วันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๐

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๘ มกราคมแล้ว

พระเจดีย์อย่างที่ทำซ้อนกันเป็นชั้น ในมณฑลพายัพนั้นว่าแต่ตามที่หม่อมฉันจำได้ มีที่เมืองเชียงแสนดังทูลแล้วองค์ ๑ ที่ริมแม่น้ำนอกเมืองเชียงใหม่ (องค์ที่ท่านได้ทรงเห็นรูปฉาย) องค์ ๑ มีในหรือเคียงวัดพระมหาธาตุหริภุญชัยในเมืองลำพูน องค์ ๑ ล้วนจำลองแบบไปจากพระเจดีย์ละโว้ที่วัดจามเทวี ซึ่งแต่ก่อนเรียกว่า “วัดกู่กุด” ที่เมืองลำพูนทุกองค์เป็นแน่ไม่มีที่สงสัย

ชื่อหัวพันมหาดไทย ที่หม่อมฉันเขียนทูลไปในจดหมายฉบับก่อนว่า พัน “เภาอัศวราช” เขียนตามเคยได้ยินเจนหูในกระทรวงมหาดไทย เพิ่งทราบว่าผิดเมื่อมาสอบดูในกฎหมายทำเนียบศักดินา ในนั้นเขาเรียกว่า “พันเภานุราช” ยิ่งใกล้กับ “เภาน์” หนักขึ้น พระยาอนุมานว่าสันนิษฐานว่ามูลศัพท์ชื่อหัวพันทั้ง ๔ นั้นน่าจะมาแต่จากอินเดียฝ่ายใต้ ด้วยภาษากนาริสซึ่งใช้กันแหล่งนั้นมักชอบใช้คำ ‘นุ’ ประกอบ

ชื่อหัวพันมหาดไทยฝ่ายเหนือยังมีอีก ๔ คน พันพิษนุราช คน ๑ พันศุกสกลราช คน ๑ พันอนาประธา คน ๑ และพันวิชรจักร คน ๑ หม่อมฉันได้คัดส่งให้พระยาอนุมานไปสอบสวนต่อไปด้วยแล้ว พิเคราะห์ดูชื่อพันศุกเข้าเรื่องกับชื่อ ๔ คน ยังขาดแต่ พระพฤหัสบดี พระเสาร์ และพระราหู ชื่อหัวพันฝ่ายเหนืออีก ๓ คนอาจเข้าแถวได้ครบอัฐเคราะห์ จะต้องรอฟังพระยาอนุมานวิจารณ์ต่อไป

ชื่อ ศรีทนนชัยนั้น หม่อมฉันเคยได้ยินว่าเป็นชื่อ “ขุน” ในทำเนียบกรมธรรมการ มาแปลงเป็นขุนศรีประชานนท์ ทูลกระหม่อมเลยทรงตั้ง “ขุนซุกซนสังฆาธิกรณ์” ต่อ เพราะคนแรกได้เป็นที่นั้น (หม่อมฉันทันรู้ตัว) ชอบถวายฎีกาฟ้องพระ ทำนองเดียวกับนายกรุดซึ่งทรงตั้งเป็น “พันปากพล่อย” เพราะชอบถวายฎีกาฟ้องข้าราชการ แต่พิจารณาได้ความจริงดังฟ้องโดยมาก จึงทรงตั้งเป็นขุนและเป็นพัน แต่ชื่อขุนซุกซนสังฆาธิกรณ์นั้นถึงสมัยเจ้าพระยาวิชิตวงศ์ เมื่อยังเป็นพระวุฒิการบดี ว่ากรมธรรมการ (ก่อนตั้งเป็นกระทรวงธรรมการ) แปลงเป็น “ขุนพิสณฑ์สังฆกรณ์” ตาคนที่เคยเป็นขุนซุกซนนั้นเอง ได้เปลี่ยนชื่อเมื่อแก่ชรามากแล้ว ต่อมาอาจารย์ด้วง ครูหัดเทศน์มหาชาติ (นึกว่าท่านคงทรงรู้จักตัว) ได้เป็นที่ขุนพิสณฑ์สังฆกรณ์ ศรีปราชญ์นั้นดูก็น่าจะเป็นราชทินนามดังท่านทรงพระดำริ เป็นขุน “ศรี” มีสร้อยอย่างอื่น ถึงรัชกาลพระเจ้าเสือมีความผิด เรื่องสื่อสารสังวาสกับท้าวศรีจุฬาลักษณ์พระสนมเอก ถูกถอดและเนรเทศไปเมืองครศรีธรรมราช (แต่งนิราศกำสรวลเมื่อไปคราวนี้) คนทั้งหลายจึงเรียกว่า ‘ศรีปราชญ์’ อย่างเดียวกับเรียก “สุนทรภู่” ผิดกันแต่เอาคุณวุฒิเป็นพยางค์หลัง

ความรู้เรื่องรถยนต์ของเจ้าพระยาสุรศักดิ์ ซึ่งทรงได้ความจากพระยาอนุทูตผู้เคยแก้ไขรถนั้นเองเป็นประโยชน์ดีมาก หม่อมฉันเป็นแต่ได้เคยเห็นและเคยขึ้นรถหลังนั้น เรื่องประวัติของรถนั้นพระยาอนุทูตเล่า ก็ตรงกับกรณีที่เกี่ยวข้องกับหม่อมฉันในชั้นหลัง คือเมื่อหม่อมฉันจัดพิพิธภัณฑ์สถานสำหรับพระนคร นึกขึ้นถึงรถยนต์หลังแรกที่มีในเมืองไทย เห็นควรจะเอามารักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถาน หม่อมฉันได้ไปขอต่อเจ้าพระยาสุรศักดิ์ท่านก็ยอมอนุญาตให้ด้วยยินดี บอกว่ารถนั้นกรมหลวงราชบุรีได้รับเอาไปแก้อยู่ที่คุก ให้หม่อมฉันเรียกเอาเถิด แต่เวลานั้นกาลล่วงมาช้านานกรมหลวงราชบุรีก็สิ้นพระชนม์เสียแล้ว หม่อมฉันให้ไปถามที่คุก เขาบอกว่าไม่มีรถยนต์อยู่ในนั้น หม่อมฉันเรียกพนักงานในคุกที่เป็นคนเก่า ทันอยู่กับกรมหลวงราชบุรีฯ มาถาม เขาบอกว่าเมื่อกรมหลวงราชบุรีรับรถมาตรวจดูเห็นชำรุดบุบสลายมากจะแก้ไขให้คืนดีไม่ได้ ก็ทอดทิ้งรถนั้นไว้ในโรงงาน ทีหลังมาคนนั้นคนนี้จะปรารถนาเครื่องเหล็กก็ถอดเอาไปใช้ทำการอื่นๆ ทีละชิ้นสองชิ้น จนรถเหลือแต่ทรากแล้วก็เลยสูญไป เป็นสิ้นเรื่องรถเจ้าพระยาสุรศักดิ์เพียงเท่านั้น

ที่เผ่าเทพหลานเขยของหม่อมฉันตายนั้น หม่อมฉันรู้สึกสลดสรดโศรกสงสารจุลดิศกับแช่ม มีลูกหญิงเป็นสาวได้ผัวดีทั้ง ๒ คน แต่มีเคราะห์มีอันเป็นลูกเขยตายใกล้ๆ กันทั้ง ๒ คน ลูกสาวก็เลยเป็นหม้ายแต่ยังสาวทั้ง ๒ คน สงสารต่อไปถึงหลานทั้ง ๒ คนนั้นด้วย แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร นอกจากสงสาร

หม่อมฉันได้ทูลไปในจดหมายแต่ก่อนว่า พระยาอินทรมนตรีแกเขียนมาถามปัญหาโบราณคดีหลายข้อ แกเป็นคนค้นคว้ามาก ข้อใดที่แกจนหม่อมฉันก็เจียนหงายท้องเหมือนกัน ทั้งที่นี่ก็หาหนังสือสอบยาก หม่อมฉันต้องผ่อนคำตอบแกคราวละข้อ ได้เขียนตอบแล้ว ๒ ข้อ และส่งสำเนาถวายท่านทอดพระเนตรด้วยพร้อมกับจดหมายนี้

เวลานี้หม่อมฉันได้ชายดำมาเป็นเพื่อน พูดออกเพลิดเพลินเจริญใจ เธออยากรู้เรื่องพงศาวดารไทย ฝ่ายหม่อมฉันอยากรู้ความเป็นไปในเมืองฝรั่ง แลกความรู้กันอยู่ทุกวัน เว้นแต่เรื่องการเมือง หม่อมฉันเห็นว่าเธอเป็นทหารไม่ควรเกี่ยวข้อง จึงสัญญาจะไม่พูดกันในเรื่องปอลิติค

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ