วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๔๘๐

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๕ และที่ ๒๘ พฤศจิกายน ได้รับประทานด้วยดีแล้วทั้ง ๒ ฉบับ

ตามพระดำรัสซึ่งตรัสเล่าถึงเขาเขียนรูปคนใช้ ไว้ที่กดกริ่งนั้น เห็นว่าเขาคิดดีทำให้นึกถึงถ้อยคำตาศาสตราจารย์ฝรั่งอะไรคนหนึ่ง แกออกความเห็นว่าป้ายบอกทางรถยนต์ควรจะเขียนเป็นหนังสือจีน เช่นว่าเขียนตัวเขาซึ่งอย่างนี้ไว้ก็รู้ได้ว่าทางข้างหน้าขึ้นเขา ถ้าเขียนน้ำซึ่งอย่างนี้ไว้ก็รู้ได้ว่าทางข้างหน้าข้ามแม่น้ำ ดีกว่าเขียนเป็นหนังสือพื้นเมือง ซึ่งคนต่างภาษาขับรถเข้าไปเดินก็ดูไม่เข้าใจว่าจะไปอย่างไร แต่ความเห็นอันนี้ทีจะเกิดเวลานานมาแล้ว เพราะเห็นป้ายบอกทางรถยนต์เดี๋ยวนี้เขาเขียนเป็นเครื่องหมายคล้ายรูปซึ่งอาจดูเข้าใจได้ทุกชาติทุกภาษาแล้ว

ข้อที่ตรัสถามถึงข้อความในหนังสือค้อนกับเคียว ว่าเป็นเรื่องไรเกล้ากระหม่อมทราบหรือไม่นั้น เกล้ากระหม่อมจะทราบไม่ได้เพราะหนังสือนั้น ในลายพระหัตถ์ทรงพระดำริเขียนแต่ประทานเป็น นายธวัชงดงามไปมาก ที่แท้ชื่อเขาเขียน นายถวัต นามสกุล ฤทธิเดช ท่านผู้นี้เป็นผู้ที่แผลงฤทธิ์เดชอะไรแปลกๆ ลือชื่อเป็นที่ ๒ รองแต่นาย (กลึง) นรินทร์ภาษิตลงมาอยู่ในเวลานี้ คำ ถวัต จะแปลว่าอะไรก็ไม่ทราบ ดูรูปทีเป็นศัพท์สํสกฤต แต่ดูพจนานุกรมสํสกฤตก็ไม่มีคำนั้น ภาษามคธก็ไม่มี หากจะวิเคราะห์ตามใจเอาวะเป็นอุก็เป็น ถุต เสียงคล้ายถ่มน้ำลาย

สมุดพจนานุกรมภาษาสํสกฤต ซึ่งทรงพระเมตตาโปรดจัดสั่งประทานนั้นพระระนองได้นำเข้าไปส่งให้แล้ว เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้าได้มาพอดีกับเวลาที่ควรจะส่งไปถวายทูลกระหม่อมชายทีเดียว ได้พลิกตรวจอย่างจาวๆ เห็นเขาเพิ่มเติมอะไรต่ออะไรมากกว่าฉบับเก่าที่มีอยู่แล้วเป็นอันมาก พระระนองบอกว่าจะกลับออกมาในวันพุธ จึงได้ฝากเงิน ๓๖ เหรียญ ๗๕ เซนต์ค่าหนังสือนั้นตามบิล ให้เขาช่วยนำมาถวายฝ่าพระบาท จะได้ทรงจัดใช้ให้แก่ผู้สั่ง หวังว่าป่านนี้คงจะได้ทรงรับเงินนั้นแล้ว

ในการที่ชายดิศทูลมา ว่าเกล้ากระหม่อมจะตามเสด็จสมเด็จพระพันวัสสาไปนครวัดนั้น เดิมทีตรัสสั่งให้ไปตามเสด็จจริง ได้ยินว่าไม่ได้ตัวศาสตราจารย์เซเดส์มา แต่ภายหลังทรงพระปรานีว่าแก่แล้วไม่แข็งแรงคงจะเป็นประโยชน์น้อย จึ่งตรัสสั่งให้องค์ธานีไปตามเสด็จแทน เกล้ากระหม่อมก็ไม่ต้องไป

พระวิจารณ์หนังสือลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ ๑๙ ซึ่งโปรดประทานไปให้ตรวจท่อนหนึ่งนั้น ได้ตรวจแล้ว ได้ทำบันทึกความเห็นถวายมาต่างหากในบัดนี้ด้วย ในหนังสือนั้นขึ้นต้นนั้นมีบานแผนกกล่าวไว้เป็นสมัยกรุงธนบุรี ทำให้นึกถึงการอันเป็นไปในเวลานี้ซึ่งควรจะกราบทูลให้ทรงทราบ ไม่ใช่ได้เห็น เป็นแต่ได้ยินว่านายเฟโรจี กำลังเขียนอนุสาวรีย์ขุนหลวงตากโดยคำสั่งให้ทำเป็นเสาสูงเท่าพระปรางค์วัดแจ้งบนยอดเสาให้เป็นโดม ที่โคนเสาให้มีรูปขุนหลวงตากทรงม้า มีฐานเป็นคั่นกะไดหนุน มีเงินสำหรับทำการนั้นอยู่แล้ว ๕,๐๐๐ บาท

มีรายงานที่จะกราบทูลอย่างย่ออีก เกล้ากระหม่อมไปบ้านนายลิงกาต์ (Lingat) เพื่อพบกับนายมาชาล (Marchal) ฝ่าพระบาทคงทรงรู้จักเขาเป็นใหญ่ในการค้นของโบราณอยู่ที่นครธม เมื่อเกล้ากระหม่อมไปเที่ยวที่นั้น เขาต้อนรับน่าดู โบราณสถานที่นั้นเป็นเหตุให้รู้จักคุ้นเคยกันมาก บัดนี้ออกจากการเข้ามาเที่ยวเมืองไทย พักอยู่ที่บ้านนายลิงกาต์เผอิญมาหยอดวัดเบญจมบพิตร เกล้ากระหม่อมจึงต้องหาอะไรที่เกี่ยวกับวัดนั้นมีรูปฉายเป็นต้น ไปให้แก่เขา ออกปากว่าไม่รู้เลยว่าเมืองไทย (หมายถึงหัวเมืองด้วย) จะมีอะไรดูมากถึงเพียงนี้ ได้กำหนดนัดวันออกจากเมืองไทยเสียแล้ว จะอยู่ดูอะไรต่อไปอีกไม่ได้ เสียใจมาก คิดว่าจะต้องมาอีกคราวหนึ่ง กราบทูลนอกเรื่องมากไปเสียแล้ว ข้อที่ตั้งใจจะกราบทูลนั้น คือนายลิงกาต์เล่นพัด เก็บพัดไว้มาก มีพัดยศตำแหน่งพระครูถึงสองเล่มซึ่งไม่ควรจะได้มาเลย ถามว่าได้มาอย่างไรก็พูดเล่นตลกเสียไม่ได้ความคือไม่บอก ในพวกพัดรองมีพัดเก่าๆ อยู่มาก เล่มหนึ่งเกล้ากระหม่อมตกเป็นพัดคาบตับอย่างพัดพิธีธรรม ด้ามเป็นไม้ดำ ที่นมฝังไม้เหลือเป็นรูปมงกุฎไม่มีจร ใบพัดหุ้มด้วยแพรดำ เขียนลายด้วยสีเหลืองน่าจะเป็นหรดาร เขียนเป็นเมฆก้อนเล็กๆ ดุจดอกแพรฉะนั้น มีรูปดวงพระอาทิตย์หรือพระจันทร์เท่ากับก้อนเมฆปนอยู่ในเมฆทางซ้ายดวงหนึ่ง ที่สุดเบื้องล่างมีหนังสือขอม เขียนว่ากระไรก็อ่านไม่ทัน นายลิงกาต์ว่าเขาว่า เป็นพัดเปรียญชั้นแรกในรัชกาลที่ ๔ นายลิงกาต์เห็นสมที่มีตรามงกุฎอยู่ แต่เกล้ากระหม่อมยังสงสัย ในการดูพัดนี้ดูระหว่างเวลาคอยนายมาชาล พอนายมาชาลลงมาหาก็ละมาสนทนากันเสีย การดูพัดนั้นจึ่งไม่ได้ละเอียด ได้แต่กราบทูลข่าวมาให้ทรงทราบเป็นเลาไว้ทีหนึ่ง ตั้งใจจะไปดูให้ถี่ถ้วนอีกครั้งหนึ่ง นายลิงกาต์ว่าเพื่อนเขาถาม ว่าทำไมจึ่งเก็บเอาพัดไว้มากนัก แกบอกว่าเมื่อชาติก่อนแกเป็นพระครู นายลิงกาต์รู้ภาษาไทยดีมาก เอากฎหมายที่แกตีพิมพ์ขึ้นมาให้เล่มหนึ่ง คัดจากกฎหมายตราสามดวง จำเพาะลักษณะเบ็ดเสร็จ แต่งคำนำลงข้างหน้าเป็นภาษาไทยไพเราะดี มากินเลี้ยงขนมเบื้องที่บ้านปลายเนิน ทราบเข้าว่าเป็นของทำยากก็ตื่นใจ พูดอ้างว่าในเรื่องขุนช้างขุนแผนมีว่า สร้อยฟ้าศรีมาลาทำขนมเบื้อง ศรีมาลาได้ สร้อยฟ้าทำไม่ได้ เพิ่งมาทราบใส่กันเข้าได้ว่าขนมเบื้องเป็นอย่างนี้ เกล้ากระหม่อมก็ประหลาดใจมาก ที่แกได้อ่านหนังสือไทยจนถึงเรื่องขุนช้างขุนแผน

จะกราบทูลข่าวอันพึงเศร้าใจว่า พระยาประดิษฐอมรพิมาน (ชิต อิศรศักดิ์) ถึงแก่กรรมเสียแล้วโดยปัจจุบัน ว่าให้มีอาการแน่นหาหมอมาแก้ก็ไม่ทัน พระยาอุดมพงษเพญสวัสดิช่วยจัดการศพ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ