วันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๐ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๔ เมษายน ๒๔๘๐

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๔ เมษายน ได้รับประทานแล้ว

นึกออกขัน ที่เกล้ากระหม่อมเขียนหนังสือกราบทูลมา เรื่องทำที่ใส่ศพแปลกๆ ส่งหนังสือถวายมาเวลาเช้า พอเวลาเย็นก็ได้รับลายพระหัตถ์ มีตรัสถึงทำที่ใส่ศพแผลงอันเดียวกันนั้นเอง โดนกันอย่างบังเอิญประหลาดพอใช้ เรื่องทางเกล้ากระหม่อมมีจะกราบทูลต่อไปได้อีกว่า เมื่อได้ทราบความตามที่เขาบอกแล้ว ให้นึกอยากเห็นเป็นกำลังพอดีมีคนบอกว่าเขาถ่ายรูปมาลงหนังสือพิมพ์มี ดีใจถามเขาว่าหนังสือพิมพ์อะไร เขาบอกว่าวารศัพท์ แต่วันที่เขาบอกนั้นเป็นวันที่จะไปหัวหิน ไม่มีเวลาที่จะตามหามาดู แต่เมื่อไปถึงหัวหินแล้ว รุ่งขึ้นหลวงอำนาจเอาหนังสือพิมพ์มาให้อ่าน บอกว่าหนังสือพิมพ์ฉบับออกใหม่ เกล้ากระหม่อมดูชื่อเห็นเป็นวารศัพท์ก็จับเอาใจ ถามเขาว่านี่ซื้อปลีกมาหรือคุณพ่อรับ เขาบอกว่ารับ ดีใจสั่งให้เขาไปค้นวันที่ล่วงแล้วซึ่งมีรูปที่ใส่ศพเป็นพานมาให้ดู เขาก็ไปค้นมาให้ได้ เห็นก็เหมือนกับที่ตรัสทักไป ทั้งความเห็นก็เหมือนกับที่ทรงพระดำริ เกล้ากระหม่อมไปตำหนักพระองค์หญิงอาทรในการทำบุญพระชันษา ๔ รอบจักรปี พบหญิงจงที่นั่น เธอพูดไปถึงงานศพท้าวราชกิจวรภัตรก็ได้ใจขึ้นมา ถามเธอถึงที่ใส่ศพ เธอว่าทำเป็นสังข์ตัวโตรองพานตั้งบนเขามอ มีถ้ำที่สอดธูปเทียนขมาศพ เธอนึกไม่ออกว่าศพจะอยู่ที่สังข์หรือที่พานหรือที่เขา ข้อสงสัยเช่นนี้ก็เหมือนกับที่เกล้ากระหม่อมเคยทูลมานั่นเอง

ได้ไปงานศพหม่อมหลวงใหญ่ ดิศกุล ที่วัดมกุฎกษัตริย์ รู้สึกพอใจเป็นงานอย่างเงียบ เรียบร้อยดีทุกอย่าง ผู้ที่ไปส่งสการศพมีแต่ญาติกับผู้นับถือฝ่าพระบาทมาแต่ก่อนโดยมั่นคง ในการไปเผาศพรู้สึกว่ายากยิ่งนัก แต่ไม่ใช่ยากที่ศพหม่อมหลวงใหญ่ หากเป็นเหตุให้ทูลบ่นต่อไปเท่านั้น ลางศพต้องวิ่งสืบว่าเขาเป็นลูกเต้าเหล่าใคร เพื่อจะได้นุ่งขาวนุ่งดำให้ถูกต้อง ความยากอยู่ที่ต้องนุ่งขาวนุ่งดำ จึ่งต้องรู้สาขาญาติ ลางศพเราไม่ได้นึกเลยว่าเขาจะเป็นญาติ แต่ความจริงเขาเป็นราชินีกุลซึ่งเราควรจะนุ่งขาวด้วยซ้ำ แต่นุ่งไปผิด การนุ่งขาวนุ่งดำลางทีก็มียากอยู่ในตัวเอง เช่นเราเป็นลูกพี่ ผู้ตายเป็นลูกน้อง แต่มีอายุแก่กว่าเรามาก จะนุ่งดำไปดูก็ไม่งามหรือตรงกันข้ามเราเป็นลูกน้อง ผู้ตายเป็นลูกพี่ แต่มีอายุอ่อนกว่าเรามาก จะนุ่งขาวดูก็น่าเกลียด ในกรณีอย่างนี้จะหลบไปแต่งฟอร์ม ถ้าไม่ใช่งานเสด็จพระราชดำเนินก็ดูขวาง ยิ่งฟอร์มเครื่องเฝ้าด้วยแล้ว ไม่เสด็จพระราชดำเนินเห็นว่าแต่งไม่ได้ทีเดียว

ลืมกราบทูลรายงานเรื่องรกเจ้า ตามพระดำริแนะว่าควรถามเจ้าพระยาธรรมา ลางทีจะรู้นั้น ได้ถามแล้ว จำนน บอกไม่ทราบ แต่อิ่มใจที่ได้ทราบจากสมเด็จพระพันวัสสาทีหลังแล้ว

นึกวิตกแทนฝ่าพระบาท เดี๋ยวนี้มีเจ้านายเสด็จไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นที่สุดก็มาแวะที่ปีนัง ฝ่าพระบาทต้องทรงรับรองจะได้ความลำบากยากพระทัยไม่ใช่น้อย ทั้งพลอยให้พระญาติพากันลำบากยากไปด้วย ทราบข่าวว่าสมเด็จพระพันวัสสาเสด็จลงเรือ “เกดะ” ข้ามไปสุมาตราไม่ได้ เพราะเขาห้ามด้วยเหตุที่ฝรั่งไปตายในเรือด้วยอหิวาตกโรค ซึ่งหาว่าติดมาแต่เมืองไทย ทำให้ฝรั่งตื่นกันเป็นอันมาก เลยทำให้ได้ความลำบากเป็นกองสองกอง

จะทูลถามปัญหาเขลา ๆ สามอย่าง

๑. ทราบว่าเดิมพระพุทธสิหิงค์ตั้งอยู่ ณ ที่ตั้งพระสัมพุทธพรรณีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตน แล้วจึงเชิญย้ายขึ้นไปไว้วังหน้า แต่ความที่ทราบเช่นนี้ จะทราบด้วยคำพูดกัน หรือทราบด้วยได้อ่านหนังสือก็จำไม่ได้ ถ้าทราบด้วยหนังสือแล้วจะเป็นหนังสืออะไร หวังว่าฝ่าพระบาทจะตรัสบอกได้

๒. วัดพระแก้ววังหน้า มีพระแก้วจริงๆ หรือหาไม่ ถ้ามีจริงเป็นพระแก้วชนิดไร โตเล็กเท่าไร เอาไปไว้แต่ครั้งไร เดี๋ยวนี้อยู่ที่ไหน หวังว่าฝ่าพระบาทคงทรงทราบพอที่จะตรัสบอกได้

๓. พระพุทธนรสีห์ ฝ่าพระบาททรงหาพบเชิญมาไหน

หญิงจงบอกว่า พระองค์ประดิษฐาประทานหนังสือของพระทองพูนศรีจักร ให้ส่งมาถวาย หวังว่าหนังสือนั้นคงจะมาถึงพระหัตถ์เร็ว ๆ นี้ จึงจะทูลสิ่งที่ปรากฏในหนังสือนั้นล่วงหน้าไว้ให้ทรงทราบ ในหนังสือซึ่งเรียก “อุบัติบรมจักรลาว” นั้นมีรูปพระบาง ซึ่งเกล้ากระหม่อมเพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรกตั้งแต่เกิดมา แต่ก็เป็นรูปแมวเต็มที มีมงกุฎทรงอยู่บนเศียร ส่วนพระองค์นั้นเห็นเป็นผ้าพันนุงนัง ฟังผู้ใหญ่พูดถึงพระบางไม่เข้าใจว่าเป็นพระทรงเครื่อง จะทำเครื่องสวมเข้าไว้ดอกกระมัง ด้วยมีคำขออนุญาตเอาเครื่องทรงพระบางออก ปรากฏในสมุดซึ่งเรียกชื่อว่า “พระราชธรรมเนียมลาว” อย่างไรก็ดี นึกว่าคำ “พระบาง” ไม่ได้หมายถึงพระพุทธเจ้า ซึ่งควรจะสร้างเป็นพระพุทธรูป แต่จะหมายถึงอะไรไม่ทราบ มีชื่อเมืองพระบางอยู่ไม่ใช่เมืองเดียวที่สร้างพระพุทธรูปให้ชื่อว่าพระบาง ถือเป็นของสำหรับเมืองหลวงพระบางขึ้นนั้นเป็นอย่างเดียวกับพวกแต่งตำนานประจำวัตถุหรือประจำสถานที่ขึ้นฉะนั้น

อีกอย่างหนึ่ง มีสมุดส่งมาทางไปรษณีย์เล่ม ๑ สลักปลอกถึงหญิงอาม เธอแกะออกดู ในสมุดนั้นมีคำนำลงชื่อ ม.ล. ลมุล กฤษณะสุวรรณ หม่อมหลวงลมุลคนนี้ สกุลเสนีวงศ์ มีผัวอยู่ที่โคราช แล้วโกรธกับผัวเผ่นมาอาศัยอยู่ที่บ้านคลองเตย เพราะชอบกับบุตรคุณไฉนซึ่งอยู่ที่บ้านคลองเตย จะด้วยเหตุอย่างใดก็ไม่ทราบ เรียกกันเป็นสมญาว่า “นะ” ภายหลังออกจากบ้านคลองเตยหายไป เข้าใจว่ากลับขึ้นไปโคราช บัดนี้ส่งสมุดมาให้ลอยๆ เป็นเรื่องไปไหว้พระธาตุสิงคุตร แต่ผิด ที่แท้เป็นพระเกศธาตุ แต่งเป็นคำกลอน ดำเนินเรื่องเป็นเดินทางบก เกล้ากระหม่อมอ่านดูเห็นว่าดีอยู่บ้าง จึงได้ส่งมาถวายคราวนี้ด้วย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ