วันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๓๐ ธันวาคม พุกธศักราช ๒๔๘๐

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๒๔ ธันวาคม แล้ว

ซึ่งทรงปรารภถึงของโบราณที่เมืองเชียงแสนนั้น หม่อมฉันได้เคยเที่ยวค้นดูแล้ว เมืองเชียงแสนนั้นพังลงแม่น้ำโขงสูญไปเสียแล้วสักครึ่งเมือง ได้ดูแต่ตอนที่ยังเหลืออยู่ ไม่เห็นมีอะไรดีงามนอกจากพระเจดีย์สี่เหลี่ยมทำเป็นชั้นๆ สันนิษฐานว่าจะจำลองแบบไปจากพระเจดีย์ละโว้ที่วัดจามเทวีเมืองลำพูน สร้างไว้ข้างนอกกำแพงองค์ ๑ ฝีมือพอดูได้ นอกจากนั้นแม้วัดร้างของโบราณที่ยังเหลืออยู่ก็ไม่เห็นแห่งใดทำด้วยประณีตน่าชม ของที่เรียกเลื่องลือชื่อเมืองเชียงแสนก็แต่พระพุทธรูป มีทั้งพระหล่อด้วยโลหะและพระจำหลักด้วยแก้วผลึก เรียกกันว่า “พระเชียงแสน” เข้าใจกันว่าบรรดาพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรเป็นพระเชียงแสน พระพุทธรูปขัดสมาธิราบเป็นพระเชียงใหม่ ข้อนี้เกิดแต่พระพุทธรูปศาสนาเข้ามาสู่มณฑลพายัพเป็น ๒ ยุค ยุคที่ ๑ มาจากเมืองพม่า ทำแบบพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรเช่นชอบทำกันในมัชฌิมประเทศมาทางนั้น ยุคที่ ๒ เมื่อพวกชาวเมืองที่ไปบวชแปลงในเมืองลังกานำคติพระพุทธศาสนาตามแบบลังกามาสู่ประเทศนี้ได้แบบพระพุทธรูปขัดสมาธิราบที่ชอบทำกันในลังกาทวีปเข้ามา พึงสันนิษฐานว่าแบบพระขัดสมาธิเพชรมาถึงก่อน จะมาในสมัยเมื่อเมืองเชียงแสนยังเป็นราชธานีก็เป็นได้ แบบพระขัดสมาธิราบมาถึงต่อภายหลัง จะเป็นในสมัยเมื่อเมืองเชียงรายเป็นราชธานีก็เป็นได้ แต่พระพุทธรูปในมณฑลพายัพที่ปรากฏอยู่ ดูเป็นแล้วแต่ช่างชอบแบบอย่างไหนก็ปั้นอย่างนั้น ยิ่งกว่านั้นอีก พระองค์ท่านเองได้เคยทรงสังเกตและตรัสปรารภว่า พวกช่างปั้นพระพุทธรูปในมณฑลพายัพ ครูคนไหนชอบลักษณะคือดวงพระพักตร์เป็นต้น อย่างไร ก็ทำแต่อย่างนั้นทุกพระองค์ ตั้งแต่ขนาดใหญ่ลงมาจนขนาดเล็กเช่นเดียวกับแบบ “ครูยาว” ที่เมืองสุโขทัยหรือที่สุดจนแบบพระพุทธรูปสร้างในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ที่เราเรียกว่า “แม่ลูกอินทแม่ลูกจันท” ก็เป็นเช่นเดียวกัน ใช่ว่าพระขัดสมาธิเพชรจะเปนของที่สร้างที่เมืองเชียงแสน และพระขัดสมาธิราบจะเป็นของสร้างที่เมืองอื่นนั้นหาเป็นเช่นนั้นไม่

แต่การสร้างพระพุทธรูปในมณฑลพายัพประหลาดอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งหม่อมฉันยังคิดไม่เห็นจนทุกวันนี้ว่าได้โลหะมาจากไหนจึงสร้างพระพุทธรูปหล่อได้มากมาย ในมณฑลพายัพบ่อแร่ทองแดงก็ไม่มี บ่อแร่ดีบุกก็ไม่มี ความข้อนี้ได้ลองปรึกษาพวกฝรั่งที่ศึกษาโบราณคดีก็จน แต่พระแก้วผลึกนั้นรู้ได้แน่ว่าได้แก้วมาจากเมืองฮุนหนำในประเทศจีน เพราะเทือกแก้วผลึกสีต่างๆ มีในเมืองนั้น พวกฮ่อคงเอาลงมาขายในมณฑลพายัพแต่เมื่อเมืองเชียงแสนยังรุ่งเรือง และเมืองเชียงแสนอยู่ต้นทางที่พวกฮ่อมาถึง จึงมีพวกช่างที่เมืองเชียงแสนประกอบอาชีพด้วยแกะพระแก้วผลึก แล้วจำหน่ายไปยังเมืองอื่น เมืองเชียงแสนจึงเป็นต้นแหล่งพระแก้วผลึก หม่อมฉันได้สังเกตดูลักษณะพระแก้วผลึก ตั้งแต่พระพุทธบุษยรัตน์เป็นต้น เห็นล้วนทำตามแบบพระพุทธรูปลังกาทั้งนั้น ข้อนี้ส่อให้เห็นว่าการสร้างพระแก้วผลึกที่ในมณฑลพายัพจะเกิดขึ้นเมื่อรับลัทธิลังกาวงศ์มาถึงในประเทศนี้แล้ว ไม่เก่าก่อน พ.ศ. ๑๘๐๐ หรือ ๑๙๐๐

ที่ท่านทรงสันนิษฐานว่า ที่เรียกกันว่า “บ้านเมืองดี” ครั้งกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลพระเจ้าบรมโกศ ที่จริงกำลังทรุดโทรมนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงพระราชปรารภเช่นนั้น เคยตรัสว่าที่ชมกันว่าเมืองไทยสมัยนั้นรุ่งเรือง เป็นเพราะประเทศที่ใกล้กันทั้งลังกา พม่า มอญ เขมร กำลังทรุดโทรมยิ่งเสียกว่าเมืองไทย จึงเห็นว่าเมืองไทยรุ่งเรือง ถ้าหากพระเจ้าอลองพระตั้งตัวทันสมัยนั้น พม่าก็คงตีเมืองไทยได้แต่ครั้งบ้านเมืองดีนั้นแล้ว

ความที่ตรัสปรึกษามาเนื่องกับวิจารณ์หนังสือลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ ๑๙ อยู่ในอธิบายท่อนที่หม่อมฉันกำลังแต่ง และจะแต่งต่อไป ขอประทานทุเลาไว้ทูลในวิจารณ์ท่อนนั้นๆ เวลานี้ต้องหยุดเขียนชั่วคราว เพราะจะต้องแก้ปัญหาพระยาอินทรมนตรีถามมาให้เสร็จไปเสียก่อน แล้วจึงจะเขียนวิจารณ์ต่อไป

เรื่องหลานตุ๊ดตู่อิจฉาหลานมดนั้น อยู่ข้างจะขันและน่าเอ็นดูทั้ง ๒ อย่าง แต่มันเกี่ยวกับทางธรรมอยู่บ้างดังจะทูลเล่าถวาย หม่อมฉันเคยปรารภกับลูกที่มาอยู่ด้วยกันที่นี่ ถึงฝูงลิงที่อยู่ในสวนและไก่ของเพื่อนบ้านที่มันชอบพาลูกมาเที่ยวหากินในลานบ้านหม่อมฉัน ว่าความรักกันในสกุลมันเป็นธรรมดาของสัตว์โลก แม้จนชั้นสัตว์เดรฉานนั้นก็รักกัน พวกบอลเชวิกมันตั้งกฎหมายบังคับให้แม่เลี้ยงลูกแต่เดือนเดียวแล้วให้ส่งไปไว้โรงเลี้ยงเด็กของรัฐบาล เพื่อจะมิให้เด็กรู้จักความรักใคร่กันในครัวเรือน มันฝืนธรรมดาสัตว์โลก จะเป็นไปได้หรือ อย่างตุ๊ดตู่นี้ท่านก็มิได้ทรงถนอมกล่อมเลี้ยงไว้ติดพระองค์ กล่าวต่อไปถึงหลานมดก็นานๆจะได้เฝ้าท่านสักครั้งหนึ่ง ไฉนจึงพากันจงรักพระองค์ท่านจนถึงอิจฉากัน ก็เป็นด้วยความรักอันเกิดในสายโลหิตนั่นเองจึงน่าเอ็นดู

พระยาอนุมานฯ เขาคิดวินิจฉัยชื่อหัวพันมหาดไทยจากวิจารณ์ของหม่อมฉัน บอกมาอย่างหนึ่งดูชอบกลนักหนา เขาว่าชื่อพันเภาอัศวราชน่าจะเป็น เภาน์ ภาษาสันสกฤตแปลว่า “วันอังคาร” ถ้าเช่นนั้น ชื่อก็เข้าระเบียบกันด้วยกันกับ พันภาณุ พันจันทร์ พันเภาน์ และ พันพุธ เรื่องนี้หม่อมฉันไม่เคยคิดเลย ขอให้ทรงพิจารณาดูด้วย

ที่ปีนังเมื่อวันที่ ๒๙ เวลาราวยามหนึ่ง เห็นอุกาบาตอย่างประหลาดมาก เวลานั้นหม่อมฉันยังนั่งอยู่ที่โต๊ะกินอาหารแต่หันหน้าไปทางข้างบ้าน หญิงเหลือเธอนั่งทางข้างซ้ายมือหันหน้าไปทางทะเล ได้ยินเธอออกปากว่า นั่นอะไรดูสว่างวาบราวกับแสงพระจันทร์ผิดปกติ ประเดี๋ยวชายนิพัทธ ซึ่งไปกินอาหารเย็นกับเพื่อนข้าหลวงที่จะไปอินเดียด้วยกัน ณ โฮเต็ลเซี่ยงไฮ้ เดินหน้าเล่อล่ากลับมาบอกว่าได้เห็นอุกาบาตอย่างแปลกประหลาด เดิมดูเป็นแสงรัศมีวาววาบในท้องฟ้ามาแต่ไกลแล้วดั้นเมฆไปสักหน่อยหนึ่ง จึงออกจากเมฆสว่างโพลนราวกับดวงพระจันทร์ แล่นหายไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ผิดกับผีพุ่งไต้ที่เคยเคยเห็นมาแต่ก่อนมาก

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ