่าด้วยกระบวนเสด็จขึ้นไปพระพุทธบาท กล่าวถึงกระบวนพระประเทียบ ออกพระนามกรมหลวงพิพิธมนตรี พระมเหสีของพระเจ้าบรมโกษฐ (ที่หน้า ๒๕) แต่มีคำ “คนเก่า” ที่แต่งตำราบอกออกตัวไว้ในบานแพนกเรื่องที่ ๑ “ว่าตามที่จำได้” เพราะฉะนั้นตำราต่างๆ ที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ พึงเข้าใจได้ว่าแต่งตามความรู้เห็นของ “คนเก่า” ทั้งนั้น ตำราจำพวกนี้ยังมีขนบธรรมเนียมอย่างอื่นที่ตั้งขึ้นตามความเห็นของ “คนเก่า” ปรากฏอยู่อีกหลายเรื่อง แต่มิได้เอามารวมพิมพ์ในสมุดเล่มนี้ เพราะเป็นตำราการต่างประเภทกัน

๒. วินิจฉัยเนื่องด้วยเรื่องพงศาวดาร

ในบานแพนกเรื่องที่ ๑ มีความควรกล่าวอธิบายโดยเฉพาะ ๓ ข้อ ข้อที่ ๑ คือ ที่ปรากฏว่าแต่งตำรานั้นเมื่อปีชวดโทศก พ.ศ. ๒๓๒๓ ก่อนสิ้นรัชกาลกรุงธนบุรีเพียง ๓ ปี ข้อนี้เห็นว่าคงเป็นเพราะสมัยตอนต้นรัชกาลกรุงธนบุรีต้องทำศึกสงครามมิใคร่ว่าง ไม่มีโอกาสจะคิดแต่งสำหรับตำราจึงรอมาจนปลายรัชกาล ข้อที่ ๒ คำที่อ้างในกระแสรับสั่งว่า “ขนบธรรมเนียมราชการทุกวันนี้ฟั่นเฟือน” ความส่อว่าเพิ่งแรกมีตำราขนบธรรมเนียมขึ้นในปีนั้น จึงเป็นปัญหาว่าก่อนนั้นมาตลอดเวลา ๑๒ ปี ใช้อะไรเป็นแบบแผนขนบธรรมเนียมในสมัยกรุงธนบุรี ข้อนี้คิดเห็นว่าในชั้นก่อนตั้งตำรา เวลาจะทำการพระราชพิธีอันใดหรือจะจัดกระบวนเสด็จประพาส คงให้ข้าราชการเก่าที่มีตำแหน่งอยู่ในกระทรวงวัง แต่งหมายรับสั่งเฉพาะเรื่อง แล้วใช้หมายรับสั่งนั้นเป็นแบบเวลามีงานอย่างนั้นภายหลังสืบมา ส่วนหน้าที่ราชการในราชสำนักนั้น ในชั้นแรกก็คงทำตามความรู้เห็นคุ้นเคยของ “คนเก่า” ที่มามีตำแหน่งเป็นหัวหน้ารับราชการในกรมนั้นๆ หรือที่ดำรัสสั่งตามชอบพระราชหฤทัยถือเป็นแบบมา แบบแผนตามมีหมายรับสั่งคงยังบกพร่องมากจึงโปรดฯ ให้ประชุม “คนเก่า” แต่งตำราเหมือนกับทำ “ประมวล” ขนบธรรมเนียมตั้งเป็นยุติ และใช้โครงการตามตำรานี้ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์โดยมาก เป็นแต่แก้ไขรายการมาโดยลำดับ

ข้อที่ ๓ เจ้าพระยาจักรีผู้รับสั่ง ซึ่งปรากฏในบานแพนกเรื่องที่ ๑ นั้น ศักราช ปีชวด พ.ศ. ๒๓๒๓ บ่งว่า คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเวลานั้น เลื่อนพระยศขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกแล้ว เหตุใดจึงยังใช้พระนามว่าเจ้าพระยาจักรี ข้อนี้ตามประเพณีโบราณ (อันเห็นได้ในกฎหมายทำเนียบศักดินา) ข้าราชการรับราชทินนามกับตำแหน่งรวมกันเป็นต้นว่า ถ้าใครเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยก็ได้ราชทินนามว่า “เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ สมุหนายกอัครมหาเสนาบดี อภัยพิรีปรากรมพาหุ” เรียกกันโดยย่อว่า “เจ้าพระยาจักรี” เสนาบดีกระทรวงอื่นก็เป็นทำนองเดียวกัน ตามประเพณีนี้มีประโยชน์ที่คนทั้งหลายเข้าใจง่าย แม้เรียกแต่ว่า “เจ้าพระยาจักรี” คนก็เข้าใจว่าเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย หรือเรียกว่าเสนากระทรวงก็รู้ว่าชื่อเจ้าพระยาจักรีดังนี้ ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาจะเป็นตั้งแต่รัชกาลไหน และเพราะเหตุใดไม่ทราบแน่ พระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งราชทินนามเสนาบดีบางคนผิดกับนามในทำเนียบ ตรวจดูในหนังสือพระราชพงศาวดารพบในรัชกาลพระเจ้าบรมโกษฐทรงตั้งหลวงจ่าแสนยากรเป็นเจ้าพระยาอภัยมนตรี ที่สมุหนายกเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย คน ๑ กับตั้งพระยาราชสุภาวดีเป็นพระยาอภัยราชา สมุหนายกเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยอีกคน ๑ พิเคราะห์ดูน่าจะเกิดความลำบากขึ้น เพราะคนอยู่ตามหัวเมืองห่างไกลจะพากันฉงนสนเท่ห์ด้วยเคยเข้าใจกันมาช้านานว่า เจ้าพระยาจักรีเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เพราะเหตุนั้นจึงตั้งพระราชบัญญัติว่า ถึงเสนาบดีมีราชทินนามนอกทำเนียบ ก็ให้คงใช้นามตามทำเนียบเดิมในบัตรหมายหรือท้องตราที่ตนเป็นผู้รับพระราชโองการ ถึงครั้งกรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกซึ่งบัญชาการกระทรวงหาดไทย จึงใช้นามเจ้าพระยาจักรีในบานแพนก ประเพณีตามพระราชบัญญัตินั้นยังใช้ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยมีราชทินนามบอกทำเนียบทุกคน และเป็นเจ้านายก็มี ถ้ามีสารตรารับพระราชโองการต้องใช้นามว่า เจ้าพระยาจักรีเป็นนิจมาทุกรัชกาล มีกรณีประหลาดในเรื่องนี้ที่เกี่ยวกับตัวฉันเองจะเล่าพอให้เป็นอุทาหรณ์ ครั้งหนึ่งในเวลาฉันไปเที่ยวตรวจราชการอยู่หัวเมืองไกล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งให้หา ครั้งนั้นพระยาราชวรานุกูล (อ่วม) ปลัดทูลฉลองเป็นผู้รักษาการแทนฉันอยู่ในกรุงเทพฯ มีตรารับสั่งให้หาส่งตามไป ในตรานั้นขึ้นว่า “สารตราเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ สมุหนายกอัครมหาเสนาบดีอภัยพิริกรมพาหุ ทูลมายังพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย” ดังนี้ถูกต้องตามแบบ แต่ประหลาดเฉพาะกรณีนี้ ที่เจ้าพระยาจักรีฯ ที่สมุหนายกกับเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยดูเป็นต่างคนกัน หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่งเสมือนเจ้าพระยาจักรีหาได้ว่ากระทรวงมหาดไทยไม่ กรณีเช่นนี้แต่ก่อนก็เห็นจะมีดังเช่น เมื่อเจ้าพระบดินทรเดชาไปทำสงครามอยู่เมืองเขมร พระศรีสหเทพ (เพ็ญ) รับพระราชโองการตั้งราชการไปยังเจ้าพระยาบดินทรเดชา ก็เห็นจะเขียนแบบนี้

  1. ๑. หนังสือนี้หอสมุดแห่งชาติได้เคยจัดพิมพ์ขึ้นแล้ว

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ