วันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๒ ตุลาคม ฉบับลงวันที่ ๖ ตุลาคม และฉบับลงวันที่ ๙ ตุลาคม แล้วทั้ง ๓ ฉบับ จะทูลสนองความบางข้อในลายพระหัตถ์ทั้ง ๓ ฉบับนั้นในจดหมายฉบับนี้

หนังสือดิกชันนารีภาษาสันสกฤต แปลเป็นอังกฤษของเซอร์โมเนียวิลเลียมส์นั้น หม่อมฉันได้ให้นายเซียวฮั่นสั่งไปตามพระประสงค์แล้ว

นามที่เรียกว่า “พระเจ้าจักรพรรดิ” กับ “พระเจ้าราชาธิราช” หมายความผิดกันอย่างไร หม่อมฉันจะถวายวินิจฉัยของหม่อมฉัน ประกอบกระแสพระดำริพิเคราะห์ดู ที่เรียกว่า “จักรพรรดิ” นั้น หมายเอา “แดนดิน” เป็นสำคัญ ที่เรียกว่า “ราชาธิราช” หมายเอา “บุคคล” เป็นสำคัญ ในดิกชันนารีภาษาบาลีของจิลเดอรส์ อธิบายว่าพระเจ้าจักรพรรดินั้นมี ๓ ชั้นโดยลำดับกัน คือจักกวาฬจักกวัติ ครอบครองทั่วทั้ง ๔ ทวีป ทีปจักกวัติครอบครองแต่ทวีปอันหนึ่ง เทสจักกวัติครอบครองแต่ประเทศอันหนึ่ง และคำว่า “ราชา” นั้นก็มีหลายชั้น ราชาที่เป็นเจ้าครองเมืองก็มี เป็นเจ้าอันมิได้ครองเมืองก็มี มิใช่เจ้า แต่มีอาณาเขตปกครองเรียกว่าราชาก็มี เขาสันนิษฐานว่าผู้ใดอยู่ในฐานะมีอำนาจถึงประหารชีวิตผู้คนที่อยู่ในปกครองของตนได้ ผู้นั้นก็ได้นามว่า ราชา ดังนี้ เมื่อคิดวินิจฉัยต่อไป พิเคราะห์คำ “ราชา” ตรงกับคำว่าขุนในภาษาไทย และผู้ที่มียศเป็นราชาหรือเป็นขุนนั้นอาจจะมีในเมืองเดียวได้หลายคน เช่นพระชัยราชาและพระเทียรราชาเป็นต้น ถ้าเช่นนั้นคำ “มหาราชา” น่าจะตรงกับ “ขุนหลวง” หมายความว่าเป็นใหญ่ในเหล่าราชา คำ “ราชาธิราช” อาจหมายว่ามหาราชาที่สามารถเอามหาราชาเมืองอื่นเป็นประเทศราชได้ มากหรือน้อยเมืองไม่เป็นประมาณตรงกับคำ “พ่อขุน” เพราะคำ “มหา” หมายความแต่ว่าเป็นใหญ่ คำ “พ่อ” หมายความว่าเป็นผู้ปกครอง ยกตัวอย่างดังพระเจ้าแผ่นดินสยาม มีมหาราชาเชียงใหม่ มหาราชาศรีสัตนาคนะหุต มหาราชากัมพูชา และมหาราชามลายู เป็นประเทศราช ก็ย่อมเป็นพระเจ้าราชาธิราช พระเจ้าจักรพรรดินั้นคือ พระเจ้าราชาธิราชองค์ใด สามารถจะแผ่อาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลจนสุดหล้าฟ้าเขียว ด้วยรบพุ่งก็ตาม หรือมิต้องรบพุ่งก็ตาม จนพวกราชาธิราชต้องอ่อนน้อมยอมอยู่ในราชอาณาเขตโดยมาก ก็เถลิงพระเกียรติขึ้นเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ที่ทำพิธีอัศวเมธ (ปล่อยม้าอุปการ) นั้น เป็นการพิสูจน์ให้เห็นปรากฏแก่ตาโลก ว่าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ลักษณะการพิธีอัศวเมธที่หม่อมฉันได้อ่าน เป็นเค้าเดียวกันกับที่กล่าวในหนังสือเรื่องรามเกียรติ์ คือ ปล่อยม้าพระที่นั่งผูกเครื่องพร้อมตัวหนึ่งไปจากราชธานี มีทหารตามม้าไปกองหนึ่ง ม้าจะเดินผ่านเขตแคว้นแดนเมืองใด ผู้ซึ่งยอมสามิภักดิ์ต่อพระเจ้าราชาธิราชผู้ทำพิธีนั้นต้องเคารพต่อม้าพระที่นั่ง (เหมือนพระเจ้าแผ่นดินทรงไปเอง) ถ้าคนสามัญใครไม่เคารพทหารที่ตามไปก็ลงโทษผู้นั้น ถ้าผู้ละเมิดเป็นเจ้าบ้านผ่านเมืองก็ยกกองทัพไปปราบปรามเอาโทษฐานเป็นขบถ ที่กำหนดให้ม้าอุปการเดินเที่ยวไปปีหนึ่งนั้น ก็เพราะแดนดินที่ถือว่าเป็นอาณาเขตของผู้จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดินั้น กว้างใหญ่ไพศาลมาก ม้าอันเป็นสัตว์ไปได้รวดเร็วกว่าสัตว์จตุบาทอื่น ยังต้องเที่ยวไปถึงปีหนึ่งจึงทั่ว ผู้ที่จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิได้ต้องเป็นอัจฉริยบุรุษมีอิทธิฤทธิ์มาก หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่งคือเป็นจักรพรรดิได้ด้วยคุณวิเศษของตนเอง เมื่อสิ้นตัวไปแล้ว ถ้าผู้รับรัชทายาทมิได้เป็นอัจฉริยบุรุษ อาณาเขตก็ย่อมแตกแยกกันไป ผู้รับรัชทายาทก็กลับลงเป็นพระเจ้าราชาธิราช ฐานะพระเจ้าจักรพรรดิหาเป็นตำแหน่งที่ส่งต่อให้แก่กันได้ไม่ เพราะฉะนั้นในพระบาลีจึงว่าพระพุทธเจ้ากับพระเจ้าจักรพรรดิ นานๆ จะมีขึ้นในโลกสักครั้งหนึ่ง

คำว่า “พระ” และ “พญา” หม่อมฉันมานึกความเพิ่มเติมขึ้นได้อีกเมื่อส่งจดหมายถวายไปแล้ว ว่าพม่าชอบใช้มาก เขียน “พระ” แต่สำเนียงพม่าอ่านอักษร ร เป็น ย จึงอ่านเป็น “พญา” เช่นนามราชวงศ์อลองพระ พม่าก็เรียกว่าอลองพระญา แม้ทุกวันนี้ พุทธเจดีย์ พม่าก็เรียกโดยย่อว่า “พญา” ตรงกับไทยเราเรียกว่า “พระ” อันนี้ส่อให้เห็นว่ามูลศัพท์เป็นคำเดียวกันได้มาจากอินเดีย แต่คนต่างชาติมาอ่านสำเนียงผิดกันจึงกลายเป็น ๒ ศัพท์ แต่ที่ไทยเอาคำพญามาใช้ หมายความต่างหากจากคำพระ จะมีมูลอย่างใดยังไม่พบเค้าเงื่อน คิดเห็นแต่ว่าคำที่ใช้หมายยศศักดิ์เปลี่ยนมาโดยลำดับ เหมือนเช่นลองประกอบโกศ เมื่อคิดแบบอย่างใดขึ้นใหม่สมมตว่าดีกว่าอย่างเก่า ก็ลดอย่างเก่าให้เป็นชั้นเลวลงมา ข้อนี้พึงเห็นได้เช่นยศที่เรียกว่าขุนเดิมใช้เป็นยศเจ้าบ้านผ่านเมือง ลดลงมาจนเป็นแต่ยศขุนนางชั้นต่ำ แต่มีเค้าน่าสังเกตอย่างหนึ่ง ที่มูลของคำซึ่งใช้เป็นเครื่องหมายยศศักดิ์ของเรา ใช้แต่คำภาษาไทยกับภาษาอินเดีย คือมคธและสันสกฤต ข้อนี้ส่อว่า ชั้นเดิมจะใช้แต่คำภาษาไทย เช่นขุนและพ่อขุนเป็นต้น เมื่อชาวอินเดียทั้งพวกถือพระพุทธศาสนาและที่ถือศาสนาพราหมณ์เข้ามาเป็นครูบาอาจารย์ เอาคำอันเป็นแบบแผนในอินเดียมาสอนให้ไทยเราใช้ จึงเกิดเรียกตามคำอินเดีย เช่นว่า ราชา มหาราชา และราชาธิราช เป็นต้น

คำว่า “เจ้าฟ้า” นั้นเป็นภาษาไทยแน่ และใช้มาแต่ดึกดำบรรพ์ ใช่แต่เท่านั้น ประเทศที่ใกล้เคียงก็รับเอาไปใช้ด้วยดูประหลาดอยู่ หม่อมฉันอ่านหนังสือพงศาวดารลานช้างฉบับหนึ่งนานมาแล้ว ในหนังสือนั้นเรียกเทวดาว่า “ผีฟ้า” ได้นึกขึ้นในขณะนั้นว่าศัพท์ “ผี” หมายความว่าอมนุษย์ “ฟ้า” หมายความว่าที่สูง (ประเสริฐ) กว่ามนุษยโลก คิดเห็นต่อไปว่าคำ “เจ้าฟ้า” อยู่ในคติอันเดียวกัน และเป็นคำใช้ในสมัยเดียวกันกับคำ “ผีฟ้า” เจ้าฟ้าหมายความว่าเป็นเจ้าชั้นสูงสุดในมนุษยโลก “เจ้า” เป็นชั้นรองลงมาอย่างเราเข้าใจกันทุกวันนี้ ที่เอาคำ “เจ้า” ไปเรียกหมายความอย่างอื่น เช่น เจ้ามือ เจ้าทรัพย์ และเจ้าสำนัก เป็นต้น เป็นแต่อุปมาว่าเหมือนเจ้าในกิจนั้นๆ ข้อนี้มีเค้าเงื่อนที่จะยกเป็นอุทาหรณ์ในคำที่เรียกกันว่า “เจ้าครอก” (เสด็จพระอุปัชฌาย์ท่านเคยตรัสเรียกพวกเรามาทั้งนั้น) และ “เจ้าคุณ” เจ้าครอกหมายความว่าเป็นเจ้าโดยกำเนิด เจ้าคุณหมายความว่าเป็นเจ้าโดยคุณ น่าจะเป็นศัพท์ซึ่งประดิษฐ์ใช้ต่อชั้นหลัง คำ “เจ้า” ที่เอาไปใช้ในประเทศอื่นนั้น บรรดาเจ้าครองเมืองไทยใหญ่ พม่า เรียกว่า “ซอบวา” (Saw Bwa) แต่พวกเขาเองเรียกว่าเจ้าฟ้าทั้งนั้น คำว่า “เจ้า” พม่าเอาไปใช้เรียกว่า Saw ก็มี ที่เขมรเอาไปเขียน “ห๎วาทลหะ” พยางค์ต้นก็คือคำ “ฟ้า” ดังท่านทรงพระดำริ ในพงศาวดารไทยเราเขียนว่า “ฟ้าทลหะ” ทุกแห่ง

คำว่า “ท้าว” มูลจะมาแต่อะไรหม่อมฉันยังลังเล แต่ดูเหมือนงามจะหมายความตรงกับ “เชษฐบุคคล” ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นเจ้าหรือไม่ ทูลสนองเพียงเท่านั้นก่อน

หม่อมฉันจะฉลองพระแอ๊วที่ปีนังเพื่อจะได้เห็นชายผ้าเหลืองของลูก เพราะใจหม่อมฉันยังเป็นอย่างเก่า มีความปีติยินดีมากที่ลูกบวช ได้กะโครงการฉลองดังนี้ คือ

วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ ตุลาคม พระแอ๊วมาถึงเวลาพลบแล้วให้พักที่วัดปุโลติกุสด้วยกันกับพระมหาลำใย

วันศุกร์ที่ ๒๒ ตุลาคม เวลาเช้า ๘ น. รับบิณฑบาตที่ซินนามอนฮอล เวลาบ่าย ๑๗ น. พระสงฆ์มีพระมหาลำใยเป็นประมุขกับพระสงฆ์วัดปุโลติกุสอีก ๔ รูป เจริญพระปริตที่ซินนามอนฮอล

วันเสาร์ที่ ๒๓ เวลาเพลเลี้ยงพระสงฆ์ที่ได้สวดมนต์ ณ ซินนามอนฮอล หม่อมฉันได้ยินว่าพระแอ๊วเทศน์ได้ เละวันนั้นตรงกับวันอนุสรณ์สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ซึ่งหม่อมฉันเคยถวายบังคมพระบรมรูปมาทุกปี ปีนี้เมื่อเลี้ยงพระแล้วจะนิมนต์พระแอ๊วแสดงพระธรรมเทศนาโปรดญาติโยม และอุทิศกุศลถวายสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงด้วย เป็นเสร็จงานเพียงเท่านั้น

วันอาทิตย์ที่ ๒๔ เป็นวันว่าง สำหรับพระมหาลำใยกับพระแอ๊ว ขึ้นภูเขาและเที่ยวดูเมืองปีนัง

วันจันทร์ที่ ๒๕ เวลาเช้า ๙.๓๐ น. ลงเรือข้ามจากเมืองปีนังไปสถานีไปร ขึ้นรถไฟกลับกรุงเทพ ฯ

อนึ่ง หญิงจงก็จะกลับไปกรุงเทพฯ ในวันนั้นเหมือนกัน

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ