วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๐ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๐

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๔ พฤศจิกายน พระเจนจีนอักษรออกมาถึง ได้เชิญลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๑๓ มาให้ได้อ่านก่อนส่งทางไปรษณีย์วัน ๑ พระเจนกับหม่อมฉันเมื่อได้เห็นกันอีกต่างปิติยินดีมากทั้ง ๒ ฝ่าย แกบอกว่าอายุ ๖๙ ปี แต่ดูยังแข็งแรงและเปล่งปลั่งเหมือนอย่างแต่ก่อน หม่อมฉันจัดห้องให้อยู่ที่ซินนามอนฮอลนี้ กินข้าวด้วยกันแต่เวลาค่ำ เวลาอื่นหาสำหรับให้แกกินตรงเวลาตามเคยของแก แกชอบที่ซินนามอนฮอลชมว่าสบายดีมาก หม่อมฉันมอบนายชิตให้เป็นผู้พาเที่ยวก็ไม่เอาว่ามีคนพารำคาญใจ จะเที่ยวโดยลำพังตัวแต่คนเดียว ก็เห็นจะสามารถไปได้ด้วยแกรู้ภาษาจีน

พระเจนออกมาถึงเหมาะกับกิจธุระของหม่อมฉันด้วยอีกอย่างหนึ่ง เพราะก่อนนั้นมาสักสองสามวันทูลกระหม่อมชายส่งปทานุกรมศัพท์ภาษามลายูและซุนดา ซึ่งท่านทรงพระอุสาหะรวบรวมมาประทานหม่อมฉันฉบับ ๑ ตรัสว่าได้ส่งไปถวายพระองค์ท่านด้วยฉบับ ๑ หม่อมฉันไม่สันทัดในทางแปลศัพท์เท่าค้นเรื่อง เห็นศัพท์ในนั้นข้องใจอยู่บ้าง คือ

๑) โตหลง ทูลกระหม่อมท่านว่ามลายูเอาศัพท์ภาษาจีนไปใช้ หม่อมฉันนึกขึ้นถึงความหลังเมื่อครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปเมืองมลายู พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น) เป็นล่ามเวลาทรงสนทนากับเจ้าเมือง ได้ยินแกใช้คำ “โตหลง” บ่อยๆ หม่อมฉันเคยถามพระโกชาอิศหาก (หมัด) ว่าภาษามลายูไม่มีศัพท์หมายความอย่างนั้นหรือจึงเอาคำโตหลงภาษาจีนมาใช้ แกตอบว่าคำโตหลงนั้นเป็นภาษามลายูมิใช่ภาษาจีน ๆ เอาไปจากมลายู หม่อมฉันจะทูลแย้งไปยังทูลกระหม่อมชาย แต่นึกว่าได้ยินมานานนักหนาแล้ว เกรงจะหลงลืม จะถามพวกจีนที่ปินังนี้เสียให้แน่ใจก่อน ยังไม่ทันถามพอพระเจนออกมาถึงจึงถามพระเจน แกบอกว่าศัพท์โตหลงนั้นเป็นภาษามลายู พวกจีนที่มาตั้งภูมิลำเนาอยู่ในแดนชวามลายูเอาไปใช้ แล้วพาขึ้นไปจากแหลมมลายูจนถึงเมืองไทย ภาษาของจีนในเมืองจีนเองหรือจีนที่ไปอยู่ประเทศอื่นนอกจากที่ว่ามา หามีคำโตหลงไม่

๒) ตวนกู ท่านประทานอธิบายแยกเป็น ๒ ศัพท์ “ตวน” ว่าเจ้า “กู” ว่าตัวผู้พูด หม่อมฉันเห็นก็สดุ้ง ด้วยตรงกับคำ “เจ้ากู” ที่ไทยใช้เรียกบรรพชิตตั้งแต่พระพุทธองค์ลงมา ดังปรากฎอยู่ในหนังสือมหาชาติคำหลวงกัณฑ์ทศพร ซึ่งแต่งในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถและยังใช้มาจนกรุงรัตนโกสินทร์ ดังพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสแก่ผู้ไปกราบทูลว่าสามเณรที่เรียนพระไตรปิฎกบนพระมหาปราสาทตั้งวงเตะตะกร้อกันที่ชาลา ดำรัสว่า “เจ้ากูจะเล่นบ้างก็ช่างเจ้ากูเถิด” ดังนี้ และยังมีข้อประหลาดยิ่งกว่านั้นขึ้นไปที่คำหมายความอย่างเดียวกับเจ้ากูมีใช้ในภาษาอื่น

มอญเรียก “ตละ (เจ้า) ปอยน์ (กู)” ตรงกับที่ฝรั่งแต่โบราณเรียกพระไทยว่า Talapoin เขมรเรียก “กมรเตน (เจ้า) อัญ (กู)”

มาได้ความว่ามลายูเรียกด้วยอีกภาษาหนึ่ง จึงเห็นประหลาดนักหนา หม่อมฉันเลยคิดต่อไปว่าคำ “เจ้าข้า” “พระเจ้าข้า” “พระพุทธเจ้าข้า” “เจ้าคะ” “เจ้าขา” น่าจะมาแต่คำ “เจ้ากู” เป็นมูลศัพท์ทั้งนั้น แต่คำเดิมจะเกิดขึ้นในภาษาไหน ใครเอาอย่างใครข้อนี้ยังคิดไม่เห็น

ที่ตรัสปรารภในลายพระหัตถ์ถึงคำมูลลงท้ายว่า “ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด” นั้น หม่อมฉันเห็นอย่างเดียวกับพระดำริมาตั้งแต่ยังว่าการมหาดไทย และได้สั่งให้แก้ไขใช้ความนั้นแต่เฉพาะจดหมายทูลความคิดอย่าง ๑ ทูลแถลงการที่ได้ทำอย่าง ๑ ถ้าไม่เข้าความอย่างนั้น มิให้ใช้ลงท้ายว่าควรมิควรแล้วแต่จะโปรด ถ้าคิดต่อไปเห็นยังมีขีดคั่นอีกชั้นหนึ่งว่าความ “ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด” นั้น ควรพูดแต่แก่ผู้มีอำนาจที่จะ “โปรด” ให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือให้ลงโทษที่กระทำผิด ถ้าเห็น “มิควร” นอกเกณฑ์นี้ไม่ควรใช้ แต่คติคนแต่ก่อนเห็นอะไรเคยดีก็ทำอย่างนั้นเสมอไป อย่างว่า “เป็นธรรมเนียม” ไม่คิดถึงความว่าจะเป็นอย่างคำที่พูดหรือไม่ แม้ฝรั่งก็ไม่พ้นกิเลสอย่างว่านี้ เช่นจดหมายทูตมีถึงกระทรวงการต่างประเทศของเราในทางราชการ ก็มักเขียนลงท้ายเมื่อก่อนเซ็นชื่อ ใช้คำว่า your obedient servant อันห่างไกลกับความจริงอย่างยิ่งดังนี้

เมื่อหม่อมฉันทูลวินิจฉัยเรื่องแม่ซื้อ ไปในจดหมายฉบับลงวันที่ ๔ พฤศจิกายน แล้วนึกขึ้นถึงเรื่อง “เสียกบาล” ซึ่งเนื่องกัน จึงจะทูลต่อไปในจดหมายฉบับนี้ ความเชื่อว่าผีอาจจะกระทำให้มนุษย์ถึงความตายเพื่อเอาไปเป็นประโยชน์ของผี ไม่แต่ทารกแรกคลอดเท่านั้น ถึงมนุษย์ที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วผีก็อาจจะทำเช่นนั้น ผิดกันแต่เอาทารกไปเลี้ยงแต่ผู้ใหญ่เอาไปใช้สอย จึงบันดาลให้เกิดโรคห่าหรืออกาลมรณภัยอย่างอื่นๆ เป็นเหตุให้เกิดอุบายต่างๆ เพื่อป้องกันมิให้ผีเอาไป บางอย่างทำให้ผีกลัว เช่นผูกตะกรุดพิสมรคล้ายกับเกราะกันผีเป็นต้น บางอย่างทำให้ผีเกลียดชังไม่ปรารถนา การที่เล่นเทพทองเล่นเพลงปรบไก่ด้วยถ้อยคำอย่างหยาบช้าสามานย์ น่าจะเป็นอุบายจำพวกนี้ จึงมักเอาเล่นในการสมโภชช้างเผือกอันเป็นของหวงแหนบางอย่าง ลวงให้ผีหลงว่าได้ไปดังปรารถนาแล้ว อุบายเสียกะบาลอยู่ในประเภทลวงผี มักทำในเวลามีคนเจ็บไข้อาการส่อว่าถูกผีกระทำ หรือทำเมื่อขึ้นปีใหม่เพื่อจะทำให้ผีสำคัญว่าได้คนในครัวเรือนนั้นไปแล้ว ไม่มาค้นคว้าหาตัวในปีนั้น ลักษณะการเสียกะบาลที่ทำกันในกรุงเทพฯ ว่าตามที่ได้เคยเห็นมาแต่เด็ก เอาดินเหนียวมาปั้นหุ่น (อย่างตุ๊กตา) แทนตัวคน จะให้แทนคนไหนเอาของที่คนนั้นใช้ เช่นตัดเศษผ้านุ่งผ้าห่มเอาไปแต่งหุ่นเป็นสำคัญ แล้วเอากาบกล้วยมากรึงเป็นอย่างรูปกะบะ เรียกว่ากะบาล เอารูปหุ่น มากหรือน้อยแล้วแต่เหตุ ตั้งรวมลงในกะบาล มีข้าวปลาใส่กะทงน้อยๆ (จะหมายว่าเป็นเสบียงของหุ่นหรือเป็นเครื่องเส้นผี ข้อนี้ไม่ทราบแน่) วางไปในกะบาลนั้นด้วย เอากะบาลไปตั้งไว้กลางแจ้งในลานบ้านสัก ๓ วัน แล้วเอาทิ้งเสียที่อื่น (เดิมเห็นจะทิ้งในป่าช้า) เป็นเสร็จพิธี

ต่อไปนี้จะทูลเล่าถึงประวัติที่หม่อมฉันได้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องเสียกะบาล ตั้งแต่หม่อมฉันว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงมือรวบรวมของโบราณแต่ง “ห้องกลาง” ศาลาลูกขุนในเป็นที่รับแขกได้เครื่องสังกโลกมาหลายอย่าง ในของเหล่านั้นมีรูปตุ๊กตานั่งพับเพียบหลายตัวแต่คอหักทั้งนั้น ได้หัวมาบ้างก็ไม่เข้ากับตัว หม่อมฉันเข้าใจว่าตุ๊กตาทำขายให้เด็กเล่นครั้งสมัยสุโขทัย เหมือนอย่างตุ๊กตาดินปั้นประสานสีที่ขายกันในกรุงเทพฯ (เช่นที่พวกโขลนชอบตั้งบูชาตามประตูวังชั้นใน) ให้เอาตุ๊กตาสังกโลกพวกนั้นตั้งไว้ในตู้ใบหนึ่ง ได้เพิ่มเติมมาภายหลังก็เอาไปรวมไว้ด้วยกันจนเป็นฝูง ต่อมาภายหลังหม่อมฉันไปพิจารณาดูเกิดประหลาดใจ ด้วยตุ๊กตาสังกโลกเหล่านั้นทำเป็นรูปผู้หญิงอุ้มทารกแทบทั้งนั้น มีแปลกเป็นรูปผู้ชายอุ้มไก่แต่ตัวเดียว แต่ก็ยังไม่ได้คิดค้นหาเหตุ มาจนในรัชกาลที่ ๖ หม่อมฉันขึ้นไปเที่ยวเมืองสวรรคโลกด้วยกันกับศาสตราจารย์เซเดส์ ไปลองขุดหาเครื่องสังกะโลกที่เตาทุเรียงตามเคย พบตุ๊กตาที่ทำเป็นรูปผู้หญิงอุ้มทารกคอหักทิ้งอยู่หลายตัว หม่อมฉันออกปากพูดขึ้นว่า “ตุ๊กตาสังกะโลกเด็กไม่น่าจะชอบเล่นเลย รูปร่างเทอะทะดูราวกับตุ๊กตาเสียกะบาล” เซเดส์ถามว่าตุ๊กตาเสียกะบาลนั้นเป็นอย่างไร หม่อมฉันบอกอธิบายการเสียกะบาลให้ทราบ แกเอ่ยขึ้นว่าคำกะบาลเป็นภาษาเขมรแปลว่าหัว (หม่อมฉันก็รู้แต่ไม่ได้ใส่ใจเอง) เสียกะบาลก็คือเสียหัว ที่ตุ๊กตาสังกะโลกคอหักโดยมากนั้นคงเป็นคนต่อยให้หักเพื่อทำพิธี จึงเลยเรียกว่าพิธีเสียกะบาล พอหม่อมฉันได้ยินก็ต้องร้อง “เออ” ออกไปทันที เพราะแลเห็นแจ่มแจ้งในขณะนั้น ว่าตุ๊กตาสังกะโลกนั้นเขาทำสำหรับเสียกะบาลแลเห็นต่อไปว่าที่ทำเป็นรูปผู้หญิงอุ้มทารกนั้น คงทำพิธีเสียกะบาลเมื่อคลอดลูกเป็นพื้น เพราะคลอดลูกในสมัยนั้นน่าที่แม่จะเป็นอันตรายกันมาก

ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๗ เมื่อหม่อมฉันตามเสด็จขึ้นไปมณฑลพายัพ ไปเห็นรูปหล่อของโบราณทำเป็นรูปผู้หญิงอุ้มทารกมีอยู่ที่บ้านพระพิทักษ์นายตำรวจภูธร หม่อมฉันเห็นแปลกขอเขาเอาลงมาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถาน ทีหลังสังเกตดูรูปนั้นออกประหลาดใจด้วยรูปทารกทำแบบโบราณ เช่นใส่ตุ้มหูเป็นกะแปะเหมือนอย่างภาพที่นครปฐม แต่ตัวนางนั้นทำหน้าและเกล้าผมเป็นแบบใหม่เหมือนอย่างเจ้าพราหมณ์ที่เล่นละคร เกิดสงสัยเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ให้เอารูปนั้นออกขัดสีดูก็แลเห็นทองที่หล่อหัวนางผิดสีกับทองที่หล่อตัวหัวเป็นของหล่อต่อภายหลัง ส่อให้เห็นว่าหัวเดิมคงจะถูกต่อยทิ้งในพิธีเสียกะบาล ได้ความรู้เพิ่มขึ้นว่าพิธีเสียกะบาลนั้น ต้องเป็นประเพณีมีมาเก่าแก่ทีเดียว

จดหมายฉบับนี้ยืดยาวอยู่แล้ว วิจารณ์เรื่องในลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ ภาคที่ ๑๙ จะทูลวิจารณ์ในจดหมายฉบับอื่นต่อไป ที่พระยาอนุมานเขาส่งหนังสือนั้นไปถวายฉบับ ๑ ทำให้เขียนวิจารณ์ง่ายขึ้น เพราะมีต้นฉบับตรงกัน อาจจะอ้างหน้าสมุดและบันทัดในต้นฉบับได้ ไม่ต้องเขียนความเดิมตรงนั้น

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ