วันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๐

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

ลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๒๒ มกราคม หม่อมฉันได้รับแล้ว

ซึ่งทรงปรารภความบางข้อในหนังสือเรื่องพรรณนากรุงเก่า ที่พระยาอนุมานส่งสำเนาไปถวายนั้น หนังสือเรื่องนั้น หม่อมฉันเชื่อว่าเป็นคำให้การของคนครั้งกรุงเก่าที่อยู่มาจนในกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดฯ ให้เรียกมาไต่ถามรวมกันหลายคน เช่นเดียวกับ ตำรากระบวนเสด็จประพาสและตำราราชาภิเษก ซึ่งพิมพ์ในหนังสือลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ ๑๙ แต่พวกที่ให้การพรรณนาแผนที่กรุงเก่า เห็นจะเป็นคนชั้นต่ำศักดิ์กว่าพวกที่ให้การว่าด้วยขนบธรรมเนียมในราชสำนัก ให้การแต่ที่เคยเห็นและที่เคยได้ยินเขาเล่ากันมาอย่าง “ซึมทราบ” แต่เรื่องพระเจ้าแพนงเชิง กับเรื่องลูกแก้วยอดพระเจดีย์วัดเจ้าพระยาไทย ยังมีที่อื่นอีก ในพงศาวดารฉบับหนึ่งซึ่งมีบานแผนก ปรากฏว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ดำรัสสั่งให้พระโหราแต่ง เมื่อ ณ วันพุธ เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีวอก พ.ศ. ๒๒๒๓ (พระโหราคนนี้เข้าใจว่า คนเดียวกันกับที่เรียกว่า “พระโหราทายหนู” ในรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง แลต่อมาเรียกว่า “พระมหาราชครู” เพราะเคยเป็นครูของสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อยังเป็นพระราชกุมาร และเป็นผู้แต่งฉันท์เรื่องสมุทรโฆษ) ศักราชแม่นยำกว่าพงศาวดารฉบับอื่นๆ หอพระสมุดฯ เรียกว่า “ฉบับหลวงประเสริฐ” ตามนามของผู้ที่ได้ฉบับมาให้หอพระสมุดฯ ในหนังสือพงศาวดารฉบับนั้นว่า “สร้างพระเจ้าแพนงเชิง เมื่อปีชวด พ.ศ. ๑๘๖๗” ก่อนพระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยา ๒๖ ปี ข้อนี้เป็นเหตุให้หม่อมฉัน ลงความเห็นว่าที่พระนครศรีอยุธยาคงเป็นเมืองอยู่ก่อนแล้ว บางทีจะชื่อว่า “เมืองอโยทธยา” และมีผู้คนมาก จึงสามารถสร้างพระพุทธรูปใหญ่โตถึงปานนั้น วินิจฉัยอันนี้เข้าประกอบพอเหมาะกับเรื่องพงศาวดาร คือ เดิมพระเจ้าอู่ทองอยู่ ณ เมืองอู่ทองจนถึง พ.ศ. ๑๘๙๐ เกิดโรคห่า ต้องทิ้งเมืองอู่ทองย้ายมาอยู่ ณ ที่เมืองอโยทธยา ในหนังสือพงศาวดาร เรียกว่า “เวียงแหล็ก” น่าจะเป็น “เวียงเหล็ก” (คงเป็นประเทศราชขึ้นกรุงสุโขทัย) อยู่ ๓ ปี จึงประกาศอิสรภาพแล้วสร้างพระนครศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓ ที่ว่าพระเจ้าสามโปเตียงสร้างพระเจ้าแพนงเชิงนั้น จะเป็นพระเจ้ากรุงจีนเห็นจะไม่ได้ สมัยนั้นพวกจีนหนีพวกมงโกลไปอยู่ต่างประเทศมาก อาจจะมี “เจ้า” หรือผู้ดีจีนที่หนีมาตั้งภูมิลำเนาอยู่เมืองอโยทธยา มาคิดอ่านชักชวนชาวเมืองอโยทธยา ให้สร้างพระเจ้าแพนงเชิงก็เป็นได้ คำว่า “สามโปเตียง” ดูใกล้กับคำ “สามปากง” ที่จีนเรียกพระเจ้าแพนงเชิงอยู่จนบัดนี้ จะเป็นคำเรียกพระนามองค์พระดอกกระมัง ขอให้ทรงปรึกษาพระเจนจีนอักษรดู

เรื่องลูกแก้ววัดพระยาไทยนั้น หม่อมฉันพบกล่าวถึงในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนแห่งหนึ่ง (ฉบับหอพระสมุดฯ พิมพ์ เล่ม ๑ หน้า ๘) ตอนเกิดว่า

“ฝ่ายตาตะแกเป็นหมอดู คิดคูณเลขอยู่ให้หลานชาย
ปีขาลวันอังคารเดือนห้า ตกฟากเวลาสามชั้นฉาย
กรุงจีนเอาแก้วแพรวพราย มาถวายพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
ให้ใส่ปลายยอดพระเจดีย์ใหญ่ สร้างได้เมื่อครั้งเมืองหงสา
เรียกวัดพระยาไทยแต่ไรมา ให้ชื่อว่าพลายแก้วผู้แววไว”

ข้อที่เอาแก้วก้อนใหญ่อย่างวิสามัญทำเป็นลูกแก้วยอดพระเจดีย์ ในวัดเจ้าพระยาไทยนั้นเชื่อได้ว่าเป็นความจริง เพราะกล่าวต้องกัน ทั้งในหนังสือเรื่องแผนที่พระนครศรีอยุธยา แลหนังสือเรื่อง ขุนช้างขุนแผน อาจจะมีอะไรคนหนึ่งถวาย มีวินิจฉัยแต่ว่า ๑. เหตุใด จึงเรียกชื่อว่า “วัดเจ้าพระยาไทย” ๒. เหตุใดจึงเรียกอีกชื่อ ๑ ว่า วัดป่าแก้ว ๓. พระเจดีย์ใหญ่ ในวัดเจ้าพระยาไทยนั้นใครสร้าง วินิจฉัย ๓ ข้อนี้ หม่อมฉันได้เพียรคิดค้นอยู่ช้านาน จึงแน่ใจว่าได้อธิบายอันถูกต้อง

๑. ที่เรียกว่า วัดพระยาไทย นั้น หมายความว่า เป็นที่สถิตของสังฆนายก เพราะแต่โบราณเรียกพระสงฆ์ว่า “เจ้าไทย” เมื่อเติมคำ “พระยา” เข้าก็หมายความสังฆนายก ข้อนี้สมเด็จพระมหาสมณฯ เคยตรัสปรารภกับหม่อมฉันว่า ที่เรียกกันว่า “สังฆราชซ้ายขวา” นั้น เห็นจะเป็นสมเด็จพระวันรัตนฯ เป็นสังฆราช ฝ่ายวิปัสนาธุระ องค์ ๑ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นสังฆราช ฝ่ายคันถธุระ องค์ ๑ ที่เพิ่มสมเด็จพระอริยวงศ์ เป็นสังฆราช เป็นการเกิดต่อภายหลัง

๒. คำว่า “ป่าแก้ว” เป็นชื่อ “นิกายสงฆ์” มิใช่ชื่อวัด เกิดแต่พวกสงฆ์พวกที่รับอุปสมบท มาแต่ “พระวันรัตนมหาเถร” ในลังกาทวีป และพระภิกษุที่บวชในสมณวงศ์นั้นสืบมา (ทำนองเดียวกันกับพระสงฆ์ธรรมยุติกา) ข้อนี้มีหลักฐานอยู่ที่เมืองพัทลุงหลายฉบับ เมื่อขานชื่อวัด มีนามคณะสงฆ์ติดอยู่ด้วยทั้งนั้น เช่น วัดเขียนคณะป่าแก้ว วัดสทิงพระคณะป่าแก้ว เป็นต้น แม้จนนามเจ้าคณะสงฆ์ที่เรียกกันว่า “พระครูกาแก้ว” ก็เห็นได้ว่าเต็มชื่อต้องเป็น “พระครูลังกาป่าแก้ว” วัดเจ้าพระยาไทยเป็นที่สถิตของสมเด็จพระวันรัตน อันเป็นมหาสังนายก ของนิกายป่าแก้ว จึงเรียกว่า “วัดป่าแก้ว” ทิ้งคำ “คณะ” เสีย ตามความสะดวกของปาก เช่น ในโคลงเตลงพ่ายว่า “สมเด็จวันรัตน วัดป่าแก้ว”

๓. ผู้สร้างพระเจดีย์ใหญ่ ที่วัดพระยาไทยนั้น ในพงศาวดารเหนือเล่าเรื่องสร้างเพ้อเจ้อฟังไม่ได้ แต่ยุติต้องกับในเสภาว่า สร้างเมื่อศึกหงสาวดี พิเคราะห์ดูก็มีเค้าความจริง ด้วยเมื่อพระเจ้าหงสาวดีตีได้กรุงศรีอยุธยา ให้สร้างพระเจดีย์ภูเขาทองขึ้นไว้เฉลิมพระเกียรติ ครั้นสมเด็จพระนเรศวรมหาราช รบชนะหงสาวดี กลับตั้งเป็นอิสระได้ดังแต่ก่อน น่าเดาว่าสมเด็จพระนเรศวร คงทรงปรารถนาจะรื้อภูเขา ที่ข้าศึกสร้างข่มไว้ แต่สมเด็จพระวันรัตนว่า รื้อพระเจดีย์มีบาปกรรม สร้างพระเจดีย์เฉลิมพระเกียรติขึ้นใหม่จะดีกว่า จึงโปรดให้สร้างพระเจดีย์ขึ้นใหม่ที่วัดเจ้าพระยาไทย อันเป็นที่สถิตของสมเด็จพระวันรัตน และได้ทำขนาดใหญ่เสมอ หรือใหญ่ยิ่งกว่าภูเขาทองของพระเจ้าหงสาวดี คราวเดียวกับสร้างพระเจดีย์ตรงที่ทรงชนะยุทธหัตถี ที่ตำบลหนองสาหร่าย แขวงสุพรรณ วัดเจ้าพระยาไทยจึงเป็นวัดใหญ่โต ราษฎรเรียกกันว่า “วัดใหญ่” สืบมา

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ