วันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๑๑ ธันวาคม แล้ว ทราบว่าพระงั่วสึกหม่อมฉันรู้สึกเสียดายอยู่บ้าง แต่เมื่อคิดไปก็เห็นทางข้างเป็นการดีมีอยู่ ด้วยเธอจะได้มาสนองพระเดชพระคุณช่วยกิจการต่างๆ ในส่วนพระองค์ท่าน ให้เบาพระภาระได้มิมากก็น้อย ชายงั่วนี้หม่อมฉันรักมาแต่เล็กท่านก็ย่อมทรงทราบอยู่ เมื่อรู้ว่าเธอสึกออกมาเป็นคฤหัสถ์ก็ชวนให้นึกถึงเวลาภายหน้าของเธอ จะทูลปรารภต่อไป

๑) หม่อมฉันเห็นว่า ในส่วนชายงั่วนี้ไม่มีความจำเป็นที่ท่านจะต้องนำถวายเหมือนอย่างครั้งชายใส เพราะเธอได้บวชเรียนจบได้ปริญญา การที่พระราชทานพัดยศและนิมนต์เข้าในการพระราชพิธีต่างๆ ก็เหมือนทรงตั้งแต่งและมีตำแหน่งทำราชการมาแล้ว มีพระราชดำริของทูลกระหม่อม อยู่ในคำประกาศพิธีแจกเบี้ยหวัด หอพระสมุดฯ พิมพ์ไว้ในหนังสือ “ประกาศพระราชพิธี” เล่ม ๑ หน้า ๑๐๐ ว่าข้าราชการทูลลาออกบวชตั้งแต่ ๒ พรรษาขึ้นไปงดพระราชทานเบี้ยหวัด เพราะไม่ได้ช่วยราชการแผ่นดิน “ก็แต่พระราชวงศ์านุวงศ์ที่ทรงผนวชในพระศาสนานี้ มีความชอบอยู่อย่างหนึ่งซึ่งได้ชื่อว่าชักโยงพระราชตระกูลให้เป็นญาติในพระศาสนา” จึงพระราชทานเบี้ยหวัด ความตามพระราชนิพนธ์นี้ก็แสดงว่าชายงั่วได้บำเพ็ญกิจอันสมควรแก่พระราชวงศ์ด้วยอีกอย่างหนึ่ง แม้จะว่าตามคติที่นิยมกันในปัจจุบันนี้ รัฐบาลก็ปรารถนานักเรียนที่ได้ปริญญามาแต่ต่างประเทศเป็นสำคัญ ผู้ได้ปริญญาเป็นเปรียญไม่ถือเป็นสลักสำคัญอันใด เพราะฉะนั้นจะเอาไว้ใช้สอยในส่วนพระองค์ก็ไม่ขัดแก่คติอันใด

๒) หม่อมฉันเคยสังเกตมาตั้งแต่ยังรับราชการ พวกมหาปาเรียญที่สึกออกมามักรู้สึกเหมือนกับนกที่หลุดพ้นออกจากกรง มักพลัดเพลิดไปนิยมในเหตุแห่งความวิบัติต่างๆ อันตรายข้อนี้จะบันเทาหรือระงับได้ด้วยให้มีกิจการอันพอใจทำประจำตัว และให้มีศุภมิตร

ที่ทูลมานี้ไม่ใช่หมายว่าเธอไม่ควรจะหาการงานทำเป็นอาชีพสำหรับเวลาภายหน้าของเธอ หมายเพียงว่าเวลานี้เธอเหมือนกับเรือแรกผลักออกจากหลักยังลอยอยู่ในทางน้ำไหลต้องระวังอันตรายในตอนนี้จนกว่าเธอจะเข้าสู่ทางที่จะตั้งตัวได้เป็นหลักแหล่ง ที่ทูลมานี้ถ้าเหลือเกินไปขอประทานอภัย

หม่อมฉันทราบว่าการที่สมเด็จพระพันวัสสาเสด็จไปประพาสเมืองเขมรเป็นการเรียบร้อยทุกสถาน และทรงพระสำราญพอพระหฤทัยด้วย หม่อมฉันรู้สึกยินดีมาก ด้วยวิตกถึงตอนที่จะไปประทับ ณ เมืองพนมเพ็ญ แต่ฝรั่งเศสเขาคิดอุบายดีมากที่ให้พระเจ้ามณีวงศ์ออกไปอยู่หัวเมืองไกลในเวลานั้น เป็นอันได้ทอดพระเนตรเห็นรั้ววังและสิ่งซึ่งน่าดูในเมืองพนมเพ็ญหมดทุกอย่าง โดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับเจ้าบ้านผ่านเมือง

หญิงแก้วเธอมีจดหมายเล่าถึงเขามีละครเขมรตรงหน้าปราสาทนครวัดให้พวกท่องเที่ยวดูในเวลากลางคืน เรื่องนี้เราก็รู้กันอยู่แล้ว แต่หม่อมฉันนึกวินิจฉัยขึ้นจะทูลเป็นวิเคราะห์ในโบราณคดีต่อไป ที่ปราสาทนครวัดและปราสาทหินเทวสถานแห่งอื่นหลายแห่ง มีเวทีทำด้วยศิลาว่าสำหรับ “ฟ้อนรำ” Dancing บวงสรวง อันการฟ้อนรำบวงสรวง (ตลอดจนเล่นโขน) เป็นคติทางศาสนาพราหมณ์ แต่ห้ามทางฝ่ายพระพุทธศาสนา หม่อมฉันได้อ่านหนังสือพรรณนาว่าด้วยเทวสถานในอินเดีย ว่าแม้ในปัจจุบันนี้ตามเทวสถานที่สำคัญยังมีหญิงสาวชั้นสกุลต่ำสมัครไปอยู่เป็น “เทวทาสี” สำหรับรับฟ้อนรำบวงสรวงเป็นอาชีพ และให้ใบ้ต่อไปว่าสำหรับปฏิบัติพวกพราหมณ์ที่รักษาสถาน หรือแม้บุคคลภายนอกด้วย ตามประสาทหินที่สำคัญในเมืองเขมรแต่โบราณ ก็คงมีหญิงพวกเทวทาสีเช่นนั้น หม่อมฉันเห็นว่า ประเพณีที่ไทยเราเล่นละครแก้สินบนเห็นจะมาจากคติเดียวกันนั้นเอง แต่เลยมาจนถึงเล่นละครบวงสรวงในพระพุทธศาสนา เมื่อหม่อมฉันยังเป็นเด็กได้เคยเห็นเล่นละครชาตรีแก้สินบนที่หน้าพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และได้ยินว่าที่วัดบวรนิเวศก็เคยมีละครแก้บนพระชินศรี เพิ่งห้ามเมื่อในรัชกาลที่ ๕ ประเพณีที่ไทยเราเล่นละครแก้สินบนแต่ก่อนเห็นจะชุกชุม จึงมีผู้คิดทำตุ๊กตาเรียกว่าละครยกสำหรับขายคนจนให้แก้สินบน มันเป็นเทือกกันมาเช่นนี้ ถ้าจะนับเวลาก็เห็นจะตั้งพันปี

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ